เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ ส.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเหมือนคน เห็นไหม เหมือนมนุษย์ มนุษย์ต้องเจริญเติบโตขึ้นมาแต่ละวัย วัยหนึ่งความคิดของมนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงไปแต่ละวัย นี่มนุษย์ แล้วเวลาศาสนา ศาสนาเป็นเครื่องประจำใจของมนุษย์ไง แต่เรามองข้ามศาสนาไป เราเอาทุนนิยมเป็นศาสนา เอาเศรษฐกิจเป็นศาสนาไง เรามองกันเรื่องความสุข เราคิดว่าความสุข เพราะศาสนาก็สอนเรื่องความสุข ทุกคนเกิดมาเกลียดทุกข์ ปรารถนาความสุข แต่พยายามแสวงหาความสุขแล้ว นี่เข้าไปกอดกองไฟไง ตะครุบเงา ตะครุบสิ่งใดๆ แล้วไม่เป็นความสุขเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถอนกลับมาไง ให้ชักฟืน ชักเชื้อไฟออกจากกองไฟ แต่เราพยายามเติมไฟกัน เพื่อว่าเห็นแสงสว่าง เห็นแสง สี เสียง เหมือนแมลงเม่าเลย บินเข้าไปในกองไฟกัน สิ่งที่บินเข้าไปในกองไฟ แมลงเม่าเจอกองไฟโดยธรรมชาติของมัน มันต้องบินเข้าไปหากองไฟ เห็นไหม มันต้องตาย เพราะอะไร? เพราะมันไม่เข้าใจของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เราเข้าใจของเราว่าไฟ สิ่งที่มันมีความร้อน มีพลังงาน มีแสง มันจะเป็นความสุขไง เห็นไหม โลกทุนนิยม ทุนนิยมเป็นสภาวะแบบนั้นนะ ทำอะไรก็แล้วแต่เพื่อกระตุ้นให้เราพึ่งตนเองไม่ได้

แต่ในศาสนาพุทธของเรานะ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ ตนจะยืนได้อยู่บนหลักการของชาวพุทธ ชาวพุทธอาศัยปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีวิต พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เป็นคนขี้เกียจ พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นคนทำงาน ถ้าไม่ได้สอนให้เป็นคนทำงาน มันจะมีความเพียรชอบได้อย่างไร?

ในอริยมรรค เห็นไหม งานชอบ การทำงานชอบ งานของคฤหัสถ์ งานของการแสวงหามาเพื่อการดำรงชีวิต ถ้าจิตใจมันพัฒนาขึ้นมา การดำรงชีวิต ดูสิเวลาเราแสวงหากันมา นี่กินอาหารวันละ ๓ มื้อเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทำไมเวลาบวชเป็นพระเขามีการฉันเพลกัน ๒ มื้อ เพื่ออะไร? เพื่อถือศีล ๘ ศีล ๘ ไม่ให้กินอาหารเย็น เพราะอาหารตกไปในกระเพาะแล้วอาหารมันต้องมีการย่อย ในร่างกายของเราต้องมีพลังงานของเรา นี่เหมือนกับเราจะนอน ถ้าเรากินอาหารมากเกินไปเวลาเรานอนท้องเราอืด เรานอนได้ไหม? อาหารของเรามื้อเย็นเขาไม่ให้กินอาหารมาก เพื่ออะไร? เพื่อให้นอนหลับ นอนมีความสุข

แม้แต่การกินการนอนเขายังรู้จักแบ่งแยกเลย แล้วเราเป็นชาวพุทธ เป็นนักประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ถือศีล ๘ ไม่ให้กินข้าวเย็น เพราะข้าวเย็นมันอยู่ในกระเพาะแล้วมันมีพลังงานของมัน ร่างกายมันต้องใช้พลังงานของมัน การภาวนามันก็ยากขึ้น เวลาออกเป็นพระธุดงค์ พระปฏิบัตินี่ฉันมื้อเดียว ฉันมื้อเดียวแค่ให้ดำรงชีวิตเพื่อจะแสวงหาสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่านั้น คุณค่าของกาย เห็นไหม ดูสิอาหารจะดีขนาดไหนก็แล้วแต่ กินเข้าไปในท้องแล้วมันมีคุณค่า มีคุณค่าแล้วแต่อาหารชนิดนั้น เราต้องเก็บ เราต้องล้าง เราต้องทุกๆ อย่างเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเหลือมื้อเดียว เราฉันอาหารมื้อเดียว ขนาดฉันมื้อเดียวแล้ว ถ้าการประพฤติปฏิบัติไปแล้วพลังงานในร่างกายมันยังเหลือใช้อยู่ เวลานั่งไปความสงบมันจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะพลังงานมี เหมือนของที่มันหยาบ เห็นไหม ของที่มันหยาบ ของที่เราจะเก็บให้เข้าตู้เข้าที่เรียบร้อย มันต้องพับต้องเก็บให้มันดี

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจถ้ามันหยาบขึ้นมา มันก็ต้องการแสวงหาไปสภาวะของเขา แต่ความละเอียดของใจ ความสุขที่ว่าเราแสวงหาความสุข ตะครุบเงาๆ ตะครุบแต่ข้างนอก ความสุขมาจากไหน? แล้วก็บอกว่านี่ประพฤติปฏิบัติ ถือชาวพุทธแล้วจะมีความสุขมาก

นี่มีคนถามมากนะ ว่าถ้าพูดถึงในศาสนาเรา ถ้าคนทำบุญในศาสนาพุทธแล้วจะเจริญรุ่งเรืองมาก จะมีบุญกุศลมาก ในเศรษฐีโลกต้องเป็นชาวพุทธสิ ทำไมเศรษฐีโลกไม่เห็นชาวพุทธเลย เศรษฐีโลกเป็นแต่ลัทธิอื่นหมดเลย

อันนั้นมันเป็นการเทียบค่าของความสุขทางโลก เป็นการเทียบค่าของสถิติ ของจำนวนตัวเลขใช่ไหม? แต่ถ้าเทียบถึงความสุขสิ ถ้าเทียบถึงความสุขในใจ เดี๋ยวนี้เขามีความสุขมวลรวม นี่เริ่มคิดกันแล้ว เห็นไหม ความสุขมวลรวมนะ ไม่ใช่ความสุขด้วยสถิติด้วยค่าของตัวเลข ความสุขมวลรวมว่าใครมีความสุขมากความสุขน้อย อย่างนี้พระพุทธเจ้าสอนมาสองพันกว่าปีแล้วนะ แต่นี่เวลาไปแสวงหา ไปตะครุบเงาแล้วมันเอาความสุขมาจากไหนล่ะ?

แล้วเวลาออกประพฤติปฏิบัติ ดูสิทำบุญกัน ทำไมเราต้องแสวงหาในที่ที่เราจะทำบุญล่ะ? ทำบุญเราก็ทำ นี่สิ่งที่ว่าตัวเลขจะเกิดขึ้นมาอย่างไร? ความสุขจะเกิดขึ้นมาอย่างไร? ถ้าเรามีความพอใจ ถ้าเราไม่รู้เราทำที่ไหนก็ทำได้ เหมือนสัตว์เลย สัตว์ไม่รู้มันกินหญ้าของมันไป เห็นต้นข้าวมันก็อยากกินในนาข้าวของเขา ไปกินเขาก็ตีมันนะเพราะมันเป็นนาข้าว ข้าวไม่ใช่หญ้า นี่เวลาสัตว์มันกินหญ้ากินอะไร มันก็เป็นสภาวะแบบนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธ เราทำบุญเราก็ทำประสาเราหรือ? เราจะเป็นเหมือนสัตว์ตัวหนึ่งหรือ? สัตว์มันไม่มีความคิดของมัน มันไม่เข้าใจหรอกว่ามีเจ้าของ มีสิทธิของใคร มันนึกว่าเป็นอาหารของมัน มันก็กิน มันว่าสิทธิของมัน ความคิดของมัน เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นชาวพุทธ เราทำบุญเราก็ทำประสาเรา เราก็ทำบุญแล้ว แล้วเวลาว่าเศรษฐีโลกไม่ใช่ชาวพุทธ...ต่อไปจะมี มีแน่นอน เวลาถึงที่สุดนะ โลกนี้เป็นอนิจจัง มันจะเปลี่ยนแปลงไป มันจะหมุนไปนะ ดูสิไต่อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ นะ นี่ในชาวพุทธเราไต่อันดับขึ้นมาเรื่อยๆ มันต้องถึงวันหนึ่ง เพราะว่ามันเป็นอนิจจัง มันเป็นสิ่งที่ว่าโลกเขาอุปโลกน์กันขึ้นมา มันไม่เป็นความจริงหรอก

ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม นี่เราประพฤติปฏิบัติกัน เราหาความสุขกัน แล้วไหนคือความสุขล่ะ? เวลาปฏิบัติทำไมมีความทุกข์ความยากล่ะ? ความทุกข์ความยากเพราะกิเลสมันต่อต้านไง

ความทุกข์ความยาก เห็นไหม ดูสิเราเก็บของ เราพับของเราเหนื่อยไหม? นี่เราเก็บของ เราใช้ของ เราเก็บเข้าตู้เข้าไหมันเหนื่อยไหม? มันก็ต้องใช้พลังงานเหมือนกันใช่ไหม? แต่เวลาเราเก็บเสร็จแล้วเราสบายใจไหม? นี่บ้านก็โล่ง สะอาด น่ารื่นรมย์ สิ่งนี้เป็นความดีไปหมดเลยเพราะเราเก็บกวาด ถ้าบ้านของใครไม่เก็บไม่กวาดปล่อยให้มันสกปรก มันจะน่ารื่นรมย์ไหม? คนเขาผ่านไปผ่านมาเขาบอกคนๆ นี้ บ้านหลังนี้ทำไมเขาไม่ดูแลสมบัติของเขา ทำไมอย่างนี้เขาปล่อยกันได้อย่างไร? คนอื่นเขามองเขารู้นะ

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเราเข้ามา ถ้าจิตเราสงบเข้ามา เรามีความสุขของเราขึ้นมา มันก็เป็นความสุขของเรา ถ้าความสุขของเรา การแสดงออก นี่ใจคึกคะนอง ถ้าใจคึกคะนอง ดูสิดูการแสดงออก การพูดจา กิริยา ความคึกคะนอง มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าใจมันมีความสงบขึ้นมา ความคึกคะนองมันจะเบาลง เห็นไหม นี่ความคึกคะนองของใจนะ

แล้วเวลาความคึกคะนองของการประพฤติปฏิบัติ เวลาจิตสงบเข้าไปมันไปเห็นนิมิตต่างๆ มันไปเห็นสิ่งต่างๆ นี่ถ้าใจคึกคะนองมันจะมีอาการของมันเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าใจนุ่มนวล ใจที่มีอำนาจวาสนาเป็นสัมมาทิฏฐิ มันสงบเข้าไปเฉยๆ โดยไม่ออกไปเห็นต่างๆ เห็นให้ตกอกตกใจไง การเห็นตกใจขึ้นมาต่างๆ ถ้ามันไม่มีจุดยืนคือภาวนาไม่เป็น เหมือนเด็ก วิวัฒนาการของมนุษย์ เด็กมันต้องเติบโตขึ้นมา

จิตก็เหมือนกัน วิวัฒนาการของมันจะมีขึ้นมานะ จากที่ว่าเราจะทำบุญที่ไหนก็ได้ เราทำบุญที่ไหนเราก็เลือกแสวงหาของเรา พอทำบุญขึ้นมาแล้ว นี่ทำบุญร้อยหนพันหนไม่เท่าถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ความสงบของใจ ถ้าเรามีความสงบของใจเกิดมาหาที่ไหน? มันก็พัฒนาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปเรื่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ นะ แล้วมันจะเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ขึ้นมาจากหัวใจของเรา แล้วเราพัฒนาของเราเข้าไป

เหมือนโลก โลกมันเป็นสภาวะเปลี่ยนแปลงไป เห็นไหม นี่ทุนนิยมเขาก็ทำให้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ ทุนนิยมเขาต้องพยายามจะเข้ามาควบรวมกิจการเพื่อจะให้เราพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งแต่โลกภายนอกตลอดไปเลย พึ่งแต่โลกภายนอกนะ พึ่งแต่ทุนต่างประเทศ ทุนต่างๆ ต้องเข้ามาต่อเนื่องกัน มันก็มีขาขึ้นขาลงนะ แต่ถ้าความสุขของเรา ความสุขของศาสนาของเรา พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ สอนให้พึ่งตนเองได้

ถ้าพึ่งตนเองได้ ดูสิดูความเจริญของโลกมันเจริญมามากนะ เมื่อก่อนการคมนาคมต่างๆ มันไม่เจริญแบบนี้ ดูสิดูวัฒนธรรมของแต่ละพื้นถิ่นสิ ดูเผาอินคาสิ ของเขานี่เราไปเจอแต่สิ่งที่เขาสร้างเป็นอนุสรณ์สถานของเขาไว้ เราไปตกใจนะ นี่ขนาดที่โลกพัฒนาขึ้นมาแล้วอย่างนั้น จะไปเห็นอนุสรณ์สถานของพวกอินคา จะไปเห็นของที่เป็นโบราณสถานต่างๆ นี่เขาอยู่ในพื้นถิ่นของเขา เป็นภูมิภาคของเขา เป็นถิ่นฐานของเขา ทำไมเขาสร้างของเขาขึ้นมาได้ล่ะ?

เราเองไปตื่นเต้นกับเขา วัฒนธรรมมันเจริญมานานเนกาเลแล้ว เห็นไหม แล้วเราไปตื่นทุนนิยม ทุนนิยมนี่มันเป็นของปลอม มันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นสมมุติ สิ่งที่มีค่าขึ้นมา เวลามันเสื่อมค่าไป สิ่งต่างๆ พอเฟ้อขึ้นมามันเสื่อมค่า ไม่มีค่า สมมุติขึ้นมาหลอกกันไป หลอกกันไปนะ นี่โลกเกิดมาเป็นแบบนั้น เพราะเราเกิดมาแล้วเป็นมนุษย์ต้องอาศัยทรัพยากร ทรัพยากรเมื่อก่อนมันมีมาก มนุษย์มีน้อย ความเจริญทางวัฒนธรรมมันก็มีความสงบสุขของเขา เดี๋ยวนี้มนุษย์มีมาก การคมนาคมสะดวกมาก ทุกอย่างทรัพยากรน้อยลง ต้องแก่งแย่งชิงกัน

นี่ก็อาศัยสิ่งนี้ออกกฎกติกา กฎกติกาถ้าเปลี่ยน กฎหมายเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนนะ มันมีการได้เสีย กติกาเพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ กติกาบีบคั้นให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจต้องยอมจำนนกับเขา นี้เป็นกติกาของสังคมโลก

นี่เหมือนสัตว์นะ สัตว์ดูสิมันอยู่ประสาของมัน มันอยู่ประสาของมัน ตามอำนาจวาสนาของสัตว์ สัตว์มันก็อยู่ของเขา เดี๋ยวนี้เราเอาสัตว์มาเลี้ยงกัน เอาสัตว์มาทำฟาร์มกัน เราก็ต้องตั้งกติกากับมัน ให้กิน ให้นอนให้พร้อมกัน

นี่มันก็เหมือนกับกติกาของโลก มันก็เป็นไป เห็นไหม ถ้าเป็นธรรมชาติของเขา มันจะเห็นบุญกุศลบาปอกุศลชัดเจนไง คือมันมีบาปอกุศลเพราะมันไม่ใช่ทุนนิยมที่แสวงหาด้วยโลก ด้วยการจุนเจือกันไง แต่เวลาเดี๋ยวนี้เราว่าพัฒนาการ เป็นรัฐสวัสดิการ เวลามีความทุกข์ความสุขต้องช่วยเหลือกันๆ เวลาช่วยเหลือกันมันช่วยเหลือกันที่ปากนะ ที่ปัจจัยเครื่องอาศัยนะ แต่เวลาเราทุกข์เราสุขมันอยู่ในหัวใจ ยิ่งมีการช่วยเหลือกัน ถ้าหัวใจมันไม่ได้ปัดเป่าก่อน มันยิ่งช่วยเหลือมันยิ่งเก็บกดนะ

ดูสิเราเห็นคนเรามองได้แต่หน้า เห็นไหม เราไว้ใจใครได้ไหมเดี๋ยวนี้ เขาจะทำร้ายเราเมื่อไหร่ก็ได้ คนนี่เพื่อนกันก็ฆ่ากันได้ ทุกอย่างเขาฆ่ากันได้ เขาฆ่ากันที่ไหนล่ะ? เขาฆ่ากันจากความคิด ความผูกอาฆาตในหัวใจนั้นไง แล้วเห็นไหม หน้าตานี่เพื่อนเราๆ แต่เวลามันทำลายเรา เพื่อนเราก็ทำลายเราได้นะ นี่ก็เหมือนกัน สวัสดิการเราจะช่วยเหลือจากภายนอก ช่วยเหลือจากภายนอก เห็นไหม ข้างนอกจะช่วยเหลือกัน แล้วความทุกข์ในหัวใจมันได้ปลดเปลื้องไปไหม?

ความปลดเปลื้องในหัวใจ นี่วัฒนธรรมศีลธรรม มันมีคุณประโยชน์อย่างนี้ไง ถ้าศีลธรรมเริ่มต้นจากหัวใจ หัวใจมีความสุขขึ้นมา สิ่งที่การคบกันจากข้างนอกมันก็เป็นคุณงามความดีไปหมด คุณงามความดีนะ ถ้าเราพอเพียง เราอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เรามีความสุขในหัวใจ เวลามันคิด ความคิดมันเบียดเบียนเราก่อน เวลาเราคิดเบียดเบียนใคร จะคิดเอารัดเอาเปรียบเขา เราต้องคิดใช่ไหม? เราต้องวางแผนใช่ไหม?

เพื่อนคนนี้เคยสนิทกับเรามาก ถ้าเราจิตใจบริสุทธิ์ เราจะคุยด้วยเสียงดังฟังชัด เราจะคุยด้วยความองอาจกล้าหาญเพราะเรารักเพื่อนของเรามาก แต่ถ้าเพื่อนของเราคนนี้เราจะเอาเปรียบเขา เราจะหาวิธีการ เราต้องคิดก่อน เห็นไหม มันเบียดเบียนตน การพูดออกไปมันก็ไม่เต็มร้อยหรอก การพูดออกไป การอะไรไปมันไม่เต็มเสียงหรอก เพราะอะไร? เพราะเราคิดเบียดเบียนเขา

นี่สิ่งนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ? ความคิด สิ่งต่างๆ มันเกิดมาจากใจก่อน มันเผาเราก่อนนะ มันเผาเราก่อน ความสุขความทุกข์มันอยู่ที่นี่ไง ถ้าเราย้อนกลับมา นี่แล้วมันเอาค่าอะไรมาเทียบล่ะ? ความสุข จินตนาการของเด็ก โลกทัศน์ของเด็กมันกว้างขวางมากนะ นี่เอาอะไรมาวัดกัน? หัวใจมันจินตนาการของมันไปมหาศาลเลย เด็กมันจะคิดของมันไป โลกนี้โลกของมันเลย นี่มันคิดของมันไปได้ แล้วความสุขความทุกข์เอาอะไรไปวัดล่ะ? แล้วนี่บอกใครมีบุญมีบาปมากกว่ากันล่ะ?

จะมั่งมีศรีสุข จะทุกข์จนเข็ญใจ ถ้าประพฤติปฏิบัติไปแล้ว นี่สิ่งที่อำนาจวาสนาเขาวัดกันตรงนี้ไง วัดกันจากในหัวใจ ถ้าหัวใจมันเปิดกว้าง หัวใจมันวิวัฒนาการ มันพัฒนาของมันขึ้นมา มันเป็นความสุขของเขานะ ความสุขอันนี้มันเป็นความสุขจากภายใน ในศาสนาเราสอนกันที่นี่ ถ้าทุกอย่างสอนที่นี่ มันพัฒนาที่นี่ หัวใจมันพัฒนาที่นี่ เหมือนมนุษย์ที่เกิดมา พัฒนาจากเด็กขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ชราภาพ มีประสบการณ์มาก

ประสบการณ์มากนะ ชีวิตนี้ต้องมีการพลัดพรากเป็นที่สุด เวลาชีวิตมากมันก็คอตก นี่เราจะต้องตายไป แล้วยังกิเลสมาหลอกอีกนะ นี่ชีวิตนี้ตายแล้วก็สูญ...สูญที่ไหน? สูญนี่ทำไมอาลัยอาวรณ์ล่ะ? ถ้ามันไปตายมันสูญ ถ้าไม่มีมันก็ชอบใจสิ ตายแล้วได้จบสิ้นกระบวนการกันสักที ตายแล้วก็จะจบเรื่องกัน มันจบไหม? มันไม่จบหรอก เพราะไม่มีอาวุธ ไม่มีคุณภาพสิ่งใดเลยที่ทำลายความรู้สึกให้มันตายได้ ไม่มี

นี่ขนาดที่ว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถทำความสะอาดได้ ทำความสะอาดของมัน ทำความสะอาดของใจที่ไม่ให้มีพลังงานขับเคลื่อน ให้มันเป็นใจที่บริสุทธิ์ นี่แล้วมันจะไม่เกิดอีก แล้วมันมีอยู่ที่ไหนล่ะ? มันจะมีอยู่ในหัวใจของเรา มันมีความสุขของเรา แล้วจะเปรียบเทียบค่าได้ว่าความสุขของโลก แสง สี เสียง ที่เขาตื่นเต้นกัน นี่ติดเสียง เด็กใจแตกไปตามรูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นความสุขของเขา กลับมาเช้าขึ้นมานอนก็ตื่นไม่ได้ งานก็ไม่ได้ทำ นี่สุขของเขาเป็นอย่างนั้นหรือ?

สุขตามแสง สี เสียงจากภายนอก สุขจากมีสมบัติพัสถานมีความสุข นี่ก็เป็นขี้ข้ามัน ต้องรักษามัน สุขจากการปล่อยวาง เห็นไหม สุขจากการปล่อยวาง สุขจากการเทียบเคียงในหัวใจจากธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ใช่อีกแหละ เพราะอะไร? เพราะมันวิปัสสนึก นึกเอาเอง คาดเอาเอง หมายเอาเอง มันแก้กิเลสไม่ได้ เพราะความนึกนั้นมันเกิดจากเชื้อไขอันที่ขับดันไปนี่ แล้วเวลาถ้าเกิดธรรมะจริงขึ้นมา มันเป็นมรรคญาณของเรา เราจะเห็นเลยว่า อ๋อ ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างนี้ ทำลายอย่างนี้ ทำลายพลังงานขับเคลื่อนตัวนี้ ทำลายพลังงานเชื้อไขตัวนี้

พอเชื้อไข ใจนี่มันโดนทำความสะอาดขึ้นมา ใจมันสะอาด จิตมันบริสุทธิ์ขึ้นมาอย่างนี้ นี่สุขมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เป็นชั้นๆ เข้าไป สุขละเอียดๆ ละเอียดสุดจนวิมุตติสุขอยู่ที่ไหน? อยู่ในหัวใจของเรา ภาชนะที่จะรับความสุขได้คือความรู้สึก คือใจตัวนี้ ใจที่ฆ่าไม่ได้ ความรู้สึกที่ไม่มีอะไรไปทำลายมันได้ แต่มรรคญาณมันทำให้สะอาดได้ ทำให้สะอาดขึ้นมา แล้วมันจะไม่มีการเกิดอีก มันจะมีความสุขอันยั่งยืน สุขคงที่ สุขที่พึ่งตัวเอง สุขอย่างนี้สุขในศาสนาของเราเท่านั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “สุภัททะ ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล อย่ามาถามให้ลำบากไปเลย”

อย่ามาถาม อย่ามาคาดหมายว่าถ้าไม่มีเหตุ อย่าเอาเรื่องผลมาคุยกัน แต่เหตุของเรามี เราสร้างเหตุขึ้นมาให้ได้สิ เหตุของเรามีแต่เราทำกันไม่เป็น เราทำกันไม่ได้ เราเปรียบเทียบ เราเทียบเคียง เราเอาแต่วิปัสสนึกขึ้นมา แล้วมันก็ซ้อนเข้าไป เหมือนกับเชื้อโรคอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราก็กดมันไว้ แล้วมันจะออกไปได้อย่างไร? แต่ถ้าเราเปิดออกมา ทำลายมันออกมาด้วยมรรคญาณของเรา สุขอย่างนี้เกิดมาจากไหน? สุขอย่างนี้เกิดมาจากไหน? สุขหนอ สุขหนอ มันจะอยู่ที่ไหน?

ไม่ใช่สุขแบบตื่นโลกนะ สุขแบบตื่นโลกตื่นกันไป ตื่นให้เขาหลอกไป ทุนนิยมไง หลอก หลอกให้เราอยู่ใต้อาณัติของเขาตลอดไป แล้วเราจะไม่ประสบสุขเลย เพราะเราจะเป็นขี้ข้าของเขา เพราะเราไม่สามารถพึ่งตัวเราเองได้ แต่ถ้าเราสามารถพึ่งตัวเราเองได้ เราจะไม่เป็นขี้ข้าใครเลย เราพึ่งตัวเองได้ ...มันเบียดเบียนอยู่นี่เราจะเป็นขี้ข้ากิเลสอยู่ ถ้าเราชำระกิเลสได้นะ เราจะเป็นอิสรเสรีภาพในหัวใจของเรา สุขนี้สุขจากใจ อยู่เฉพาะในศาสนาพุทธนี้เท่านั้น เอวัง