เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o ธ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเป็นชาวพุทธนะ เวลาชาวพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอะไรมีเหตุมีผลนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “ทางของภิกษุกว้างขวางมาก” ทางของภิกษุนี่ ภิกษุเป็นนักรบ “ทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ” ทางของคฤหัสถ์ไง

เราก็ว่าทางคับแคบนี่ พระพุทธเจ้าพูดเพราะเหตุใด? ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องธรรมะ เราก็จะมองไม่เห็นหรอก แต่ถ้าเข้าใจเรื่องธรรมะนะ เพราะอะไร? เพราะเวลาบวชเป็นพระนี่มันเป็นนักรบ นักรบรบกับใคร? รบกับตัวเอง รบกับความรู้สึก รบกับกิเลส รบกับความดีดดิ้นของใจ

เวลาเรานักรบนี่ เวลามีโอกาสคือว่าตั้งแต่บิณฑบาตมา ๒๔ ชั่วโมงเป็นเวลาของการประพฤติปฏิบัติทั้งหมดเลย แต่ทางของฆราวาส ทางของคฤหัสถ์มันมีอาชีพ มันมีหน้าที่รับผิดชอบ เราต้องใช้ปัญญา ใช้ความคิดเรารับผิดชอบในหน้าที่ของเราไปแล้วส่วนหนึ่ง แล้วถ้ามีโอกาสนะ อย่างเช่นกลางคืนเราจะทำวัตร เราจะภาวนา นี่คับแคบตรงนี้ไง คับแคบเพราะโอกาสเราน้อย เพราะเรามีความรับผิดชอบ

แล้วทำไมเราไม่บวชเป็นพระล่ะ? ทำไมเราไม่ออกประพฤติปฏิบัติล่ะ?

ก็คิดว่าตัวเองจะไปไม่ได้ เห็นไหม ทางโลกเราบอกกันเลยนะ “คนด้อยโอกาส” แล้วคนอ่อนแอ นี่ทางโลกคนด้อยโอกาส แต่ถ้าคนเข้มแข็งล่ะ? คนด้อยโอกาส เขาก็มีโอกาสของเขา เขาก็มีความสำเร็จ เขาประสบความสำเร็จในชีวิตของเขา เขาก็ทำได้ ถ้าเขามีความเข้มแข็ง เขามีการต่อสู้ คนด้อยโอกาสแล้วคนไม่กระทำเลย คนนั้นเป็นคนที่ไม่มีโอกาส คนนั้นจะใช้ชีวิตทุกข์ยากไปตลอดชีวิต คนด้อยโอกาสแต่มีความมานะอดทน มีความเข้มแข็งขึ้นมา คนด้อยโอกาสนั้นก็มีโอกาสจะได้ลืมตาอ้าปากในสังคม นี่คนด้อยโอกาสทางโลกนะ

เราก็คิดถึงชีวิตเราสิ โยมนี่เป็นคนด้อยโอกาส เป็นคนที่ทางคับแคบเพราะมันไม่มีโอกาส ดูสิ ปีใหม่หาโอกาสจะไปวัดไปวากัน ไปวัดไปวาเพื่ออะไร? ไปวัดไปวาเพื่อวัดใจเรา วัดหัวใจนี้ หัวใจนี่มันทุกข์มันยาก วัดมันว่ามันมีความสุขความทุกข์ขนาดไหน

เวลาเราทางโลก ทางของคฤหัสถ์เขา เวลาวันหยุดวันนักขัตฤกษ์ เขาจะไปเที่ยว ไปพักผ่อนกัน ไปพักผ่อนมันเป็นเรื่องของอายตนะ เรื่องของความกระทบ เรื่องของความสัมผัสของเปลือก มันไม่ใช่เรื่องความกระทบของใจ ถ้าจิตสงบเข้ามา ย้อนจากอายตนะเข้ามา เราไปเที่ยวชายทะเลกัน เราไปเที่ยวภูเขากัน เราไปเที่ยวแหล่งที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เราไปเห็นสิ่งแปลก ๆ กระทบอายตนะอะไร? กระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าความสงบของใจ เราเป็นชาวพุทธ จิตมันสัมผัสกับความสงบของใจ สุขนี้หาได้ในหัวใจของเรา

ถ้ามีโอกาสอย่างนี้ เขาบอกคนที่จะไปวัดไปวา ไปวัดใจของตัวเอง เหมือนกับว่าใครไปวัดไปวานี่คนที่มีปัญหานะ เขาคิดผิดนะ เขาคิดว่าคนที่รู้จักสำนึกตัว มันไม่ใช่คนด้อยโอกาส ...คนมีโอกาส เขาหาโอกาสกับชีวิตของเขา

คนที่ด้อยโอกาสแล้วอ่อนแอ อ่อนแอกับอะไร? อ่อนแอกับกิเลส อ่อนแอกับความรู้สึกของตัว ความรู้สึกของตัวมันชักนำออกไป เห็นไหม อยากจะไปพักผ่อน อยากจะไปเที่ยว อยากจะไปเที่ยวเมืองนอกจะไปอะไร มันดึงไป นี่มันอ่อนแอ ด้อยโอกาสด้วยแล้วอ่อนแอด้วย โดนกิเลสชักนำไป

ถ้าด้อยโอกาส มีความเข้มแข็ง ดูสิ คนจะไปวัดไปวานี่แสนยากนะ เพราะอะไร? ไปวัดไปวามันจืดชืด ไม่ทำอะไรเลย ไปอยู่เฉย ๆ มันได้อะไรขึ้นมา? ก็คำว่า “อยู่เฉย ๆ” น่ะตัวเองไม่รู้จักหาอาหารไง หาความสงบของใจ

“ธรรมรส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

ฟังสิ! รสของธรรมชนะรสทั้งปวง รสของโลก ๆ ที่เขาไปแสวงหากัน สู้รสของธรรมไม่ได้เลย ถ้าสู้รสของธรรมได้ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสละสถานะของกษัตริย์มา? สละทุก ๆ อย่างมาเลย สละมาเพื่ออะไร? ก็สละมาเพื่อโพธิญาณ โพธิญาณอยู่ที่ไหน?

กษัตริย์สมัยพุทธกาลนะ ออกบวชมหาศาลเลย เวลาบวชออกมาแล้วประพฤติปฏิบัติ สงฆ์นะ เพราะกษัตริย์ออกมาบวชแล้วประพฤติปฏิบัติได้ผลก็ได้ ไม่ได้ผลก็ได้ เวลาได้ผล เห็นไหม อยู่โคนไม้นี่ “สุขหนอ สุขหนอ สุขหนอ” จนพระด้วยกันเขาคิดว่าพระกษัตริย์องค์นี้คิดถึงราชวัง คิดถึงว่าโอกาสที่เขามีความสุขไง จึงไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “กษัตริย์นี่คิดถึงอดีต”

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกโลกใน รู้ว่านี่พระอรหันต์ เป็นกษัตริย์ด้วย แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติสำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วย เลยเรียกมาไต่สวนต่อหน้าพระด้วยกันทั้งหมดว่า

“เธอพูดอย่างนั้นจริงเหรอ?”

“จริงครับ!”

สุขหนอ ๆ ๆ นี่อยู่โคนไม้สุข โลกเขามอง คนอยู่ราชวัง อยู่ในที่นอนอันนุ่มขนาดนั้น มันจะมีความสุขขนาดไหน แล้วมานอนโคนไม้มีความสุขได้อย่างไร?

ท่านบอก “มีความสุขจริง ๆ เพราะสมัยที่เป็นกษัตริย์นะ นอนอยู่นี่สะดุ้ง ขนาดนอนสุขขนาดไหน ทุกคนก็ต้องการแย่งชิงอำนาจ ไม่มีความสุขเลย เป็นกษัตริย์ไม่มีความสุขเลย อยู่โดยความหวาดระแวง อยู่ด้วยความทุกข์ตลอดเวลา แต่พอประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว อยู่โคนไม้ อยู่กับสิ่งที่เป็นธรรมชาตินี่มีความสุขมาก”

เพราะอะไร? เพราะคนคิดดูสิ คนทุกข์ใจ คนหวาดระแวง คนที่แบกรับภาระแล้วคนที่ปล่อยวางทั้งหมด คนที่ไม่มีอะไรในหัวใจเลย จะมีความสุขไหม? สุขจริง ๆ สุขจริง ๆ แต่ว่ามันต้องคนมีอำนาจวาสนา คนมีโอกาสด้วย แล้วคนเข้มแข็งด้วย มันจะหาธรรมรสไง “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” นี่มันหาได้

แต่ถ้าเราอ่อนแอกับใจเราเอง เริ่มต้นอ่อนแอกับใจเราเอง อย่าไปมองโลกเลย โลก เรื่องของโลก เรื่องของกระแสสังคม เรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ ประชาสัมพันธ์ เรื่องหลอกกันอย่างนั้น เรื่องของโลก ๆ เขา ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เขาหลอกเราไม่ได้หรอก เขาจะโฆษณากรอกหูขนาดไหน เราก็ไม่เชื่อเขา

แต่เพราะเราอ่อนแอเอง เราไปอ่อนแอเอง เรากลวงเอง ไส้ในกลวงเอง ไม่มีจุดยืนเอง พออะไรผ่านตามาก็เชื่อเขาหมด ๆ พอเชื่อเขาก็ไปกับเขา แล้วก็ว่าโลกเป็นอย่างนั้น โลกเป็นอย่างนั้น เราไปโทษแต่โลก ๆ ไม่โทษความอ่อนแอของใจ ไม่โทษถึงใจของเรา ถ้าใจเราเข้มแข็งขึ้นมา ใครจะมาหลอกเราได้ แล้วเข้มแข็งที่ไหน? เข้มแข้งก็มีจุดยืนนี่ไง เราเป็นชาวพุทธ พุทธที่ไหน?

“กาลามสูตร” ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูด ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์พูด ไม่ให้เชื่ออะไรทั้งสิ้นเลย ให้เชื่อประสบการณ์ตรงของเรา ให้เชื่อแต่ความสุขของเรา ให้เชื่อเราจริง ๆ ถ้าเราทำของเราได้นะ แต่เริ่มต้นถ้าไม่เชื่อ ไม่เชื่อทำอะไรเลยล่ะ

ถ้าอย่างนั้น เหมือนกับชาวพุทธเวลาเราสอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง ทุกคนก็บอกปล่อยวางแล้ว ทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นี่ทำตามกิเลส ปล่อยวางก็เป็นแต่ขอนซุงเหรอ? ปล่อยวางแบบขี้ลอยน้ำเหรอ? ปล่อยวางจนไม่มีอะไรเลยเหรอ?

พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง แต่ไม่ใช่ปล่อยวางแบบไม่รู้เรื่อง สอนว่าให้ปล่อยวางแบบรู้เรื่อง อย่างเช่น พวกเราทำมาหากินนี่เป็นเศรษฐี-มหาเศรษฐี แล้วสละออกไป ดูสิ พระกัสสปะนี่ แจกสมบัติอยู่ ๗ วัน ๗ คืนแจกจนหมดนะ หลวงปู่พรหมเรานี่ สมัยปัจจุบันนี้ หลวงปู่พรหมก็แจก แจกจนหมดเลยกว่าจะออกบวช เห็นไหม เป็นเศรษฐีแล้วสละมันออกไป ไม่ใช่เป็นยาจกเข็ญใจ ฉันไม่มี ฉันจะสละตัวเลข เขียนตัวเลขขึ้นมาสละออกไป มันเป็นไปไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ฉันปล่อยวาง ๆ ปล่อยวางอะไร? ปล่อยวางอะไร? ปล่อยวางคือมันกดไว้ มันหลอกตัวเอง แต่ถ้ามันปล่อยวาง มันต้องรู้แจ้งอริยสัจถึงการปล่อยวางอันนั้น ถ้ารู้แจ้งถึงอริยสัจการปล่อยวาง มันต้องปล่อยวางแบบเศรษฐีสิ นี่ก็เหมือนกัน ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง ปล่อยวางก็ปล่อยวางกันไปเลยจนไม่อะไร

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นการประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีหลักมีเกณฑ์ของมันขึ้นมา ต้องมีหลักมีเกณฑ์นะ ต้องมีจุดยืนของใจ ต้องใจเป็นผู้ทำงาน ไม่ใช่ให้สัญญา ให้เงาเป็นคนทำงาน เงาทำงานนะ เวลาปล่อยวางแบบโลก ๆ ที่ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง เราก็ปล่อยวางกันแล้ว ความคิดอย่างนี้ความคิดกิเลส มันเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอ้างอิง แล้วมันก็หลอกเรา

ถ้าใจอ่อนแอนะ มันจะหาแต่สิ่งที่ทำให้เราเป็นโทษ การประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีจุดยืนของเรา ถ้าเราเป็นชาวพุทธ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่ออะไรเลย แต่เชื่อ! เชื่อศรัทธา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึกก่อน มันต้องมีจุดยืนก่อน

เราเกิดเป็นเด็กขึ้นมา เราดูลูกเราสิ เรามีลูกขึ้นมา ถ้าเราไม่เลี้ยงมัน ลูกจะโตขึ้นมาได้ไหม? ลูกนี่เอาตัวเองรอดเองไม่ได้เลย ลูกต้องอาศัยพ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดูขึ้นมา พอเข้มแข็งขึ้นมา โตขึ้นมาแล้วจะเป็นผู้ที่หาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ทีหลัง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปก่อน เชื่อไปก่อน พอเชื่อมันก็ชักให้เรามีการกระทำไง ถ้าไม่เชื่ออะไรเลยมันก็ทำอะไรไม่ได้ใช่ไหม?

ไม่เชื่อแล้วอ้างอิงด้วยนะ ให้ปล่อยวางก็ปล่อยวางแล้ว ๆ ปล่อยวางในอะไร? ปล่อยวางโดยไม่รู้อะไรเลย ปล่อยวางแบบเด็ก ๆ พอมันโตขึ้นมามันก็โต้แย้งพ่อแม่มัน ไม่ทำอะไรเลย พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง โรงเรียนก็ไม่ไป ความชอบก็ไม่ทำ ปล่อยวางอย่างนี้ใช้ได้ไหม?

แต่ถ้ามันปล่อยวางแบบทำเสร็จหมดแล้ว ทำหน้าที่ดีกว่าพ่อแม่ด้วย พ่อแม่ทำแล้วยังทิ้งไว้เป็นภาระ ลูกนี่ทำให้สำเร็จหมดเลย แล้วทำเรียบร้อยหมดแล้ว แล้วปล่อยวาง ไม่ติด ลูกไม่ติดด้วย ไม่ติดกับสิ่งต่าง ๆ สภาวะแบบนั้น นี่ปล่อยวางแบบนี้ ปล่อยวางแบบรู้แจ้ง ปล่อยวางแบบมีหลักการ

ถ้าการปล่อยวางแบบนี้มันต้องศึกษา บอกถ้าไม่เชื่ออะไรเลย ใช่.. ไม่เชื่อที่กิเลสมันหลอก แต่ต้องเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอะไร? เพราะสาวกะ สาวกผู้ที่ได้ยินได้ฟังมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะตรัสรู้เองโดยชอบ โดยชอบนะ!

แต่ในปัจจุบันนี้ แม้แต่มีครูบาอาจารย์อยู่แล้ว มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันยังตรัสรู้โดยไม่ชอบเลย ไม่ชอบคือการสร้างภาพ เห็นไหม ตาบอดคลำช้าง ธรรมะเป็นอย่างนั้น ธรรมะเป็นอย่างนั้น.. ตาบอดแล้วคลำกันไปอย่างนั้น ว่าธรรมะเป็นอย่างนั้น ทำอย่างนั้นไปตลอดเลย แต่ถ้าเป็นตามความจริงนะ ไม่คลำใด ๆ ทั้งสิ้น รู้จริงเห็นจริงในหัวใจของตัวเอง

ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา เราต้องเข้มแข็งขึ้นมา เราเข้มแข็งนะ เข้มแข็งจากใจของเรา อย่าอ่อนแอ เรามองโลกสิ คนด้อยโอกาสแล้วอ่อนแอ เราก็บอกคนนี้ด้อยโอกาส เขาสร้างกรรมมา เขาไม่มีโอกาส เราเป็นคนที่เข้มแข็ง เรามีโอกาสของเรา แล้วมีโอกาสแล้วทำไมไม่ทำ? มันสลดนะ เพราะเราอยู่ในวงการพระกรรมฐาน

ดูสิ ดูอย่างพวกทางยุโรปเขา พอเขาศรัทธาขึ้นมา เขาเข้มแข็งกว่าเรานะ เขาต้องแสวงหากว่าเรา เขาต้องทิ้งวัฒนธรรมของเขา แล้วมาประพฤติปฏิบัติในวัฒนธรรมของชาวพุทธ นี่มันต่างวัฒนธรรมเขายังทำของเขาได้เลย เราอยู่ในวัฒนธรรมนี้ แล้วเราอยู่ในศาสนาพุทธ แล้วเราอ่อนแอไหม? เราไม่เอา เราไม่สนใจของเราเลย นี่เราอ่อนแอ ใจเราอ่อนแอนะ

ศาสนาเหมือนดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ขึ้นมานี่ ดวงอาทิตย์ให้โทษให้ผลกับใคร? ดวงอาทิตย์ขึ้นมา ประโยชน์นะ ถ้าไม่มีแสงสว่าง ไม่มีความอบอุ่นนะ เรานี่หนาวตายห่าเลย โลกนี่หนาวตายหมด ศาสนาก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่เหมือนดวงอาทิตย์เลย แล้วใครสนใจจะรับจะแสวงหา จะดึงสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเราอยู่ใต้ดวงอาทิตย์ แต่เราไม่สนใจสิ่งใด ๆ เลย

ดูสิ ดูต่างวัฒนธรรม เขายังอุตส่าห์แสวงหา เขามาแสวงหาแล้วมาประพฤติปฏิบัติ นี่มันคิดนะ เราคิดแล้วมันต้องย้อนกลับมาให้เรามีความเข้มแข็ง ให้จิตใจเรามันรู้จักเลือก รู้จักมีจุดยืน อย่าโลเล อย่าเป็นชาวพุทธแต่เปลือก ชาวพุทธที่ทะเบียนบ้าน ไม่รู้จักชาวพุทธ ถามเด็กสิ ศีล ๕ คืออะไร? ศีล ๕ ยังไม่รู้เรื่อง แล้วทำอะไรทำตามใจชอบนี้ไม่เป็นกรรม

ไม่เป็นกรรมได้อย่างไรในเมื่อมึงเกิดมาจากพ่อจากแม่? ในเมื่อมึงไม่ใช่เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ มึงเกิดมาจากพ่อจากแม่ ทำอะไรกระเทือนหัวใจทุกคน มันก็มีกรรมทั้งนั้นน่ะ แล้วบอกไม่มีกรรม พระพุทธเจ้าให้ปล่อยวาง อ้างอิงนะทางวิทยาศาสตร์นี่ อ้างอิงว่าปล่อยวาง ปล่อยวางคือแบบกำปั้นทุบดินไป ปล่อยวางแบบไม่มีเหตุมีผล

ถ้าปล่อยวางมีเหตุมีผล มันจะมีเหตุมีผลของมัน มันจะย้อนกลับเข้ามาของเรา มันต้องปล่อยวางอย่างนี้สิ ปล่อยวางแบบเศรษฐี-มหาเศรษฐีแล้วปล่อยวาง ไม่ใช่ปล่อยวางแบบไม่รู้อะไรแล้วปล่อยวาง เห็นไหม กิเลสมันอ้างธรรม

อ่อนแอตั้งแต่ตัวเองเหยียบย่ำตัวเราเองนะ แล้วก็เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเชือดโอกาสของเรา เชือดชีวิตของเรา ทำให้เราไม่มีโอกาสได้พบประสบความจริง แล้วเราไม่รู้จักว่าธรรมรสเป็นอย่างไรไง เราจะบอกนี่รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง เป็นอย่างไร? เป็นอย่างไร?

รสของเราคือ รูป รส กลิ่น เสียง นี่ชอบกันอย่างนั้นน่ะ มันรสของเงา เพราะอะไร? เพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันเป็นอาการของใจ เห็นไหม ตา หู จมูก ลิ้นนี่สิ่งใดกระทบกระเทือนถึงใจ มันเป็นรสของสิ่งกระทบไม่ใช่รสของใจ มันรสของข้างนอก แล้วเราก็ไปติดรสอันนั้น

แต่ถ้ารสความจริง รสความสงบ เห็นไหม วิมุตติสุขนี่มันมหาศาลเลย รสอันนี้ต่างหากชนะทั้งหมด มันถึงปล่อยวางเขาได้หมด ปล่อยมาจากสิ่งต่าง ๆ มาเป็นอิสระแก่ตัวเอง แล้วมันอยู่ที่ไหน? ก็มันอยู่ที่ใจเรานี่ แต่เพราะใจเราโดนกิเลสครอบงำ แล้วเราก็แสวงหากันอยู่นี่ เราไม่เข้าใจสัจจะความจริง เราก็เป็นเหยื่อ เวลามีวันหยุดวันว่างก็ไปกับเขาหมดเลย

แต่ถ้ามันมีวันหยุดวันว่าง เราอุตส่าห์มา เห็นไหม ๒๔ ชั่วโมงก็เวลาเท่ากัน เขาสนุกเพลิดเพลินของเขา แต่ถ้าเราทำของเราได้นะ ๒๔ ชั่วโมงถ้าทำความสงบของใจได้นะ เรามาปฏิบัติด้วยกัน คนหนึ่งทำแล้วประสบความสำเร็จ คือว่าสงบเข้ามา มันก็จะมีรสชาติ อีกคนหนึ่งทำแล้วก็ได้แต่บารมีธรรม บารมีเกิดมา เราลงทุนลงแรง เหมือนนักกีฬาฝึกซ้อมด้วยกัน คนหนึ่งฝึกซ้อมแล้วแข่งขันได้ชนะ อีกคนฝึกซ้อมขึ้นมาก็ได้กำลังของเราขึ้นมา เราไม่ได้แข่งขันกับใคร เราก็ได้ร่างกายเข้มแข็ง เรามีทักษะของเราขึ้นมา

การประพฤติปฏิบัติก็ต้องทำสภาวะแบบนี้ เราเกิดทักษะขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์กับเรา มันเป็นประสบการณ์ของใจ ใจได้ประสบ ใจได้สัมผัส อันนี้มันเป็นประสบการณ์ตรงของการประพฤติปฏิบัติทั้งหมด เราได้แล้ว ได้ตรงนี้ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องน้อยใจ สิ่งนี้ต่าง ๆ การน้อยใจ การเสียใจมันเป็นนิวรณ์ แล้วทำให้เราอ่อนแอ

เราจะเข้มแข็งขึ้นมา เข้มแข็งจากจุดยืนของเรา เข้มแข็งในหัวใจของเรา ครูบาอาจารย์เอาไม้ค้ำไว้แล้วเลยนะ แล้วก็ค้ำไว้ ถ้าเราอ่อนแอก็เอาไม่อยู่นะ ถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมา ครูบาอาจารย์แค่จะเตือนนี่ เราจะมีสติขึ้นมาทันที แล้วเราจะเข้มแข็งขึ้นมา ให้หาโอกาสให้ตัวเอง แล้วอย่าอ่อนแอ เข้มแข็งกับเรา ตั้งสติขึ้นมา แล้วเราจะเป็นที่พึ่งของเราเองได้

ธรรมะคือการพึ่งตัวเองได้ แล้วธรรมะอันนี้จะเป็นจุดยืนของเรา เห็นไหม ดวงตาของโลก ดวงตาของโลกจากภายใน โลกที่มันโง่นี่ให้มันฉลาดขึ้นมา แล้วจะดวงตาที่สอนสังคมได้อีกต่างหาก นี่ดวงตาของโลก โลกคือโลกทัศน์ในหัวใจ กับโลกสังคมหมู่สัตว์ เกิดจากหัวใจของเรา เกิดจากย้อนทวนกระแสเข้ามาถึงหัวใจของเรา เอวัง