เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ ส.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ดูอย่างนักบินสิ นักบินเขายังมีชั่วโมงบินเลย คนมีชำนาญ เห็นไหม ชั่วโมงบินเขามาก เขาจะมีความชำนาญของเขา ทีนี้ชั่วโมงบินของเขา เพราะเขาฝึกฝนของเขา

การฟังธรรมไง การฟังธรรม เห็นไหม ใช่ มันเป็นธรรมะของครูบาอาจารย์ ธรรมะของครูบาอาจารย์นะ แล้วครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างนี้ด้วย ว่าพวกเราถ้าได้ฟังธรรมเหมือนกับชุบมือเปิบ ดูสิเวลาเราเป็นพ่อเป็นแม่ เราต้องหาอยู่หากินเพื่อมาเลี้ยงลูก ลูกไม่ต้องทำอะไรเลย ถึงเวลาบนโต๊ะ บนสำรับนี่อาหารเต็มโต๊ะๆ ทุกวันเลย เพราะพ่อแม่หามาให้ พ่อแม่หามาให้

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะของครูบาอาจารย์ท่านเอาชีวิตเข้าแลกมา ชีวิตเข้าแลกมา แล้วแสดงธรรมเหมือนอาหารบนโต๊ะเลย แล้วเราจะกินหรือไม่กิน ทีนี้พอกินหรือไม่กินมันก็เหมือนกันอีกแหละ เหมือนกิเลสของเรามันไม่เชื่อ มันไม่เชื่อมันจะเป็นไปได้อย่างไร?

เราสลดใจมากนะ ตอนมาโพธารามใหม่ๆ แล้วเอาประวัติหลวงปู่มั่นให้กับพรรคพวกไปอ่านนะ “มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก” อ่านแค่ประวัติหลวงปู่มั่นเขายังไม่เชื่อเลย มันจะเป็นไปได้อย่างนี้เชียวหรือ? มันเป็นไปไม่ได้ แล้วเวลาอย่างนี้ ครูบาอาจารย์บอกว่าเวลาประวัติหลวงปู่มั่นเขียนไม่เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ เพราะอะไร? เพราะคนมีหลักมีเกณฑ์ไง การเขียนนี่เขียนมาถ้าเป็นแบบเป็นแสงเป็นสีบ้าง เป็นการจูงใจบ้าง ก็เพื่อจะเรียกร้องให้คนสนใจไง แต่ถ้าพอสนใจแล้วท่านจะตัดออกนะ สิ่งใดที่เป็นอภินิหาร สิ่งใดที่เป็นแบบว่าสิ่งที่คาดการณ์ได้ไม่ถึงจะพยายามเอาออก ให้มันเป็นอริยสัจไง ให้เป็นสัจจะความจริง

อย่างเช่นถ้าเราเข้าไปในที่มืด เราไปกลัวผี เวลาครูบาอาจารย์ท่านไปเจอ นี่เวลาอดอาหารขึ้นมา เทวดาเป็นนางฟ้าจะเอาอาหารทิพย์มาลูบใส่ เห็นไหม นี่ใครจะเห็น ใครจะเชื่อ แต่คนที่เขาประสบการณ์มา ดูสิเวลานกมันบินได้มันเป็นธรรมดาของนก ปลามันอยู่ในน้ำก็เป็นธรรมชาติของเขา เวลาจิตมันเข้าไปถึง จิตมันเข้าไปถึงมันเป็นธรรมชาติของจิตนั้นไง ธรรมชาติของจิตที่สัมผัสได้ แต่จิตปุถุชนของเรา จิตที่ห่อหุ้มไปด้วยอวิชชา จิตที่ห่อหุ้มไปด้วยความลังเลสงสัย ตัณหาความทะยานอยากอย่างนี้มันห่อหุ้มไว้ มันไม่ยอมเป็นอิสระเลย เราถึงต้องทุกข์ๆ ยากๆ กับกรงขังของกิเลสไง

กรงขังความคิด เห็นไหม แล้วก็ไปเรียนทางวิชาการเข้ามาอีก วิชาการต้องพิสูจน์ได้ ต้องพิสูจน์ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ เราพูดไม่ได้ เราเป็นคนที่ว่าไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ พิสูจน์อย่างนั้นกับพิสูจน์ทางจิต พิสูจน์ทางจิต พิสูจน์นี่มันเป็นปัจจัตตัง เวลาพิสูจน์อย่างนั้นพิสูจน์เพื่อสังคม เป็นครูบาอาจารย์ก็ต้องสอนให้ลูกศิษย์เห็น ลูกศิษย์ต้องทำอย่างนั้น พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ให้ลูกศิษย์เห็นว่ามีค่าอย่างนั้น ค่าอย่างนั้น ลูกศิษย์ต้องพิสูจน์ได้

แต่เวลาธรรมะ เวลาครูบาอาจารย์สอนนี่กาลามสูตร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้เลย บอกว่า “แม้แต่คำสอนของครูบาอาจารย์ คำสอน นี่ประเพณีวัฒนธรรมอย่าเชื่อๆ ให้เชื่อประสบการณ์ ให้ทำขึ้นมา”

การปฏิบัติก็เหมือนกัน ธรรมะที่ว่าเป็นสมบัติของเรา แม้แต่ของครูบาอาจารย์ เห็นไหม เอามาไว้ในสำรับ มันก็เป็นอาหารแบบนี้ ถ้าเราได้ลิ้มรสแล้วเราพยายามฝึกฝน เราทำอาหารชนิดนี้ได้ ทำอย่างนี้ได้ เราต้องทำได้ เราต้องทำอาหารอย่างนี้ได้ เราต้องเป็นอย่างนี้ได้ แล้วเราจะทำเป็นขึ้นมา แต่เรายังกินอาหารอยู่ ขนาดกินมันยังปฏิเสธ เห็นไหม

นี่เป็นธรรมะขึ้นมา เวลาพูดธรรมะเข้าไปถ้ามันแทงหัวใจไง คำใดที่มันสะเทือนใจ น้ำตาคลอเลยนะ นี่ได้กิน ถ้าใจมันได้กินธรรมะบ้างมันจะสะเทือนหัวใจ สะเทือนนะ เพราะกิเลสมันอยู่ที่นั่น เหมือนกับเรา เรากินอาหารเข้าไป เวลาเข้าปากไปตกถึงกระเพาะ ถ้าถึงกระเพาะเราก็มีความอิ่ม มีความไม่หิวโหย

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจที่มันว้าเหว่ หัวใจที่มันทุกข์ร้อน เวลาธรรมะเข้าไปกระเทือนใจ นี่มันกระเทือนถึงร่างกายนะ ขนลุกขนพองเลย น้ำตาไหลเลย อย่างนี้แสดงธรรม นี่มันได้สัมผัส มันได้สัมผัส สัมผัสอย่างนี้มันก็ไม่ใช่ของเรา เพราะอะไร? เพราะเราทำอาหารไม่เป็น สัมผัสอย่างนี้ เวลาตักอาหารเข้าปาก พอลิ้นได้รสของอาหาร อู๋ย นี่อร่อย อู้ฮู นี่อร่อยมาก อร่อยมาก

ธรรมของครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน เวลาสะเทือนใจน้ำตาไหลน้ำตาคลอ ซึ้งใจมาก ซึ้งใจมาก ถ้าซึ้งใจมากมันต้องฆ่ากิเลสได้สิ ซึ้งใจมากเราต้องไม่ทำความผิดอีกสิ ซึ้งใจมากเราต้องมีคุณธรรมสิ แล้วมันก็ชั่วคราว เห็นไหม เพราะมันเป็นอาหารของพ่อของแม่ที่หามาให้เรากิน แต่ถ้าเป็นอาหารของเรากินนะ หนึ่งกว่าจะหาตังค์ สองกว่าจะไปซื้ออาหารมา กว่าจะมาทำความสะอาดมัน กว่าจะมาตั้งน้ำ กว่าจะมาตั้งเตา อู๋ย มันยุ่งอย่างนี้เชียวหรือ? อาหารที่ตั้งบนโต๊ะมันเป็นอาหารที่กินได้เลย กับเรามาทำเองทำไมมันยุ่งยากขนาดนี้? นี่มันจะเห็นคุณค่า เห็นคุณค่าของศีล ของสมาธิ ของปัญญา เห็นคุณค่าของชีวิต เพราะอะไร?

เพราะชีวิตนี้ถ้าเราทำอาหารไม่เป็น เราจะซื้อเขากินอย่างนี้ตลอดไป เราจะอาศัยเขาตลอดไป แต่ถ้าเราทำกินของเราได้ นี่มันเป็นสมบัติของเรา เวลาตายไปสิ่งนี้เป็นทิพย์มันไปกับใจ ใจนี้จะเกิดดีขึ้นไปเรื่อยๆ นี่สมบัติของเรา ถ้าเรามีสมบัติไปมันจะทำให้เราดีขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเราทำไม่เป็นเลยเราก็อาศัยเขาไปตลอด อย่างนี้มันเป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิสต่างๆ มันพัฒนาได้ ถ้าจิตมันพัฒนาได้ นี่มันเป็นสมบัติของเรา สมบัติของเรา

สมบัติอย่างนี้เกิดมาจากไหน? สมบัติอย่างนี้เกิดมาจากไหน? สมบัติอย่างนี้เกิดมาจากความเชื่อความศรัทธานะ ความเชื่อความศรัทธามาจากไหน? ความเชื่อความศรัทธามาจากเรามีชีวิตไง ถ้าเราไม่มีชีวิตขึ้นมา เราไม่เป็นคนขึ้นมา ดูสิสิ่งที่ว่าคนเกิดมาพบพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก เกิดเป็นมนุษย์แสนประเสริฐอีก พุทธศาสนาประเสริฐอีก แล้วเราเกิดมา สัตว์ก็เกิด สรรพสิ่งก็เกิด มนุษย์ก็เกิดเป็นพันๆ ล้าน หลายๆ พันล้านคนในโลกนี้ แล้วคนเชื่อศาสนามีกี่ร้อยคน? มีกี่ร้อยล้าน?

แล้วในกี่ร้อยล้านประพฤติปฏิบัติ อู๋ย ไปทำทำไมให้มันยุ่ง? พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง เราก็ปล่อยวางกันแล้ว นี่สบาย คนที่ไปปฏิบัติทำไมไปทุกข์ ไปยากนะ? ทำไมเขาไม่มีปัญญาเลย? ทำไมเขาคิดไม่ได้? ทำไมเขาต้องไปทุกข์ไปร้อน เราอยู่ของเราสบายๆ

นี่ชีวิตไม่มีคุณค่าเลย เขาคิดว่าเขาฉลาดไง ดูสิความคิดในกรงขัง ความคิดในอวิชชาของเขา เขาคิดว่าเขามีความสุขนะ แต่เขาไม่รู้หรอกว่าเขาต้องตายไปนะ แล้วเขาจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ทั้งที่เขาพบพุทธศาสนา เหมือนเราเข้าไปห้างสรรพสินค้า แล้วเดินออกมาไม่มีอะไรติดมือออกมาแม้แต่ชิ้นเดียวเลย

แล้วเรานี่เราต้องหาเงินหาทองนะ หาเงินหาทองจะเข้าไปเราจะซื้ออะไร? เราจะจับอะไรติดไม้ติดมือออกมา แล้วเวลาเราไปหาเงินหาทอง เราไปทำงานขึ้นมาเขาก็ว่าทุกข์ว่ายาก เขาเดินโฉบไปโฉบมา เพราะอะไร? เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ไง เกิดมาเป็นมนุษย์ชีวิตนี้มีคุณค่า โฉบไปในห้างสรรพสินค้า เห็นไหม ไปตากแอร์ ไปมีความเย็น ไปตากแอร์

นี่ก็เหมือนกัน ศาสนาให้ปล่อยวาง ก็ว่าง ตากความว่าง เป็นความว่าง สมมุติกันทั้งนั้นแหละ มันคิดกันขึ้นมาเป็นความว่างไง เวลามันทุกข์มันว่างไม่ได้หรอก แต่เราต้องทำงานทำการขึ้นมา หาเงินหาทอง เห็นไหม นี่เราต้องฟังธรรม เราต้องดัดแปลงตน นี่ทำงาน มันอยากไปก็ไม่ให้ไป มันอยากจะฟุ่มเฟือย เราก็ไม่ยอมให้มันฟุ่มเฟือย เราหาของเรา พยายามหาสิ่งต่างๆ ของเราขึ้นมา นี่เราดัดมัน เราดัดกิเลส เราฝึกมันขึ้นมา เราถือศีลขึ้นมา บังคับเราขึ้นมา

นี่เหมือนหาเงินหาทอง ถ้าเวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา เห็นไหม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” เห็นธรรม เห็นห้างสรรพสินค้า เราได้เข้าไปในห้างสรรพสินค้านั้น เราได้จับต้องสิ่งใด ปัญญาเราเจาะเข้าไปในใจของเรา เราได้เห็นอะไร? เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นสภาวะแบบใด? เราได้จับอะไรติดไม้ติดมือออกมาด้วย

เวลาเวทนามันเกิดขึ้นมา เวลามันนั่งเข้าไปมันเจ็บมันปวด เวลาเราพิจารณาของเราไป หรือเราใช้ขันติ พุทโธ พุทโธ ถ้ามันสงบตัวลง นี่เราก็เข้าไปเห็นสินค้านั้น เวทนามันเกิดดับ เกิดดับเป็นธรรมชาติของมันนะ นี่เราเจ็บเราปวดมาตลอด แล้วเราเปลี่ยนกิริยา เราลุก เรานั่ง เราเปลี่ยนกิริยามาตลอด เราไม่เคยเห็นมันเลย เหมือนเราไม่เคยเห็นห้างสรรพสินค้าเลย เราก็เดินไปเดินมา แต่ถ้าวันไหนเวทนามันเกิดกับเรา แล้วเราใช้ปัญญาพิจารณาของมัน มันปล่อยวาง เราไปเห็นห้างสรรพสินค้าแล้ว เราเห็นแล้วว่า อ๋อ นี่เป็นไอ้นี่ นี่เป็นไอ้นั่น แต่เราจะซื้อได้หรือไม่ได้ เราซื้อออกมาไม่ได้เพราะเงินเรายังไม่พอ

ถ้าเงินเราพอ ราคาสินค้านี้เท่าไหร่? เงินเราพอขึ้นมา เห็นไหม พิจารณาไปเรื่อยๆ ปล่อยวางไปเรื่อยๆ ปล่อยวางแล้วพิจารณาไปเรื่อยๆ ถ้าเงินเราพอ มรรคสามัคคี สินค้านั้นแลกเปลี่ยนไง มรรคญาณ นี่ญาณเกิดขึ้น สิ่งนี้สินค้าเราซื้อของเราออกมา มันจะติดไม้ติดมือของเราออกมาเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์อย่างนี้เป็นของเรา เราเข้าไปในห้างสรรพสินค้า นี่การเกิดและการตายเป็นสภาวธรรม เวลาเราไปสวดศพกัน ที่ไหนมีศพนะขึ้นนะโมเลย สิ่งนี้เพราะเคารพศพ เพราะศพนี่มันเป็นสิ่งที่เตือนใจได้

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเราก็เป็นสภาวะแบบนี้ ที่เกิดขึ้นมาแล้วสิ่งนี้ชีวิตมีคุณค่า ถ้ามีคุณค่าขึ้นมา เห็นไหม ร่างกายกับจิตใจมีคุณค่าอยู่ แล้ววิปัสสนาขึ้นมาสิ่งนี้เป็นสมบัติของเรา อริยทรัพย์เกิดที่ไหน? เกิดที่ใจ นี่ที่ใจเกิดขึ้นมาเป็นสภาวะแบบนี้ ใจเกิดขึ้นมาแล้ว การเกิดและการตายเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมชาติอันที่เกิดและตาย สรรพสิ่งต้องมีการเกิดแปรสภาพเป็นธรรมดา แล้วเราเข้าไปเห็นสัจจะความจริง เป็นธรรมดาของใคร? เป็นธรรมดาของจิตนั้นไง

จิตนั้นก็เป็นสภาวะแบบนั้น จิตนั้นได้ซื้อสินค้านั้นมา จิตนั้นได้ลงทุนลงแรงไป ลงทุนลงแรงด้วยความเพียรชอบ งานชอบ สมาธิชอบ สิ่งต่างๆ เป็นความชอบ ชอบขึ้นมา ชอบเกิดจากใจ เป็นธรรมะของเรา เห็นไหม ธรรมะของเรานี่เกิดจากธรรม ธรรมนี่ห้างสรรพสินค้าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราไปซื้อออกมาเป็นธรรมะของเรา เราไปซื้อ เราไปตักตวงออกมาเป็นธรรมะของเรา เราออกห้างสรรพสินค้ามาเราจะมีสมบัติของเราออกมา ติดไม้ติดมือของเรามา ติดหัวใจมาไง ติดหัวใจมาเป็นอริยทรัพย์กับใจดวงนั้น

ใจดวงนี้ ดวงที่จะเกิดจะตาย ที่เป็นสภาวธรรมๆ ที่มันเป็นไปอย่างนี้ แล้วถ้าเวลาถึงที่สุดกระบวนการของวิปัสสนาญาณ นี่สิ้นกิเลส การเกิดตายเป็นธรรมชาติ แล้วจิตที่ไม่เกิดอีกมันอยู่ในธรรมชาติไหม? ถ้าการเกิดและการตายเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วจิตที่มันไม่เกิด มันคงที่ของมัน มันเหนือธรรมชาติไหม? นี่ธรรม ธรรมชาติๆ ที่เป็นสภาวธรรม แล้วถ้าเป็นสมบัติของเรามันไม่ใช่ธรรมชาติ มันเป็นของเรา

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระสารีบุตร

“สารีบุตร เธอไม่เชื่อเราหรือ?”

“ไม่เชื่อ”

ไม่เชื่อเพราะอะไร? เพราะพระสารีบุตรรู้เอง เห็นเอง นั่นเป็นสมบัติของพระสารีบุตรด้วย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน เห็นไหม “เราเอาธรรมของเราไปอย่างเดียวนะ” นี่ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม คือความเป็นไป ธรรมะๆ ที่มันเป็นสภาวะแบบนี้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปตรัสรู้ อะไรไปตรัสรู้ ธรรมนี้ไปตรัสรู้ แล้วธรรมนี่ ธรรมนี่เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วยเท่านั้น พระสารีบุตรก็เอาของพระสารีบุตรไปเท่านั้น นี่ถ้าเราเข้าไปสัมผัสธรรม เราไปเห็นสภาวธรรมของเราอย่างนี้ เป็นสมบัติของเรา

นี่ออกมาจากไหนล่ะ? ออกมาจากที่ว่ามีธรรมและวินัยนะ ออกมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ก่อนนะ ถ้าจะเป็นไปได้ก็พระปัจเจกฯ พระปัจเจกฯ ต้องสร้างบุญญาธิการมหาศาล อย่างพวกเรานี่ ดูสิเวลาเราจะฝืนความรู้สึกเรา เรายังทุกข์ขนาดนี้เลย แล้วบารมีเราจะเป็นอย่างนั้นไหม? บารมีเราจะเป็นถึงว่ารู้เองโดยชอบ มันเป็นไหม?

แต่เรารู้เองโดยมีผู้ชี้นำ รู้เองโดยมีศาสดา รู้เองโดยมีธรรมและวินัย ขนาดที่มีธรรมและวินัย ดูสิเขาเกิดมาเขาเป็นชาวพุทธ เขายังบอกเลยว่าเขาว่างอยู่แล้ว เขาไม่ต้องไปวัดไปวา เขาสบายใจของเขาอยู่แล้ว นี่ปฏิเสธแม้แต่เริ่มต้นนะ ปฏิเสธแม้แต่เริ่มต้น น่าเสียดายโอกาสมากเลย เพราะอะไร? เพราะเขาไม่ได้ทำสิ่งใดเลย แต่ถ้าเขาได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เขาจะวิ่งไปวัดทันทีเลย เพราะอะไร?

เพราะพอประพฤติปฏิบัติเข้าไปมันเหมือนกับเราเข้าโรงเรียน เราเข้าไปในโรงเรียน ไปทางวิชาการเพื่อทดสอบสิ่งใด แล้วมันจะยุ่งไปหมดเลย มันจะงงไปหมดเลย มันจะยิ่งกว่าด้ายที่มันพันกันอีก นี่จิตเป็นอย่างนั้น สมาธิเป็นอย่างนั้น มันจับต้นชนปลายไม่ถูกเลย แต่ถ้ามีวาสนา ส้มหล่น ส้มหล่นก็เป็นส้มหล่น ส้มหล่นก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน ส้มหล่นเหมือนกับเราได้รางวัลมาโดยที่ว่าเราไม่ได้ทำการทำงานเลย แล้วมันจะรู้ได้อย่างไร?

ถ้าปฏิบัติขึ้นมาจะหาครูหาอาจารย์ หาครูหาอาจารย์เพื่อจะชี้นำไง นี่สาวก สาวกะ เราได้ยินได้ฟังขึ้นมา ธรรมและวินัยนี่สืบต่อมา ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว แล้วจะอีก ๕,๐๐๐ ปีไป เราเกิดในกึ่งกลางพุทธศาสนา ศาสนาเจริญหนหนึ่ง แล้วหัวใจเราเจริญขึ้นมาไหม? ถ้าหัวใจเราเจริญขึ้นมา หน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงานนะ เวลาพูดถึงโลก หน้าที่การงานเป็นเรื่องของโลก เวลาที่ทำงานก็ต้องทำงานไป แต่เวลาประพฤติปฏิบัติวางให้ได้ ต้องวางงานให้ได้แล้วเอาโลกุตตรธรรม คือทำให้ปฏิบัติขึ้นมาให้ได้จริง

ถ้าเอาสองอย่างมารวมกัน เห็นไหม เวลาในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “ทางคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ” คับแคบเพราะอะไร? เพราะวันหนึ่งต้องทำหน้าที่การงาน เวลาปฏิบัติมันมีส่วนน้อยแต่ก็ยังต้องทำ เพราะอะไร? เพราะคนเรามี ๒ ตา ตาหนึ่งคือตาโลก ตาหนึ่งคือตาธรรม ผู้ที่ออกประพฤติปฏิบัตินี่เอาจริงเอาจังขึ้นมา เราเอาจริงเอาจังของเราเลย เวลาเราประกาศตนไปแล้วเป็นศากยบุตร เวลาบวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา นี่ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยได้การสนับสนุนจากโลกเขา เราก็ ๒๔ ชั่วโมง

๒๔ ชั่วโมงจริงๆ ทางกว้างขวาง กว้างขวางอย่างนี้ไง นี่ ๒๔ ชั่วโมงเป็นการประพฤติปฏิบัติทุกวินาที ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา แม้แต่นอน เห็นไหม ตื่นขึ้นมานี่ถ้ามีสติพร้อมตลอดไป ออกบิณฑบาต เดินจงกรมไป กลับมาเดินจงกรม บิณฑบาตกลับมาแล้วตักอาหารใส่บาตร นี่ปฏิสังขาโย เวลาก่อนจะฉันอาหารต้องพิจารณาก่อน อาหารอย่างนี้ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย อาหารอย่างนี้เก็บไว้ก็เน่าบูด ไม่ให้กิเลสมันมักมาก นี่ขณะฉันรสชาติเป็นอย่างไร มันกระทบอายตนะแล้ว เห็นไหม นี่มีสติสัมปชัญญะไหม? ฉันเข้าไปแล้วอิ่มท้อง เดี๋ยวไปภาวนามันหนังท้องตึง หนังตาหย่อนไหม? ถ้าหนังตาหย่อนเราก็ผ่อนอาหาร ๒๔ ชั่วโมง ทางกว้างขวาง ทางของนักรบนี่ไง

นี่ในศาสนาเปิดโอกาสให้พร้อมอยู่แล้ว แล้วทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิ์นะ ทุกคนอยากทำนะ ถ้าบวชพระแล้ว นี่พอบวชแล้วสบาย มีแต่คนดูแล ขอให้บวชเพื่อปฏิบัติเถอะ มันสบายได้อย่างไร? เพราะถ้าใครยังสบาย กิเลสมันพองแน่นอน ถ้าใครกินอิ่มนอนอุ่นนะ กิเลสตัวเท่าฟ้าเลย ขี่หัวเลย แต่ถ้าตัดทอนมัน นี่ต้องตัดทอนตั้งแต่ตอนนั้น ไม่สบายหรอก เพราะอะไร? เพราะตัดทอนกิเลส

ขณะที่ว่าเราไม่เข้าห้องผ่าตัด เราเจ็บไข้ได้ป่วย แผลอยู่ในร่างกายเรา เราไม่เปิดมาก็ไม่มีใครเข้าใจ แต่เวลาเราเปิดแผลมา อู้ฮู นู่นก็เน่า นี่ก็เสีย เวลาไปปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเราว่าเราจะปฏิบัติเรายังไม่เคยทำ เราก็ว่าพระสบายๆ เวลาเข้าไปแล้วเหมือนกับห้องผ่าตัดเลย เพราะมันผ่ากิเลส พอมันผ่ากิเลส นู่นก็ติดขัด นี่ก็ไม่ดี นั่นก็เป็นไปไม่ได้ ไปอยู่ที่นั่นก็ลำบาก อยู่ที่นั่นก็ร้อน มันวุ่นวายไปหมดเลย

นี่เวลาเราผ่าตัดมัน เวลาเข้าห้องผ่าตัด เวลาไปผ่าตัดกิเลสมันสบายตรงไหนล่ะ? มันต้องสู้ทั้งนั้นแหละ มันต้องสู้ มันต้องแก้ไข นี่ทางกว้างขวางก็กว้างขวางเข้าไปผจญกับกิเลสไง ทางกว้างขวางเข้าไปเอาชนะตนเองไง ไอ้เรามันทางคับแคบ คับแคบเพราะเรามีโอกาสของเรา เรามีโอกาสของเรา คับแคบแต่ว่าโอกาสอันหนึ่งต้องไปทำหน้าที่การงาน มันก็ลากไปแล้วนะ ทำไม่ได้เนาะ เดี๋ยวไม่มีเวลาเนาะ เดี๋ยวต้องออกไป เดี๋ยวมันจะไปเหนื่อยมากจนเกินไป พรุ่งนี้ทำงานไม่ไหว นี่ทางคับแคบ

ทางกว้างขวางก็กว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมง แต่กิเลสมันก็ทำให้คับแคบ กิเลสมันก็จะเหยียบหัว ถึงต้องทุกข์ต้องยาก ต้องพยายามต่อสู้ขับไสมาเพื่อเอาชนะตนเองให้ได้ นี่สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เรามีชีวิต เราเกิดมาพบพุทธศาสนา มีชีวิตคือมีลมหายใจเข้าออกเพราะมีจิต จิตนี่มันรับรู้ต่างๆ ได้ ความดีความชั่วอยู่ที่มันทั้งหมด ความดีความชั่วมันทำทั้งหมด แล้วเราสร้างคุณงามความดีของเราขึ้นมาจากอามิส จากเรื่องโลกๆ

นี่ดีของโลก แล้วก็ดีโลกุตตรธรรม ดีด้วยการประพฤติปฏิบัติ แล้วเราฝึกฝนของเราขึ้นมา ฝึกฝนขึ้นมา แล้วถ้ามีโอกาส เห็นไหม จะบวชจะเรียน จะบวชจะเรียนก็เพื่อจะไปขัดเกลากิเลส นี่โอกาสมีทุกคน ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราทำไม่ได้ เราไม่มีโอกาส...มีโอกาส แต่สู้หรือไม่สู้ไง ถ้าสู้นี่ก็อำนาจวาสนาบารมี เห็นไหม ที่ว่าวาสนาบารมี นี่อินทรีย์แก่กล้าแก่กล้าอย่างนี้ ถ้าอินทรีย์แก่กล้า นี่อยู่คนเดียว ครูบาอาจารย์ออกป่าคนเดียวนะมันวิกฤติมาก แม้แต่ปัจจัยก็ไม่มี สรรพสิ่งไม่มีเลย ชีวิตนี้ไม่มีค่า ขอให้มันตายต่อหน้าให้มันดูซิ นี่กิเลสมันยอม

แต่พวกเราเข่าอ่อน เริ่มต้นจะออกไปนี่ แหม แบกไปทุกอย่าง ต้องมีสำรอง ทุกอย่างต้องมีอะไหล่ แบกไปจนบ่าแทบลู่นะ ไป ๒ วันกลับแล้ว ไม่ไหว เห็นไหม ใจมันต่างกันอย่างนั้น แล้วมันจะเอาความจริงมาจากไหน?

ความจริงมันมาจากเรานะ ถ้าเราสู้นะ ถ้าเราสู้เราจะพบกับความจริง ใจของจริง ชั่วโมงบินมันจะสอนตัวเอง ชั่วโมงบินมันจะสอนใจดวงนี้ ใจดวงนี้ผ่านจากประสบการณ์ตรงมาอย่างนี้ นี่สิ่งนี้เป็นสัจจะความจริงในหัวใจ ไม่ต้องมีใครสอน นี่สันทิฏฐิโก นี่ปัจจัตตัง สัมผัสจากใจดวงนั้น เอวัง