เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ ธ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนเรานะ สูงต่ำดำขาวนี่มันเห็นกันจากภายนอกใช่ไหม สูงต่ำดำขาวนี่เราจะแต่งเนื้อแต่งตัว เรายังต้องให้มันสมควร ให้มันดูสวยงามเลย ให้มันดูแล้วไม่น่าเกลียดเลย แล้วคิดดูสิ คนใจต่ำ ใจหยาบ ใจละเอียดนี่มันต่างกันขนาดไหน สูงต่ำดำขาวเราเห็นจากภายนอก การสูงต่ำดำขาว เราทำอะไรยังต้องสมกับกาลเทศะ ให้มันสมควรกับเรา

ถ้าใจคนมันต่ำนะ มันเห็นว่าของต่ำนั้นเป็นของดี แล้วคิดดูคนใจต่ำ ดูสิทางโลก เราไม่ใช่ว่า นี่มันเป็นเรื่องของอำนาจวาสนา อย่างคนดำก็คือคนดำใช่ไหม คนขาวก็คือคนขาว คนสูงคนต่ำมันก็เป็นธรรมชาติที่มันเกิดมาอย่างนั้นใช่ไหม อันนี้เป็นธรรมชาติ แล้วธรรมชาตินี้มันแก้ไขไม่ได้เพราะเป็นวัตถุ

แต่หัวใจมันแก้ไขได้ คนเราใจต่ำมันก็คิดว่าสิ่งที่มันคิดนี่เป็นประโยชน์ใช่ไหม คนใจสูงนะ ดูสิอย่างพวกเราที่มีใจ ใจสูงหมายถึงว่าเห็นเขาทำอะไรกันที่ผิดพลาด เขาคิดได้อย่างไร เขาคิดได้เพราะใจเขาต่ำไง ใจเขาต่ำ เขาเอากิเลสเป็นใหญ่ เขาบูชากิเลส เขาเอากิเลสของเขา เอาความยึดมั่นถือมั่นของเขาเป็นความถูกต้องของเขา แล้วมันก็ยึดของเขา แล้วมันก็เป็นของเขา

สิ่งนี้มันเป็นจริตนิสัยนะ คำว่า “จริตนิสัย” มันเหมือนกับแร่ธาตุ ถ้าเราตรงจริต เวลาเราภาวนากัน เราหาครูบาอาจารย์กัน เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เราเคารพบูชาของเรามากเลย แล้วเป็นของที่ว่ามีคุณค่ามาก ทำไมคนอื่นเขาด่า ติฉินนินทาล่ะ เพราะอะไร? เพราะเขาเข้ากันไม่ได้ไง อันนี้มันเป็นธาตุนะ ธาตุเข้ากันไม่ได้ก็มี

ดูในพระไตรปิฎกนะ พระพุทธเจ้าเทศนาว่าการเวลาพระมา เห็นไหม ลูกศิษย์ของพระสารีบุตร ๕๐๐ นี่เป็นปัญญาวิมุตติ ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ ๕๐๐ พวกนี้มีฤทธิ์หมดเลย ลูกศิษย์ของพระเทวทัต ๕๐๐ ลามกหมดเลย ฟังสิ! มันเข้ากันโดยธาตุ มันชอบนะ มันเห็นว่าสิ่งนี้ดี แล้วมันเข้าไปโดยธาตุ อันนี้ธาตุนะ ธาตุอย่างนี้ แต่แก้ไขได้ไหม ถ้าแก้ไขนะ โดยธาตุนี่มันแก้ไขไม่ได้ โดยจริตนิสัย เห็นไหม

ดูสิ เวลาพระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว พระสารีบุตรที่บอกว่า “เมื่อก่อนศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก เอาเป็นที่พึ่งบูชา แต่พอตัวเองบรรลุธรรมแล้ว เข้าถึงธรรมแล้ว ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย” เพราะอะไร? เพราะความเชื่อเป็นศรัทธา เป็นเครื่องดำเนิน เป็นหัวรถจักร แต่ความจริงที่ประสบจากหัวใจมันเป็นความจริง เชื่อสัจจะความจริงอันนั้น

ถ้าความศรัทธาความเชื่ออันนี้มันไม่เป็นความจริง แต่ว่าประสบการณ์ของจิตอันนั้นมันเชื่ออันนั้น สิ่งนี้มันชำระกิเลสได้ แต่จริตนิสัยพระสารีบุตรก็ยังเป็นสภาวะแบบนั้น เห็นไหม ที่ว่าโดดข้าม...องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เมื่อชาติที่แล้วเขาเป็นลิง”

จริตนิสัยเราก็เหมือนกัน ถ้าเราทำตรงจริตนิสัย เหมือนกับเรากินอาหาร อาหารอะไรที่ถูกปากเรา อาหารที่เราชอบเราจะกินได้มาก ร่างกายเราจะแข็งแรงใช่ไหม ถ้าเราไปกินอาหารที่ว่าเราไม่ชอบเลย เราก็กินได้ใช่ไหม แต่ร่างกายเราจะไม่ค่อยแข็งแรง เพราะอะไร? เพราะเรากินแล้วมันเข้าไปโต้แย้งกับความรู้สึกของเรา

จริตนิสัยก็เหมือนกัน ถ้าเราภาวนาตรงกับจริตของเรา เราตรงมันก็กินอาหารที่ถูกต้อง มันเข้าไปแล้วมันอิ่มหนำสำราญ คือเข้าไปแก้กิเลส แต่จริตนิสัยก็คืออันนั้น จริตนิสัยเหมือนพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้วก็เป็นสภาวะแบบนั้น สิ่งที่ใจสูงใจต่ำนี่มันพัฒนาได้ แต่คนเราเวลาความสูงความต่ำ เรื่องของร่างกายมันเป็นธรรมชาติ แต่โลกเดี๋ยวนี้ปัจจุบันเทคโนโลยีเขาทำได้ เรื่องของเขา

พูดถึงสัจธรรมความจริง อย่างเรื่องจักรพรรดิ เห็นไหม แต่สมัยโบราณถ้าเป็นจักรพรรดิ ทุกอย่างเป็นขุนนางแก้ว ขุนพลแก้ว ทุกอย่างแก้วนี่มันเป็นโดยธรรมชาติ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นการประชาสัมพันธ์ มันเป็นหน้าฉาก เดี๋ยวนี้ศาสนาเราเลยเอามาอ้างไง ก็ดูว่าศาสนานี่ การเมืองเอาศาสนามาใช้ เอาศาสนามารองรับการเมือง รองรับการเมืองคือเขาทุจริต

แต่ถ้ามันเป็นความจริงไม่รองรับการเมืองนะ ความดีคือความดีไง ความดีมันเข้าได้ ศาสนานี่สูงกว่าการเมือง สูงกว่าทุก ๆ อย่างเลย เพราะอะไร? เพราะถึงที่สุดแล้วมันเป็นความจริง อริยสัจ มันเป็นความจริง แล้วจริงที่ไหน จริงจากใจของเรา ถ้าใจของเรามันจริง เห็นไหม เพราะเราสัมผัสเอง ดูสิใจเราต่ำ ใจเราต่ำหมายถึงเราไม่รู้อะไรเลย เราก็ว่า เออ..อันนี้ทำไมเป็นอย่างนี้? ทำไมเป็นอย่างนี้? พอเข้าไปนะ เวลาครูบาอาจารย์ หลวงตาท่านพูดบ่อย เมื่อก่อนฟังแล้วมันก็เฉย ๆ นะ แต่พอมันเห็นสภาวะแล้วมันซึ้งใจมาก “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด” ความคิดหยาบ ๆ ไง

อย่างเช่นเราได้สมบัติอะไรมา มันเป็นของที่มีคุณค่าน้อย แต่เราถือมาไกลไง เราไปเจอทองคำ เราไม่กล้าทิ้งนะ เราแบกมาไกล เราเสียดาย ๆ ๆ นี่ความคิดหยาบ ๆ มันทิ้งไม่ได้ เพราะทิฏฐิมานะเรายึดมั่น ยึดมั่นกับความคิดของเราเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่เราทิ้งของที่มีคุณค่า เช่น พวกเหล็ก พวกตะกั่ว แล้วเราไปแบกทองคำ เราเอาทองคำไปบ้าน บ้านเราจะมีคุณค่ากว่า นี่ทองคำมันมีคุณค่ามากกว่า ธรรมะที่เราเข้าไม่ถึง

ดูสิ ดูอย่างชาวนาชาวไร่ ถ้าฝนตกนะ ถ้าฟ้าร้องฝนตก ตกขึ้นมาเขาจะชื่นใจมาก เพราะอะไร? เพราะพืชพรรณธัญญาหารเขาจะเกิดขึ้นมา แต่เรานี่ ฝนตกแดดออกเพราะเราไม่มีอาชีพนั้น เพราะเราไม่มีอาชีพการกสิกรรม เราไม่สนใจหรอก ดูสิทางอีสานนะ เวลาเราไป เวลาครูบาอาจารย์ท่านถาม “ฝนตกดีไหม? น้ำดีไหม?” เพราะอะไร? เพราะอาชีพกสิกรรม มันอยู่กับน้ำกับต่าง ๆ ถ้าสิ่งนี้มีคือเป็นประโยชน์ของเขา นี่มันเป็นประโยชน์

ใจก็เหมือนกัน ถ้ามันพัฒนาขึ้นมา มันจะเห็น มันรู้จักของมัน มรรคหยาบ ความคิดหยาบขึ้นมา แล้วถ้าความคิดละเอียดขึ้นมา อะไรเป็นละเอียด เราก็ไม่รู้อีกอะไรเป็นหยาบ อะไรละเอียด ก็ความคิดเหมือนกัน ไม่เหมือนกัน! เพราะมันเป็นโลกียปัญญา ดูสิปัญญาของเรา

ดูสิการบริหารจัดการ ทุกคนเลยพอเราเข้ามาบวชใหม่ ๆ พวกนักบริหารนะ ทุกอย่างดีหมดเลยศาสนานี่ ขาดแต่การบริหารจัดการ แล้วจะไปบริหารจัดการ มันไปบริหารจัดการได้ไหม? ความแก่บริหารจัดการได้ไหม? ความทุกข์บริหารจัดการได้ไหม? ความแก่มันชราคร่ำคร่าไป มันบริหารจัดการได้ไหม? มันเป็นสิ่งที่บริหารจัดการไม่ได้ มันบริหารจัดการได้บริหารจัดการกิเลสมึงน่ะ กิเลสในหัวใจนี่ บริหารจัดการกิเลสของเรา กิเลสของเราเวลามันฟุ้งซ่านขึ้นมา เราอยากจะบริหารจัดการคนนู้น เราอยากบริหารจัดการให้มันเรียบร้อย บริหารจัดการเราก็เป็นเรื่องโลกียปัญญา

นี่โลกียปัญญา โลกียปัญญาถึงว่าเรื่องสังคม เรื่องความเป็นไปของโลก โลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญามันทันตัวเองไง ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร...สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วปัญญามันทันความคิดเรา มันเอาความคิดเราไว้ในอำนาจของเราได้ ความคิดเราที่มันคิด มันเบียดเบียนเราก่อน เวลาเราคิดขึ้นมามันต้องใช้พลังงานในหัวใจเรา คิดดีหรือคิดอะไรก็แล้วแต่ มันต้องใช้พลังงาน พลังงานนี้มันทำให้เราเหนื่อย

การบริหารจัดการ ดูสิ ผู้บริหารจัดการนี่แก่เร็วมากเลย เพราะอะไร? เพราะมันวิตกวิจาร มันเครียด มันตึงเครียดมาก ถ้าปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ปัญญารอบรู้ในความคิดเรา มันยับยั้งความคิดเราได้ ความคิดนี่ยับยั้งได้ ๆ พอยับยั้งความคิด ความคิดเกิดดับ พอความคิดเกิดดับนี่ ความคิดเรายับยั้งได้ ความคิดไม่มี ใจก็เป็นอิสระ ใจเป็นอิสระนี่ใจเป็นสมาธิ

ถ้าใจเป็นสมาธิ แล้วเกิดถ้าใจมันน้อมไปเห็นว่าเรานี่เกิดมาทำไม? เรานี่สิ่งใดพาเกิด? สิ่งที่เกิดนี่มันมีสัจจะอะไรพาเกิด? จิตนี้มันเป็นอย่างไร? ย้อนกลับมา ย้อนกลับมานี่ มันพาเกิดเพราะอะไร? เพราะมันมีทิฏฐิมานะ มันมีภวาสวะ มันมีสถานที่ตั้ง มันมีเรา เราอยู่ที่ไหน? เราอยู่ที่ใจ ใจอยู่ที่ไหน?

คนเกิดมา เห็นไหม จริงโดยสมมุตินะ เราเกิดมาจากครรภ์ของมารดานี่เป็นเราไหม นาย ก. นาย ข. นี่เป็นเราแน่นอน แต่เป็นเราชั่วคราว เป็นเราโดยสมมุติ แต่กิเลสมันไม่ยอมไง เป็นเราตลอดไปไง เวลาอะไรแปรสภาพ มันมีความอาลัยอาวรณ์นะ คนแก่เวลาชราคร่ำคร่า ก็ต้องไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วเวลาจะพลัดพรากจะต้องไปตามสัจจะความจริง วันนี้พรุ่งนี้มันต้องเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ชีวิตนี้มันต้องมีการพลัดพรากเป็นที่สุด

แล้วมีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถ้าเราเข้าใจตั้งแต่ปัจจุบันนี้ เราเห็นสภาวะแบบนี้ เราพิจารณาความยึดมั่นถือมั่นของมัน จิตนี่มันยึดมั่นอะไร? ก็ยึดมั่นสมบัตินี่ สมบัติที่มีคุณค่าที่สุดในโลกนี้คือชีวิตนะ! ชีวิตเรานี่มีคุณค่าที่สุดเลย เพราะมีเรา สมบัติถึงเป็นของเรา แล้วพอชีวิตแล้ว ชีวิตมันอยู่โดยอะไร? มันอยู่ในร่างกายนี้ มันจิตกับกายนี่แหละ แล้วสมบัติถึงเกิดขึ้นมา

ตอนนี้ถ้าเราเข้มแข็ง เราไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วยนะ สมบัตินี่มีคุณค่ามาก จะจับมาเก็บล้าง เพชรนิลจินดาจะเก็บล้างหมดเลย แต่เวลาจะเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาจะพลัดพรากจากกัน เพชรนิลจินดามีคุณค่าไหม? มันก็ห่วงเรานะ ห่วงจิตนี้นะ จิตนี้มีห่วงมาก

แต่ถ้าเราชำระในปัจจุบันนี้ เราชำระล้างจนจิตมันสะอาดหมดแล้ว มันไม่ห่วงอะไรเลย สิ่งที่สะอาด เห็นไหม สิ่งที่สะอาดนี่พัฒนาขึ้นมา นี่โลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญามันจะเห็นสภาวะแบบนั้น แต่พวกเรามันเป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญาคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สรรพสิ่งนี้ไม่ใช่เราก็เห็น เห็นไหม โรงพยาบาลมีทั้งเด็กเกิด มีทั้งห้องคลอด มีทั้งห้องดับจิต ในโรงพยาบาลนั้นก็มีคนเกิดคนตายตลอดไป ก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมดาของเขาเพราะอะไร? เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของคนอื่น แต่ถ้าเมื่อไหร่เราจะเกิดเราจะตายสิ มันสะเทือนใจตรงนี้ไง เวลาเห็นคนอื่นประสบอุบัติเหตุ โอ๊ย..ก็เท่านั้นน่ะ มันสลดใจอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนเรา แต่ถ้าเราไปเจ็บป่วยขนาดแขนหักแขนห้อยเลยนี่ เราจะเจ็บเองปวดเอง

จิตก็เหมือนกัน ถ้าไปประสบเองมันจะเป็นเรา นี่ปัจจัตตังเป็นตรงนี้ไง แล้วถ้าจิตเห็นอย่างนี้ นี่จิตสูงจิตต่ำ จิตสูงจิตต่ำคือว่าการวิปัสสนา การเราควบคุมใจของเราขึ้นมา แต่จิตสูงจิตต่ำขนาดไหนนะ พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลเป็นง่อยค่อมก็มี เป็นสิ่งที่ว่าสร้างบุญกุศลมาก็มี บุญกุศลอย่างนี้เราสร้างมา เพียงแต่ว่ามันโอกาสไง เพราะเราเกิดมาในชาตินี้ พระโพธิสัตว์เวลาเกิด เกิดเป็นสัตว์ก็มี เกิดเป็นมนุษย์ก็มี เกิดเป็นอะไรก็มี

การเกิดอย่างนี้ ขณะสูงขณะต่ำนี่มันเป็นสิ่งที่มันพัฒนามาในปัจจุบันนี้แล้ว แล้วว่าชีวิตนี้มีคุณค่ามาก นักปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ถึงว่าชีวิตนี้มีคุณค่ามาก เพราะอะไร? เพราะลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนี่มีคุณค่ามาก หายใจเข้านึก “พุท” หายใจออกนึก “โธ” นี่มีคุณค่ามาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “คนเรานะ ถ้ามีสติสัมปชัญญะ แม้แต่หายใจเข้าหนหนึ่งดีกว่าคนประมาททั้งชีวิตเลย ร้อยปีของเขาไม่มีคุณค่าเท่ากับคนที่ลมหายใจเข้ามีสติหนหนึ่ง”

คิดดูสิ แล้วเรามีสติหนหนึ่ง เรามีลมหายใจเข้าและออก มีสติตลอดไปจะมีคุณค่าขนาดไหน คุณค่าชีวิตมันอยู่ตรงนี้ไง ถ้าคุณค่าชีวิตมันอยู่ตรงนี้ ตรงนี้คือว่ามันเป็นเริ่มต้นของการเกิดและการตาย แล้วถ้าเราย้อนกลับมาชำระมันนะ นี่โลกุตตรปัญญาจะย้อนกลับมาที่นี่ สมบัติข้างนอกมันอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่บารมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ แต่บารมีมหาศาลเลย พระสีวลี เห็นไหม ลาภมหาศาลเลย พระในสมัยพุทธกาลที่ว่าเป็นพระอรหันต์ที่ไม่เคยฉันข้าวอิ่มเลยก็มีเหมือนกัน...อำนาจวาสนา จริตนิสัยมันเพียงแต่ว่าทำให้ตรง

เหมือนกับโรคนะ เราไปหาหมอ เราเป็นโรคชนิดหนึ่ง แล้วหมอตรวจวิเคราะห์โรคผิด ไปรักษาอีกชนิดหนึ่ง โรคจะหายได้ไหม หายได้เหมือนกันถ้ายามันใกล้เคียงกัน แต่มันก็ถูลู่ถูกังใช่ไหม? นี่ก็เหมือนกัน การปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน ถ้าจริตมันตรง มันง่าย มันก็เข้ามาใช่ไหม แต่ถ้ามันไม่ตรงไม่อะไรนี่ มันก็ทำให้เราถูลู่ถูกัง ไปหาหมอนี่นะ เราบอกอาการไข้ของเราให้หมอเขาวิเคราะห์ แต่เวลาเราปฏิบัติ เราต้องวิเคราะห์เอง

ปัจจัตตัง เห็นไหม แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางนะ เราพยายามวิเคราะห์ของเรา ภาวนาแล้วมันปล่อยไหม? ภาวนาแล้วดีขึ้นไหม? พัฒนาขึ้นมาไหม? ใจดีขึ้นไหม? นี่เราสังเกตได้ เราทำได้ เราเป็นคนรู้เอง อย่างคนอื่นเขาบอกเป็นเรื่องของข้างนอก ข้างในก็เป็นเรื่องของเรา นี่ใจสูงใจต่ำหรือว่าจริตนิสัย มันเป็นสิ่งที่สร้างสมมา

ประวัติศาสตร์ อดีตแก้ไขไม่ได้ ปัจจุบันนี้แก้ไขได้ แล้วปัจจุบันนี้เราพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนทุกอย่างเลย สอนตั้งแต่ดำรงชีวิตนะ สอนตั้งแต่เกิด ให้กตัญญูกตเวที สอนถึงการเผื่อแผ่ สอนถึงเรื่องสังคมให้มีร่มเย็นเป็นสุข เพื่ออะไร? เพื่อสังคมร่มเย็นเป็นสุข คนจะได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ เพราะการประพฤติปฏิบัติเพื่อจะชักถอนเรื่องของใจเลย มันละเอียดเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ศาสนาสอนทุกอย่าง สอนถึงการเกิดถึงการตาย

แล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราต้องใช้ประโยชน์กับเรานะ ถ้าใจเราสูงเราก็จะได้ยอดเพชร ได้ยอดมงกุฎ ถ้าใจเราพอใจแต่เรื่องของฐาน เห็นไหม เขาพอใจยอดมงกุฎกัน เราไปพอใจแต่ภาชนะที่ใส่มงกุฎ พอใจแต่โต๊ะที่เอามงกุฎมาไว้บนโต๊ะนั้น เขาเอามาให้คนดู ตั้งไว้บนโต๊ะ นี่เราจะเลือกอะไร? ถ้าเราเลือกอะไรนี่ มันก็ย้อนกลับมาที่ใจสูงใจต่ำนี่ไง

ใจสูงใจต่ำอยู่จากภายในนะ ไม่มีใครเห็นหรอก แต่เทวดาเห็น ครูบาอาจารย์ที่ปรมัตถ์จิต รู้จักจิต เห็นเข้าใจสภาวะแบบนี้ แต่เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องอำนาจวาสนา จะเทียบกันไม่ได้ ไม่สำคัญ สำคัญแต่รู้จักชีวิตของเราไหม รู้จักชีวิตของเรา แล้วสร้างคุณงามความดีของเรา พัฒนามัน เปลี่ยนแปลงมัน ให้มันเป็นคุณค่าของเรา ชีวิตนี้มีคุณค่าที่สุด แล้วจิตที่พ้นจากกิเลสยิ่งมีคุณค่าใหญ่เพราะมันเป็นจิตของเรา เอวัง