เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ธ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ว่าความดีไง ความดีมันเข้ากับความดีนะ ความดี ดูสิ ดูกรรม เวลากรรมนี่ คนดีกับคนดี คนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยนะ ทำดีร่วมกัน ได้กิตติศัพท์ของคนดี เห็นไหม มันเข้าถึงกัน เป็นเพื่อนกันโดยที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน แต่ในปัจจุบันนี้มีมากนะ เพราะเล่นเว็บไซต์ เป็นเพื่อนกันโดยที่ไม่เห็นหน้ากัน คุยกันโดยที่ไม่เห็นหน้ากัน

สมัยพุทธกาลก็มีนะ กษัตริย์นี่เป็นเพื่อนต่างเมืองกัน สนิทกันมาก แต่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย เพราะคุณงามความดีนะ สมัย ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว เป็นเพื่อนรักกันแต่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย นี่ส่งข่าวถึงกัน เพราะทำคุณงามความดีมันถึงกัน ความดีมันเข้าถึงกับความดี แต่เวลาพูดถึงนะ ในวงการนักเลง เขาก็ช่วยเหลือกันโดยทางทุจริต เขาช่วยเหลือกัน นี่กรรมนะ

มันอยู่ที่จริตนิสัยของเรา ถ้าความดีของเรามันเข้ากับใจของเรานะ เราเห็นนะ สิ่งใดที่มันทำแล้วมันขัดกับความรู้สึก เห็นไหม สังเกตได้เลย เวลาคนเราทำอะไรไม่ถูกใจ จะขัดความรู้สึกมาก ถ้าขัดกับความรู้สึก นี่มันขัดใจแล้ว ถ้าขัดใจมันก็ขัดกิเลสแล้ว แต่ถ้ามันถูกต้องตามความรู้สึกของเรา นี่มันพอใจเรา

แล้วสิ่งนี้เราเชื่อถือเราได้ไหม? ถ้าเราเชื่อถือไม่ได้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางศีล ๕ ไว้ไง ศีล ๕ เป็นมาตรการที่เป็นกลาง แล้วถ้าเทียบกับสิ่งนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ให้เทียบกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ การประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ต้องเพื่อให้คนยกย่องสรรเสริญ ไม่ต้องแก้จริตนิสัยของใคร ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น พรหมจรรย์นี้อยู่เพื่อเรา พรหมจรรย์นี้อยู่เพื่อใจของเรา

ถ้าพรหมจรรย์อยู่เพื่อเรา มันย้อนกลับมาถึงตัวเรานะ ถ้าเพื่อเขานะ สังเกตได้ไหม เวลาเราไปเที่ยวที่ไหน เราไปเจออะไรที่สวยงาม เห็นไหม ของที่ระลึกไง ซื้อไปฝากกัน มันคิดถึงเขา ไม่ได้คิดถึงเราเลย คิดถึงคนอื่นนะ ที่นั่นสวยมาก เราจะไปชวนคนที่เราพอใจมาเที่ยว เราจะไปชวนคนเอามาเที่ยว มันคิดถึงคนอื่นหมดเลย ไม่ได้คิดถึงเรา เห็นไหม

ถ้าคิดถึงเรานี่ เราเห็นสภาวะแบบนั้น ดูสิ ตอนนี้หน้าท่องเที่ยว เวลาพวกดอกหญ้า พวกสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาช่วงฤดูกาล มันอยู่ไม่กี่เดือนหรอก ไม่ถึงเดือน ดูอย่างทานตะวัน มันอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็โรยราไป เวลาไปเห็นนะ เราก็อยากจะชวนเขามานะ อีก ๑๐ ปียังไม่ได้มาเลย เพราะอะไร? เพราะกว่าที่มันจะตกลงกันได้ กว่าจะนัดกันได้

เราเห็นภาพนั้น เราก็ว่าสิ่งนี้มันจะเป็นคงที่ ไม่หรอก...มันเป็นอนิจจัง โลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด มันแปรสภาพ บอก “เรามาเจอสภาพแบบนี้ดีมากเลย” เราเคยนะ เราเคยไปอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ที่เราธุดงค์ไปนะ เราบอกสถานที่นี้ดีมาก แล้วชวนเพื่อนไป เพื่อนบอกว่า

“ไม่เห็นมีอะไรดีเลย”

“อือ.. แต่สมัยเรามันดี สมัยเรา...”

มันถึงว่ากรรมนะ ถ้าเรากรรมดี เราไปเจอหมู่คณะที่ดี เหตุที่ดี นี่สัปปายะ สัปปายะส่วนนั้นมันสมดุลกับการปฏิบัตินะ แต่พอมันล่วงกาลผ่านวันไป ดูสิ เวลาหลวงตาท่านเทศน์ให้ฟัง สมัยท่านออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าช่วงนั้นใครตามหลวงตานะ นี่ไปด้วยกัน ไปด้วยกันมันจะแรงมาก

ดูสิ เวลาหลวงปู่มั่นอยู่ในป่า เห็นไหม อยู่องค์เดียว ใครมาก็อยู่ห่าง ๆ ออกไป แล้วผิดถูกท่านจะคอยแก้ไข ช่วงที่กำลังแสวงหา ช่วงที่กำลังทุกข์ยาก ช่วงที่กำลังบุกเบิก ช่วงอย่างนี้กำลังกระทำ เหตุการณ์อย่างนั้นน่ะมันเป็นเหตุการณ์ที่ถูกต้อง แต่เวลาช่วงที่ว่าประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้ว ทำถึงที่สุดแล้ว ใช่.. ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะว่าอะไร? เพราะจากใจหนึ่งสู่อีกใจหนึ่ง แต่มันไม่เข้มข้นเหมือนตอนที่ท่านแสวงหาหรอก เพราะอะไร? เพราะมันมีการต่อสู้ ต่อสู้กับใคร? ต่อสู้กับความต้องการของใจไง

ใจมันเรียกร้อง ใจมันแสวงหา ใจมันสิ่งที่มันต้องการ เห็นไหม สิ่งที่ต้องการแล้วมีกิเลสอยู่ สิ่งที่ต้องการนั้นเป็นเรื่องของการบำรุงบำเรอนะ เราอดอาหารกันเพื่ออะไร? เราอดนอนผ่อนอาหารกันเพื่ออะไร? อดนอนผ่อนอาหารเพื่อจะให้ตัวนี้มันเบาลง ให้เรื่องความต้องการของใจมันเบาลง ความต้องการมันเลยเถิดไป เพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ “ภิกษุฉันอาหารเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น ทางโลกเขาทานอาหารเพื่อกาม เพื่อเกียรติ เพื่อศักดิ์ศรีของเขา”

ดูสิ เวลากินข้าวกินอาหารกัน ต้องมีศักดิ์มีศรีนะ จะไปกินข้างถนนก็ไม่ได้ ถ้าคนมีเงินมีทองนะ ไอ้พวกเรานี่คนติดดิน จะตรงไหนก็สบายมาก จะทำอะไรก็ได้เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้ถ้าไม่ผิด ทำอะไรก็ได้ที่มันไม่ผิดศีลผิดธรรม สิ่งนี้ทำได้ทั้งนั้น เพราะมันเป็นเรื่องของปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้ามันมีศักดิ์ศรีนะ ไม่ได้นะ ศักดิ์ศรีนี่มันจะทำให้ต้องให้มีศักดิ์ศรีค้ำคอเลย เพราะคำว่าศักดิ์ศรีว่าอะไรนี่ กิเลสมันเอาอันนี้ออกใช้

เวลาประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ศึกษาธรรมมาแล้ว นั่นน่ะกิเลสมันเอาศักดิ์ศรี เอาเรื่องธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้ แล้วตัวมันมีกิเลสอยู่ เราถึงต้องทำความสงบของใจไง เพื่อให้ศักดิ์ศรีนี่ไม่มาค้ำคอ เรื่องทิฏฐิมานะไม่มาค้ำคอ ทิฏฐิมานะความเห็นของเรา นี่ต้องเป็นอย่างนี้ สมดุล พอดี ๆ พอดีไปหมดนะ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง ก็พอดีอยู่ไง เห็นไหม พอดีตอนเช้า ไม่พอดีตอนกลางวัน ไม่พอดีตอนเย็น

ถ้ามันพอดีนะ พอดีตอนเช้า พอดีตอนกลางวัน พอดีตอนเย็น ความพอดีแต่ละความพอดีนี่กาลเวลามันล่วงวันผ่านวัยไป ความเห็นต่าง ๆ กัน นี่มรรคหยาบ ความเห็นแต่ทีแรกว่าสิ่งนี้พอดี เห็นไหม เวลามันละเอียดเข้าไป จิตละเอียดเข้าไป มันต้องการสิ่งที่สมดุลกว่านี้ ต้องการสิ่งที่ละเอียดกว่านี้

ถ้าเราไปติดที่มรรคหยาบ เหมือนกับได้แบกเหล็กมาเลย เจอเงินก็ไม่เอา เจอทองคำก็ไม่เอา ชั้นแบกของชั้นมาตลอดไป นี่มรรคหยาบมันฆ่ามรรคละเอียด คือมรรคละเอียดเกิดขึ้นไม่ได้ไง เราไม่ได้เงินไม่ได้ทอง เราได้แต่เหล็กอย่างนั้น แต่ถ้าเราทิ้งเหล็กไปนะ เราจะได้เงินได้ทอง แต่ก็ห้ามทิ้งโดยไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ! เราแบกเหล็กมา ถ้ายังไม่ได้เงินอยู่ เราต้องแบกเหล็กนี้ไปก่อน เพราะเหล็กนี้มันก็เป็นแร่ธาตุที่เราไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน

เหมือนกับเราประพฤติปฏิบัติใหม่ ๆ เริ่มต้นนี่เหมือนเด็กเลย เด็ก ๆ ดูเราทะนุถนอมมัน เห็นไหม เด็กจะทะนุถนอมมาก มันจะไร้เดียงสามาก เราพยายามจะต้องให้เขามีจุดยืนของเขา เห็นไหม หนูต้องไปโรงเรียนนะ หนูต้องฝึกหัดนะ สิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนั้นดี ต้องฝึกต้องสอนกันมา นี่ให้ข้อมูล ป้อนข้อมูล เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลย เขียนโปรแกรมเข้าไปที่ใจ ถ้าใจได้โปรแกรมที่ดีไป ใจได้สิ่งที่ดีไป แล้วจริตนิสัยเขาด้วย ถ้าจริตนิสัยเขาปรารถนา เขาต้องการ ถ้าจริตนิสัยของเขานะ เขามีกรรมต่อกันนะ มันจะต่อต้าน ทำไมผู้ใหญ่บังคับ ทำไมคนโน้นไม่ดีอย่างนี้ ทำไมคนนั้นคอยจับผิดเรา เห็นไหม กิเลสมันเป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ เอ้อ..สิ่งนี้เป็นประโยชน์นะ ถ้าไม่เป็นประโยชน์เลย ทำไมโลกเขายอมรับกันล่ะ ทำไมสังคมเขายอมรับสิ่งนี้ล่ะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี ถ้าสิ่งที่ดีเรามันเข้ากับความดี นี่สิ่งที่ว่ากรรม เห็นไหม สิ่งที่ดีเข้ากับสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีเข้ากับสิ่งที่ไม่ดี แต่สิ่งนี้แก้ไขได้หมดนะ เพียงแต่ว่ายากหรือง่ายต่างกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเวลาคนเลี้ยงม้ามาถาม “ถ้าม้าตัวไหนฝึกไม่ได้เลย ฆ่าทิ้ง! ม้าตัวไหนฝึกได้ดี ให้อยู่โดยสมดุลของเขา ตัวไหนฝึกไม่ค่อยได้ ต้องผ่อนอาหาร ต้อง...”

นี่ต้องฝึกต้องฝน ฝึกได้หมดเลย แต่ถ้าฆ่าทิ้ง คำว่า “ฆ่าทิ้ง” นี่มันหมายถึงว่ามันไม่ยอมรับสภาวะแบบนี้ แต่ถ้าถึงกาลถึงเวลาของเขา เขาต้องเปลี่ยนแปลงของเขาไป สิ่งที่เปลี่ยนแปลงของเขาไปนะ เราปลูกต้นมะม่วงมันก็คือต้นมะม่วงนะ เราจะดัดแปลง เราพยายามทำขึ้นมาก็เพียงแต่รสมะม่วงดีขึ้น มะม่วงนี่ลูกใหญ่ขึ้นอะไรขึ้น มันก็เป็นมะม่วงนะ จะให้มะม่วงไปเป็นพุทรา จะให้มะม่วงไปเป็นอย่างอื่น มันเป็นไปได้อย่างไร

การเกิดมาด้วยกรรม กรรมแสวงหานี่เกิดมาในชาตินี้ ถ้าชาตินี้มันต่อต้าน สิ่งนี้กรรมมันให้ผลมาแล้ว ถ้าสิ่งที่ให้ผลมาแล้ว เห็นไหม เพราะผลของกรรมมันต้องหมดกรรมอันนั้นไง ถ้าหมดกรรมอันนั้น มันถึงวาระใหม่มันก็เปลี่ยนแปลงไป

ดูสิ ดูเทวดา เห็นไหม ทำไมเทวดารบกัน? เพราะเทวดามันเทวดาฝ่ายเทพก็มี ฝ่ายมารก็มี เป็นฝ่ายมารเพราะอะไร? เพราะเขาทำดีไง เขาทำดี ขณะที่เขาทำดี ผลมันให้เกิดขึ้นมา เขาก็เกิดเป็นเทวดา แต่ใจของเขามันเป็นฝ่ายมาร มันก็ขัดแย้งกันเอง หมู่เทวดา หมู่อินทร์ หมู่พรหมมีอย่างนั้นหมดเลย ทุกสังคมมีดีและมีเลวปนกัน

สิ่งที่มีดีและมีเลวปนกันเพราะอะไร? เพราะใจมันเป็นสภาวะแบบนั้น ใจเป็นสภาวะแบบนั้นนะ แต่ถ้ามีการสะกิดใจ เห็นไหม ถึงต้องมีครูมีอาจารย์คอยหงายสิ่งภาชนะที่คว่ำไง เราคว่ำภาชนะไว้ ฝนตกขนาดไหนก็ไม่ได้นะ ถ้าหงายขึ้นมาได้นะ นี่ครูบาอาจารย์ เห็นไหม เหมือนกันเลย เหมือนพ่อแม่ลูก ถ้าใครเปิดตาของใจได้ ใจของพ่อแม่ลูก พ่อแม่เอาลูกไว้ได้ ลูกเอาพ่อแม่ได้ สิ่งนี้ประเสริฐที่สุด เพราะอะไร?

เพราะมันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่มโนกรรม ตั้งแต่มโนกรรมทำไป มันไปเปลี่ยนแปลงตั้งแต่นี้ไป พอมโนกรรมทำดี ดูสิ คนทำบุญกุศลได้ไปเกิดเป็นเทวดา มันส่งต่อภพต่อชาติไง มันไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ ถ้าชาตินี้ทำดี มันจะให้ผลตลอดไป แต่ชาตินี้ทำสิ่งที่เราสะสมไว้ในหัวใจ มันก็ต้องได้ผลเพราะเหตุมันเกิดแล้วไง

กรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ไม่ได้มาจากไหนเลย ไม่มีใครทำให้ได้หมดเลย ใจเรานี่ทำ แต่ขณะที่มีสติไหม ถ้าพ่อแม่ที่ดี ลูกที่ดี ลูกที่ดีทำสิ่งที่ดีมันก็เป็นประโยชน์ที่ดีกับเรามา สิ่งที่มันเป็นประโยชน์กับเราไป ถ้าเป็นประโยชน์กับเราไป มันก็เป็นประโยชน์กับเราไป เห็นไหม ไป ๆ ๆ เพราะกรรมคือการกระทำ คือเรื่องของกรรมมันไปกับใจ เพราะใจเป็นคนกระทำ เห็นไหม เริ่มต้นจากไหน? เริ่มต้นจากจุดตั้งแต่หัวใจ หัวใจเป็นมโนกรรมเป็นคนคิด เป็นคนทำ ผลก็ย้อนกลับมาที่ใจ

แล้วถ้าเป็นธรรมล่ะ ถ้าธรรมทำให้ทำความดี ธรรมมันเกิดขึ้นมาเป็นสภาวธรรม ใจก็เป็นธรรมขึ้นมา แล้วเป็นกิเลสล่ะ กิเลสมันก็ยั่วยุ กิเลสมันก็ต้องพยายามยั่วยุให้เรามีการกระทำ ผลที่สุดที่กิเลสมันทำแล้ว มันพอใจไหมล่ะ? เพราะมันได้แค่ประสบความพอใจของมัน ได้ทำตามอำนาจความอยากของมัน พอความอยากมันหมดสิ้นไป แล้วกรรมอยู่ที่ใครล่ะ? กรรมอยู่ที่กิเลสไหม? กิเลสนี่มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดดับเกิดดับ แต่มันเหนียวแน่นมาก อยู่กับใจ เวลาทำไปแล้วมันรับผลชั่วไปกับเราบ้างไหม? มันไม่รับเลย แต่ใจเราเป็นคนรับ เพราะอะไร?

เพราะผลเกิดจากใจ เพราะใจเป็นคนทำต้องมีสถานะไง อาการ อารมณ์ความรู้สึกที่ชวนทำไปอันหนึ่ง แต่ใจที่ไม่เคยตายนี่มันเป็นสถานะ มันเป็นภวาสวะ เป็นภพ เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ข้อมูลที่ต้องฝังลงไปที่คอมพิวเตอร์นั้น วันใดถ้าคีย์ไปถึงตรงนั้น มันจะออกมา กรรมนั้นออกมาให้ผล สิ่งที่อยู่ในใจนี่มันเป็นสภาวะแบบนี้ไง

สิ่งนี้มันอยู่กับใจเรา กรรมมันไม่ได้รับผลกับเราหรอก ใจมันมายุแหย่เรา แล้วเราก็ไปตามกรรม แต่ถ้าภาชนะที่หงายขึ้นมา เห็นไหม กรรมมีมากขนาดไหน มันมีน้ำ ภาชนะที่บรรจุน้ำ บรรจุอากาศ บรรจุสิ่งต่าง ๆ นี่ มันเจือจางสิ่งนี้ไง เจือจางสิ่งที่ว่าเป็นกรรม ๆ นี่ มันเจือจางได้ พอเจือจางได้มันก็มีโอกาส

ถ้าน้ำ เห็นไหม ดูสิของสกปรกที่มันเข้มข้น มันก็ยิ่งเหนียวแน่น ยิ่งชะล้างได้ยาก ของสกปรกแต่มันบางลงมันจางลงเพราะอะไร? เพราะมีเจือจางมาด้วยน้ำ เห็นไหม ด้วยความดีของเรา ความเจือจางอันนี้มันเจือจางไปบ่อยครั้ง ๆ เข้า มันก็มีโอกาสให้ได้คิด มีโอกาสให้ได้เปลี่ยนแปลง มีโอกาสได้แสวงหา พอมีโอกาสได้เปลี่ยนแปลงอย่างนี้ มันก็เป็นที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ชักสะพาน เพราะอะไร? เพราะมีการเปลี่ยนแปลง มีการแก้ไข ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง มีการแก้ไขก็มีโอกาสใช่ไหม?

แต่ถ้าไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลง ไม่มีการแก้ไข ดื้อด้านไปอย่างนั้น มันก็เป็นดื้อด้านของกิเลสไป นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชักสะพานไง ชักสะพานคือการฆ่าทิ้งเสีย คือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้โอกาส ไม่สั่งสอนนี่เป็นการชักสะพาน หมดโอกาสเราแล้ว ถ้าเรามีโอกาสขึ้นมา มีครูมีอาจารย์สั่งสอนขึ้นมา อย่างนี้มันเป็นโอกาสของเรา เราจะยอมรับไหม? ถ้าเราไม่ยอมรับ มันก็เป็นกรรมของเรา กรรมของเรานะ ไม่ใช่กรรมของครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์เป็นคนสั่งสอนแล้วลูกศิษย์มันไม่เอา เราเดือดร้อนไหม? เราไม่เดือดร้อนหรอก แต่มันเดือดร้อนลูกศิษย์ ลูกศิษย์นี่ต่อไปมันจะมีปัญหาของมัน แต่ครูบาอาจารย์ไม่เดือดร้อนหรอก มีแต่ความเศร้าใจ ครูบาอาจารย์เศร้าใจนะ เราสอน เราทำสิ่งที่ดีกับเขา แล้วเขาไม่ต้องการ เขาไม่เอาของเขาไป มันก็เรื่องของเขาใช่ไหม? เราไปเดือดร้อนอะไรด้วย?

แต่ก็เดือดร้อนเพราะอะไร? เพราะมันเป็นสายบุญสายกรรม ถ้าไม่เป็นสายบุญสายกรรม เราจะไม่มาทำบุญกุศลกันหรอก เพราะอะไร? มันมีที่ทางไปมหาศาลเลย มันอยู่ที่คนเลือกนะ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระเจ้าพิมพิสารนะ

“ควรทำบุญที่ไหน?”

“ควรทำบุญที่เธอพอใจ”

“แต่ถ้าผลล่ะ?”

ผลต้องเลือกแล้ว เพราะอะไร? เหมือนที่นาบุญ เห็นไหม นาที่ดี นาที่ไม่ดี เราต้องเลือกต้องเฟ้นของเราเพราะอะไร? เพราะเรามีปัญญา ความดี เห็นไหม สิ่งต่าง ๆ ที่ความถูกต้องมันมากันเอง ความชั่วมันก็ไปกันเอง จะปิดบังไว้ขนาดไหน ต้องมีคนรู้ มากหรือน้อยต้องมีคนรู้เหมือนกัน คนรู้นะ แต่เริ่มต้นจากว่าความลับไม่มีในโลก จากเรานี่เรารู้ก่อนเพื่อนเลย ถ้าเรารู้ก่อนเพื่อน นี่พรหมจรรย์ พรหมจรรย์เพื่อเรา ๆ ๆ

ถ้าพรหมจรรย์นี้อยู่จบสิ้นแล้ว การอยู่จบสิ้นนี่มันจบอย่างไร? ความจบด้วยวิธีการอันนี้ นี่ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าไม่จบสิ้นนะ วิธีการมันก็ได้แค่ระดับที่ว่ามันรู้ระดับไหนก็ได้รู้ระดับนั้น ถ้าจบสิ้นกระบวนการ ครบวงจร มันจะเริ่มรู้ตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าก้าวเดินอย่างไร เหมือนกับเราเข้าใจเรื่องชีวิตทั้งหมดเลย ตั้งแต่เกิดเลยนะ ตั้งแต่เกิดจากในครรภ์เลย ไม่ใช่เกิดจากคลอดนะ เกิดจากในครรภ์เลย ปฏิสนธิจิตในครรภ์นั่นน่ะ มันปฏิสนธิจิตอย่างไร

แล้วมันอยู่นั่นมา แล้วเกิดออกมา เห็นไหม ตั้งแต่เกิดแล้วจนตาย ตายแล้วไปไหน? ตายแล้วไปไหน? จิตนี้ไปไหน? วนเวียนไปไหน? เราว่าเกิดแล้วตายแล้วก็จบไง จบไหมล่ะ? ถ้าจบทำไมเรามีทุกข์อยู่อย่างนี้ล่ะ? จบมันควรจะจบสิ ถ้าจบอย่างนี้ทุกข์มันก็ไม่ดีแล้ว สิ่งใดก็ไม่ดีแล้ว เราก็ต้องปฏิเสธมันได้สิ แล้วเราปฏิเสธมันได้ไหมล่ะ?

สิ่งใดที่มันเป็นทุกข์มันอยากปฏิเสธ ปฏิเสธไม่ออกเลย แต่สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่แสวงหา สิ่งที่เป็นสุข มันก็ไม่อยู่กับเราเลย นี่มันไร้การควบคุมไง มันไร้การควบคุมเพราะอะไร? เพราะเราไม่รู้จักต้นเหตุไง แต่ถ้าเราสร้างต้นเหตุได้ เราสร้างต้นเหตุคือเหตุได้ เราจะควบคุมได้ เช่น สมาธิ ถ้าเราทำเหตุได้ เรากำหนดสติได้นี่เราสร้างเหตุได้ เราควบคุมได้หมด โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมได้หมด คีย์ออกมาได้หมด

ถ้าออกมาไม่ได้หมด เราชะล้างให้จิตสะอาดไม่ได้ เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ทำได้หมดเลย แต่ทำได้หมดเพราะเรามีสติสัมปชัญญะ เราตั้งของเรา นี่ชีวิตนี้

เรื่องของปัจจัยเครื่องอาศัยนะ โลกเกิดมานี่ เราทำงานด้วยความพอใจของเรา เราต้องทำนา ต้องมีหน้าที่การงาน มันเป็นเรื่องของธรรมดา เพราะอะไร? เพราะคนเกิดมามีปากมีท้อง เรื่องนี้ปัจจัยเครื่องอาศัย นี่เป็นเรื่องของโลก

เรื่องของธรรมล่ะ คือเรื่องของใจนี่ สุขทุกข์อยู่ที่ใจจริงหรือไม่จริง? นี่เราก็แสวงหาตรงนี้ เราเกิดมาเราก็ไม่เสียชาติเกิดไง ทางโลกเราก็ยืนอยู่ได้บนโลก ทางธรรมเราก็พอมีโอกาสได้หายใจ ไม่ใช่ว่าทางโลกเรามีความพอ มันเป็นไปได้ แต่ว่าชีวิตนี้คืออะไร ตายแล้วไปไหนไม่รู้เรื่อง จบสิ้นตรงไหนก็ไม่เข้าใจ เห็นไหม เพราะอะไร เพราะมันไม่เข้าใจ

แต่ถ้ามันเข้าใจแล้ว เข้าใจขึ้นมา ถึงเข้าใจโดยสัญญา เข้าใจโดยการรับช่วงจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ฝากธรรมไว้กับบริษัท ๔ เราก็รับไว้ รับไว้แล้วเราพยายามค้นคว้าของเรา มันสงสัยไปหมดล่ะ ไม่มีใครหรอกไม่สงสัย แม้แต่ครูบาอาจารย์ท่านบอก “นิพพาน อ่านนิพพานก็ยังสงสัยนิพพานตลอดไป”

ทุกคนต้องสงสัย เป็นไปได้อย่างไร? เพราะอะไร? เพราะคนมีกิเลส แต่อย่างนี้ก็รับไว้ก่อน รับไว้แล้วเราพยายามค้นคว้าของเรา พิสูจน์ของเรา พิสูจน์ขึ้นมา เหมือนกินข้าวเลย หิว หิวมาก ๆ แต่ไม่เคยกินอะไรเลย แล้วก็ต่อต้าน หิวจนตาย แต่ถ้าหิวแล้วลองกินดู ว่าไม่ต้องการ มันขยะแขยง มันไม่อยากกินก็ลองกินดู การกินเข้าไปแล้วมันจะทำให้เรารู้สึกว่าอิ่มขึ้นมา ให้ไปแก้ไขทุกข์ขึ้นมา มันก็เป็นประโยชน์ของเราขึ้นมา มันจะซึ้งใจมากเพราะอะไร? เพราะมันประสบเอง เห็นไหม

ปฏิบัติก็เหมือนกัน ธรรมก็เหมือนกัน แล้วจะไม่สงสัยอะไรสิ่งใดเลย ถ้าความสงสัย มันยังสงสัยอยู่ สิ่งนี้เพราะมันมีกิเลส แต่ถ้าพอเราปฏิบัติของเราขึ้นไป ประสบการณ์อันนี้มันจะไปสอนกิเลสเองนะ เอ็งสงสัยใช่ไหม แล้วที่เอ็งประสบอยู่นี่ถูกต้องไหม? ที่สงสัยนี่ดีไหม? มันจะเข้ามาถึงเราเอง เห็นไหม แก้ไปได้หมดเลย

ถ้าเราเชื่อแล้วเราพยายามปฏิบัติเราอย่างนี้ มันถึงว่าโลก หน้าที่การงานเราก็ทำของเราไป มีโอกาสก็ประพฤติปฏิบัติ ก็ต้องหาหลักหาเกณฑ์ของเราขึ้นมา เพื่อ! เพื่อโลกกับธรรม เราเกิดมาในโลกนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดจากพระเจ้าสุทโธทนะเหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็เกิดจากโลก คนเราเกิดมาจากโลกทั้งนั้นล่ะ แต่เกิดจากโลกแล้วสนใจในเรื่องของนามธรรมไหม? ถ้าสนใจเรื่องนามธรรม แล้วทำจริงด้วย แล้วนามธรรมนี่หลอก มันก็ได้ของหลอก ๆ ถ้าทำหลอก ๆ ก็ได้หลอก ๆ ทำจริง ๆ ก็ได้จริง ๆ

แล้วพอทำจริง ๆ ได้จริง ๆ ขึ้นมา เราก็ได้โลกกับธรรม ไม่เสียโอกาสไง เกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนา ไม่เหยียบแผ่นดินผิด ไม่เหยียบแผ่นดินผิดนะ แล้วถ้าไม่สนใจเลยนี่ เป็นชาวพุทธกันทะเบียนบ้านทั้งนั้นนะ เป็นชาวพุทธ..ศีล ๕ ก็ไม่รู้ อะไรก็ไม่รู้ มันก็น่าสลดสังเวช ถ้ามันเป็นชาวพุทธแล้วมันเข้าใจเรา เพราะอะไร? เพราะมันใจของเรา สมบัติของเราเอง เราเหยียบย่ำอยู่ตลอดเวลา หัวใจนี่มองข้ามหมดเลย ไปมองข้างนอก เห็นไหม

ของมีอยู่กับตัว แต่ไม่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาเพื่อจะให้มันแสดงตัวออกมา แสงสว่างสว่างออกมาจากใจนะ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” ให้มันผ่องใสมีแต่ความสุขกับเราขึ้นมา นี่ของความสุขอยู่กับเราเอง เราไปตื่นเต้นกับข้างนอก ไม่เห็นกับใจของเราเองเลย ถ้าเห็นใจเราเอง ประสบเห็นไหม โลกกับธรรม โลกคือโลก เป็นเรื่องของโลก ธรรมคือเรื่องใจของเรา เรื่องความสุขของเรา เอวัง