เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ พ.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนมีความชำนาญนะ การมีความชำนาญ เห็นไหม พวกช่างนะ แค่ฟังเสียงเครื่องยนต์ก็รู้เลยว่าเครื่องยนต์นี่มันจะมีการเสียหาย เครื่องยนต์มันจะดีหรือไม่ดี เพราะอาศัยความชำนาญ ความชำนาญมาจากไหน ความชำนาญของเขา ประสบการณ์ของเขา เขาทำของเขาขึ้นมา เขาจะมีความชำนาญของเขา

ไอ้นี่ก็เหมือนกันนะ ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เห็นไหม ฝากศาสนาไว้ แต่ตอนนี้เราออกนอกศาสนากันนะ ออกนอกหลักเกณฑ์ของศาสนา หลักเกณฑ์ของศาสนาคืออะไร หลักเกณฑ์ของศาสนาคือสัจจะความจริงไง สัจจะความจริงนะ ความสุขความทุกข์ไง แต่ตอนนี้เราไม่กล้าพูดถึงเรื่องความสุขความทุกข์กัน

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด เห็นไหม เวลาเจอหน้ากัน “สบายดีไหม? สบายดีไหม?” ทุกข์จะตายนะ “สบายดีค่ะ สบายดีค่ะ” ทุกข์ในหัวใจนะ ทุกข์เต็มที่เลย นี่ไงไม่เข้าสัจจะความจริง

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์สมัยพุทธกาล เวลาถามกันนะ “ยังพอทนอยู่ได้ไหม?” ยังพอทนอยู่ได้ไหมเพราะอะไร เพราะพระอรหันต์เข้าใจสัจจะความจริงหมดเลย ว่าสิ่งนี้มันเป็นสมมุติ มันเป็นชั่วคราว แต่มันจริงตามสมมุตินะ คำว่าจริงตามสมมุติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนวางหลักเกณฑ์อันนี้ ธรรมและวินัย เห็นไหม ธรรมและวินัยนี้ก็เป็นสมมุติ สมมุติ เห็นไหม คำว่าสมมุติ วินัยนี่สมมุติบัญญัติ ข้อกฎหมายไง

ดูกฎหมายทางโลกสิ เวลาเขาแบบว่ากฎหมายมันล้าสมัย เขาเปลี่ยนกฎหมาย เขาพัฒนากฎหมาย เขาแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะมันเป็นกติกา เป็นสมมุติ

วินัยก็เหมือนกัน มันเป็นกรอบล้อมไว้ แต่อันนี้มันเป็นจริงตามสมมุติเพราะอะไร เพราะมันเป็นวิธีการ วิธีการที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ดูสิ กฎหมายเขาต้องมีนิยามของกฎหมายนะ กฎหมายข้อนี้เพื่ออะไรๆ เห็นไหม ธรรมและวินัยก็เหมือนกัน ก่อนจะวางวินัยไว้ต้องมีพระทำผิดก่อน

กฎหมายนี้ ธรรมวินัยนี้เพื่อจะให้ภิกษุสงฆ์ที่อยู่ด้วยความเป็นผาสุก ให้คนที่เก้อเขิน คนทำความผิดไม่ได้ เพื่อเจริญสิ่งที่ว่าคนที่ศรัทธา เป็นชาวพุทธที่เข้าถึงศาสนานี้ให้มีความอาจหาญ มีความรื่นเริง แล้วคนที่ยังไม่ศรัทธาให้เขาศรัทธาในศาสนานี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอง ขนาดที่จะร่างกฎหมายแต่ละข้อนี่มองไปรอบเลย ว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์

แต่ในปัจจุบันนี้เราไปศึกษากัน เราออกไปจากข้างนอก เราเข้าไม่ถึงศาสนาก็ตรงนี้ไง เพราะเราไม่รับสัจจะความจริง ถ้าสัจจะความจริงนะ มันเป็นความจริงจากในหัวใจของเรา ถ้าเป็นสัจจะความจริงในหัวใจของเรา สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเรานะ

สมบัติข้างนอกนี่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยทั้งหมดเลย แต่ของเราจะมีความเป็นไปกับเราก็คือใจอันนี้ เพราะใจนี้มันจะเกิดตายเกิดตาย เวลาเกิดตายก็ปฏิเสธอีกว่าคนเราเกิดมานี่ชาติเดียว มันจะตายแล้วมันจะเกิดไปได้อย่างไร มันจะไปไหนอีก เพราะมองกันสภาวะสิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่เป็นทฤษฎีที่พิสูจน์ได้

แต่ความจริงสิ่งที่วิทยาศาสตร์ทางจิต มันยิ่งมหาศาลกว่านี้เพราะอะไร เพราะเวลาภาวนาเข้าไปนะ ความว่าจิตมันสงบมันก็แตกต่างกันนะ เวลาทำความสงบของใจ มันจะวิธีแตกต่างกัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางกรรมฐาน ๔๐ ห้องไว้ เห็นไหม กรรมฐาน ๔๐ ห้องหมายถึงว่าวิธีการ ๔๐ วิธีการ

แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติกันก็ของฉันดีๆ ของใครจะดีไม่ดีไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลต่างหากล่ะ เวลาปฏิบัติของเราต้องได้ผลของเรา เห็นไหม เหมือนอาหารนี่ ถ้าเรากินอาหารอะไร ถ้ามันถูกจริตของเรา มันพอใจของเรา อันนั้นคืออาหารที่ถูกใจของเรา อาหารเหมือนกัน แต่เราไม่พอใจต่างๆ แล้วพยายามจะฝืนกิน เห็นคนอื่นเขากินอร่อย พยายามฝืนกินกับเขาไป มันก็ไม่ได้ประโยชน์กับเรา เห็นไหม กินลงไปแล้วมันไม่เคยนี่ มันก็ไปทำลายธาตุขันธ์ก็ได้ อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง

นี่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้มหาศาลเลย ขณะที่แค่ทำความสงบมันก็ยังเป็นเรื่องที่ว่าแตกต่างมหาศาลขนาดนี้ แล้วความเห็นที่ว่าตายแล้วสูญ ตายแล้วไม่เกิดอีกนะ คนคิดอย่างนี้มากเลย ถ้าคิดว่าตายแล้วมีนะ คำว่าตายแล้วมีหรือสวรรค์นรกมี มันเป็นสิ่งที่เตือนใจเรานะ หมายถึงว่าจะทำความผิดพลาดนะ เราก็ไม่ควรทำเพราะอะไร เพราะมันมีผู้รับเหตุรับผลอันนี้ไง

แต่ถ้าบอกถ้าสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดเลย มันจะทำตามอำนาจอำเภอใจของตัวเอง จะทำอะไรก็ได้ เพราะทำแล้วก็สูญเปล่าๆ แล้วแต่ผลประโยชน์จะได้ตอนนี้ ดูสิ เวลาเราทำสิ่งใดผิดพลาดขึ้นมา เวลาผ่านไป เราคิดถึงสิ่งนั้น เราเสียใจๆ ขณะที่เราทำผ่านมาแล้ว มันเป็นอดีตมาแล้ว ทำไมเราเสียใจล่ะ เสียใจเพราะอะไร เพราะสิ่งที่ผ่านมาแล้วไง

นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันคิดจะทำอะไรแล้วมันก็ทำไป แต่ผลที่มันเกิดก็เกิดจิตนี้ได้รับไง แล้วเวลามันตายไปมันก็ได้รับสภาวะแบบนั้น ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้มีความเป็นไปนะ เวลาจะสร้างบารมีจะสร้างมากันอย่างไร?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบารมีมา เห็นไหม พระอรหันต์ต้องสร้างบารมีมา สร้างบารมีมามันถึงได้มีพละ มีพลังของจิตที่จะมารับรู้สิ่งสภาวะแบบนี้ สภาวะของจิตนะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นการฉุกคิด ความฉุกคิด เวลาหลวงตาท่านสอนประจำนะ ให้ถาม ให้ตั้งปัญหาถามตัวเอง “สิ่งนี้คืออะไร? เหตุผลมันเป็นอะไร?” มีความฉุกคิดไง

แล้วเวลาคนที่มีปัญญา สิ่งใดจะเกิดกระทบขึ้นมา มันจะฉุกคิด ความฉุกคิดนี่มันจะย้อนกลับมาจากภายใน ย้อนกลับมาภายในนะ สิ่งนี้กระทบมาจากไหน ความคิดมาจากไหน ทำไมสภาวะแบบนี้เขาต้องรับสภาวะแบบนี้ ทำไมสภาวะแบบนี้เขาเป็นสภาวะแบบใด เห็นไหม มันมีบุญมีกรรมส่งๆ กันมา ส่งต่อกันมา แล้วถ้าส่งต่อกันมา ขณะที่กระทบสิ่งนั้น ฉุกคิดแล้วยังมีปัญญาเอาตัวรอดสิ่งนี้ได้ไหม? เอาปัญญาสามารถคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้านี้ได้ไหม?

การคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้ามันก็เป็นบุญเป็นกรรม เห็นไหม คนมีบุญ ขณะที่เกิดอุบัติเหตุเกิดต่างๆ มันจะพาให้สิ่งนี้คลาดแคล้วไปๆ การคลาดแคล้วมันเกิดจากสิ่งที่เราทำมานะ คนเราพยายามหลบหลีก พยายามจะไม่เจออุบัติเหตุเลย แต่กลับไปเจออุบัติเหตุเพราะอะไร?

เพราะเวลากรรมมันให้ผลไง กรรมมันการกระทำ สิ่งที่เราทำไปแล้วมันเกิดผลกระทบขนาดนี้ นี่ในปัจจุบันนะ แล้วจะปฏิเสธได้อย่างไรว่าตายแล้วสูญ ตายแล้วสูญ ตายแล้วไม่มีไง นรกสวรรค์ไม่มี ตายแล้วแล้วกันไป

นี่ออกนอกศาสนา ออกนอกศาสนามันเป็นเรื่องของโลก ถ้าเรื่องของโลกนะ เป็นเรื่องเขา ดูสิ ดูอย่างธุรกิจการค้า ถ้าใครทำสิ่งใดก็ทำตามๆ กันไปเพราะอะไร เพราะจะเอาให้ได้แบบเดียวกัน แล้วมันแบบเดียวกันไหม พอถึงจุดแล้วมันก็หมดยุคหมดสมัย มันก็หมดไป คนก็เริ่มซากันไป แล้วโลกก็เป็นแบบนี้นะ ต่อไปนี้มันจะเป็นธรรมะโลกๆ ไง ธรรมะที่ว่าเราสื่อสารกันได้ อันนั้นมันสื่อสารกันเพื่อหน้าเพื่อตากัน

แต่ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ ใครจะสื่อสารไม่สื่อสารเรารู้ของเรานะ เวลาสุขเราสุขของเรา เวลาทุกข์เราทุกข์ของเรา เห็นไหม นี่ศาสนาความจริงอยู่ที่นี่ไง “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วสามารถย้อนกลับมาในหัวใจของเรา ถ้าใครเอาใจของตัวเองไว้ได้ คนนั้นประเสริฐที่สุด ใครเอาหัวใจของเราไว้ได้ ใครเอาความคิดของเราไว้ได้

ความคิดนะมันไม่สามารถมีอำนาจเหนือเรา ความคิดที่คิดขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ ถ้าเป็นประโยชน์ของเรา เราถึงทำสภาวะแบบนั้น เราทำไปเพื่อประโยชน์สังคม เพื่อประโยชน์โลก เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว เผยแผ่ศาสนาไป นี่อะไร เผยแผ่ศาสนาไป ความเมตตาสงสารสัตว์โลก นี่ก็เพื่อประโยชน์ของโลก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นประโยชน์กับโลก เรามีอำนาจวาสนาทำได้ ดูสิ ดูพระอรหันต์สมัยพุทธกาล ดูพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นอัครสาวกเลย แต่เวลาไปอยู่ในป่าล่ะ? นี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนาที่ได้ทำมามากหรือทำมาน้อย จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์กับโลกนะ นี่พูดถึงสัจจะความจริงนะ

แต่ถ้าเป็นความปลอมล่ะ ความปลอม เห็นไหม รู้ไม่รู้ว่าไปนี่เป็นเรื่องโลกๆ ไง เรื่องโลกๆ เห็นไหม ทฤษฎีก็มีอยู่ แล้วเวลาพูดๆ ตามอะไร ก็พูดตามตำราไง พูดตามตำรา พูดตามพระไตรปิฎก พูดตามสภาวะแบบนั้น แต่เป็นไม่เป็นไม่รู้ เหมือนกับเราสอนหนังสือเด็กเลย แต่ผลตอบมาผลสำเร็จ เป็นไม่เป็น ได้ไม่ได้...ไม่รู้ แต่ก็สอนกันไปอย่างนั้นไง

นี่ก็เหมือนกัน สอนตามทฤษฎี สอนตามธรรมะ สอนกันหมดเลยนะ เป็นเรื่องโลกๆ เห็นไหม ออกจากศาสนาไปเรื่อยๆ เพราะอะไร เพราะมันห่างจากหัวใจ มันห่างจากภาชนะที่รับธรรม มันห่างจากความรู้สึกอันนี้ ไอ้นี่มันก็พูดกันไปเหมือนกับเราปฏิสันถารกัน เราคุยกัน เราทักทายกัน เห็นไหม นี่ก็เอาธรรมะมาคุยกัน ก็แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ก็เท่านั้นเอง

แต่ทำไมไม่แลกเปลี่ยนความเห็นกับความทุกข์ในหัวใจล่ะ ประโยชน์เข้ามาในหัวใจ ทำไมไม่แลกเปลี่ยนกับเรา สุขทุกข์เราก็รู้ของเราเองไง ทำผิดทำถูก เห็นไหม ดูสิเวลาเรากินอาหารเผ็ดเข้าไปนะ มันเผ็ด เราต้องหาน้ำดื่มเพื่ออะไร เพื่อละความเผ็ด เวลาเรากินอาหารเย็นไปร้อนไปนะ มันจะเข้าไปในปาก เราจะรู้รสหมดเลย

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ทุกข์สุขในหัวใจทำไมเราไม่รู้ เรารู้อยู่ของเรา ทำไมเราไม่ทำ ทำไมเราไม่รักษาของเรา เห็นไหม เวลาทำสมาธิกันทำที่ไหน ทำไมพระกรรมฐานต้องออกป่าล่ะ ทำไมไปอยู่โคนไม้ล่ะ เพราะต้องการความสงัดล่ะ สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์มากเพราะอะไร ธุดงควัตรเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นบั่นทอนกิเลส ธุดงควัตรนี่มันเป็นเครื่องขัดเกลา เห็นไหม ดูสิ เวลาเราทำสิ่งใดขึ้นมาเป็นศิลปะของเขา เขาต้องมาตบมาแต่งของเขาเพื่อให้สวยงาม

นี่ก็เหมือนกัน วิธีการนะ วิธีการที่เราจะเข้าไปเผชิญกับความรู้สึกอันนี้ มันยังไม่ใช่ตัวจริงเลย มันเป็นพิธีการเฉยๆ ธุดงควัตรเป็นพิธีการเฉยๆ แต่ทำไมทำธุดงค์ก็ว่าอัตตกิลมถานุโยค ทำเกินกว่าเหตุ ยังดีนะ ยังบอกว่าอยากมีชื่อเสียง อยากจะทำให้โดดเด่น คิดไปนู่นนะโดดเด่น

โดดเด่นอะไร ทำให้ไปดัดแปลงกิเลส มันโดดเด่นที่ไหน มันทำให้เศร้าหมอง ทำให้หัวใจมันไม่ฟุ้งซ่านไป มันเป็นวิธีการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ เพียงแต่เราไม่ทำกัน พอไม่ทำกันแล้ว เราก็ไปติเตียนอีกว่าสิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์ไง

มันเป็นประโยชน์มาก เหมือนช่างเครื่องยนต์เลย เขามีประสบการณ์ของเขามาขนาดไหนนะ เขาฟังเสียงเครื่องยนต์เขาจะรู้เลยว่าเครื่องยนต์ของเขามันจะขัดข้องอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่ปฏิบัติธรรมขึ้นมา มันเรื่องของหัวใจไง มันรู้เรื่องของหัวใจ

คนเรานะ ขณะที่หัวใจมันคลุกคลีอยู่ หัวใจที่มันทุกข์ยากมา หัวใจที่มันพัฒนาขึ้นมา ขั้นตอนของมันทำมาขนาดไหน แล้วหัวใจนี้มันได้ดัดแปลงมาแล้ว แล้วใจดวงหนึ่งก็เหมือนใจดวงหนึ่ง คนที่เกิดมานะจะสัญชาติอะไร ชนชาติอะไรก็แล้วแต่ มีสุขมีทุกข์เหมือนกัน เกลียดทุกข์ปรารถนาสุขเหมือนกันหมดเลย หัวใจอันเดียวกันเลย

แล้วหัวใจดวงหนึ่งที่มันเข้าใจตามสัจจะความจริงของมันหมดแล้ว มันทำให้หัวใจดวงอื่น ทำไมจะไม่เข้าใจ มันเข้าใจหมดล่ะ แล้วเพียงแต่ว่าการพูดออกไปก่อนมันไม่เป็นประโยชน์ไง มันเป็นวิปัสสนึก เวลามันนึกไป มันคาดหมายไป มันกลับยากขึ้นมา

ดูสิเครื่องยนต์เรารู้ไปหมดเลย เราศึกษาทฤษฎีหมดเลย แต่เราไม่เคยแก้เครื่องยนต์เลยนะ แล้วพอเครื่องยนต์มันติดขึ้นมา งงไปหมดเลยนะ มันน่าจะเป็นอย่างนี้ มันน่าจะเป็นอย่างนั้น ซ่อมก็ซ่อมไม่ได้ ทำก็ทำไม่ได้ แล้วก็มีการวิตกวิจาร

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นวิปัสสนึกไป มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น ถึงให้มันเป็นสัจจะความจริง ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลใจว่าเราจะทำไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลาเขาทำ เวลาเราน้อยไม่จำเป็น ให้เป็นปัจจุบัน เห็นไหม ทรายก้อนหนึ่ง หินก้อนหนึ่ง เวลาถมไปในสระในหนอง เพื่อจะถมเต็มขึ้นมา มันต้องเต็มขึ้นมาได้ ทรายก้อนแรก หินก้อนแรกจะลงไปตอนไหน

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นตั้งแต่กำหนดพุทโธอย่างไร เราตั้งสติของเราอย่างไร เอาหัวใจของเราขึ้นมาได้อย่างไร เริ่มต้นของเราไม่ต้องว่าเห็นหนองใหญ่โตมาก แล้วเมื่อไหร่มันจะเต็ม ถมอย่างไร วิตกกังวลไปหมดเลย แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเลย

เราทำของเรา จะมีทรายก้อนหนึ่ง จะมีทรายเม็ดหนึ่ง จะมีหินก้อนหนึ่ง จะถมสระหนองใหญ่ก็แล้วแต่ นี่ก็ตั้งสติของเราขึ้นมา กำหนดพุทโธของเราขึ้นมา แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา เริ่มต้นจากตรงนี้ ไม่ใช่วิตกวิจารแล้วไปเรื่องของโลกๆ ธรรมะโลกๆ เห็นไหม ออกจากความจริงสัจจะความจริงไปเป็นเรื่องโลกเลย

แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรมนะ อยู่กับเรา สุขอยู่กับเรา ทุกข์อยู่กับเรา ความเป็นไปอยู่กับเรา ใครจะว่าอย่างไรเรื่องของเขา เรื่องของเราคือเรื่องของเรา ให้ดูใจของเรา แล้วใจของเราจะประเสริฐขึ้นมา ศาสนาเจริญตรงนี้ไง

แล้วถ้าเราเป็นตรงนี้ เห็นไหม ดูสิ จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจหมดแล้วนะ ทำไมเราจะสอนคนอื่นไม่ได้ ทำไมเราจะไม่เข้าใจสภาวะแบบนั้น ดูสิชีวิตของเรา เห็นไหม ดูสิครูบาอาจารย์ท่านบวชมาตั้งแต่เป็นเณรนะ แล้วจนชีวิตตายไปในผ้าเหลือง ดูสิทำไมท่านดำรงชีวิตของท่านได้ แล้วดำรงชีวิตแบบกรรมฐานด้วย ดูสิ ไม่สนใจเรื่องของความสุขของโลกเขาเลย ไม่สนใจกับเครื่องอำนวยความสะดวกเลย อยู่กันได้อย่างไร?

เพราะอะไร เพราะมันเห็นคุณค่าไง มันเห็นคุณค่าวิธีการ พระกัสสปะ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถาม

“กัสสปะเอย เธอก็เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ทำไมเธอถือธุดงควัตร?”

“ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ข้าพเจ้าเองเลย ข้าพเจ้าทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังได้เป็นคติ ได้เป็นแบบอย่าง ได้เป็นที่อ้างอิง”

นี่เห็นประโยชน์ เห็นความเป็นไป แล้วชีวิตอย่างนี้มันไม่ใช่ความทุกข์เลย มันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องหมดไป แล้วตายไปแล้วนั่นน่ะ สอุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ กับอนุปาทิเสสนิพพานพระอรหันต์ที่ตายไปแล้ว มันเข้าใจอย่างนี้หมด มันมีความสุขเหมือนกัน มันเข้าใจไปหมด

นี่ช่างเครื่องยนต์ที่มีความชำนาญ แล้วจะเข้าใจต่างๆ เห็นไหม แล้วเราจะเป็นช่างซ่อมเรา เราจะเป็นช่างหัวใจเรา เราจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่เรื่องศาสนานะ เรื่องของเขาเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเราเป็นเรื่องของเรา แล้วสุขทุกข์ในหัวใจของเราก็เป็นของเราด้วย เอวัง