เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๙ ก.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ในสังคมชาวพุทธเรานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ประกาศตนว่าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ มีศาสนาเดียว นอกนั้นประกาศตัวเป็นศาสดา แต่ไม่ยอมบอกว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านบอกเป็นพระอรหันต์ เห็นไหม เวลาในลัทธิต่างๆ ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล”

แล้วมรรค ๘ มันมีในศาสนาใด? แล้วมรรค ๘ ของเรา มรรคจากข้างนอก มรรคจากข้างในนะ นี่ในทางศาสนาเรา ทางตะวันออก ทางตะวันออกมันเกี่ยวกับเรื่องของศาสนา เกี่ยวกับเรื่องศาสนาวางไว้ แล้วมีแต่ศาสดาต่างๆ ในทางของขงจื้อให้มีความกตัญญูเป็นครอบครัวใหญ่ เขาก็คิดของเขาได้อย่างนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนบุพเพนิวาสานุสติญาณ กรรมตั้งแต่เราทำร่วมๆ กันมา มันมาเกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูกกันต้องมีกรรมร่วมกันมาเด็ดขาด

คำว่า “กรรม” กรรมดี กรรมชั่ว กรรมดีทำความดีกันมา เกิดมานะรื่นเริง ชื่นอกชื่นใจ กรรมที่การบาดหมางกันมา เกิดมาก็ลูกเหมือนกัน พ่อแม่ก็ต้องรักเหมือนกันธรรมดา ดูสินกมันเลี้ยงลูกของมัน ดูไก่สิมันเลี้ยงลูกของมัน แต่เวลาลูกโตแล้ว นี่พอลูกของไก่เวลามันจะพรากลูกนะ ลูกออกมามันจะจิกตีลูกมันให้ออกหากินเอง นี่สัตว์มันยังดูแลลูกของเขา

มนุษย์ เห็นไหม กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องแสดงออกของคนดี คนดีรักพ่อรักแม่ นี่พ่อแม่เป็นสมบัตินะ เป็นเจ้าสมบัติของเรา พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ในบ้าน พระอรหันต์ในบ้านนะ ถ้าพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ทั่วไป พระอรหันต์ทั่วไป พ่อแม่ดูสิคนทั่วๆ ไปเขายอมรับกันไหมล่ะ? เขาไม่ยอมรับหรอก แต่พ่อแม่มีบุญคุณกับลูกมหาศาลเลย เพราะชีวิตนี้ได้เกิดมา นี่ชีวิตนี้ได้เกิดมา เกิดมาจากใคร? อยู่ในครรภ์ของมารดา กินเลือดในอกมา ๙ เดือน คลอดออกมายังเลี้ยงมา กินนมนี่ก็กินเลือดอีกแหละ กินเลือดของแม่มาตลอด นี่เลือดเนื้อเชื้อไข ตรวจดีเอ็นเอเป็นของพ่อ ของแม่หมดเลย แต่จริตนิสัยไม่เหมือนกัน ความคิดไม่เหมือนกัน เลี้ยงได้แต่ตัว เลี้ยงใจไม่ได้ ถึงต้องมีศีลธรรมจริยธรรมเลี้ยงหัวใจด้วยไง

เราเลี้ยงกันได้แต่เรื่องร่างกายนะ ลูกนี่เราเลี้ยงเติบโตมาด้วยร่างกาย เราดูแลเขามาด้วยร่างกาย แต่ศีลธรรมเลี้ยงหัวใจนะ เลี้ยงหัวใจของสัตว์โลก เลี้ยงหัวใจของสัตว์โลกให้เป็นสังคมที่ดี ให้เมตตากัน กตัญญูกตเวทีจากภายนอก แต่เวลาเราโตขึ้นมา เราทำธุรกิจ เราทำการค้าต้องมีการแข่งขัน การแข่งขัน การแข่งขันของทางโลก แต่ถ้าเป็นศีลธรรม จริยธรรม การแข่งขันจากหัวใจของเรา

กิเลสกับธรรม เวลาธรรมนี่การเสียสละ การเมตตากรุณาเป็นเรื่องของธรรมะ การเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องของกิเลส เห็นไหม แล้วเวลามันเกิดขึ้นมาในหัวใจ นี่แข่งขันในหัวใจเรานะ ศีลธรรม จริยธรรมเกิดจากใจ ใจว่าเราจะเอารัดเอาเปรียบเขาไหม? เราจะเมตตาเขาไหม? เรารักเมตตาเขา เรามีความเอ็นดูเขาไหม? เราจะเอาเปรียบเขา เราจะกลั่นแกล้งเขา นี่การแข่งขันจากหัวใจนะ โลกธุรกิจ โลกจากภายนอก การแข่งขันจากภายนอกมันเป็นสภาคกรรม

ดูสิเวลาลดค่าเงินบาท เวลาลอยค่าเงินบาท เห็นไหม นี่มีความเสมอภาคกัน ทุกข์กันไปทั้งประเทศเลย แต่ในทุกข์ทั้งประเทศมันก็มีคนที่ได้ประโยชน์จากตรงนั้น นี่เวลาว่าทุกคนเสียหายหมด ทำไมมีคนได้ประโยชน์จากตรงนั้นล่ะ? นี่เพราะอะไร? เพราะหัวใจของเขาเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม มันก็เป็นเรื่องความคิดของเขา ถ้าหัวใจเป็นธรรมนะเขาจะเจือจาน เขาเจือจานกัน

แต่เวลาเรื่องของเรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้า เราปรนเปรอลูกมหาศาลเลย ว่าอย่างนี้ต้องเป็นความสุขของลูก ความสุขของลูก ถ้าเป็นกรรมนะ ลูกมันไม่พอใจ ลูกไม่อยากได้ ลูกปฏิเสธนะ ไม่ต้องการสิ่งนั้น ไม่ต้องการสิ่งนั้น พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ พ่อแม่ก็พยายามจะยัดให้ ถ้าทางโลกว่าให้ด้วยเหมือนความยัดเยียดไง แต่เด็กมันไม่เข้าใจ แต่ถ้าเด็กนะ คนอื่นเขาให้ คนที่ไม่ใช่ญาติเราให้ มันมีแต่ความฝังใจ

ความฝังใจของเด็ก ความฝังใจของหัวใจ ความฝังใจมันเป็นจริตนิสัยของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต สังเกตเรื่องสภาวะแบบนี้แล้วก็แก้ไขไป แก้ไขไปนะ สภาวะแวดล้อมมีส่วน แต่ไม่ทั้งหมด ถ้าสภาวะแวดล้อมมีส่วนดีนะ คนต้องเป็นคนดีทั้งหมด ในสภาวะแวดล้อมที่ดีคนก็เกได้ ในสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดเลย เด็กมันก็ดีได้ เพราะอะไร? เพราะบุญกุศล เม็ดในของเขามาดีสภาวะแบบนั้น แต่สภาวะแวดล้อมก็มีส่วน

ถ้าไม่มีส่วนนะ สัปปายะ ๔ ครูบาอาจารย์ชี้นำเป็นอันดับหนึ่ง หมู่คณะเป็นสิ่งแวดล้อม สัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะก็เป็นสิ่งแวดล้อม อาหารเป็นสัปปายะก็เป็นสิ่งแวดล้อม แล้วเราแสวงหาเองนะ เราแสวงหาในที่อัตคัดขาดแคลน เพราะการอัตคัดขาดแคลน กิเลสมันไม่พอใจหรอก

มนุษย์นี่ความกลัว ความกลัวทำให้เราต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อเรา แล้วเราไปหาในความกลัวนั้น ไปสู่ในความกลัวนั้น ให้ความกลัวนั้น ให้กิเลสเราแสดงตัวออกมา ในสิ่งที่เราอัตคัดขาดแคลนมันก็กลัว กลัวว่าเราจะไม่มีสิ่งนั้นดำรงชีวิต กลัวไปทุกๆ อย่างเลย ความกลัวอันนี้มันเป็นความกลัวเฉยๆ

แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอะไร? เพราะการดำรงชีวิต ดูสิพระเรานี่ การอดนอนผ่อนอาหาร อดนอนผ่อนอาหารเพื่ออะไร? เราประพฤติปฏิบัติกันนะ นี่เราอยากปฏิบัติกัน เราคิดแบบโลกๆ คนที่ปฏิบัติต้องมีบุญกุศล ต้องมีทุกอย่างอำนวยความสะดวกพร้อมไปเลย นั่นแหละมันเรื่องกิเลสล้วนๆ เลย เวลาครูบาอาจารย์เรา เวลาอุปัชฌาย์บวชมาในธรรม นี่ให้รุกขมูล นิสสัย ๔ ให้เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง

นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ กิจ ๔ อย่างที่ควรทำ ต้องออกบิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร นี่สิ่งนี้มันอัตคัดขาดแคลนไหม? มันเป็นสิ่งที่ว่ามันจะอุดมสมบูรณ์ไปไหม? มันไม่อุดมสมบูรณ์ไปหรอก แต่เราคิดประสาเรากันเองว่าเดี๋ยวนี้ ในปัจจุบันนี้โลกนี้เจริญแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็ต้องประพฤติปฏิบัติด้วยความสะดวกสบาย สะดวกสบายๆ กิเลสชัดๆ เลย

ในขณะที่เราบิณฑบาตกลับมา พระจะฉันอาหาร ถ้าไม่ปฏิสังขาโยปรับอาบัติทุกกฏเลย ปฏิสังขาโยให้พิจารณา ให้พิจารณาเพราะอะไร? เพราะสิ่งที่การเคลื่อนไหว การเหยียด การคู้ การเคลื่อนไหวต่างๆ ต้องมีสติสัมปชัญญะตลอดไป กิเลสอาศัยอย่างนี้ออกหาเหยื่อตลอดไป แล้วเราทวนกระแสกลับไป เข้าไปดูความต้องการความทะยานอยากของกิเลส แต่ไม่ใช่ความเป็นข้อเท็จจริงนะ เพราะข้อเท็จจริงเราอดนอนผ่อนอาหารเพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ร่างกายมันไม่มีกำลังเกินไป ดูสิเวลาใครเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาเราฟื้นไข้ขึ้นมาเราต้องฟื้นฟูร่างกายไหม

เวลาเราอดอาหารไป นี่สภาพร่างกายมันจะเป็นอย่างนั้น เรื่องธาตุขันธ์มันจะอ่อนตัวลง เพราะเราไม่มีอาหารไปเสริมมัน พอไม่มีอาหารเสริมมัน นี่ธาตุขันธ์มันไม่กดทับจิตใจ เรานั่งสมาธิมันก็จะง่ายขึ้น ทุกอย่างจะง่ายขึ้น แต่เราคิดมุมกลับ เรากลัวแต่ความลำบาก เรากลัวแต่ว่าเราจะไม่ได้ผลประโยชน์ เราต้องทำให้มันสะดวกสบายก่อน แล้วภาวนาจะได้ผลไง

นี่ถือศีล ๘ กันทำไม? ศีล ๘ เขาไม่กินข้าวเย็นนะ เพราะกินข้าวเย็น เวลาเรากินข้าวเย็นเข้าไปแล้ว ข้าวเย็นอยู่ในกระเพาะ อาหาร ๖ ชั่วโมงกว่ามันจะย่อยอาหารหมด ขณะที่เรานั่งภาวนากระเพาะมันกำลังย่อยอาหาร ร่างกายมันก็ต้องทำงานของมันไป นี่ต้องทำงานของมัน เพราะมันมีอาหารของมัน ในธรรมชาติของอวัยวะมันต้องปฏิบัติหน้าที่ของเขาไปตามธรรมชาติของเขา แล้วเราก็ไปนั่งของเรา เราไปนั่งของเรา เราพยายามของเรา พยายามไปเถิด เพราะอะไร? เพราะเราคิดของเราเอง

เราถึงว่าเราต้องเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลสำคัญมากนะ ศีลเป็นขอบรั้ว เรามีเด็กอยู่ในบ้าน ถ้าเรามีรั้วรอบขอบชิด เด็กของเรามันก็ไม่ผจญภัย ถ้าเราไม่มีรั้วรอบขอบชิด เด็กของเรามันจะวิ่งออกไปชนใคร? มันจะวิ่งออกไปหาสิ่งที่เป็นอันตรายของมัน

ศีล รั้วรอบขอบชิด ไม่ให้ความคิดออกไปหาสิ่งที่เป็นเหยื่อมากจนเกินไป ความปกติของใจอยู่ในรั้วรอบขอบชิด แล้วทำความสงบเข้ามา เข้ามาในบ้าน บ้านของเรานะ ใครทำความสงบของใจขึ้นมาได้จะมีบ้านที่อาศัย ดูสิแดดลมมันพัดมา เราไม่มีบ้านที่อาศัย เราจะตากแดดตากลม เราจะทุกข์ร้อนไหม? แต่ถ้าเรามีบ้านพักอาศัย บ้านพักอาศัยมันอยู่ที่ไหน? เราก็ดูตึกรามบ้านช่อง ตึกรามบ้านช่องเดี๋ยวมันก็พังทลาย แต่สมาธิในหัวใจมันไม่พังทลายกับเรานะ มันเกิดขึ้นมาได้กับใจตลอดเวลา

ถ้าสมาธิเราพร้อม สติเราดี เราจะมีบ้านของเรา บ้านที่เป็นนามธรรมท่ามกลางหัวใจมันมีความอบอุ่น เรามีที่พักพิงของเรา เราจะไม่เดือดร้อนจนเกินไปนัก นี่ถ้าทำจิตมันสงบเข้ามาพออยู่พอกิน เพราะจิตมันสงบเข้ามา ถ้าสงบจนลึกๆ สงบจนแบบว่าคนที่ไม่มีสติจะเคลมเอาว่าสมาธินี้เป็นนิพพานเลย เพราะมันนิ่งของมันอยู่ มันมีความสุขของมันอยู่นะ ความสุขของมัน แต่มันเป็นอนิจจัง เพราะมันเป็นชั่วคราวไง

สิ่งที่เป็นชั่วคราว เห็นไหม ศีล สมาธิ แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญาโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เกิดการใคร่ครวญของกิเลส ปัญญาที่เราใช้กันอยู่นี่ปัญญาของกิเลส เพราะมันเป็นวิชาชีพ ถ้าตรึกในธรรมก็ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมของเรา นี่ทรงอารมณ์โสดาบัน ทรงอารมณ์ ทรงอารมณ์เอาอารมณ์อะไรมาทรง มันเป็นกิเลสล้วนๆ เอาอะไรมาทรง มือมันเปื้อน มันไปหยิบอะไรขึ้นมามันก็เปื้อนทั้งนั้นแหละ ถ้าจิตมันมีกิเลสอยู่ มันไม่เป็นโสดาบัน ทรงอย่างไรมันก็เป็นกิเลส เพียงแต่ว่ามันไปสร้างภาพขึ้นมาเท่านั้นเอง

แต่ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญา ทำความสงบของใจขึ้นมา แล้วมันเป็นปัจจุบันธรรม มันเห็นอาการของมัน กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เห็นกายๆ กันนี่ กายที่เราเห็นมันเห็นกายเนื้อ ที่คุยกันอยู่นี่นะมันเป็นเพราะเราเคลมศาสนากันไปเอง เราทำขึ้นมาเราทำโดยกิเลส เราก็เห็นกายขึ้นมา สร้างภาพเป็นกายขึ้นมา มันเป็นนิมิตขึ้นมา อุคคหนิมิต ปฏิภาคะ นี่แค่นิมิตมันยังไม่เข้าใจเลยว่านิมิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? นิมิตเกิดขึ้นมาแล้วเราแยกส่วนขยายส่วน ฝึกสอน นิมิตมันก็เหมือนกับกระดานดำ เวลาเด็กมันมาเรียนหนังสือ เลคเชอร์ต้องเขียนตาม ครูจะเขียนไปบนกระดานนั้น แล้วเราก็จดๆๆๆ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเกิดนิมิตขึ้นมา มันเห็นได้ฝึกใจ ใจเห็นสภาวะแบบนั้นมันจะแยกแยะอย่างไร? มันวิภาคะอย่างไร? นี่อาจารย์ตั้งโจทย์มาแล้ว กิเลส นี่ธรรมมันสร้างภาพขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เป็นนิมิตขึ้นมา แล้วปัญญาโลกุตตรปัญญามันจะใคร่ครวญ มันจะตอบโจทย์นั้นอย่างไร? มันจะเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมสภาวะแบบใด? นี่โลกุตตรธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งที่ว่าของง่ายๆ นี่ดอกไม้เกิดจากโคลนตม ความรู้สึกของเรา สิ่งที่เป็นปัญญาเกิดจากหัวใจที่มีกิเลส แล้วมันจะสะสมขึ้นมาอย่างไร?

นี่จากการกตัญญูกตเวที จากการเคารพจากการบูชาพ่อแม่ครูจารย์ จากการเห็นคุณของพ่อแม่ของเรา เห็นคุณจากผู้มีคุณของเรา ถ้าใจเห็นผู้มีคุณของเรา ใจอ่อนควรแก่การงาน แต่คนที่แข็งกระด้างไม่ยอมรับสิ่งใดเลย นี่จะมุทะลุเอาแต่ความเห็นของตัว เห็นไหม มันกิเลสชัดๆ มันกิเลสล้วนๆ แล้วมุทะลุไปว่าตัวเองนี่รู้ ตัวเองนี่เก่ง ตัวเองนี่ทำได้ แล้วมุทะลุไปมันจะได้อะไรขึ้นมา? มันจะได้สิ่งตอบสนองสิ่งใดกลับมา สิ่งนั้นจะไม่ได้สิ่งใดๆ กลับมาเลย

แต่ถ้าใจมันควรแก่การงาน ดูสิภาชนะจะบรรจุสิ่งของ ภาชนะต้องว่างก่อนใช่ไหม? ภาชนะขันจะตักน้ำต้องไม่มีน้ำใช่ไหม? ถ้าชาล้นถ้วย น้ำมันล้นถ้วย ตักเข้าไปมันจะเข้าไปได้ไหม? นี่ถ้าใจมันไม่ควรแก่การงาน ใจไม่อ่อนน้อมควรแก่การงาน ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร? นี่แล้วพออ่อนน้อมควรแก่การงานก็บอกว่าสิ่งนี้เราไม่มีการแสดงออก สิ่งนี้ความเห็นของโลกคือความเห็นของโลก ความเห็นของธรรมคือความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำคัญที่สุดนะ

นี่ตั้งแต่กตัญญูกตเวที เห็นคุณ เห็นคุณของชีวิต เห็นคุณจากการเกิด เห็นคุณจากที่มา ที่มา ที่มาคือเรา แล้วเราจะเอาผลอะไรในหัวใจของเราตลอดไป แล้วการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นี่ให้ทำทานกัน ให้ทำทานกันเพื่ออะไร? เพื่อการเสียสละ น้ำเสียนะเขาต้องรีไซเคิลเอาน้ำมาใช้ใหม่ อารมณ์เสีย ความหมักหมมของใจ ความคับข้องใจ ถ้าได้มีการเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละมันก็ยิ่งหมักหมม เราก็ยิ่งทุกข์ยิ่งตรม ไม่มีทางออก แต่มีการทำบุญ มีการเสียสละ มันเปิดให้น้ำเสียนั้นออกไป ให้น้ำดีไหลเข้ามา

ในการกระทำของเรา ดูสิเสียสละมันต้องลงทุน นี่การลงทุนมันความตระหนี่ถี่เหนียว ความคับข้องใจมันขัดแย้ง ความขัดแย้งเราฝืนมันไป นี่มันจะเปิดความเสียหาย เปิดสิ่งที่กดดันในใจออกไป แล้วมันจะได้สิ่งที่เป็นความสะอาดกลับมา เปิดประตู เปิดให้อากาศมันถ่ายเท เปิดให้เป็นไป นี่การสละทานมันมีประโยชน์อย่างนั้น ภาชนะมันก็จะว่าง ว่างโดยความนึกคิด ไม่ใช่ว่างโดยตามความเป็นจริง ถ้าบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิมันจะว่างตามความเป็นจริง ว่างตามความเป็นจริง ว่างตามคำบริกรรม ว่างตามศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมา จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มันมีความรู้สึกของมัน

นี่สถานที่ตั้ง ภวาสวะ ภพ นี่ตัวเกิดตัวตาย ใครเห็นที่ตั้ง ใครเห็นตัวที่กิเลสมันสถิตอยู่ สถิตอยู่ที่หัวใจ แล้วถ้าเกิดเป็นการชำระกันที่นี่ มันสะอาดได้ที่นี่ไง สมาธิไม่ใช่นิพพาน สมาธิเป็นฐานให้เกิดโลกุตตรปัญญา ไม่มีสมาธิเป็นโลกียปัญญา ไม่มีสมาธิเป็นตัวแบ่งแยก เป็นความคิดเราล้วนๆ ความคิดจากกิเลสทั้งหมด ความคิดจากการยึดมั่นทั้งหมด ความคิดเป็นตัวตนของเราทั้งหมด ต้องอาศัยสมาธิเป็นตัวพื้นฐาน แล้วสมาธิตัวนี้ นี่สมาธิตัวนี้เกิดจากที่ไหนล่ะ? เกิดจากการกระทำ เกิดจากสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ไม่มีหาไม่ได้นะ

คนยังมีชีวิตอยู่ คนยังมีความรู้สึกอยู่ คนมีพุทโธ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่กลางหัวใจ แต่ไม่เคยเห็นของตัวเอง สมบัติของคนอื่นเห็นไปหมด สมบัติของตัวเองไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอ นี่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นมรรคผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นตัวเลขธนาคารของคนอื่นทั้งนั้นเลย แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมา สมาธิของเราเกิดขึ้นมาหนหนึ่งก็เป็นสมบัติของเราหนหนึ่ง ปัญญาเกิดหนหนึ่งก็รู้หนหนึ่ง ชัดเจนหนหนึ่ง ความรู้เห็นไปหนหนึ่ง ถึงที่สุดทำความสะอาดขึ้นมาในหัวใจหนหนึ่ง ก็เป็นธรรมในหัวใจหนหนึ่ง

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต”

เห็นหรือยัง? นี่ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นสมาธิธรรม ก็เป็นเงาๆ ของธรรม ถ้าผู้ใดเห็นปัญญาธรรม ผู้ใดเห็นมรรค ผล นิพพาน นี่ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เห็นอย่างนี้ ผู้ใดเห็นธรรม นี่ในทางโลกเขาว่าเจอพุทธะให้ฆ่าก่อน เจอพุทธะให้ฆ่าก่อน นี่ไง เพราะอะไร? เพราะสิ่งที่เราชำระขึ้นไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้ต้องทำลายจิตเดิมแท้ตัวนี้

ถ้าทำลายจิตเดิมแท้นี่คือพุทธะ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั่นคือตัวอวิชชา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนี่แหละคือตัวพญามาร สิ่งที่เป็นพญามาร นี่ตามวัดตามวาที่วาดไว้เป็นยักษ์เป็นมาร ครูบาอาจารย์บอกว่ายิ่งกว่านางสาวจักรวาลนะ มันอ่อนน้อม มันอ้อยสร้อยอยู่กลางหัวใจ แล้วมันก็หลอกให้เราเกิดเราตายอยู่นี่ แล้วไปเจอมัน ทำลายมัน สิ่งนี้ถ้าเป็นผู้รู้จริง เห็นจริงจะทันสภาวะแบบนี้ นี่เกิดจากเรา สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่อยู่ในหัวใจ เรารื้อค้นของเราได้ แล้วเราทำของเราได้ แล้วเราจะเป็นประโยชน์กับเรา

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนพึ่งตนได้แล้วมันจะหวั่นไหวไปกับสิ่งใด? สิ่งที่การเคลื่อนไหว การดำรงชีวิตอยู่นี้ทุกคนก็มีเหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบิณฑบาตจนวันตายนะ ขณะที่วันตาย นี่ไปฉันอาหารของนายจุนทะ จนขนาดว่าพระพุทธเจ้าวิตกขึ้นมาเลยว่า ถ้าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปประชาชนเขาจะโจมตีจุนทะ ว่าเป็นคนถวายอาหารมื้อสุดท้ายไง พระพุทธเจ้าถึงสั่งไว้เลย

“อานนท์ ถ้ามีใครเขาไปติเตียนจุนทะนะ ให้บอกเลยทานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เขาถวายมีอยู่ ๒ หนที่มีบุญมหาศาลเลย หนหนึ่งนางสุชาดาได้ถวายอาหารเรา เราได้ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน แล้วคราวสุดท้ายนายจุนทะถวายอาหารเรา เราฉันอาหารของนายจุนทะแล้วเราจะถึงซึ่งขันธนิพพาน”

กิเลสนิพพานคือกิเลสที่มันอยู่ในใจ ฉันอาหารของนางสุชาดาแล้วทำลายกิเลสหมดไป แล้วนี่เหลือขันธ์ที่บริสุทธิ์ไว้ แล้วจิตที่เป็นพระอรหันต์อยู่ในร่างกายนั้น เวลาฉันอาหารของนายจุนทะแล้ว นี่ถึงซึ่งขันธนิพพาน ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ สละทิ้งไว้ในโลกนี้ จิตนี้ออกไป สิ่งที่เป็นนิพพานออกไป นี่อาหาร ๒ คราวที่ได้บุญมาก คราวที่ฉันอาหารของนางสุชาดาหนหนึ่ง ฉันอาหารของนายจุนทะหนหนึ่ง มีบุญมาก อย่าให้ใครเขาไปติเตียน เดี๋ยวนายจุนทะเขาจะเป็นภาระเขา พระพุทธเจ้าสั่งไว้หมด รู้หมดว่าโลกคิดอย่างไร? แล้วผลประโยชน์เป็นอย่างไร? นี่รู้แจ้งโลก

เราถึงว่าเราเกิดเป็นชาวพุทธ ครูบาอาจารย์ของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นพระอรหันต์ ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ นี่บอกปัญจวัคคีย์ “เธอได้ยินไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์ ไม่เป็นก็บอกไม่เป็น บัดนี้เป็นพระอรหันต์ ให้เงี่ยหูลงฟัง”

เทศน์ครั้งแรกได้โสดาบันมาองค์เดียวคือพระอัญญาโกณฑัญญะ เทศน์อนัตตลักขณสูตรได้พระอรหันต์มา ๕ องค์ แล้วเผยแผ่ศาสนามา นี่เป็นศาสดาของเรา เป็นที่พึ่งของเรา แล้วก็อยู่ในหัวใจของเรา พุทธะขึ้นในใจของเรา แก้ไขตรงนี้เป็นผลประโยชน์ของเรา เอวัง