เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาคติธรรมโบราณ เห็นไหม ถ้าแพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ถ้าแพ้เป็นพระ เราต้องเป็นฝ่ายแพ้ แต่ถ้าแพ้เป็นพระ แพ้ได้อย่างไรล่ะในเมื่อหัวใจมันไม่ยอมรับ แพ้นี่มันได้ประโยชน์ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือว่าเราชนะใจเราเอง เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้เลย
ชนะศึกหมื่นแสนสร้างเวรสร้างกรรม ชนะตนเองสำคัญที่สุด
ทีนี้ชนะตนเองสำคัญที่สุด ชนะอย่างไรล่ะ? นี่การศรัทธาไง ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อ แพ้เป็นพระ มีปัญหา มีการกระทบกระเทือนกัน เรายอมรับของเรานี่เรายอมแพ้ ยอมแพ้ ถ้ายอมแพ้โดยขันติบารมี ยอมแพ้เพราะถือคติธรรม ศีลธรรมจริยธรรมจากภายนอก ศีล เห็นไหม เราถือศีลกัน ถ้าเราเคารพในศีลเราจะไม่ทำผิดศีล แต่ถ้าเป็นอธิศีล ศีลในหัวใจมันคิดไม่ได้เลย มันทำผิดไม่ได้เลย มันเป็นอธิศีลไง
สิ่งข้างนอกมันเป็นเวรเป็นกรรม มันเป็นเวรเป็นกรรมหมายถึงว่ามันมีเวรต่อกัน มันไม่มีเจตนา แต่ความพลั้งเผลอ ความผิดพลาดไป แต่ข้างนอกนี่ความผิดศีล เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากหัวใจเป็นอธิศีล แต่ศีลจากภายนอกนี่ถ้าแพ้เป็นพระ ถ้าแพ้เป็นพระเราไม่เข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึก เราไม่เข้าใจถึงความคิดเราเลย เราไม่มีเหตุผลจะกดหัวใจเราไว้ได้เลย ไม่มีเหตุผลกดหัวใจนะ ถ้ามีเหตุผลกดหัวใจได้มันก็อาศัยศีลธรรมจริยธรรม คือสิ่งที่ว่าแพ้เป็นพระไง เรายอมแพ้เขา เราเป็นฝ่ายไม่กระทบกระเทือนกัน อันนี้ว่าแพ้เป็นพระนะ
แต่ถ้าเป็นพระจริงๆ ไม่ใช่แพ้ พระจริงๆ คือชนะ ชนะตัวเองไง ชนะความรู้สึกอันนี้ มันแบ่งแยกได้ไงความรู้สึกอันนี้เป็นความรู้สึกอะไร? ความรู้สึกนี้เกิดจากอะไร? กิเลสไปยุแหย่ความรู้สึกไหม? แต่ถ้าเป็นธรรมเกิดขึ้นมาล่ะ? เช่น ทำคุณงามความดี รถมันต้องมีคันเร่ง ถ้ามีคันเร่งขึ้นมามันถึงเป้าหมายได้ เวลาถนนหนทางดีหมดเลย เราเดินแบบเต่าเลยนะ รถนี่ไม่ได้วิ่งเลย เวลาไม่เหยียบคันเร่งไง พอถึงที่สุดนี่ว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก
เวลาน้ำขึ้น เห็นไหม เวลาน้ำขึ้นมาถึงบันไดบ้านเลย คนที่อยู่ตามชายทะเล เวลาน้ำขึ้นน้ำมันจะขึ้นมา เวลาน้ำลง...น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะอะไร? เพราะอย่าเกียจคร้าน ไม่ใช่น้ำขึ้นให้รีบตักให้เห็นแก่ตัวนะ คนไม่เคยอยู่ในภูมิประเทศอย่างนั้นจะไม่เข้าใจหรอกว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะอะไร? เพราะน้ำขึ้นมามันขึ้นมาถึงบันไดบ้านเลย เวลาน้ำมันลงนี่มีแต่เลนนะ เพราะอยู่ชายทะเลมันเป็นโคลนหมดเลย น้ำลงไปต้องไปตักน้ำเป็นกิโล เดินไปตักน้ำนะ น้ำขึ้นให้รีบตัก ตักไว้เพื่อจะให้ขยันหมั่นเพียร เวลาน้ำลงแล้วจะเป็นทุกข์
นี่ก็เหมือนกัน เวลามีคันเร่ง ความคิดที่ดีเป็นธรรมไง นี่เราคิดอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ มันเป็นกิเลส มันไม่ปล่อยวาง นี่กิเลสเอง ไอ้นี่มารทั้งนั้นนะ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ถ้าแพ้เป็นพระมันจะรู้ตัวมันเอง จะรู้ความเข้าใจของมันเอง มันจะแบ่งแยกความคิดได้ นี่ความคิดหยาบๆ มรรคหยาบๆ ฆ่ามรรคละเอียด ถ้ามรรคหยาบๆ เราไปติดในความหยาบของมันเราจะเป็นละเอียดไม่ได้ ถ้าเราละเอียดขึ้นมา ความละเอียดของมันจิตมันจะพัฒนาของมันขึ้นไป นี่แล้วมันเห็น มันรู้ตัวมันเข้าไปภายใน
คำว่าแพ้เป็นพระนี่นะ มันจะเข้าใจว่ามันจะไม่มีอะไรแพ้เลย มันจะเข้าใจ มันจะทันกิเลสของตัวเองไง มันจะเอากิเลสไว้ในอำนาจของเราไง แล้วถ้ากิเลสเราไว้ในอำนาจของเรา มันจะมีอำนาจเหนือเราไหม? แต่นี้เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันมีอำนาจเหนือเราไง อำนาจเหนือเรา เราถึงว่ามันเป็นมาร เห็นไหม ชนะเป็นมาร ชนะเป็นมารเพราะอะไร? เพราะมันเหยียบย่ำเราไปก่อนแล้ว มันเหยียบย่ำเราไปก่อนเราถึงไปทำคนอื่น เช่น เวลาคนเขาโกรธใส่เรา เขามีความโกรธใส่เรา
ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้เลยนะ ถ้าคนเขาโกรธใส่เรา ถ้าเราโกรธตอบหรือเรามีปัญหาต่อกัน เรานี่เสียเปรียบเขานะ เพราะอะไร? เพราะเรามีโทษมากกว่าเขา เพราะสติเขาควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว เราควบคุมสติเราได้ แล้วเราไปไง ไอ้นี่มันอยู่ที่การฝึกฝน สติ เห็นไหม สติถ้ามีการฝึกฝน เรามีการฝึกฝนมาอย่างนี้ เราพัฒนาการมาอย่างนี้มันทันนะ แต่ถึงที่สุดเวลาคนฟิวส์ขาด ทีแรกก็ควบคุมตัวเองได้ แต่ถึงเวลาแล้วก็ฟิวส์ขาด นี่ขาดการฝึกฝน ขาดการเป็นไป
นี้การฝึกฝนเฉยๆ การฝึกฝนก็คือหินทับหญ้าไว้ คือขันติบารมี เวลาเราทนได้นี่ขันติอย่างหยาบ คนที่มีอำนาจเหนือเรา ติเตียนเรา สั่งสอนเราเราทนได้ ขันติหยาบๆ ขันติอย่างกลาง คนเสมอกันว่ากัน ขันติอย่างสุดยอดเลย คนที่ต่ำต้อยกว่าเราติเตียนเราได้ นี่ขันติอย่างประเสริฐ ขันติ คำว่าขันติคือการอดทน แต่ถ้ามีปัญญา ปัญญามันจะแยกแยะของมันเองว่าอะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นความจริงและไม่เป็นความจริง อะไรเป็นสิ่งที่เป็นคุณธรรมและไม่เป็นคุณธรรม
อ้างกันว่าคุณธรรมหมดเลย เวลากิเลสมันคิดขึ้นมานะ เวลามารมันจะเอาชนะมานะ มันว่าเป็นคุณธรรมหมดเลย นี่เป็นคุณธรรมเพราะอะไร? เพราะว่าได้ประโยชน์ไง แต่ถ้าเป็นธรรมของเรานะเป็นฝ่ายเสียสละ เสียสละเป็นผู้ให้เขา ดูสิอย่างครูบาอาจารย์เรา พระพุทธเจ้านี่ให้หมดเลย แม้แต่เป็นพระโพธิสัตว์ให้ชีวิต ให้ทุกอย่าง ให้เขาๆ หมดเลย ให้เพื่ออะไร? ให้เพื่อได้ไง เพราะมันได้อำนาจวาสนาขึ้นมา ได้บารมีขึ้นมา ได้ความแก่กล้าขึ้นมา ได้หัวใจขึ้นมา ได้พลังงานขึ้นมา
นี่เวลาเราปฏิบัติกัน เห็นไหม ทำไมเราไม่มีความเข้มแข็ง ทำไมเราเอาใจของเราไว้ไม่ได้ ทำไมเราไม่ตั้งสติไว้ นี่พละ ๕ อินทรีย์ไง ความเป็นพละอย่างนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ? เวลาจิตใจเข้มแข็ง เวลาจิตใจอ่อนแอมันเกิดมาจากไหน? ถ้าไม่เกิดจากการเสียสละก็ไม่ได้เกิดจากใจขึ้นมา เราปลูกต้นไม้เราต้องรดน้ำพรวนดิน เราต้องใส่ปุ๋ย เราต้องรักษามัน แล้วหัวใจไม่เคยรักษามันเลย แล้วพอเกิดขึ้นมานี่เสรีภาพๆ นี่ต้องเสมอกันๆ เสมอกันมันเสมอกันโดยสถานะ แต่พลังงานของใจ บารมีอย่างนี้มันเสมอกันได้อย่างไร?
ดูสิบารมีมาจากไหนล่ะ? เงินซื้อไม่ได้ ทุกอย่างซื้อไม่ได้เลย บารมีเกิดจากการยอมรับ เกิดจากการที่เราทำคุณงามความดี นี่สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมาจากหัวใจ สิ่งนี้มันสร้างสมมา ถ้ามันสร้างสมมาอย่างนี้มันก็ชนะตนเองมาเรื่อยๆ นี่การชนะตนเอง การเสียสละ การก่อร่างสร้างตัว การก่อร่างสร้างจิต จิตต้องสร้างสมมาอย่างนี้ ในอภิธรรมถึงบอกไว้เลย พระอรหันต์ต้องสร้างบารมีมาหนึ่งแสนกัป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย แสนมหากัป สิ่งนี้มันสร้างมา แต่สร้างมาด้วยความต่อเนื่องนะ
เวลาความต่อเนื่อง เห็นไหม ดูสิดูเวลาเป็นไป จิตของเรามันจะพลิกแพลงตลอดเวลา สิ่งที่พลิกแพลงถึงว่ามันต้องมีคันเร่งไง เพราะเราคบบัณฑิต คบพาลพาลพาไปตามประสาของเขา แต่คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล บัณฑิตพาไปหาที่ดี เวลาไปหาที่ดีเราต้องเหยียบคันเร่ง มันถึงเวลาจะตีเหล็ก ถ้าเหล็กมันแดงเราจะตีขึ้นรูป เราจะทำอย่างไรก็ได้ จะเอาสิ่งที่สวยงามขนาดไหน ถ้าเราเป็นช่างที่ดี ถ้าช่างฝีมือหยาบมันก็ทำได้สภาวะของมัน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจมันดีขึ้นมา หัวใจมันพัฒนาขึ้นมานี่ทำอย่างไรก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้หมายถึงว่าขณะที่เราจะเหยียบคันเร่งของเรา แต่ถ้าขณะที่มันเหยียบไม่ได้ เวลาเหยียบคันเร่งไม่ได้ หนทางข้างหน้ามีแต่ขวากมีแต่หนาม ตกเหวตกบ่อเราไปไม่ได้เราต้องเลาะไป เบาไป เห็นไหม
การใช้ปัญญามันมีหลายแง่หลายมุมนะ ไม่ใช่ว่าเราจะใช้ปัญญาลุยเข้าไปอย่างเดียว นี่กล้าจนบิ่น มีดถ้ามันกล้าเกินไป มันฟันอะไรมันบิ่น มันไม่เป็นประโยชน์นะ มีดมันต้องกล้า มันต้องคม คมแล้วมันต้องรักษา ต้องฟัน ฟันหินก็ไม่ได้ ฟันสิ่งที่เป็นเหล็กก็ไม่ได้ แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เห็นไหม เราใช้ฟันสิ่งนั้นมันก็เป็นประโยชน์ขึ้นมา
ปัญญาก็เหมือนกัน เราจะทำลายตัวเราเองมันจะเป็นไปไม่ได้หรอก เราไม่ได้ทำลายตัวเราเอง เราทำลายกิเลส เราอดอาหาร เราประพฤติปฏิบัติ เราจะทำลายกิเลสเรานะ เราไม่ได้ทำลายตัวเราหรอก ทีนี้กิเลสมันอยู่ในตัวเรา มันก็อาศัยสิ่งนี้มันเป็นการซอกซอนไปของปัญญา ปัญญาจะซอกซอนเข้าไปตามสิ่งที่กิเลสมันหลบหลีกไว้ นี่ถ้าย้อนกลับเข้ามามาดูแลของเรา ปัญญามันจะหยาบ มันจะละเอียด มันจะลึกซึ้งของมันเข้าไปเป็นประสาของเรา เป็นความเห็นของเรา เราจะเกิดขึ้นมาจากใจของเรา อยู่ที่การฝึกฝน
นี่แล้วอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? มันก็เกิดขึ้นมาจากบารมีไง บารมีคือจิตที่มันมีความฉุกคิด จิตที่มันมีการแยกแยะ จิตที่มันจับความรู้สึกเรานี่มันผิดอะไร? มันเป็นอย่างไร? ทำไมมันเป็นไปไม่ได้? ความรู้สึกเราทำไมมันไปไม่ได้ ทำไมของครูบาอาจารย์ท่านซอกซอนไปได้ ทำไมปัญญาท่านซอกเข้าไปในจิตของเราได้ แล้วเราทำไมทำของเราไม่ได้ เห็นไหม นี่ถ้าคิดอย่างนี้ได้นะ มันตั้งประเด็นขึ้นมามันจะมีความอุตสาหะ มันจะหาช่องทางไป
ถ้าเราไม่มีช่องทางไป นี่สมบัติของเรา สมบัติส่วนตนๆ อาหารของแต่ละสำรับ ของครูบาอาจารย์เรา หรือของญาติโยมเขาเขากินของเขา เขารักษาของเขา เขาเป็นของเขานะ ไอ้นี่ก็ปัญญาของเรา นี่ธรรมของเรา ความรู้สึกของเรา จิตของเรา ปัญญาของเรามันแยกเข้าไปข้างใน มันพัฒนาของมันข้างใน มันเกิดมาจากไหนล่ะ? มันก็เกิดจากการฝึกฝน การฝึกฝนอะไรรองรับมัน สิ่งที่รองรับนี่ภวาสวะ ภพ
นี่ใจที่มันเข้มแข็ง ใจที่มันอ่อนแอ สิ่งนี้มันสร้างสมมา เราถึงต้องตั้งสติไว้แล้วพยายามพัฒนาใจของเราให้มันเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าใจเข้มแข็งขึ้นมาก็ทำงานได้ คนแข็งแรงทำงานอะไรก็เป็นประโยชน์ได้ คนอ่อนแอทำอะไรก็ไม่ได้ เห็นไหม ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องฝึกฝนไป ทำอะไรไม่ได้เราจะยอมจำนนกับชีวิตหรือ? ชีวิตเราไม่ยอมจำนนกับมันใช่ไหม? ถ้าเราไม่ยอมจำนนกับชีวิตเราจะพัฒนาชีวิตของเรา จะพัฒนาความเป็นไปของเรา
ตั้งสติไว้ มีอะไรเราตั้งสติของเราแล้วพิจารณาไปมันฝึกฝนได้ ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝน เห็นไหม ดูสัตว์ ช้าง เห็นไหม เขาเอามาลากซุง เอามาเป็นประโยชน์ของเขา สัตว์ใหญ่ขนาดไหนเขาก็ฝึกฝนได้ สัตว์มันยังฝึกฝนได้ แล้วเราเป็นมนุษย์ด้วย เรามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแผนที่ มีเครื่องดำเนินอยู่ด้วย มีธรรมและวินัยเป็นเครื่องดำเนิน ทำไมเราไม่ศึกษา ทำไมเราไม่พัฒนา เราพัฒนาของเรา เราพัฒนาด้วยการแพ้เป็นพระไง คือพัฒนาภายใน
ความรู้สึก เห็นไหม อารมณ์ความรู้สึกมันเป็นสิ่งที่ละเอียด มันเป็นนามธรรม แล้วเราใช้ศีลธรรม ศีลธรรมจริยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าควบคุม แล้วพัฒนาของมันขึ้นไป พัฒนาใจของเราขึ้นมา นี่งานละเอียด งานอย่างนี้งานละเอียด งานของศาสนาเรา ผู้ที่เป็นชาวพุทธ งานของทางโลกเขาอาบเหงื่อต่างน้ำ เขาแบกหามกัน เขาเป็นความทุกข์ยากกัน เขายังบ่นว่าทุกข์เลย แล้วงานที่มันละเอียด ดูสิดูอย่างพวกนักวิทยาศาสตร์เขาทดสอบกัน เขาทดลองกันเป็นสิบๆ ปีนะกว่าเขาจะโครงการหนึ่งสำเร็จมาได้ แล้วทดสอบได้ขนาดไหน?
นี่ก็เหมือนกัน วิทยาศาสตร์ทางจิต วิทยาศาสตร์ของเรา ห้องทดลองคือหัวใจของเรา ห้องทดลองคือกายกับใจ เราทดลองใจของเรา เราพัฒนาของเราขึ้นมา เราพยายามใช้ความละเอียดรอบคอบ ต้องใช้สติสัมปชัญญะนะ การเคลื่อนไป การเหยียดการคู้ ถ้ามันผิด นี่เราผิดแล้ว เห็นไหม ถ้าเราผิดเราทำอย่างไร? เราตั้งสติสิอย่าให้ผิดอีก ถ้าผิดอีก นี่ถ้าผิดอีกเราเลวแล้ว ถ้าผิดอีก นี่ถ้าพูดไปนะมันซ้ำไปๆ มันจะพัฒนาได้ เราอย่าว่า อ้าว ผิดแล้วก็แล้วกัน ทำอะไรก็แล้วกัน เราจะพัฒนาไม่ได้นะ
สิ่งใดที่ผิดวางไว้ สิ่งใดที่ผิด เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี พัฒนามานี่มีความผิดพลาดตลอดไป นี่เราผิดของเรา เราแก้ไขของเราไป เราแก้ไขของเรา แล้วพัฒนาการของเรามันจะเป็นไปได้ หัวใจต้องฝึกฝนได้ ถ้าฝึกฝนไม่ได้พระพุทธเจ้าไม่สอนไว้ ครูบาอาจารย์เราไม่สอนไว้ ครูบาอาจารย์ไม่ชี้นำไว้ให้ทำ ครูบาอาจารย์ท่านชี้นำอะไรไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เอาอะไรมาหลอกคนหรอก มีแต่ความจริงเท่านั้น ความจริงเท่านั้นที่จะพัฒนาขึ้นไป ขึ้นไปถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดนี่ผลงานของเรา
นี่อาหารของคนอื่นเป็นอาหารของคนอื่น อาหารของเราเราเลี้ยงร่างกายของเรา ปัญญาของเราเป็นปัญญาของเรา สมาธิของเราเป็นสมาธิของเรา สิ่งต่างๆ เราต้องฝึกฝนขึ้นมาเพื่อเราทั้งนั้นนะ อยู่กับครูบาอาจารย์เราก็ได้นิสัยเท่านั้นเอง ได้นิสัย ได้อุบายวิธีการ ถ้าเราทำของเราได้ก็เป็นสมบัติของเรา อยู่กับครูบาอาจารย์ได้นิสัย ได้อุบายแล้ว ถ้าเราไม่เอามาพัฒนา เหมือนเข้าโรงพยาบาลเราต้องพัฒนาอย่างนี้ แล้วเข้าโรงพยาบาลแล้วมันเป็นประโยชน์กับเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วจะเป็นสมบัติของเรา ถึงจะเป็นปัญญาของเรา
นี่เราต้องฝึกฝนของเรา เพื่อแพ้เป็นพระ เห็นไหม แพ้ไปเรื่อยๆ เป็นพระไปเรื่อยๆ แล้วถึงเป็นพระในที่สุด เป็นพระในหัวใจของเรา เอวัง