เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ ก.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

แต่โลกเขาดีออกมาจากข้างนอก ดีออกมาจากการสร้างสรรค์ การสร้างสรรค์อยู่ที่สติควบคุมนะ ถ้าควบคุมได้มันก็ดีอยู่ เห็นไหม แต่เวลาสิ่งเร้ามันเกิดขึ้นมาจะควบคุมได้ไหม? เราทำบุญกุศลกันนี่ทำบุญกุศลเพื่ออะไร? บากบั่นนะ ทำดีไม่ใช่ทำง่ายๆ หรอก ทำดี ถ้าดีเกินคนอื่นไป ดีเกินหน้าเขามันก็ไม่ดี แต่ดีของเราดีในไง ดีคือว่าดีแล้วทิ้งเหว นี่ทำบุญทิ้งเหว ดีคือดี ถ้าดีคือดี ความดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ

ในปัจจุบันนี้เป็นโลกๆ หมดเลย เวลาทำบุญกุศลกัน เห็นไหม ต้องประกาศ ต้องให้รับรู้กันไป เพื่ออะไร? ต้องการความดีต่อเนื่อง ถ้าความดีต่อเนื่องความดีเราไม่บริสุทธิ์แล้ว ถ้าความดีของเราคือความดีอย่างนี้นะ ดูครูบาอาจารย์ของเราสิ หลวงปู่มั่นอยู่ในป่าตลอดชีวิตเลย อยู่ในป่าตลอดชีวิตนะ นี่ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดในป่านะ สวนลุมพินี ตรัสรู้ในป่า ปรินิพพานก็ในป่า นี่มันเป็นเอกลักษณ์ มันเป็นความจริงในศาสนา แต่ถ้าว่าเรามากล่นเกลื่อนกันด้วยคนมันเป็นเรื่องโลกๆ แต่เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องของป่า ในป่าๆ หนึ่งมันจะมีพันธุ์ไม้ต่างๆ กันมหาศาลเลย

นี่ก็เหมือนกัน สังคมโลก สังคมโลกมันเป็นสภาวะแบบนี้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ที่ใดได้หนอ? เพราะอะไร? เพราะการสั่งสอนธรรมะอันบริสุทธิ์นี่มันจะสอนให้ใครได้ แต่เวลาออกมาดูด้วยญาณ นี่มี พอมีได้บ้าง มีได้บ้างคือยังสั่งสอนได้บ้าง

ในศาสนาเราก็เหมือนกัน ถ้าจะเอาหลักความจริงมันต้องในความสงัด วิเวก สิ่งที่วิเวกมันจะเกิดสัจจะความจริง แต่วิเวกเกิดจากสิ่งนั้นคือสัจธรรม คือครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นหลักเป็นชัยของวงกรรมฐานเรา แต่เวลาออกมาเราเป็นผู้ให้ความสนับสนุนใช่ไหม? ฉะนั้น ความสนับสนุนเราก็อยากได้เหมือนกัน แต่อยากได้เหมือนกันเราก็ต้องพยายามทำตัวเราให้เข้าเป็นสภาวะแบบนั้นไง

แต่เวลาเรามาในวัด ทุกคนจะแบกก้อนหินกันมา เห็นไหม แบกความรู้สึกกันมา แบกความคิดของตัวเองมา จะต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น เราทุกข์ยากมาจากเมืองนะ พอมาเจอที่เงียบสงบเราก็พอใจแล้ว แต่ผู้ที่เขาอยู่ในที่สงบสงัด เขาต้องการความสงบมากกว่านั้นไง ความสงบของเขานะ สงบจากภายนอก สงบจากภายใน ถ้าภายนอกไม่สงบ ดูสิเวลาว่างจากข้างนอก แต่ข้างในมันไม่ว่าง มันเดือดร้อนนะ เห็นไหม ไปอยู่ในป่าในเขากัน ไปเดือดร้อนกัน

อยู่คนเดียวระวังความคิดนะ คนอยู่คนเดียวความคิดมันจะฟุ้งซ่านมาก เวลายิ่งอยู่คนเดียวยิ่งวิตกวิจาร ยิ่งความคิดมาก เราไม่คิดนะ ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านว่า เห็นไหม ถือไม่พูดกัน ไม่พูดแต่ใจมันยิ่งพูดนะ ไม่พูดก็พยายามเม้มปากไว้ แต่ความคิดในหัวใจมันเม้มไม่อยู่หรอก แต่ถ้าเรารู้จักกาลเทศะ เราใช้ประโยชน์ของเรา

สิ่งที่เป็นประโยชน์ของเรานี่มันเป็นเทคนิค อย่างเช่น การอดอาหาร การอดอาหาร คนเห็นว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระนะ เพราะมันเป็นเรื่องของความทุกข์ ดูสิดูอย่างนิสสัย ๔ ฉันน้ำมูตรเน่า นี่วงการแพทย์เขาบอกของเสีย ของเสียขับออกมาจากร่างกายแล้วมันจะเป็นประโยชน์ได้อย่างไร? ของเสียขับออกมาจากร่างกาย แต่ต่อไปถ้าวิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้ วิทยาศาสตร์เขาจะยอมรับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ เห็นไหม นี่บิณฑบาตเป็นวัตร เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ฉันด้วยน้ำดองมูตรเน่า เพราะอะไร? เพราะมันตัวคนเดียวอยู่ในป่า เราจะรักษาไข้เราได้อย่างไร? นี่หนามยอกเอาหนามบ่ง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะทำความสงบของเรา เราจะทำความสะดวกสบายของเรา เราออกมาจากเมือง เราออกมาจากการคลุกคลี เราออกมาจากสัตว์สังคม แล้วเวลาแยกไป แค่นี้มันก็ว่าเป็นความวิเวก เห็นไหม เวลาเราอดนอนผ่อนอาหารเข้าไป เพื่ออะไรล่ะ? ก็เพื่อว่า นี่สิ่งนี้เป็นของเสีย แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับร่างกาย? สิ่งนี้เป็นความเสีย นี่ก็เหมือนกัน อดอาหารนี่ร่างกายมันขาดแคลน มันจะเป็นประโยชน์ได้อย่างไร? ก็เราคิดกันได้แค่นี้ไง เราคิดกันได้แค่นี้ เราคิดด้วยโลก หัวใจเราบอดไง

ถ้าคนที่มีหัวใจ คนที่หัวใจเปิดสว่างขึ้นมา วิธีการ เห็นไหม วิธีการจะเข้ามาหาหัวใจ วิธีการจะเข้ามาหาความรู้สึก วิธีการจะหาความสุขจากความแท้จริง ดูสิดูอย่างเช่นการเกิด การเกิดขึ้นมานี่เกิดมามีร่างกายและจิตใจ ถ้าเราทำบุญกุศลมา ร่างกายเวลาเกิดมา ร่างกายสูง ต่ำ ดำ ขาวต่างๆ กันไป นี่บุญพาเกิดนะ สิ่งที่บุญพาเกิด พ่อแม่ทุกคนทำไมไม่ต้องการให้ลูกของเราสวยวิจิตรพิสดาร พ่อแม่คนไหนไม่รักลูก พ่อแม่คนไหนรักลูกทั้งนั้นแหละ แต่มันเกิดโดยสภาวะกรรม ถ้าเกิดโดยสภาวะกรรม สภาวะนี่กรรมพ่อแม่ก็อยากให้ดีหมด แต่กรรมของเขามีสภาวะแบบนั้นก็เป็นอย่างนั้น

แล้วเวลาในปัจจุบันนี้โลกเจริญ เห็นไหม นี่มีทำศัลยกรรมกันจะให้อย่างไรก็ได้ แต่มันก็เป็นของชั่วคราว แล้วมันมีอัตราความเสี่ยง แต่เรื่องของบุญของกรรมมันเป็นความจริง ความจริงโดยสมมุติ จริงชั่วคราว จริงโดยชีวิตนี้เท่านั้นเอง แต่ว่ามันมีแรงขับเรื่องของบุญกุศลสร้างมา เห็นไหม แล้วถ้าเรื่องของหัวใจล่ะ? เรื่องของหัวใจ เรื่องของธรรมะที่เราแสวงหากันอยู่นี้ หาที่พึ่ง หาที่มีความสุขใจ ที่ไหนมีความสุขใจ ที่ไหนมีความเชื่อใจ ที่ไหนมีความพอใจ ที่นั่นเป็นที่พึ่งของเรา แล้วความเชื่อ ความไว้ใจมันไว้ใจจากข้างนอก แล้วมันพิสูจน์เรา

ดูสิเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ถ้าเราจิตสงบเข้าไป เราเอาความเห็นของเราถามครูบาอาจารย์สิ นี่จิตสงบเป็นอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์ท่านจะตอบอย่างไร? สิ่งที่ไม่รู้ตอบไม่ได้ สิ่งที่ไม่เห็นทำไม่ได้ นี่สูง ต่ำ ดำ ขาวของใจ สูง ต่ำ ดำ ขาวของใจคือวุฒิภาวะที่ว่าเห็นโทษและเห็นคุณไง ถ้าเห็นโทษ เห็นไหม การอดอาหารมันเป็นเรื่องของการชำระกิเลส เรื่องการผ่อนน้ำหนัก การที่ว่าเวลานั่งไปโงกง่วง ง่วงเหงาหาวนอน ต้องต่างๆ เวลาประพฤติปฏิบัติกัน สิ่งนี้มันเป็นอุปสรรคของเรา แล้วเวลาเราจะมีวิธีการไปแก้ไขขึ้นมา กิเลสมันก็บอกว่าสิ่งนี้ไม่จำเป็น สิ่งนี้ไม่จำเป็น ดูสิใครเห็นโทษของอาหาร คนนั้นเป็นคนที่ปัญญาใช้ไม่ได้เลย ปัญญาต้องเห็นคุณของอาหารสิ

อาหารนี่มันเป็นคุณต่อเมื่อเราใช้ในมัชฌิมา คือพอสมควร เห็นไหม อาหารเป็นสัปปายะ สัปปายะคือว่าฉันแล้ว หรือกินแล้ว หรือทำแล้วไม่ให้โทษกับร่างกายของเรา ฉันแล้ว กินแล้วไม่ให้โทษกับหัวใจด้วย ให้โทษกับหัวใจนะ ถ้าเรานี่เวลาเราฉันอาหารฉันแต่ข้าวเปล่าๆ เวลานั่งสมาธิมันจะสะดวกสบายมากเลย แต่เราทำอย่างนั้นอยู่ทุกวันๆ นี่กิเลสมันก็แบบไม่พอใจเลย อยากจะไปแสวงหาสิ่งที่มันได้ตามอำนาจของกิเลส แต่ถ้าฉันอย่างนั้นแล้วเรานั่งสมาธิดูสิ ลองทำสิ

นี่สัปปายะมันเป็นอย่างนั้นไง สัปปายะหมายถึงว่ากินแล้ว ฉันแล้วมันไม่ให้โทษกับร่างกาย ไม่ให้โทษกับการประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่สัปปายะของเรา สัปปายะของกิเลสสิ กิเลสมันก็พอใจทั้งนั้นแหละ ที่ไหนกินอิ่มนอนอุ่นมันก็พอใจนั่นแหละ การปฏิบัติต้องมีกินอิ่มนอนอุ่น เห็นไหม จนมีความเข้าใจผิดกันนะ ในการประพฤติปฏิบัติเดี๋ยวนี้ต้องปฏิบัติในที่สะดวกสบาย

หลวงตาท่านพูดประจำนะ “อำนวยความสะดวกแต่ร่างกาย” อะไรก็แต่ว่าร่างกายให้สะดวกๆ แต่ถ้าหัวใจมันหมักหมม นี่แสวงหาสร้างสิ่งที่ว่าเป็นประโยชน์กับร่างกาย แล้วว่าจะประพฤติปฏิบัติ พอไปนั่ง ๕ นาทีก็เลิก อุตส่าห์แสวงหา อุตส่าห์สร้างมาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ แล้วปฏิบัติจริงไหม? แต่ถ้าเราไม่ต้องแสวงหา เราปฏิบัติของเราเลย ที่ไหนก็ได้ โคนไม้ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ใช่ไหม? อย่าให้กิเลสมันมาหลอก

เราอำนวยความสะดวกแต่ร่างกายกัน สิ่งนี้ต้องสะดวก ต้องสะดวก แล้วมันสะดวกจริงไหมล่ะ? สะดวก เวลาเราแสวงหามันเหนื่อยมากไหม? มันทุกข์ยากไหม? กว่าจะแสวงหามาได้สภาวะแบบนั้น แล้วไปทำจริงๆ แล้วมันได้อะไรขึ้นมา? มันก็เสียเวลากับการแสวงหานั้น มันต้องเหนื่อยในการเก็บล้างรักษาอันนั้นใช่ไหม? เราเอาสิ่งนั้นมานั่งสมาธิ ตั้งสติ เราเดินจงกรมของเรา สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กว่า ถ้าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กว่า สิ่งนั้นถึงไม่จำเป็น สิ่งนั้นเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เครื่องอาศัยชั่วคราว แล้วถ้าคนมีสติสัมปชัญญะ เห็นไหม อาศัยชั่วคราว เราอาศัยมันอย่าให้มันขี่คอเรา

ถ้ามันขี่คอเรานะ นั่นก็จำเป็น นี่ก็จำเป็น นี่เวลาพระบวชใหม่เป็นอย่างนั้นหมดแหละ เวลาออกธุดงค์นะจำเป็นไปหมดเลย เพราะอะไร? เพราะพระก็เหมือนกับโยมนี่แหละ เพราะพระบวชขึ้นมาใหม่ ก็พระบวชใหม่ก็มาจากโยม มาจากฆราวาส มาจากฆราวาสความคิดก็เป็นเรื่องของโยมมาก่อน ถึงขอนิสสัย ถ้าขอนิสสัยนี่ ๕ ปี ถ้าฉลาดขึ้นมานี่พ้นจากนิสสัย วุฒิภาวะไง

พอเข้าในศาสนา ๕-๖ ปีนี่นะมันได้สัมผัสอันนี้ มันจะเห็นว่าอันนี้ควรและไม่ควร จะย้อนกลับไปความคิดเมื่อก่อนเราทำไมคิดอย่างนี้? เดี๋ยวนี้เรามีความคิดแตกต่างออกไป เพราะเมื่อก่อนเราคิดว่าอย่างนี้มันเป็นความพอดี แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้วอันนี้เป็นอุปสรรค พอเป็นอุปสรรคปั๊บเราก็หาทางแก้ไขของเรา พอหาทางแก้ไขเข้าไป อ๋อ มันพอดีของครูบาอาจารย์ท่านจริงๆ เนาะ แต่ความเห็นของเราขณะที่เราดิบมา พอดิบมาไม้มันยังไม่แห้ง จะทำไม้ดิบให้มันเป็นไม้แห้งที่ควรแก่การติดไฟ

นี่การประพฤติปฏิบัติ ข้อวัตรมันเป็นอย่างนั้น สภาวะมันเป็นอย่างนั้น วุฒิภาวะของใจเป็นอย่างนี้ พระก็เหมือนโยม โยมก็มีความคิดอย่างนี้ ถ้ามาแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นๆ เอาความคิดเราเข้าไปเทียบ แต่พอเห็นไปๆ ทุกอย่างไม่เท่ากัน นิ้วมือเราไม่เท่ากัน พระก็ไม่เท่ากัน ธาตุขันธ์ของคนก็ไม่เหมือนกัน ความต้องการ ความปรารถนาของคน บางคนต้องการเวลา บางคนต้องการความสงบ บางคนต้องการ...

ฉะนั้น จะให้มันเหมือนกัน นี่มันเป็นข้อวัตรปฏิบัตินะ สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติมันเหมือนกับสิ่งที่ว่าด้ายร้อยพวงมาลัย ถ้าร้อยพวงมาลัยมันก็สวยงาม นี่ก็เหมือนกัน ข้อวัตรปฏิบัติมันก็ต้องทำกันไป ถ้าจริตนิสัยไม่ต้องการ ไม่ชอบ แต่ในเมื่อมันเป็นส่วนกลาง นี่เราขับเคลื่อนกันไป นี่มนุษย์ สังคมสังคมหนึ่ง สังฆะหนึ่งก็เหมือนร่างหนึ่ง การเดินไปของร่างกายนั้นต้องไม่ให้มีอะไรขัดแย้งกัน ร่างกายนั้นมันจะสมดุลของมัน

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติเป็นส่วนกลางต้องให้เสมอกัน หลักเกณฑ์ต้องอันเดียวกัน แต่จริตนิสัยหรือความชอบนี่มันมีต่างๆ กันไป เวลาประพฤติปฏิบัติในหัวใจก็เป็นอย่างนั้นอีก ขณะทำสมาธิก็ต่างๆ กันไป ปัญญาก็ต่างๆ กันไป

นี่โดยหลัก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณมันจะรวมตัวอย่างไร? มันจะดำเนินไป โดยหลักเป็นอย่างนี้ แต่โดยข้อปลีกย่อย โดยจริตนิสัย โดยความเป็นไป มันมีทางออก แล้วเราต้องการค้นคว้าของเรา มันมีเทคนิคของมันไปนะ โรค เห็นไหม ดูโรคนี่ โรคเหมือนกัน การผ่าตัด การต่างๆ มันก็ยังมีข้อแตกต่างกัน ในอันเดียวกันก็ยังมีข้อแตกต่างกัน ในจริตนิสัยก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติต้องเหมือนกัน

ทีนี้เราประพฤติปฏิบัติของเรา โดยหลักต้องเป็นอริยสัจ แต่โดยสัจจะความจริง โดยข้อเท็จจริงของเรา เราต้องหาทางออก หาทางรอดของเรา นี่ครูบาอาจารย์จะมีเทคนิค มีวิธีการจะสั่งสอนเรา จะพยายามชักนำเรา ผู้สูงกว่าจูงคนที่ต่ำกว่า ดึงคนที่ต่ำกว่าขึ้นที่สูงกว่าใช่ไหม? คนที่ต่ำกว่าพยายามจะดันให้คนเสมอกันขึ้นไป

มันก็เหมือนพวกเรานี่ พวกเราในการประพฤติปฏิบัติเริ่มต้น เห็นไหม พยายามจะดันกัน ส่งเสริมกัน ส่งเสริมกันก็ด้วยความเข้าใจ แล้วความจริงล่ะ? ความจริงมันเป็นจริตนิสัยนะ ให้เป็นเอกเทศของเขา ถ้าจิตนั้นเป็นคนสงบ เออ สงบได้หรือ? ได้อย่างนั้นจริงๆ หรือ? ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เออ มันก็น่าสนใจ ไม่ใช่ว่ามันสงบอย่างนั้นได้จริงๆ หรือ? ทำไมไม่เหมือนเรา อย่างนั้นใช้ไม่ได้ ไม่ใช่

การกระทำ เห็นไหม ดูสิกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขตนะ คือไม่ใช่ ๔๐ วิธีการ ร้อยแปดพันเก้าวิธีการที่ปัญญามันจะหมุนไป มันเป็นสัจจะความจริงของมัน เห็นไหม เวลาขั้นปัญญาของมันไปมันเป็นขั้นปัญญาของมัน แต่ แต่มันต้องมีฐานของสมาธิไง มันต้องมีฐานของอริยสัจนี้เป็นที่รองรับใช่ไหม? ถ้าไม่มีฐานของอริยสัจเป็นที่รองรับ มันจะเป็นเรื่องของโลกๆ เป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่ว่าเราก๊อบปี้มาไง

ปัญญาที่เราใคร่ครวญมามันเป็นปัญญาอย่างนั้น ปัญญากิเลสพาใช้ กิเลสในหัวใจของเรา ตัวตนของเราขึ้นมา มันเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอ้างอิง ถ้าเราเชื่อมันไปนะเราก็เสียเวลาเปล่า ในรอบหนึ่งๆ เวลามันเสื่อมไปแล้วจะเสียใจมาก แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะมันกลั่นออกมาจากอริยสัจ ใจนี้มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ มันมีฐานของอริยสัจรองรับ คือมรรคญาณ คือมีสัมมาสมาธิ คือมีสัมมาสติ คือมีสัมมาปัญญา ปัญญาเป็นสัมมา สัมมาคือความถูกต้อง ถ้าเป็นมิจฉา มิจฉาก็คือกิเลสมันแทรกเข้าไปไง

เวลาเราคิดขึ้นมานี่กิเลสเรา ตัวตนของเรามันแทรกเข้าไป มันขอแบ่งกินด้วย ขอแบ่งกินด้วย ถ้าเราไปเชื่อมัน เห็นไหม เราก็คล้อยตามกิเลสเราไป คล้อยตามความเห็นของเราไป ถ้าคล้อยตามกิเลสไป กิเลสมันก็จูงเราไป ทั้งๆ ที่เราปฏิบัติธรรมนี่แหละ นี่เทคนิคมันมีเยอะแยะไป นี่สิ่งที่มี คำว่าสิ่งนี้ต้องเป็นผู้รู้จริง ต้องเป็นครูบาอาจารย์ที่รู้จริง แล้วคอยชี้นำ คอยแก้ไข คอยปลดเปลื้อง

นี่สัปปายะ ๔ ถึงครูบาอาจารย์อันดับหนึ่ง หมู่คณะ ความเห็นเสมอภาคคือความเห็นในการปฏิบัติเป็นใหญ่ ถ้าเห็นการปฏิบัติเป็นใหญ่มันจะส่งเสริมกัน จะไม่มีการทำให้เกิดการขัดแย้ง การขัดแย้งหมายถึงว่ากระทบกระเทือนไง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจนะ เขานั่งสมาธิอยู่ เราเดินผ่านเข้าไป เสียงรองเท้าเรา เสียงเราเดิน เสียงชั่บๆๆ เข้าไป คนที่ภาวนาอยู่เขารับรู้แล้ว นี่ความขัดแย้งกันโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ โดยที่ไม่รู้เลย มันจะขัดแย้งกัน ความสงัดไง เห็นไหม นี่หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ ความสงบสงัด แต่เวลาของเรา เราสัปปายะของเรา เราสัปปายะแบบโลกๆ

การประพฤติปฏิบัติกำลังเจริญรุ่งเรือง เพราะว่าในศาสนาเข้าถึงหัวใจ กำลังเจริญรุ่งเรืองกันไปโดยความเห็นของโลกๆ นะ ถ้าความเห็นของโลกๆ ทำเป็นพิธีกรรม สักแต่ว่าได้ทำ แต่เขาว่าเข้ามาทางศาสนาดีกว่าออกไปนอกลู่นอกทาง แต่เข้ามาศาสนามันก็ควรจะเข้าไปโดยข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริง เวลาจิตมันประสบขึ้นมามันจะรู้จริงนะ

นี่สันทิฏฐิโก เป็นปัจจัตตัง หลอกกันไม่ได้ หัวใจเข้าไปสัมผัส สมาธิก็เป็นสมาธิจริงๆ ไม่ใช่สำคัญว่าเป็นสมาธิ คิดว่าว่าง ว่าง ว่าง ว่าง กันไปอย่างนั้น แล้วก้าวเดินกันไม่ได้ ศาสนาเลยกลายเป็นศาสนาของเล่น ใครก็ว่างได้ เด็กก็ว่างได้ คนนอนหลับก็ว่างได้ แต่ถ้าเป็นความจริงนะ ความว่างอย่างนั้นทำได้ยาก เพราะอะไร? เพราะว่าหัวใจมันยิ่งกว่าช้างสารตกมันนะ แล้วเอาช้างสารตกมันไว้ในอำนาจของเรา นี่จิตลงสมาธิ แล้วช้างสารที่ตกมัน เวลาเราฝึกมันจนช้างสารนั้นใช้ประโยชน์ได้ เอาช้างสารนั้นออกไปทำการทำงานออกมา มันจะเกิดประโยชน์กับหัวใจอันนี้

นี่อริยสัจมันเกิดอย่างนี้ ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยดำเนินของเรา เห็นไหม อาหารของใจ อาหารของกายเป็นอาหารของกายนะ เกิดจากใจทั้งหมด นี่ถึงว่าปัญญาเกิดจากสมองเป็นสุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากสมองพร้อมกับการใช้หัวใจใคร่ครวญคือจินตนาการ จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนามยปัญญา ไม่ใช่เกิดจากสมองหรอก สมองเป็นสถิตินะ มันเป็นสิ่งที่ว่าเป็นกฎตายตัว กฎตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนี้ สมองมันจะคิดได้อย่างนั้น

นี่กิเลสหัวเราะเยาะเลย ง่ายๆ เลย กิเลสมันตามไปได้ตลอด เพราะกิเลสมันเป็นพลังงานที่ใช้สมองนี้ต่างหาก จินตมยปัญญาใช้สมองด้วย แล้วก็ใช้จิตด้วยร่วมกัน แล้วภาวนามยปัญญาไม่ใช่เกิดจากกรอบของความคิด คือเรื่องของสุตมยปัญญา เกิดจากภาวนามยปัญญา เกิดจากปัจจุบันนั้น เกิดจากจิตสงบแล้วปัญญามันเกิดขึ้นมา แล้วมันชำระกิเลสเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก แต่มันอยู่กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ อยู่กับใจเราเท่านั้นนะ เอวัง

มูลนิธิพระสงบ มนสฺสนฺโต

032-240-666, 083-038-2477

© 2020-2024 สงวนลิขสิทธิ์โดย www.sa-ngob.com. All rights reserved.