เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ ส.ค. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาผลประโยชน์มันขัดกัน เห็นไหม โลกกับธรรมมันขัดกันนะ เวลาเรื่องโลกๆ เขาต้องการอยู่สุขอยู่สบาย เรื่องของโลกนี่ความสุขความสบายเป็นบุญกุศลนะ คนเกิดมามีบุญกุศลพาให้เราอยู่สุขอยู่สบาย แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ นี่เวลาธุดงควัตร ครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในป่า เวลาได้อะไรที่ถูกใจมาท่านจับโยนทิ้งเลย อะไรที่ถูกใจ เห็นไหม อะไรที่ถูกใจมันถูกกิเลสด้วย เพราะเวลาเราฉันอาหาร เรากินอาหาร นี่กิเลสมันกินด้วยเพราะความชอบไง

ความชอบ ความต้องการ ความปรารถนาของร่างกาย มันรสชาติอย่างหนึ่ง ความต้องการสารอาหารร่างกายอีกอย่างหนึ่งนะ สารอาหารของร่างกาย ดูสิอาหารของร่างกายมันยังมีผิดธาตุ ผิดขันธ์ได้ นี่ธาตุขันธ์มันไม่รับ เวลาแพ้ไง ฉันอะไรเข้าไปแล้วมันแพ้ นี่มันผิดธาตุผิดขันธ์ แต่ถ้าความต้องการ เวลามันปรารถนาความสุขความสบายทางโลก เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านจะไม่ให้เรื่องนี้เข้ามายุ่งกับการประพฤติปฏิบัติเลย ท่านบอกเลย “เราดูแลแต่ร่างกายกัน ดูแลแต่ความสะดวกสบาย แต่หัวใจพอมันสะดวกสบายขึ้นไปมันไม่มีทางออกนะ”

นี่ข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา ขั้นตอน นี่ขั้นตอนให้เราเห็นกิริยาของมัน ให้เห็นกิริยาของใจ ถ้าเรามีความสุขสมบูรณ์ทุกอย่าง แต่ใจมันก็เรียกร้อง มันก็แสวงหา ใจไม่เคยอิ่มเต็มหรอก ตัณหาความทะยานอยากมันล้นฝั่งตลอดเวลา นี่ข้อวัตรปฏิบัติ ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลา แต่ถ้าธุดงค์ในป่าในเขามันขาดแคลนจริงๆ นะ ไปอยู่มีบ้านหลังสองหลัง แล้วยังธุดงควัตรไปแล้วแต่เขาจะให้แต่นะ

นี่สิ่งนี้มันแล้วแต่เขาที่เป็นไป แล้วเขาทุกข์เขายากไม่มีอะไรมาให้หรอก ข้าวเปล่าๆ ทั้งนั้นแหละ ธุดงค์นี่ข้าวเปล่าๆ อย่างมากก็ผักต้มห่อมาเท่านั้น ไม่มีอะไรเลย แล้วพอไปถึงวัดถึงวา เวลาครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เห็นไหม เขามาใส่บาตร เขาภัตตามมา เพราะวัดทั่วๆ ไปเขาไม่ธุดงค์ เขาจะมีภัตตามมา ถ้าภัตตามมา นี่เรานะมันเป็นสิ่งเร้าไง ทำไมเราประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่ทำคุณงามความดี เราถือธุดงค์ไปเพื่อขัดเกลากิเลส ทำไมของในบาตรเราต่ำต้อยกว่าเขา เขาไม่ได้ถือธุดงค์เลย เขาอยู่สุขสบาย ในบาตรเขามีแต่ของเต็มบาตรเลย

นี่เวลามันน้อยเนื้อต่ำใจ กิเลสมันออกอย่างนั้นแหละ มันเคยออก ถ้าใครเคยธุดงค์มามันจะเห็นสภาวะแบบนั้นเลย นี่ถ้าเป็นธุดงค์ทั้งหมด เวลาครูบาอาจารย์ท่านถือธุดงค์เพื่อให้เข้มแข็งทั้งหมด ถ้าเข้มแข็ง ถ้าใจเข้มแข็งนะ สิ่งใดมันมาถ้าใจเข้มแข็งมันได้เสพธรรมไง เสพธรรมคือเอาชนะใจเราเอง สิ่งนั้นก็ต้องการ สิ่งนี้ก็ต้องการ ต้องการไม่ให้มัน ต้องการไม่ให้มัน ถ้าไม่ให้มัน ไม่ให้กิเลสกินไง ไม่ให้กิเลสมันได้เสพของมัน พยายามขัดแย้ง ขัดแย้งกับความรู้สึกเรานี่คือขัดแย้งกับกิเลสของเรา

กิเลสของเรา คืออยู่ในหัวใจของเรา นี่คือการฝึกฝน การฝึกฝนอย่างนี้เราไม่รู้วิธีการอะไรเลย แต่เป็นธรรมและวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายื่นดาบไว้ให้ไง ยื่นข้อวัตรปฏิบัติไว้ให้กับการแก้ไข การโต้แย้งกิเลส แต่ถ้าเป็นความเห็นของโลกนะ บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่สำคัญ เรื่องนี้ทำให้มันยุ่งยาก มันเห็นแย้งไปหมดเลย เห็นไหม แต่ถ้าทำอะไรสะดวกสบาย โอ๋ย สิ่งนี้อย่างนี้สมควร อย่างนี้ดีไปหมดเลย เพราะอะไร? เพราะมันสะดวก มันสบาย ดูสิเราเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าขึ้นมา เห็นไหม ถ้าลูกเต้าเราไม่ฝึกวิชาชีพให้เขา เราไม่ฝึกนิสัยให้เขา เขาก็ไปตามประสาเขานั่นแหละ แล้วเด็กมันจะฟัง เด็กนะ

นี่ก็เหมือนกัน ความเห็นของกิเลสมันก็เข้ากับกิเลสไง ถ้าความเห็นของกิเลส นี่ก็สุขสบาย นี่ก็สะดวกสบาย นี่ทำอย่างนั้นมันทำให้ลำบากลำบน ก็ไอ้ลำบากนี่แหละมันจะแก้กิเลส ดูสิ เห็นไหม เราเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้ามามันลำบากลำบน มันฝึกฝนขึ้นมา นี่ฝึกให้มัน ดูเด็กๆ นะมันยกของหนักก็ไม่ได้ มันทำอะไรก็ไม่ได้ก็เหมือนกับสุดความสามารถของเขา แต่มันฝึกขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะเข้มแข็งขึ้นมา มันเป็นประสบการณ์ของจิต จิตมันมีประสบการณ์ของจิต แล้วมันจะพัฒนาของมันขึ้นมา

ประสบการณ์ของร่างกายก็เหมือนกัน มันได้กระทำอย่างนี้เราก็ทำได้ ประสบการณ์อย่างนี้เราเคยทำได้ งานอย่างนี้เราเคยทำได้ งานอย่างนี้เราก็ผ่านมาแล้ว งานอย่างนี้เราผ่านมาแล้ว มันเจองานอะไรเข้ามาก็แล้วแต่มันไม่เคยท้อใจเลย แต่คนไม่เคยทำอะไรเลยนะ เจองานเด็กๆ มันก็ขาอ่อนแล้ว มันทำอะไรไม่ไหวเลย เห็นไหม เพราะไม่ได้ฝึกฝน มันลำบากไหมล่ะ? มันลำบาก ลำบากอย่างนี้เป็นลำบากในขั้นของการฝึกฝน

ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอก เวลาประพฤติปฏิบัติ นี่นึกถึงย้อนหลังแล้วมันผ่านมาได้อย่างไร นึกถึงย้อนหลังเพราะอะไร? เพราะเวลากิเลสนี่มันเอาตายมาหลอก เวลามันพูดถึงการประพฤติปฏิบัติ นี่เดี๋ยวจะตายนะ เดี๋ยวจะพิการนะ มันจะเอาตรงนี้มาโต้แย้งตลอดเวลา เห็นไหม มันเอาเรื่องนี้มาทำให้เราผ่านไปไม่ได้ นี่ที่ว่าธรรมะอยู่ฟากตาย ฟากตายตรงนี้ไง เพราะการข่มขู่ของกิเลสในหัวใจเราก็คือตาย

นี่ว่าจะพิการ จะตาย กิเลสมันเอาตรงนี้มาข่มขู่เรานะ นี่มันข่มขู่เรา แล้วเราก็ไม่รู้ว่ากิเลสนี้ข่มขู่เรา เราก็เชื่อมันนะ อ๋อ ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นทางวิทยาศาสตร์ไง ทางวิทยาศาสตร์ เห็นไหม ทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์เขาคิดกันอย่างนั้น แต่เวลาไปรักษาขึ้นมาแล้ว ดูสิดูจิตใจคนเข้มแข็ง ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมามันก็รักษาได้ง่าย คนจิตใจอ่อนแอนะ ขนาดเป็นโรคเล็กน้อยมันก็ทำให้ช็อก ให้เป็นอะไรไปได้

นี่หัวใจถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ของมันนะ ไอ้เรื่องของร่างกายมันเป็นไปได้นะ เพราะอะไร? เพราะในศาสนา ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การป่วยมีป่วยอยู่ ๓ ชนิด ป่วยโดยธรรมชาติ ป่วยโดยร่างกายเสื่อมสภาพเป็นอันหนึ่ง ป่วยโดยกรรมอันหนึ่ง ป่วยโดยอุปาทานอันหนึ่งนะ อุปาทานนี่แหละ

โรคอุปาทาน นี่มันคิด มันเครียด มันคิดจนเป็นเลยอุปาทานนี่ แล้วเราเป็นอย่างนั้น กิเลสมันเป็นอุปาทาน กิเลสในหัวใจมันก็เป็นอย่างนั้นไปหมด มันข่มขู่ในหัวใจได้ทุกอย่างเลย แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์คอยประคองเราไป นี่มีครูบาอาจารย์คอยประคองเราไป มันจะทุกข์ มันจะยาก มันจะลำบากอย่างไร มันลำบากเพื่อจะฆ่ากิเลส เราจะพร้อม เราจะเต็มใจนะ แต่ถ้าเราสะดวกสบายเพื่อบำรุงกิเลส อย่างนี้ไม่สมควรเลย

นี่เราจะมาศึกษา เราจะให้มีหลักมีเกณฑ์ของใจ ใจเราควรจะมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เพราะเวลาเราโตขึ้นมา เห็นไหม ดูสิโลกกับธรรม นี่เรื่องความเป็นอยู่ของโลกเขา มันก็อยู่กันโดยสะดวกสบายอย่างนี้แหละ โลกเขาเป็นอย่างนั้นนะ รัฐสวัสดิการเขาดูแลเราอย่างดีเลย แต่บางประเทศ เห็นไหม ดูสิช่องว่างระหว่างชนชั้น นี่มันเป็นเพราะอะไรล่ะ? มันเป็นเพราะกรรมนะ แล้วถึงเวลามีคนร้องเรียนขึ้นไป เวลาเขาไปอุ้มชู ไปรักษาล่ะ?

นี่กรรมถ้ามันถึงเวลามันเป็นสภาวะแบบนั้นแหละ ถ้าเขาไม่เห็นก็คือไม่เห็นนะ ถ้าแบบว่าเขาไม่เห็นหนึ่ง เขาไม่มีทุนรอนหนึ่ง เขาไม่มีสิ่งต่างๆ หนึ่ง มันเป็นภาวะของคนที่เกิดมาในสภาวะแบบนั้น นี่กรรมมันให้ผลมันให้ผลอย่างนี้ ให้ผลมันเป็นการสุดวิสัย สุดวิสัยคือว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น สุดวิสัยต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราเป็นบุญกุศลของเราขึ้นมาล่ะ เรารักษาจากภายในนะ รักษาจากภายใน เห็นไหม ดูสิในหัวใจของแต่ละดวง ถ้ามันอิ่มพอของมัน

อิ่มพอนะ ดูนะเราอดอาหารกัน เราอดอาหารเวลาจิตมันสงบขึ้นมา นี่เวลาอดอาหาร ในกระเพาะมันไม่มีอาหารมันจะมีน้ำย่อย มันจะมีการกัด มันจะมีความทุกข์แน่นอน แต่เวลาเรากำหนดไปเรื่อยๆ จนจิตมันลงได้นะ สิ่งที่มันเป็นทุกข์อยู่นี่หายหมดเลย สุขมาก สุขท่ามกลางความทุกข์นั่นแหละ สุขท่ามกลางความทุกข์นี่มันหาขึ้นมาได้อย่างไร? เพราะอะไร? ถ้าเราไม่แลกมาอย่างนี้ กิเลสมันก็คอยทิ่ม คอยหาทางออกให้เราล้มเหลวตลอดเวลา เราถึงต้องปิดล้อมไง เห็นไหม ดูนักกีฬา นักมวย เวลาเขาแข่งขันกัน เขาจะต้อนอีกฝ่าย ต้อนศัตรูเข้ามุม แล้วเขาน็อคได้เขาต้องน็อคตรงนั้น

นี่ก็เหมือนกัน วิธีการของเรานี่ต้อนกิเลสเข้ามุมไง ต้อนกิเลสให้มันยอมจำนนกับเรา ถ้ากิเลสมันยอมจำนนกับเรา เราชนะหนหนึ่ง จิตมันสงบหนหนึ่ง จิตมีหลักเกณฑ์หนหนึ่ง มันจะมีความสุขในหัวใจนี้นะ “ความสุขอื่นใดเท่ากับความสงบไม่มี”

สุขในโลกนี้ไม่มีหรอก อย่างอื่นสุขโดยอามิสมันแก้ไขได้ มันดัดแปลงแก้ไขได้ แต่สุขในหัวใจของเรามันเกิดขึ้นมาของเราเอง นี่มันเป็นหลักของใจนะ ใจมีหลักประกัน ใจมันเคยเห็น เหมือนกับเราทำงาน เราเคยทำงานประสบความสำเร็จมา งานอย่างนี้เราก็ว่าทำได้ งานอย่างนี้เราก็ทำได้ จิตเคยสงบขึ้นมาเราก็ทำได้ ปัญญามันใคร่ครวญขนาดไหนเราก็ทำได้ เห็นไหม เราทำได้ เราทำได้มันก็มีหลักประกันนะ แต่ถ้ากิเลสเวลามันตีกลับขึ้นมา นี่กรรมฐานม้วนเสื่อ

เวลาจิตมันลง จิตมันดี มันดีไป มันเดินหน้าไปเรื่อยๆ เวลามันตีกลับเราถึงต้องประมาทไม่ได้เลย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปัจฉิมโอวาท เห็นไหม “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” ด้วยความไม่ประมาท เราต้องไม่ประมาทนะ จิตจะดีขนาดไหนก็ไม่ประมาท จะต้องหมั่นรักษา ต้องดูแลของเราตลอดไป

ชำนาญในวสี คำว่า “วสี” คือวิธีการ เห็นไหม ว่าชำนาญในวสีคืออะไร? วสี นี่ชำนาญในวสีคือชำนาญในการเข้าออก ชำนาญในการรักษา เรามีเหตุรักษามันไว้ ชำนาญในการตั้งสติ ชำนาญในการกำหนด นี่ถ้าเราชำนาญอย่างนั้นสมาธิจะไม่เสื่อมเลย สมาธิจะไม่เสื่อมเลยนะชำนาญในวสี แต่เราไม่ชำนาญ เห็นไหม เข้าได้ทีหนึ่งก็เป็นแบบส้มหล่น อู้ฮู สุขมาก แล้วออกมันก็ออกไม่เป็น แล้วทำแล้วจะเข้าได้อีกเข้าได้อย่างไร

มันต้องฝึกอย่างนี้ ประสบการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่ามันจะมีความชำนาญมาก พอมีความชำนาญมากมันจะรู้เลย อ้าว วันไหนถ้าฉันอาหารดีเกินไป นั่งสมาธิมันจะโงกง่วง วันไหนถ้าเราคุยกันมากเกินไป วันไหนเราปฏิบัติเกินไป วันไหนเราตั้งสติดีขึ้นมา วันนั้นตั้งสติขึ้นมามันจะดีขึ้น วันนี้เรากำหนดหัวใจ เรากำหนดดูตั้งแต่เช้าเลย ตื่นนอนขึ้นมากำหนดจิตดูเลย จิตมันเป็นอย่างไร?

นี่พอมันทำไปมันจะเห็นคุณเห็นโทษอย่างนี้ เห็นคุณเห็นโทษแล้วใครเป็นคนสร้างผลให้ล่ะ? ก็ใจเรานี่แหละเป็นคนสร้างให้เรา ถ้าสร้างให้เรา เราก็รักษาของเราไป รักษาของเรา รักษานี่ชำนาญในวสีอย่างนี้ ชำนาญในวสีคือชำนาญในการควบคุม ชำนาญในการเข้าออก คนที่ชำนาญการทั้งหมด ดูสิเราขับรถเราชำนาญการ เครื่องเท่าไหร่เราสตาร์ทไปได้ทันทีเลยนะ แล้วถ้าเกิดเครื่องมันสตาร์ทแล้วน้ำมันไม่มีล่ะ? ยางลมไม่มีล่ะทำอย่างไร? นี่ยางลมมีหรือไม่มีมันเป็นการบำรุงรักษาใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ข้อวัตรปฏิบัติไง ตั้งสติไว้ ตั้งแต่เราเคลื่อนไหวเราบำรุงรักษาไว้ เราต้องบำรุงรักษารถของเรา ข้อวัตรปฏิบัติบำรุงรักษาจิตไว้ แล้วเวลาเข้าประพฤติปฏิบัติก็เหมือนเราสตาร์ทรถเราก็ออกได้เลย เห็นไหม นี่จิตมันต้องรักษาอย่างนี้ ถึงว่าการเหยียดการคู้ไง ครูบาอาจารย์ท่านถึงสอนตลอดเวลา ให้มีสติสัมปชัญญะตลอดเวลา โคปล่อยกับโคผูกไว้ไง เราผูกจิตเราไว้ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ผูกจิตเราไว้ด้วยสติปัญญา รักษาไว้

นี่หลวงปู่ฝั้นท่านพูดประจำนะ “จะไปไหนให้กำหนดรักษาไว้ พุทโธลมหายใจเข้าและลมหายใจออก วัดใจอยู่ตลอดเวลา ไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกไม่ทิ้งเปล่าๆ นะ”

คนตั้งแต่เกิดจนตายนี่ลมหายใจมีอยู่ ตายแล้วหมดลมหายใจนะ ขณะที่มีลมหายใจอยู่เราจะไม่ทิ้งเปล่าๆ แต่ถ้าทางโลก เห็นไหม ลมหายใจเข้าไปนี่เพื่อออกซิเจน เพื่อร่างกาย เพื่อสูบฉีดเลือด เพื่อต่างๆ นี่เป็นเรื่องของร่างกายนะ แต่ลมหายใจนี้ถ้าจิตกำหนดขึ้นมา อาปานาสติ นี่ลมหายใจให้ร่างกายได้มีออกซิเจน ร่างกายได้เคลื่อนไหวดี แต่ถ้าจิตมันได้กำหนดลมหายใจด้วย จิตมันก็ได้กินอาหารของมันด้วย จิตมันก็ได้กำหนด มีที่ไง นี่เราสาดน้ำไปในอากาศ เห็นไหม น้ำในอากาศที่มันกระจายตัวออกไป

นี่ก็เหมือนกัน จิตนี่ความคิดมันก็แผ่ออกไปหมด แล้วเรากำหนดไว้ที่ลมหายใจ เรากำหนดลมหายใจเข้าออก นี่กำหนดไว้ๆ ทั้งร่างกายก็ได้ประโยชน์ด้วย ทั้งหัวใจก็ได้ประโยชน์ด้วย นี่วัดใจ กำหนดข้อวัตรปฏิบัติตลอดเวลา นี่ชำนาญในวสีอย่างนี้ แล้วเราจะไม่เป็นคนประมาท แล้วเราจะเป็นคนมีหลักใจ เราจะรู้จักของเรา แล้วคนทุกคนเป็นคนดีหมด สังคมจะดีขึ้นมา

สังคมนั่นเรื่องของเขานะ สังคมเรื่องสังคม ใจเขาใจเรา ใครสุขใครทุกข์นั่นก็ความสุข ความทุกข์ของเรา แต่เรามีอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราเข้าใจเรื่องของความสุขอันนี้นะ เรามองไปสิ มองโลกเขาสิ นี่เพราะอะไร? เพราะเขาเผลอสติ เพราะเขาไม่มีสติของเขา เพราะเขาไม่เข้าใจชีวิตของเขา เพราะเขามองแต่เรื่องโลกของเขา มันเห็นเป็นธรรมไปหมดไง ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์นะเรามองเห็นเป็นธรรมไปหมดเลย

เหมือนกับหมอมองคนไข้ จะบอกเขาก็ได้ถ้าเขาเต็มใจจะรักษากับเรา ถ้าเขาจะไม่รักษากับเราก็กรรมของสัตว์ เขาไม่รักษากับเรา เขาเป็นไข้แล้วเขาไม่ยอมรับความเป็นจริงของเขา นี่ชีวิตโลกเป็นอย่างนั้นไง โลกตื่นกันอย่างนั้น ว่ามีความสุขกันอย่างนั้น แต่นี่เรามองเขา เราเข้าใจเขา ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วจะเป็นที่พึ่งของหมู่คณะ เป็นที่พึ่งของโลก นี่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่อาศัยของสังคม เห็นไหม

นี่เวลาสังคมเจริญเจริญอย่างนี้ไง เจริญจากในหัวใจของเราก่อน แต่โลกเขามองว่าสังคมเจริญคือสังคมเจริญ คือมวลชนเจริญ แต่ถ้าเป็นทางธรรม ธรรมเจริญคือเจริญในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญในหัวใจของครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม เจริญในหัวใจคือมันทวนกระแสกลับมา เจริญจากภายใน เจริญจากขั้วหัวใจ ไม่ใช่เจริญจากภายนอก เอวัง