เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๙ ธ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่ประสบการณ์ เห็นไหม นิสสัย เวลาไปอยู่กับครูบาอาจารย์นะ ขอนิสสัย ถ้าได้นิสสัย นิสสัยเห็นไหม นิสสัยคือกรอบกติกา ถ้านิสสัยคือกรอบกติกา มันทำให้เรามีขอบเขต ไม่อย่างนั้นยิ่งอ่านยิ่งงงนะ วินัยไปอ่านเถอะ ยิ่งอ่านยิ่งงง กฎหมายนี่ตีความต่างๆ กันไป

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านว่า “แม้แต่ปฏิสังขาโย ถ้าไม่ได้ปฏิสังขาโย ฉันไปเป็นอาบัติแล้วนะ”

นี่ฉันอาหารไป เราบอกไม่เป็นอาบัติ ก็กินได้อร่อยดี มันเป็นอาบัติตรงไหน? มันเป็นอาบัติเพราะอะไร?

เพราะว่าคำสั่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เหมือนกษัตริย์เลย พูดแล้วเป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์นี่เวลาพูดออกมาแล้วเป็นกฎหมายนะ เป็นกฎหมาย เพียงแต่ว่าเดี๋ยวนี้กฎหมายเขาไม่ยอมรับกัน ต้องเป็นกฎหมายที่ต้องตราออกมาเป็นกฎหมายถึงยอมรับกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามแล้ว ใครฝืนเป็นอาบัติเป็นปาจิตตีย์หมด!

ในสมัยพุทธกาล เวลาท่านบอกท่านจะหลีกเร้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะหลีกเร้น ไม่ให้พระเข้าไปเลย ถ้าฝืนเข้าไปเป็นปาจิตตีย์เลยนะ นี่จะหลีกเร้นไม่ให้พระเข้าเลย เพราะอยู่ในที่หลีกเร้น แต่เว้นไว้แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติติดข้องให้เข้าหาได้เลย นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ เพราะอะไร? เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันจะเข้าใจสภาวะแบบนี้ สภาวะแบบไหน?

ดูสิ เวลาเราสงสัยอะไรนี่ มันเป็นกังวลไหม? ถ้าเราแก้ปลดเปลื้องเองนะ ปลดแล้วปลดอีกนะ ต้องหาเหตุหาผล แต่คนที่เขาผ่านมาแล้วนะ เหมือนเด็กกับผู้ใหญ่เลย ผู้ใหญ่เห็นเด็กเล่นอะไรนี่ มันน่าสงสาร เป็นเรื่องตลก เห็นไหม แต่เด็กนะ โอ้โฮ.. มันเอาจริงเอาจังนะ เพราะอะไร? เพราะมันเรื่องที่ใหญ่โตมาก โอ้โฮ.. เอาจริงเอาจังเลย ทำอย่างสนุกสนานของมันเลย แต่เราเคยผ่านประสบการณ์อย่างนั้นมานะ นี่เรื่องเด็กๆ เลย

สิ่งนี้ถ้ามีครูมีอาจารย์ มันจะง่ายขึ้นมา มันจะสะดวกขึ้นมา เห็นไหม นี่ถือนิสสัย ถ้าขอนิสสัยขึ้นมา ได้นิสสัย ถ้าได้นิสสัยขึ้นมานี่ พยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นไป ถ้าเอาแต่เรื่องของกิเลส ตีความกันไปนะ แล้วธรรมวินัยไง จนขนาดที่ทางโลกนะ ทางโลกเขาออก พรบ.สงฆ์ ออก พรบ.สงฆ์เพราะว่าอะไร?

เพราะว่าธรรมวินัยนี่มันเป็นกรรม มันเป็นนามธรรม ต้องออกเป็นกฎหมายบังคับเลย เห็นไหม ที่อโคจร ที่อโคจรภิกษุไปเป็นอาบัติทุกกฏแล้ว ที่ไหนไม่ควรไป ที่อโคจร เห็นไหม ภิกษุไม่ควรไปในที่เขาพลุกพล่าน เห็นไหม ภิกษุควรเข้าป่าเข้าเขา เพราะเขาออกกฎออกระเบียบออกมา

มันเป็นธรรมวินัยแล้ว มันเป็นสิ่งที่น่าละอายแล้ว นี่ไม่เอื้อเฟื้อธรรมวินัยไง เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ถ้าเอื้อเฟื้อในธรรมในวินัย เอื้อเฟื้อ.. เอื้อเฟื้อคือยอมรับไง เอื้อเฟื้อคือว่ามันคิดแล้วมันแทงใจไง สิ่งใดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วมันต้องมีเหตุมีผลสิ

ถ้าเราคิดนะ พ่อแม่ต้องรักเรา ถ้าพ่อแม่บอกสิ่งนั้นไม่ดี เราก็ไม่เห็นว่าไม่ดีอย่างไร สนุกสนานขนาดนี้ ไม่ดีได้อย่างไร?

แต่ลองคิดไปเถอะน่า ลองดูไปเถอะน่า มันต้องมีสิ่งอะไรไม่ดีเคลือบแฝงอยู่ ขนาดท่านพูดไว้เพียงแต่เรามองไม่เห็นไง พอถึงที่สุด ไปถึงเหตุการณ์นั้นนะ จะเสียใจมากเลย ดูสิ ดูอย่างกาลเวลาเราสิ ถ้าเวลาเราผ่านไปๆ แล้ว เห็นไหม เสียดายเวลาที่ผ่านมานะ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยบอกคอยเตือน สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรามากเลย

ทางเดินเราเดินด้วยเท้านะ ทางรถ เห็นไหม ไปยังหลงทางเลยนะ ทางเดินด้วยรถนะ นี่สมัยก่อนไม่มีถนนหนทาง เราต้องบุกป่าฝ่าดงไป เวลาทางเท้าที่เขาเดินระหว่างหมู่บ้านกัน เห็นไหม มันจะเป็นทางเดินไป จะเดินไปนี่จะเดินด้วยสะดวกสบายขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะเขาเดินนำร่องไว้แล้ว

ในปัจจุบันนี้ เขามีถนนหนทาง เขาแบบรัฐบาลเขาตัดถนนหนทางให้ โอ้โฮ.. รถวิ่งได้สบายเลย สะดวกสบายมาก เจริญมาก แบบเดี๋ยวนี้ไปไหนสะดวก มันก็เลยหลงทางกันมหาศาลเลย แล้วทางเดินของใจล่ะ?

ถ้าใจมันเดินทางนะ มันหลง เห็นไหม พอมันไม่เข้าใจ มันหลงของมัน มันเข้าใจผิด ดูสิเข้าใจผิด ทั้งๆ ที่ว่านี่ปฏิปทา เห็นไหม ธรรมและวินัยนี่บอกไว้เป็นอาบัติๆๆ มันยังไม่เห็นเลย มันยังไม่ยอมรับเลย มันฝืนด้วยนะ ไม่ใช่หลงเฉยๆ นะ ถ้าหลงคือมันไม่รู้ มันไม่เข้าใจ ไอ้นี่มันไม่หลง มันฝืนเลย มันต่อต้านเลย มันต่อต้านเพราะอะไร? เพราะมันเป็นกิเลสไง ถ้าหัวใจมันเป็นกิเลส สภาวะนี้มันได้นิสสัยไหม? มันได้นิสสัย เห็นไหม

แต่ถ้ามันได้นิสสัย เห็นไหม เพราะว่าทำตาม ทั้งๆ ที่มันก็ไปเหมือนกับบนถนนนะ มันไปเหมือนบนถนนที่บังคับแล้ว เห็นไหม ต้องโค้งไปตามถนน รถเราวิ่งไป ถ้าเอ็งออกจากโค้งนี้ไป เอ็งก็ลงท้องนา เอ็งไปไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิปทาเครื่องดำเนิน เห็นไหม นิสัยมันก็เหมือนกับนี่ ครูบาอาจารย์ที่พาทำ แต่ถ้าไม่เข้าใจนะ ถ้าไม่เข้าใจไม่ศึกษามันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ เถรส่องบาตร เห็นไหม เห็นอาจารย์เอาบาตรส่องก็ส่องตามไปอย่างนั้น ไม่รู้ส่องเพื่ออะไรเลย

แต่ถ้าไปส่อง เขาดูว่าบาตร ถ้ารั่ว แตก ร้าวไม่ถึง ๑ นิ้วห้ามเปลี่ยน จะเปลี่ยนบาตรได้ต้องแตกต้องร้าวถึง ๑ นิ้ว ถือว่ามันเก็บอาหารไว้ไม่ได้ มันรั่ว เห็นไหม แล้วการเปลี่ยนบาตร ถ้าได้บาตรมาใหม่ ต้องให้หัวหน้าก่อน หัวหน้าเอา-ไม่เอา ถ้าไม่เอานะ ถ้าหัวหน้าเปลี่ยน หัวหน้าจะได้บาตรใหม่ บาตรใบที่หัวหน้าใช้อยู่ก็ต้ององค์ต่อไปๆ เห็นไหม ถ้าไม่เอาก็ผ่านไปๆ นะ

นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ เรื่องการจะถ่ายบาตร เรื่องการเปลี่ยนบาตรนี่ ไม่ใช่ว่าได้บาตรแล้วก็จะเปลี่ยนๆๆ กัน ไม่ใช่หรอก เพราะอะไร?

เพราะสมัยพุทธกาลมันหายากไง บาตรเหล็กบาตรต่างๆ นี่หายากมากนะ มันเป็นบาตรดิน ดูสิ เป็นบาตรดิน บาตรเหล็ก บาตรไม้ห้ามใช้ บาตรทองคำห้ามใช้ บาตรเงินห้ามใช้ ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ห้ามไว้นะ บาตรทองคำนี่จะเกลื่อนไปหมดเลยแหละ เพราะอะไร?

เวลาคนมีศักยภาพไง พระมีศักยภาพขึ้นมา แต่! แต่อย่างนี้เป็นการทำลายศาสนา เวลาพระโมคคัลลานะกับลูกศิษย์พระโมคคัลลานะไป เห็นไหม ที่ว่าเขาไม่เชื่อว่าจะมีพระอรหันต์อยู่แล้ว เห็นไหม เอาบาตรไม้จันทร์แขวนขึ้นไปบนไม้ไผ่ ๓ ท่อน แล้วก็บอกถ้ามีพระอรหันต์จริง ขอให้เหาะขึ้นไปเอา

พวกเดียรถีย์มานะ เตี้ยมกันไว้เลยนะ เราจะแกล้งทำจะเหาะนะ เอ็งคอยดึงๆ ไว้นะ นี่เพื่อจะไปขอเอาบาตรไม้เขา นี่มันทุจริต มันอยากได้ แล้วคหบดีเขาก็เสียใจไง เสียใจว่านี่ขนาดสมัยพุทธกาลนะ นี่ไม่มีแล้ว มรรคผลไม่มีแล้ว ถ้ามีแล้ว บาตรนี่แขวนขึ้นไปเป็นอาทิตย์ๆ แล้ว ไม่เห็นมีใครมาเอาเลย เสียอกเสียใจ คอตกนะ

พระโมคคัลลานะนี่รู้วาระจิต บอกกับลูกศิษย์นะ “เธอต้องไปเอา”

พระลูกศิษย์ก็บอก “พระโมคคัลลานะไปเอา”

เพราะอะไร? เพราะมันเหาะขึ้นไปง่ายๆ ไง สุดท้ายแล้วเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา ก็ให้ลูกศิษย์เหาะขึ้นไป เหาะขึ้นไปวนก็หยิบบาตรไม้จันทร์เหาะลงมา

โอ๊ย.. คหบดีนี้ตื่นเต้น ดีใจมาก “พระอรหันต์ยังมีอยู่! พระอรหันต์ยังมีอยู่! มรรคผลไม่สูญเปล่า” ดีอกดีใจมากเลย

แล้วพอสภาวะแบบนั้นแล้ว นี้คนก็รู้ว่า โอ้โฮ..เหาะได้ เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทร์ ใครจะกินข้าวก็ต้องมาให้เหาะดูก่อน จะบิณฑบาต จะใส่บาตรทัพพีหนึ่งก็ต้องให้เหาะดูก่อน เหาะอย่างนั้นนะ จนร่ำลือไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกเข้ามาเลยนะแล้วติเตียน ติเตียนมาก เห็นไหม นี่ทำให้ศาสนาเสื่อม ศาสนาเสื่อมนะ ผู้มีฤทธิ์มีเดช ผู้มีคุณธรรมแล้วแสดงออกไป ศาสนาเสื่อมเพราะอะไร?

เพราะสังคมในหมู่สงฆ์ สังฆะ สังฆะนี่ไปด้วยกัน เห็นไหม ไม่ใช่เถรส่องบาตรไง มีจริงก็เก็บไว้ข้างใน มีจริงก็มีจริงนะ อย่างครูบาอาจารย์ท่านว่า หลวงตาท่านว่า “ในครอบครัวกรรมฐาน จะรู้กันหรอก ใครของจริง ใครของปลอม ใครมีคุณธรรมจริงไม่มีคุณธรรมจริง ในครอบครัวจะรู้กัน”

รู้กันเพราะอะไร? เพราะพระต้องแสดงธรรมต่อกันไง ถ้าหัวหน้า ผู้ที่มีปัญญาแล้วผู้ที่รู้จริงไม่สอน แล้วพระมันจะรู้ขึ้นมาได้อย่างไร?

การสั่งสอนในวงการของสงฆ์นี่นะ การธมฺมสากจฺฉา ไม่ใช่อวดอุตริมนุสสธรรม อวดอุตริมนุสสธรรมคือธรรมที่มีในตน เที่ยวโฆษณาชวนเชื่อ เที่ยวเอาลากของเขา เห็นไหม อยากจะให้คนเขาศรัทธา ให้เขาเชื่อถือ ไปล้วงกระเป๋า พูดเพื่อล้วงกระเป๋าเขา พูดเพื่อจะเอาตังค์ของเขา นี่อวดอุตริ แต่พูดในหมู่สงฆ์ พูดเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นคติ ไอ้นี่เป็นธรรมๆ ไม่เป็นอวดอุตริหรอก

ในครอบครัวของกรรมฐานนี่จะรู้กัน ในครอบครัวของผู้ปฏิบัติจะรู้กัน เห็นไหม แล้วไม่ให้แสดงออกไปข้างนอก เพราะแสดงออกไปข้างนอก ถ้าคนแสดงออกไปข้างนอก นี่พ่อแม่ก็ทำได้ พ่อแม่ เห็นไหม ไม้ซุง ไม้เต็งขนาดไหนมันก็แบกได้หรอก เด็กๆ นะ ไม้จิ้มฟันยังแบกไม่ไหวเลย แล้วนี่ธรรมะ เด็กมันก็ไม่เป็น เหาะมันก็เหาะไม่ได้ แล้วใครจะดูแลศาสนาล่ะ?

นี่ศาสนาจะเสื่อม จะเศร้าหมองก็ตรงนี้ไง ถึงห้าม มีจริงก็ให้รู้กันภายใน มีจริง คนจริงจริงจากหัวใจ ไม่ใช่จริงจากภายนอก ไม่ต้องจริงจากแอ็คชั่น ไม่ต้องไปอวดเขาหรอก อวดเขาไปอวดเขาทำไม?

แต่ถ้าในวงการของสงฆ์ เราไม่ได้อวด เราเป็นพ่อเป็นแม่ เราเป็นครูบาอาจารย์เขา เราต้องสั่งสอนลูกศิษย์ของเรา เราต้องพยายามฝากศาสนาให้ได้ ทำศาสนาให้มั่นคงขึ้นมา นี่มันการสั่งสอน อย่างนี้ไม่ได้อวด อย่างนี้เป็นการปั้น เป็นการติเพื่อก่อ เป็นการปั้น เห็นไหม ทำไอ้พวกประติมากรรม เขาต้องปั้น กว่าเขาจะปั้นได้ เขาจะสวยงามขนาดไหน

นี่ก็ปั้นขึ้นมา เห็นไหม ปั้นลูกศิษย์ขึ้นมา มันไปอวดตรงไหน มันไม่ได้อวดหรอก สิ่งนี้ไม่ได้อวด เวลาแสดงธรรมนะ มันแสดงธรรมมันต้องแสดงได้ ถึงเวลาควรจะออกต้องออก ถึงแม้เวลาไม่ควรออก จะไปเรื่องของโลกเขาทำไม เขาเป็นคฤหัสถ์ เขาอยู่ในฆราวาสของเขา เขาอยู่ในสังคมของเขา ไอ้เรานี่มันคนละสังคม

เหมือนกับเงินเลย เงินคนละสัญชาติ เมื่อก่อนเขาต้องปฏิวัติเงินตรานะ เดี๋ยวนี้เขาไปเป็นเงินพลาสติก มันไปได้หมดล่ะ นี่ก็เหมือนกัน มันอยู่คนละขอบเขต แต่ถ้าเขามีจิตใจ เขาอยากจะประพฤติปฏิบัติ เขาเข้ามาในวัดในวา เขาปฏิบัติของเขา นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เห็นไหม เพราะอะไร?

เพราะธรรมของเขา เห็นไหม ศีล ๕ ศีล ๕ ก็สามารถทำให้เป็นพระโสดาบันได้ แต่เวลาศีล ๒๒๗ ล่ะ ศีล ๒๒๗ เวลาประพฤติปฏิบัติทำไมมาปฏิบัติแล้วมันยังลังเลสงสัย มันยังมามีนิวรณธรรม มันก็ต้องปลงอาบัติ เห็นไหม ศีล ๒๒๗ มันก็เป็นพื้นฐานที่กว้างขวาง เป็นพื้นฐานที่รองรับ

นี่ศีล สมาธินี่ถ้ามันไม่มีกำลัง ไม่มีภาระ มันจะรับภูมิธรรมอันนี้ได้อย่างไร?

แต่เวลาเป็นคฤหัสถ์ เขาเป็นฆราวาส เห็นไหม เขาศีล ๕ เขาศีล ๑๐ เขาก็ปฏิบัติของเขาได้ เขาเป็นพระโสดาบันได้ แม้แต่คฤหัสถ์ก็จะเป็นอริยภูมิขึ้นมาก็เป็นได้ แต่ขณะที่ศีลเขาสภาวะแบบนั้น เขาก็ทำได้ง่ายกว่า ยิ่งถ้าจะแสดงธรรม เขาแสดงธรรม เห็นไหม

ดูสิ ดูสังคมในปัจจุบันนี้ พระพูดไม่ได้ พระแสดงธรรมไม่ได้ อวดอุตริมนุสสธรรม พระถึงให้แสดงไม่ได้ ไปเอาพวกอุบาสิกา เห็นไหม ออกไปแอ็คชั่นกัน ออกทีวี ออกไปนะ เพราะอะไร? เพราะมันจะหลบตรงนี้ไง หลบอวดอุตริไง แต่ถ้าเป็นพระทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร? เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมี กฎหมายยังมีอยู่ ธรรมวินัยยังมีอยู่ เห็นไหม พยายามจะแถกัน เพราะอะไร?

เพราะ! เพราะเริ่มต้นมันเป็นอกุศลอยู่แล้วไง อกุศลในหัวใจ การสั่งสอน เขาสั่งสอนกันจากภายใน การสั่งสอน ดูสิ ดูอย่างโรงยิม เขาฝึกนักกีฬาของเขา เขาพยายามฝึกของเขา เขาลงทุนขนาดไหน เห็นไหม ดูสิ เขาต้องมีความพร้อมของเขา ร่างกายเขาต้องพร้อมของเขา ไอ้นี่เขานอนกันอยู่ในบ้านก็ยังจะให้เขาฝึกกีฬา มันฝึกเป็นไปไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเขาเป็นคฤหัสถ์ เขาอยู่ในองค์กรของเขา เขาจะเป็นสภาวะแบบนั้น แต่เวลาจำเป็นขึ้นมาในโรงยิมทำไมไม่สอน? ในวัดของตัว ในลูกศิษย์ของตัว พระในวัดของตัวทำไมไม่สอน? พระในวัดของตัวนะคุมให้ได้ก่อน คุมตัวเองให้ได้แล้วคุมพระตัวเองให้ได้ เห็นไหม เป็นพ่อแม่ครูจารย์นะ พ่อแม่ครูจารย์ก็ต้องดูแลรักษาสิ รักษาทั้งความก้าวเดินไปจากถนนหนทาง การก้าวเดินโดยเท้า การก้าวเดินโดยหัวใจนะ นี่วิถีของจิต

จิตนะ วิถีของมัน การเคลื่อนไหวของวิถีของจิต มันจะทำอย่างไร วิถีของจิตจะกลับมาชำระเราอย่างไร วิถีของจิตมันจะเป็นสภาวะแบบใด เห็นไหม ถ้าครูบาอาจารย์มีธรรมจะรู้วิถีของจิต วิถีของจิตจะย้อนกลับเข้ามาทำลายกิเลสอย่างไร ถ้าทำลายกิเลสอย่างนั้นแล้วขึ้นมา มันก็สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา นี่คุณธรรม ธรรมอันนี้สำคัญมาก นี่การก้าวเดินของใจ

การก้าวเดินของกายนะ การไปถนนหนทาง มันยังหลงทาง มันยังผิดพลาด การผิดพลาดนี่มันเป็นนักสู้ ถ้าเราเป็นนักสู้ ไม่มีการผิดพลาดเลย เราก็เป็นคนไม่เคยทำอะไรเลย คนไม่เคยทำอะไรก็คนไม่เคยผิดเลย ถ้าคนเคยบุกบั่น เคยทำผิดบ้าง ผิดถูกมันก็เป็นคติธรรมกับเรา คตินะ ผิดมันก็เป็นตัวอย่างกับเราเอง สิ่งนี้ผิด เห็นไหม เขาว่าสิ่งนี้เป็นคุณธรรม แล้วเราทำไปแล้วทำไมไม่ได้ผล?

มันไม่ได้ผลเพราะอะไร? เพราะเราไม่เก็บเอาความรู้สึกผลการกระทบกระเทือนนั้นมาวิจัย ผิดถูกอย่างไรนะมันวิจัยได้ ผิดใครเป็นคนผิด? หัวใจเป็นคนผิด แล้วหัวใจคนที่ผิด เห็นไหม คนผิดแต่มันก็ได้กระทำแล้วใช่ไหม? เราได้กระทำแล้วมันก็ยังเป็นประสบการณ์ของเรา เห็นไหม ผิดก็ไม่เป็นไร ผิดก็ต้องต่อสู้กันต่อไป ใครบ้างไม่เคยผิด?

นี่ถ้ามันมีปัญญาขึ้นมา มันใคร่ครวญขึ้นมา มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้นนะ แต่ถ้ามันกิเลสนะ มันท้อถอย น้อยเนื้อต่ำใจนะ นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้นะ นอนจมสภาวะแบบนั้น แล้วจะไม่ได้อะไรเลย

ดูสิ ดูอย่างทางโลกเขา เขาจะได้รถได้อะไรสักคัน เขาต้องแสวงหาเขามา นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันจะก้าวเดินไป สมาธิก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี แล้วจะพร้อมอะไรจะก้าวเดิน มันต้องมีความพร้อม จะผิดถูกชั่งหัวมัน สร้างขึ้นมา สร้างกำลังใจขึ้นมา แล้วสร้างวิถีจิตขึ้นมา วิถีจิต

ดูสิ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมนี่เป็นอนัตตา สมาธิก็เป็นอนัตตา ปัญญาก็เป็นอนัตตา สิ่งนี้เป็นอนัตตา อนัตตานี่สร้างมันขึ้นมา สร้างมันขึ้นมาก่อนแล้วเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นจิตตั้งมั่นแล้วมันหมุนเวียนออกไป สิ่งที่เป็นอนัตตา สิ่งที่เป็นอนัตตาสร้างขึ้นมา นี่มันเป็นของเรา ประสบการณ์ของจิต เห็นไหม วิธีการ มรรควิธีการ มรรคญาณ แต่เวลาเป็นผลขึ้นมากันแล้ว ผลอันนี้มันรู้จริงในหัวใจอันนี้ สิ่งนี้คงที่ สิ่งนี้เป็นความสุข สิ่งนี้เป็นความจริง ความจริงในหัวใจของเรา

นี่เกิดมามีอำนาจวาสนา เกิดมาเป็นเราแล้ว เห็นไหม เป็นเรา เป็นเรานี่ เราเป็นเรา เวลาว่าเป็นเรานี่เป็นตัณหาความทะยานอยาก นี่เป็นเราทั้งหมดเลย เป็นภวาสวะ แต่ว่าเป็นเราแล้ว เพราะเราเกิดมา เพราะถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องมีวิธีการ มีการเริ่มต้น

เริ่มต้นแล้วก็เป็นเรา เห็นไหม เป็นเรา ผลที่มาเป็นเรา เป็นเรา เป็นเรา เป็นเราก็มีภวาสวะก่อน เห็นไหม โสดาบัน สกิทา อนาคานี่เป็นเราหมดเลย เป็นพระอรหันต์แล้วเป็นเราไม่ได้ เพราะเป็นเราเป็นภวาสวะ เป็นเราก็เป็นกิเลส เป็นเราก็เป็นอวิชชา เป็นเราก็เป็นสถานที่ตั้ง ทำลายทั้งหมดเลย ทำลายทั้งหมดแล้วกลับมั่นคงแข็งแรง กลับเป็นความจริงที่สุด เอวัง