เทศน์พระ

ใจวิเวก

๒๙ ต.ค. ๒๕๕๑

 

ใจวิเวก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้อากาศดี อากาศร่มเย็นจากภายนอก ภายในร่มเย็นไหม เราเป็นนักบวช เวลาสงบ ความสงบความวิเวกเป็นสิ่งที่เป็นความปรารถนา เราละทิ้งมาจากโลก ละทิ้งมาจากโลกเพราะการเกิด เราเกิดมาเป็นมนุษย์มันต้องเผชิญกับโลก แล้วเราละทางโลกมา ชีวิตที่เหลืออยู่เป็นชีวิตนักบวช ชีวิตนักบวช ชีวิตที่มีการต่อสู้ การต่อสู้กับสัจจะความจริง ชีวิตจากทางโลก ทุกข์ๆ ร้อนๆ อยู่กับโลก เจ็บๆ แสบๆ คันๆ แต่มันก็ต้องเวียนตายเวียนเกิดตามธรรมชาติของมัน

แต่เราสละโลกมา ชีวิตที่เหลืออยู่ ยังมีชีวิตอยู่ แต่ยังไม่ตาย ตายจากคฤหัสถ์มาเป็นภิกษุ ชีวิตที่สงบร่มเย็น ชีวิตที่สงบร่มเย็น เราจะแสวงหาความจริง ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ มันเศร้าหมอง มันทดท้อ มันท้อถอย แต่ถ้าเรารื่นเริงอาจหาญ เรามีสติสัมปชัญญะ ดูสิ เชื้อรา เชื้อราถึงเวลาแล้วอากาศร้อน ความชื้นมันมี ชีวิตมันยังงอกเงยได้ ชีวิตมันยังเป็นเห็ดเป็นอะไรขึ้นมาให้คนเขาบริโภคเป็นอาหารได้ สิ่งที่มีชีวิตมันดิ้นรนเพื่อความดำรงอยู่ไง แล้วชีวิตของเรา ชีวิตในคฤหัสถ์ เราเกิดมาโลกมันบีบคั้น โลกบีบคั้นนะ โลกธรรม ๘ สิ่งที่มีอยู่มันเป็นไป มันเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา

สิ่งที่เราบวชมาก็เป็นสิ่งที่มีชีวิต เราอย่าให้มันเศร้าหมอง อย่าให้มันทดท้อ อย่าให้มันเฉา ศากยบุตรพุทธชิโนรส เรามีที่พึ่งที่อาศัย มีธรรมวินัย ดูสิ เราปลงอาบัติ เวลาปลงอาบัติ คำปลงอาบัติของเรา สิ่งที่ผิดพลาดมา เราจะแก้คืน แล้วเราตั้งสติสำรวมระวัง ดูสิ ดูความเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่ทำผิดพลาดมาให้ปลงอาบัติกัน ให้อภัยต่อกัน สิ่งต่างๆ ให้เริ่มต้นใหม่ แล้วเราเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นในอะไร เริ่มต้นในสิ่งที่มีชีวิตมันต้องดำรงชีวิตของมัน มันกระเสือกกระสนเพื่อชีวิตของมัน เพื่อเผ่าพันธุ์ของมัน นี่ก็เหมือนกัน ธรรมวินัยที่เกิดขึ้นมาจากใจ สิ่งที่เป็นชีวิตมันเป็นเรื่องสมมุติ เป็นเรื่องของโลก

สิ่งที่สัมผัสธรรม หัวใจเท่านั้นสัมผัสธรรมะ หัวใจเท่านั้นสัมผัสความสุขความทุกข์ สิ่งที่เป็นความทุกข์มันบีบคั้นเข้ามา มันบีบคั้นเข้ามาด้วยอะไร? ด้วยกิเลส ด้วยตัณหา ด้วยความทะยานอยาก ด้วยเราไม่เข้าใจมัน มันบีบคั้นใจของเราอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่มันอยู่กับเรา เวลาเราเกิดมาอะไรพาเกิด ปฏิสนธิจิตมันพาเกิดแน่นอน ปฏิสนธิจิตเพราะอะไร เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยาก มีอวิชชาครอบงำไง

แต่เวลาพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ที่สิ้นกิเลสไปแล้ว ชีวิตนี้จะไม่เกิดอีก ไม่เกิดอีกเพราะอะไร เพราะไม่มีสิ่งที่บีบคั้น สิ่งที่ทำให้เศร้าหมอง สิ่งที่ทำให้เฉาให้ต่างๆ มันโดนทำลายออกไป แล้วเราจะเอาอะไรทำลายมัน ถ้าเราไม่ตั้งสติ ไม่ตั้งสัมปชัญญะ มันจะทุกข์มันจะยาก มันจะลำบาก เราอยู่ป่าอย่างนี้ ดูสิ การเดินทางมา การอยู่กับมัน เราจำเจซ้ำซากอยู่ทุกวัน คนที่จิตใจเป็นโลก เขาจะมองพวกเราว่ามันแปลก มันจำเจซ้ำซาก เราอยู่ได้อย่างไร

ความจำเจซ้ำซากเป็นเรื่องของกิเลสนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรม ความสงัด ความวิเวก ความพอใจของมัน มันกำลังฟักตัว ดูสิ เวลาเป็ดไก่มันฟักไข่ของมัน มันต้องฟักไข่ของมันด้วยอุณหภูมิของมัน ด้วยความร้อนของมัน นี่ก็เหมือนกัน จิตมันฟักตัวของมัน เราอยู่ในสถานที่ซ้ำซากอย่างนั้น ซ้ำซากในสถานที่ ชีวิตมันซ้ำซากยิ่งกว่านั้น การเกิดและการตาย เกิดเป็นมนุษย์ตั้งกี่ภพกี่ชาติแล้ว การเกิดในวัฏฏะ เกิดซ้ำเกิดซาก แต่เราจำไม่ได้ บุพเพนิวาสานุสติญาณ มันย้อนอดีตชาติไป จำได้ เราภาวนาไปเถอะ เดี๋ยวเราจะย้อนหลังของเราไปเลย

การเกิดไม่ใช่เกิดเฉพาะชาตินี้ เห็นว่าเกิดมาชาตินี้ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดแล้วเกิดเล่า เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่งก็พอใจ ชีวิตวัยรุ่น โลกนี้เป็นของเราเลย มันสว่างไสว มันสดใส ชีวิตมันสดใส สดใสเพราะอะไร ก็เพราะมันสดชื่น เพราะชีวิตมันแสวงหา ช่วงแสวงหาใช่ไหม ช่วงแสวงหา ดูทุกอย่างมันน่ารื่นรมย์ไปหมดเลย ดูชีวิตเราเวลาแก่เฒ่า ชีวิตเรามีอายุขึ้นมา ร่างกายเสื่อมสภาพไป เจ็บไข้ได้ป่วยทั้งนั้นแหละ เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วมันจะไปไหนล่ะ คือมันจนตรอกไง ชีวิตมันไม่มีทางออก จิตใจมันไม่มีทางออก

แต่เราเป็นนักบวชขึ้นมา เราแสวงหาสัจธรรม สัจธรรมมันย้อนกลับเข้ามาดูที่ใจของตัว ใจของตัว อะไรพาเกิด เกิดมาเพราะอะไร ถ้ามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ วิชชา ๓ วิชชาชำระกิเลส

วิชาโลกมีไหม วิชาทางโลกเป็นวิชาชีพที่แสวงหากัน คนมีปฏิภาณไหวพริบ คนมีเชาวน์ปัญญา เขามีโอกาสของเขา เขาแสวงหาของเขา มันเป็นการแสวงหาทางโลกนะ นี่การแสวงหา มีมากมายขนาดไหนก็เป็นขี้ข้ามัน เป็นที่รักษามัน ดูแลรักษา

ทุกข์เพราะขาดแคลนก็ทุกข์ ทุกข์เพราะมีปานกลางก็ทุกข์ ทุกข์เพราะร่ำรวย มีสมบัติมากก็ทุกข์ มันไม่มีอะไรพอใจเลย มันมีแต่ความทุกข์ ทุกข์เป็นความจริงตลอดไป แต่เราแสวงหาของเรา เราแสวงหามามันเป็นสมบัติของใจ มันลำบากก็ยอมรับว่าลำบาก มันลำบากนะ ดูสิ มันลำบากเพราะอะไร เพราะเรากินอิ่มนอนอุ่นไม่ได้ กิเลสมันพองตัวทันทีเลย มันต้องขาดแคลน เห็นไหม ธุดงควัตรเพื่ออะไร? ขัดเกลากิเลสไง ขัดเกลากับมัน ต่อสู้กับมัน

โดยธรรมชาติของตัณหาความทะยานอยากมันแสวงหา มันอยากได้ มันไม่มีที่สิ้นสุด มันอยากได้ทุกอย่างไว้หมดเลย ดูสิ เราใช้บริขาร ๘ บริขารมันไม่ทันชำรุดหรอก ใจมันอยากเปลี่ยน ใจมันอยากได้ มันคาดการณ์ไปหมดเลยนะ “อันนั้นใช้ไปถึงวันที่เท่านั้น จะเปลี่ยนเป็นชิ้นนั้น ชิ้นนั้นเราแสวงหาไว้ เราหมายตาไว้เลย เราจะทำบริขารอย่างนั้นต่อไปอย่างนั้น”...มันยังใช้สอยอยู่นะ เครื่องนุ่งห่ม จีวรเครื่องนุ่งห่มมันยังใช้สอยอยู่เลย มันคิดจินตนาการไปแล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้จักกิเลสดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผชิญมากับกิเลสดี แล้วฆ่ามันมาแล้ว ถึงได้วางธรรมวินัยไว้ ผ้ากว้าง ๔ นิ้ว ยาวถึง ๘ นิ้วขึ้นไปต้องวิกัป มันถือว่าเอาเป็นของส่วนบุคคลไม่ได้ มันจินตนาการเลย “ผ้านี้จะเอามาต่อกับชิ้นนั้น มันจะได้ทำเป็นผ้า ผ้าไอ้นั่นจะต่อชิ้นนี้ มันจะเป็นผ้าไอ้นั่น” มันคิดไปหมด ถึงต้องวิกัป

แต่ถ้าเป็นของของสงฆ์ เราเอาไว้ไปเป็นของกลาง ของของสงฆ์ไม่ใช่ของส่วนบุคคล มันคิดไม่ได้ ถ้าจะใช้ก็ต้องไปขอหมู่สงฆ์มาใช่ไหม ไปเบิกมา เราจะตัดผ้าตัดผ่อน เราก็ไปเบิกมา แต่ในเมื่อถ้าเราอยู่คนเดียว เราธุดงค์ไป พอได้สิ่งที่เขาถวายทานมาเป็นสมบัติส่วนบุคคล มันจินตนาการไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องกิเลสดี ถึงได้วางวินัยไว้ เหมือนกับมือเรา เราจะหยิบอะไร ท่านจะตบมือเราออก ใจมันจะยึดมั่นสิ่งใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันไว้ ธรรมวินัยมันกันเราไว้เลยนะ กันเราไม่ให้เราไปเสพสิ่งที่เป็นยาเสพติด เป็นเชื้อโรคเชื้อภัยขึ้นมา มันเป็นบาปเป็นอกุศล เป็นบาปเข้ามาทับถมใจ ธรรมวินัยบังคับไว้เลย แต่ถ้ามันเป็นกิเลสของเรา เราก็ว่า “นั่นก็ลำบาก นั่นก็เป็นของเล็กน้อย นั่นก็ไม่เห็นเป็นความจำเป็นเลย มันจะผิดศีลไปตรงไหน” นี่ดินพอกหางหมู พอทำไปๆ ทำไปเรื่อยๆ มันคิดไปเรื่อยๆ

ปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งที่อาศัย เราอาศัยเพื่อความสงบสงัดของใจ อาศัยเพื่อใจนี้ดำรงชีวิตของมันไป ไม่ใช่เอามาทับถมมัน สิ่งที่เราเอามาทับถมมัน จินตนาการไป มันต้องการแสวงหาไป บอกว่ามันทุกข์มันยาก เราขัดเกลามัน เราอาศัยพอเป็นพอไป ถ้าอาศัย มันทุกข์มันยาก แต่มันรื่นเริงนะ รื่นเริงในธรรม เพราะอะไร เพราะเราชนะกิเลส ถ้ากิเลส เราเดินตามมันไป มันต้องการสิ่งใด มันแสวงหาสิ่งใด เราก็หามาปรนเปรอมัน มันก็เหยียบย่ำใจไป พอถึงตอนนั้นมันจะเปลี่ยนออกไป ตัณหาความทะยานอยากมันไม่เคยเต็ม มันก็แสวงหาต่อไป เราก็เอามาปรนเปรอมัน มันก็เศร้าหมองไปเรื่อยๆ จิตใจมัวหมองเศร้าหมอง โดนกิเลสตัณหามันเหยียบ มันบีบคั้น เราไม่เข้าใจเลยนะ

แต่ถ้าเราต่อสู้มันด้วยความฝืนใจ โอ๋ย! มันทุกข์ มันเหนื่อย มันหอบเลย มันต้องสู้กับความคิด ความคิดมันต้องแสวงหา มันต้องการอยากได้ เราก็บอกไม่เอา เรายังใช้ได้อยู่ ของเรายังดีอยู่ เรามักน้อยสันโดษ เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราทำเพื่อหัวใจของเรา มันต่อสู้นะ แต่เวลามันชนะขึ้นมา มันโล่ง มันโปร่ง มันรื่นเริงอาจหาญ นี่ธรรม มันได้เสพธรรม มันได้สัมผัสกับสิ่งที่เราเสียสละ สิ่งที่เราต่อสู้กับกิเลส ธรรมวินัยบังคับไว้เลย แต่เรายังไม่สามารถที่จะชนะได้ ถ้าเราชนะได้ เราจะซึ้งใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากว่า ธรรมวินัยที่บัญญัติไว้ไม่ให้คลุกคลีกัน ให้ต่างคนต่างอยู่ ให้ต่างคนต่างอยู่เพื่ออะไร? เพื่อจับผิดหาช่อง

ร่างกายเราเหมือนกับจอมปลวก มันมีเหี้ยอยู่ตัวหนึ่งอยู่ในร่างกายนั้น จิตใจที่มีอวิชชาครอบงำ เหมือนเหี้ยตัวหนึ่ง แล้วเหี้ยตัวนั้น เหี้ยมันเป็นเหี้ยวันยังค่ำ เหี้ยเขาเอาไว้กิน เขาเอามาแกง เอามาทำลาบกินกัน จิตใจเปรียบเหมือนเหี้ย แต่จิตใจมันสะอาดได้ ความสะอาดมันพ้นจากเหี้ยได้ไง จิตใจ เพราะมันเป็นเหี้ย เพราะมันมีอวิชชา

ถ้ามันมีวิชชาขึ้นมาล่ะ มันมีคุณธรรมขึ้นมาล่ะ นี่สิ่งที่มีคุณธรรมขึ้นมา แต่ขณะที่มันเป็นเหี้ย มันไม่มีคุณธรรม เพราะมันมีอวิชชาครอบงำ ทั้งๆ ที่เราศึกษาธรรมนะ เราบวชเป็นพระ เราจะต่อสู้กับกิเลส แต่ตัณหาความทะยานอยากครอบงำอยู่ มันก็เลยเป็นเหี้ย

สามเณรน้อยสอนพระโปฐิละ ร่างกายของเราเหมือนกับจอมปลวกมีรูอยู่ ๖ รู ปิดเสีย ๕ รู เหลือรูหนึ่งคอยจับตัวเหี้ย ตัวเหี้ยนั้นถ้ามันออกจากรูนั้นก็คอยจ้องจับมัน

นี่ก็เหมือนกัน คำบริกรรมของเรา พุทโธๆ พุทโธปิดทั้งหมด ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือใจไว้ กำหนดพุทโธ ปิดตา หู จมูก ลิ้น กายหมด เหลือปัญญาไว้อบรมสมาธิ เหลือเหี้ยตัวนั้น จับเหี้ยตัวนั้นให้ได้ ถ้าจับเหี้ยตัวนั้นได้ จิตมันจะเป็นสมาธิเข้ามา จิตมันสงบระงับเข้ามา ถ้าสงบเข้ามา หัวใจเราต้องสู้อย่างนี้ไง นี่งานของพระ

ถ้าเป็นหัวหน้ามันก็ต้องรับผิดชอบ ข้อวัตรปฏิบัติต้องรับผิดชอบดูแล ดูแลของของสงฆ์ ดูแลสมบัติของของสงฆ์ วินัยก็บังคับ ถ้าเราไม่ดูแล ไม่เอื้อเฟื้อในวินัย ไม่เอื้อเฟื้อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มองข้ามไปหมด เป็นอาบัติปาจิตตีย์ตั้งแต่ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ไม่เอื้อเฟื้อในธรรมวินัย หลวงตาท่านบอกว่า “เหยียบหัวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป” ธรรมวินัยนี้เหยียบย่ำมันไป เหยียบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเลย มันเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ไม่เอื้อเฟื้อในธรรมวินัย

ถ้าเราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในธรรมวินัย ธรรมวินัยบังคับแล้ว เราเป็นหัวหน้า เราต้องดูแล เราต้องบริหารจัดการ ผู้ที่อยู่อาศัยให้เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม มันเจือจานกัน ถ้าเป็นธรรม มีมากมีน้อยไม่สำคัญ มีมากมีน้อย เราอยู่ด้วยกันด้วยความรื่นเริง ด้วยความเป็นสุข เพราะเราเจือจานกัน เราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ผู้น้อยผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ดูแลผู้น้อย ผู้น้อยก็คอยช่วยเหลือผู้ใหญ่ ผู้น้อยผู้ใหญ่ทำงานเสร็จแล้วเราก็หาทางวิเวก เราก็ต้องหาที่สงบของเรา เราต้องรักษาใจของเรา เราจะจับเหี้ยตัวนั้นให้ได้

ถ้าจับเหี้ยตัวนั้นได้ เหี้ยตัวนี้มันเกิดตายๆ มาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ เพราะมันได้สร้างบุญกุศลมา ถ้าเราไม่ได้สร้างบุญกุศล เวลาคนจะสึกจากพระ เขาเร่าร้อนผ้าเหลือง มันร้อน มันร้อนไปหมด คนที่จะมาอยู่ในเพศของนักบวช เราจะเป็นภิกษุ มันต้องมีบุญกุศลนะ มีบุญกุศลมา มันขัดเกลา ถ้ามองทางโลกมันเป็นผู้ทุกข์ผู้ยาก ผู้ที่ไม่มีอะไรสมความปรารถนาสักอย่างหนึ่งเลย อะไรมาก็จะมักน้อยสันโดษ จะเสียสละ จะเจือจานคนอื่น แล้วตัวเองจะเอาอะไรใช้สอย นี่กิเลสมันคิดอย่างนั้น แต่เราเป็นผู้เสียสละ เสียสละจากข้างนอกเพื่อให้จิตใจมันไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ให้มันสละออกไป ให้มันเป็นธรรม

สิ่งที่เป็นธรรม ความเผื่อแผ่กัน ความเจือจานกัน ดูแลรักษากัน คนมันอยู่ที่ธาตุขันธ์ บางคน ดูสิ กินข้าว บางคน ๕ คำอิ่ม บางคน ๑๐ คำ บางคน ๒๐ คำอิ่ม กระเพาะอาหารของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การดำรงชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน พอไม่เหมือนกัน ถ้าเขาต้องการมากก็ให้เขามากหน่อยหนึ่ง ถ้าคนต้องการพอประมาณก็ให้เขาพอประมาณ ไม่ใช่ว่าเราจะให้เสมอกัน ไอ้คนที่ได้ส่วนน้อย พอใช้สอย พออิ่มหนำสำราญก็อยู่ได้ ไอ้คนที่เขาต้องกิน ๒๐ คำ ๓๐ คำ เขากินมากหน่อย ถ้าเป็นธรรม คำว่า “เป็นธรรม” ในเมื่อร่างกายเขาต้องการอย่างนั้น มันอยู่ที่ธาตุขันธ์ ธาตุขันธ์ของเขาเป็นอย่างนั้น เราควรจะให้เขาเจือจานจนกว่าเขาอยู่ของเขาได้

มันได้มากได้น้อยมันเป็นที่ธาตุที่ขันธ์ เป็นที่การดำรงชีวิต ถ้าคนมีความปรารถนาแต่น้อย ให้มากมา เราจะกินให้เหมือนเขา เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ กินเข้าไปแล้วมันก็ไปล้นคอหอย นั่งสมาธิก็ไม่ได้ กินเข้าไปเป็นโทษไง เขากินเข้าไป เขาฉันอาหารของเขาเพื่อดำรงชีวิต ธาตุขันธ์ของเขาเป็นอย่างนั้น เราจะไปเอาเหมือนเขาไม่ได้ ในเมื่อธาตุขันธ์ของเรามีความต้องการเพียงเท่านี้ ๕ คำ ๑๐ คำ อิ่มแล้ว มันก็พอใจแล้ว ชีวิตเรา เรากลับได้บุญกุศล เรากลับมีคุณธรรม มีอำนาจวาสนามากกว่า เพราะว่าเราใช้น้อย เราใช้จ่ายน้อย เราไม่ฟุ่มเฟือย ธาตุขันธ์เราก็ไม่ต้องทำงานมาก สิ่งต่างๆ โรคภัยไข้เจ็บมันก็น้อยลง น้อยกว่าเขา แต่ถ้าเป็นกิเลสมันถือว่าเสียเปรียบๆ ทุกอย่างก็เสียเปรียบไปหมดเลย นี่ถ้ามันไม่เป็นธรรม ใจเราเองถ้ามันไม่เป็นธรรม

ถ้าเป็นธรรม จะได้มากก็มาก มากก็ธาตุขันธ์เขาเป็นอย่างนั้น จะได้น้อยก็น้อยเพราะธาตุขันธ์ของเราเอง จะเอาเสมอกันก็ได้ เท่ากันก็ได้ เขาได้มาก เราก็ได้มากไปกับเขา เขาฉันแล้วอิ่มสุขสบายดี เราฉันแล้วไปพะอืดพะอม ไปทุกข์ไปยาก มันได้อะไรมา? มันได้ทุกขลาภมา มันได้สิ่งที่ไม่จำเป็นมาเลย

เราต้องดูตรงนี้ว่ามันเป็นอำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน นิ้วคนไม่เท่ากัน ความเป็นอยู่ของคนไม่เท่ากัน ถ้าเขาหยาบก็ปล่อยเขาอยู่อย่างหยาบ ถ้าเขาละเอียดขึ้นมาได้ เขาจะสำนึกของเขา ถ้าเราละเอียดของเรา เรารักษาใจของเรา อย่าไปกระเทือนกัน หน้าที่ของเรารักษาใจของเราให้ได้

หมู่คณะ ความเป็นอยู่ของเรา ศากยบุตรพุทธชิโนรส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ วางธรรมและวินัยไว้รื้อสัตว์ขนสัตว์ ศาสดาสุดยอดมาก ความเมตตาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผื่อแผ่มาถึงเรา เผื่อแผ่ไปถึงสังคม เผื่อแผ่ไปถึงชาวพุทธทั้งโลก เผื่อแผ่ไปถึงเทวดา อินทร์ พรหมทั้งหมดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นผู้สอนเทวดา ผู้สอนมนุษย์ ผู้สอนทุกๆ คนเลย ผู้สอนๆ แล้วผู้สอนเราด้วย ในปัจจุบันนี้ธรรมวินัยก็มีอยู่ ผู้สอนเรา เรามันหยาบมันหนา ไม่มีปฏักสับผิวหนังเรา เราจะไม่สะเทือนใจ นี่ไง ธรรมวินัยถ้ามันไม่สะเทือนใจเรา มันไม่สะดุ้งสะเทือน เราจะแก้ไขอย่างไร กิเลสมันหนา

ถ้ากิเลสมันไม่หนา ธรรมวินัยเวลาเราศึกษา เราอ่านหนังสือ อ่านธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็สะเทือนใจ ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์เป็นธรรม เวลาท่านอ่านถึงการประพฤติปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันสลดสังเวชจนน้ำตาไหล สงสารท่าน อยากได้คุณธรรมอย่างนั้น สงสาร สงสารมาก สงสารเวลาท่านทนทุกข์ทรมานเพื่อรื้อค้นของท่าน แล้วท่านวางธรรมวินัยไว้

ถ้าเราจะให้มีคุณธรรมอย่างนั้น เราก็ต้องรื้อค้นของเรา เราต้องพยายามแสวงหาของเรา เราต้องทำของเราให้ได้ ถ้าทำของเราให้ได้ ชีวิตที่แม้แต่เชื้อรามันยังต้องดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตคือหัวใจของเรา ชีวิตที่เป็นนักบวช พ่อแม่ในชาตินี้ เราเกิดจากพ่อจากแม่...ใช่ พ่อแม่ในชาตินี้ พ่อแม่มีบุญมีกรรม พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก แต่เราเกิดตายๆ มากี่ภพกี่ชาติ แล้วในปัจจุบันเราจะเกิดเราจะตายไปอีกไหม ขณะปัจจุบันนี้เราเกิดมาในธรรม ในญัตติจตุตถกรรมเกิดมาเป็นพระ เป็นพระขึ้นมา เป็นสมมุติสงฆ์เพื่อจะรื้อค้น เพื่อจะเพิกถอนอวิชชา โลกเป็นอย่างนั้น มันจริงตามสมมุติ ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับมัน สิ่งที่มีที่เป็นไปแล้วมันก็เป็นอนิจจัง มันก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรคงที่หรอก

ดูสิ ประเพณีวัฒนธรรมเดี๋ยวก็เจือจางไป เดี๋ยวเขาก็รื้อค้นขึ้นมา เขาก็มาทำให้มันชัดเจนขึ้นมาอีก เราก็ไปเที่ยวเตร่ เราก็ไปเพลิดเพลินอยู่กับมัน นี่มันสมมุติตามโลก ไม่ต้องไปตื่นเต้นไปกับมัน โลกคือโลก ถ้าเราตื่นเต้นไปกับโลก เราจะไปเป็นโลกหมดเลย สิ่งที่โลกเขาเป็นอย่างนั้น เรื่องของเขา เรื่องของเรา โลกกับธรรม

ธรรมคืออะไร? ธรรมคือศีลธรรมจริยธรรม ธรรมวินัยเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นธรรมของเราล่ะ ถ้าจิตมันสงบ มันจะปรารถนาความสงัด ความสงบวิเวก วิเวกจากภายนอก-วิเวกจากภายใน เพราะสิ่งที่มันวิเวก ภาชนะที่ใส่ของ ภาชนะที่ละเอียด สิ่งที่มีคุณธรรมเขาใส่ของที่ประณีต ภาชนะที่หยาบเขาใส่ของที่ไม่มีคุณค่า

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันจะบรรจุธรรม มันจะหาสิ่งที่เป็นความสงบของใจ มันต้องอาศัยความสงบจากข้างนอก แล้วใจมันจะสงบเข้ามา ใจมันสงบเข้ามามันมีหลักมีเกณฑ์นะ จิตมันสงบเข้ามา

แล้วมันต้องการความสงบสงัด สิ่งที่ต้องการความสงบสงัดเพราะใจมันสงัดเข้ามา มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน แล้วถ้ามันออกใช้ปัญญาของมัน ออกใช้ปัญญารื้อค้น รื้อค้นสิ่งที่มันเศร้าหมอง สิ่งที่มันเสื่อมสภาพ สิ่งที่เป็นโลก เป็นสมาธิธรรม เป็นปัญญาธรรม มันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญอย่างนั้นตลอดไป แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันถึงที่สุดของเรา ถึงที่สุดของกิเลส เราต้องต่อสู้ เราต้องมีความเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร เราเพียรพยายามของเรานะ

พระโพธิสัตว์แต่ละชาติขึ้นมา สร้างสมขึ้นมา ขันติบารมีก็ต้องทน เนกขัมมบารมี ทานบารมี ศีลบารมี การสะสมมา ดูสิ สะสมมาแต่ละภพแต่ละชาติ ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริตเป็นนิสัย สะสมใจขึ้นมาจนเป็นอำนาจวาสนา เป็นบารมีขึ้นมา จะรื้อค้นธรรม รื้อค้นแสวงหา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ แต่ของเรามีเป้าหมาย มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องชี้ ขนาดชี้เข้ามาแล้ว มีคนชี้ทางให้ เรายังล้มลุกคลุกคลานเลย ล้มลุกคลุกคลานเพราะอะไร เพราะอำนาจวาสนาของเราไง

ทานบารมี ศีลบารมี สิ่งที่เสียสละมาให้ใจเราเข้มแข็ง มันมีจุดยืนมากขนาดไหน ถ้ามีจุดยืนมาก อย่าไปตื่นกับโลก เราออกวิเวก ออกเที่ยวธุดงค์ของเรา ธุดงค์เพื่อค้นหาใจ สิ่งที่ค้นหาใจเพราะอะไร เพราะจิตใจมันคุ้นชิน คุ้นชินกับสถานที่ คุ้นชินต่างๆ แล้วมันเฉา มันหงอยมันเหงา เราเปลี่ยนสถานที่ให้มันตื่นตัว

ความตื่นตัว แต่ถ้าจิตของเราตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เราอยู่ที่ไหนเราก็ตื่นตัวของเราได้ เราอยู่กับที่ เราปฏิบัติ เราไม่ต้องเสียเวลามากกว่า แต่ถ้าขณะที่มันภาวนาไม่ได้ไง มันเป็นจริตนิสัยของคน ถ้ามันภาวนาไม่ได้ อยู่จำเจแล้วมันคุ้นชิน ถ้ามันจำเจคุ้นชิน เราก็เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนสถานที่เพื่ออะไร? เพื่อให้มันตื่นตัว ความตื่นตัวจากข้างนอกมันจะทำให้ตื่นตัวจากข้างใน ความตื่นตัว คนมีสติสัมปชัญญะ สติสำคัญมากนะ ความตื่นตัวขึ้นมา ตื่นตัวเข้าทางจงกรม มีโอกาสได้การกระทำ อย่าให้มันเดินจงกรมโดยสักแต่ว่า เดินจงกรม ครูบาอาจารย์ท่านให้ประพฤติปฏิบัติ เราก็พยายามประพฤติปฏิบัติ แต่ปฏิบัติด้วยความเศร้าสร้อยหงอยเหงา

ถ้ามันไม่ตื่นตัว สติมันไม่สมบูรณ์ ถ้าขาดสติ มันสักแต่ว่าเดิน ครูบาอาจารย์ท่านพูด “แม้แต่สุนัขมันก็เดินได้ มันก็วิ่งไปวิ่งมาอยู่ มันได้ประโยชน์อะไรของมันขึ้นมา”

แต่เราเดินขึ้นมา ถ้ามีสติ มีสติด้วย แล้วต่อสู้กับมัน ต่อสู้กับกิเลส ต่อสู้กับอวิชชาในหัวใจ ถ้ามันเป็นกิเลส มันเป็นอวิชชาตัณหาความทะยานอยาก เวลามันพอใจขึ้นมา ในทางเดินจงกรมมันคิด มันใช้ปัญญาของมันไป มันรื่นเริงของมัน ด้วยกิเลสตื่นไปกับมัน ตื่นกิเลส เห็นกิเลสก็ตื่น เห็นความสงบของใจ จิตใจมันสงบก็ตื่น พอตื่นขึ้นมา ตื่นก็ไม่เป็นความจริงไง

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริง สติสัมปชัญญะ สิ่งใดเกิดขึ้น กิเลสเป็นเราไหม ถ้ากิเลสเป็นเรา ทำสิ่งใดๆ ไม่ได้เลย นี่กิเลสไม่ใช่เป็นเรา

สมาธิเป็นเราไหม? สมาธิมันเกิดจากใจ แต่มันไม่ใช่ใจ เพราะเรารักษามันไม่เป็น

ธรรมะเป็นเราไหม ปัญญาเป็นเราไหม? มันไม่เป็น เพราะเราต้องคิดขึ้นมา แล้วค้นขึ้นมา ปัญญาเป็นเราหรือยัง

แต่ถ้าเป็นธรรมล่ะ ธรรมเป็นเราเพราะจิตมันเป็นธรรม จิตเป็นธรรมเกิดขึ้นมาจากอะไร? เกิดจาก ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล ศีลเกิดขึ้นมาเป็นปกติของใจ สมาธิก็เกิดจากใจ สมาธิเกิดแต่เพียงกำลัง เป็นสิ่งที่ใช้เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา ปัญญามันเกิดขึ้นมาจากการค้นคว้า

นี่ไง เวลากายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันพ้นออกไปแล้วมันเหลืออะไร? ก็เหลือใจไง เวลาเราพิจารณาไปมันเหลือใจ สภาวะใจมันหลุดพ้นออกมา เหลือใจ เหลือความรู้ เหลือเป็นอกุปปธรรม เหลือสัจธรรม ใจเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรม เป็นธรรมขึ้นมาจากไหน

ดูสิ ดูเหี้ยตัวนั้น เหี้ยตัวนั้นเป็นเหี้ยไปหมด เหี้ยเพราะอะไร เหี้ยเพราะอวิชชา เพราะตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่เป็นอกุศลครอบงำมัน แต่เวลามันพิจารณาไป สังโยชน์มันขาดออกไป เหี้ยทำไมมันสะอาดขึ้นมาได้ มันขาวสะอาดขึ้นมาได้ มันสว่างไสวขึ้นมาได้

สิ่งที่เวลาบุคลาธิษฐานว่าใจที่มันมีอวิชชามันเป็นเหี้ยตัวหนึ่ง เราก็ แหม! ทำไมชีวิตเราต้องเปรียบถึงขนาดนั้นเชียว เปรียบเหมือนหัวใจเราเป็นเหี้ยตัวหนึ่งเลย เหี้ยเป็นสิ่งที่สังคมเขาว่ามันไม่มีคุณประโยชน์อะไรเลย มันเป็นเครื่องหมายของสิ่งเลวทรามเลย

เลวทรามจริงๆ อวิชชาเลวทรามจริงๆ เพราะอะไร เพราะมันเหยียบย่ำเรา มันจะพาเราให้หลงผิดไปตลอดเวลา แต่เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขัดเกลามัน ใช้สมาธิยับยั้งมันไว้ก่อน เหี้ยตัวนี้อย่าไปหลอกลวงใคร อย่าหลอกลวงแม้แต่หัวใจของตัวเอง หัวใจของตัวเอง สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาเป็นของชั่วคราว อย่าไปเชื่อมัน ทดสอบตรวจสอบ ทดสอบตรวจสอบเข้าไป ใช้ปัญญาขึ้นมา ให้ใคร่ครวญขึ้นมาจนถึงที่สุด กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ พอกายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ สิ่งที่เหลืออยู่คือจิตที่กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตที่กลั่นออกมาจากอริยสัจขึ้นมามันก็พัฒนาการของมันขึ้นไป เป็นความละเอียดขึ้นไป ถ้าจิตสงบเข้ามาให้ลึกซึ้งเข้าไปกว่านั้น พิจารณาเข้าไป กาย เวทนา จิต ธรรมที่มันลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น มันจะสำรอกออกคายออก สำรอกออกคายออก คายสิ่งที่ไม่ดีงามออกไป

งานทางโลกเราทำเสร็จแล้ว ดูสิ สิ่งปลูกสร้างเราเสร็จขึ้นมา ผลงานของเราเห็นชัดเจนเลย สร้างโบสถ์สร้างวิหารตั้งไว้บนวัด โบสถ์วิหารตั้งอยู่ แล้วโบสถ์วิหารมันได้อะไรล่ะ คนทำมันต่างหาก เราทำขึ้นมาเราได้บุญกุศล เพราะอะไร เพราะมันเป็นวัดวาอาราม มันเป็นที่อาศัยของภิกษุ มันเป็นที่อาศัยของสงฆ์ แต่มันเป็นอิฐหินทรายปูน ตัวมันเองไม่รู้มีคุณค่าอะไร แต่หัวใจที่เป็นคนทำ คนนั้นได้บุญกุศล โบสถ์วิหารมันไม่ได้ไปสวรรค์ จิตคนที่ทำมันไปนรกไปสวรรค์ของมัน

แต่ขณะนี้เราวิปัสสนาของมันด้วยปัญญา จิตที่มันพ้นออกไป สิ่งที่มันทำขึ้นมา วิหารธรรม ใจที่เป็นธรรม ถ้าสิ่งที่เป็นธรรมมันเกิดขึ้นมาจากไหน? มันเกิดขึ้นมาจากภายใน เกิดขึ้นจากการกระทำ เราทำสิ่งนี้ นี่งานของเราไง

ในการก่อสร้างเป็นวัตถุเป็นสิ่งของ เราเห็นว่าเป็นผลงาน แต่งานในการกระทำ งานในการวิปัสสนาญาณ อริยทรัพย์มันเห็นขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งที่พิสูจน์กันได้ว่าใครมีทรัพย์มากทรัพย์น้อย ทรัพย์มากทรัพย์น้อยก็นี่ไง สิ่งที่ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ สิ่งที่การแสดงออกมา ถ้ามันไม่เป็นอริยทรัพย์ คนหนึ่งเอาเพชรนิลจินดามาอวดกัน อีกคนหนึ่งมันไปเอาสิ่งที่เป็นกรวดเป็นหินเป็นทรายมาอวดกัน มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่เหมือนกันหรอก การแสดงออกของธรรม การแสดงออกของใจ ถ้าใจเป็นธรรม คำว่า “ธรรม” สัจธรรม ธรรมสังเวช มันสลดสังเวชเรื่องของโลก สลดสังเวชเรื่องชีวิตไง ชีวิตก็มีเท่านี้แหละ เกิดตายๆ มาไม่มีที่สิ้นสุด ยังดีที่เรามาประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่ได้มาประพฤติปฏิบัติ มันก็จะเวียนตายเวียนเกิดไปอย่างนี้

เหมือนคนตาบอด คนตาบอดเดินไปในวัฏฏะ คนตาบอดเดินไปในสังสารวัฏ คนตาบอด เพราะมันไม่รู้จัก ไม่เข้าใจเรื่องจิต ไม่เข้าใจเรื่องชีวิตเลย ทำบุญกุศลมันก็คนตาบอดทำ คนตาบอดทำขึ้นมามันก็เป็นบุญกุศลใช่ไหม มันก็ไปเกิดในวัฏฏะ มันก็เวียนไปอย่างนั้น ทำบาปอกุศลมันก็ตกนรกอเวจี เหมือนคนตาบอดเลย

แล้วเราคิดสิ เราเคยตาบอดมาตลอด แต่เดี๋ยวนี้เราตาสว่างขึ้นมา เราเห็นโทษของมันในวัฏฏะขึ้นมา แล้วเรามาบวชเป็นสงฆ์ เราต่อสู้กับตัวเราเอง เรื่องของโลกเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เขาแสวงหากัน ที่เขาทำกัน มันไม่มีที่สิ้นสุด มันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป แต่เรื่องของเรามันจะสิ้นสุดได้ สิ้นสุดได้ หลักไมล์ขึ้นที่หัวใจเรานะ หลักไมล์ขึ้นที่นี่ แล้วถ้ามันจะมาจบสิ้นที่นี่ หลักไมล์ขึ้นที่หัวใจเราเพราะอะไร เพราะปฏิสนธิจิตมาเกิดในไข่ของมารดา หลักไมล์มันเกิดแล้ว ชีวิตนี้ ๑๐๐ ปี หลักไมล์มันต้องเดินไป ถึงที่สุดมันต้องจบเลย แล้วหลักไมล์มันก็ซับซ้อนมาในหัวใจตลอดไป เราจะลบหลักไมล์ หลักไมล์คือทวนกระแสกลับเข้ามา หลักไมล์ในการกระทำขึ้นมา หลักไมล์ที่เราจะย้อนกลับเข้าไปในหัวใจของเรา เราจะทำของเราได้

ถ้าคนภาวนาเป็น คนมีหลักมีเกณฑ์ มันจะรื่นเริงอาจหาญ การนั่งสมาธิการภาวนา ทำด้วยความชื่นบาน แล้วมีความสุขมาก แม้แต่จิตสงบ เวลาทำสมาธิก็สงบ แต่กว่ามันจะสงบได้ เราต้องอดนอนผ่อนอาหาร อดนอนผ่อนอาหารเพื่อไม่ให้กิเลสมันอ้วน เพื่อไม่ให้สิ่งที่มันทับถมใจ มันเหยียบย่ำใจเรา เราผ่อนอาหาร ผ่อนมันแล้วเราเอามาทำงานของเรา งานของเรา งานในศาสนา ในอริยสัจ ในสัจธรรม งานในศาสนา ทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนา

แต่ในปัจจุบันนี้ งานก่อสร้าง งานการกระทำ นกมีรวงรังใช่ไหม เราทำไว้เพื่อเจือจานกันในหมู่สงฆ์ หมู่สงฆ์ต้องใช้สอยปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งที่ปัจจัยเครื่องอาศัย ของของสงฆ์ถ้าไม่ดูแลไม่รักษาก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ของของสงฆ์ กุฏิวิหาร ถ้าเราไม่ทำความสะอาดมัน เราไม่ดูแลปลวก ไม่ดูแลอะไร เป็นอาบัติหมดนะ เพราะสิ่งนี้มันเป็นศรัทธาไทย ศรัทธาของชาวบ้านเขาเสียสละมา แล้วเอามาปลูกสร้าง สิ่งที่เขาปลูกสร้างขึ้นมาไว้ให้พระได้อาศัย ถ้าเราอาศัยสิ่งที่เป็นของสาธารณะ อาศัยของสงฆ์ แล้วเราไม่ดูแลของสงฆ์ จิตใจของเรามันจะต่ำต้อยไหม แล้วเขาเป็นคฤหัสถ์ เขามองมาเขาจะติฉินนินทาไหม แต่ถ้าเราเป็นสงฆ์ เราดูแลรักษา เราทำข้อวัตร เราดูแลรักษาทำความสะอาดมัน เขามาเห็นเขาก็ชื่นอกชื่นใจของเขา คณะศรัทธา ศรัทธาไทยเขาสร้างขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ในการกระทำของเรา สิ่งที่เราปลูกสร้างขึ้นมาพออาศัย สิ่งที่อาศัย นี่งานข้างนอก งานข้างนอก ถ้าทำแต่งานข้างใน กิเลสมันอ้างนะ “ฉันจะไปภาวนา โน่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้”

ภาวนาข้างนอก-ภาวนาข้างใน ภาวนาข้างนอก ครูบาอาจารย์ท่านบอกดีทั้งนอกดีทั้งใน ดีทั้งนอกคือข้อวัตรปฏิบัติไง ดีข้างนอก ข้อวัตรปฏิบัติ เราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเข้าหมู่สงฆ์ด้วยความรื่นเริงอาจหาญ เราจะเข้าไปในหมู่สงฆ์ เราจะไม่เคอะไม่เขินเลย เพราะธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติเราเข้าใจไปหมดเลย เราเข้าไปในหมู่สงฆ์ อาวุโส-ภันเต การเคารพกัน ขอโอกาสกัน โอกาสที่ควรกราบไม่ควรกราบ โอกาสที่เราควรจะเข้าไปและไม่ควรเข้าไป สิ่งต่างๆ ควรไม่ควร เราต้องรู้ของเรา เราต้องเคารพกตัญญูกตเวที เราต้องเคารพครูบาอาจารย์ของเรา มันแสดงออกถึงเครื่องหมายของคนดี นี่ดีนอก

ดีใน ถ้าดีแต่นอก ในไม่ดี ดีแต่นอก นอกมันดี นอกดูเรียบร้อย สันตกาย ดูสงบเสงี่ยมไปหมดเลย จนพระเขาว่านี่เป็นพระอรหันต์ นี่ดีนอก

ดีใน ดูพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เวลาไปเจอคลอง เจอร่องน้ำ โดดข้าม โดดข้าม นี่ดีใน

ถ้าในมันดีอยู่แล้ว ถ้าดีทั้งนอก-ดีทั้งใน นอก นอกก็ดี นอกก็มีข้อวัตรปฏิบัติเพื่อสังคม เราเข้าสังคม เรารู้จักสังคม เราก็ไม่เคอะไม่เขิน สิ่งที่เราไม่เคอะไม่เขิน เราเข้าใจ ดีในของเรา ยิ่งดีใน เพราะดีนอกเป็นกิริยาแสดงออกของใจใช่ไหม ถ้าดีใน มันเป็นธรรม มันแสดงออกมา เพราะข้างในมันสะอาดบริสุทธิ์ คนมีเจตนาดี คนที่เป็นธรรม ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่หวังสมบัติของคนอื่น ไม่แย่งชิงคุณงามความดีของใคร

ปัจจุบันนี้แย่งชิงคุณงามความดีกัน แย่งชิงชื่อเสียงเกียรติคุณ แย่งชิงกัน แต่ถ้าเป็นธรรม สิ่งนี้มันเป็นขยะ มันเป็นขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง มันเป็นขี้ คนใจที่เป็นธรรมเขาไม่กินขี้ ขี้ ขี้ทั้งนั้นเลย แล้วไปแย่งชิงกันทำไม นี่ถ้าใจเป็นธรรม

ดีนอก ถ้าดีนอก กิริยามันสวยงาม แต่ข้างในมันไม่ดีมันก็แย่งชิง อยากดีอยากเด่น อยากมีอำนาจวาสนา มันไม่ได้สร้างมา ไม่ได้ทำมา ถ้าเป็นโลก โลกเขาบริหารจัดการได้ เขาใช้สื่อประชาสัมพันธ์ของเขาหาผลประโยชน์กัน เพราะโลกแสวงหามาอย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่ต้องไปใช้กันข้างหน้านะ มันเป็นการแสวงหามา

ถ้าเป็นสัจธรรม มันไม่ใช่แสวงหา มันเป็นขึ้นมาโดยธรรม สายบุญสายกรรม มันไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ไม่ได้มีสิ่งต่างๆ มันเป็นไปเอง คนมีอำนาจวาสนามันจะเป็นของมันไปเอง คนที่ไม่มีวาสนาสร้างสมขึ้นมา ทำขึ้นมา ดูสิ ดูวัวดูควายสิ มันมีอยู่ ๒ สี สีขาวกับสีเหลือง วัวมีแต่สีเหลือง กินของเขา ใช้ของเขา มันก็ต้องไปใช้เวรใช้กรรมของเขา สิ่งนั้นถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราควรทำไหม นี่ไง การแย่งชิงกันสิ่งต่างๆ เพราะถ้าในไม่ดี กิเลสตัณหานี้น่ากลัวมาก

ดูเทวทัตสิ สิ่งที่เป็นเทวทัต ดูสิ เกิดจากน้ำปานะ เกิดจากนางวิสาขาเวลามาวัดมาวา มีน้ำปานะมาถวายพระ ถวายพระอานนท์ ถวายพระอุบาลี ถวายไปหมดเลย แต่ไม่เคยถวายพระเทวทัต นี่มันน้อยเนื้อต่ำใจ สิ่งที่น้อยเนื้อต่ำใจ “ทำไมถึงไม่เห็นหัวเรา ทำไมถึงไม่คิดอย่างนั้น เราต้องแสดงออกให้เขารู้จัก” ก็แสดงออกเป็นฌานโลกีย์ เป็นงูไปพันคออชาตศัตรูเพื่อให้อชาตศัตรูเคารพสักการะ เห็นไหม ไม่มีก็อยากมี

เราจะมีหรือไม่มี มันก็อยู่ที่การกระทำของเรานะ เราไม่เคยเสียสละมามันก็เป็นเรื่องจากภายนอก ถ้าหัวใจเราดีขึ้นมา เราแสวงหาที่นี่ อมตธรรม น้ำอมตธรรม อมฤตธรรม สิ่งต่างๆ อย่างนี้มันมีคุณค่ากว่าไอ้เรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย เรื่องสิ่งที่แย่งชิงกัน โลกธรรม ๘ เรื่องมีชื่อเสียงเกียรติคุณ ไร้สาระมาก เพราะถ้าเราต้องการสิ่งนั้น ดูสิ ดูดารา เขาเป็นดารากัน คนรักคนใคร่เต็มทั่วประเทศไทย เขามีความทุกข์มากนะ เขาต้องเจียดเวลาให้กับสังคม เขาเป็นคนของสาธารณะ

เราก็เหมือนกัน เราเป็นพระเป็นเจ้า เราหาทางออกของเราเอง เราหาที่หลบที่สงัดที่วิเวกของเรา เราไม่ต้องไปแย่งชิงสิ่งนั้น เราไปเป็นทำไม เราไปคลุกคลีทำไม เพื่อประโยชน์อะไร แต่ในเมื่อถ้าถึงที่สุดแล้ว ถ้าเราทำใจของเราดีทั้งข้างนอก-ดีทั้งข้างในแล้ว เพื่อประโยชน์ของโลก มันเป็นหน้าที่รับผิดชอบ ถ้าเป็นหน้าที่รับผิดชอบ ต้องทำ ถ้าไม่ทำ ศาสนามันจะอยู่ได้อย่างไร ศาสนาที่มั่นคงขึ้นมาได้เพราะอะไร เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านวางรากฐานไว้ใช่ไหม

ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ววางธรรมวินัยไว้ ธรรมวินัยที่อยู่ในตู้พระไตรปิฎกเอาไว้กราบเอาไว้ไหว้กัน คนจะศึกษา ยิ่งมาศึกษาก็ยิ่งงง ยิ่งศึกษายิ่งกลัว ยิ่งศึกษายิ่งมีการกระทำ “มรรคผลนิพพานสุดเอื้อม เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์มีแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว นอกจากนั้นเป็นไปไม่ได้”

แล้วครูบาอาจารย์ของเราฝึกฝนขึ้นมาจนรู้จริงขึ้นมา สิ่งที่รู้จริงขึ้นมา แล้วรู้จริงขึ้นมา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เราศึกษาขึ้นมา ค้นคว้าขึ้นมา แล้ววางธรรมวินัยไว้ให้สังคมยอมรับนับถือ ในปัจจุบันนี้เราอยู่ด้วยบุญกุศลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมวินัย เช้าออกบิณฑบาต ชาวพุทธต้องใส่บาตร นี่เราอาศัยบุญกรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงชีวิตอยู่นะ แล้วมีครูบาอาจารย์มากระตุ้นสังคมให้สังคมยอมรับในการประพฤติปฏิบัติ ให้คนเข้ามาอุปัฏฐากมาดูแล ดูสิ ต้องการปรารถนาสิ่งใดก็ได้ อยากได้อะไรเขาก็ให้

เวลาอยากได้อะไร ดูสิ ขนาดที่ว่าไม่ต้องขอ เขายังคอยดูแล เขาคอยเกื้อกูลตลอดเวลา คนที่เขาอยากได้บุญกุศลจากเราอีกมหาศาลเลย แล้วคุณธรรมในหัวใจเรามีหรือยัง เราพอเป็นที่พึ่งเขาได้ไหม ถ้าเราพอเป็นที่พึ่งของเขาได้ เราถึงเป็นผู้นำได้ ถ้าเรายังไม่พอเป็นที่พึ่งเขาได้ เรายังพึ่งตัวเองไม่ได้ เราต้องค้นคว้าในตัวเราเองก่อน

อย่านะ อย่าคิดว่าเราพรรษามากขึ้นไปข้างหน้า เราจะไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ เราพรรษามากขึ้นไป คนเขาเห็นว่าพรรษามาก เขาก็จะเข้ามาหาเรา แล้วเขาก็จะมาถามธรรมวินัยกับเรา แล้วเราจะเอาอะไรไปต้อนรับเขา เราจะเอาอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ของเรา เราถึงจะต้องพยายามของเรา ต้องสู้กับเรา ต้องทำของเราให้เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา

สิ่งที่ทำอยู่ ชีวิตวันคืนล่วงไปๆ อย่าคิดว่าชีวิตมันจำเจ บางทีน้อยเนื้อต่ำใจ “เป็นพระเป็นเจ้าไม่มีใครดูแลเลย ทำไมครูบาอาจารย์ท่านมีคนดูแล”

ครูบาอาจารย์ท่านไม่เอา ครูบาอาจารย์ท่านอยู่ป่าอยู่เขามา เพราะอยู่ป่าอยู่เขามา ท่านต่อสู้กับกิเลสของท่านมา สิ่งที่มันมีปัจจัยเครื่องอาศัยมากเกินไป มันเป็นภาระ มันเป็นการที่ต้องบริหารจัดการ มันยุ่งวุ่นวายไปหมดแหละ แต่อยู่ป่าอยู่เขา เราพอดำรงชีวิตของเราได้ แล้วเราต่อสู้มา ชีวิตของท่าน ท่านดำรงอย่างนั้นมาก่อน แล้วถึงที่สุดแล้วมาเป็นหัวหน้า สิ่งที่เป็นไปก็เพื่อหมู่คณะ เพื่อสังคม เพื่อสงฆ์ เพื่อความเป็นไปไง

สิ่งที่เป็นธรรม ธรรมกับธรรมเข้ากันได้ดี ธรรมกับธรรม ผู้ให้ให้ด้วยธรรม ผู้รับไปแล้วเป็นธรรม มันปลอดโปร่งโล่งไปหมดเลย

ผู้ให้ด้วยความเป็นธรรม ผู้รับไม่เป็นธรรม มันไม่กี่หนหรอก มันเข้ากันไม่ได้ไง ในเมื่อน็อตมันปีนเกลียว เกลียวมันเข้ากันไม่ได้ มันปีนเกลียว ขันเข้าไปมันหวานหมดแหละ ถ้าเกลียวมันเข้ากันได้ มันไม่ปีนเกลียว ผู้ให้ให้ด้วยความเป็นธรรม ผู้รับก็เป็นธรรม สังคมก็เป็นธรรม หมู่คณะเราก็เป็นธรรม นี่ความเป็นธรรม

มันลิ้นกับฟัน ไม่มีหรอก ลิ้นกับฟันอยู่ในปากของเรา เวลาเคี้ยวอาหารมันยังเคี้ยวโดนลิ้นเลย การอยู่ด้วยกัน คนอยู่ด้วยกันมันก็ต้องมีกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา เราต้องปรับจูนเข้าหากัน เราต้องเข้าใจว่าเขาเป็นอย่างนั้น เราเป็นอย่างนี้ ที่ว่าด้วยความเสมอภาคตามธาตุตามขันธ์ คนต้องการมาก เขาต้องการมากก็ให้มากนิดหนึ่ง คนต้องการน้อยก็ใช้น้อยนิดหนึ่ง ไม่ต้องเท่ากัน เพราะคนเรามันไม่เหมือนกัน กระเพาะเล็ก กระเพาะใหญ่ ความปรารถนาของคนไม่เท่ากัน

แล้วถ้ามันได้ตามความพอใจ เรื่องความเป็นอยู่ พอใจอยู่อย่างนี้ ความสงบสงัด ความเรียบง่ายจากภายนอก มันจะทำให้การประพฤติปฏิบัติเรียบง่ายขึ้นไป เพราะอะไร เพราะมันพอใจ ใจมันมีความสุข ใจมันไม่ดิ้นรน เวลาประพฤติปฏิบัติมันก็ง่ายขึ้นมา

หมู่คณะให้ดูกัน เข้าใจกัน รักษากัน แล้วสังคมเราจะร่มเย็นเป็นสุข ร่มเย็นเป็นสุขจากภายนอก ข้างนอกมันร่มเย็นเป็นสุข แล้วข้างในมันก็จะร่มเย็นเป็นสุข แล้วการประพฤติปฏิบัติมันก็มีโอกาสขึ้นมา

ศากยบุตรพุทธชิโนรส ศาสนทายาท ธรรมวินัย เราเป็นพระ เราเป็นนักรบ ศาสนาฝากไว้กับเรา แล้วเราจะเป็นผู้นำเขาต่อไป พรรษาจะมากขึ้นมาเรื่อยๆ ต้องหาความรู้ หาข้อมูล ให้เข้าใจสังคม ให้เข้าใจสังคมจากภายใน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่คนเดียวไม่ได้ กิเลสมันหลอกลวงใจ หลอกลวงใจเป็นสังคมหนึ่ง ความคิดฟุ้งซ่านมาก เราบริหารข้างใน บริหารกิเลส จนชำระกิเลสออกไป สังคมเราต้องเข้าใจมัน ถ้าสังคมเขาไม่เข้าใจเรา มันก็เป็นกรรมของสัตว์ เพราะเวลาเราปรารถนาน้อยปรารถนามากยังไม่เท่ากัน แล้วความคิดของโลกจะให้เหมือนเรา มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้ เราทำสิ่งที่ดีแล้วในธรรมวินัย ถ้าเขาไม่ฟัง เขาไม่เชื่อ หรือเขาไม่เห็นด้วย นั่นเป็นกรรมของสัตว์ อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่าไปคิดว่าเขาไม่เห็นด้วยกับเรา เขาติเตียนเรา แล้วเราจะมาเจ็บปวดหัวใจ จะทุกข์จะยาก อย่าโง่นะ อย่าไปเอายาพิษมาไว้กับตัวเรา อย่าไปเอาสิ่งข้างนอกมาแบกหาม ทิ้งมันไป ไม่มีใครแบกโลกนี้ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเอาไม่ได้หมดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเล็งญาณ ต้องรื้อค้นแสวงหามา

ฉะนั้น ใครที่เขาไม่เห็นด้วย เขาจะติฉินนินทา เราก็ไม่อาฆาตมาดร้าย อย่าไปทำร้ายเขา อย่าไปคิดร้ายต่อเขา แต่ก็อย่าเอาเขามาหมกมุ่นในหัวใจ อย่าเอามาเป็นยาพิษในใจ อย่าโง่ อย่าเอายาพิษเข้ามาให้มันเจ็บแสบใจ อย่าโง่ อย่าโง่ ตั้งสติไว้ กรรมของสัตว์ มันเรื่องของเขา นี่มันเรื่องของเรา แล้วรักษาตัวเรา เอาตัวเรารอดให้ได้ แล้วเราจะเป็นผู้นำ เป็นที่พึ่งของเราได้ แล้วจะเป็นผู้นำ เป็นที่พึ่งของหมู่คณะ เราจะเป็นภิกษุ เราจะเป็นหลักเกณฑ์ในศาสนา เป็นศาสนทายาท เป็นธรรมวินัยในหัวใจของเรา เอวัง