เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ก.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วงจรชีวิตของคน คนเกิดมาแต่ละบุคคลมีตำแหน่งหน้าที่การงาน ตำแหน่งหน้าที่การงานแล้วแต่อำนาจวาสนานะ แข่งอำนาจวาสนาแข่งกันไม่ได้ แล้วอำนาจวาสนามันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่เราทำกันอยู่นี่ ถ้าเราไม่มีการกระทำของเราเลย เราไม่ทำคุณงามความดีของเราเลย วาสนามันมาจากไหนล่ะ? วาสนามันลอยมาจากฟ้าหรือ?

ในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม วาสนามันมาจากไหน? มาจากการประพฤติปฏิบัติสิ ครูบาอาจารย์บางองค์เวลาโกนผมลงไป ผมตกลงไปเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้ เวลาผมตกเขาพิจารณาของเขา มันสลดใจนะ ดูสิเวลาเรามีอะไรสะเทือนใจ เราสะเทือนใจของเรามาก

คนเราเปลี่ยนสถานะจากคฤหัสถ์มาเป็นภิกษุนี่นะ มันเปลี่ยนสถานะของมันไป นี่ความเปลี่ยนแปลงของใจ เรามีอะไรกระทบกระเทือนใจเรา เรากระทบกระเทือนใจเลย พอกระทบกระเทือนใจ การเปลี่ยนแปลงมันมีความตื่นตัว ตื่นตัวขนาดโกนผมลงไป ผมตกลงมาเห็นต่อหน้ามันสะเทือนใจไหม? การสะเทือนใจนี่มันสะเทือนกิเลส นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำอะไรกระเทือนใจของเรา เราบอกเราทำไม่ได้ เราจะเอาแต่ความสะดวก ความนุ่มนวล

เขาถามอยู่เมื่อวาน “ทำไมอารมณ์รุนแรง? พระอรหันต์ทำไมไม่เรียบร้อย?”

เราบอกเรียบร้อยมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละนิสัยได้ แต่ถ้าเป็นสาวก สาวกะ ละนิสัยไม่ได้หรอก อำนาจวาสนาของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน เห็นไหม การสร้างสมมา ขนาดว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นพระโพธิสัตว์ แล้วสาวก สาวกะ สร้างต่างๆ กันมา แล้วของเรานี่เราก็สร้างของเรามา ถ้าไม่สร้างของเรามานะ เราจะไปตามกระแสโลก

ดูสิคนเข้ามาทางวัด นี่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดี๋ยวก็ศรัทธา เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลงไป ความเปลี่ยนแปลงไปมันไม่คงที่ มันไม่ยั่งยืน ความยั่งยืนของเรา การสะสมของเรา เราต้องฝึก มันต้องมีเหตุ ดูสิเรามาทำบุญกุศลกัน เวลาทำบุญกุศลกันแล้วเราได้ฟังธรรม เห็นไหม ฟังธรรมอันนี้มันสะเทือนใจของเรานะ มาเตือนใจของเรา ชีวิตนี้สั้นนักนะ แต่เวลาเราทุกข์เรายาก ชีวิตนี้มันยืดยาวนัก

ชีวิตนี้สั้นนัก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับพยับแดดทีเดียวแหละ แต่ว่า ๑๐๐ ปีนี่เราว่าเรายืนยาวนะ แต่เวลาเขาอยู่เป็นเทวดา อินทร์ พรหมของเขานะ ๑๐๐ ปีของเราเท่ากับเขา ๑ วันเท่านั้นเอง เราดูแมลงวันสิ แมลงวันมันอายุได้แค่ ๗ วัน นี่ดูนกมันย้ายถิ่นนะ เวลามันบิน ชีวิตของมันรอบหนึ่งๆ พอเวลามันโตขึ้นมาจากไซบีเรีย มันบินมารอบหนึ่ง อายุขัยมันหมดแล้วนะ นี่ฤดูกาลหนึ่งกี่ปี มันหมดอายุของมันแล้ว

นี่เวลามันก็ว่าของมันนานนะ ทีนี้เวลาชีวิตของเขา เขาก็ว่าของเขานาน ชีวิตของเรา เราก็ว่าของเรานาน เห็นไหม ไปทำมาหากิน ทำหน้าที่การงานนี่เหนื่อยยาก ทุกข์ยาก การเหนื่อยยาก ทุกข์ยากอย่างนี้มันก็เป็นเพราะเราทำมาอย่างนี้ แล้วเราพยายามทำให้ดีที่สุด

นี่เขาบอกว่า “กรรมๆ อะไรก็กรรม ก็ยอมจำนนมัน”

ไม่ใช่หรอก กรรมนี่คือการกระทำมาตั้งแต่เป็นอดีต อดีต อนาคต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแก้กิเลสไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้แก้ที่ปัจจุบันนี้

คำว่ากรรมๆ นี่นะ กรรมคือการกระทำ ปัจจุบันทำดีมันก็ได้ดี แล้วปัจจุบันทำดีแล้วยังไม่เห็นได้ดีสักทีเลย ดีมันดีของใครล่ะ? ดีของเรา เห็นไหม ดูสิดูเวลาพระอรหันต์นั่งอยู่โคนไม้ นั่งอยู่ที่โคนไม้กำหนด... มีความสุขอย่างนั้นน่ะ นี่ความสุขของพระอรหันต์ อยู่โคนไม้มันทำไมมีความสุขล่ะ? เราคาดหมายกันผิดไง เราคาดหมายว่าถ้าความสุขของเราคือสิ่งที่เราปรารถนาทางโลกกันไง ปรารถนาทางโลกนี่เขาว่าวาสนานะ ดูสิดูเวลาเกิดเป็นเทวดาสิ เทวดาที่มีอำนาจวาสนามีบริษัทบริวารมาก เทวดาที่เข้าไป ไปอยู่คนเดียวอ้างว้างก็มี เป็นเทวดาเหมือนกัน นี่เวลาสร้างบุญกุศลเป็นเทวดาเหมือนกัน แต่บริษัทบริวารต่างกัน

นี่ก็เหมือนกัน การสร้างของเรามา นี่มันต่างกันหรือมันเสมอกันล่ะ? มันเป็นเรื่องของบุญกุศลนะ เราสร้างของเราไป เราทำของเราไป ทำของเราไปนะ เพราะเราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก แล้วนึกได้อย่างไร? เราพยายามนึกของเราอยู่ เพราะความสุขของเรา เรานึกของเรา เรานึกโดยกิเลสไง แต่ถ้าเป็นความสุขนะ เวลาถึงที่สุดแล้วนะ ดูครูบาอาจารย์ของเราสิ นี่เวทนากาย เวทนาใจ เวทนาของกายมันมีอยู่ เจ็บไข้ได้ป่วยมีทั้งนั้นแหละ พระอรหันต์ก็มี แต่หัวใจมันไม่ทุกข์ร้อนไปด้วยนะ เพราะมันรู้เท่าหมดแล้ว แล้วมันยังสังเวชด้วย

ดูสิเราเป็นเจ้าของพาหนะ เจ้าของรถ เห็นไหม เวลารถมันเสื่อมสภาพ รถมันต้องแก้ไข เราเป็นเจ้าของมัน เราสลดสังเวชไหม? นี่ก็เหมือนกัน หัวใจเป็นเจ้าของร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันต้องเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา เห็นความเสื่อมสภาวะไป เห็นความเจ็บไข้ได้ป่วย นี่มันสะเทือนใจนะถ้าใจเป็นธรรม

ถ้าใจไม่เป็นธรรมนะ นี่มันป่วยไปกับเขา มันโอดโอยไปกับเขา มันยึดอยู่กับเขา มันเสียอกเสียใจไปกับเขา แต่ถ้าเราไม่เสียอกเสียใจไปกับเขานะ เวลาเราไปรักษา ไปหาหมอ หมอจะรักษาง่าย ถ้าคนที่รักษาง่ายคือคนที่หัวใจเข้มแข็ง หมอสั่งสิ่งใดก็ทำตามหมอสั่งนั้น แต่ถ้าหัวใจอ่อนแอ เห็นไหม หมอให้ทำอย่างไรก็ทำตามไปกับหมอไม่ได้ ไม่ให้ความร่วมมือกับการรักษา

นี่ภาษาแพทย์เขาบอกถ้าคนไข้ร่วมมือกับการรักษา คนไข้นั้นจะหายได้ดี แต่ถ้าเราไม่ให้ความร่วมมือกับเขา เราอยากหาย เราอยากหายมาก แต่ว่าเราก็อยากจะหายโดยที่ว่าไม่มีเหตุมีผล อยากให้มันหายเลย ให้มันหายแบบฤทธิ์แบบเดช ให้มันหายโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เห็นไหม มันเป็นไปได้อย่างไรล่ะ? มันก็ต้องดูแลรักษา ดูสิบั้นปลายของการกระทำของเรา ดำรงชีวิตของเราอย่างไร?

ถ้าดำรงชีวิตของเราอย่างไร ดูครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ท่านเดินจงกรมของท่าน นี่วิหารธรรม ท่านจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ท่านไม่จมอยู่กับที่ ถ้าจมอยู่กับที่นะ ร่างกายมันกดทับอยู่อย่างนั้นนะ แล้วถึงเวลาแล้วมันจะเสื่อมสภาพ กระดูกต่างๆ จะเสื่อมสภาพ แต่ถ้าเดินจงกรมบริหารอยู่ เห็นไหม วิหารธรรม ท่านทำทำไมล่ะ? ท่านทำก็เพื่อจะไม่ให้พาหนะ ไม่ให้วัตถุ ไม่ให้ร่างกายนี้มันมากดจิตใจเรา

ดูสิดูอย่างภาชนะ เห็นไหม มันใส่ไข่มุก มันคนละอันนะ จานใส่ไข่มุก จานคือจาน ไข่มุกคือไข่มุกนะ หัวใจคือหัวใจ ร่างกายคือร่างกายนะ ร่างกายมันเป็นเหมือนๆ กันนี่แหละ แต่หัวใจที่พัฒนาแล้วขึ้นมามันต่างกันตรงนี้ ถ้ามันต่างกันตรงนี้ นี่ถ้าเห็นสภาวะที่มันเสื่อมสภาพไป มันยิ่งสะเทือนใจๆ เราสะเทือนใจขึ้นมามันเห็น มันยิ่งเห็นมันยิ่งซึ้งในธรรม เพราะใจมันเป็นธรรมอยู่แล้ว แต่ถ้าใจเราไม่เป็นธรรม นี่มันเป็นเราๆ ไปหมดเลย ถ้าเป็นเรามันก็ยึดไปหมดเลย

เป็นเราก็รักษาไป ถ้าเราศึกษาธรรมขึ้นมาเราก็รักษาของเราไป ต้องรักษานะ ของใช้ของสอยต้องรักษา ตระกูลที่จะมั่นคงได้ จะมีการซ่อมแซมบำรุงรักษา จะประหยัดมัธยัสถ์ ตระกูลนั้นจะมั่นคง ตระกูลไหนสุรุ่ยสุร่าย ตระกูลไหนไม่รู้จักถนอมรักษา ไม่รู้จักรักษาของเก่า ไม่รู้จักซ่อมแซมบำรุงนะ ตระกูลนั้นอยู่ไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันมีธรรม เราทำไมจะไม่รักษา ร่างกายนี่ทำไมจะไม่รักษา ทำไมจะไม่ดูแลมัน ดูแลมันทั้งนั้นแหละ ดูแลมันเพื่อจะไม่ให้มันกดทับเรา ดูแลเพื่อให้อยู่ความเป็นสุข เอ็งก็อยู่เป็นสุขนะ ข้าก็อยู่เป็นสุขนะ ร่างกายก็ไม่ต้องเดือดร้อนนะ หัวใจก็เป็นสุข เห็นไหม เป็นสุขด้วยกันทั้งคู่ แต่ถ้าเราไม่ดูแลรักษามันเลย ดูสิเราใช้สุรุ่ยสุร่ายเข้าไป เวลามันเสื่อมสภาพไปนี่มันก็วิการ พอวิการขึ้นไปมันก็ทำให้เราต้องไม่สะดวกไป

เช่น เรานั่งภาวนา ถ้าปกติเรานั่งภาวนาเราทำอะไรก็ได้ใช่ไหม? ถ้าเราไม่ปกติเราทำอะไรมันก็ต้องทำตามนั้น ทำตามนั้นนะ เพราะอะไร? เพราะถ้าไม่ปกติมันก็ทำได้ เพราะอะไร? เพราะเราพิจารณาเอาหัวใจ เราภาวนากันภาวนาเอาที่ใจนะ เราไม่ได้ภาวนาเอาที่ร่างกายหรอก แต่ แต่ขณะที่ทำ ท่ามาตรฐาน การนั่งสมาธินี่มันเป็นท่าที่สมดุลที่เราจะนั่งได้นานที่สุด แต่ถ้ามันทำไม่ได้ทำทางอื่นก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน เห็นไหม ทำได้ทั้งนั้นแหละ ทำเพื่อเอาหัวใจ การประพฤติปฏิบัติเพื่อใจทั้งนั้น แต่! แต่ในเมื่อมันมีร่างกายอยู่ มีการเคลื่อนไหวอยู่ มันก็เพื่อเอาสิ่งนี้แสดงออกไป เห็นไหม ดูสิการเคลื่อนไหวไป

ธุดงควัตรก็เหมือนกัน นี่ธุดงควัตรเพื่อขัดเกลากิเลส ขัดเกลาเพื่อใคร? กิเลสมันอยู่ที่ไหนล่ะ? กิเลสมันอยู่ที่ใจ การขัดเกลาก็ขัดเกลามาที่ใจ การทำต่างๆ กลับมาที่ใจทั้งหมด แต่มันมีการกระทำออกไป ถ้าไม่มีการกระทำออกไปเราจะธุดงค์ไปทำไม? เราจะทำสภาวะอย่างนี้ทำไม? ก็นอนจมกันอยู่อย่างนี้

นี่พระอรหันต์ คือว่านอนเฉยๆ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา มันเป็นไปได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่กิเลสมันคิดอย่างนั้นไง มันคิดกันโดยฤทธิ์ โดยเดช โดยฌานโลกีย์ตามประสาของกิเลส

แต่โดยธรรมนะ อริยสัจ อริยสัจเกิดมาจากไหนล่ะ? มันทุกข์ไหม? ทุกข์มันเป็นอริยสัจ ทุกข์มันเป็นความจริง ทุกข์มันเป็นความจริง แล้วมันทุกข์ไหมล่ะ? ก็ทุกข์จริงๆ นี่แหละ แต่เวลาทุกข์แล้วเราอยากจะหายทุกข์ เราอยากจะมีความสุขโดยที่ไม่มีเหตุมีผล มันยิ่งเพิ่มซ้อนทุกข์เข้าไปนะ

ดูครูบาอาจารย์ของเราสิ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม “เจ็บไข้ได้ป่วยก็เรื่องของเอ็งสิ ข้าจะแสดงธรรม ข้าจะทำหน้าที่ของข้า” ท่านก็วางไว้ เจ็บไข้ได้ป่วยท่านยังวางไว้ปกติเลย แล้วทำหน้าที่การงานของท่านไป นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเป็นความทุกข์ ความทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง มันสะเทือนใจเราไหมล่ะ? ถ้าสะเทือนใจเรา เราจะเกิดมาอีกไหมล่ะ? เราเกิดมาเป็นสภาวะแบบนี้ แล้วเกิดมาเพราะอะไร? เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่แหละ แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร? เราก็พยายามสร้างสมบารมีของเรา มันก็เป็นความจริงอย่างนี้

สิ่งที่เป็นทุกข์ๆ มันเป็นความจริงอย่างนี้ ความจริงจริงๆ เลย ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แล้วมันเกิดจากสมุทัย เกิดจากที่เราปฏิเสธมัน เห็นไหม ตัณหา วิภวตัณหา ถ้าเป็นความทุกข์จริง เราเห็นความเป็นจริงๆ เราก็อยู่กับมันโดยเข้าใจมัน อยู่กับมันโดยพอทนไปได้ พออยู่ได้ แต่โดยไม่เข้าใจ วิภวะคือผลักไส ไม่ต้องการให้มีสภาวะแบบนั้น มันเป็นไปได้อย่างไร? แดดมันออกมันก็ต้องร้อน มันธรรมดา ถ้าธรรมดาเราเห็นเป็นสภาวะธรรมดา หัวใจเราก็ปล่อยวางได้

ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ละอะไร? ก็ละตัณหา ละการผลักมัน ละการที่ไม่ต้องการมัน ละการที่ไม่ต้องการให้มันเป็นเรา ไม่ต้องไปต้องการและไม่ต้องการ มันเป็นความจริงอยู่อย่างนั้น ในเมื่อเราเกิดมาเรามีร่างกายแล้ว เรามีร่างกายแล้วเราต้องบำรุงรักษามันอยู่แล้ว เราถึงบอกเมื่อวานนี้ บอกว่าเวลาเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมเขาไม่มีร่างกายนะ เขาก็เป็นทิพย์ของเขา เขาเสวยสุขของเขานะ มันเป็นวิญญาณาหาร มันเป็นทิพย์หมดเลย เป็นทิพย์หมดเลยมันก็เพลินสิ มันเพลินมันชะล่าใจไง

มนุษย์นี่ ที่เป็นมนุษย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ ที่ว่าพระอรหันต์ต้องเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ พระอรหันต์ที่มาปฏิบัติในชาติของมนุษย์ เพราะอะไร? เพราะมนุษย์มีร่างกายนี่แหละ ร่างกายนี่มันคอยบีบคั้น นี่ไม่กินข้าวหลายวันเข้ามันก็หิว วันหนึ่งไม่ได้ดื่มน้ำเลยมันก็กระหาย สิ่งที่กระหายมันจะบีบคั้นตลอดเวลา แต่เราไม่รู้ไง เพราะโดยสัญชาตญาณกันเราก็ดื่มน้ำกัน เรารักษากัน เราผ่อนคลายกัน นี่กิริยาท่าทางเราก็พลิกแพลงตลอดไป แต่ถ้าเขาไม่มีร่างกายกดทับ คิดดูสิว่าเขาจะเพลินขนาดไหน? แล้วเขาเป็นทิพย์ด้วยนะ เป็นทิพย์อย่างที่เราต้องการกันนี่ ทุกข์ให้หายไปเลย ต่างๆ ให้หายไปเลย

ถ้าเป็นเทวดาเป็นอย่างนั้น มันสุขตลอดเวลา ก็เลยเพลินไง เลยเพลินคิดว่าตัวเองเป็นคุณวิเศษไง พอถึงเวลาหมดอายุขัยนี่คอตก เห็นไหม นี่เขาเพลินไปชีวิตหนึ่งของเขา เขาถึงไม่มีการเตือนใจอย่างนี้ แต่ถ้ามนุษย์มันมีไง มนุษย์นี่มี มนุษย์ต้องแสวงหา มนุษย์มีปากมีท้อง มนุษย์มีสิ่งต้องอาศัย นี่สิ่งที่อาศัยมันก็บีบคั้นหัวใจ ถ้าคนเป็นธรรมนะ ถ้าคนไม่เป็นธรรมไม่ใช่บีบคั้นหัวใจ มันเป็นสมบัติของเรา สรรพสิ่งเป็นเรา อะไรเป็นเรา เพลินไปกับเขา แล้วมันเป็นเราไหมล่ะ? มันเป็นเราชั่วอายุขัย

อายุขัยของเราให้เกิดมา มีตั้งแต่เป็นเด็กขึ้นมา เป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมา จนแก่ชราภาพไปอย่างนี้ นี่ให้โอกาสเราได้แสวงหา แสวงหาดีหรือชั่ว ธรรมหรือกิเลส เราแสวงหาของเรา เราทำของเรา หน้าที่ของเราเราทำของเรา เห็นไหม ถ้ามีสภาวะบีบคั้นขึ้นมานี่ให้เราตื่นตัวตลอดเวลา ให้เราคิดถึง ให้เข้าไปหาธรรมะ ธรรมะคืออริยสัจ

ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกเที่ยวสวน เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนแก่ คนเจ็บ คนตายมันสะเทือนหัวใจขนาดนี้ แต่นี่มันอยู่กับเราเลย มันบีบคั้นเราเลย บีบคั้นเราเพราะอะไร? เพราะว่ามันมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะตอนนั้นยังไม่มีศาสนา นี่สิ่งนี้ยังสะเทือนใจพระโพธิสัตว์

แต่ของเราเป็นสาวก สาวกะ ศาสนามีอยู่เพราะเราเป็นชาวพุทธ ศาสนามีกับศาสนาไม่มีต่างกันนะ ศาสนาไม่มีหมายถึงว่าดูสิ ดูอย่างที่เขาไม่เชื่อศาสนาเลย เขาก็คิดของเขาไป นี่กราบไหว้เทวดา อินทร์ พรหมของเขา กราบไหว้ดิน ฟ้า อากาศ กราบไหว้พระอินทร์ กราบไหว้ไฟ เขากราบไหว้กัน เขาบูชากัน เห็นไหม เพราะเขาไม่มีที่พึ่ง แต่ของเรามันมีที่พึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะ ธรรมะคือสัจธรรม นี่สิ่งนี้มีอยู่แล้ว ถ้ามีอยู่แล้ว เราเกิดมานี่เราเป็นสาวก สิ่งที่ศาสนามีอยู่แล้ว มันเตือนเราอยู่แล้วไง

ถ้าเตือนอยู่แล้วเราก็ย้อนกลับมาเตือนสติเรา ถ้าเตือนสติเรา หน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงานนะ เวลาพูดถึงโลก โลกคืออย่างนั้นนะ ไม่ใช่ปฏิเสธนะ ดูสิพระออกบิณฑบาต เห็นไหม พระก็ต้องฉันอาหาร เพราะอะไร? เพราะมีร่างกายเหมือนกัน แต่เป็นพระ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี่เจ้าของศาสนา บริษัท ๔ เห็นไหม นี่เตือนขึ้นมาอย่างนี้ หน้าที่การงานข้างนอกเป็นหน้าที่การงานข้างนอก หน้าที่ของพระเป็นหน้าที่ของพระ หน้าที่ของพระ ปัจจัยเครื่องอาศัยก็ต้องปัจจัย ๔ แต่เวลาหน้าที่ของพระ เห็นไหม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ทางจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา

หน้าที่ของโยม ถ้ามีเวลาทำหน้าที่การงานทางโลกก็ต้องโลก เพราะเราเป็นคฤหัสถ์มันต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติก็อีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือพยายามแสวงหาของเรา ถ้าแสวงหาของเรา ถ้าพูดถึงเราตัดใจได้ นี่เพราะทุกคนมีโอกาส บวชก็ได้ ถ้าบวชแล้วเป็นพระหมดแหละ ถ้ามีโอกาสเราก็ทำของเราสภาวะอย่างนั้นของเราไป ถ้ายังไม่มีโอกาสเราก็ทำเท่าที่เราทำได้ เพราะเราสร้าง เราสร้างเวรสร้างกรรมมาอย่างนี้ เพราะเราสร้างเวรสร้างกรรมมา เราสร้างเวรสร้างกรรม เราต้องรับผิดชอบ

คนจะเป็นคนดีต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ หน้าที่การงานของเรา หน้าที่ทำสิ่งดีๆ ทุกอย่างไป นี่คือหน้าที่ของเรา นี่คือการเป็นของเรา คนดีเริ่มจากตรงนี้ ถ้าเริ่มจากตรงนี้ ทำไปนะมันเป็นสัมมา มันเป็นความถูกต้องไปตลอด ถ้าเป็นมิจฉา มันจะเอาโดยไม่มีเหตุมีผล เหมือนกับจะเอาน้ำ แต่ไม่มีภาชนะไปตักมัน เราจะเอาน้ำมา เราไม่มีสิ่งใดไปตักน้ำมา เราจะเอามาได้อย่างไร? คนที่เขาฉลาดเขาตัดไม้ไผ่ เขาตัดอะไร ไม่มีอะไรเขาก็ตัดไม้ไผ่ไปเอาได้นะ เขามีชะลอม มีอะไร เขาก็ไปเอาของเขาได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้านี่ของเรา เราจะทำคุณงามความดีของเรา เราตั้งสิ่งที่เป็นความดีของเรา เราจะได้ธรรมะมาไง ธรรมะเป็นของกลาง เหมือนน้ำ เหมือนอากาศ เหมือนแดดที่เป็นสถานะ แล้วใครเอาประโยชน์มันมา เอาประโยชน์มันมานะ แต่เราไม่คิดถึงน้ำ อากาศ หรือแดดเลย เราคิดถึงว่าเราๆๆ แล้วเราก็บีบคั้นเรา เราไม่ได้คิดอะไรเลย ถ้าเราไม่ได้คิดอะไรเลยมันจะมีการแสวงหา มีการกระทำ มีความเป็นไปของเรา เราจะเป็นคนดีของเรา

นี่ศาสนาสำคัญอย่างนี้ ฟังธรรมที่สุดแล้วนะย้อนกลับมาเตือนใจ ย้อนกลับมาเตือนหัวใจ ให้หัวใจตื่นตัว ให้หัวใจเห็นคุณค่าของชีวิต คุณค่าชีวิตสำคัญมาก นี่หัวใจ สิ่งที่ความรู้สึกทุกข์ สุข แล้วเกิดทำประพฤติปฏิบัติไป จากทุกข์ จากสุข มันพยายามต่อสู้กันในการกระทำ ในหัวใจขึ้นมา แล้วมันถึงที่สุดแล้วมันจะเห็นผลของมัน

นี่ตัวศาสนาอยู่ที่นี่ ตัวศาสนาอยู่ที่เรา สิ่งประกอบจากภายนอก โลกธรรม โลกธรรม ๘ เป็นเรื่องประกอบภายนอก เรื่องของเราคือเรื่องของเรา สุขทุกข์ของคนอื่นก็เป็นของคนอื่นนะ สุขทุกข์ของเราเป็นของเรา ประสบการณ์ในหัวใจของเราเป็นของเรานะ สันทิฏฐิโก ธรรมะที่นี่ เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เรียกร้องทุกคนมาดูการเปลี่ยนแปลงของใจเรา ใจเราจากหมักหมม ใจของเราจากที่ไม่รู้สิ่งใดเลย ใจของเราเปิดกว้างขึ้นมา ใจของเราแสวงหาขึ้นมา จนใจของเราอิ่มเต็มในหัวใจของเรา

นี่เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ดูที่หัวใจของเรา เราดูของเราก่อน เราเห็นของเราก่อน แล้วจะเรียกใครมาดูก็ได้ ถ้าในหัวใจของเราไม่มีสิ่งใดหมักหมมเลย ใครจะจับผิดเรานะ เรื่องกิริยาภายนอก เห็นไหม เรื่องนิสัย อำนาจวาสนานั่นเรื่องของเขา ใครจะว่าอย่างไรเรื่องของเขา ถ้าเรื่องของเรา เราทำของเราได้ ธรรมะอยู่ที่นี่ หัวใจเราอยู่ที่นี่ ชีวิตของเราอยู่ที่นี่ ชีวิตถึงสำคัญอย่างนี้ เอวัง