เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ ธ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราทำอะไรขึ้นมา เราก็อยากให้ของมีประโยชน์ใช่ไหม? อาหารเราจะกินนี่ เราต้องกินอาหารที่มีคุณภาพเลย อาหารที่ไม่มีคุณภาพกินเข้าไปแล้วมันทำให้ร่างกายเราเป็นพิษด้วย ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ ในเข็มทิศชี้เดิน ถ้าเข็มทิศมันเสีย เข็มทิศชี้ทางทิศเหนือชี้ไปทางทิศใต้ เราเชื่อเข็มทิศเราเดินไปทางไหนกัน? ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราปฏิบัติ เราก็อยากได้ความจริงของเรา ถ้าเราจะปฏิบัติความจริงของเราเพื่อแผนที่เครื่องดำเนิน

ตอนนี้ใครก็พูดนะ บอกเลยว่า “ทำตามหลัก ทำตามหลัก” คำว่า “หลัก” นี่ใครเป็นคนบัญญัติหลักอันนั้นขึ้นมา หลักอันนั้นใครเป็นคนบัญญัติ นี่ทำตามหลักนะ หลักเกณฑ์เป็นอย่างนี้ ธรรมและวินัยเป็นอย่างนี้

ใช่... ทำตามหลัก แม้แต่เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกเลย “ท่านมหา ท่านเรียนถึงมหามานะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เทิดบูชาไว้ ไม่ได้ดูถูกดูแคลนนะ เทิดบูชาไว้ ให้เข้าไปในลิ้นชักไว้ก่อน แล้วพยายามใส่กุญแจไว้ด้วย อย่าพึ่งให้มันออกมา”

ถ้ามันออกมา เวลาปฏิบัติเราจะมาเทียบเคียง พอเทียบเคียงขึ้นมา เราเอากิเลสเราปั้นแต่งขึ้นมา มันเป็นวิปัสสนึกขึ้นมา แม้แต่โดยหลักโดยตามความเป็นจริง ใช่... ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่โดยหลัก แต่หัวใจเรามันปลอม ถ้าหัวใจเรามันปลอมขึ้นมา มันก็เทียบเคียง มันก็ต้องการ มันก็สร้างภาพ แม้แต่ภาพโดยหลักตามความเป็นจริงก็ต้องวางไว้ก่อน แต่ทางโลกคิดกันว่าต้องยึดหลักการ ยึดหลักการ

เวลาหลวงตาท่านพูด “หนอนแทะกระดาษ! หนอนแทะกระดาษ!” ถ้าหนอนแทะกระดาษมันไม่มีความหมายอะไรเลย หนอนแทะกระดาษมันไม่ได้อะไรเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราว่าเรารู้ ๆ เรารู้เราเข้าใจธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นความจำทั้งหมดเลย แล้วกิเลสสักตัวยังไม่ได้แก้ไขเลย กิเลสสักตัวไม่ได้ให้มันสงบตัวลงเลย เราก็ว่านี่ทำถูกต้อง ๆ นี่มีกิเลส มันผิดตรงนี้ไง มันผิดตรงนี้ โดยหลัก ๆ โดยหลักนี่ทางโลก ทางวิชาการต้องโดยหลัก ต้องโดยหลักวิชาการ ต้องมีทฤษฎี ต้องมีรองรับ เวลาทำอะไรต้องมีกฎหมายรองรับ

แต่เวลาปฏิบัติธรรมขึ้นมา มันมีสภาวธรรมอันจริง ความเป็นจริงรองรับ แต่ขณะที่ทำขึ้นมา มันมีกิเลสรองรับ ดูสิ ดูที่เขาทำกันอยู่ เห็นไหม นี่ว่าง ๆ ๆ ว่างอย่างนั้นก้อนหินมันก็ว่าง ขอนไม้มันก็ว่าง ความว่างอย่างนั้นมันเป็นประโยชน์อะไร?

ความว่างของเราต้องมีสติสิ เราเป็นคนมีชีวิตใช่ไหม? เรามีความรู้สึกใช่ไหม? ความว่างของเรา เราต้องรู้ว่าเราว่างสิ เราจะรู้ว่าเราว่างนะ เรามีสติสัมปชัญญะนะ “อ๋อ... อ๋อ... ถ้าใครไปเจอความว่างจริงพูดอย่างนี้เลย อ๋อ ๆ สมาธิเป็นอย่างนี้เนาะ” ไอ้นี่มันว่าง ๆ ๆ เด็ก ๆ มันก็ว่างนะ เด็กมันนอนหลับมันก็ว่างของมัน

นี่โดยหลัก ๆ โดยหลักของใคร? ถ้าโดยหลักของกิเลสมันจะเป็นสภาวะแบบนั้น แล้วเรานี่ยึดหลักกัน แล้วก็พยายามสร้างหลัก ถ้ามันเป็นหลักนะ หลักนี้ดี เห็นไหม ดูสิ ดูต้นโพธิ์ต้นไทร ครูบาอาจารย์เราเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของเรา เราจะพึ่งพาอาศัย เราจะวางใจได้ เราปฏิบัติไปนี่ผิดถูกเราก็ขึ้นไปหาครูบาอาจารย์

“อันนี้ผิดหรือเปล่าครับ? อันนี้ถูกหรือเปล่าครับ?”

ครูบาอาจารย์พยายามจะคอยตะล่อมให้เราเข้าทาง เวลาเราเห็นนะ ดูสิ หลวงปู่ดูลย์ท่านว่าไว้ เห็นไหม “เวลาเราเห็นอะไรน่ะเห็นจริง เราปฏิบัติไปเราเห็นจริง เราเห็นนิมิต เรารู้จริงสัมผัสได้จริง เห็นจริงหมดเลย แต่ความเห็นนั้นปลอมหมดเลย”

หลวงปู่ดูลย์พูดไว้ถูกไหม? แล้วลองไปปฏิบัติดูสิ มันปลอมตรงไหน? มันปลอมตรงกิเลสเรามันสร้างภาพขึ้นมา เพราะจิตเรามีกิเลสอยู่ใช่ไหม? อย่างเช่นมือเรา เรากำอะไรอยู่ ในมือเรามีของที่กำอยู่ เราจะไปหยิบอะไรอีกได้ไหม? แต่ถ้าเราคลายนิ้วออก เราแบมือเราออก เราจะไปหยิบของอื่นได้

แต่กิเลสมันอยู่กับเรา มันยอมคลายไหม? มันยอมแบมือไหม? ถ้าแบมือแสดงว่าเราจะไม่มีอะไรติดมือเราเลย เราต้องยึดไว้ให้มั่น ยึดไว้ให้มั่น ยึดกิเลสเลยแหละ ถ้าเมื่อไหร่เราแบมือเราออก แบมือออก เห็นไหม เราทำกำหนด “พุทโธ พุทโธ” จิตนี้มันสงบเข้าไปเป็นความจริง มันแบมือออกเลย ถ้าแบมือออก เราจะทำอะไรอีก มือเราจะไปจับอะไรก็ได้ เราจะไปทำงานอะไรขึ้นมาก็ได้

แต่นี่ไม่ได้! ผิดหลักการ ๆ กลัวผิด ๆ เราเห็นอะไรก็ของกำอยู่ในมือ เห็นไหม เห็นอะไรนี่ ของในมือเรา ดูอย่างที่เขาทางเกจิอาจารย์ เห็นไหม เขามีลูกอม เวลาเขามีปัญหากัน เวลาเขาต่อสู้กัน ลูกอมหลุดออกจากปาก เห็นไหม ไปเอาลูกเขียดเขามาอม โอ๊ย.. เขียดมันอมได้ มันเต้นได้

นี่ก็เหมือนกัน เรากำในมือ อะไรมันเต้นได้? อะไรมันเป็นไป? มันเป็นจินตนาการไปหมดเลย โดยหลัก ๆ ใช่... โดยหลักโดยภาคปริยัติ แต่เวลาปฏิบัติต้องวางให้หมด ถ้ามันเป็นโดยหลักนะ มันเป็นธรรมะปฏิรูป กิเลสเรามันปฏิรูปขึ้นมา ให้เป็นความจริงของกิเลส มันถึงต้องวางตรงนี้ให้ได้ พยายามทำเข้ามาให้มันสงบให้จริงเถอะ ถ้าสงบเข้ามาจริงนะ ดูสิ ครูบาอาจารย์ท่านบอกเลยนะ “ถ้าจิตสงบนี่พออยู่พอกินแล้ว”

เรานี่ตั้งแต่เกิดมาจนตายเหมือนเครื่องยนต์ เวลาเราติดเครื่องยนต์ เราสร้างเครื่องยนต์ขึ้นมาเครื่องยนต์หนึ่ง เราซื้อเครื่องยนต์มาเครื่องยนต์หนึ่งแล้วเราให้มันทำงาน แล้วไม่ให้มันหยุดพักเลยเดี๋ยวมันก็พัง แต่จิตของเรา เวลาเราเกิดขึ้นมา ปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา นี่ติดเครื่องยนต์แล้ว จิตนี่รู้สึกแล้วในครรภ์ อยู่ในครรภ์นี่ขนาดว่าแม่กินของเผ็ดเข้าไป เราได้รับของเผ็ดด้วย เราก็ดิ้นรน ถ้ากินของเย็นเข้าไปเราก็ดิ้นรน นี่ติดเครื่องตั้งแต่ปฏิสนธิเลย แล้วจนกว่าจะตายนะ มันถึงจะดับเครื่องได้

แล้วขณะที่เราในปัจจุบันนี้ เครื่องยนต์นี่ติดตลอด มันร้อนมาก มันมีความร้อนมาก ถ้าดับเครื่องพักเครื่องได้เครื่องจะเย็น ถ้าจิตมันสงบได้ ถ้าเราทำความสงบของใจ ตั้งสติให้ได้ ถ้าเป็นความสงบของใจ มันเป็นความมหัศจรรย์กับโลกเลย แต่ในปัจจุบันนี้ มันไม่ใช่ความสงบ มันเป็นความเคลิ้ม เคลิ้ม ๆ กันนะ ว่าง ๆ ๆ นี่มันเคลิ้มกัน ไม่ใช่ความสงบเลย อะไรมันสงบ? ถ้าสงบมันต้องรู้ตัวมันเอง

ดูสิ ดูอย่างเราไปซื้อของ เรามีเงินใช่ไหม? เราแลกเปลี่ยนสินค้าได้หมดเลย เราไม่มีเงินเลย เอาอะไรไปแลกเปลี่ยนสินค้า? นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันสามารถวิปัสสนาได้ มันแลกเปลี่ยนสินค้าได้ มันมีต้นทุน นี่เราไม่มีต้นทุนกันไง แล้วก็บอกเราอยากวิปัสสนากัน ต้องใช้ปัญญา ก็ใช้ปัญญากันใหญ่เลยนะ

ปัญญานี่เป็นโลกียปัญญา ฟังสิ! คำว่า “โลกียปัญญา” คือปัญญาของโลกไง ใครก็แล้วแต่ ศึกษาวิชาการใดมา เห็นไหม นักกฎหมายก็ตีความในแง่กฎหมาย ใครเรียนทางการแพทย์มาก็ตีทางการแพทย์ ใครเรียนทหารมันก็ตีทางทหาร ตีความไง เพราะอะไร? เพราะมุมมอง เห็นไหม ธรรมะอันเดียวกัน แต่มุมมองคนละมุมมองนะ นี่ตีความต่าง ๆ กันไป

ถ้าปัญญามันเกิด มันก็เกิดจากปัญญาตีความอย่างนี้ ถ้าเกิดจากปัญญาตีความอย่างนี้ คิดดูสิ คำว่า “ตีความ” ใครเป็นคนตีความ เราตีความใช่ไหม? ถ้าเราเป็นคนตีความ เราเป็นเราใช่ไหม? เป็นกิเลสไหม? เป็นความคิดของเราไหม? แล้วปัญญาพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? แต่เวลาพูดถึงธรรมะกันนะ เวลาปริยัติ โอ๊ย! ศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาถ้ากิเลสมันหลอก กิเลสในหัวใจมันเอาปัญญาอย่างนั้นไปคดไปโกงโอกาสของตัวนะ

เราอุตส่าห์มาประพฤติปฏิบัติกัน เราออกประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่มีความมั่นคงเขาออกบวชเป็นนักรบ ขณะที่จะรบกับกิเลสให้กิเลสมันไพล่เอาความคิดของเรามาเชือดคอเราเอง เอาปัญญาเรามาเชือดคอเราเอง แล้วบอกเป็นปัญญาแก้กิเลส ปัญญาแก้กิเลส...

ถ้าปัญญาแก้กิเลสนะ มันจะต้องกระเทือน เราจะต้องทำตัวเรา ดูสิ ถ้าเราเป็นนักบวช เราจะทำตัวเรามักน้อย อ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนน้อมถ่อมตนเพื่ออะไร? เพื่อให้กิเลสมันไม่มีคุณค่า เวลาถือธุดงควัตรนี่ทำตัวเราให้ติดดินที่สุด แต่ถ้าทำตัวมีคุณค่าขึ้นมา นั่นกิเลสมันพองตัวขึ้นมาแล้ว ถ้ามีคุณค่า เรามีคุณค่า เรามีศักดิ์ศรี เราเป็นคนมีชื่อเสียง นี่กิเลสตัวมันใหญ่ ตัวมันพอง แล้วถ้าเราทำให้มันไม่มีคุณค่า เราต้องมีศีล เราต้องมีอ่อนน้อมถ่อมตน

แต่เขามองกันว่าคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน คนนั้นไม่มีคุณค่าไง เพราะถ้ามีคุณค่า ก็คุณค่าของกิเลสไง แต่ถ้าคุณค่าของธรรม มันจะเป็นอิสระกับโลก เราเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ จิตมันเวียนตายเวียนเกิดไปในวัฏฏะ แต่ขณะที่กิเลสมันเกิดมันตายในหัวใจเรา มันเกิดดับเกิดดับ ความคิดนี่คิดร้อยแปดเลย คิดในเรื่องไม่ดี ...ไม่ควรคิด หยุด เดี๋ยวคิดอีกแล้ว นี่คิดเรื่องนี้ดี อยากให้มันคิด มันไม่อยากคิด นี่เรื่องที่ดี เรื่องที่เป็นประโยชน์กับเราไม่อยากคิด

แต่ถ้าเรื่องที่เป็นโทษกับเรานะ เป็นโทษกับเรานะ ไม่ใช่เป็นโทษกับกิเลสหรอก กิเลสมันทำให้เราอยากทำ อยากแสวงหา แต่เราแสวงหาขึ้นมาแล้ว ใครเป็นคนแสวงหา? ใครเป็นคนทำ? ก็จิตนี่เป็นประธาน จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นคนคิด จิตเป็นคนเริ่มต้น จิตแสวงหาให้เราคิดให้เราทำ แล้วทำขึ้นผลมาจากไหน? ผลก็ย้อนกลับมาที่จิต แล้วกิเลสมันอยู่ไหน? กิเลสมันยุแหย่แล้วมันก็ไปแล้ว แต่หัวใจเรานี่เป็นผู้รับ

สิ่งที่รับขึ้นมา สิ่งนี้สิ่งที่กระทบเข้าไปที่รับผลขึ้นมา เราเป็นคนทุกข์อยู่ แล้วเวลาเราจะยับยั้งมันล่ะ สิ่งนี้ปัญญาที่กิเลสมันไพล่ไปเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เราเสียโอกาส เสียโอกาสตรงไหน? เสียโอกาสตรงที่เราทำแล้วนี่ ดูสิ เราไปซื้อของ แล้วได้ของที่ไม่สมกับความปรารถนามา ไปซื้อของเทียมมา ของที่ไม่จริงมา เราพอใจไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้ากิเลสมันหลอกเรา กิเลสเรานี่หลอกเรา เราถึงต้องการหาครูหาอาจารย์ที่ชี้นำ หาครูบาอาจารย์ที่คอยตะล่อมเราเข้ามา นี่โดยหลัก ถ้าโดยหลักเราก็ต้องโดยหลักโดยการปฏิบัติ โดยหลักโดยการปฏิบัตินี่มันไม่มีสูตรสำเร็จ ในหลักการต้องเป็นอย่างนี้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กฎหมายตีความต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไปเลย แต่กฎหมายนี่มันเป็นเครื่องมือ ผลจากกฎหมาย ผลจากความสุขความทุกข์อันนั้นเหมือนกัน

นี่โดยธรรม “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา” สติก็เป็นอนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา สิ่งต่าง ๆ เป็นอนัตตาหมดเลย มันเป็นอนัตตา เราพยายามจะสร้างขึ้นมาให้มันมีพลังงานในหัวใจของเรา แล้วให้ไปทำลายกิเลสที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สมาธิเป็นอนัตตา ความเป็นไปอนัตตา กิเลสก็เป็นอนัตตา มันก็เกิดดับเหมือนกัน มันก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน แล้วมันเกิดดับมันละเอียดกว่าเราด้วย มันหลอกเราด้วย

ถ้ามีสติสัมปชัญญะขึ้นมา ทำจิตสงบเข้ามา ถ้ามีสติแล้วถ้ามันน้อมไป เราสังเกตได้ไหม? เวลาเราประพฤติปฏิบัติ บางทีเราจะมีปัญญาที่ดี ๆ ขึ้นมา ความคิดที่ดี ๆ ขึ้นมา มันจะคอยเตือนเรา นั่นน่ะเป็นธรรม สิ่งที่ธรรมคือว่ามันจะคอยเตือนสติเรา มันจะคอยทำให้เราไม่เห่อเหิมเกินไป สิ่งนี้เป็นปัญญา

ถ้าปัญญาย้อนขึ้นมาอย่างนี้ เพราะอะไร? เพราะมันมีสติ มันมีสมาธิรองรับ ถ้ามีสติ สมาธิรองรับ มันเป็นธรรมชาติของมัน แต่ถ้าความคิดโดยที่ไม่มีสติรองรับ มันความคิดโดยกิเลส มันความคิดของเรา โลกียปัญญาคือความคิดของเรา ความคิดที่มุมมองต่าง ๆ ที่เรามุมมองไปในต่าง ๆ ที่ว่าโดยหลักการ ๆ นี่แหละ

แต่ถ้าเป็นปัจจุบันขึ้นมา มันเป็นปัจจุบันขึ้นมา มันเป็นธรรมขึ้นมา ปัญญาอันนี้มันไม่มีใครเคยเห็น ถ้าปัญญาอันนี้มีใครเคยเห็น ดูสิ เราเดินจงกรมขึ้นมาความคิดร้อยแปดเลย แต่มันมีแวบ หนึ่งคิดสิ่งที่ดีมาก สิ่งที่ดูดดื่มใจมาก คิดถึงคุณค่าของการกระทำของเรา เราจะชื่นใจมากเลย ปัญญาอย่างนี้ถ้ามีโอกาส มันจะแวบ ๆ มาเป็นครั้งเป็นคราว

ถ้าเราทำสมาธิบ่อย ๆ ครั้ง ไอ้ที่ว่าเป็นครั้งเป็นคราวมันจะเป็นปัจจุบันของมันเลย มันจะเป็นปัจจุบันเพราะอะไร? เพราะเป็นธรรมจักรไง ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ จักรมันจะเคลื่อน มันจะหมุนไป ธรรมจักรอย่างนี้มันจะมาชำระกิเลส นี่โลกุตตรปัญญา เราสร้างปัญญาอย่างนี้ เราต้องการปัญญาอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมาไม่ได้โดยเรา

ถ้ามีเรา นี่มีตัวตน มีเรามันจะเป็นอย่างนั้น ถ้ามันเป็นธรรมชาติของมัน มันจะหมุนของมันขึ้นมา มันถึงว่าเป็นโลกุตตรปัญญา โลกียปัญญาปัญญาโดยเรา ปัญญาโดยสถานจากเรา แต่ไม่ต้องเสียใจ เราทำบ่อยครั้งเข้า เพราะเราเกิดมามีเราตั้งแต่ปฏิสนธิ มีภวาสวะ มีภพ มีเรากัน เราอันนี้ เราค่อย ๆ ให้มันเกิดขึ้นมา ให้ทำสมาธิเข้ามาให้มันสงบตัวลง แล้วปัญญาอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาได้ พยายามฝึกฝนอย่างนี้ขึ้นมา

สิ่งนี้มันเป็นที่ว่าแก้โดยใช้ปัญญา ที่ว่าสมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาถึงจะฆ่ากิเลสได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นเป็นปัญญาโดยเราหมด ถ้ามีสมาธิ เพราะสมาธิกดเราให้สงบตัวลง ถ้าสมาธิกดเราให้สงบตัวลง ปัญญาที่เกิดขึ้นมามันถึงจะเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาอันนี้ต่างหากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนา ถึงเป็นสุตมยปัญญา ปัญญาที่ศึกษาเล่าเรียนไม่ผิดพลาดเลย โดยหลักคือการศึกษาเล่าเรียน เราเรียนทฤษฎี แต่โดยปฏิบัติ! โดยปฏิบัติ! ทฤษฎีนั้นจะเข้ามายุ่งด้วยไม่ได้ โดยปฏิบัติ!

แต่โดยปฏิเวธ เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปฏิเวธคือผลของมันที่เกิดขึ้นมา ผลอันนี้มันเป็นวิมุตติ พูดไม่ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังพูดไม่ได้เลย เพียงแต่ที่ครูบาอาจารย์เราเทียบเคียงมาเท่านั้น

“เทียบเคียง” คนที่เป็น คนที่เข้าใจ ถึงจะเทียบเคียงให้เราเห็นได้ใช่ไหม? เหมือนที่นักวิชาการเขาจะสอนนักเรียน เขาจะบอกว่าเป็นอย่างนี้ ๆ ๆ นี่เทียบเคียงมาอย่างนี้ แล้วไอ้เด็กมันก็พิจารณาของมันไป แต่ถ้ามันไปทดสอบพิสูจน์ของมันขึ้นมาเป็นอย่างนั้น มันก็จะเหมือนกัน ถ้ามันทดสอบขึ้นมาไม่ได้ มันรู้แต่ทฤษฎี มันขี้เกียจทดสอบ มันไม่ทดสอบขึ้นมา มันจะเรียนเอากระดาษใบหนึ่งก็เรื่องของมัน

แต่ถ้ามันเรียนขึ้นมาแล้วเพื่อจะทำงานของมันขึ้นมา นั่นก็เป็นผลงานของมัน นั่นคือภาคปฏิบัติ แล้วผลที่เกิดขึ้นเราเข้าใจ ปฏิเวธ เห็นไหม ยถาภูตํ ถ้า ยถาภูตํ ฆ่ากิเลสหมด ญาณทัศนะ ญาณทัศนะเกิดขึ้น ญาณทัศนะหยั่งรู้เกิดขึ้นมา สิ่งอย่างนี้ ดูครูบาอาจารย์บอกเลย “แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ต่อหน้าก็ไม่ถาม”

มันจะเป็นสัจจะความจริงอันนั้น เห็นไหม มันแน่ขนาดนั้น มันจริงขนาดนั้น ธรรมะนี่จริงขนาดนั้นนะ มันจะจริงกับเราถ้าใจเราจริง แล้วเรามีความจริงของเราขึ้นมา

สิ่งนี้เรามีของเราแล้ว เรามีชีวิตของเราแล้ว เรามีสติของเราแล้ว มีปัญญาของเราแล้ว เราปรารถนาของเราแล้ว นี่พยายามทำนะ ไม่ต้องไปคาดหมายโครงการมาก ตั้งสติไว้ แล้ว “พุทโธ พุทโธ” อย่างเดียว โยมจะประสบความสำเร็จ ถ้าโยมคาดหมายมากอะไรมาก วิปัสสนึก ไม่จำเป็น

อยู่กับสตินะ! แล้วกำหนดลมหายใจ “พุทโธ พุทโธ” ทำอย่างนี้ไป ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ มันเป็นสัจจะความจริง มันเป็นของจริง ๆ ได้ได้จริง ๆ ไม่ได้ก็คือเราสร้างอำนาจวาสนา อย่าไปนึกอย่าไปคาด ทำอย่างนี้แล้วโยมจะได้ผล อุตส่าห์มา อุตส่าห์ทำ แล้วทำแล้วให้ผลกับทุก ๆ คนไป เอวัง