เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ มิ.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องการปฏิบัตินะ การปฏิบัติมันต้องทุกข์ยาก การปฏิบัติจะให้สะดวกสบายไม่มี การประพฤติปฏิบัติแล้วสะดวกสบายมันไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นโลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่นะ เรื่องของโลกๆ โลกเป็นใหญ่ ถ้าโลกเป็นใหญ่เราจะเอาความสะดวกสบาย ถ้าเอาความสะดวกสบายนะเราว่าการหายใจนี่สะดวกสบาย แม้แต่เด็กๆ เห็นไหม ถ้าเกิดมานี่ เด็กๆ หรือว่าผู้ใหญ่ก็แล้วแต่ ถ้าเป็นไข้หวัดมันหายใจยังลำบากเลย แต่การหายใจเห็นไหม การหายใจก็เป็นความลำบากไง เรื่องของโลก เราจะเอาความสะดวกสบาย แต่เรื่องของการประพฤติปฏิบัติมันต้องอัตคัดขาดแคลนนะ

ครูบาอาจารย์เขาบอกเลยว่า “การปฏิบัติมานี่ การจะได้ผลมา ธรรมเกิดในที่อัตคัดขาดแคลน ธรรมไม่เกิดในที่อุดมสมบูรณ์หรอก” ที่อุดมสมบูรณ์มันเรื่องของความรู้สึกของทางโลก เห็นไหม ดูสิ สัตว์สังคม มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน การพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความสะดวกสบาย เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติเราก็จะเอาความสะดวกสบายเข้าไป กิเลสมันหัวเราะเยาะตรงนั้นน่ะ

ดูสิ ในสมัยพุทธกาล พระจะออกบิณฑบาต เวลาคล้องจีวรแล้วจะเอาบาตรออกบิณฑบาต ใจมันคิดขึ้นมาว่า วันนี้เขาจะใส่บาตรอะไรเรา วันนี้จะได้อาหารดีขนาดไหน ท่านไม่ไปบิณฑบาตเพราะอะไร? เพราะนี่กิเลสมันกินก่อนไง ความรู้สึกความนึกคิดเรากินก่อน เห็นไหม กิเลสมันไปกินอาหารเขาแล้ว เพราะมันไปบิณฑบาต เขาจะใส่อาหารอะไรเรามา ใส่มาแล้วนี่จะถูกใจเราไม่ถูกใจเรา เห็นไหม อย่างนี้ไม่บิณฑบาต อย่างนี้ไม่ให้มันกิน คืออย่างนี้ไม่ให้ออกไปบิณฑบาตไง เพราะเวลาเรากินอาหาร เราฉันอาหารนี่ อาหารกินเข้าปากไป เพื่อร่างกายให้มันแข็งแรงขึ้นมา ให้ร่างกายดำรงชีวิตได้ แต่ความอยากไง ดีหรือไม่ดี พอใจหรือไม่พอใจมันเป็นเรื่องของกิเลส เห็นไหม

สิ่งที่เราจะประพฤติปฏิบัติ มันเพื่อจะชำระกิเลสนี่ มันต้องลำบาก มันต้องทุกข์มันต้องยาก มันต้องอัตคัดขัดสน ขัดสนบ้าง พอขัดสนขึ้นมานี่ กิเลสมันแสดงตัว ถ้าเราป้อนมัน เหยื่อนี่เราให้มันกินตลอดไปเห็นไหม ทุกอย่างเรามีความสะดวกสบาย ทุกอย่างจะมีความพร้อมเพรียงตลอดไป เห็นไหม กิเลสมันกินอิ่มนอนอุ่น มันซุกอยู่ในหัวใจนั้น

แต่ถ้าพอมันเริ่มจะขาดแคลนขึ้นมา พรุ่งนี้เราจะไม่มีอะไรกรอกใส่หม้อเลย พรุ่งนี้เราจะไม่มีอาหารใส่ปากเลย เห็นไหม กิเลสมันจะดิ้นรนละ นี่การใช้สอยเรา ของที่ใช้สอยเรามันบกพร่อง มันขาดแคลน ดูสิ เวลาหลังคารั่ว เวลาต่างๆ นี่กิเลสมันเริ่มจะแสดงตัวของมัน การแสดงตัวของมัน เราจะได้เห็นตัวของกิเลสไง

คำว่ากิเลสๆ นี่เป็นนามธรรม กิเลสเกิดมาจากใจ เพราะคำว่าใจเราก็ไม่เห็น กิเลสที่เกิดจากใจเราก็ไม่เห็น มันอาศัยใจเรานี่อยู่ มันขับถ่ายในหัวใจเรา ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมขึ้นมา เพราะท่านเห็นสภาวะของมัน มันเห็นแล้วมันถึงสลดสังเวชไง กิเลสมันขับถ่ายในหัวใจของเรา แล้วมันก็ไปแล้ว ความอยากมันต้องการมันไปแล้ว ผลของมันคือความทุกข์ ผลของมันคือการแสวงหาของเรานี่ นี่ด้วยความทุกข์

แล้วถ้าพูดถึงเวลาแสวงหาความดี เป็นความทุกข์ไหม เห็นไหม การแสวงหาความดี มันก็ต้องเป็นความประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน การแสวงหา การเสียสละ การที่เราต้องมาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน การที่เรามาดัดแปลงตน มันเป็นความทุกข์ไหม มันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง เห็นไหม อัตคัดขาดแคลนอย่างนี้ไง อัตคัดเพราะการกระทำมันเป็นทุกข์

แต่ความทุกข์ที่ดี เห็นไหม สิ่งที่ดี สิ่งที่สร้างสมบารมีขึ้นมา ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราต้องอดนอนผ่อนอาหารเพื่ออะไร? ก็เพื่อจะไม่ให้มันเข้มแข็ง ไม่ให้มันคิดได้ตามหัวใจของมัน ถ้าเรามีสตินะ เราจะยับยั้งสิ่งนี้ได้เลย ถ้าเราขาดสตินะ เราจะไปกับมันเลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน โอวาทคำสุดท้าย เห็นไหม “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ความไม่ประมาท เห็นไหม ไม่ประมาทภายนอก ไม่ประมาทภายใน ทำงานเราทำตามหน้าที่ เราไม่ประมาทงานเราก็สำเร็จเรียบร้อยดี เห็นไหม ความไม่ประมาทภายใน สำเร็จเรียบร้อยดีแล้วเป็นงานของทางโลก ทางโลก โลกเป็นใหญ่ โลกกับธรรม ถ้าความธรรมล่ะ งานนั้นถ้างานดึงชีวิตเราไปทั้งชีวิตไปอยู่กับโลก ถ้าเราทิ้งสละสิ่งนั้นมา เพื่องานจากภายใน เห็นไหม ไปอยู่ในที่สงัด ในสงบสงัดนะ ไปอยู่ในที่สัปปายะ

เวลาคนเราอยู่ด้วยกันหลายๆ คน ไม่คิดมากเท่าไรหรอก มันอุ่นใจ เวลาเข้าไปอยู่ในที่สงัดที่วิเวกนะ ความคิดมหาศาลเลย คนเราเวลาไปอยู่คนเดียวให้ระวังความคิดของเรา ความคิดเรามันจะเกิดมามหาศาล ความคิดของเรานี่มันจะเข้ามายุแหย่ตลอดไป เห็นไหม แล้วถ้ายุแหย่ขึ้นมานี่ เราถึงว่าต้องไปในป่าช้าในอะไร เพื่อจะให้มันมีความกลัวขึ้นมา

ถ้าความกลัวขึ้นมา โดยสัญชาตญาณของมนุษย์มันกลัวไง กลัวในที่สงบ กลัวในที่สงัดเห็นไหม เวลากลางคืนมืดขึ้นมานี่ จินตนาการหมดเลย อะไรจะเกิดขึ้นมาเราก็ไม่รู้ในความมืดนั้น ในความมืดนั้นจินตนาการมาจากไหน? ก็จินตนาการมาจากกิเลส จินตนาการจากใจนี่ แล้วว่าความกลัวเกิดมาจากไหน? ความกลัวไม่ใช่เรานะ ความกลัวเกิดจากใจ แต่ไม่ใช่ใจ

แล้วถ้าเราใช้ปัญญาไล่ความกลัวจนความกลัวหายไป มันจะเกิดความองอาจกล้าหาญ แล้วเราไล่ความกลัวอันนั้นไปแล้วนี่ มันจะเป็นมรรคผลหรือยัง? ยังเลยเห็นไหม เพียงแต่ว่ามันเป็นอาการของใจเท่านั้นเอง อาการของใจที่กลัวแล้วกล้า กลัวกับกล้านี่

ถ้ากลัวกับกล้าเห็นไหม กลัวในสิ่งที่เป็นพิษ กลัวในสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัย สิ่งนี้เป็นประโยชน์ กลัวในสิ่งที่ไม่เป็นเรื่องอันน่ากลัวเลย มันกลัว กิเลสมันพาอย่างนั้น เวลากล้าก็เหมือนกัน เวลากล้ากล้าทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มันจะเป็นกับเรา ถ้ากล้าทำในสิ่งที่ชั่ว เห็นไหม มันก็กล้าเหมือนกัน ความกล้าหาญทำในสิ่งที่ชั่ว ทำแต่ความชั่วๆ ไปทั้งนั้นน่ะ ความกล้าอย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์อะไรขึ้นมากับเรา

สิ่งนี้มันเป็นเรื่องอาการของใจ ถ้ามันสงบเข้ามาจากภายใน เห็นไหม มันยากๆ ตรงนี้ไง การประพฤติปฏิบัติมันทุกข์ มันต้องทุกข์ มันทุกข์ยาก เพราะมันต้องมีอุบายวิธีการ การพลิกแพลงของกิเลส การพลิกแพลงของใจให้เห็นตัวของมัน เราทำตามแต่ข้อวัตรปฏิบัติไป มันเป็นการปลูกฝัง

ดูสิ เราปลูกต้นไม้ เห็นไหม รดน้ำที่โคนต้น พรวนดินที่โคนต้น ผลของมันออกที่ปลาย นี่ก็เหมือนกัน ในข้อวัตรปฏิบัติของเรา มันบำรุงจิตใจ แต่บำรุงจิตใจขึ้นไปนี่ ให้มันเข้มแข็งขึ้นมา ให้มันมีโอกาสขึ้นมา แต่ขณะที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันต้องมีอุบายวิธีการอีกมหาศาลเลย ต้นไม้นี่เราพรวนดิน เรารดน้ำ แล้วถ้าเกิดมันเป็นโรคขึ้นมาล่ะ ต้นไม้นี้เป็นโรคขึ้นมา ต้นไม้มีเพลี้ย เราจะแก้ไขอย่างไร

หัวใจก็เหมือนกัน เรามีศรัทธาความเชื่อ เวลาเราเชื่อขึ้นมา เราออกประพฤติปฏิบัติกัน ภิกษุออกบวชวันแรก ออกบวชพรรษาแรกจะไปเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลยล่ะ เพราะอะไร? มันตั้งใจจะประพฤติปฏิบัติไง พอปฏิบัติไปๆ เห็นไหม กาลเวลามันกินไป ความศรัทธามันก็อ่อนลง เจือจางอ่อนลง มรรคผลมีหรือไม่มีหนอ ปฏิบัติไปนี่ชีวิตเราบวชแล้วไม่ใช่เสียเปล่าหรือ บวชมาทั้งชีวิตเลย ดูสิ ทางโลกเขามีความสุขมีความสนุกรื่นเริงกัน เราทำไมถึงมาทุกข์มายาก เห็นไหม เวลามันนานไป เวลาใจมันด้านขึ้นมา มันจะออกหาทางออกอย่างนี้ มันถึงต้องไม่ให้มันชะล่าใจ ต้องให้มันไม่มีความประมาท ต้องมีสติตลอดเวลา เห็นไหม

เวลาเราอยู่ทางโลกกัน เราอยู่กับเขา เรามีสิทธิกับโลกเขา อย่างนี้เราก็ทุกข์ เราก็อยากหาทางออก เวลาหาทางออกขึ้นมา เห็นไหม สมบัติสาธารณะ มีเรือน การครองเรือน นี้เป็นเรื่องสาธารณะนะ เราสละ เรายอมเสียสิทธิในการสมบัติสาธารณะ เห็นไหม เราถึงต้องประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์สิ่งนี้เราสละทิ้ง เราไม่ต้องการ ไม่ต้องการเพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันเป็นพรหมจรรย์ เวลาถือศีล ๕ ศีล ๘ ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ศีล ๘ ขึ้นไป ศีล ๑๐ ขึ้นไป

ศีลมันเริ่มเป็นข้อวัตร เริ่มเป็นรั้วกั้นให้หัวใจเราละเอียดเข้ามา ถ้าละเอียดเข้ามามันต้องฝืนมาอย่างนี้ ถ้าการฝืนใจของเราเข้าไป มันจะเป็นความลำบากนะ ถ้าเป็นความลำบาก เราคิดว่าเป็นลำบาก เราจะเอาสะดวกสบาย สะดวกสบายอย่างนี้สะดวกสบายแบบโลก มันไม่เป็นประโยชน์กับเรา เพราะอะไร? เพราะคนเกิดมามีสิทธิ มีเสรีภาพที่จะใช้แสวงหาได้ทุกๆ คน

แต่ถ้าเรามีคุณค่า ใจของเราประเสริฐขึ้นมา เราจะถือพรหมจรรย์ เราจะไม่นอนในที่สูง ไม่ดูการละเล่นฟ้อนรำ ศีล ๘ ขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันทำให้เรานะ เวลาเขาเล่นกัน เราไปดูมหรสพสมโภช สิ่งใดสะเทือนใจถึงน้ำตาไหลนะ แล้วถ้าเราไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาในหัวใจของเรา เห็นไหม แต่โลกว่าเป็นการพักผ่อน เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขานี่เป็นเรื่องของโลกๆ เพราะประโยชน์ของโลกมันคิดได้แค่นั้นไง

อย่างจิตใจคนนิ่มนวล จิตใจคนถ้าไม่ทำลายกัน โลกเขาร่มเย็นเป็นสุขเห็นไหม โลกร่มเย็นเป็นสุขแล้วโลกก็ต้องเกิดต้องตายไปอย่างนั้นใช่ไหม แต่ธรรมะมันเข้ามาชำระอย่างนี้ไง ถ้าไม่อย่างนั้นมันถึงต้องเริ่มถือธุดงควัตร นี่การขัดเกลากิเลส การขัดเกลากิเลสคือความขาดแคลนไง ความขาดแคลนคือไม่ให้มันกินอิ่มนอนอุ่น คอยบั่นทอนกำลังของมัน ทอนกำลังของกิเลสนะ

แต่เราทำกันไม่ได้ เราคิดว่าทอนกำลังของเราไง ถ้าเราได้เสพสุข เราได้กินอิ่มนอนอุ่น ว่านี่เราเป็นคนมีอำนาจวาสนา กิเลสมันตัวใหญ่ตัวพองขนาดไหน เราก็ไม่เห็นว่ากิเลสมันตัวพอง ดูสิ เวลาพระไปบิณฑบาต ถ้าอยากได้อะไรมา ยังไม่ไปเลย ไม่ให้มันกิน ไม่ให้กิเลสกิน ถ้ามันจะกินก็กินโดยดำรงชีวิต ไม่ให้กิเลสกิน ให้มันมีอำนาจเหนือหัวใจของเรา

ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เห็นไหม ถือธุดงควัตรนี่ผ่อน อะไรที่มันเป็นประโยชน์ ภิกษุถ้าไม่ปฏิสังขาโย ฉันอาหารเป็นอาบัติทุกกฎ ปฏิสังขาโย เห็นไหม อาหารที่ได้มานี่ ในบาตรนี่ ดูสิ มันเป็นของเน่าของบูดไหม ปัจจุบันไม่เน่าไม่บูดหรอก เพราะเขาอุ่นเขาทำมาสดๆ ร้อนๆ เลย ควันยังขึ้นๆ มาเลย แต่เก็บไว้มันเน่ามันบูดเห็นไหม ขณะที่นี่มันเป็นปัจจุบันไง ปัจจุบันถ้ามันเห็นได้สภาวะแบบนั้น หลวงปู่มั่นพิจารณาเม็ดข้าวจนเป็นตัวหนอนเลย เป็นตัวหนอนนะเม็ดข้าวนี่มันดิ้นได้ มันเป็นตัวหนอนนี่ เราจะกล้ากินอย่างนั้นไหม ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยอำนาจของใจ มันเห็นสภาวะอย่างนั้นได้

แต่อำนาจของเรา จิตใจเราอ่อนแอ จิตใจเราเป็นเรื่องของโลกๆ อาหารนี่จะต้องประณีต อาหารนี่ต้องให้เราพอใจ เห็นไหม ถ้าเราเป็นประณีต เราพอใจมันเรื่องของกิเลส แต่ถ้ามันสักแต่ได้มา ไม่เจาะจง อาหารนี่ไม่ได้เจาะจงนะ เขาถวายสงฆ์ แล้วเราเป็นบุคลากรในสงฆ์ ภิกษุหนึ่ง สมมุติสงฆ์ ๔ องค์ขึ้นไปเป็นสงฆ์ เห็นไหม เขาถวายสังฆะ เขาถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขามีหัวใจของเขา มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขาแสวงหาบุญของเขา เขาต้องการทำบุญกุศลของเขา เขาสละทานของเขา

เราเป็นปฏิคาหก เราเป็นผู้ที่ดำรงชีวิตในภิกษุ เราเห็นภัยในศาสนา เห็นภัยในวัฏสงสาร นี่ศาสนา ธรรมะเป็นที่พึ่ง เวลาฉันอาหารก็ฉันอาหารเพื่อดำรงชีวิต ไม่ใช่ฉันอาหารเพื่อบำรุงกิเลส เห็นไหม ปฏิสังขาโยให้เห็นโทษของมัน แล้วฉันโดยมีสติสัมปชัญญะ แล้วมันพอถึงจะอิ่มขาดอีก ๒ คำให้หยุด แล้วให้ดื่มน้ำให้เต็ม เพื่ออะไร? ก็เพื่อจะไม่ให้มันเกินกว่าเหตุ เกินกว่าโลกเขาไป ไม่ให้กิเลสมันหาช่องว่างอยู่ตลอดไป

การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม การเหยียด การคู้ การดื่ม การฉัน ต้องมีสติสัมปชัญญะตลอด ถ้ามีสัมปชัญญะนี่เราจะเห็นเรื่องของกิเลส มันจะเข้ามาแหย่ตลอด แต่ถ้าเราไปฉันตามเพลิดเพลินของเรา มันเป็นเรื่องของคฤหัสถ์ เป็นเรื่องของโลก ฉันแบบโลกๆ กับฉันแบบธรรม จะกินดำรงชีวิตแบบโลกกับดำรงชีวิตแบบธรรม ถ้าดำรงชีวิตแบบธรรม เห็นไหม ข้างนอกมันอัตคัดขาดแคลนนะ แต่ดูสิ อยู่โคนไม้มีความสุข อยู่โคนไม้ อยู่ในเรือนว่าง ฉันอาหารมื้อเดียว ผ่อนอาหารบ้างอะไรบ้าง มันมีความสุขของมันนะ

แต่เราจะเอาชีวิตทางโลก เราทำกันอย่างนั้นไม่ได้ กิเลสมันมีอำนาจ มันว่าสิ่งนั้นเป็นความทุกข์ สิ่งนั้นไม่พอใจ เราต้องแสวงหามา มันต้องสะสม ต้องเก็บไว้เป็นสมบัติของเรา เพื่อความมั่นคงของชีวิต มันจะมั่นคงไปไหนล่ะ หายใจเข้าและหายใจออกนี่ ชีวิตเราอยู่ที่ลมหายใจนี่ แล้วลมหายใจเห็นไหม ว่าเราหายใจนี่สะดวกสบาย แล้วเราเป็นโรคเป็นภัยขึ้นมา หายใจสะดวกสบายไหม มันเป็นเรื่องของความทุกข์ทั้งนั้น แต่เราไม่เห็นมัน เราไม่เข้าใจมัน เราไปพอใจมัน เวลามันเกิดมันกัดเราขึ้นมา เราถึงเห็นทุกข์ตรงนี้ไง ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์ควรกำหนด เห็นไหม เพราะชีวิตนี้เป็นความทุกข์ เกิดนี่ชาติปิ ทุกขา การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

แต่เวลาถ้าเป็นอริยทรัพย์นะ การเกิดนี่เป็นทรัพย์ มนุษย์สมบัตินี่เป็นทรัพย์อันประเสริฐที่สุด เพราะเกิดเป็นมนุษย์นี่มีโอกาสไง แต่เวลาพิจารณาไปเป็นธรรมะเห็นไหม การเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะอะไร? เพราะมีการเกิดมันต้องมีการดับเป็นธรรมดา เวลาเกิดขึ้นมานี่ มันทุกข์เพราะอะไร? เพราะมีแรงขับมาถึงมาเกิด แต่เราไม่รู้จักมัน แต่เวลามันดับทำไมถึงเสียใจล่ะ เวลามันจะดับ มันจะพลัดพราก ทำไมมันทุกข์ล่ะ มันทุกข์ตั้งแต่เริ่มต้นแต่เราไม่เห็น เราไปเห็นทุกข์ตอนที่มันจะพลัดพราก

ถ้ามันเห็นตั้งแต่เริ่มต้น เห็นไหม ชีวิตเรามีดำรงอยู่ เราเข้าใจสภาวะชีวิตตลอดไป การวิปัสสนาอย่างนี้ การทำสภาวะแบบนี้ขึ้นมา มันต้องอาศัยฐานขึ้นมา ถ้าไม่อาศัยฐานขึ้นมา กรรมฐาน ฐานะที่ตั้ง ฐานนี้อยู่ที่ไหน? ฐานนี้อยู่ที่ใจไง กรรมฐาน ฐานที่ใจ ฐานคือความคิด ฐานคือความรู้สึก เห็นไหม ภวาสวะ ภพ ภพอยู่ที่ใจ จิต ปฏิสนธิจิต จิตตัวนี้เป็นตัวพาตายพาเกิด แล้วปฏิสนธิจิตมันเกิดมาเป็นเรา แล้วเราก็ลืม ลืมว่าเป็นเราไปหมดเลย

ปฏิสนธิมันเกิด เริ่มต้นการเกิด ชาติปิ ทุกขา เริ่มปฏิสนธิในครรภ์ เราไม่เคยเห็น เราเห็นแต่ปฏิสนธิคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา แต่เราไม่เห็นปฏิสนธิที่จิตมันหยั่งลงครรภ์ หยั่งลงไปในไข่ ลงในครรภ์ แล้วมันเกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา แล้วเวลาเกิดเป็นโอปปาติกะล่ะ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดอย่างไร นี่กำเนิด ๔ เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ ตัวสัตว์มันเกิดในน้ำครำ เห็นไหม แล้วเกิดโอปปาติกะ

แต่นิพพานเกิดอย่างไรล่ะ นิพพานเอาอะไรมาเกิด จิตนี่มันเอาอะไรมาเกิด แล้วมันมีอยู่มันเอาอะไรมาเกิดล่ะ ก็มรรคญาณไง ภวาสวะ ทำลายฐานของมัน ตรงนี้มันพาไป เห็นไหม อาหารอย่างหยาบ อาหารอย่างกลาง อาหารอย่างละเอียด อาหารอย่างละเอียดคือลมหายใจนี่ ลมหายใจเราหายใจตลอดเวลา สิ่งที่อาหารอย่างนี้ การดำรงชีวิตอย่างนี้ มันจะลำบากลำบนขนาดไหน เราเพื่อจะเอายอดเพชร เราจะเอามรรคผลนิพพาน สิ่งนี้แค่อาศัย แค่ดำรง ตั้งสติไว้ จะไม่หลงไปกับมัน การดำรงชีวิตนี่ ชีวิตเราจะไม่เพลิดเพลินไปกับมัน ใช้ชีวิตอย่างนี้ แต่เราต้องมีสติสัมปชัญญะอย่างนี้

บุญกุศลเป็นบุญกุศล ถึงที่สุดแล้วเราจะพ้นจากกิเลสได้ ถ้าเรารู้จักใจของเรา เรายิ่งแสวงหา แต่เราไม่เคยรู้จักใจของเราเลย เราจะไม่พ้นจากกิเลสได้เลย ถ้าเราจะพ้นจากกิเลสได้ เราต้องรู้ว่ากิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่ใจ ใจอยู่ที่ไหน? ใจอยู่ที่กลางหัวอกเรา แล้วกลางหัวอกเรานี่ เราจะค้นคว้ามันอย่างไร? ด้วยความสงบของใจ ด้วยปัญญาใคร่ครวญของเราขึ้นมา งานอย่างนี้ เห็นไหม อริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายใน นี่อริยทรัพย์นะ แล้วเห็นกันได้อย่างไร เห็นกันได้ผู้ที่มีอริยทรัพย์กับผู้ที่มีอริยทรัพย์คุยกันไง ผู้ที่มีอริยทรัพย์มันต้องเหมือนกัน มันเป็นไป

สิ่งนี้พิสูจน์ได้ สิ่งนี้จับต้องได้ ทุกข์ยังพิสูจน์ได้เลย แล้วเวลาทุกข์มันหมดไปจากใจ ทำไมพิสูจน์ไม่ได้ ทุกข์อยู่กับใจเรานี่ ถ้ามันพิสูจน์ได้ มันกระทำได้ เห็นไหม ถึงว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครองใจนั้น” เพราะใจมันเป็นธรรมขึ้นมาเอง มันก็คุ้มครองใจมันเอง เอวัง