เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ ธ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ใจเขาใจเรานะ ใจเขาเป็นใจเขา ใจเราเป็นใจเรา แต่เวลาโลกมันใส่หน้ากากเข้าหากัน

“สบายดีไหม?”

“สบายดี”

สบายของใคร? ดูสิเวลาเขาออกปาฐกถากัน “จิตเป็นอิสระ” จิตเป็นอิสระของใคร? จิตเป็นอิสระของคนเมาไง เวลาคนเมาเหล้ามันคุยโม้กัน จิตเป็นอิสระ มันสนุกสนานครื้นเครงเพราะมันก๊งเหล้ากัน มันก๊งเหล้า มันเฮฮา มันมีความสุขมากนะ มันบอกจิตเป็นอิสระ อิสระจากอะไร?

เวลาเขาเสพยาเสพติดกัน เพราะอะไร? เขาต้องการให้กดประสาทเพื่อจะให้พ้นจากความรับผิดชอบ เขามีความสุขของเขา เวลาก๊งเหล้ากัน ...เมาไง เมาเหล้าเมาอะไรก็จิตอิสระ จิตอิสระจากความเห็นของใคร?

ถ้าเป็นอิสระของเรา จิตเราเป็นอิสระ ดูสิ เราออกไปแบกโลก เราไปเที่ยวบริหารจัดการคนอื่นให้เขาจบกัน เรากลับมาบ้านเราอิสระไหมล่ะ? เพราะกลับมาในบ้านเรา เรายังต้องมาบริหารจัดการในเรื่องของครอบครัวเราอีกนะ จิตเป็นอิสระจากกระแสของโลก มันจะอิสระไปจากไหน ในเมื่อคนไม่เคยเป็นอิสระ คนไม่เคยเห็นความอิสระของจิต มันจะว่าจิตเป็นอิสระได้อย่างไร?

เพียงแต่มันเป็นความคาดหมาย โลกเขาคาดหมายกันอย่างนั้น “จิตเป็นอิสระมีความสุขมาก” นี่ธรรมะสอนอย่างนั้น ธรรมของคนเมา! ไม่ใช่ธรรมของคนจริงหรอก นี่เมาเหล้า เมาแสง สี เสียง เมาอย่างหนึ่งนะ เมาในกิเลสของตัวเองอีกอย่างหนึ่ง

กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา เวลามันคิดขึ้นมา มันคิดตามพอใจเรา มันก็ว่า “อย่างนี้เป็นความสุข ๆ” ความสุขดูสิ มันเหมือนปลากินเหยื่อจริง ๆ เบ็ดมันเกี่ยวปากนะ เป็นความสุข เห็นไหม สุขนี่มันปนด้วยทุกข์ทั้งนั้นล่ะ พอสิ้นสุดของสุขมันก็เป็นทุกข์ ดูสิ

แต่เวลาถ้าเราเข้าใจตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละมาเป็นพระโพธิสัตว์นี่เสียสละมาขนาดไหน ถ้าไม่เสียสละมาอย่างนี้ มันพลิกใจไม่ได้หรอก ดูสิ ใครยอมเสียเปรียบใคร ทุกคนต้องว่าเราเอาเปรียบเขาให้ได้ เราจะต้องแข่งขันกับเขา โลกคือการแข่งขัน ทุนนิยมมันกระตุ้นกิเลส กิเลสต้องมีการบริโภคทรัพยากรต่าง ๆ กระตุ้นเข้าไปให้เศรษฐกิจมันหมุนเวียน แล้วกระตุ้นเข้าไปแล้วแข่งขันกัน

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องเอาชนะเขา เราต้องเบียดเบียนเขา สภาวะแบบนั้นเป็นเรื่องของกิเลส แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละ สละให้หมดเลย สละแม้แต่ชีวิตนะ นี่อ่านพระไตรปิฎกแล้วบางทีสะเทือนใจมาก เป็นกระต่าย เห็นนายพรานเขาหลงทางอยู่ เขานั่งผิงไฟอยู่ เขาหนาวมาก เขาไม่มีอาหารกิน พระโพธิสัตว์เป็นกระต่ายนะ กระโดดเข้ากองไฟเลย สละแม้แต่ชีวิตนะ สัตว์มันยังคิดเป็นเลย แล้วเราทำไมเป็นผู้ใหญ่คิดไม่เป็น?

ถ้ามีการเสียสละอย่างนั้น แล้วเสียสละได้อะไร? เราสละชีวิตของเราเลย มีแต่ความทุกข์ร้อน เพราะโดดเข้าไปกองไฟ ไฟมันเผาไหม้เรา มีความร้อนไหม? มีความทุกข์ไหม? มีความทุกข์ แต่ความทุกข์ของเราเพื่อจะให้คนอื่นมีความสุข เพื่อจะให้นายพราน ๒ คนนั้นเขามีชีวิตรอดไป ความเสียสละอันนี้มันทำให้หัวใจมันมีความชุ่มชื่นในหัวใจ

เพราะการสะสมอย่างนี้ จริตนิสัยของคนถึงไม่เหมือนกัน คนคนหนึ่งเห็นแก่สังคม คนคนหนึ่งช่วยเหลือสังคม คนอีกคนหนึ่งเอาเปรียบสังคม เอาเห็นแก่ตัว ความเป็นไปอย่างนั้น นี่คือว่าเป็นอิสระ อิสระของกิเลสไง มันเห็นแก่ตัว มันเอาตัวมันรอดไง แล้วมันจะรอดไหมล่ะ? แต่ถ้าพูดถึงการเสียสละอย่างนี้ เป็นสภาวธรรมขึ้นมาในหัวใจ มันจะเริ่มจากการเสียสละอย่างนี้ มันจะทำให้หัวใจมันมีการแบ่งแยกได้ หัวใจมันฉุกคิดได้นะ

ดูสิ เด็กบางคนนะ “แม่.. ทำไมเขาทำกันอย่างนั้นล่ะ? แม่.. ทำไมเขาทำอย่างนี้ล่ะ?” เด็กบางคนมันคิดไม่เป็น เพราะอะไร? นี่ “เม็ดใน” คือจิตของเขาสร้างมาดี ถ้าจิตเขาสร้างมาดี เขาเห็นสภาวะแบบใด เขาสะเทือนใจของเขาเองนะ มันคิดเองเป็น มันคิดเป็นนะ

อย่างเรานี่ เราจะสอน กว่าเราจะสอนนะ อย่างนี้ไม่ดีนะลูก อย่างนี้ไม่ดีนะลูก.. อย่างนี้นะ ฝึกสอนมัน เราสอนมาจากข้างนอก แต่ของเขาสร้างของเขามานะ เขาเห็นสะเทือนใจของเขาเอง อันนี้มันถูกไหม อันนี้มันผิดไหม เขาจะถาม เด็กมันจะถามออกมาเลย

นี่เราสังเกตอย่างนี้ได้ สังเกตว่าหัวใจที่มันมา เม็ดในคือจิตที่เวลามาเกิด จิตของคนมาเกิด มันเวียนไปเวียนเกิดนะ จิตมาดี ดูสิ อย่างพวกช่าง อย่างพวกจิตรกรรม ในสถิติของการเกิดและการตาย พวกนี้มาจากที่สูงเพราะอะไร? เพราะจิตของเขาอ่อนโยน เขาจะคิดอะไรออกมาเป็นเรื่องสิ่งที่เป็นเสพ เขาว่าเสพศิลปะแล้วจิตใจอ่อนโยน นี่ทางโลกเขาคิดกันอย่างนั้น แต่ของเรา เสพธรรม ถ้าเสพธรรมขึ้นมา จิตใจมันจะเป็นธรรมไง เป็นธรรมเพราะอะไร? เป็นธรรมเพราะมันแบ่งแยกไง

สิ่งนั้น เห็นไหม อย่างที่ว่าจากเมาอะไร จากเมาเหล้าขึ้นมาเป็นเมากิเลส จากเมากิเลส กิเลสเมากิเลส พอเราคิดอะไรก็ว่าเราถูกต้อง ๆ นี่มรรคหยาบ ความแบ่งแยก ความคิดแยกว่าแยกถูกแยกผิด ถ้าไม่มีการแยกถูกแยกผิดนะ มันก็เป็นไปกับเขานั่นแหละ ฤๅษีชีไพรเวลาจิตมันสงบ จิตของเขาสงบ เหาะเหินเดินฟ้าได้นะ เหาะเหินเดินฟ้าได้เลย เวลาไปเจอสิ่งที่กระทบกระเทือนใจ เห็นไหม ตกจากอากาศเลย เพราะอะไร? เพราะหัวใจมันมีอยู่ มันอิสระมาจากไหนล่ะ?

ขณะที่จิตมันสงบ มันสงบขึ้นมา มันอิสระหรือ? สงบขึ้นมามันมีพลังงานของมันเพราะอะไร? เพราะมันเป็นสมาบัติ มันเป็นฌานโลกีย์ แต่ถ้ามันสงบเข้ามาของเรา ถ้าจิตสงบเข้ามาโดยธรรมของเรา นี่เพราะอะไร? เพราะหัวใจมันพร้อมไง มันพร้อมที่จะเสียสละอารมณ์ความคิดไอ้ที่มันหมักหมมใจ

พอเราคิดขึ้นมา เราไม่สามารถเอาชนะตัวเราเองได้ จิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันไม่ยอมรับไง เราเสียเปรียบ เราโดนเอารัดเอาเปรียบ เราเป็นทุกข์เป็นร้อน มันไม่ยอมรับหรอก พอไม่ยอมรับ มันยิ่งคิดมันยิ่งเจ็บแสบไหม เหมือนแผลเลย เอาน้ำเกลือราดไปยิ่งแสบยิ่งคัน ยิ่งแสบยิ่งคัน.. ถ้าเราหยุดมันก็หายคันไป หายแสบไป แต่หัวใจมันหยุดไม่เป็น ตัวหลอกลวงนี่มันบอกให้คิด สิ่งนี้มันเป็นอิสระไม่ได้

ถ้ามันมีความสงบเข้ามาแล้ว มันถึงมาแก้แผลอันนี้ให้ได้ ถ้าแก้แผลนี้ได้นะ ความอิสระของกิเลส ถ้าอิสระจากกิเลสไม่พูดอย่างนั้นนะ จิตเป็นอิสระ จิตเป็นอิสระ.. อิสระของใคร? อิสระของโลกไง อิสระของการกดทับไว้ไง แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ มันพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะสิ่งที่มันเป็นมรรคญาณ มันไม่เป็นสภาวะแบบนั้น

มรรคญาณเวลามันทำลายกิเลส รักษาแผลแล้ว เราหายจากแผล เราเข้ามาในบ้านของเรา เราบริหารจัดการในบ้านของเรา เราออกไปจากกระแสโลกียปัญญา ปัญญาของโลกเขา เราบริหารจัดการจากภายนอกเข้ามา ก็ออกจากโลกเข้ามา เรากลับมาเราก็ต้องกลับมาเรือนพักของเรา คูหาของใจไง จิตมันอยู่ที่ไหน? จิตมันอยู่ในคูหา คูหาอยู่ที่ไหน? คูหาอยู่ในร่างกายนี้ไง แล้วย้อนกลับมาที่นี่

ถ้าย้อนกลับมาที่นี่ พอเวลามันสงบเข้ามา เวลาจิตมันเสื่อม จิตมันเป็นไป คอตกไหม เดี๋ยวเศร้าหมอง เดี๋ยวผ่องใส เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี จิตเดี๋ยวดีเดี๋ยวมีความสุข เหมือนกินข้าวเลย กินอิ่มแล้วก็ต้องกินแล้วกินเล่า กินแล้วกินเล่า เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้ต้องรักษาไว้ไง จิตสงบขนาดไหนมันก็เสื่อมมันเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด แล้วมันอิสระไปได้อย่างไรในเมื่อมันยังไม่ได้ชำระตัวมันเอง มันจะเป็นอิสระได้อย่างไร?

เป็นอิสระ อิสระชั่วคราวไง มันปล่อยวางชั่วคราวเท่านั้น มันปล่อยวางชั่วคราวแล้วสิ่งที่ปล่อยวางเพราะอะไร? เพราะว่าเราสัมผัสธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “สิ่งนี้ สภาวะอย่างนี้ไม่ดี เราเกิดมาเป็นลูกต้องกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูกเพื่อสืบทอดตระกูล”

ถ้าเราทำถูกต้องตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าไว้ เห็นไหม หาเงินมาแล้วนี่ปฏิคาหก ทิศทั้ง ๖ เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เลี้ยงสมณะชีพราหมณ์ต่าง ๆ เราทำถูกต้องหมดแล้ว ถูกต้องหมดแล้วนี่มันเป็นเรื่องของที่ว่าเราเสพธรรม พอเราเสพธรรมขึ้นมา จิตมันก็บอก เออ..เราทำถูกต้องแล้วมันก็สบายใจ แล้วออกมานี่คอตกไหมล่ะ? เพราะอะไร? เพราะชีวิตนี้คืออะไร? ตายแล้วไปไหน? ความเป็นไปเป็นอย่างไร ...ของหัวใจเข้ามานี่มันจะอิสระกับกิเลสเราอีกชั้นหนึ่ง

ถ้าอิสระกับกิเลสอีกชั้นหนึ่ง มันอยู่ที่ภาคปฏิบัติ ถ้าไม่มีกิจจญาณ กิจจะ กิจกรรมของจิต กิจกรรมของปัญญา ปัญญามันเกิดกิจกรรมจากภายในของมันขึ้นมา มันจะย้อนกลับมาจากภายในของมัน แล้วมันชำระซับล้างในหัวใจอันนี้ กิจจญาณอันนี้ต่างหาก เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเทศน์ธัมมจักฯ “ถ้าเราไม่มีกิจ ๓ อย่าง เรายังไม่มีสัจจญาณ กิจจญาณ เราไม่ได้ทำสัจจะความจริงขึ้นมาจากใจ เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์”

แต่ปัจจุบันนี้มันมีกิจจญาณ คือการกระทำของจิตแล้ว “ญาณํ อุทปาทิ มีญาณเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น วิชชาเกิดขึ้น จิตสว่างไสวเกิดขึ้น” ความเป็นไป “อาโลโก อุทปาทิ สว่างไสวเกิดในหัวใจ” นี่มันจะพ้นอย่างนี้ไง อิสระมันต้องอิสระจากการกระทำของจิตอันนี้ จากมรรคญาณอันนี้ มันจะเป็นความภายในอันนี้

แล้วคนไม่เคยทำ มันไม่เคยทำ มันไม่เคยเป็นไป อิสระจากความกดทับไว้เฉย ๆ นี่ความเป็นไปของความเมาไง ถ้าเมานะ ธรรมเมามันก็เมาประสามัน ธรรมเมามันก็เมาไป แล้วความเมาอันนี้เมาหลงตัวเอง แล้วตัวเองหลงออกไปก็โลกก็หมุนออกไป เป็นเรื่องของโลก ๆ เรื่องของความเป็นไปของโลก โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา แล้วโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา ความเป็นไปใครเป็นคนแบ่งแยกล่ะ?

ถ้าไม่มีสมาธิมาแบ่งแยก ใครจะแบ่งแยก แล้วคนแบ่งแยกเป็นใคร? คนแบ่งแยกก็สติเรานี่แหละ ถ้าเรามีสติเรานะ ปัญญาที่เกิดขึ้นมา ปัญญาที่เราใคร่ครวญขึ้นมามันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนี้ใคร่ครวญขนาดไหนมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เสร็จสิ้นกระบวนการของความคิดอย่างนี้ เสร็จสิ้นกระบวนการของบริหารจัดการมันปล่อย เพราะบริหารจัดการที่สุดมันเสร็จสิ้น

เหมือนกับเราเก็บของ เราทำความสะอาดบ้านเรือนของเรา เสร็จสิ้นคือบ้านเรือนสะอาดขึ้นมา อย่างนี้เขาว่าเป็นอิสระกันแล้ว แต่มันไม่ใช่หรอก กระบวนการจัดการอย่างนี้มันกระบวนการจัดการของโลกียปัญญา ถ้าโลกียปัญญาขึ้นมา แล้วโลกุตตรปัญญาเกิดมาจากอะไร? แล้วเกิดขึ้นมา มันจะรู้จักปัจจัตตัง รู้จักจากหัวใจของเรา หัวใจเราสัมผัสได้นะ

ดูสิ ดูเวลาหลวงปู่มั่น เวลาที่ยังไม่ได้ลาพุทธภูมิ ขนาดเข้าไปเห็นขนาดไหน เป็นโลกียปัญญาทั้งหมดเลย เพราะอะไร? เพราะบุญนะ ขนาดบุญนะ บุญสิ่งที่เป็นคุณงามความดีหนุนขึ้นมาเพราะอะไร? เพราะสร้างบารมีมามาก เวลาจิตจะเข้าทีไร มันคิดถึงสิ่งที่เราสะสมไว้ คิดถึงโพธิญาณ คิดถึงโพธิสัตว์ที่จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เลยเสียดาย ๆ นี่ติดดีไง ติดดีก็ไม่ได้ ติดชั่วก็ไม่ได้

สิ่งที่ติดไม่ได้ ต้องให้เป็นสัจจะความจริงของเรา ถ้ามันติดดีอย่างนี้ ติดดีมันก็ติดดี อย่างเช่นเรามีอะไรขึ้นมา เราจะไม่เก็บเข้าไว้ที่ภาชนะเลย เราจะแบกไว้กับตัวเราได้ไหม? ทุกอย่างเราจะพอกไว้ในตัวเองได้ไหม? ไม่ได้หรอก เราจะใช้พอประมาณ นี่ปัจจัยเครื่องอาศัย ยิ่งเลี้ยงดำรงชีวิต ยิ่งพอประมาณ เลี้ยงชีวิตเราไปเท่านั้นเอง เราต้องบริหารจัดการ ต้องเก็บไว้ให้เรียบร้อย เก็บไว้ให้เป็นไป ให้สมควร ให้ไม่เป็นโทษกับเรา ไม่เป็นโทษกับเขา แล้วเป็นสมบัติของเรา

จิตสงบเข้ามาก็เหมือนกัน ถ้าปัญญามันใคร่ครวญเข้ามาแล้ว นี่ปัญญา ๆ ก็กล่าวตู่กันนะ ปัญญาอย่างนี้ใช้แล้ว ใช้ปัญญาแล้ว ๆ ปัญญาโจรมันก็มี ปัญญาของคนเอารัดเอาเปรียบก็มี ปัญญาของผู้ที่เบียดเบียนคนอื่นก็มี ปัญญาของเรานะมันเบียดเบียนกิเลส

คำว่า “เบียดเบียนกิเลส” เวลาถือธุดงควัตรนี่อัตตกิลมถานุโยค ทำตัวให้ลำบากเปล่า มันจะลำบากไปที่ไหน ในเมื่อเราพอใจ เราจะทรมานกิเลสต่างหาก กิเลสในหัวใจของเรามันไม่พอใจสิ่งต่าง ๆ เลย เช่น! จะเข้าไปในป่าช้า เช่นถือธุดงควัตร รุกฺขมูลนี่มันเป็นสิ่งที่ว่าโลกเขาเห็นว่าเป็นของต่ำต้อย เป็นผ้าขี้ริ้วเลย นี่ผ้าขี้ริ้ว เห็นไหม เป็นผ้าขี้ริ้ว ชีวิตเราถ้ากิเลสมันจะขึ้นมา ต้องเป็นผ้าขี้ริ้ว

แต่เวลาเขาดูถูกเหยียดหยามขึ้นมา ศากยบุตรนะ พุทธชิโนรสนะ เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเป็นลูกกษัตริย์นะ มันจะต่ำต้อยมาจากไหน เราจะเข้าไปหาธรรม มันจะต่ำต้อยไปจากไหน โลกเขาเป็นไป เขามีแต่บ่วง บ่วงบุตร บ่วงภรรยา บ่วงไปทั้งหมดเลย แล้วเวลาบ่วงของมาร เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียงก็เป็นบ่วงของมาร เราสละ เราจะออกจากบ่วง เป็นผู้ที่ฉลาดเพื่อจะออกจากบ่วง เราจะออกจากบ่วงของกิเลส แล้วเราใช้ปัญญาต่อสู้อย่างนี้ มันจะต่ำต้อยไปไหน?

เวลานักรบ ดูสิ เวลาสงครามเขาเกิดขึ้นมา เขายิงกัน เขาฆ่ากัน เขาทำอะไรกัน เขาวิ่งเข้าไปหากระสุนกันนะ เพื่อเอาชนะคะคานกัน เวลาเขาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เขาจะวิ่งเข้าหาความตายเลย นั่นคือในเรื่องของโลก ๆ เพียงแต่เอาชนะคะคานกันเท่านั้นเอง แต่นี่ชนะกิเลส เห็นไหม สนามชัยภูมิของมันก็คือเรื่องของร่างกาย เรื่องของจิตใจของเรา แล้วเรื่องจิตใจเรา มัวแต่หมักหมม มัวแต่คลุกคลีกัน มัวแต่สะสมกัน มัวแต่อยู่ในมูตรในคูถ มันจะพัฒนาไปได้อย่างไร?

แต่เราจะสละออกไป เห็นไหม เขาว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค การดัดทรมานตน นี่กิเลสนะ นี่ธรรมเมา มันเมาของมันนะ ต้องปฏิบัติสะดวกสบาย ร่มเย็นเป็นสุข สุขของกิเลสไง สุขของธรรมเมาไง แต่สุขของธรรมต้องเกิดจากความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยอุตสาหะ มันเป็นความเพียร แล้ววิริยอุตสาหะก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าเป็นธรรมเมา จิตอิสระ อิสระอยู่ในใต้ครอบงำของกิเลส

ถ้าจิตอิสระของธรรม มันเห็นการกระทำอย่างนี้ เพราะมันมีความเพียรชอบ มันมีการกระทำของมันขึ้นมา มันถึงว่าไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานกิเลส คือการทรมานความคุ้นเคย ความสะดวกสบายที่มันต้องการ แต่เวลามันผ่านพ้นไปแล้วนะ ความร่มเย็นเป็นสุข ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ความจริงเกิดอย่างนั้น จิตสงบเข้ามามันมีพลังงานของมัน มีความสุขของมัน ไม่ใช่สิ่งแห้งแล้ง เราทำเป็นการเคลิบเคลิ้ม เป็นการปล่อยวาง เป็นการตัดสติออกไปให้มันหายไปเลย บอกไอ้นั่นเป็นสมาธิ มันเป็นมิจฉาต่างหากล่ะ!

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ สติมันพร้อม มันมีความร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจดวงนั้น เพราะมีใจร่มเย็นเป็นสุขในหัวใจดวงนั้น มันจะเป็นสัมมาสมาธิ มันจะยกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนา มันก็เป็นโลกุตตรธรรม นี่ปัญญาเป็นอย่างนี้ไง โลกุตตรปัญญาเกิดขึ้นมา แล้วโลกุตตรปัญญามันก็ย้อนกลับเข้ามา นี่มันก็ทำลาย มันก็เป็นธรรมะแท้ ๆ ไม่ใช่ธรรมเมา ถ้าเป็นธรรมเมาก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นธรรมะจริงมันก็ชำระกิเลสของเรา ชำระกิเลสของเรา ชำระกิเลสของเรา... มันก็เบาบางลง ๆ

ดูชาวนาสิ ชาวนา หลวงปู่มั่นท่านเน้นย้ำนะ “ทำนาทำที่เดิม ๆ” หลวงปู่มั่นบอก “ทำนานี่ ชาวนาเขาทำที่เดิม ชาวนาเขาทำนาบนยอดภูเขาเหรอ? เขาไปทำนาบนก้อนเมฆที่ไหน เขาก็ทำที่นั่นแหละ” นี่ก็เหมือนกัน เราก็ทำของเราบ่อยครั้งเข้าสิ ชาวนาทำมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จนตั้งแต่ประวัติศาสตร์นะ จนเดี๋ยวนี้ก็ยังทำนาอยู่ แล้วอนาคตยังต้องทำนาอยู่เพราะเขาต้องกินข้าว

นี่ปฏิบัติกัน ทำสัก ๆ แต่ว่าทำ ทำเข้าหนสองหนแล้วก็บอกว่าได้ธรรมๆ มันเป็นจริงไหม? ทำนาเขายังทำตลอดชีวิตเลย แล้วปฏิบัติเราไม่หมั่นเพียร ไม่ทำของเราขึ้นมา มันจะเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างไร? นี่มันจะอิสระเราต้องเห็นข้าว เราต้องเอาข้าวหุงข้าวได้ เราต้องมีข้าวกิน อันนั้นมันถึงเป็นอิสระ เพราะชีวิตของเรา เราดำรงชีวิตของเราเองได้ ไม่ต้องไปพึ่งพาใคร

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะเกิดขึ้นมาจากหัวใจขึ้นมา มันเป็นสัจธรรม กิจจญาณ สัจจญาณขึ้นมา มันเกิดจากหัวใจของเรา มันเป็นผลงานของเรา เราเห็นของเราขึ้นมาจากหัวใจของเรา จิตจะเป็นอิสระต่อเมื่อมีผลงาน มีข้าวกิน มีทุกอย่างพร้อมกับจิตดวงนั้น

“อริยสัจ” ความพร้อมของใจ อริยสัจนี้ไม่เคยลืมเลือนในหัวใจ เรื่องของโลกมันจะลืมเลือน แต่อริยสัจเป็นความจริง กระดิกปั๊บ พร้อม ๆ ๆ ๆ ๆ ตลอดเลย มันเกิด มันอิ่มเต็มตลอด “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

นิโรธคือความสุข คือความปล่อยวางทั้งหมด จิตมันปล่อยวางต่าง ๆ ทั้งหมด นี่ข้าว มีข้าวกิน ๆ มันมีสิ่งนี้อยู่ในหัวใจ มันจะทุกข์ร้อนขนาดไหน จะเป็นอะไรกับของโลกขนาดไหน จะพลิกฟ้าคว่ำดิน มรสุมเกิดภัยพิบัติขนาดไหน หัวใจจะไม่เคลื่อนไหวไปกับเขา เพราะอะไร? เพราะมันมีข้าวกิน มันมีอริยสัจเตือนหัวใจอยู่ จิตอิ่มพออยู่อย่างนี้ มันถึงเป็นอิสระ อิสระเพราะมันรู้เท่าทันทุกสิ่งทุกอย่างหมด

อย่างนี้เป็นเรื่องของโลก ก็ต้องแปรเป็นธรรมดา รถวิ่งมา น้ำมันมันต้องกินไปเป็นธรรมดา รถวิ่งไปทั้งปีแล้วไม่ให้มีน้ำมันแม้แต่หยดเดียว ให้มันสูญไป เป็นไปได้อย่างไร ความวิบัติของโลก โลกเป็นอนิจจังก็เป็นอย่างนั้นตลอดไป

แต่จิตดวงนี้มันเป็นเจ้าของรถ ไม่ใช่ตัวรถ เพราะมันเป็นความรู้สึก จิตดวงนี้มันพ้นออกไป อิสระอย่างนี้ มันถึงไม่ตื่นเต้นไปกับว่าน้ำมันต้องเผาผลาญไป พลังงานต้องเผาผลาญไป ทุกอย่างต้องเผาผลาญไป โลกต้องหมุนเวียนไป แต่จิตดวงนี้ไม่ไปกับเขาเพราะมันอิ่มเต็ม เอวัง