เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ ก.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเกิดมา เห็นไหม คนนี่ถ้ามันจำเจกับสิ่งใด การจำเจกับสิ่งใดมันจะคุ้นชิน มนุษย์เรานี่ตายเพราะความคุ้นเคย มันต้องให้ตื่นตัวตลอดเวลา ทีนี้ในพรรษานี่ถือธุดงควัตร เวลาออกพรรษาเราก็ใช้ชีวิตปกติไง คำว่าปกตินะ แล้วแต่ว่าธุดงค์หรือไม่ธุดงค์ แต่ธุดงควัตรครูบาอาจารย์ท่านพามา ธุดงควัตรคือการมักน้อยสันโดษ แล้วพระเราฉันแค่มื้อเดียวยังต้องมักน้อยอีกหรือ?

มักน้อยสันโดษนะ มักน้อยสันโดษในอะไร? มักน้อยสันโดษในเรื่องของตัณหาความทะยานอยากไง แต่เรื่องของร่างกายมันต้องการของมันโดยธรรมชาติของมันใช่ไหม? ถ้าเราคิดว่าฉันมื้อเดียวอยู่แล้วทำไมต้องมาอดนอน ต้องมาผ่อนอาหาร การอดนอนผ่อนอาหารเป็นอัตตกิลมถานุโยคหรือ? อัตตกิลมถานุโยคนี่ความลำบากเปล่า แต่นี่คือการดัดแปลงกิเลสนะ การดัดจากกิเลส ถ้ากิเลสเราไม่หาทางให้มันเปลี่ยนแปลง ไม่หาทางทำความคุ้นเคย ความคุ้นเคย ความคุ้นชินนั้นคือทางของกิเลส กิเลสมันอาศัยความคุ้นเคย สิ่งที่เป็นความคุ้นเคย คุ้นเคยว่าไม่เป็นไรๆ

ดูสิในครอบครัวของเรา เห็นไหม สามีภรรยากัน ด้วยความสนิทชิดเชื้อนะทำอะไรด้วยความเกรงใจ คนใกล้ชิดต้องเกรงใจนะ ถ้าเราไม่เกรงใจกัน ไม่เป็นไรๆ อีกคนหนึ่งนี่ ไอ้เราก็รักเขา ไอ้เขาก็รักเรา ทำไมเขาทำกับเราขนาดนี้? มันสะเทือนใจนะ มันสะเทือนหัวใจ คนคุ้นเคยต้องให้เกียรติกัน ความคุ้นเคยๆ ความคุ้นเคยมันเรื่องของกิเลสทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าเป็นธุดงควัตรมันทำให้ตื่นตัวตลอดเวลา คนเราจะตื่นตัวตลอดเวลา กิเลสมันจะให้เรานอนจมนะ ถ้ามีอะไรนะความสนิทชิดเชื้อ นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านยังมีระยะห่าง ความระยะห่าง ห่างว่าสิ่งใดควรไม่ควร ถ้าสิ่งใดควร สภาวะอย่างนั้นมันตื่นตัว

การตื่นตัวคือตื่นตัวในเรื่องของตัวเรานะ กิเลสมันมากับใจ นี่มันเรื่องอนุสัยนอนเนื่องในสันดาน กิเลสนี่มันเป็นอวิชชา มันอยู่กับใจ เห็นไหม วิชชา อวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้มันเกิดจากอะไร? ไม่รู้มันเกิดมาจากหัวใจ หัวใจคือพลังงานเฉยๆ ออกมาพร้อมกับอวิชชา นี่มันเป็นอนุสัย มันละเอียดกว่ากิเลสนะ กิเลสคือตัณหาความทะยานอยาก ตัณหาความทะยานอยากก็เป็นกิเลสๆ แต่สิ่งที่มันนอนมากับใจล่ะ? มันคุ้นเคยกับใจ มันอาศัยมาพร้อมกันแล้วทวนกระแสเข้าไป เราจะดัดแปลงกิเลสกัน

พระธุดงค์กรรมฐาน ฐานคืออยู่ที่ไหน? ฐานคืออยู่ที่หัวใจไง พระธุดงค์กรรมฐานอยู่ที่โคนไม้ พระธุดงค์กรรมฐานอยู่ในสถานที่ที่ว่าเรามักน้อยสันโดษ มักน้อยสันโดษนะ โลกเขามีความสุขกัน เขาต้องมีความสุขกัน ดูสิสร้างตึกรามบ้านช่องนะ แล้วก็ทำความสะอาดกันทั้งหลังเลย แต่ในห้องนอนเขา เขานอนเฉพาะที่นอนของเขาที่นอนเดียวเท่านั้นเอง แต่ในบ้านเขาๆ ต้องเก็บกวาด เขาต้องรักษามหาศาลเลย

ไอ้เราไม่ต้องการสิ่งนั้นเลย เพราะปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยนี่มีบริขาร ๘ สิ่งที่เป็นบริขาร ๘ พระดำรงชีวิตได้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลางนะ การดำรงชีวิตของภิกษุ ภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ภิกษุเป็นผู้ขอ ขออะไร? นี่ขออะไร? ขอสิ่งนี้...มันเป็นการสละทานใช่ไหม? แต่ถ้าภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ชีวิตไม่ให้นอนจมกับความรู้สึกของใจนะ ใจนี่มันมีความรู้สึก มันคุ้นชิน เห็นไหม นี่มันคุ้นชิน ดูสิมีคนมาศรัทธา มีคนเคารพศรัทธา มีคนนบน้อม ไม่ต้องทำหรอก มันเป็นเรื่องลำบาก มันเป็นเรื่องยุ่งยาก

ไอ้เรื่องความลำบากเรื่องยุ่งยาก มันเรื่องขัดแย้งกับกิเลสไง ไอ้เรื่องความสะดวกความสบาย นอนสบายเลยแหละ เขามาประเคนให้ถึงที่เลย สิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องของสมณวิสัย สมณวิสัยบิณฑบาตเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตรนะ เลี้ยงชีวิตต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นธุดงควัตร ธุดงควัตรเพื่ออะไร? ธุดงควัตร วัฏฏะ เห็นไหม วัฏฏะ วัตร เป็นข้อวัตรปฏิบัติของใจ ให้ใจมันมีการออก ดูสิน้ำเสียถ้าหมักหมมไว้มันยิ่งเสียนะ

ใจคนก็เหมือนกัน ใจคนถ้าไม่มีการระบายออก อะไรต่างๆ มันจะมีความหมักหมม มีแต่ความเน่าเสียไว้ในหัวใจ ธุดงควัตรออกไปนะ เวลาออกไปบิณฑบาต ดูสิไปบิณฑบาตในครอบครัวต่างๆ เขามีความสุขรื่นเริง เราก็เห็นว่าครอบครัวนี้มีความสุขรื่นเริง ครอบครัวนี้มีการกระทบกระทั่ง มันเป็นธรรมะสอนใจนะ เดินธุดงค์ออกไปบิณฑบาตมันจะมีเครื่องสอนใจตลอดเวลา นี่ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในวัฏสงสารตั้งแต่ความดำรงชีวิต เห็นภัยในวัฏสงสารตั้งแต่การเกิด เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัย ถ้าคนเห็นภัยมันหาทางออกนะ

พระเราบวชใหม่ๆ ขึ้นมา ทุกคนไฟแรงมาก อยากจะหาทางออกทั้งหมดเลย แต่พอเราคุ้นชินเข้าไป มันคุ้นมันชินต่างๆ เข้าไปมันนอนจม เห็นไหม กิเลสพอกหางหมู ดินพอกหางหมู กิเลสมันจะพอกไปในหัวใจของตัวเอง แล้วเอาตัวรอดไม่ได้ มันถึงต้องตื่นตัวตลอดเวลา การตื่นตัวเราบอกเป็นความลำบาก แต่ถ้าความนอนจมกับกิเลสเราบอกเป็นความสะดวกสบาย นี่ถ้าเข้าทางกิเลสมันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมดเลย กิเลสนี่อนุสัยมันนอนมากับใจ ใจทุกดวงมีอวิชชา สิ่งที่เป็นอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้จักตัวมันนะ มันไม่รู้จักตัวมัน

อวิชชาไง แล้วความไม่รู้จักตัวมัน แล้วเรารู้ได้อย่างไรล่ะ? ก็ธรรมชาติผู้รู้มันมีไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชนะกิเลสออกไปแล้ว เห็นไหม อวิชชาหลุดออกไปจากใจ พญามารออกไปจากใจ แล้วความรู้สึกของพระพุทธเจ้ายังอยู่ไหม? มันอยู่ นี่จิตที่สะอาดมันมีอยู่ในตัวเรา นี่จิตเดิมแท้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ตัวผ่องใสนั่นแหละคือตัวอวิชชา แล้วความผ่องใสมันคู่กับความเศร้าหมอง

สิ่งที่เป็นความเศร้าหมอง สิ่งที่ผ่องใส เศร้าหมอง ความอาลัยอาวรณ์ในหัวใจ นี่กิเลสตัวสุดท้ายนะ กิเลสตัวหยาบๆ ดูสิตัณหาความทะยานอยาก ความต้องการต่างๆ เป็นกิเลสอย่างหยาบๆ กิเลสในหัวใจของเรา สิ่งต่างๆ เราชำระเข้าไป ถึงที่สุดแล้วกามราคะ ปฏิฆะต่างๆ ปฏิฆะคือความพอใจ สิ่งในใจเราพอใจ มันคุ้นชินกับสิ่งนั้นมันก็พอใจ? มันคุ้นชิน มันคุ้นกับสิ่งนั้นมันถึงเป็นความพอใจ แต่ถ้ามันเป็นอนุสัยล่ะ มันนอนมากับใจนะ

นี่ความคุ้นชิน คุ้นชินมาจากไหนล่ะ? คุ้นชินมาจากเรา เห็นไหม ครูบาอาจารย์ที่มีอำนาจวาสนา ครูบาอาจารย์ที่จะเป็นผู้สอนคนต้องให้ตื่นตัวตลอดเวลา จะกระตุ้นอย่างไรให้เราตื่นตัวนะ คนเราตื่นตัวมันจะเห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นภัยในวัฏสงสาร การดำรงชีวิต ดูสิแม้แต่กินอาหารคำหนึ่ง เราเผลอนะ คนเราช็อกคาสำรับก็มีเยอะแยะไป คนเราตายคาสำรับก็มี นี่การเกิดและการตายมันมาได้ทุกวินาทีนะ

ดูสิในสมัยพุทธกาล เห็นไหม พาหิยะเรือแตกมา แล้วเข้าฝั่งมา ขึ้นมาจากชายฝั่ง แล้วชาวบ้านเขาตื่นเต้นกันมากว่าเป็นศาสดา นี่หลงตัวเอง มีคนเคารพนบนอบศรัทธามาก แต่มีบุญวาสนาอยู่ เมื่อก่อนตอนประพฤติปฏิบัติไปอยู่บนภูเขาตัดไง แล้วถีบเอาบันไดออก ทำนั่งร้านขึ้นไปแล้วเอาบันไดออก บอกว่าถ้าไม่สำเร็จจะไม่ลงมา นี่สำเร็จไป ๑ องค์ อีกองค์หนึ่งเป็นพระอนาคา แล้วพาหิยะตายคาบนนั้น

นี่บุญกุศลที่สร้างมา พอเกิดขึ้นมาเป็นพ่อค้าเรือ แล้วเรือแตกเข้าไปชายฝั่ง พอเข้าไปชายฝั่งคนเขาเห็น เพราะเป็นชีเปลือยเข้ามาเขาว่าเป็นผู้วิเศษ คนเข้าไปทำบุญมหาศาลเลย มีลาภสักการะมาก ตัวเองก็หลงตัวเอง แต่ผู้ที่เคยปฏิบัติมาด้วยกันมากลางอากาศ มาเตือน “ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ นี่อย่าหลอกตัวเอง ปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วให้ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

นี่ไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ พอเข้าไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “กำลังบิณฑบาตอยู่ มันไม่มีเวลาหรอก”

“คนเรานะ มันเกิดมันตายได้ทุกเวลา ขอให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเถิด”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เห็นไหม แสดงธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์เดี๋ยวนั้นเลยนะ ขอบวชแต่ไม่มีบริขาร “เธอไม่มีบริขารนี่ ต้องไปหาเอง”

ไปหานี่ควายขวิดตาย นี่ความไม่คุ้นชิน ขนาดการคุ้นชินอย่างนี้ เทวดาที่เป็นหมู่คณะยังมาเตือนเลย เตือนว่า “เธอไม่ใช่พระอรหันต์ เธอไม่ใช่หรอก มีลาภสักการะอย่างไรก็ไม่ใช่ สิ่งต่างๆ นี้ไม่ใช่ ปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วให้ไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้วเข้าไปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “บิณฑบาตอยู่ ให้บิณฑบาตเสร็จก่อน” นี่พาหิยะบอกว่า “ชีวิตของคนเรามันสั้นนัก นี่ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเลย” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมย่อๆ นะ แต่เพราะได้สร้างบุญญาธิการมา เพราะอยู่บนภูเขาตัดนั่น เห็นไหม

นี่สิ่งที่เราจะได้มา ดูสิเชาวน์ปัญญาของแต่ละบุคคลมันไม่เท่ากันเพราะอะไร? เพราะการสะสมมา สิ่งที่ว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ สิ่งที่เราสะสมมา สิ่งที่เราเป็นมา เราทำมา จริตนิสัยคนถึงเป็นสภาวะแบบนั้น นี่สภาวะแบบนั้น แล้วในปัจจุบันนี้ถ้าเราฟังธรรม เราฟังธรรม เรามีสิ่งที่เตือนใจ เราจะสร้างคุณงามความดีของเรา คุณงามความดีของเรามันสะสมๆ ลงไปที่ใจ ใจนี่เพราะอะไร? เพราะการกระทำทั้งหมดออกมาจากใจ ใจเป็นคนคิด ถ้าใจไม่ริเริ่มทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้

คนเรานอนจม คนเราไม่ต้องการสิ่งใด ร่างกายขยับไม่ได้หรอก ร่างกายจะขยับได้เพราะหัวใจมันคิด มันต้องการของมันมันถึงขยับ แล้วความคิดของจิตมันเร็วมาก สิ่งนี้มันออกมาจากใจ แล้วใจแสดงออก แล้วย้อนกลับไปที่ใจ ถ้าย้อนกลับไปที่ใจ การกระทำอย่างนี้มันถึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ถ้าทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เห็นไหม เราถึงเห็นคุณค่าไง

เรามองกันแต่เรื่องวัตถุ โลกนี้เรื่องวัตถุหมดนะ แล้วตอนนี้โลกเจริญมาก พอโลกเจริญ ตอนนี้กำลังคิดกันแล้วว่าเจริญขนาดไหนคนก็มีความทุกข์ นี่มีความทุกข์นะ ให้เศรษฐกิจพอเพียง ให้หาความสุขในหัวใจให้ได้ ถ้าหาความสุขในหัวใจให้ได้ เห็นไหม คนมีการเจือจานกัน มีการเสียสละกัน โลกนี้จะพออยู่ได้นะ โลกอยู่ได้ด้วยธรรม ไม่ใช่โลกอยู่ได้ด้วยโลก โลกคือการแข่งขัน

ธรรมก็เป็นการแข่งขันกับตัวเอง ธรรมเป็นการแข่งขันกับตัวขี้เกียจ ตัวตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ ตัวที่มันมักมาก ตัวที่มันต้องการเอาเป็นเจ้าของคนเดียวให้มันเผื่อแผ่ ธรรมนี่แข่งขัน ระหว่างธรรมกับกิเลสแข่งขันในหัวใจของเรา แต่โลก การแข่งขันจากภายนอกมันเป็นเรื่องธุรกิจ เรื่องการแข่งขันอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ แต่ผลประโยชน์นั้น ผู้ที่ทำผลประโยชน์จากภายนอกแล้วทำผลประโยชน์จากภายใน ผู้ที่เสียสละ เสียสละภายใน

สมัยพุทธกาลเขามีโรงทานๆ ผู้ที่มีฐานะเขามีโรงทานให้กับผู้ที่ยากไร้ ในปัจจุบันนี้ทำกันไม่ได้ เพราะโลกประชากรมันมาก ทำเป็นมูลนิธิ ต้องถือเป็นครั้งเป็นคราวกันไป การแสดงออก การเสียสละทานเป็นสภาวะแบบนั้น แต่เวลาเรามีความเชื่อ มีศรัทธา เราหาครูหาอาจารย์ของเรา เพราะครูบาอาจารย์ของเราเป็นเนื้อนาบุญของโลก เนื้อนาบุญนะ ดูสิเวลาทำบุญที่ไหนเราก็ทำได้ ทำเพราะอะไร? เพราะว่ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันไม่ยอมให้ทำ

“เธอควรทำบุญที่เธอพอใจ” ถ้ามันมีความศรัทธาให้ทำที่นั่นเลย แต่ผลบุญล่ะ? ถ้าผลบุญนี่อยู่ที่เนื้อนาบุญไง เนื้อนาบุญ เนื้อนาดีหรือเนื้อนาไม่ดี เราถึงแสวงหากันไง แสวงหาสิ่งที่เราลงทุนลงแรงไปแล้วให้มันออกดอกผลออกมาให้เรา เห็นไหม นี่ดอกผลจากภายนอก ถ้ามีการกระทำอย่างนั้นผลบุญมันตอบสนองกลับมาหัวใจนะ ให้หัวใจอ่อน หัวใจควรแก่การงาน ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่เราเคารพศรัทธา หัวใจควรแก่การงานมันจะมีการหว่าน การไถ นี่ที่ดินที่มันเป็นที่ดินที่นา ที่เราควรแก่ มันเป็นที่ลุ่มที่มีแหล่งน้ำพร้อม เราจะทำนาทำสวนของเราได้ผล

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำบุญของเราแล้ว เราได้ฟังธรรมได้เตือนหัวใจของเรา เพราะชีวิตเป็นแบบอย่างไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุดนะ แล้วครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ นี่ชี้นำมา แล้วครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำให้เราย้อนกลับมาถึงความรู้สึกของเรา เห็นไหม แล้วบุญจากข้างนอก บุญจากข้างใน บุญจากข้างนอกนี่การสละทาน ทาน ศีล ภาวนา ถ้ามีการภาวนามันจะดัดแปลง ตัดแต่งพันธุกรรมในหัวใจ หัวใจมันจะตัดแต่งความเห็นของมัน นี่สละทานคือทานที่เราสละออกไปแล้ว สละออกไปแล้วมันจะมีอับเฉาไหม? มันจะมีการเศร้าหมองในหัวใจไหม? แล้วสิ่งที่เศร้าหมองในหัวใจ เราจะทำอย่างไรให้มันชื่นบาน?

สิ่งที่ชื่นบาน นี่ความสุขจากความชื่นบาน เห็นไหม บุญกุศล อกุศล ข้ามพ้นหมด ถ้าเวลาถึงที่สุดมันจะพ้นไป เพราะมันชื่นบานขนาดไหนเดี๋ยวมันก็เศร้าหมอง ความเศร้าหมอง ความผ่องใสมันเป็นอวิชชา แล้วจิตถ้ามันผ่องใสขนาดไหน มันก็พร้อมที่จะเศร้าหมองตลอดไป สิ่งที่เศร้าหมอง แล้วทำให้มันคงที่ที่ไม่เศร้าหมอง ให้มันผ่องใสมันเป็นอย่างไร? มันเป็นได้เพราะอะไร? เพราะเรามีความรู้สึกใช่ไหม? เรามีความนึกคิดใช่ไหม? เรามีความเศร้าหมองในหัวใจใช่ไหม? เรามีความชุ่มชื่นในหัวใจใช่ไหม? มันเป็นการชั่วคราวใช่ไหม? มันเป็นอนิจจังทั้งหมดเลย

“สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา” สิ่งที่เป็นอนัตตา อนัตตาแล้วใครเป็นคนอนัตตามันล่ะ? ถ้าเราเห็นความเป็นอนัตตาขึ้นมา แล้วเปลี่ยนแปลงของมัน สิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงความเป็นอนัตตาทำให้มัน... จะว่าสว่างตลอดไปมันก็เป็นเรื่องสมมุตินะ มันเป็นการปล่อยวางทั้งหมด มันเป็นอิสรภาพจริงๆ

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส จิตเดิมแท้เป็นตัวกิเลสนะ จิตเดิมแท้เป็นตัวอวิชชานะ ความผ่องใส ความต่างๆ มันเป็นอวิชชาทั้งหมด แล้วมันข้ามความผ่องใสไป แล้วข้ามความผ่องใสไปข้ามไปอยู่ที่ตรงไหนล่ะ? มันข้ามไปอยู่ที่ผู้รู้นี่รู้เอง รู้เองเป็นปัจจัตตัง เป็นผู้ที่รู้ขึ้นมาในหัวใจดวงนั้น เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้อยู่กับความพอดีอันนี้

ถ้าอยู่กับความพอดีอันนี้ นี่จากที่มันทุกข์ๆ อยู่นี่ เราทุกข์ใจเราทุกข์นะ ใจเราทุกข์ตั้งแต่ชีวิตเราสร้างสมมา นี่ให้ได้ฟังธรรมอย่างนี้ ถ้าฟังธรรมอย่างนี้เราไม่ต้องไปพึ่งใครเลย สิ่งที่เราฟังธรรมนี่นะเพื่อเตือนหัวใจของเรา เราต้องพึ่งใจของเราเอง ใจของเราเองจะทำให้ใจของเราเองเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ เราต้องกินอาหารของเราเอง ใช่ เรามีครูบาอาจารย์ เรามีผู้คอยชี้นำว่าควรทำอาหารอย่างใด แต่ขณะที่เราประกอบอาหารขึ้นมาแล้วเราต้องกินของเราเอง แล้วท้องเราจะอิ่มของเราขึ้นมาเอง

นี่ศาสนาพุทธสอนอย่างนี้นะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนไม่รู้จักอะไรเลยตนก็เอายาพิษใส่ตน ถ้าตนมีที่พึ่งแห่งตน ตนเอาสิ่งที่เป็นอาหารใส่ตน ตนเอาสิ่งที่เป็นคุณธรรมใส่ตน ตนก็เป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนไม่เอาใส่ของตนเอง แล้วใครจะเอาใส่ให้? ครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำเฉยๆ นะ เราเป็นคนตักอาหารใส่ปากของเรา เราเป็นคนเอาคุณงามความดีใส่ใจของเรา ถ้าใส่ใจของเราขึ้นมา แล้วความดีอย่างหยาบๆ นี่ทาน เรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของการภาวนา

เรื่องของทานอันละเอียดไม่ต้องการสิ่งใด เพราะเป็นนามธรรม นั่งสมาธิ ภาวนา ปัญญามันเกิดขึ้นมาจากหัวใจของเรา เรารู้ไปหมดเลย แล้วครูบาอาจารย์องค์ไหนจะหลอกเราได้ ถ้าจิตเรารู้แล้ว ใครมาหลอกเราไม่ได้หรอก เพราะอะไร? เพราะมันเป็นอันเดียวกัน อริยสัจมีหนึ่งเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาเป็นล้านๆ องค์ ตรัสรู้อันเดียวกัน ครูบาอาจารย์ที่ถึงธรรมก็ต้องถึงอันเดียวกัน มันเป็นอันเดียวกัน มันหลอกกันไม่ได้

ถ้ามันหลอกกันไม่ได้ สิ่งที่เหมือนกันต้องเหมือนกัน สิ่งที่ไม่เหมือนกัน อริยสัจนี่ต่างกันก็ไม่ได้ แต่จริตนิสัยแตกต่างกันได้ นี่เวลาวิปัสสนาเข้าไป กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากายก็มี พิจารณาเวทนาก็มี พิจารณาจิตก็มี พิจารณาธรรมก็มี วิธีการพิจารณาขึ้นมา ดูสิคนเขาไปเดินทางทางอากาศ คนไปเดินทางทางบก คนเดินทางทางน้ำ เดินทางต่างกัน นี่พาหนะต่างกัน แต่เป้าหมายต้องถึงเหมือนกัน ความที่ถึงเหมือนกัน อันนี้อริยสัจถึงอันเดียวกัน

วิธีการต่างกันแต่เป้าหมายเหมือนกัน ถึงหลอกกันไม่ได้หรอก สิ่งที่หลอกกันไม่ได้ เห็นไหม ถึงพิสูจน์แล้วมันเข้ามาถึงหัวใจของเรา ถึงการที่ว่าจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้เป็นผู้เกิด นี่ปฏิสนธิจิต จิต เห็นไหม วิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ วิญญาณโดยจมูก โดยตา โดยลิ้น โดยใจ นี่วิญญาณกระทบ ตัววิญญาณจริงๆ อยู่ไหน? ตัววิญญาณจริงๆ ตัวจิต ตัวที่มันเกิดมันตายอยู่ไหน? นี่ถ้าเราเข้าไปชำระที่นี่ไง

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้มันเป็นผู้ที่เศร้าหมอง จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส แล้วจิตเดิมแท้ถ้ามันมีกิเลสอยู่มันก็ออกมาโดยธรรมชาติ ออกมาด้วยความคิดต่างๆ มันก็ออกไปกว้านเอาทุกอย่างที่เอาความทุกข์มาใส่หัวใจไง แล้วถ้าเราตามทันเข้าไปถึงจิตเดิมแท้ แล้วเราไปพลิกที่จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้นี้พ้นจากกิเลสไป เป็นจิตของเรา เราอยู่กับเรา การประพฤติปฏิบัติหลอกกันไม่ได้หรอก คนเป็นกับคนเป็นมันรู้กันทั้งนั้นแหละ มันรู้ทันกันหมด แต่ถ้ามันเป็นของปลอมพูดกันแต่เงา พูดกันแต่สิ่งภายนอก มันก็เป็นข่าวลือ แต่ถ้าเป็นข่าวจริงๆ หลอกกันไม่ได้นะ

คนจริง ผู้สื่อข่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยกันเขาทันกันหมดแหละ เขารู้ว่าข่าวอันไหนเป็นข่าวเขาหลอก ข่าวอันไหนเป็นข่าวจริง เห็นไหม ข่าวจริงคือข่าวอริยสัจ ข่าวจริงคือข่าวเรื่องการเกิดและการตาย ข่าวจริงคือข่าวของเรา ข่าวจริงคือการประสบจิตของเรา เอวัง