เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ ก.ค. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาบอกเขาไม่เข้าใจ เขามีหลักใช่ไหม เพราะผู้พิพากษา แล้วผู้ใหญ่ด้วย บอกว่า “นั่งทำงานใช่ไหม เวลาฟังเทปหลวงพ่อนี่นะ ผมจะเก็บให้หมดเลย เก็บข้อความให้หมด ทำให้เข้าใจให้หมดเลย แต่พอเวลาผมมาฟังรอบ ๒ นี่ ทำไมตรงนี้ผมยังเก็บไม่หมดล่ะ? ฟังรอบ ๓ ทำไมตรงนี้ผมยังเก็บไม่หมดล่ะ? มันก็ไปรู้ไปเพิ่มอีกๆ เพิ่มอีกไปเรื่อยๆ เลย”

เราบอก “เป็นอย่างนี้แหละ” เพราะอะไรรู้ไหม?

เพราะว่าพื้นฐานของเราถ้าเป็นอย่างนี้ เราก็ได้หลักอย่างนี้ อย่างเด็กนี่มันยกของหนักได้ขนาดไหนก็ยกได้แค่นั้น พอเราโตขึ้นมา เราจะยกของหนักได้มากกว่าเด็ก เราเป็นผู้ใหญ่ เราจะยกของหนักได้มากกว่าเด็กอีกเหมือนกัน จิตก็เหมือนกัน เริ่มต้นภาวนานี่พื้นฐานมันเป็นอย่างนั้น เราปรับพื้นฐานไป เพราะพื้นฐานมันรับข้อมูลได้อย่างนี้ พอรับข้อมูล จิตมันดีขึ้นไป มันเห็นได้ลึกซึ้งกว่า เห็นได้กว้างขวางกว่า เห็นไหม นี่วุฒิภาวะของใจ

เราพูดบ่อยมากเรื่องวุฒิภาวะของใจ แม้แต่วุฒิภาวะของเรา อย่างปฏิภาณไหวพริบของคนก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ในการประพฤติปฏิบัติไปแต่ละขั้นตอน พระโสดาบันรู้ได้แค่พระโสดาบัน ไปพูดถึงมรรคของพระสกิทานะ พระโสดาบันไม่รู้เรื่องหรอก ยิ่งไปพูดถึงมรรคของพระอนาคา มรรคของพระอรหันต์นะ พระโสดาบันไม่รู้ พระอนาคาก็ไม่รู้มรรคของพระอรหันต์ ไม่รู้หรอก มันคนละอันกัน มรรคเหมือนกันแต่คนละมรรค

นี่เวลาเราพูดไป พวกโยมจะบอกเลย หลวงพี่นี่ทำไมพูดซ้ำๆ ซากๆ มรรคแล้วมรรคอีก มรรคแล้วมรรคอีก มันคนละมรรค

มรรคของโสดาปัตติมรรคมันก็เป็นโสดาปัตติผล

สกิทาคามิมรรคมันก็จะเป็นสกิทาคามิผล

อนาคามิมรรคมันก็จะเป็นอนาคามิผล

อรหัตมรรคมันก็จะเป็นอรหัตผล

เวลามรรคมันใช้หมดไปแล้ว เหมือนเงินเราใช้หมดไปแล้วรอบหนึ่ง เราจะหาอีกเราต้องหาเงินใหม่ แม้แต่สมาธิ เห็นไหม แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติไป มันจะขั้นตอนของมันไป เราไปนี่เราต้องทุ่มทั้งตัวเลย

แต่เวลาในตำรา เห็นไหม สมาธิของขั้นโสดาบันน่ะ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ๒๕ เปอร์เซ็นต์นะ มันเทียบกันระหว่างมรรคของโสดาบัน กับมรรคของสกิทาคา อนาคา อรหันต์ แต่ถ้ามันเทียบถึงปุถุชน มันเกิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์นะ เราต้องทุ่มไป ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ ไม่ใช่ว่าเราทำแค่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์หรอก เราทุ่มไป ๑๒๕ เปอร์เซ็นต์นู่น เพราะอะไร?

เพราะเราต้องทุ่มเต็มที่ ถ้าไม่ทุ่มเต็มที่กิเลสมันเข้ามาแทรก กิเลสเข้ามาแทรกเลย เห็นไหม มันไปพูดทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ค่าความไม่แน่นอน นี่ปรมัตถธรรมไม่มี ในโลกนี้ไม่มีของอะไรคงที่ ปรมัตถธรรมไม่มีหรอก แต่ในธรรมนี่มี

ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่ถึงที่ มันจะชำระกิเลสไม่ได้ มันต้องเต็มที่ของมัน ปรมัตถธรรม เห็นไหม ปรมัตถะ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มี! โลกนี้ไม่มีของอะไร ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๙๙.๙๙ ไม่มีอะไร ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย แต่ธรรมะนี่เกิน ๑๐๐ อีก ถ้าไม่เกิน ๑๐๐ ขาดไม่ได้!

แต่เวลาปฏิบัติไป เวลามันตทังคปหาน มันปล่อยชั่วคราวนี่ไม่ถึง ๑๐๐ มันปล่อยเหมือนกัน ปล่อยครั้งปล่อยคราว ปล่อยมันก็ว่าง แต่ว่างอย่างนี้ว่างเพราะเราไม่เคยเจอไง ว่างเพราะเราเคยทุกข์เคยยาก ว่างเพราะเราทุกข์เรายากแล้วมันปล่อยวางเป็นบางครั้งบางคราว มันก็มีสุขเป็นบางครั้งบางคราว มันว่างไม่จริงหรอก

ถ้ามันว่างจริงของมันนะ มันสมุจเฉทฯ มันแบบว่ามันสันทิฏฐิโก มันไม่ถามใครเลย มัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ใครจะว่าอย่างไรก็เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

นี่เวลาเขาถามนะ เขาแปลกใจเลย บอกว่าเพราะว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ใช่ไหม พอผู้ใหญ่บอกเขาเก็บให้หมดเลยนะ ครั้งแรกนี่เก็บให้หมดเลย แปลก! แปลก! พอมาฟังครั้งที่ ๒ นี่ เขาแปลกใจว่าทำไมตรงนี้ครั้งที่แล้วไม่ได้ยิน? ทำไมตรงนี้ครั้งที่แล้วไม่ได้ยิน? รอบ ๒ รอบ ๓ ก็ลึกไปเรื่อยๆ ลึกไปเรื่อยๆ นี่เพราะอะไร?

เพราะขณะที่เราก้าวเดิน เราเดินขึ้นไป เราไม่ใช่ไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าเราย้อนกลับไปดู ย้อนหลังกลับไปดู เราถึงเห็น อ้อ..อันนี้เราทิ้งรอยไว้ตรงนี้ ทิ้งรอยไว้ตรงนี้ ทิ้งรอยไว้ตรงนี้.. ทีนี้คนระหว่างก้าวเดินขึ้นไปจะไม่รู้หรอกว่ามันเป็นเพราะเหตุใด เหมือนเราเองเก็บไม่ได้ คำๆ เดียวกันนั้นแหละ แต่ความลึกซึ้งต่างกัน เพราะใจมันต่างกัน พอใจมันต่างกัน ความเป็นไปมันต่างกัน เห็นไหม

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วมันจะเข้าใจ เข้าใจเรื่องของวุฒิภาวะ เวลาพ่อแม่ครูจารย์ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านดูพระเด็กๆ เห็นไหม มองไปนะ ถ้าผิดด้วยไม่มีเจตนานะ มันเหมือนเด็กๆ นี่ มันไร้เดียงสา ดูแล้วขำว่าอย่างนั้นเถอะ มันขำ มันนั่งหัวเราะ

แต่ถ้ามันเป็นเรื่องกิเลสนะ มันเป็นเรื่องทิฏฐิมานะนะ อันนั้นไม่ได้ อันนี้ต้องจัดการเลย จัดการต้องเอาให้อยู่ แต่ถ้ามันเป็นความผิดโดยไร้เดียงสา โดยความไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่รู้จริงๆ เขาไม่รู้ของเขา นี่อวิชชา รู้ในประสาที่ในความรู้สึกของตัว แต่ไม่รู้เป็นตามความเป็นจริงนะ

แต่ถ้าวิชชา! มันรู้แจ้งนะ วิชชา เห็นไหม วิชชา-อวิชชา วิชชาเป็นระหว่างก้าวเดิน เห็นไหม ที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา อนัตตานี่เป็นความก้าวเดิน เพราะอนัตตามันเป็นผลไม่ได้ อนัตตาคือการแปรสภาพ อนัตตาขณะที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถึงจุดแล้วมันคงที่ของมัน

ถ้าถึงเป้าหมาย อนัตตานี่มันเป็นวิธีการ วิธีการนี่เวลามันเปลี่ยนแปลงไป เห็นไหม สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ความคิดเราก็เป็นอนิจจัง ความแปรไปของเราเป็นอนิจจัง แต่เป็นอนิจจังเพราะมันเป็นสภาวะของมัน ค่าของมันคืออนิจจัง แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา เรามีสติสัมปชัญญะของเรา เวลาเราเริ่มมาจับต้องได้ เราใช้ปัญญาไป ถ้าปัญญาเราเป็นไปมันจะเป็นอนัตตา คำว่าเป็นอนัตตา มันจะแปรสภาพให้เราเห็นไง

แต่ถ้าเป็นอนิจจัง มันแปรสภาพของมันเอง แต่เราไม่รู้ เราไม่รู้หรอก เราไปรู้ต่อเมื่อมันแปรไปแล้ว อย่างเช่นอาหารสุก รู้ตั้งแต่อยู่ในจาน เห็นไหม เวลาอาหารมาก็เป็นดิบๆ นะ เวลาอยู่ในกระทะ เวลาทำไป มันแปรสภาพไป เราไม่ได้ทำเพราะเราไปซื้อมา เห็นไหม เวลาไปซื้อวัตถุดิบ เราก็ไปซื้อที่ตลาด เวลาเราไปซื้ออาหารข้าวแกง เราก็ซื้อสำเร็จแล้ว เห็นไหม

แต่ขณะที่มันเป็น ปัจจุบันอันนั้นเราไม่เห็นมัน เราไม่เข้าใจมัน ขณะที่เราเข้าใจมัน เราเห็นมัน มันถึงเป็นอนัตตา ทีนี้เราเองมันเป็นได้แต่ชื่อไง เราไปเรียนทฤษฎีกัน เราได้แต่ชื่อหมดเลย แต่เราไม่เห็นการกระทำของมัน เราไม่เห็นความเป็นไป เราไม่เห็นในขณะปัจจุบันธรรม

ถ้าเห็นในปัจจุบันธรรม เราจะไม่รู้จริง ถ้าเราไม่รู้จริง เห็นไหม นี่สภาวะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความเป็นอัตตากับอนัตตามันเป็นเรื่องจะว่าเป็นทิฏฐิมานะก็ได้ เพราะอะไร? ขณะรู้มันก็ติดในความรู้ของตัว เหมือนกับเรารู้อะไรแล้วไม่ปล่อยวางในตัว มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามันปล่อยวางทั้งหมด มันไปถึงที่สุดของมัน เห็นไหม นี่ถึงบอกว่าธรรมชาติ

ธรรมะเป็นธรรมชาตินี่เราไม่เห็นด้วย ธรรมะเป็นธรรมชาตินี่นะ สภาวธรรมเป็นธรรมชาตินี่มันเอามาเป็นสมมุติ เอามาสอนกัน แต่ความจริงแล้วใจมันเหนือธรรมชาติ ถ้าเป็นธรรมชาติมันก็ต้องแปรปรวนเป็นอนัตตาอยู่ธรรมดาสิ ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติเพราะธรรมชาติมันแปรปรวน ธรรมชาติไม่คงที่หรอก

แต่ธรรมธาตุสิ ธรรมธาตุธาตุที่คงที่ เห็นไหม ถ้าธรรมธาตุคงที่อย่างนี้ นี่ธรรมะมันเหนือธรรมชาติไง ธรรมชาติมันยังแปรปรวนอยู่ มันยังมีแปรสภาพของมันเป็นธรรมชาติของมัน เพราะมันคงที่ของมันไม่ได้ แต่ถ้าธรรมธาตุ ธาตุมันเป็นโสดาบัน สกิทา อนาคา มันคงที่ของมัน เห็นไหม สิ่งที่คงที่ในใจ แล้วมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจที่เรรวนนี่นะ ใจเราเรรวน ใจเรามีสภาวะเรรวน เพียงแต่ว่าเราจะทำได้ขนาดไหน

ดูสิ เมื่อวานเขาถาม เห็นไหม บอกว่า “ขณะที่มันเป็นไป เวลาจิตวิปัสสนาไป เดี๋ยวปัญญามันก็ดี เดี๋ยวมันก็คิดในลบ เดี๋ยวมันก็คิดในบวก” เห็นไหม ถ้าคิดลบในบวก ขณะเราก้าวเดินเหมือนกัน ถ้าขณะเราก้าวเดินไป เราทำของเราไป เราคิดว่าขณะที่ปัญญามันดีมันก็ปล่อยวางของมันไป เห็นไหม ขณะที่ปัญญามันดี เราก็เพลิน เราก็อยากได้ผล เราก็ยิ่งขวนขวายๆ

ขณะที่ขวนขวาย เราใช้พลังงานไป พลังงานนี้มันจะเริ่มเบาลงๆ พอเบาลงแล้วปั๊บ พลังงานไม่พอแล้ว เหมือนกับไฟอ่อนไป ทำอาหารสุกไม่ได้ เห็นไหม ไฟมันอ่อน เราจุดไฟแล้วไฟอ่อนๆ แล้วได้ทำอาหาร เราก็ทำอาหารของเราไปใหญ่เลย มันสุกไม่ได้ สุกไม่ได้แล้วเราต้องกลับมาเพิ่มแรงไฟนั้น เราต้องกลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ปัญญาอบรมสมาธิ กลับมาเพิ่มพลังงานให้ไฟมันแรงขึ้นมา

ถ้าไฟแรงขึ้นมา อาหารมันจะสุกได้ ถ้าไฟไม่แรงขึ้นมาอาหารสุกไม่ได้ พอมันทำไป มันปล่อยวางๆ มันเพลินไง มันเข้าใจ มันอยากได้ผล มันว่านี่คือผล เห็นไหม นี่คือปัญญา ถ้าปัญญาไม่มีสมาธิรองรับ ปัญญาไม่มีพลังงานอันนี้รองรับ มันจะเป็นโลกียปัญญา มันจะเป็นปัญญา เป็นสัญญา เป็นความคิดของตัว เห็นไหม

ขณะที่เดินไปทำไป มันจะไม่รู้อย่างนี้เลย แต่มันต้องลองผิดลองถูกไป ฟังขนาดไหน จำมาขนาดไหน ขณะที่เราไปทำอยู่ไม่รู้หรอก เพราะเราเป็นคนผู้เล่นกีฬา เราอยู่ในสนามกีฬา เราเล่นกีฬา มีคู่แข่งขัน เราพยายามต่อสู้ เราจะเอาชนะให้ได้ เราจะไม่รู้ข้อผิดพลาดเลย

แต่ขณะที่เราออกมา เราพักก่อนๆ ขอเวลานอกพักก่อน มาทำความสงบของใจก่อน เรามาเห็นเลย โค้ชจะบอกผิดอย่างนั้นๆๆ ควรจะทำช่องนั้นๆ เห็นไหม นี่ออกมา เรากลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วเรามาใคร่ครวญ ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมมันเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร?

เพราะเวลาลองผิดลองถูก พอมันทำไปแล้ว มันไม่ได้ผลดังใจ ใจมันก็ต้องเศร้าหมอง ใจมันก็ต้องทุกข์ยาก ใจมันต้องแบกหามนะ เวลาเราทำงานของเราทางโลก เวลางานอย่างนี้งานที่หนักมาก แต่เวลาไปวิปัสสนา เหนื่อยมากนะ นั่งสมาธินี่เหนื่อยมาก ยิ่งใช้ปัญญานี่หอบเลยนะ ออกมานี่เหนื่อยสุดๆ เลย เพราะมันเป็นการงาน

แต่เวลาเข้าไปสงบจนพอใจ สงบนิ่งอยู่อย่างนั้น เห็นไหม สมาธิคือความสงบของใจ เวลาออกใช้ปัญญา ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “ปัญญานี่หมุนติ้วๆ” คำว่า “หมุนติ้ว” ดูสิ เวลาเราบริหารจัดการ เราใช้ความคิด เราเครียดไหม? การบริหารจัดการของเราในเรื่องหน้าที่การงาน ดูสิผู้บริหาร ดูสิ จะแก่เกินวัยทุกคนเลย

แต่เวลาเราใช้ปัญญา มันยิ่งกว่านั้นนะ แต่ยิ่งกว่านั้นมันเป็นภายใน เวลามันหมุนขึ้นมา ปัญญาหมุนเข้ามา แต่มันมีกำลังของสมาธิรองรับ รองรับเข้าไป เห็นไหม มัคคะรวมตัวแล้วถ้ามันสามัคคีพั่บ มันจะขาดๆๆ ของมันไป ถ้าขาดของมันไปอย่างนี้ สิ่งนี้มันเป็นผล ไม่ใช่อัตตาและไม่ใช่อนัตตา มันเป็นธรรมธาตุ ธาตุที่เป็นผลอันนั้นขึ้นมา

สิ่งนี้ถ้ามันมีผู้รู้จริง สิ่งที่ไปรู้จริง สิ่งที่เป็นนามธรรม เราอธิบายเป็นรูปธรรมนะ ขั้นตอน เขาบอกว่า “เวลาจิต เวลาที่ว่ามันเป็นคัตเอาท์ เห็นไหม คัตเอาท์ว่าจิตถ้าเราทำความสงบของจิตเข้ามาได้อย่างไร ถ้าย้อนกลับมาที่ตัวของจิต ถ้าจิตสงบแล้วออกไปรับรู้” เขาฟังแล้วเขาได้ประโยชน์ตรงนี้ แล้วเขาเริ่มต้นทำของเขาไป แล้วมันเห็นผลๆๆ เห็นผลนะ

อย่างน้อยเริ่มต้นนะ สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ดูสิ อย่างเงินของเรา แล้วเราปล่อยทิ้งไว้ในที่สาธารณะ ปล่อยไว้เหมือนเงินเรากระจายไป เราไม่ได้เก็บ เราไม่ได้มัดไว้ เงินเราไม่ได้เก็บไว้ในตู้เซฟ เงินเราไม่เก็บไว้ในที่ปลอดภัย เห็นไหม

ความคิดก็เหมือนกัน เวลาความคิดนี่มันคิดออกมา ถ้าไม่มีสติ มันไม่เป็นสมาธิ มันคิดกระจายอย่างนั้น พอคิดกระจายอย่างนั้น มันเป็นความทุกข์นะ เพราะเราคิดเอง ดูสิ เราไม่กล้ามองหน้าใครเลย เพราะเราคิดดีคิดร้ายอะไรในหัวใจเรา เวลาเขาสบตาเรามา เราไม่รู้เขาคิดอะไร เขาจะรู้ทันเราหรือเปล่า เห็นไหม เหมือนเงินที่เรากระจายออกไปเลย เห็นไหม ความคิด เวลาปัญญามันกระจายออกไปมันเป็นอย่างนั้น คือว่ามันเป็นปัญญาๆ มันไม่ปลอดภัย

แต่ถ้ามีสติปั๊บ สติมันรวบรวมเข้ามา เก็บเงินไว้ในที่ปลอดภัย ความเป็นประโยชน์ของเราให้ไว้ในที่ปลอดภัย เห็นไหม พอมีสติขึ้นมา กำหนดพุทโธเข้ามา จิตมันจะรวมตัวเข้ามา สิ่งที่มันกระจายออกไปมันจะย้อนกลับเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ แล้วมันมีกำลังกับตัวมันเองด้วย หนึ่งทั้งปลอดภัยด้วย ทั้งไม่หลงทางด้วย แล้วถ้ามันออกเป็นปัญญา เห็นไหม เงิน! เราใช้จ่ายเป็นครั้งเป็นคราว เห็นไหม ใช้จ่ายเวลาความจำเป็นของเรา เราเอาอะไรใช้ล่ะ? เราก็ต้องเอาเงินใช้ใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีสมาธิ มันมีกำลังของมัน เวลาปัญญาออกมาก็เงินใช้จ่ายไง เงินเอาไปใช้จ่ายเป็นประโยชน์กลับมา ปัญญาออกมาปัญญามันก็ใคร่ครวญในอริยสัจ เห็นไหม ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันเป็นประโยชน์กับเรา

ปัญญาในการสัมมาอาชีวะ ในอาชีพนั้นมันเป็นวิชาชีพ ถ้าเป็นปัญญาโลกุตตรธรรม มันเป็นปัญญารู้จักตัวตน เห็นไหม เราว่าจะรู้ขนาดไหน รู้โดยกิเลสพาใช้ รู้โดยกิเลสเป็นเจ้านายทั้งหมด แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ เรามีสัมมาสมาธิรองรับ เรามีปัญญา มันเป็นปัญญาโลกุตตรธรรม ปัญญาที่เราชำระตัวความสกปรกในหัวใจของเรา แต่ปัญญาออกข้างนอก มันเป็นปัญญาเหมือนกับเงินที่เราใช้กระจัดกระจายไปโดยไม่มีประโยชน์

เงินที่มีประโยชน์และเงินที่ไม่มีประโยชน์ เงินที่ไม่มีประโยชน์ตรงไหน ตรงนี้ ดูสิ เงินเขาเอาไปใช้เล่นการพนันก็ได้ เขาเอาไปใช้ยาเสพติดก็ได้ เขาเอาไปใช้จ้างวานคนอื่นทำความเสียหายก็ได้ เห็นไหม เงินที่ไม่เป็นประโยชน์ เงินที่ทำให้หัวใจนี่ยิ่งใช้ออกไป หัวใจยิ่งมีผลของกรรมขึ้นมา

เงินที่เป็นประโยชน์ เห็นไหม ประโยชน์ที่เราสร้างประโยชน์ขึ้นมาก็เป็นประโยชน์กับเรา แล้วถ้าปัญญาเราใช้ประโยชน์กับเราล่ะ ประโยชน์กับเรา เห็นไหม ความลังเลสงสัยในหัวใจเราไม่มีเลยนะ หัวใจนี้จะปลอดโปร่งหมดเลย หัวใจจะไม่มีอะไรกดทับมันเลย หัวใจของเรานี่

ความสุขความสบายทางโลก เห็นไหม รัฐสวัสดิการเขาให้ได้ทั้งนั้นล่ะ แล้วรัฐสวัสดิการนี่เราจะหาให้ตัวเราเองได้ขนาดไหน นี่มีความสุขมีความพร้อมเสมอเลย ทุกอย่างเครื่องยนต์กลไกทุกอย่างอำนวยความสะดวกทั้งหมดเลย

ดูสิ คนไข้เวลาเข้าห้องไอซียู เขายิ่งพร้อมกว่าเราอีก เห็นไหม แต่มันก็ทุกข์ แต่มันก็ต้องพลัดพรากจากไป เห็นไหม อันนี้มันเป็นภาวะ เป็นผล เป็นผลแล้วไม่ต้องวิตกวิจาร การเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นผลแล้วเพราะอะไร เพราะอริยทรัพย์ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว นี้เป็นผลขึ้นมาแล้ว ผลอันนี้เราจะเอาไปทำอะไร ทำในทางโลกก็ได้ ทำในทางธรรมก็ได้ ทำในทางประโยชน์ก็ได้ ทำในทางโทษก็ได้

แต่ถ้ามันมีสติปัญญา มันจะทำแต่คุณงามความดีของเรา ความดีของเรานะ ไม่ต้องให้ใครมารับรู้ ไม่ต้องมีใครมารับรองความดีของเรา ความดีของเราจากเขาเห็นข้างนอกก็เป็นความดีของเรา ความดีภายในของเรายิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่เลย เห็นไหม ครูบาอาจารย์บอกเลยนะ

“ไม่ต้องถามใคร มันเป็นความจริงในหัวใจ ความจริงอันนี้เป็นความจริงในหัวใจ แล้วใครโต้แย้งไม่ได้”

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธัมมจักฯ เห็นไหม จักรอันนี้เคลื่อนไปแล้ว ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ โต้แย้งไม่ได้เลยเพราะอะไร เพราะมันเป็นความจริงจากโคนต้นโพธิ์นั้นแล้ว ใจนี้มันเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว แต่เวลาออกมาแสดงกิริยาเฉยๆ มาแสดงวิธีการเฉยๆ วิธีการกับผลต่างกัน ผลในหัวใจนั้นมั่นคงมากกว่า มันไปกลับผลอันนั้นไม่ได้

แต่วิธีการนี่สอนมาเพื่ออะไร เพื่อให้คนมีวิธีการที่ก้าวเดินเข้ามาถึง เห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะฟังธรรมแล้วเห็นสัจจะความจริง

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

เรามองแต่วัตถุกัน มองแต่ความเป็นไปของโลกกัน เราไม่มองความเปลี่ยนแปลงของใจ เราไม่มองการเกิดดับของใจ ไม่มองอัตตานุทิฏฐิความยึดของใจ ว่าฉันคิด ฉันรู้ ฉันเป็น ฉันใหญ่ นี่ไม่มองตัวนี้ มองตัวนี้ถ้าตัวนี้ดับ ตัวนี้มันทำลายไป เห็นไหม มันดับตัวนี้ มันทำลายตัวนี้ มันไม่ทำลายทั้งโลก โลกอยู่ข้างนอกสบายๆ

ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการอยู่ ๔๕ ปี ก็อยู่กับโลก ครูบาอาจารย์เราก็อยู่กับโลก อยู่กับโลกแต่ไม่ติดมันไป โลกมันกดทับเรา เวลาเราทุกข์นะ สังคมเป็นอย่างนั้น โลกกดทับเราเลย

แต่ถ้าใจมันพ้น ไม่มีสิ่งใดในหัวใจ โลกก็เป็นโลก เราก็เป็นเรา อาศัยอยู่กันไป บริหารได้ จัดการได้ก็บริหาร จัดการไม่ได้ก็กรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์นะ เราไปสอนเขา เขาไม่ฟังหรอก ยิ่งสอนเขาเขายิ่งหัวเราะเยาะ ถ้าคนมันไม่เห็นด้วย เขาหัวเราะเยาะด้วย นั้นเรื่องของเขานะ ถ้าหัวเราะเยาะ เราจะไปสอนเขาแล้วเขาหัวเราะเยาะ แล้วเป็นผลกรรมของเขา เราจะไปพูดให้เขาเพิ่มกรรมขึ้นมาทำไม?

เราไปพูดแล้วนี่เป็นกรรมของเขานะ เขาทั้งหัวเราะเยาะ เขาทั้งถากถาง แต่ถ้าเราทำผลประโยชน์ของเรา ในเมื่อเราทำผลประโยชน์ของเรา คนที่ไม่เห็นด้วยอยู่ข้างนอก เขาถากถาง นั้นเรื่องของเขา แต่ถ้าเราไปจงใจให้เขาถากถาง ไม่สมควรเลย เห็นไหม นี่สติสัมปชัญญะมันพร้อมทุกอย่างนะ ควรและไม่ควร

แต่ขณะที่มันเกิดวิกฤติ เกิดที่เป็นประโยชน์ขึ้นมา เวลามันจำเป็น เวลาเกิดวิกฤติต้องการคนกล้า คนกล้าต้องออก คนกล้าต้องทำงาน คนกล้าต้องทำเพื่อสังคม เพื่อการหลุดพ้นจากวิกฤตินั้นไป ใครจะติ ใครจะเตียน มันเรื่องของเขา เห็นไหม นี่อยู่กับโลก ถ้าอยู่กับโลก มันก็อยู่ด้วยมีความเท่าทันกับโลก

ถ้าอยู่กับธรรมนะ มันอยู่สงบภายในใจของมันเอง เพราะใจมันเป็นธรรม ไม่ต้องไปอยู่ที่ไหนหรอก อยู่เฉยๆ นี่มันเป็นธรรม อยู่ในหัวใจเพราะใจมันเป็นธรรมอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งใดๆ เลย เป็นธรรม แล้วมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ในหัวใจของเรา มันอยู่ในความรู้สึกของเรา ค้นคว้าสิ่งนี้ ธรรมะเกิดสิ่งนี้ แล้วเราจะมีความสุข เอวัง