เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไป เห็นไหม แล้วเราล่ะ เราก็หมุนเวียนเปลี่ยนไป ถ้าเราหมุนเวียนเปลี่ยนไป ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ มันก็เป็นหลักคนที่ดี ถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ เปลี่ยนไปโดยที่ควบคุมไม่ได้ กับเปลี่ยนไปที่ควบคุมได้ เปลี่ยนแปลงตลอด ความเป็นไปของโลกมันเปลี่ยนแปลง แล้วเราก็ต้องเปลี่ยนแปลง แล้วความเปลี่ยนแปลง อะไรเปลี่ยนแปลง?
โลกนี้เป็นอนิจจัง แล้วอะไรเป็นเครื่องบรรทัดฐาน? ถ้าคนมีสติสตังนะ เวลาคนมีจุดยืน ไม้บรรทัดวัดตัวเองไง ข้อวัตรปฏิบัติไว้วัดตัวเอง แต่ไม่เป็นอย่างนั้น กิเลสมันจะไปวัดคนอื่น ถ้าเอาไม้บรรทัดของเราไปวัดคนอื่น...ไม่ได้หรอก เพราะอะไร? เพราะจริตนิสัยไม่เหมือนกัน ความชอบไม่เหมือนกัน เราชอบกินอาหารอย่างนี้ เราชอบความเป็นอยู่อย่างนี้ ดูอย่างภูมิประเทศสิ แม้แต่เวลาเขาเมืองหนาว เขาอยากจะมาเที่ยวเมืองร้อน เพราะเขาต้องการมาพักผ่อนของเขา ไอ้เราก็อยากจะไปเที่ยวเมืองหนาว
สิ่งต่าง ๆ นี้มันไม่เท่ากัน แล้วเอาบรรทัดฐานอะไรไปวัดล่ะ? นี่บรรทัดฐานวัดวัดที่เรา เพราะว่าวัดของเรามันเข้าใจว่าเป็นความทุกข์ความสุขของเรา เห็นไหม บรรทัดวัดเรานะ เวลาข้อวัตรปฏิบัติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาที่เรา ทวนกระแสกลับมา แต่โลกทวนกระแสออกไป
ดูการศึกษาทางวิชาการทางโลก จะรู้ไปหมดเลย ถ้ารู้ออกไปรู้ไปข้างนอกนะ แต่ไม่รู้เรื่องของตัวเอง ถ้าบรรทัดฐานนี่วัดเข้ามาจากภายใน ตรงนี้มันจบกันที่นี่ได้ งานของปฏิบัติธรรมนี่มันจบสิ้น งานของโลกไม่จบสิ้นนะ มันจะไปตลอดไป ไม่มีความจบสิ้นเลย ดูสิ ความแปรปรวนของมันตลอดเวลา สิ่งที่แปรปรวนตลอดเวลาเพราะมันเป็นธรรมชาติ ใช่..เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติยังหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แล้วก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างนี้
ในปัจจุบันนี้นะ ภัยเข้ามาใกล้ตัวมากตลอดเวลา ดูแผ่นดินไหวสิ แผ่นดินไหวเมื่อก่อนเมืองไทยนี่เป็นเมืองที่มีอำนาจวาสนามาก ไม่มีแผ่นดินไหว เห็นไหม ดูการศึกษานะ ทางวิชาการเขาบอกเลย น้ำท่วมโลก ๆ เขามองเป็นไปไม่ได้ พอเจอสึนามิเข้าไปทีเดียวกันน่ะ จะเข้าใจเลยว่าเวลามันซัดเข้ามา มันกลืนกินไปขนาดไหน น้ำท่วมโลกนะ ถ้าน้ำทะเลท่วมโลกมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้ามันมีปรากฏการณ์สึนามิมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีประสบการณ์ขึ้นมา มันจะเป็นการเตือนชีวิต เตือนความรู้สึกของเรา
นี่เหมือนกัน ย้อนกลับมาที่ตัวของเรา เห็นไหม ถ้ามีบรรทัดฐานวัดตัวของเรานะ เรามีจุดยืนอย่างไร ถ้าตั้งเป้านะ โลกนี่เวลาธุรกิจมันบูมขึ้นมา ตั้งเป้าแล้วมันทะลุเป้าไปตลอดเลย มันจะดีมาก ความดีมากมันจะอยู่คงที่ได้ไหม? เวลาขาขึ้น เวลาขาลงนะ ชีวิตก็เหมือนกัน มีขาขึ้น มีขาลง โลกก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
เวลาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เราก็มองกัน ครูบาอาจารย์ท่านสอนประจำนะ เวลาเจริญรุ่งเรือง เราดูความเจริญรุ่งเรืองของวัตถุ แต่เราไม่ได้ดูความเจริญรุ่งเรืองของหัวใจ เห็นไหม แล้วก็เทียบกัน วัตถุนะ ถ้าเทียบกับวัตถุ อันนี้มันตีค่า นี่เราจะสู้เขาไม่ได้เลย เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้ใครเป็นคนควบคุม ใครเป็นคนบริหารจัดการ สิ่งนั้นเขาดูแลของเขาได้ เราเป็นประเทศที่กำลังน้อยกว่าเขา จะเป็นลูกไล่เขาตลอดไป
แต่ถ้าเป็นความสุขล่ะ? ความสุข ประเทศที่มีความร่มเย็นเป็นสุข อันนั้นเป็นความสุขนะ ประเทศที่มีความร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหม นี่ยิ้มสยามมันเป็นเรื่องที่น่าคิดมาก ยิ้มสยาม ทุกอย่างนี่ ที่อื่นเขาก็มีการหัวเราะ เขาก็มีความสนุกของเขา แต่มันไม่ได้ยิ้มออกมาจากใจ ถ้ายิ้มสยามออกมาจากใจ นี่ศาสนามันสอนลงไปที่ใจไง มันความบริสุทธิ์ใจไง เพราะมันแทงเข้าไปที่ใจ เห็นไหม กิเลสมันก็อยู่ที่ใจ
ความเข้าใจของใจ ดูสิ ดูอย่างเรากตัญญูกตเวที สิ่งนี้เป็นใครสอนมา? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางเป็นประเพณีวัฒนธรรม ชาวพุทธเรากตัญญูกตเวที เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นะ แต่ทางยุโรปเขาว่าชีวิตของเขานี่ต้องเป็นอิสระ เขาไม่เป็นไปเหมือนเราเพราะเขาไม่ได้มองถึงบุญคุณไง เขาไม่มองถึงโลกหน้าโลกปัจจุบัน ไม่มองถึงเรื่องกรรม ทำไมมาเกิดเป็นพ่อเป็นแม่กัน? ทำไมมาเกิดในครอบครัวเดียวกัน? ทำไมคนนี้ถูกใจ คนนี้ไม่ถูกใจ สิ่งนี้ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์ มันพิสูจน์กันไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ
แต่ถ้าเป็นทางศาสนามันมีความผูกพัน มันมีเรื่องของกรรม มันมีเรื่องของความผูกพันมา เวลามาพบเห็นกัน นี้มันจะมีศรัทธาทำไม? เวลาเราไปหาครูบาอาจารย์ อย่างเช่นพระ พระเวลาบวชเข้ามาแล้วต้องขอนิสสัย นิสสัย เห็นไหม แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็วางไว้นะ พระนี่ต้องขอนิสสัยนะ ถ้าไม่ขอนิสสัยอยู่ด้วยกัน ๗ วัน ราตรีที่ ๗ เกิดขึ้น พระเป็นอาบัติปาจิตตีย์
เพราะอะไร? เพราะเหมือนกับเด็กมันไม่บรรลุนิติภาวะ มันจะอยู่ด้วยตัวของเขาเองไม่ได้ พระก็บวชใหม่ เห็นไหม ถ้าพรรษายังไม่ถึงพรรษา ๕ แล้วต้องเป็นผู้ฉลาด นี่จะพ้นจากนิสสัย ถ้าไม่พ้นจากนิสสัยต้องอยู่ในนิสสัยของครูบาอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งเพื่อเป็นการดูแลกัน เหมือนกับพ่อแม่ดูแลลูก แล้วถ้าอย่างนี้เป็นกฎตายตัวหรือ? ก็มีข้อยกเว้น ยกเว้นตรงไหน?
ยกเว้นเวลาบอกว่าถ้าเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์องค์ใดก็แล้วแต่ ให้ดูนิสัยกัน ๗ วัน ถ้าเห็นว่าสิ่งนี้เรารับไม่ได้ นิสัยความประพฤติอย่างนี้ เรารับไม่ได้ ให้รีบเก็บบริขารออกจากที่นั่นไป เห็นไหม ไม่ให้อยู่ด้วยกันไง เพราะอะไร? เพราะมันมีความโต้แย้ง มันเรื่องของกรรม กรรมนี่มันรับไม่ได้ก็มี รับได้ก็มี เห็นไหม ครูบาอาจารย์บางองค์เวลาพูดมา ทำไมมันซึ้งใจเรามาก บางองค์บอกพูดอย่างนี้ใช้ไม่ได้เลย แต่บางองค์ดูนิ่มนวลมาก น่าเคารพเลื่อมใสมาก บางองค์ครูบาอาจารย์บอก อย่างนี้มันแบบว่าอ่อนเกินไป มันไม่เข้มข้น
นี่มันเป็นจริต มันเป็นนิสัย มันเป็นเรื่องของกรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ให้ดูกันก่อน แล้วถ้าเราเป็นลูกศิษย์เราจะขอนิสสัย ถ้าเราไม่เห็นด้วย ให้เราเก็บของบริขารแล้วออกไป ถ้าพ้นจากนิสสัยแล้วให้เป็นครูเป็นอาจารย์นะ ๑๐ พรรษาขึ้น เป็นอุปัชฌาย์โดยธรรมและวินัย ถ้า ๑๐ พรรษาขึ้นนะ รู้ธรรมวินัยนี่บวชพระได้เลย บวชพระได้ แต่ในปัจจุบันนี้บวชไม่ได้ เพราะพ.ร.บ.สงฆ์ออกมาแล้วว่าต้องมีใบแต่งตั้ง ใบแต่งตั้งนี่เป็นเรื่องของโลก โลกแต่งตั้งขึ้นมา
แต่เรื่องของธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ตั้งแต่หลักการ ตั้งแต่ปรินิพพานไป ให้สงฆ์ปกครองกัน ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเธอ ศาสดาของเรา ถ้าเราเชื่อนะ ในธรรมและวินัยนั้นมีศาสดาของเราอยู่ในนั้น ธรรมและวินัย เราจะเคารพสิ่งนั้นมาก เคารพกติกา นี่ไม้บรรทัด
ถ้าไม้บรรทัดวัด เห็นไหม ทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน สังคมเสมอกัน สิ่งที่เสมอกัน ความเห็นเสมอกัน มันก็อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้ามีความเห็นต่างกัน ถือวินัยต่างกัน ก็เป็นนานาสังวาส เห็นไหม ไม้บรรทัดก็ต่างกันแล้ว ไม้บรรทัดต่าง ๆ กันนะ
แต่ก่อนเราเห็นนะ ถ้าโลกนี้ไม่เปิดกว้าง การสื่อสารคมนาคมยังไม่เจริญขนาดนี้ ความเจริญอยู่ที่ไหนก็อยู่ของเขา แต่ปัจจุบันนี้เราจะเห็นของเขาไปหมดเลย แล้วเปรียบเทียบได้ พอเปรียบเทียบได้ มันก็อยู่ที่เรามีสติสัมปชัญญะไหม? ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เราจะยึดหลักการของเรา เรื่องของเขาเป็นเรื่องของเขา
แต่ถ้าเราเอามาคลุกคลีกัน ทำไมเขาทำอย่างนั้น นี่เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันโดนไม้บรรทัดวัดแล้ว มันโดนธรรมวินัยบังคับไว้แล้ว มันจะเอาสะดวกสบายอย่างนั้นไง สะดวกสบายอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของคนตาบอดเป็นคนชี้นำ ถ้าเป็นเรื่องของคนตาดี ดูสิ ดูอย่างพวกหมอ เห็นไหม อะไรเป็นของที่แสลงกับโรค อะไรเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับร่างกาย เขาจะไม่เอาเข้ามากินไม่มาใช้รักษา แต่ถ้าสิ่งใดมันเป็นประโยชน์...
นี่ก็เหมือนกัน จะมีใครบ้างที่ฉลาดกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า? สิ่งใดที่มันทำแล้วมันเกิดนิวรณธรรม มันเกิดความลังเลสงสัย แล้วจะเอาความสงบของใจมาจากไหน? สมัยพุทธกาล เริ่มต้นตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมขึ้นมา นี่พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย พระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ก็เป็นพระอรหันต์หมดเลย พระอรหันต์นี่ไม่ทำความผิดแล้ว วินัยถึงไม่มีไง บัญญัติวินัยมาต่อเมื่อพระสงฆ์มากขึ้น แล้วพระปุถุชนไปทำสิ่งต่าง ๆ ที่ว่าชาวบ้านเขาติเตียน พอติเตียนนะ มีเหตุมีปัจจัยแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติกฎหมาย บัญญัติวินัยมา
สิ่งที่บัญญัติวินัยมาก็เพื่อจะอะไร? ก็เพื่อไม่ให้มันเกิดนิวรณธรรม แล้วพอบัญญัติขึ้นมาเป็นกฎหมายมหาศาลเลย ๒๑,๐๐๐ ข้อ แล้วเราจะรักษาอย่างไร? เวลาพระสมัยพุทธกาลไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า กฎหมายมากมายเลย จะรักษาอย่างไร?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก รักษาวินัยข้อเดียวได้ไหม?
ได้ครับ ได้ตรงไหน?
ได้คือรักษาใจไง
ถ้าไม่มีเจตนา เราไม่ทำสิ่งใด ๆ ผิดพลาดเลย เราไม่มีเจตนา เราไม่ทำอย่างนี้ ความผิดพลาด โทษมันก็มี กรรมมันก็มี เพราะสิ่งที่กรรมมันมีอยู่ แต่ไม่มีเจตนาไง แต่ถ้าเราจะไปนับถือที่กฎหมาย กฎหมายนี่เป็นตัวบังคับให้เราเข้าไปหาคุณธรรม เห็นไหม ธรรมและวินัยนี่บังคับให้เราเข้าไปเพื่อถึงเป้าหมาย
นี่ก็เหมือนกัน กฎหมายข้อบังคับก็เพื่อความยุติ สิ่งที่เกิดขึ้นโต้แย้งขัดแย้งกัน สิ่งนี้ถ้าเราไม่มีความผิดจะมีมาบังคับอะไรเรา? เห็นไหม รักษาใจตัวเดียว เรารักษาใจของเรา เราไม่ทำความผิดพลาดต่าง ๆ แล้ววินัยหยาบ ๆ อย่างเช่น วิกาลอย่างนี้ฉันอาหารไม่ได้ มันก็เป็นของหยาบ ๆ ที่รู้ ๆ กันอยู่แล้ว สิ่งนี้มันไม่ทำอยู่แล้ว
สิ่งที่ผิดพลาดอย่างนั้น อันนั้นมันเรื่องของความผิดพลาดโดยที่เราไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ เราศึกษาขึ้นมา มันเข้าใจขึ้นมา มันก็ปล่อยวาง ๆ เข้าใจ ๆ ไป มันก็ไม่เกิดนิวรณ์ ไม่เกิดความลังเลสงสัย นิวรณ์คือความขุ่นเคืองใจ ถ้าขุ่นเคืองใจ เราทำสมาธิได้อย่างไร? เพราะอะไร? เพราะเป้าหมายของการประพฤติปฏิบัติเราเพื่อความสุข เป้าหมายของเราเพื่อความสุขนะ
เวลากินอาหารขึ้นมา เรากินอาหารรสชาติอร่อย แต่เพื่ออะไรล่ะ? มันไปลงที่กระเพาะนะ มันอิ่มไม่หิวไม่กระหาย ร่างกายมีอาหาร มันมีเครื่องเยียวยารักษา รักษาว่ามันก็เกิดอาหารขึ้นมา มันก็พลังงานขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่าง ๆ ที่เราทำกันอยู่นี่เพื่ออะไร? ก็เพื่อให้ความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามา ความสุขเกิดที่นี่ ความสุขเกิดที่ใจ เห็นไหม ถ้าความสุขเกิดที่ใจ ไม้บรรทัดจะมีคุณประโยชน์ตรงนี้ไง ผลของมันที่เกิดขึ้นมานี่เป็นที่ไม้บรรทัด
แต่ถ้าเราเอาไม้บรรทัดวัดเราไปวัดคนอื่นอยู่ตลอดไป แล้วผลของมันไม่มี มันไม่มีหรอกเพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันเป็นเหตุไง เราไปวัดเขานี่สุขทุกข์เขายังไม่รู้เลย แล้วเราไปวัดเขาว่าคนนี้ดี คนนี้ไม่ดี มันเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเขานะ เพียงแต่ว่า ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันมาแล้ว เรามาปรึกษากันว่าทำอย่างนี้ โอ.. ถ้าทำอย่างนั้น สิ่งนั้นจะถูกต้องไหม สิ่งไหนดีกว่า แต่มันก็เป็นนิสัยของเขา เพราะอะไร?
ดูสิ อย่างหน้าทุเรียน หน้าผลไม้ที่มันออกมา หน้าเงาะหน้าต่าง ๆ เห็นไหม มันเป็นหน้าเป็นคราว ขณะที่สิ่งนั้นมีอยู่ หน้าของเขาออกมา ผลไม้มันก็ออกมา แล้วถ้าเกิดเวลามันไม่ใช่หน้าของเขา มันไม่มีผลไม้นั้นล่ะ?
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติ เราปฏิบัติมาแล้ว มันเป็นฤดูเป็นคราวมาแล้ว เราปฏิบัติผ่านมาแล้ว แล้วเราเอาสิ่งนั้นมา ธมฺมสากจฺฉา มาคุยกันนะ มาคุยกัน มาปรึกษากัน ธมฺมสากจฺฉา เพื่อเห็นความถูกต้อง เพื่อเห็นสิ่งต่าง ๆ แต่มันเป็นฤดูกาลเป็นหน้านี่มันผ่านมาแล้ว ปฏิบัติที่เราผ่านมา มันผ่านมาแล้ว เราได้กินมาแล้ว ผลไม้นั้นเราได้กินมาแล้ว รสชาติเป็นมาแล้ว
ในปัจจุบันนี้มีไหม? ในปัจจุบันนี้มันยังไม่มี ในปัจจุบันนี้เรายังรักษาได้ไหม? ถ้าในปัจจุบันเรารักษาได้ รักษาเหตุนะ ผลไม้เวลามันออก มันออกเป็นหน้าเป็นคราว แต่ธรรมมันเกิด มันเกิดจากไหน? เกิดจากสติเรา เกิดจากเหตุ เกิดจากเราสนใจ เราปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าเรารักษาเหตุขึ้นมา ผลไม้ออกตลอดฤดูกาลนะ ออกทุกฤดูกาล มัน ๓ ฤดูออกตลอดเวลาเลย เพราะอะไร?
เพราะเรารักษาเหตุ ตั้งสติไว้ ตั้งใจไว้ เห็นไหม ไม่เอาสิ่งต่าง ๆ ที่มันเป็นกังวลใจเข้ามาในหัวใจของเรา สิ่งนี้เกิดขึ้นมา เราทำขึ้นมา ธมฺมสากจฺฉา ขึ้นมาเพื่อหาเหตุหาปัจจัย หาอุบายวิธีการไง อาหารที่เรากินทุกวันเราเบื่อมาก อยากเปลี่ยนอาหารบ้าง เปลี่ยนรสชาติบ้าง นี่ขนาดอาหารยังเปลี่ยนอย่างนั้นเลย แล้วเวลาเราเดินจงกรม เรานั่งภาวนาอยู่ ขนาดอาหารที่มันขึ้นมา อาหารมันไม่มีชีวิตนะ เราเอาแค่บำรุงรักษา เราเอาขึ้นกินเพื่อให้ร่างกายมันได้อาหารเท่านั้นนะ แต่ขณะที่เราปฏิบัติธรรม มันมีกิเลสโต้แย้งด้วยนะ ธรรมรส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง
แต่ขณะที่จิตสงบมันก็มีความสุขของเรา ขณะที่เราเข้าใจเรื่องความลังเลสงสัย เห็นไหม สงสัยไปหมดเลย สงสัยว่าชาติหน้ามีไหม ทุกอย่างมีไหม ความสุขความทุกข์นี่เกิดมาจากไหน นี่เป็นความสงสัยทั้งหมดเลย แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา จิตมันสงบขึ้นมา สิ่งนี้มันใช้ปัญญาเข้ามา สิ่งอย่างนี้มันก็เป็นคุณธรรม คุณธรรมเพราะอะไร? เพราะจิตมันพัฒนาขึ้นมา มันเข้าใจต่าง ๆ ขึ้นมา
ถ้ามีอย่างนี้ขึ้นมาแล้วเวลากิเลสมันโต้แย้งล่ะ? มันก็โต้แย้งว่าเราทำอย่างนี้มันเกินไปแล้ว เราทำอย่างนี้มันไม่สมประโยชน์กับเราแล้ว ความคิดอย่างนี้มันเกิดมาจากไหน? มันก็เป็นกิเลส นี่อาหารมันไม่มีชีวิต มันไม่มีความโต้แย้ง แต่กิเลสมันมีความโต้แย้ง เราถึงต้องมีอุบายวิธีการ วิธีการหลบหลีกกับกิเลสไง กิเลสในหัวใจเรายังมีอยู่ นี่หลบหลีกมันก่อน ให้กำลังเราชนะมันมาก่อน
พอชนะกำลังเราดีขึ้นไป กิเลสจะโผล่หน้าขึ้นมาหาเราไม่ได้เลย ขณะที่จิตเราดี เห็นไหม ขณะที่จิตมันสงบ มันมีความร่มเย็นเป็นสุข กิเลสจะหายหน้าหายตาไปเลย แต่มันซ่อนอยู่ในใจเรานะ แต่เดี๋ยวมันก็โผล่ขึ้นมาอีกเพราะอะไร? เพราะมันเป็นอนิจจัง เห็นไหม แต่เราใช้ปัญญาของเราบ่อยครั้งเข้า อาหารอย่างนี้ ธรรมรสอย่างนี้มันจะเกิดกับใจเรา
สิ่งที่ควบคุมเรามีดีสำคัญที่สุด ใจเรามีประโยชน์ที่สุด สิ่งต่าง ๆ เห็นไหม อาหารกาย อาหารใจ นี่อาหารของใจนะ นี่ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเวลาประสบต่าง ๆ อำนาจวาสนาแข่งกันไม่ได้ ฟังสิ! ฟังว่าอำนาจวาสนาแข่งกันไม่ได้นะ แล้วเราเป็นคนคนหนึ่ง เรามีอำนาจวาสนา เราขับรถไป ดูสิพื้นที่สูง ไปทางภาคเหนือ เห็นไหม ขึ้นภูเขา เดี๋ยวก็ขึ้นภูเขา เดี๋ยวก็ลงภูเขา
นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่ขึ้นภูเขารถก็ขึ้นด้วย เวลาลงภูเขารถก็ลงภูเขาไปด้วย เห็นไหม อำนาจวาสนาไง มันลุ่ม ๆ ดอน ๆ ถ้ามันลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะเราทำไม่เสมอต้นเสมอปลาย สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเกิดมาจากเหตุทั้งหมด ขณะที่มันขึ้นภูเขา ชีวิตเรานี่มีความร่มเย็นเป็นสุขมาก เป็นคราวหนึ่งยุคหนึ่ง เห็นไหม มันเป็นอนิจจัง สิ่งนี้มันถึงว่ามันเป็นสมมุติ สมมุติคือมันเป็นของชั่วคราว
เราถึงต้องหาสัจจะความจริง หาสัจจะความจริงว่าใจของเรา จะขึ้นจะลง จะขึ้นภูเขา จะลงภูเขาก็คือเรา ถ้าเราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างนี้ เราไม่ตื่นเต้นไปกับเขา มันจะไม่ให้ผลเรามากนัก เพราะสิ่งนั้นมันก็เป็นธรรมชาติของเขา แต่เราไม่ตื่นเต้นไปกับเขา แต่ถ้าเราไปตื่นเต้นกับเขานะ เราทุกข์ ๒ คน ทุกข์ทั้งกายทั้งใจ แต่ถ้าหัวใจมันเป็นสภาวะแบบนั้น เดี๋ยวคราวกรรมมันก็ต้องผ่านไป นี่ทุกข์ควรกำหนด เห็นไหม
ทุกข์เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันชั่วคราวไง โลกนี้เป็นสภาวะแบบนี้ เข้าใจมันไปแล้วนะ ใจเราไม่ทุกข์กับมัน พอใจเราไม่ทุกข์กับมัน เราก็มีความสุขไปกับเขา แล้วถ้าย้อนกลับมาถึงการวิปัสสนาด้วย ทุกข์.. เราใช้ความทุกข์ค้นหาความสุข ทุกข์เพื่อจะสุขไง ไม่ใช่ทุกข์เพื่อจะทุกข์ ถ้าทุกข์เพื่อจะทุกข์นะ ทุกข์แล้วมันเหมือนกับเราเผาผลาญพลังงานไปหมดโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
แต่ถ้าเราทุกข์เพื่อจะสุข เราเผาผลาญพลังงานเราไป แต่เราได้ผลประโยชน์ขึ้นมา พลังงานนั้นเราจะไปถึงเป้าหมาย เห็นไหม พาเราไปถึงเป้าหมาย ทุกข์เพื่อจะสุขกับทุกข์เพื่อจะทุกข์ โลกเขานี่ทุกข์เพื่อจะทุกข์นะ เขาจะไม่เอาอะไรติดไม้ติดมือของเขาไป แต่เราก็ทุกข์เหมือนกัน แต่ทุกข์เพื่อจะสุข แล้วถึงที่สุดแล้วข้ามพ้นทั้งสุขทั้งทุกข์เลย เพราะสุขนี่เป็นสุขโดยสมมุติ มันเป็นสมมุติ มันเป็นอนิจจัง สุขแท้ ๆ ไม่สมมุติเลย
ใจตัวนี้มันไม่สมมุติ พลังงานที่มันคงที่ ไม่สมมุติเลย นี่มันอยู่ที่ใจเรา เห็นไหม ไม้บรรทัดวัดที่นี่ดีที่สุดนะ อย่าไปวัดคนอื่น วัดคนอื่นแล้วมันจะไปกว้านทุกข์มาหาเรา ถ้าวัดเรา คุณงามความดีของเราเป็นผลประโยชน์ของเรา แล้วเราพัฒนาของเราถึงที่สุดแล้ว ใจของเรามีคุณค่ากับเรา ธรรมะสอนอย่างนี้ ธรรมะสอนที่เรา แก้ไขที่เรา
แต่สังคมเป็นเรื่องของโลก เกิดมาเป็นสภาคกรรม นั่นก็เป็นสภาคกรรม นี่เกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาบาดหมางกัน เกิดขึ้นมาสมานฉันท์กัน เกิดต่าง ๆ นี้ อันนี้เป็นเรื่องของสังคมของโลก เพราะเราก็อยู่ในสังคมนั้น สังคมนั้นดีเราก็มีโอกาสได้ทำดี สังคมนั้นปั่นป่วน เราก็ต้องรับผิดชอบไปกับเขาด้วย เพราะเราอยู่สังคมนั้น นั่นเป็นเรื่องของกรรม
ถ้าเรื่องของเรานะ กรรมนอกกรรมใน กรรมของเราเอาที่สุดให้ได้ นี่คือคุณสมบัติของเรา เราแก้ไขที่นี่ก่อน แล้วสังคมถ้าเราเป็นคนดีทั้งหมด สังคมเห็นเป็นตัวอย่างขึ้นมา เขาจะเดินตามเรา เขาจะเดินตามเรานะ ทุกคนต้องการของดี ของดีเกิดที่ไหน? ของดีจากภายนอก กับของดีจากภายใน ให้ค้นคว้าเอา แล้วมีตั้งใจเอา นี่ชาวพุทธ เอวัง