เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ มี.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้าวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธ แม้แต่ปลูกศรัทธาให้มีคนเชื่อถือ มันก็เป็นของยากพอสมควร แล้วเวลาคนเชื่อถือเห็นไหม เมื่อวานตอนเช้ามา เขาบอกว่า เพื่อนๆ เขาบอกเลยล่ะ “การไปทำบุญมันจะเสียหาย ไม่ได้สิ่งใดๆ มาเลย”

ทำบุญเห็นไหม ทำบุญออกไป เราบอก “ใช่! ถ้าพูดทางวิทยาศาสตร์ การเสียสละ เราเป็นฝ่ายบกพร่องแน่นอน เพราะเราเป็นฝ่ายให้!” ฝ่ายให้เราเห็นทางวิทยาศาสตร์ เราจะโต้แย้งเขาไม่ได้ ว่าเราเสียสละไปนี่ ของเราจะหลุดจากมือเราไป มันเป็นเรื่องจริง พอบอกทำบุญนี่นะ มีแต่ความบกพร่อง มีแต่ความเสียหาย

เราบอกนี่ คนมองด้วยจิตหยาบๆ มันก็เห็นอย่างนี้ เพราะของวัตถุที่สละออกไปเราเห็นอยู่ แต่เขาไม่มองมุมกลับเลย มองมุมกลับว่า “สิ่งที่เสียสละออกไป หัวใจที่สูงกว่าของสิ่งนั้น” บุญกุศลคือนามธรรม คือความรู้สึก ความรู้สึกผู้ที่เสียสละเป็นผู้ให้นี่ แล้วเขามีความสุข มีความชื่นใจ จากสิ่งที่เราให้ไป ความยิ้มแย้มแจ่มใสอันนั้นน่ะเป็นบุญ

แต่ถ้าคนหยาบๆ เขาไม่มองตรงนั้น เขามองขั้นแรกไง มองแต่การที่หลุดออกจากมือเราไป แต่เขาไม่ได้มองถึงว่า พอรับแล้ว ความชุ่มชื่นของใจมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรเห็นไหม นี่ เวลามอง มองอย่างนั้น เขาบอกว่า ถ้าเขาพูดอย่างนั้นก็ถูกของเขา ถูกในมุมมองของเขา เพราะอะไร เพราะใจเขาหยาบ

แต่ถ้าใจเขาละเอียดขึ้นมาล่ะ ถ้าใจเขาละเอียดขึ้นมานี่ พอเราทำจนบ่อยครั้งเข้า แต่เราทุกคนจะมีความน้อยเนื้อต่ำใจใช่ไหม ว่าเราทำบุญกุศลอยู่ตลอดเวลา แต่บุญนั้นไม่ตอบสนองสักทีหนึ่ง

ไอ้บุญกุศล บุญนั้นมันมีกรรมเก่ากรรมใหม่ แล้วกรรมเก่ากรรมใหม่ กรรมเก่านี่เราเกิดเป็นมนุษย์นี่ก็ประเสริฐแล้วล่ะ แต่การเสียสละเข้าไป เพื่อประโยชน์ที่มากกว่านั้น นี่เขามองไม่เห็นไง เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เห็นไหม

ทีนี้ด้วยแรงปรารถนา เวลาปฏิบัติ เราก็อยากจะให้มันถูกต้องดีงาม นี่พอเราจะปฏิบัติ ต้องการให้มันเป็นความถูกต้องดีงาม ความถูกต้องของใคร...? ความถูกต้องของใคร...?

ฉะนั้นถ้าเขาพูดถึงการปฏิบัติ มันถูกต้องของใคร เพราะความถูกต้องมันอย่างหยาบเห็นไหม ทุกคนจะพูดตลอดเวลาว่า ถ้าเราทำสบายๆ สิ่งที่เราทำสบายๆ นั่น ทุกคนบอกว่าเราได้ผล เพราะจิตเราสบายขึ้น เราดีขึ้น

ดีขึ้น...มันเหมือนเราหาเจ้าทรงเห็นไหม เวลาคนเรามีความทุกข์ในหัวใจ ไปหาเจ้าทรงนี่ เจ้าบอกว่า “ลูกช้างหายแล้วนะ” เขาบ้วนน้ำลายใส่ทีเดียวเท่านั้น เฮ่อ... นี่ไง พอเราไม่มีที่พึ่ง พอเขาบอกว่า “นี่ลูกช้างหายแล้ว” เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ มันก็อารมณ์ชั่วคราวทั้งนั้นล่ะ มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกชั่วคราว มันไม่ใช่ความจริงขึ้นมาหรอก ถ้าเป็นความจริง เพราะอะไร เพราะเราเคยตั้งใจจงใจ เราพยายามของเรา ถ้าเราปล่อยวาง มันปล่อยวาง มันก็มีความสบายชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นล่ะ

คำว่าชั่วครั้งชั่วคราว เพราะอะไร เพราะมันไม่มีความกดดัน แต่ในการกระทำของเรา เพราะมันบอกว่าการประพฤติปฏิบัติมันมีความกดดัน มันมีความเคร่งเครียด จะเคร่งเครียดขนาดไหน มันก็เป็นความดีชอบ ความเพียรชอบ

ถ้าเป็นความเพียร เริ่มต้นจากความเพียร คนทำไม่เป็น มันก็ต้องมีความตั้งใจจงใจ แต่ถ้าคนมีความชำนาญแล้ว เขาไม่ต้องตั้งใจจงใจ เพราะเป็นความชำนาญของเขา เขาทำอย่างไรมันประสบความสำเร็จหมด เพราะความชำนาญ ความชำนาญนั้น มันทำให้หัวใจเราเข้าไปถึงความสงบได้ นี่ความชำนาญอันนี้ นี่โดยวิทยาศาสตร์นะ โดยข้อเท็จจริง

แต่ทีนี้คนเรามันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่ไง ไอ้กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา บางคนถ้ากิเลสมันทะยานอยากโดยไม่มีเหตุมีผลเห็นไหม

ดูสิ วุฒิภาวะของเด็ก เด็กบางคนยังมีเหตุมีผล เด็กบางคนไม่มีเหตุมีผล นี่เหมือนกัน ถ้าใจมันมีเหตุมีผล คำว่าใจมีเหตุมีผล เขามีข้อเปรียบเทียบไง แล้วเขาเปรียบเทียบเห็นไหม ถึงบอกว่า นี่สิ่งนี้เป็นอย่างไร ทุกคนต้องการความถูกต้อง ความดีงามทั้งนั้นล่ะ แต่ความดีงามของใคร...

ความดีงามของเด็กๆ ความดีงามของผู้ใหญ่ ความดีงามของผู้ที่ผ่านโลกมานาน ความดีงามอย่างนี้มันมีความละเอียดอ่อนขึ้นไป ในการประพฤติปฏิบัติมันยิ่งกว่านั้นอีก เพราะอะไร เพราะมันถึงที่สุด

การปฏิบัติทุกแขนงถึงที่สุดของมันคือสมถะ ทุกข์ถึงที่สุดของมันคือการปล่อยวาง ถ้าการปล่อยวางอย่างนี้ ในพระพุทธศาสนา การปล่อยวางอย่างนี้ ฤๅษีชีไพรเขาก็ทำได้ ฤๅษีชีไพรเขาทำถึงการปล่อยวางแล้ว นี่คือที่สุดการกระทำของเขาแล้ว

แต่ในพระพุทธศาสนา การทำความสงบของใจ เป็นแค่การพักผ่อน เป็นการแก้ความสงบของใจ ให้ใจมันมีพละ มีกำลัง มีความเป็นอิสรเสรีภาพ ในความคิดเป็นความคิดในสัจธรรม แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ในความคิดของเรานี่ มันไม่มีเสรีภาพ เพราะอะไร

เพราะมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรานี่มันบวกเข้ามา มีความต้องการ มีความจงใจ มีความตั้งใจ มีความปรารถนา นี้สิ้นสุดของความปรารถนาคือการปล่อยวาง สิ้นสุดของการกระทำมันเป็นสมถะทั้งหมด นี่สมถะมันก็มีสัมมากับมิจฉาอีก

ถ้ามีสัมมาขึ้นมา เรามีสมถะ เรามีความตั้งใจจงใจของเราแล้วนี่ มันมีความสงบของใจเราเข้ามา เรารู้อยู่เห็นไหม น้ำใสจะเห็นตัวปลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคติธรรม “น้ำใสต้องเห็นตัวปลา...จิตสงบแล้วต้องเห็นกิเลสไง” แต่เราว่า ...น้ำใสต้องเห็นตัวปลา...เราก็นอนกัน... รอให้น้ำใส ...ให้ปลาวิ่งมาชนเรา เห็นไหม...

นี่คติธรรม มันเป็นบุคลาธิษฐาน ที่เราจะพิจารณาของเรา แล้วเราจะปฏิบัติของเรามากขึ้นไปกว่านั้น แต่ถ้าบอก เราตีความด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราเห็นไหม น้ำใสจะเห็นตัวปลา ด้วยความสามัญสำนึกของเรา น้ำใสเห็นตัวปลา เราเห็นด้วยธรรมชาติ

ฉะนั้น ถ้าจิตเราสงบแล้ว กิเลสมันก็วิ่งมาหาเรา กิเลสมันจะวิ่งเข้ามาให้เราฆ่ามัน กิเลสที่วิ่งมาให้เราจัดการมัน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้!เพราะกิเลสมันฉลาดกว่าเรา พอน้ำใสปั๊บ มันก็แอบอยู่ในใสๆ นั่นน่ะ มันยิ่งทำให้มันแนบเนียนกว่าในน้ำใส หลบอยู่ พอสัมมาสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิแล้ว จะเห็นกิเลส กิเลสมันก็ทำตัวของมันเอง หลบเห็นไหม มันหลบไง

หลวงตาถึงบอกว่า “การขุดคุ้ยหากิเลสเป็นงานอย่างหนึ่ง การชำระกิเลส การฆ่ากิเลส เป็นงานอีกอย่างหนึ่ง” งานขุดคุ้ยหากิเลส พอจิตสงบแล้วพยายามหาความผิดพลาดของตัวเอง หาสิ่งใดที่หมักหมมในหัวใจ เราต้องหามันนะ ถ้าไม่หามัน เราจะเข้าข้างตัวเองตลอด แหม! ทำความดีขนาดนี้ ทำไมอาจารย์ยังเอ็ดอยู่นะ อู้ฮู! อยู่กับอาจารย์โน้น อาจารย์ไม่เคยชมเลย มีแต่เอ็ด! เอ็ด! เอ็ด! เอ็ดหมดเลย...จนน้อยเนื้อต่ำใจ

เหมือนกัน หลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นก็โดนอย่างนี้ เราอยู่กับหลวงตาก็โดนแบบนี้ ทำดีขนาดไหน ความดีอย่างนี้ เหมือนลูกเรา ลูกเราจบอนุบาล ก็อยากให้เรียนชั้นประถม พอมันจบประถมก็อยากให้มันขึ้นมัธยม...พอจบอนุบาลแล้วก็อยู่บ้านเถอะ! เลิกเถอะ! เราจบแล้ว เราเรียนจบแล้ว มันเป็นไปได้ไหมล่ะ มันเป็นไปไม่ได้!!

ความดีที่เราทำอยู่นี่ นี่ทำดี...ทำไมอาจารย์ท่านคอยเอ็ดคอยว่า...ไม่ได้เอ็ด! ท่านคอยบอกถึงความบกพร่องของเรา ท่านคอยบอกพยายามให้เราพัฒนาของเราขึ้นไป แต่กิเลสของเรานะ ว่าเอ็ด!! ว่าเอ็ด!!

ในเวลาหลักธรรม ใครพูดชี้ข้อบกพร่องของเรา ชี้ขุมทรัพย์ให้เรา เราเองยังเข้าข้างเราเองตลอดเลยว่า เราถูก เราถูกไปหมด นี่ตัณหาความทะยานอยากมันบอก “เราถูก...เราถูก...ไปหมดเลย” ครูบาอาจารย์ท่านก็เคยบอกว่า “เราถูก! เราถูก!” มาเหมือนกัน

นี่พอท่านบอก เราถูก! เราถูก! มานี่ ท่านใช้วุฒิภาวะของท่าน ใช้การพิสูจน์ว่าถูกจริงรึเปล่า ถ้าถูกแล้วมันต้องดีงามไปกว่านี้ ถ้าถูกแล้วมันต้องมีเหตุมีผลของมัน มันถูกอย่างนี้มันถูกแบบขี้ลอยน้ำ! ถูกแบบไม่มีเหตุผล ถูกแบบเข้าข้างตัวเอง ถูกแล้วเดี๋ยวก็ผิด ถูกแล้วก็มีนี่ เพราะมีปัญญาอย่างนี้ มันจะแยกแยะอย่างนี้ มันจะพัฒนาของมันขึ้นไป

แต่ถ้าเรามีวุฒิภาวะ เราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราถือนิสัยของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านจะบอกลูกศิษย์ประจำ “การเคลื่อน การเหยียด การคู้ ต้องมีสติสัมปชัญญะ ถ้าการเคลื่อน การเหยียด การคู้ ไม่มีสติสัมปชัญญะ การเดินไปเหม่อลอยนี่ มันเหมือนกับซากศพเดินได้” นี่ท่านคอยกระตุกเรา คอยพัฒนาเรา ให้จิตของเราย้อนกลับมาดูเรา

ถ้าเราไม่มีวุฒิภาวะที่เราจะหาความบกพร่องของเราได้ ครูบาอาจารย์ก็คอยชี้แนะเรา พอคอยชี้แนะเรานะ อู้ย...อยู่กับครูบาอาจารย์มา ทำดีท่านไม่เคยชมเลยนะ... “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” ชมมันเป็นขนมนมเนย มันกินเข้าไปแล้ว มันทำให้ร่างกายไม่มีประโยชน์อะไร

ยาขมสิมันเป็นประโยชน์ ยาขม มันทำให้เราพัฒนาของเรา ทำให้จิตร่างกายของเราสมบูรณ์เห็นไหม ยาขม! ท่านให้ยาเรานี่ ท่านจะให้ของหวานทำไม ของหวานมันมีอยู่ทั่วไป

แต่ยาขมเราไม่อยากกิน เพราะมันเป็นของเฝื่อน ของขม มันไม่มีรสชาตินะ มันไม่ทำให้เอร็ดอร่อยเห็นไหม แต่ท่านก็บอก “อันนี้ดี! อันนี้ดีนะ!” มันฝืนความรู้สึกเราไหม...? มันก็ฝืนความรู้สึกของเรา

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านเคยเห็นผลประโยชน์ของเขา เห็นผลประโยชน์ของยา ท่านเคยรักษาตัวของท่าน ท่านถึงคอยบอกเราเห็นไหม ทำความดีขนาดไหน ครูบาอาจารย์ก็ยังเอ็ดอยู่ ยังเอ็ดอยู่เพราะว่าอะไร เพราะมันยังไม่ถึงที่สุดไง แต่ถ้าถึงที่สุดเห็นไหม พอถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วนะ มันไม่มีอะไรจะสอนแล้วล่ะ

พอมันไม่มีอะไรจะสอน นั่นมันคือกิริยาเฉยๆ คำว่ากิริยาเฉยๆ คำว่ากิริยานี่ มันไม่มีความผิดพลาดหรอก เพราะอะไร เพราะไม่มีเจตนาความผิด ไม่มีเจตนา ไม่มีการทุจริต ไม่มีความคิดที่จะให้มันผิดพลาด แต่! แต่มันเป็นนิสัยอย่างนั้น มันเป็น!

ดูสิ กลอนพาไป...กลอนพาไป...ไม่ตั้งใจพูดผิดหรอก แต่กลอนมันพาไป ลิ้นมันพาไป ไม่มีความตั้งใจเห็นไหม ไม่มีความตั้งใจผิด แต่มันพูดผิดด้วยว่ากลอนมันพาไป ที่มันพาไปนี่ไม่มีเจตนา กิริยาก็เป็นอย่างนั้น กิริยาท่านเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น... ร่องน้ำ! ร่องน้ำ สันดอนมันเป็นอย่างนั้น น้ำมันผ่านมา ก็ต้องเป็นสภาวะแบบนั้น นี่จริตนิสัยไง

สิ่งที่ครูบาอาจารย์ละไม่ได้ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสด้วย ละจริตนิสัยด้วย ท่านเป็นชีวิตแบบอย่าง แม้แต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ลงมาเห็นไหม ละกิเลสได้! แต่ละจริตนิสัยไม่ได้!

จริตนิสัย การแสดงออกอย่างนั้น กิริยาแสดงออกอย่างนั้น มันถึงว่ามันมองแล้วเป็นธรรมะได้อย่างไร มันเป็นกิริยาเฉยๆ คนที่เข้าถึงแล้วถึงจะรู้

ดูนี่ก็เหมือนกัน คนนู้นก็มาถามอย่างนี้...ถามอย่างนี้ ดูกิริยาเราสิ มันน่าเชื่อถือไหมล่ะ โอ้โฮ... ดูสิ น่ะ! ออกมาอย่างกับพายุนี่ ธรรมะมันต้องร่มเย็นสิ ธรรมะมันต้องน่าเคารพศรัทธาสิ นี่ออกมาเป็นพายุทุกทีเลย แล้วนี่เป็นธรรมะได้อย่างไร ธรรมะมันสัมผัสได้นะ ความร่มเย็นน่ะ

ดูสิ เราไปหาหมอ พอไปหาหมอ “หมอ! เมื่อไรจะหาย...? กี่วันหาย...?” ไปหาหมอถามคำแรกเลย “หาย...ไม่หาย...หายอย่างไร” เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน เราเอาตัวยาตัวนั้นสิ เอากิริยา เอาความหมายอันนั้น ความที่ท่านเตือนเรานั้น แล้วมาเทียบเคียง มันจริงหรือเปล่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ใช้ปัญญาใคร่ครวญเห็นไหม นี่วุฒิภาวะ!

หลวงตาท่านพูดประจำนะ “ฟังคำผมเทศน์ไว้นะ แล้วถ้าพวกท่านปฏิบัติ เวลาผมตายไปแล้วน่ะ ท่านเข้ามาถึงจุดนี้จะมากราบศพผม” หลวงตาท่านพูดคำนี้กับลูกศิษย์ประจำ ท่านไม่เคยหวังเลยว่าจะให้คนเข้าใจสิ่งใด เพราะอะไร ถ้าปฏิบัติเข้าไม่เข้าถึงจุดนั้น จะไม่มีความรู้อย่างนั้นขึ้นมาได้เลย

ท่านถึงบอก แล้วมันก็เป็นกาลเวลาเห็นไหม กว่าจะปฏิบัติมา ท่านยังบอกเลย “จำคำพูดผมไว้นะ ถ้าใครประพฤติปฏิบัติถึงจุดนี้ เวลาผมตายไปแล้ว ถ้าใครมาถึงจุดนี้จะต้องมากราบศพ” กราบนามธรรม กราบสิ่งที่เขาเผาไปแล้ว ศพก็ต้องเผาทิ้งไง แล้วเราจะมากราบเพราะอะไร เพราะเรารู้ เราพัฒนาเข้าไปถึงจุดนั้น มันจะไปถึงอันนั้นเหมือนกันไง

ถ้าถึงอันนั้นเหมือนกัน ครูบาอาจารย์จะคอยว่า จะกราบแล้ว...กราบเล่า...กราบแล้ว...กราบเล่า...เห็นไหม เหมือนคนบ้าเลย! เพราะอะไร กราบเพราะความซึ้งใจอ่ะ! กราบเพราะว่าความซึ้งใจ กราบเพราะว่าเคารพบูชาไง!

เมื่อก่อนไม่เห็น...!!! เมื่อก่อนไม่เห็น…!!! เดี๋ยวนี้มันเห็นขึ้นมา ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ทำไมเมื่อก่อนโง่นัก!! โง่นักนะ!! เวลาถ้ามันรู้นะ...

ถ้ามันไม่รู้นะ...โอ้โฮ! อาจารย์นี่ด่าประจำเลย อาจารย์นี่ไม่รักเราเลยนะ โอ้โฮ! อาจารย์ไม่ดูแลเราเลยนะ โหย...เหมือนเด็กเลย...พ่อแม่ไม่รัก...เด็กคนไหนก็พ่อแม่ไม่รักทั้งนั้นล่ะ

นี่ความรู้ความเห็นเป็นอย่างนั้นนะ แต่ถ้าเราถึงแล้ว เราจะเข้าใจเห็นไหม ทุกคนปรารถนาความดี ปรารถนาความถูกต้อง เราก็ประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ความดีเป็นอย่างนั้น “ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก” เราจะเข้าใจได้ เราจะช่วยผู้อื่นได้ มันเป็นของที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีสิทธิเหมือนกัน เข้าถึงอันนั้นได้ เท่ากับว่าเป็นความจริง

ความจริงเป็นความจริงที่เป็นสันทิฏฐิโก ไม่ใช่ความจริงจำมา จำมาคือความจำ ความจริงเป็นความจริง ความจริงนี่จะประเสริฐที่สุด แล้วใจมันยอมรับความจริง กิเลสมันถือตามความจริง แล้วมันทนกับความจริงไม่ได้หรอก มันต้องยอมอันนั้น เห็นไหม

น้ำใสจะเห็นตัวปลา จิตสงบแล้ว เอาปลานั้น จับปลานั้นให้ได้ แล้วพิสูจน์มันว่า ปลาตัวนี้มันเป็นอย่างไร กิเลสนี้เป็นอย่างไร ถึงที่สุดแล้ว ปลานี้เราต้องสลัดทิ้งมันไป

...จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส...จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส...จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส...จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส...เอวัง