เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ พ.ย. ๒๕๕o

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราบอกว่าสิ่งนี้มันเป็นปลายเหตุ สิ่งที่เป็นปลายเหตุมันมาจากต้นเหตุ ต้นเหตุเราทำกันไว้ที่ไหนเราก็ไม่รู้ เห็นไหม นี่กรรมเป็นอจินไตย อจินไตย ๔ โลก ฌาน พุทธวิสัย กรรม เรื่องของกรรมนะ แต่เรื่องของกรรมมันก็ไม่ตายตัว ถ้าเรื่องของกรรมตายตัว พวกเรานะจะต้องออกมาแล้วเป็นเส้นไม้บรรทัดเดินไปเลย แต่ทำไมคนเราชั่วมันกลายเป็นคนดีได้ คนดีกลายเป็นคนชั่วได้

เราจากปุถุชนกลายเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาได้ พระโสดาบัน สกิทา อนาคา มันมาจากไหน? มันมาจากการกระทำนี่ กรรมนี่มันแก้ไขได้ มันแก้ไขด้วยการภาวนา สิ่งที่ภาวนานะ เราแก้ไขที่ภาวนา เราภาวนา เห็นไหม

ดูสิ หลวงปู่สามไปนั่งภาวนาอยู่ทางเหนือหรือทางอีสานจำไม่ได้ นั่งอยู่นี่ เขาเอาก้อนหินปาใส่นะ ปาใส่หน้าเลย ปาใส่หน้า ท่านเข้าสมาธิอยู่ไม่รู้เรื่องหรอก พอออกจากสมาธิเลือดเต็มหน้าเลย เห็นไหม นี่ทำความดีอยู่ หลวงปู่สามนี่ไปดูประวัติหลวงปู่สามสิ นั่งภาวนาอยู่ โดนเอาหินปาเข้าใส่ แล้วโดนใบหน้านี่เลือดแตกหมดเลย แต่ท่านอยู่ในสมาธิไม่รู้เรื่อง อยู่ในสมาบัตินี่ไม่รู้เรื่องเลย เลือดทั้งนั้นเลย

นี่ทำดี เห็นไหม เราทำดี มันอยู่ที่การภาวนา ทำดีมันแก้ไขตรงนี้ได้ นี้คำว่าแก้ไขได้ ถ้าแก้ไขทันมันก็แก้ไขกันไป ถ้าแก้ไขไม่ทันมันก็อยู่จากภายนอก มันเป็นเหตุสุดวิสัย เรื่องของกรรมคือเรื่องสุดวิสัยที่เราควบคุมไม่ได้ มันอยู่นอกวิสัย เห็นไหม ถ้ามันควบคุมได้ เราก็ต้องขีดเส้นบรรทัดให้เราเดินได้ บางคนเกิดมาตั้งใจทำดีมากเลย แต่ถึงจุดวิกฤติมันก็พลิกผันไป เห็นไหม บางคนจุดวิกฤติขนาดไหน เราก็พยายามทำตัวเองให้อยู่ในหลักในเกณฑ์ให้ได้ ถ้าในหลักในเกณฑ์นี่ ฝืนกิเลส

การฝืนกิเลสคือฝืนใจเรา เราต้องต่อสู้กับกิเลส เวลากรรมมันให้ผลนี่เป็นอย่างนั้น กรรมให้ผลนี่ คำว่าปลายเหตุเพราะอะไร? เพราะเราทำสิ่งนั้นมา แล้วมันสุดวิสัยที่เราจะแก้ ถ้าสุดวิสัยที่เราจะแก้นะ พอสุดวิสัยจะแก้น่ะปัจจุบันธรรม เราจะต้องเผชิญกับความจริง ถ้าเราเผชิญกับความจริง ชีวิตเป็นอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้แล้ว ในปัจจุบันมันเป็นความจริงแล้ว แล้วเรายอมรับความจริงไม่ได้ มันเป็นตัณหาทะยานอยากไง ตัณหาทะยานอยากคือ อยากได้ในสิ่งที่ปรารถนา แล้วก็ผลักไสสิ่งที่ไม่ปรารถนา นี้สิ่งไม่ปรารถนานี่มันเป็นสมุทัย มันเป็นตัณหาทะยานอยาก เราพอใจและไม่พอใจนี่เป็นตัณหาทะยานอยาก แล้วขณะที่มันเกิดตัณหาความทะยานอยากอยู่แล้ว เราจะต่อสู้กับมันอย่างไร?

นี่ธรรมะสอนตรงนี้ เห็นไหม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สมุทัย ตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่มันเป็นแล้วเราไม่ยอมให้มันเป็น สิ่งที่มันไม่เป็นเราอยากให้มันเป็น นี่คือตัณหาทะยานอยาก สิ่งนี้ตัณหาทะยานอยากเป็นสมุทัย แล้วเราจะแก้ไขด้วยอะไร? ด้วยการกระทำ ด้วยมรรค ถ้ามรรคเราแก้ไขตรงนี้ เราทำตรงนี้ได้ เห็นไหม

พระอรหันต์นะ สำเร็จเป็นพระอรหันต์น่ะ ตายเดี๋ยวนั้นก็มี สำเร็จพระอรหันต์แล้วชีวิตยังอยู่ต่อไปอีกก็มี เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นกรรม มันเป็นวัฏฏะ ผลของวัฏฏะมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าผลของวัฏฏะแล้วเราศึกษาธรรมแล้วนี่ เวลาเกิดเหตุ เกิดผจญภัย เราจะสู้กับวิกฤตินี้ได้อย่างไร? ถ้าเราสู้วิกฤติอย่างนี้ เรามีหัวใจเป็นอยู่อย่างนี้ มองเห็นเป็นสิ่งที่เป็นธรรมะ

ธรรมไง ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์นะ มันจะธรรมสังเวช มันสลด มันสังเวชนะ ทุกข์ใครไม่อยากให้เกิดหรอก สิ่งที่มันเป็นไป สิ่งที่กระทบกระเทือน ใครอยากให้เป็นไป ไม่มีใครอยากให้เป็นไปเลย นี่มันเป็นธรรมสังเวช เพราะมันเหนือการควบคุม มันอยู่ในการควบคุมของเราไม่ได้ แต่ถ้าเราไปมีกิเลสตัณหาทะยานอยาก เราก็ทุกข์ไปกับมัน เราก็เสียใจกับมัน สิ่งนี้เสียใจนี่ เราจะต้องมาเสียใจซ้ำๆ ซากๆ จะต้องมาเสียใจอย่างนี้อีก จะต้องมาทุกข์กันอย่างนี้อีกไง นี่เพราะเป็นทุกข์อย่างนี้ ผลอย่างนี้มันถึงเตือนเรา

เตือน เห็นไหม ไปดูอสุภะจากภายนอกก็อย่างนี้ เตือนเรานี้ เขาก็ตาย เราก็ตาย เขาเป็นไป เราก็ต้องเป็นไป สิ่งนี้อสุภะภายนอก แล้วถ้าอสุภะภายในมันเกิดขึ้นมา มันไปชำระไง ชำระสิ่งที่เราเป็นไปกับเขา แต่เราจะไม่เป็นไปกับเขา เราเห็นเขาแล้วเราปล่อยวางเขา จิตมันไปเห็นอสุภะ จิตมันเห็นความเป็นไป จิตมันเห็นแล้วมันปล่อยวาง มันสลดสังเวชไง มันหดตัวมันเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา มันเป็นอย่างนี้ ร่างกายเป็นอย่างนี้ กรรมมันเป็นอย่างนี้แน่นอน แต่จิตมันจะไม่เป็นไปกับเขาอีกแล้ว จิตมันจะเสียสละที่นี่ มันจะไม่ยอมไปกับเขาอีก เห็นไหม ถ้าเราทำไม่ได้ เรายังอยู่ในวัฏฏะอยู่ มันจะเป็นไปกับเขานะ แล้วก็จะมาเสียใจอย่างนี้

ดูสิ นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม เวลาหลานตายก็ยังเสียใจเลย มาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า

“วิสาขาเธอเป็นอะไร?”

“นี่หลานตาย” พระโสดาบัน เห็นไหม ก็ยังเสียใจเลย

“แล้วถ้าคนทั้งโลกเขาเป็นหลานเธอหมดเลย แล้วคนมันตายวันละเท่าไหร่? แล้วเธอจะไม่ต้องเสียใจอย่างนี้อยู่อย่างนี้ตลอดไปหรือ”

นี่ได้สติขึ้นมา นี่ฟื้นเลย หยุดเลย ตั้งสติมา แม้แต่พระโสดาบันสติยังไม่สมบูรณ์เหมือนพระอรหันต์ แล้วเราเป็นปุถุชน เรามีธรรมะเป็นที่พึ่ง ธรรมและวินัยเป็นที่พึ่งของเรา ธรรมและวินัยนะ ครูบาอาจารย์ถ้าเราลงใจ เราฟังได้ มันก็ฟังได้ ถ้าครูบาอาจารย์เราลงใจ แต่กิเลสเรามันพลิกแพลง บางทีก็ฟังได้ บางทีก็ฟังไม่ได้ แต่ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไง ถึงว่าธรรมะบอกไว้เลยว่า “อย่าเชื่อบุคคลนะ ให้เชื่อธรรมะ” แต่ธรรมะมันอยู่ในใจของครูบาอาจารย์เรานะ

ถ้าครูบาอาจารย์เราเจอวิกฤตินี่ เห็นไหม ขณะมีวิกฤติ เขาต้องการคนกล้า ขณะที่มีเภทมีภัย เขาต้องการคนมีสติ เห็นไหม ดูกับชีวิตของเรา ดูสติ มันเป็นอย่างนี้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว ใช่! ถ้ามันแก้ไขได้เราก็อยากแก้ไข เห็นไหม นี่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เราจะไม่จองเวร เราจะยอมให้สิ่งนี้ผ่านไป เพื่อจะไม่ให้มีกรรมต่อเนื่องกันไป แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมากับเราเป็นเหตุที่สุดวิสัย เราก็ต้องมีสติสัมปชัญญะของเราสิ เรามีสติของเรา เราแก้ไขของเรา ให้วิกฤตินี้ผ่านไปกับเรานะ ผ่านไปนะ เห็นไหม เกิดมาลุ่มๆ ดอนๆ ในถนนหนทาง เห็นไหม ถนนมันขึ้นไปบนภูเขา ถนนมันเป็นที่ลาดชัน

นี่ชีวิตก็เหมือนกัน เวลามันขึ้นสูง เวลามันตกลงต่ำ เวลามันต่ำ นี่ผลของวัฏฏะมันเป็นอย่างนี้นะ แล้วถ้าจิตใจเรามันมั่นคงขึ้นมานี่ สูงหรือต่ำ เห็นไหม เราอยู่บนรถนั้น รถนั้นมันก็วิ่งไปบนที่สูงต่ำ บนภูเขา บนที่ลาดที่ชัน มันก็เป็นไปตามนั้น เราไม่ตื่นเต้นไปกับเขา จิตเราก็ไม่แกว่งไป แต่.. แต่ความเป็นไปนะ มันรู้ อยู่ในที่สูงมันจะเห็นภาพกว้าง อยู่ในที่ต่ำมันจะเห็นภาพแคบ มันก็เป็นขณะที่มันเป็นไป มันให้ผลไง นี่ผลของกรรม กรรมดี กรรมชั่ว กุศล อกุศล สิ่งนี้เกิดขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมาให้มันเตือนสติเรา ให้มันเตือนสติเรา ให้เราเห็นภัยของมันนะ

ภัย..ภัยคือการที่มันเป็นอนิจจัง มันแปรปรวน ถ้าสิ่งที่มันคงที่ สิ่งที่คงที่อกุปปธรรม โสดาบันคงที่โสดาบัน สกิทาคงที่สกิทา อนาคาคงที่อนาคา ไอ้สิ่งนี้ เวลาพูดสิ่งนี้เหมือนกับเป็นความสุดเอื้อมนะ มันเป็นสิ่งสุดเอื้อมที่เราทำไม่ได้ สิ่งนี้ทำไม่ได้ ทำไมเราตักอาหารกินได้ล่ะ? ทำไมลิ้นของเรารับรู้จากรสล่ะ?

หัวใจก็เหมือนกัน เวลาที่มันทุกข์นี่ มันกินของที่แสบร้อนไปมันก็ทุกข์ เห็นไหม ถ้ามันกินอาหารที่มันมีรสชาตินุ่มนวล มันก็มีความสุข ขณะที่กระทำ บุญกับบาป เห็นไหม แต่ถึงที่สุดแล้วนะ เรามีลิ้น เรารู้รสอาหารตลอด เรามีใจไง ใจนี่ รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของโสดาบัน รสของสกิทา รสของอนาคา มันเป็นรสเท่านั้นน่ะ มันเป็นสมมุติบัญญัติที่เอามาสื่อความหมายกันเท่านั้นน่ะ

แต่ถ้าเป็นความจริง ถ้าจิตมันรับมันลิ้มรส เห็นไหม จิตมันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นความคงที่ของมัน มันเป็นอกุปปธรรมนะ มันจะแบ่งแยกธรรมได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ๙ ประโยคนะ เขาบอกว่า “ถ้าจิตนี้มันยังมีอยู่ ยังเกิดยังตาย” มันสอนไปอย่างนี้มันเหมือนกับพราหมณ์ เหมือนกับพวกพราหมณ์ พราหมณ์เขาจะจิตนี้คงที่ เป็นอาตมันไง เขาคิดของเขาอย่างนั้น เห็นไหม

นี่ความคิดแบบโลกๆ ความคิดแบบผู้ที่วิทยาศาสตร์คงที่ไง นี่กรรมตายตัวไง แต่ไม่ใช่หรอก นี่สิ่งนี้จิตของศาสนาพุทธเรานี่มันแปรสภาพ มันเกิดลุ่มๆ ดอนๆ มันแปรสภาพเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดนรกอเวจี เกิดมันเกิดอย่างนั้น มันมีของมันอย่างนั้น แต่มันไม่คงที่ มันมีอยู่แต่มันแปรสภาพไปตามแรงขับ ถ้าแรงขับดีก็ทำไปในสิ่งที่ดี ถ้าแรงขับไม่ดีก็ทำไปในสิ่งที่ไม่ดี แล้วแรงขับถึงที่สุดได้ด้วย แต่ของเขาเป็นอาตมัน เห็นไหม อาตมันจะเป็นสภาพอย่างนั้นตลอดไป มันคงที่ของมัน มันมีของมันอย่างนั้น แล้วมันจะเป็นสภาพอย่างนั้น นั่นคือพราหมณ์ นั่นคือฮินดู

แม้แต่เรียนวิชาการของศาสนาแล้ว ยังจับประเด็นของศาสนาไม่ถูก แล้วเวลาภาคปฏิบัติของเรา สิ่งนี้กายนอก กายใน กายในกาย นี่สิ่งนี้พูดไปเป็นโวหาร มันไม่เป็นโวหารหรอก มันเป็นความจริง ละกายนอกเข้ามานี่ ตั้งแต่โสดาบัน เห็นไหมสักกายทิฏฐิความเห็นผิดในร่างกาย แล้วกายในล่ะ กายกับจิตมันเกี่ยวเนื่องกัน แล้วกามราคะล่ะ กามราคะเพราะความต้องการปฏิฆะ ข้อมูลของใจ เพราะข้อมูลของใจมันมีกามราคะของมัน มันถึงออกไปเป็นเรื่องของโลกๆ เห็นไหม แล้วเข้าไปทำลายถึงตัวอวิชชา ตัวจิต ตัวจิตโดนทำลาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ อาสวะสิ้นไป จิตเป็นผู้วิมุตติ จิตเข้าวิมุตติไม่ได้ ตัวจิตถ้ามันมีสสาร มันมีสิ่งเป็นภวาสวะ ตัวภพ มันเข้านิพพานไม่ได้

อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสูติ จิตฺตานิ เห็นไหม จิตที่มันทำลาย อาสวะเป็นอาสวะ แล้วอาสวะทำลาย จิตมันทำลายตัวมันเอง นี่วิมุจฺจึสูติ เห็นไหม มันเข้าไปถึงที่คงที่ เห็นไหม แล้วมันอยู่ที่ไหน? มันก็อยู่ในความรู้สึกของเรา มันไม่สุดความสามารถของเราหรอก มันอยู่ที่การงานของจิตนะ

ดูสิ มือนี่หยิบอะไรก็ได้ สิ่งที่เรื่องของร่างกาย อวัยวะต่างๆ มันใช้ต่างๆ กันไป ความรู้สึกของใจมันใช้ประโยชน์ของสิ่งนี้ไง ใช้ประโยชน์เพื่อใจดวงนี้ ใช้ประโยชน์เพื่อการกระทำของความรู้สึกจากภายใน นี้เป็นมรรคญาณนะ “นี่อริยสัจ” สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเราย้อนกลับมานะ ให้เป็นคติธรรม ให้เป็นคติกับทุกๆ คน ให้เป็นคติกับชีวิตนะ นี่แล้วทุกคนจะต้องถึงที่สุดตรงนี้หมด

แต่ถึงที่สุดด้วยวิธีการใด? ถึงที่สุดด้วยความสวยงามขนาดไหน? อยู่ที่บุญกุศล เห็นไหม ดูสิ เวลาพระอรหันต์จะตาย เห็นไหม ยืนก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ นี่พระอรหันต์เวลาตายขึ้นมานี่ เพราะความตายมันแปรสภาพเท่านั้น มันรู้ แต่กิเลสมันขาดในหัวใจ แต่นี้กิเลสในหัวใจของเรามันมี มันถึงมองสิ่งใดๆ ไม่ออกเลย กรรมก็กรรมตายตัว สิ่งใดทำก็ทำตายตัว ไม่ใช่ตายตัวแล้วทำได้ ทำจากเรานี่ ให้มีสติสัมปชัญญะนะ เราทำคุณงามความดีกันนะ ครูบาอาจารย์กว่าจะเป็นอย่างนี้ขึ้นมาได้ เวลาธุดงค์ไปนี่ลำบากลำบนกว่าเรามากมายนัก

เราใช้ชีวิตอย่างนี้เพื่อฝึกฝนเรา เห็นไหม เห็นชีวิตในขณะที่เราดำรงชีวิตอยู่ในบ้านของเรา เรามาดำรงชีวิตอยู่ในป่า การดำรงชีวิตนี้มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร? มันเปลี่ยนแปลงสภาวะเกี่ยวกับการดำรงชีวิตนี้ ความรู้สึกก็ต่างกัน แล้วเวลาจิตมันดำรงสถานะของภพ เห็นไหม เกิดในสถานะต่างๆ มันก็ต่างกันอย่างนี้ เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหมอย่างนี้ การในอย่างนี้ การเกิดการตายนี่มันแค่แปรสภาพนิดเดียวเท่านั้นน่ะ แล้วสิ่งที่แปรสภาพนะ

แต่แปรสภาพ มันแปรสภาพในฐานะที่มันเป็นนะ แต่เวลามันอยู่ในสถานที่นั้นมันเป็นอายุขัย อายุมันนาน อายุมันต่างๆ กันไป เราถึงจะไม่ไปเสียเวลาตรงนั้น เราจะทำจิตของเราตรงนี้ให้ดี แล้วเราประพฤติปฏิบัติให้ดี จะเข้าใจตรงนี้หมดนะ จะเข้าใจเรื่องของวัฏฏะ ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของวัฏฏะ เราจะทิ้งวัฏฏะมาได้อย่างไร?

จิตนี่ วัฏฏะมันเป็นที่อยู่ของจิต จิตมันวนไปในวัฏฏะนี้ต่างหาก แล้วจิตมันพ้นไปจากวัฏฏะมันพ้นอย่างไร? เขาก็ตาย เขาก็เกิดให้เราเห็นๆ อยู่นี้ แล้วเราทำของเราขึ้นมา เตือนสติ เตือนเรา ถ้ามันเตือนเราได้ เหมือนคนไข้เลย รู้ว่าเราเป็นคนไข้ รู้ว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย มันจะรักษาตัวมันเอง มันจะรีบๆ รักษา มันจะดูแลตัวเอง แต่ถ้าเราว่าเราไม่เป็นไข้

นี้ก็เหมือนกัน เราไม่เคยคิดว่าเราจะต้องถึงที่สุดไง เราถึงประมาทในชีวิตไง ถ้าเราเห็นว่าเราต้องมีที่สิ้นสุด เราไม่ประมาทในชีวิต หน้าที่การงานก็เป็นหน้าที่การงาน งาน ประพฤติปฏิบัติของเราก็เป็นความประพฤติปฏิบัติของเรา ดูใจไป ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นนะ สำเร็จได้ตลอดเวลา แต่ขณะที่กล่อม ขณะที่เริ่มต้น ขณะที่ปูพื้นฐานนี่ สิ่งนี้ต้องแสวงหา สิ่งนี้ต้องทำนะ นี่สิ่งที่ต้องทำ เพราะมันมีสติ มันทำได้ด้วยความพอใจ มีสติมีความคิด

ดูสิ สิ่งที่ขึ้นนี่สะเทือนใจเราไหม ถ้าสะเทือนทุกคนอยากจะให้พ้นออกไป ไม่ให้อยู่ในกรงเล็บของพระยามัจจุราช พระอรหันต์ตายนะ ไม่อยู่อยู่ในกรงเล็บของมัจจุราชนะ ดูสิ สมัยพุทธกาลที่ว่าเป็นหมอดู เห็นไหม เคาะกะโหลกศีรษะรู้ไปหมดเลย เวลาพระอรหันต์เคาะเท่าไรก็ไม่รู้ เห็นไหม ไม่อยู่ในกรงเล็บ ไม่อยู่ในกรงเล็บหรอก ขณะที่กิเลสขาดนะ การเกิดและการตายนะหลอกเด็กจริงๆ แต่เรายังเป็นเด็กๆ อยู่ จิตยังเป็นเด็กๆ อยู่ เราก็ทุกข์ของเรา นี่เตือนสติอยู่ แล้วชีวิตเราจะมีคุณค่า เอวัง