เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o มี.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ เราเป็นชาวพุทธ ถ้าเป็นชาวพุทธสมัยใหม่ก็ไปวัดวันเสาร์ วันอาทิตย์ ถ้าเป็นชาวพุทธนะ เขาไปวัดวันพระ วันพระเป็นวันของผู้ประเสริฐ เรามาทำบุญกุศล เราอยากได้บุญกุศล บุญกุศลเป็นที่พึ่งของเรานะ ถ้าใจเราไม่ละเอียดอ่อนพอนี่ เราก็จะไม่รู้จักว่าบุญกุศลเป็นอย่างไร เรามาวัดมาวา เราว่าวัดนี้สะอาด สิ่งที่สะอาด สิ่งที่เป็นข้อวัตรมันเป็นวัตรไง วัตรคือข้อวัตรปฏิบัติ วัตรไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง สิ่งปลูกสร้างเป็นวัตถุ วัดปฏิบัติ วัด ด. เด็ก นั่นเป็นวัด

แต่นี่ “วัตร” วัตรปฏิบัติ ถ้าวัตรปฏิบัติมันมีผู้ดูแลรักษา ถ้ามีผู้ดูแลรักษาเราเข้าไปในนั้นแล้ว เราต้องเคารพสถานที่นั้น ถ้าเราเคารพสถานที่นั้นที่นั่นจะเป็นวัด ถ้าเราไม่เคารพสถานที่นั้น เราไปด้วยความเคยชินของเรา อันนั้นเป็นโลก โลกเห็นไหม ดูสิ ธุรกิจบริการเขาจะบริการเราอย่างยอดเยี่ยมเลย แต่การบริการนั้นบริการอะไร บริการเพื่อเอาอกเอาใจกัน เอาอกเอาใจคือโลก

แต่ถ้าเป็นธรรมคือ เป็นการขัดเกลา เราจะขัดเกลากิเลสของเรา เราต้องควบคุมตัวเรา ถ้าเราควบคุมตัวเราเป็นบรรยากาศ ดูสิ เขาต้องการบรรยากาศที่ดีงาม บรรยากาศมันเกิดจากอะไร ดูสิ วัฏวน เห็นไหม โลกนี้เปลี่ยนแปลงไป บรรยากาศนี้เปลี่ยนแปลงไป ฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลงไป ถ้าฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง บรรยากาศมันเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าบรรยากาศ คนที่หัวใจเขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา เขารู้ฤดูกาลนะ เขาไม่เดือดร้อนไปกับฤดูกาลเลย ฤดูกาลก็คือฤดูกาลใช่ไหม เรารักษาใจเราใช่ไหม แต่ถ้าใจเราอ่อนแอ ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงเราก็ทุกข์นะ เราไม่พอใจสิ่งใดๆ เลย ดูสิ ทางยุโรปเขาเป็นเมืองหนาวนะ เขาต้องการแสงแดด เขาต้องการความอบอุ่น เราอยู่เมืองร้อน เราก็ยังต้องการหิมะ ต้องการความร่มเย็น นี่ มันเป็นฤดูกาล นี่คือบรรยากาศ

บรรยากาศได้มาอย่างไร บรรยากาศคือวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ วัฏฏะคือ ผลของบุญของกรรมเห็นไหม เพราะเรามีบุญมีกรรมขึ้นมาเราถึงไปเกิดในวัฏวนนั้น ในสภาวะมันเป็นบรรยากาศ

พระธุดงค์หรือครูบาอาจารย์เรา ดูสิ เราพูดทุกวันๆ อยู่อย่างนี้ ทุกคนฟังแล้วว่า ฮื่อ มันฟังแล้วมันสะเทือนใจ แต่คนฟังทุกวันๆ ก็ชินชานะ พูดจนชินปาก ฟังจนชินหู แต่ใจมันด้าน หัวใจไม่เปลี่ยนแปลง หัวใจเปลี่ยนแปลง หัวใจต้องแก้ไข ไม่ใช่พูดจนชินปาก โอ๊ย... พูดธรรมะสุดยอดเลย โอ๊ย... ธรรมะดีมากเลย ฟังจนชินหูเลย เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเลย แต่หัวใจไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีพฤติกรรมอะไรดีขึ้นมาเลย

ถ้าพฤติกรรมมันเปลี่ยนแปลงขึ้นมา สิ่งนั้นก็จะดีงามขึ้นมา มันดีงามที่หัวใจของเรานะ ถ้าหัวใจเราดีงามนะ มันจะมีคุณค่ามาก เราจะเคารพตัวเราเอง ถ้าเคารพตัวเราเองนะ เราจะเป็นปกติ “ศีลคือความปกติของใจ” แต่ถ้าไม่เคารพตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง มันจะไปจับผิดคนอื่น ดูคนอื่นไปหมดเลย โน่นก็ผิด นี่ก็ผิด เราถูกอยู่คนเดียว เพราะอะไร เพราะมันไม่เคารพตนเอง

ถ้าเคารพตนเองนะ เรามีจุดยืนของเรา เราจะเห็นหมดเลย เราก็รู้ว่าเราถูกหรือเราผิด เขาก็รู้ว่าถูกหรือผิด แต่มันเป็นหน้าที่ ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม เป็นหน้าที่ที่จะควบคุม ถ้าควบคุม เหมือนกรรมการควบคุม ถ้ากรรมการลำเอียง กรรมการไม่รู้จัก แต่ถ้ากรรมการไม่ลำเอียงนะ ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก

แต่มันน่าเห็นใจ เพราะอะไร ต้นไม้กว่าที่มันจะเจริญเติบโตขึ้นมา มันก็ต้องเป็นต้นไม้เล็กๆ ก่อน ต้นไม้อ่อนก่อน ผู้ที่มีศรัทธาเข้าวัดเข้าวา มันก็ต้องรู้จากการที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวไปก่อน ความไม่รู้เรื่องรู้ราวนี้ เราก็ต้องสังเกตว่าเขาทำกันอย่างไร เขาเป็นอย่างไร แล้วเราก็พยายามแก้ไขเรา ถ้าเราแก้ไขเรา นี่เคารพตนเองนะ มันกลับมาที่ไหนล่ะ มันก็กลับมาที่เราเห็นไหม นี่บรรยากาศ บรรยากาศมันเกิดจากบุญกุศลนะ

เราเกิดมาพบครูบาอาจารย์ของเรานะ อย่างเช่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นนะ ท่านรื้อค้นของท่านมานะ มันจะไม่ลงหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นหรอก เรานี่ เพราะอะไร เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเป็นคนรื้อค้นขึ้นมา พระจอมเกล้าฯ เป็นผู้ตั้งธรรมยุต สุดท้ายแล้วสมเด็จพระสมณะเจ้าต่างๆ เป็นผู้วางรากฐานการศึกษา แล้วครูบาอาจารย์ของเรา เจ้าคุณอุบาลี แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ออกประพฤติปฏิบัติ วางพื้นฐานในการศึกษา วางพื้นฐานทางทฤษฎีขึ้นมา เราก็ศึกษา เราก็มีความรู้กันทั้งนั้นนะ

แต่ความรู้นี้คือความรู้ของกิเลส ถึงจะเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นความรู้ของกิเลส เพราะเรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านเข้าป่าเข้าเขา เพื่อพยายามดัดแปลงของตน หลวงปู่เสาร์เข้าไปปฏิบัติขนาดไหนเห็นไหม นี่พระปัจเจกพุทธเจ้า บารมีของพระปัจเจกพุทธเจ้า หลวงปู่เสาร์ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เป็นสาวก สาวกะ เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ด้วยบารมีธรรมของท่าน

คำว่าพระปัจเจกนี่ท่านเล่าสืบๆ กันมา ลูกศิษย์ที่ฟังมา ลูกศิษย์ที่อุปัฏฐากมาเห็นไหม ท่านบอกท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พอปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็รื้อค้นในการประพฤติแบบเก่าขึ้นมา ความปรารถนามันมีวุฒิภาวะ จิตใจมีความเข้มแข็ง อยู่ในป่าในเขาก็พยายามรื้อค้น พยายามรักษา แล้วเวลาท่านบรรลุธรรม ท่านมีดวงตาเห็นธรรม ท่านสิ้นสุดแห่งทุกข์ไป ดูพฤติกรรม ดูอำนาจวาสนา ดูบารมีสิ

หลวงปู่เสาร์ท่านนั่งเฉย เวลาใครให้เทศน์ ท่านพูดนะ หลวงปู่เสาร์ท่านเทศน์ของท่าน นี้คำเทศน์ของหลวงปู่เสาร์นะ “ทำให้มันเห็น ให้มันดู มันยังไม่เอา แล้วจะไปสอนอะไรมัน” ทำชีวิตของท่านนะ ทำให้เห็น ทำให้ดูมาตลอด มันยังไม่เอา แล้วไปพูดสอนมัน ตัวอย่างที่เห็นๆ มันยังไม่เอา ปัญญาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านทำเป็นตัวอย่าง ท่านก็สอนโดยชีวิตของท่าน ท่านสอนโดยการกระทำของท่าน ท่านสอนในชีวิตของท่าน

หลวงปู่มั่นท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ท่านปรารถนาเป็นพุทธภูมิ เวลาท่านบรรลุธรรมขึ้นมา ท่านตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เวลาท่านสอนท่านคอยบอกเพราะอะไร เพราะบารมีธรรมแตกต่างกันมา อันนี้นี่ไง เคารพตนเอง ตนเองมีวุฒิภาวะ ตนเองมีจุดยืนมากขนาดไหน ตนเองจะเป็นประโยชน์กับสังคม ประโยชน์ตนให้ได้ก่อน

ประโยชน์ของเรา ต้นไม้ของเรา ต้องดูแลรักษาต้นไม้ของเราให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา ให้ออกดอกออกผล นกกามันจะมาอาศัย มันได้อาศัยร่มไม้จากต้นไม้นั้น มันได้กินผลจากต้นไม้นั้น มันมีอาหารจากต้นไม้นั้น มันได้อาศัย ถ้าคนๆ หนึ่งรู้จักตัว รู้จักตน รู้จักรักษาตัวเอง มันจะเป็นประโยชน์ไปหมดเลย เพราะถ้าต้นไม้มันโตขึ้นมา มันมีดอกมีผลของมัน นกกามันไม่อาศัยก็ไม่เป็นไร ต้นไม้มันก็ตกอยู่คาต้นนั้นนะ แล้วมันก็เกิดต้นใหม่ขึ้นมา

มันไม่จำเป็นว่า โอย... เรารักษาตัวเราได้ เราเป็นประโยชน์ตัวเราได้ เราต้องให้คนอื่นอาศัย เขาจะมาอาศัยหรือไม่อาศัยมันเรื่องของเขานะ ต้นไม้ไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง ต้นไม้เพียงแต่รักษาตัวต้นไม้ให้ดี รู้จักรักษาตนให้ดี ถ้ารักษาตนให้ดีแล้วต้นไม้มันจะออกดอกออกผลของมัน นกกาเขาจะอาศัยหรือไม่อาศัยมันเรื่องของเขา แต่ถ้านกกามันหิวกระหายของมัน มันจะไม่อาศัย มันจะโง่ขนาดนั้นก็เรื่องของเขา นี่เป็นสายบุญสายกรรมเห็นไหม บุญกรรมมันเป็นมาอย่างนั้น นี่คือผลของวัฏฏะนะ

ผลของบรรยากาศ นี่ขนาดแค่บรรยากาศนะ รักษาบรรยากาศมันเป็นสัปปายะ ๔ เห็นไหม อาจารย์เป็นสัปปายะ ครูผู้สอนเป็นสัปปายะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เป็นสัปปายะ ท่านสอนถูกต้องดีงาม อาจารย์เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ สิ่งที่เป็นสัปปายะ นี่บรรยากาศทั้งหมดเลย สิ่งที่เป็นบรรยากาศนี่สัปปายะ ๔ ที่พวกเราแสวงหากันเพื่อประพฤติปฏิบัติ นี่สัปปายะเฉยๆ นะ สัปปายะเฉยๆ ป่าเขามันก็สงบร่มเย็นดีไปหมดล่ะ แล้วใครไปใช้มันล่ะ

ถ้าพูดถึงสัจธรรมมันอยู่ที่หัวใจของเรา เราอาศัยสัปปายะขนาดไหน ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ สัตว์ป่านะมันอยู่ในป่าตั้งแต่เกิดจนมันตายนะ มันยังไม่เป็นพระอรหันต์เลย สัตว์ป่ามันก็ยังเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ในป่า

เรานี่เป็นพระ เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ถือธุดงควัตร ธุดงค์เพื่อเข้าป่าเข้าเขา เพราะคำว่าเข้าป่าเข้าเขา มันมีเหตุอันตราย มันมีสิ่งที่เผชิญภัยตลอดเวลา พอเผชิญภัยตลอดเวลานี่ เราจะต้องกลับมาดูแลชีวิตของเรา พอกลับมาดูแลชีวิตเรา กลับมาเคารพตนเอง กลับมาดูชีวิตเรานี่ มันจะไม่คิดเรื่องอื่นเลย

เราอยู่บ้านอยู่เรือนนะ โอ้โฮ... นู่นก็ไม่ดี นั่นก็ไม่ดี พรุ่งนี้จะไปเที่ยวที่นั่น พรุ่งนี้จะดู..นี่มันสุขสบายใช่ไหม พอเข้าป่าเข้าเขามันก็ไม่มีแบบนี้ให้เที่ยวหรอก เพราะอะไร เพราะเราเผชิญกับวิกฤต สัตว์ป่ามันก็จะทำร้ายเรา กลัวความมืด กลัวภูตผีปีศาจ มันก็จะทำร้ายเรา กลัวตนเองยังเหงาหงอย มันก็จะเหงาหงอย มันก็กลัว... นี่ไง เราเข้าป่าเข้าเขาไป ประโยชน์ของมันๆ บีบคั้นเรา

คนเราเห็นไหม น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย พอน้ำร้อนปลาเป็น พอเราเข้าไปเผชิญอย่างนั้นปั๊บ จิตมันจะเข้ามาหาตัวมันเองเลย มันจะไม่คิดแล้ว ถ้าไม่อยู่สุขสบายนะ จะไปเที่ยวที่นู้น จะไปดูที่นี่ มันนอนใจ มันไม่คิดสิ่งใดๆ พอเข้าเผชิญภัยปั๊บ มันย้อนกลับมาตัวมันเอง นี่น้ำร้อนปลาเป็น นี่อริยสัจเกิดที่นี่ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดที่นี่ แค่บรรยากาศเฉยๆ ประพฤติปฏิบัตินี้อีกเรื่องหนึ่ง อริยสัจก็อีกเรื่องหนึ่ง อริยสัจอยู่ในตัวเรา อริยสัจทำคุณงามความดีต้องดัดแปลงเรานะ ถ้าดัดแปลงเราได้ ทำเราได้นี่ อริยสัจเกิดที่นี่

ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนธรรม สัจธรรม นี่ไง ศาสนวัตถุเห็นไหม ไปวัดไปวานะ วัดจะสร้างสวยขนาดไหนก็ได้ โรงแรมเขาสร้างดีกว่านี้อีกสิ่งต่างๆ วัตถุเขาสร้างได้มหาศาลนะ สิ่งนั้นมันเป็นเครื่องอาศัยใช่ไหม เพราะมันศรัทธา ดูสิ วัดในสังคมไทยเรานี่ กษัตริย์ พวกที่เขาศรัทธา เขามีกำลังของเขา เขาสร้างของเขาด้วยความประณีตบรรจง พอประณีตบรรจงขึ้นมานี่ เขาสร้างขึ้นมาด้วยศรัทธาของเขานะ เขาได้บุญของเขาไปแล้วนะ เราก็ไปเช็ด ไปถู ไปดู ไปแลนะ

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติกรรมฐานของเรา เราอยู่โคนต้นไม้ เราไม่ต้องการรักษาวัตถุสิ่งใด เราต้องการรักษาใจของเรา ถ้ารักษาใจของเรา เราต้องการบรรยากาศ ต้องการความสงบสงัด พอบรรยากาศนั้น ฉะนั้นพอสงบสงัด เพราะเราพึ่งตนเองได้ เขาก็แสวงบุญ เขาก็จะหาบุญของเขา อันนั้นก็เป็นหน้าที่ของเขา เป็นสิทธิของเขา เป็นประโยชน์ของเขา

ผู้ที่เป็นผู้ดูแลรักษา เราก็ต้องดูแลของเรา เพื่อให้มันลงตัวว่าคฤหัสถ์เขามาวัด เขาทำบุญกุศลของเขา พระที่อยู่ในวัดในวานี่เขาต้องการความสงบของเขา เขาต้องการความสงัดของเขา เขาต้องการปฏิบัติของเขา แล้วผู้ที่เป็นผู้ดูแลรักษามันเป็นคนกลาง ก็ต้องควบคุมว่าประโยชน์ของคฤหัสถ์เขาก็ได้ ประโยชน์ของพระก็ต้องได้ ประโยชน์ของผู้ที่มาปฏิบัติก็ต้องได้ แล้วต้องได้ แล้วทุกคนไม่มีมุมมองว่าต้องการปรารถนาสิ่งเดียวกันเลย มุมมองความปรารถนาคนละอย่างทั้งนั้นเลย อย่างหนึ่งก็ต้องการความสุขสบาย ต้องการความสะดวก ต้องการบุญกุศล อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องการความสงบสงัด

แต่คนเรานะมันต้องอาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอก วางธรรมและวินัยไว้ ภิกษุให้บิณฑบาตเป็นวัตร ให้เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง นี่คฤหัสถ์ เช้าขึ้นมาให้ทำบุญ ให้สวดมนต์ไหว้พระ ภาวนา เช้าขึ้นมาให้ตักบาตร นี่เป็นบุญกุศลของตัวเอง ตักบาตรนั่นเป็นของๆ ตัวนะ

ไฟไหม้เรือนขนทรัพย์สมบัติออกจากเรือนได้เท่าไร เป็นสมบัติของเราเท่านั้น การตักบาตร ทำบุญกุศล เราเสียสละทรัพย์ไปมากขนาดไหน นั่นคือสมบัติของเราทั้งนั้น ถ้าเราเก็บรักษาของเราไว้ อยู่ในเรือนเวลาไหม้ก็ไหม้ทั้งหมดไปทั้งบ้านทั้งเรือนนั้น สมบัติเก็บไว้กับเรา เวลาตายมันก็ตายไปกับเรา ตายแล้วได้อะไร สมบัติก็กองอยู่ที่โลกนี้ ตัวเราเองได้อะไร

พระพุทธเจ้าวางไว้ถูกต้องหมดนะ มันเป็นสิทธิ มันเป็นผลประโยชน์ของเขา แต่พระปฏิบัติขึ้นมานี่เขาต้องการอริยสัจ เขาต้องการบรรยากาศอย่างนั้นเพื่อจะภาวนาขึ้นมา ให้ประโยชน์ขึ้นมา แล้วผู้นำคือ เจ้าอาวาส ผู้นำผู้ที่ได้รักษานี่ ก็ต้องดูแลรักษาให้ได้ประโยชน์กับทุกๆ คน ให้ได้ทุกๆ คน มันก็เลยเป็นคนกลาง คนกลางก็เลยเป็นคนไม่ดีนะ

คฤหัสถ์ก็ว่า “อาจารย์ดุ ไม่ดีเลย”

ไอ้พระก็บอกว่า”อันนั้นดูไม่ดีเลย”

ไอ้คนที่มันมาภาวนาก็ว่า “โอ่ อาจารย์ก็ไม่ดีเลย”

คนกลางไม่มีดีเลย ทุกคนติหมดเลย เพราะไปควบคุมดูแลรักษา ดูแลรักษาเพื่อศาสนานะ เพื่อศาสนทายาท สร้างผู้จรรโลงศาสนากันต่อไป ทีนี้การจรรโลงศาสนากันต่อไปข้างหน้า บุญกุศลก็เกิดขึ้นมา ศรัทธาก็มีการศึกษา ศึกษาก็มีความรู้ แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันก็จะเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายใน มันจะเกิดจากเรา แล้วเราจะมีทรัพย์ภายใน

วันนี้วันพระ วันที่ประเสริฐ ถ้าประเสริฐขึ้นมาเราจะเป็นผู้เสียสละ เราให้อภัยกันทุกๆ อย่าง ให้อภัยกันเพราะว่าผู้มาใหม่ก็มีความเห็นใหม่ ผู้มาใหม่ก็ไม่เข้าใจว่าผู้มาเก่าโดนอย่างนี้มาเยอะแล้ว เขาถึงพยายามควบคุมตัวเอง ต้องโดนบอกโดนเตือนนะ การเตือนคือการชี้ขุมทรัพย์ การชี้ข้อบกพร่องของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ แล้วเราพัฒนาตัวเรา เพื่อให้ถึงตัวเรา นี่เป็นเรื่องของศาสนา วันนี้วันพระ วันผู้ประเสริฐ ใจจะประเสริฐ แล้วจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง