เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เราเป็นชาวพุทธ เห็นไหม ชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนให้เสียสละ ความสุขของเรามันเป็นความสุขจากภายใน การเสียสละ เห็นไหม แต่การเสียสละว่าทำได้ยาก เพราะเราต้องแสวงหา เราหาสิ่งต่างๆ มาเสียสละ เราเองก็ทุกข์ยากอยู่แล้ว เราจะเอาอะไรมาเสียสละล่ะ?
การเสียสละนะ แม้แต่ข้าวทัพพีเดียว นี่ข้าวทัพพีเดียวนะ ในสมัยพุทธกาล เห็นไหม เวลาทุคตะเข็ญใจอยากบวชมาก แล้วไม่มีใครบวชให้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า เคยมีคุณกับใคร?
พระสารีบุตรยกมือเลยนะ เคยมีบุญกับข้าพเจ้า
เพราะอะไร?
เพราะเคยได้ใส่ข้าวให้ข้าพเจ้าทัพพีหนึ่ง
แล้วเอามาบวชแล้ว นี่คนที่เอามาบวชแล้ว ผู้เฒ่าที่บวชแล้วว่าง่ายสอนง่ายไม่มีนะ มีองค์นี้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเลยล่ะ นี่เพราะอะไร? เพราะจิตใจไง การทำบุญกุศลมันสุขที่ความพอใจ ดูนะครอบครัวไหนที่มีการทำบุญตักบาตร อย่างน้อยก็ยิ้มแย้มแจ่มใสนะ เพราะตอนเช้าขึ้นมา อากาศเราก็ได้ถ่ายเท ได้หมุนเวียนในหัวใจ มันได้หมุนเวียนเอาสิ่งนี้ออกไป
นี่บุญกุศลทำให้เรามีความสุข สุขที่หาไม่ได้ เงินซื้อไม่ได้ เงินนี่ไปซื้อ ไปเที่ยวกัน ไปพักผ่อนกัน ไอ้นั่นเราก็ประสบ ไปทัศนศึกษาแต่ก็ได้ความอ่อนเพลียมา ได้อะไรมา แต่เราก็ได้มีความรู้ขึ้นมาอันหนึ่ง แต่ถ้าเราทำบุญกุศลมันอยู่ที่ไหนมันก็มีความสุขของบุญกุศลอันนั้นนะ เราเสียสละอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีเลยเราก็อนุโมทนาไปกับเขา แต่กิเลสมันไม่ยอมทั้งนั้นน่ะสิ เวลากิเลสมันเห็นเขาทำบุญกัน เราเป็นคนทุกข์ คนเข็ญใจ เราไม่มีโอกาสวาสนาเหมือนเขา เราไม่มีโอกาสวาสนา น้อยเนื้อต่ำใจ
นี่กิเลสมันเป็นอย่างนั้น มันไม่ให้เราคิดออกเลยว่าเราควรทำคุณงามความดีได้อย่างไร? แม้แต่คนอื่นทำคุณงามความดี เราร่วมดีใจกับเขา อันนี้ก็เป็นบุญแล้ว บุญเกิดจากความที่เราพอใจไปกับเขา ถ้าเราพอใจกับเขา เราก็มีความพอใจในหัวใจ ความสุขอันนี้มันเกิดขึ้นมา มันไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นเลย อันนี้เรื่องของบุญนะ บุญเกิดจากภายนอก
แล้วบุญเกิดจากภายในล่ะ? ถ้าบุญเกิดจากภายใน ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงทาน ศีล ภาวนา เรื่องของทานเราสละขึ้นมาเพื่อบุญของเรา นี่ถ้ามีศีลขึ้นมาเป็นความปกติของใจ แล้วเรื่องภาวนาล่ะ? สิ่งที่เป็นการภาวนา ภาวนามันจะมีจุดยืนอย่างไร? นี่สุขจากภายในมันจะแสวงหามาอย่างไร? เวลาแสดงธรรม เราสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม แล้วธรรมมันอยู่ไหนล่ะ?
แต่ถ้าเป็นเรื่องของโลกๆ นะ เรื่องของวัตถุนิยม เรื่องของต่างๆ นี่เราต้องการอย่างนี้กัน โลกเขาเข้ากันได้แค่นี้ เห็นไหม เริ่มต้นของการทำบุญกุศล เขาก็ปรารถนากันเพื่อจะให้ปัจจัยเครื่องอาศัย เราอยู่สุขอยู่สบาย อยู่สุขสบาย เรามีมากแล้วเราอยู่สุขสบายของเรา ถ้าเราไม่รู้จักใช้สอยนะ มันก็ให้โทษกับเราเหมือนกัน เราต้องไปแสวงหา เราต้องไปดูแล ต้องไปรักษา เป็นทุกข์ขึ้นมาอีกอันหนึ่งนะ แต่ถ้าพูดถึงสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ นี่เรื่องของโลกๆ สละอวัยวะรักษาชีวิต สละชีวิตรักษาธรรม
ธรรมนี่มันเหนือเหตุผลนะ เหนือเหตุผล เหตุผลมันเป็นธรรม แต่ธรรมเหนือโลกมันเหนือเหตุผลไป เพราะมันปล่อยวางไปแล้ว เหตุและผลเวลาเราใคร่ครวญด้วยปัญญาของเรา เรามีเหตุผลขึ้นมาเราจะตกใจนะ มีเหตุการณ์วิกฤติขึ้นมาเราจะตกใจ นั่นเหตุผลไหม? แล้วเราตกใจมันเหนือเหตุผลไหม? มันไม่เหนือเหตุผล เพราะเหตุผลให้สภาวะร่างกาย ความรู้สึกของเราสั่นไหวไป แต่ถ้ามันมีจุดยืนของเขานะ ถ้าคนมีคุณธรรมในหัวใจ เหมือนไม้หลักปักลงไปในแผ่นดินครึ่งหนึ่ง อยู่ข้างบนครึ่งหนึ่ง ลมพัดไม่หวั่นไหว สิ่งใดก็ไม่หวั่นไหว
มันเหนือเหตุผล เห็นไหม ลมพัดอย่างไรก็แล้วแต่ไม่มีหวั่นไหวเลย สิ่งนี้มันอยู่ในหัวใจ เหตุและผลมันเป็นธรรมขึ้นมา เป็นธรรมขณะที่ว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมที่เราใคร่ครวญอยู่นี้เป็นสภาวะอนัตตา แต่สิ่งที่มันพ้นไปจากอนัตตา อนัตตาเป็นเครื่องดำเนิน สิ่งที่ดำเนินถึงที่สุดอันนั้นเป็นสภาวธรรม ถ้าสภาวธรรมอย่างนี้เกิดขึ้นมา นี่มันไม่ใช่วัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุมันเป็นเครื่องแสดงออกของน้ำใจ ถ้ามีการแสดงออกของน้ำใจ น้ำใจแสดงออกอย่างนี้มา แสดงออกมาเพื่อว่าหัวใจนี่มันสูงส่ง หัวใจมีคุณค่าขนาดไหน?
ถ้าเราเสียสละอย่างนี้ขึ้นมา ใจเราเสียสละได้ทั้งนั้นแหละ เพราะเรื่องของโลกๆ มันไม่มีคุณค่าเท่าหัวใจของเราหรอก ถ้าหัวใจของเรานี่มันจะย้อนกลับมาถึงความรู้สึกของใจไง ถึงบอกว่าถ้าอริยทรัพย์จากภายในมีคุณค่ามาก เราแสวงหากันว่าต้องการอริยทรัพย์จากภายใน ถ้าอริยทรัพย์จากภายในมันจะเห็นนะ โลกนอก โลกใน ถ้าโลกในมันแจ่มแจ้ง โลกนอกมันก็เข้าใจหมดเลย เข้าใจสภาวะแบบนั้น เพราะใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง
ใจดวงนี้เป็นสภาวะแบบนี้ ใจเรานี่ แล้วใจทุกดวงก็เป็นอย่างนี้ ทุกคนเกิดมาปรารถนาความสุขทั้งหมดเลย แต่หาความสุขกันไม่เป็น ไปหาความสุขกัน ดูสิที่เขาหาความสุขกัน ถ้ารูป รส กลิ่น เสียง จนคนเสียคนไปหมดเลย ถ้าคนเสียคน แต่ถ้าหาความสุขของเรา เวลาถือศีลขึ้นมานี่ศีล ๘ พอศีล ๘ ขึ้นมาเราไม่ใช้จ่ายไปตามโลกเขานะ เราแค่ดำรงชีวิตของเราเท่านั้นเอง ชีวิตนี้มันดำรงแค่นี้ มันใช้เท่านี้ ถ้าใช้เท่านี้ แต่โลกเขาแสวงหากันมากกว่าการดำรงชีวิตของเขา แล้วเขาก็ไปแบกหามอย่างนั้น
นั่นมันเป็นเรื่องการบริหารจัดการจากภายนอก ถ้าบริหารจัดการจากภายนอกเพื่อสังคม แต่ถ้าเพื่อเราเราต้องเหนือเขา เหนือเขานะ เหนือสิ่งที่เราแสวงหามาทั้งหมด ถ้าจิตเราเหนือเขามันปล่อยวางได้หมด ถ้ามันปล่อยวางด้วยสัจจะความจริง มันปล่อยวางขนาดนั้นมันก็เป็นของเรานะ ของของเรา วางไว้ยิ่งเป็นของเราใหญ่ ถ้าของเรา เราไปยึดว่าเป็นของเรา มันกลับไม่ใช่ของเรานะ เพราะอะไร? เพราะมันมีคุณค่าเหนือน้ำใจเรา มันมีค่าเหนือหัวใจเรา หัวใจเราต่ำกว่า หัวใจเราทุกข์ร้อนกว่า หัวใจเราต้องไปแบกรับเขากว่า แต่หัวใจเราสูงกว่า เห็นไหม สิ่งนั้นมันก็อยู่สภาวะแบบนั้น แล้วเราก็ใช้สอยไปตามอำนาจวาสนาของเรา นี่เป็นเรื่องของที่จิตใจมันสูงนะ
แต่ถ้าสูงขึ้นมาจากสัจจะความจริงล่ะ? ถ้าสูงจากสัจจะความจริงมันต้องรู้จักตัวเองก่อน ถ้ารู้จักตัวเองนะ ทำความดีเพื่อความดี นี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เพราะเราอยากได้ เราอยากได้สมาธิ เราอยากได้ปัญญา เราอยากได้มรรค ผล เพราะความอยากได้ นี่ทำความดีนะ นั่งสมาธิ ภาวนาคนไม่ดีหรือ?
คนกว่าจะทาน ศีล แล้วกว่าจะมาภาวนากัน แล้วภาวนานี่อดอาหาร เนสัชชิกต่างๆ ไม่นอน อดอาหาร อดนอน อดต่างๆ เพื่อจะต่อสู้ นี่มันเป็นมรรคไหม? มันเป็นคุณงามความดีไหม? แต่มันมีกิเลสเราสอดแทรกเข้าไป มีความรู้สึกความเห็นของเราโดยกิเลสตัณหามันสอดเข้าไปในความเห็นอันนั้น นี่มันถึงไม่เป็นสมบัติแท้ไง ถ้าเป็นสมบัติแท้เราต้องฝึกฝนอย่างนี้ จนกว่ามันจะปล่อยวางๆ จนสิ่งที่มันแทรกเข้ามา พอแทรกเข้ามามันปล่อยวางไม่ได้ พอแทรกเข้ามามันยึดมั่น จะปล่อยวางก็เสียดาย จะปล่อยวางก็ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์
จะปล่อยวาง เห็นไหม นี่กิเลสมันจะแทรกมาอย่างนี้ แล้วเราฝึกบ่อยครั้งเข้าไม่ให้กิเลสมันแทรกมา กิเลสของเรามันสอดเข้ามาในปัญญานั้น กิเลสมันสอดเข้ามาในมรรคของเรา ในความเห็นของเรา ในความยึดมั่นถือมั่นของเรา ว่าสิ่งนี้จะไม่เป็นธรรม สิ่งนี้จะผิดพลาดจากหลักความจริง เราศึกษาธรรมวินัยมาต้องเป็นอย่างนี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ มรรคจะเป็นอย่างนั้น นี่มันเป็นการคาดหมายหมดเลย ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติไปท่านจะบอกเลยนะ พอไปถึงความจริงนะมันเหนือการคาดหมาย ที่คาดหมายไว้นั้นผิดหมดเลย
ที่คาดที่หมาย เวลาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มันจะปล่อยวางอย่างนั้น มันจะมีความสุขอย่างนั้น เราก็คาดหมายกันไป ความสุขโลกๆ นะ ดูสิเราอยู่ในที่ร่มเย็นเราก็มีความสุข ความสุขอย่างนี้พอเวลาเราออกไปที่แดด ออกไปที่ร้อนมันก็ร้อน ความสุขอย่างนี้มันเกิดจากการกระทบ มันเกิดจากเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่ความสุขของหัวใจที่ไม่มีอะไรกระทบ สุขในตัวของมันเองมันเป็นอย่างไร? ถ้าเป็นอย่างไรแล้วคาดการณ์ไม่ถูก คาดการณ์ไม่ได้ ตรรกะไม่ได้ ปรัชญาค่าไม่ถึงธรรม ถ้าเข้าถึงธรรมได้ทุกคนรู้หมดแล้ว
ดูสิขนาดที่ว่าเขาแต่งบาลีได้นะ เขาจะแต่งธรรมะเองยังได้เลย แต่งอย่างไรให้สมความมุ่งหมายของตัวเอง มันทำได้ทั้งนั้นแหละ แล้วมันเป็นความจริงไหม? มันไม่เป็นความจริงเลย เพราะมันเป็นสิ่งภายนอก สิ่งเป็นอาการของใจ เป็นความคิด ความคิดความรู้สึกอันนี้มันไม่ใช่ใจ มันเกิดจากใจ แล้วเวลาต่อสู้ไปเราก็ใช้ความคิดอันนี้ แต่ความคิดอันนี้เราเป็นธรรมของเราขึ้นมา ไม่ให้กิเลสอันนี้มันแทรกเข้ามา ไม่ให้ความเห็นของเรา ไม่ให้ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าของใจของเรามันแทรกเข้าไป
ถ้ามันแทรกเข้าไป เพราะอะไร? เพราะเราเกิดมาจากอวิชชา ถ้าไม่มีอวิชชาเราไม่เกิด เกิดมานี่เราเกิดมาด้วยบุญกุศล นี่บุญกุศลมันเป็นอย่างหนึ่ง ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ แล้วเวลาอริยสัจมันเกิดขึ้นมามันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา สิ่งที่ขณะที่เกิดขึ้น แล้วเราเกิดมา เราเกิดมาเรามีอวิชชาในหัวใจ จะทำสิ่งใดก็แล้วแต่มันจะมีตรงนี้แทรกเข้าไปตลอด แทรกเข้าไปตลอด แล้วเราภาวนาเข้ามาจนเป็นผู้ชำนาญการ เราทดสอบ ตรวจสอบ ทดสอบ ตรวจสอบ มันปล่อยวางขนาดไหน? แล้วเราตรวจสอบของเรา
ถ้ามันปล่อยวางแล้วมันออกมาขนาดไหน? มันยังกระทบอยู่มันก็เป็นปุถุชนอย่างเดิมนี่แหละ ใจก็เป็นสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าอย่างนี้เราก็ย้อนกลับ ภาวนาซ้ำเข้าไปๆๆ ถึงที่สุดพอเวลามันขาดขึ้นมา สัจจะความจริง นี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันปล่อยวางตามความเป็นจริง นี่มันไม่ต้องตรวจสอบ มันเป็นความจริงของมันอย่างนั้น สติมันพร้อมสภาวะแบบนั้น เห็นไหม แล้วมันเห็นคุณค่าของใจอย่างนั้น แล้วคุณค่าของใจอย่างนี้มันเกิดมาจากไหน? นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณค่าของน้ำใจอย่างนี้ ท่านเกิดมาจากไหน? ท่านเกิดมาจากการประพฤติปฏิบัติ ท่านถึงเห็นคุณค่าของการทำทาน ศีล ภาวนา
ทาน เห็นไหม เรื่องการเสียสละ ถ้าไม่มีการเสียสละมันก็ไม่มีความสนใจ ไม่มีศรัทธาความเชื่อ ไม่มีโอกาสที่ได้ฟังธรรม ไม่มีโอกาสที่เราได้เทียบเคียงโลกกับธรรม โลกกับธรรมนะ โลกเป็นสภาวะนี้ เราอยู่ในสภาวะนี้ ร่างกายเราเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกเราเป็นอย่างนี้ มันได้ฟังธรรมอันนี้เปรียบเทียบ เห็นไหม นี่เกิดจากทาน ถ้าไม่มีทานขึ้นมา ชักนำขึ้นมาเป็นอย่างไร? แล้วเกิดเราทำทานขึ้นมา เราอยากทำคุณงามความดีก็ต้องมีศีล
ศีลคืออะไร? ศีลคือความปกติของใจ ศีลไม่ใช่ข้อบังคับ แต่ศีล ๕ ศีล ๘ นั่นข้อบังคับ นั่นคือกฎหมาย เรากับกฎหมายอยู่คนละอันนะ กฎหมายที่บังคับในประเทศของเรา เราอยู่ใต้กฎหมาย แต่เราไม่ทำความผิด เราอยู่ในกฎหมาย ความดีเราอยู่เหนือกฎหมาย เห็นไหม นี่ข้อบังคับคือศีลข้อบังคับ แต่ความปกติของใจมันเป็นตัวอธิศีล มันเป็นตัวศีลแท้ ตัวศีลแท้อยู่กับใจของเรา พอตัวศีลแท้ขึ้นมา พอศีลแท้มันเกิดศีล สมาธิ พอเกิดสมาธิมันเกิดปัญญา
นี่สิ่งนี้คือการก้าวเดิน สิ่งนี้คือการเดินไปของธรรม การเดินไปของจิต จิตที่มันพัฒนาขึ้นมาจะมีสภาวะแบบนี้ ถ้าครูบาอาจารย์ผ่านสภาวะแบบนี้มา ทำไมจะไม่เห็นคุณประโยชน์ของทาน ศีล ภาวนา ทานก็เห็นประโยชน์ของมัน แต่ทานก็ต้องเป็นทาน ทานที่ว่าทานเพื่อเป็นสัมมาปฏิบัติ คือทานเพื่อความถูกต้อง ไม่ใช่ทานเพื่อกิเลส ถ้าทานเพื่อกิเลส เวลาทำแล้วมันก็เรียกร้อง มันก็ทำให้เราทุกข์เข้าไปอีกนะ ทำแล้วก็คอตกนะ เหมือนกับเราจะแลกเปลี่ยน แต่ถ้าเป็นความจริงมันเป็นความจริงของมันเอง แล้วมันจะเกิดผลกับเราขึ้นมาเอง
สิ่งที่เป็นเอง เห็นไหม เราทำหน้าที่ของเรา เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่มันบริสุทธิ์ผุดผ่อง มันไม่มีกิเลสเรา มันไม่มีความต้องการของเราเข้าไปแทรก เวลาเป็นศีลก็เป็นศีลโดยข้อเท็จจริง แต่นี่เป็นศีลขึ้นมา ศีลของเราก็ไปเอาข้อปฏิบัติ ไปยึดที่กฎหมายกัน แล้วก็นี่ไปยึดกฎหมายกัน เราจะผิดกฎหมายอย่างนั้น เกร็งไปหมดเลยนะ แต่ถ้ามันปล่อยไปตามสัจจะความจริง ไม่มีเจตนา ไม่เคยทำผิดอะไรเลย แต่การพลัดพรากเป็นเรื่องของกรรม
กรรมคืออุบัติเหตุต่างๆ อย่างนี้มันเป็นเรื่องของกรรม ไอ้นั่นมันสุดวิสัย เห็นไหม ศีลมันก็เป็นศีลขึ้นมา ศีลมันศีลของปุถุชน ศีลของอธิศีลขึ้นมา ถ้าศีลนี่ไม่มีเจตนา ไม่มีความผิดอะไรเลย มันเป็นปาปมุต คือไม่ผิดเลย ไม่ผิดเลย ปาปมุตเลย พ้นออกไปจากกิเลสทั้งหมด มันเป็นสติวินัย ไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในเมื่อร่างกายมันมีอยู่ มันก็ยังมีการกระทบกระเทือนกระทั่งกันอยู่ เห็นไหม นี่มันเป็นเรื่องของศีล แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมาก็ไม่ให้กิเลสมันแทรกเข้าไป
นี่เวลาปฏิบัติขึ้นมานี่นะมันจะมีกิเลสแทรก มีความเห็นเราแทรกๆๆ มาตลอดเลย แล้วครูบาอาจารย์เห็นสภาวะแบบนั้นถึงสงสารนะ สงสารทุกๆ คน สงสารผู้ปฏิบัติทุกๆ คน การเริ่มต้นเป็นเรื่องการที่ลำบากยากเย็นเพราะเป็นไม้ดิบ เป็นของดิบๆ แล้วเราต้องพัฒนาตัวเอง เพราะว่านี่การศึกษาทางโลกเขามีครูบาอาจารย์คอยประคองขึ้นไป การปฏิบัติของเรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำ แต่เรื่องไม้ดิบๆ ของเรา เราต้องตากแห้งของเราเอง เราต้องรักษาศีลของเราเอง
ทานของเรา เราทำทานของเราขึ้นมาแล้ว เราทำขึ้นมาเหมือนทิ้งเหว ให้มันเป็นปกติ ไม่ให้กิเลสเข้ามาแทรก มันเป็นปกติของศีล เพราะอะไร? เพราะเราทำของเรา ความดีของเราคือความดีของเรา เราทำของเราเราก็รู้ของเรา จะต้องให้ใครรู้อะไรกับเรา เห็นไหม เราทำของเรา เป็นประโยชน์ของเรา ใจเรารู้ของเรา เป็นศีล อธิศีล ศีลก็เป็นปกติของเราจากภายใน เวลาภาวนา ปัญญาเราเกิดมันก็เกิดจากภายใน เกิดจากภายใน เกิดจากภาวนามยปัญญา เราก็เห็นว่ามันจะเกิดขึ้นมาได้เพราะสภาวะแบบนี้ มันจะมาเกิดไม่ได้หรอกเรื่องการที่ว่าส่งออก แล้วไปวุ่นวายขนาดนั้นมันเกิดไม่ได้ แต่มันอาศัยสิ่งต่างๆ ที่เราสร้างมาเป็นฐาน แล้วจะเข้ามาภายใน
นี่คือการกระทำ ครูบาอาจารย์ถึงวางไว้ให้มีการเสียสละ ให้พวกเรารู้จักเสียสละ ให้พวกเรารู้จักพัฒนาของเราขึ้นไป แล้วเราจะเห็นผลของมันขึ้นมา แต่ถ้าเราไปเอาโลกเราเป็นใหญ่ เราจะไปยึดของเราเอง ยึดว่าสิ่งนี้ถูกต้อง สิ่งนี้เป็นคุณงามความดี สิ่งนี้เป็นธรรม สิ่งนี้เป็นธรรมนะ สิ่งนี้เป็นธรรมมันกิเลสแทรก อย่างที่ว่านี่ เห็นไหม โลกียปัญญา โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญานะ นี่ครูบาอาจารย์ของเราที่รู้จริงจะชักนำไปทางที่ถูก
โคนำฝูง ถ้าโคฝูงนั้นนะหัวหน้าไม่เป็น หัวหน้าโง่ จะพาฝูงโคนั้นไปอยู่กลางน้ำวน แล้วให้น้ำดูดโคฝูงนั้นตายหมดเลยนะ โคที่ฉลาดจะว่ายออกจากวังน้ำวน จะพาฝูงโคขึ้นฝั่ง แล้วโคที่ว่ายน้ำ โคที่ฉลาดเดี๋ยวนี้ ถ้ามันฉลาด เห็นไหม มันพาขึ้นฝั่ง มันไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้ามันด้วยความคิดความรู้สึกมันพาไปในวังน้ำวนนะ แล้วมันดูดกันไป นี่ฝูงโคนั้นจะเสียชีวิตทั้งหมดเลย แล้วจะไม่ได้อะไรเลย นี่แล้วการประพฤติปฏิบัติในโลกนี้มันก็เป็นสภาวะแบบนั้น ดึงกันไป ชักนำกันไป แล้วยิ่งออกไปวังน้ำวนมันดูด มันมีความรู้สึก
นี่ก็เหมือนกัน กระแสประชาสัมพันธ์มันมีความรู้สึก เราก็ชื่นใจไปกับเขา นี่เรื่องโลกๆ นะ แต่ถ้าเราทำกับเขา ดูสิโคไปถึงวังน้ำวนกับโคที่ขึ้นฝั่ง มันก็ต้องผ่านน้ำเหมือนกัน การสละทานก็สละทานเหมือนกัน แต่สละทานเพื่อทาน สละทานเพื่อคุณงามความดี ใครจะรู้กับเราไม่รู้กับเรานั่นมันเรื่องของคุณงามความดีของเรา แต่ถ้าสละทานเพื่อโลก เห็นไหม เราจะแบกโลกเลย ทำไมเราไม่มีความดีสักที? ทำไมเขาจะไม่รู้กับเราสักที? อย่างนี้มันเสียเวลา เสียเวลามาก แล้วมันไม่เป็นเรื่องของบุญกุศลที่แท้จริง
กุศลในหัวใจของเรามันเป็นเรื่องของเรา ปัญญาเกิดจากเรา ฐานเป็นฐานของเรา ธรรมเป็นธรรมะของเรา แล้วเราจะมีความสุขของเรา แล้วเราจะซึ้งในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามันทวนกระแสอย่างนี้เอง มันทวนกระแสโลกอย่างนี้เอง ถ้ามันเป็นแบบโลกๆ นะ นักการเมืองมันทำการเมืองของมัน มันต้องได้บุญของมันแล้ว นักการเมือง เห็นไหม อะไรก็ขอหาเสียง อะไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น
เหมือนเราเลย ทำบุญจะเป็นอย่างนั้นไปมันเป็นโลกไปหมดเลย มันเป็นการเมืองนำ แต่ถ้าเป็นธรรมนะมันเป็นการทำใต้ดิน ทำเพื่อเรา ทำเพื่อความสุขของเรา ทำเพื่อความตั้งมั่น ไม่มีใครมาวอแวกับเรา เราจะมีจุดยืนของเรา แล้วเราจะเอาตัวรอดได้ เห็นไหม ไม้หลัก ต้นไม้ที่มีความร่มเย็น นกกาอาศัยได้เพราะมันเป็นความจริง ไม่ใช่เรื่องของโลกๆ ที่มันเป็นเรื่องการเพ้อฝันนะ เรื่องความจริงเกิดจากใจเรา ใจเรานี่รักษาใจเรา สมบัติอยู่ที่นี่ เอวัง