เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๖ พ.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อาหารกาย อาหารใจ พูดทุกวันนะ อาหารสิ อำนาจมืดอำนาจสว่าง คนเราเกิดมาเป็นปกติไง ธรรมะนี่มันเส้นผมบังภูเขา มันเรื่องของใจเรานี่แหละ มันเป็นเส้นผมบังภูเขา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเกือบเป็นเกือบตายนะ พอเกือบเป็นเกือบตายเพราะอะไร เพราะกิเลสมันร้ายกาจมาก คำว่ากิเลสร้ายกาจ กิเลสคืออะไร กิเลสคือเราไง เส้นผมบังภูเขานี่ คนที่มองไม่เข้าใจนะ ทำอย่างไรก็ไม่เข้าใจ เราสอนให้คนที่ไม่เข้าใจ พยายามอธิบายให้คนไม่เข้าใจฟัง คนไม่เข้าใจเขาจะไม่รู้เรื่องเลย

นี่คืออวิชชา อวิชชาคือมันรู้ของมันอยู่ แต่รู้โดยกิเลส รู้โดยอวิชชา รู้โดยกิเลสไง แต่ข้อเท็จจริงของธรรมนะ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” เห็นไหม สมควรแก่ธรรม แต่เราปฏิบัติธรรมโดยกิเลสไง

“อำนาจมืด อำนาจสว่าง” อำนาจสว่าง เห็นไหม อำนาจของรัฐ อำนาจสว่าง อำนาจถูกต้องตามกฎหมาย แต่เวลาบริหารจัดการขึ้นมาแล้วมีคนต่อต้านไหม มีคนเห็นด้วยไหม อำนาจรัฐเป็นอำนาจที่สว่าง “อำนาจมืด” อำนาจมืดคือว่าเรื่องของอิทธิพลต่างๆ อำนาจมืด แต่อำนาจสว่างขึ้นมา เห็นไหม อำนาจสว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่คนไปปกครองอันนั้นก็มีกิเลสอีก เห็นไหม อวิชชาเป็นสภาวะแบบนั้น

กิเลสกับธรรม เวลาปฏิบัติธรรมขึ้นมาว่าจิตสงบ จิตมีคุณงามความดี เราคิดถึงคุณงามความดี เราถึงปรารถนาดีกับคนอื่น เราเจตนาดี เราใช้คำว่าเจตนาดีนะ เราปรารถนาดีกับคนอื่น นี่อำนาจสว่าง เจตนาดีกับคนอื่น เห็นไหม แต่ดูอำนาจสิ อำนาจเหมือนกับสิ่งของอยู่ในภาชนะ ภาชนะนั้นสกปรก ภาชนะนั้นมันกัดกร่อนจนเป็นสารพิษก็ได้ เจตนาดี เราเจตนาดีกับสังคม เราเจตนาดีกับคนอื่น แต่เขาพร้อมรับความเจตนาดีของเราไหม เห็นไหม กาลเทศะ มันไม่ใช่กาลไม่ใช่เวลา เราเสนอไปไม่มีประโยชน์หรอก

แต่ถ้าเป็นกาล เช่น ถ้าเราหิวอาหาร ถ้ามีอาหารขึ้นมาได้กินอาหารนั้น เราจะมีความอิ่ม เห็นไหม ถ้าเราอิ่มท้องอยู่ คนเสนออาหารมา เราเบื่อ เราไม่อยากได้อะไรเลย เห็นไหม กาลเทศะ อำนาจมืดอำนาจสว่างมันก็ยังมีกาลเทศะ นี่ผลของกรรมมันมหัศจรรย์อย่างนี้ มหัศจรรย์ขณะที่ไม่เชื่อไง

ดูสิ ดูเวลาพระเราบวชใหม่ๆ เห็นไหม พระเวลาบวชใหม่นี่นะ มันมีความสดชื่น มันกำลังแบบว่าเราได้ของใหม่มา กำลังตื่นเต้น กำลังแบบมีไฟแรงมากเลย แต่เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไปแล้วไฟมันมอด ไฟมันดับไปจนก้าวออกไม่ไหวเลย นี่ผลของกรรมไง ผลของกรรมขณะที่ได้มาครั้งแรก สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมา อำนาจสว่างอำนาจมืดก็แล้วแต่ มันอยู่ในกฎของกรรมทั้งหมดเลย แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไปมันพ้นนะ ดีและชั่วไง

ทำคุณงามความดี เราว่าทำความดีนะ ความดีของเรา ความดีของเราต้องเป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเรานะ ทำดีเพื่อดีเป็นประโยชน์กับเราหมดเลย เหมือนกับเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ “ทำบุญกุศลให้เหมือนกับทิ้งลงเหว” เราไม่เคยปรารถนาสิ่งใด เราเอาของทิ้งลงเหว เราไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทนใดๆ เลย นี่บุญกุศลที่สะอาดบริสุทธิ์มาก

แต่เวลาเราทำดีขึ้นมา นี่ความดี เราทำดีมันเป็นดีไหม? เป็นดีแน่นอนเลย แต่เราทำดีแล้วเราปรารถนาดี นี่โยนลงเหวแล้วต้องการให้อาหารนั้นลอยขึ้นมาจากเหวอีกไง ตอบสนองคุณงามความดีของเราไง แล้วมันไม่ตอบสนองมาแล้วเราทุกข์ไหม? เราทุกข์ เห็นไหม

อำนาจมืดอำนาจสว่างมันเป็นธรรมชาติของเขา เวลาทำคุณงามความดีนะ ถึงที่สุดแล้วเราประพฤติปฏิบัติข้ามพ้นทั้งดีและชั่วนะ เราทำดีมหาศาลเลย เราทำดีกับคนอื่น เราได้ช่วยเหลือเจือจานคนอื่น เราได้สละทานออกไป ทำบุญทำทานมากขนาดไหนนะ ไม่เท่ากับถือศีลอุโบสถหนหนึ่ง ศีลอุโบสถร้อยหนพันหนไม่เท่ากับสมาธิเกิดขึ้นหนหนึ่ง แล้วเกิดปัญญาขึ้นมาหนหนึ่งในหัวใจของเราล่ะ อันนี้เราช่วยเหลือตัวเองไง

ถ้าเราจะช่วยเหลือตัวเราเอง ความดีอันละเอียดอ่อน ความดีขณะที่เรานั่งสงบ เห็นไหม งานเวลาเราอาบเหงื่อต่างน้ำ เราแบกหามนี่งานนี่งานหนักมาก แต่หลวงปู่ฝั้นท่านพูดบ่อย “งานที่ทำง่ายๆ เลย นั่งสมาธิเฉยๆ นี่ นั่งเฉยๆ ทำกันไม่ได้” นั่งสมาธิแล้วหายใจเข้าและหายใจออกนี่งานอันละเอียดมาก บังคับใจตัวนี่งานอันละเอียด

เวลาปัญญาก็ปัญญาละเอียดเหมือนกัน ดูปัญญาสิ เวลาเราอาบเหงื่อต่างน้ำเหมือนกับเราบริหารจัดการ เราใช้ความคิดบริหารจัดการ ใช้อาบเหงื่อต่างน้ำเลย แต่เวลาปัญญาที่มันเกิด ปัญญามันละเอียดกว่านี้นะ มันไม่ใช่ปัญญาบริหารจัดการจากภายนอก มันเป็นปัญญาบริหารจัดการความคิด นี่ความคิดเราออกไป ความคิดนะให้ย้อนกลับมา นี่ปัญญาการรอบรู้ในกองสังขาร

ปัญญาในศาสนา เห็นไหม ปัญญาการรอบรู้ในกองสังขาร ปัญญารอบรู้ในความคิด ปัญญาที่รอบรู้ในความคิดมีความคิดอีกอันหนึ่งฉุกคิดไง ฉุกคิดให้ความคิดละเอียดเข้ามา มันปล่อยวางความคิดอันนั้นเข้ามา เห็นไหม นี่ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร ไม่คิดให้ไปเดือดร้อนตัวเอง ไม่คิดให้ไป เวลานั่งสมาธิ เห็นไหม นู่นงานนั้นก็ยังไม่ได้ทำ งานนี้ก็ยังไม่ได้ทำ มันจะคิดให้เราสมาธิแตกไง ให้เราลุกขึ้นไป

แต่ถ้าเรามีปัญญาขึ้นไป สิ่งนั้นเราทำหรือไม่ทำมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ เราทำแล้วก็ถือว่าทำแล้ว ถ้ายังไม่ได้ทำเดี๋ยวออกไปก็ไปทำได้ ถ้าปัญญามันรอบรู้ในกองสังขารรอบรู้อย่างนี้ไง รอบรู้ไม่ให้เราแตกจากสมาธิ ถ้าอย่างนี้มันสงบเข้ามา มันจะหาเหตุผลขึ้นมาให้เราไม่ขยับออกไปจากสมาธินี้ แล้วถ้ามันสงบเข้ามา เห็นไหม พอจิตมันสงบเข้ามา พอมันไม่มีทางออกนี่เส้นผมบังภูเขา บังภูเขาเข้าไปเรื่อยๆ นะ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งที่เป็นปัญญาๆ แล้วเป็นปัญญานี่ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด

ดูอาหารสิ อาหารที่เราเก็บไว้ แม้แต่อาหารที่มีคุณภาพมาก อาหารที่เป็นชีวจิตนี่แหละ เก็บไว้มันก็หมักตัวมันเองนะ เป็นของบูดของเน่าได้ของเสียได้ เห็นไหม ของตัวมันเองมันก็ทำให้ของมันเสียเอง ความคิดก็เหมือนกัน ความคิดเรานี่ เจตนาของเรานี่ ว่าเจตนาดีๆ นี่มรรคหยาบ เห็นไหม มรรคหยาบมันให้มันละเอียดเข้าไปไม่ได้ไง

ความคิดของเรานะ ถ้าไม่มีมรรคหยาบจะละเอียดขึ้นมาได้ไหม อย่างเช่นเราปฏิบัติ เราเป็นปุถุชนเราเป็นคนมีหน้าที่การงาน เราทำอะไรไม่ได้เลย นี่มันตัดขาตัวเองไง ตัดทอนตัวเองให้หมดกำลังใจ แต่ถ้าเป็นมรรคหยาบ ทานเราก็ทำได้ เราเสียสละได้ทุกอย่าง พอมันเจริญเติบโตขึ้นมา มันต้องละเอียดเข้าไป อย่ายึดไง

เราไปเห็นเหล็ก เห็นไหม เราแบกเหล็กมา เราไปเจอเงิน เราทิ้งไหม? เจอทองคำเราทิ้งไหม? นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาเริ่มต้นเป็นอย่างนี้ไง มรรคหยาบๆ ความคิดเด็กๆ ปฏิบัติเด็กๆ แล้วการปฏิบัติเด็กๆ นี้มันก็เจริญเติบโตขึ้นมา มันจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้ เวลาปฏิบัติเด็กๆ ขึ้นมานะ นี่อย่างนี้ถูกต้อง แล้วไม่ยอมทิ้ง ไม่ยอมทิ้งความเห็นเด็กๆ นี่ มันก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นไปไม่ได้

ถ้าพอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไปแล้ว ประสบการณ์บอก ประสบการณ์มันประสบการณ์แต่ละอย่างนี้ผิดถูกต้อง มันยังมีความผิดความถูกอีก มันจะปล่อยวางเข้ามาเรื่อยๆ ความปล่อยวางอย่างนี้มันพัฒนาอย่างนี้ จิตมันจะพัฒนาเข้าไป ถ้าพัฒนาเข้าไปมันต้องมีเหตุผลรองรับนะ ไม่ใช่ปล่อยแบบ..

ตอนนี้เวลาปล่อย เห็นไหม เวลาอำนาจมืด อำนาจมืด บอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ให้ปล่อยวาง ปล่อยวาง” เราก็ปล่อยวาง ปล่อยวางแบบขี้ลอยน้ำไง ปล่อยวางแบบไม่มีอะไรเลย ปล่อยวางแบบไม่มีอะไรรองรับ ปล่อยวางแบบไม่มีผู้เป็นเจ้าของ ผู้ที่รับรู้สิ่งต่างๆ

การปล่อยวาง เวลาจิตสงบขึ้นมา สักแต่ว่ารู้ขนาดไหน มีสติ จิตพร้อมอยู่เลย เวลาสงบขึ้นมา ว่าง ว่าง จนไม่รู้อะไรเลย มันตกภวังค์นะ มันเหมือนคนนอนหลับ มันเป็นพรหมลูกฟัก เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เอกัคคตารมณ์จิตตั้งมั่น นี่มีสติเป็นเจ้าของ มีสติ เห็นไหม อย่างเช่นน้ำ อย่างเช่นอากาศ มันมีภาชนะบรรจุ มันก็เป็นของของเรา ถ้าไม่มีภาชนะบรรจุ มันก็เป็นของสาธารณะ แม่น้ำลำคลองมันไหลไป อากาศก็อยู่บนอากาศไม่เป็นของใครเลย เรามีภาชนะของเราไปบรรจุมา แล้วเอากลับบ้านเรา

นี่ก็เหมือนกัน มีสติ มีความรู้สึก มันก็เป็นสมาธิเรา ปัญญาเกิดขึ้นจากใจเราก็เป็นปัญญาของเรา ไม่เป็นปัญญาของคนอื่นหรอก ถ้าเป็นปัญญาของเรามันก็ย้อนกลับมาเป็นประโยชน์กับเรา เช่นออกซิเจน เราก็หายใจของเรา น้ำเราก็ดื่มกินของเรา มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุขมาในหัวใจของเรา ความร่มเย็นเป็นสุขนี่ผลของการปฏิบัติไง

ถ้าจิตมันสงบขนาดไหน จะมีสติตลอด จะสักแต่ว่ารู้ขนาดไหนก็เป็นสติตลอด มีผู้รับรู้ แล้วมันเป็นพลังงานที่มันมีชีวิตด้วย ไม่เป็นพลังงานว่างเปล่า ปล่อยวางๆ ก็ปล่อยวาง ปล่อยวางแบบไม่มีเจ้าของ สัตว์ไม่มีเจ้าของไม่มีประโยชน์นะ สัตว์ต้องมีเจ้าของ ต้องมีสติ ต้องมีหิริ มีโอตตัปปะ มันเข้าใจความเป็นไปของตน

เวลาวิปัสสนาขึ้นมา เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจิตมันสงบเข้าแล้ววิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม เวลามันปล่อยนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ กายนี่มันปล่อยออกไป จิตมันก็ปล่อยออกไป ทุกข์ก็ปล่อยไป แล้วมันมีความรู้สึกอันหนึ่งหลุดออกไปจากความรู้สึกอันนี้ เห็นไหม “ยถาภูตํ” ญาณทสฺสน เกิดขึ้น มันมีผู้รับรู้หมดล่ะ มันมีเจ้าของหมด มันเป็นผู้ที่รับรู้เองทั้งนั้น มันไม่ใช่ไปปล่อยวางจนปล่อยวางแบบขี้ลอยน้ำ ไม่ใช่หรอก พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง ก็ปล่อยวางกัน ไม่ทำอะไรเลย จนไม่มีหลักมีเกณฑ์นะ ไม่มีหลักมีเกณฑ์แล้วมันจะเป็นมรรคได้อย่างไร เป็นความเพียรชอบได้อย่างไร

มันเป็นความเพียรชอบ มันเป็นผู้มีเจ้าของ มีเจ้าของก็จิตเราเป็นเจ้าของ จิตเราไปเป็นเจ้าของจนเรื่อยหมด ปล่อยวางเข้ามาเรื่อย เห็นไหม จิตมันปล่อยวาง จิตรับรู้ตลอด ถึงที่สุดนี่อำนาจมืดอำนาจสว่าง ถึงที่สุดเป็นฐีติจิต จิตนี่เป็นภวาสวะ เป็นตัวภพ

อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ จิตๆ ฟังจิตสิ จิตมันกลืนตัวมันเอง มันทำลายตัวมันเองจนเป็นวิมุจฺจึสูติ เห็นไหม จิตมันเป็นวิมุตติไป พอจิตวิมุตติไป จิตไม่มี จิตไม่มีแล้ว ถ้าจิตมีเป็นภวาสวะ แต่ขณะที่ปฏิบัติอยู่จิตมี จิตนี่มี จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี่มันภวาสวะ ในการเกิดในสถานะนี่มันเกิดตาย วันคืนล่วงไป เห็นไหม วันคืนนี่เป็นเดือนเป็นปีนี่มี แต่วันเดือนหมุนไปแล้วก็เราเป็นผู้รู้

นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่เป็นโสดาบัน สกิทา อนาคา มีจิตเพราะอะไร เพราะจิตเป็นตัวเกิดอีก อนาคาไปเกิดบนพรหมไง มีภวาสวะ มีตัวภพ มันมีตัวจิตอยู่ แต่พอทำลายนะ จิตไม่มี อะไรก็ไม่มี แต่ภูมิธรรมมี ธรรมธาตุ มันเป็นธาตุไปแล้ว เป็นธรรมไปแล้ว มันไม่เป็นจิต ถ้าเป็นจิตมันเป็นอัตตา มันเป็นความรับรู้

นี่มันมีเจ้าของเดินเริ่มต้นจนถึงที่สุด แล้วเจ้าของก็ต้องทำลายเจ้าของเอง เพราะตัวเจ้าของนี้เป็นตัวข้อมูล เป็นตัวรับรู้ เป็นตัวเจ้าของทุกๆ อย่างเลย แต่เริ่มต้นต้องมีก่อน ต้องมีขึ้นไปเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป เห็นไหม สิ่งนี้มันจะเกิดจากเรา

อำนาจมืดอำนาจสว่างนะ อาหารเป็นพิษและอาหารไม่เป็นพิษนะ สิ่งต่างๆ ดีและชั่วเป็นการก้าวเดิน การก้าวเดินมีผิดมีถูก อำนาจสว่างขนาดไหนมันก็มีสิ่งที่ว่าโต้แย้ง มีสิ่งที่ว่าเป็นสารพิษ มีสิ่งที่หมักหมมตัวมันเอง มันยังมีสภาวะนั้นอยู่ มันต้องเป็นไป มันต้องมีปฏิกิริยาของมัน ปฏิกิริยาของธรรมกับกิเลสมันจะอยู่ในใจเรา ถ้าเราก้าวเดินไป ปฏิกิริยาอย่างนี้เวลาเกิดขึ้นมาเราต้องหมั่นแยกแยะไง มันถึงต้องสังเกตผลของมัน ผลของมันคือความร่มเย็นเป็นสุข ผลของมันคือการปล่อยวาง ผลของมันคือการไม่เป็นภาระรุงรัง

แต่ถ้าเป็นผลของกิเลสนะ เป็นสิ่งที่เป็นสารพิษนะ มันเป็นผลของมัน เป็นสิ่งที่กลัวจะลืม ผลของมันคือว่าสิ่งนั้นมันเป็นภาระรุงรัง ต้องรับรู้ไว้ เราต้องอะไร.. ปล่อยเถอะ! ปล่อยวางไว้เฉยๆ รับรู้แล้วผ่าน รับรู้แล้วผ่าน เพราะอะไร เพราะมันจะมีละเอียดกว่านี้นะ

งานของเราข้างหน้ายังมีอีกเยอะแยะเลย งานสิ่งนี้มันเป็นความสัมผัสแล้วปล่อยรับรู้ตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางไว้เป็นตามความเป็นจริง แล้วเราก้าวเดินต่อไปข้างหน้า ต่อไปข้างหน้า ไม่ใช่จะหยุดอยู่ตรงนี้นะ แล้วมันจะพัฒนาขึ้นไป จิตมันพัฒนาขึ้นไป นี่มรรคหยาบมรรคละเอียดที่ว่านี่ไง

กาลเทศะมันจะเป็นไปเรื่อยๆ มันจะมีมรรค ๔ ผล ๔ เราจะก้าวเดิน บุคคล ๘ จำพวกคือใจมันเป็น ใจมันเป็นนะ ใจเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นบุคคลๆ นี่เป็นบุคคล มันเป็นสถานะหนึ่งๆ เลย เป็นบุคคลเหมือนตำแหน่งเลย ตำแหน่ง ๘ ตำแหน่ง เห็นไหม ตั้งแต่คือก้าวเดินไป ๘ ตำแหน่ง พ้นจาก ๘ ตำแหน่งไป มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

พอนิพพานพ้นจากหน้าที่การงาน พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ พ้นจากภาระ พ้นจากการกระทำ พ้นหมดเลย แต่ก่อนพ้นต้องทำก่อน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วจะพ้นได้เอง พ้นได้เองไม่ได้ มันต้องมีฐานะรองรับ มันจะพ้นของมันขึ้นไป พอพ้นแล้วนะ “ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ” รู้เองเห็นเองตามความเป็นจริงทั้งหมด

ครูบาอาจารย์ท่านพูดนะ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงหน้าก็ไม่ทูลถาม” เพราะการทูลถามเราต้องสงสัยใช่ไหม? เราต้องเอ๊ะๆๆ ถ้าเอ๊ะนั่นแหละ นั่นแหละมันล่ะ เอ๊ะคือกิเลสหมดนะ แต่เอ๊ะนี่ เริ่มต้นปฏิบัติสำคัญมาก เพราะถ้ามีเอ๊ะ มันมีการฉุกคิด มันมีการเริ่มต้น มีการถึงว่าเราผิดเราถูก ถ้าไม่เอ๊ะเลยนะ เราถูกๆๆ เราดีเราแน่หมดเลย ถ้าได้เอ๊ะ..ใช่ไม่ใช่? ใช่ไม่ใช่?

ขณะที่ปัจจุบันกำลังปฏิบัติ เอ๊ะคือฉุกคิดนี่ อันนี้เป็นการย้อนกลับทวนกระแส แต่ถ้าไปถึงที่สุดแล้วเอ๊ะไม่ได้ เอ๊ะคือมันมีสถานที่ให้ลังเลสงสัย ถึงที่สุดแล้วไม่มี ไม่มีเด็ดขาด ถ้ายังสงสัยอยู่นะ ไอ้สงสัยคือตัวนิวรณธรรม ไอ้สงสัยคือตัวกิเลส ไอ้สัจจะความจริงอันในนะ ฟ้าจะถล่มทลาย ดินจะถล่ม วัฏฏะมันจะวุ่นวายขนาดไหน จิตดวงนี้ไม่เกี่ยว

จิตดวงนี้นะ สถานะของภูมิธรรม สถานะที่ว่าพ้นไปแล้วมันสถานะของมันมี ความรู้สึกอันนี้ไง ความรู้สึกอันนี้มันเป็นของของเรา นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสิ่งที่เกิดจากใจ เป็นสิ่งที่เราทำกันได้ อำนาจมืดอำนาจสว่างระหว่างก้าวเดินนะ กิเลสกับธรรมเกิดในใจตลอดไป ถึงที่สุดแล้วธรรมแท้ๆ อยู่ที่ใจ

ธรรมในพระไตรปิฎก ธรรมต่างๆ นี้เป็นทฤษฎี เป็นเครื่องดำเนิน นี้ก็เหมือนกัน บุญกุศลสร้างขึ้นมาก็เพื่อสิ่งนี้ ใจของเราก็เพื่อของเรา เพื่อจริงๆ มันเป็นสถานที่รองรับขึ้นมา ถึงที่สุดแล้วเป็นใจของเรา เอวัง