เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o ก.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเกิดมาเป็นคน เห็นไหม แล้วว่าเป็นชาวพุทธ นับถือศาสนาพุทธ ถ้าเราอยู่ในสังคมของพระบ้านเราก็เห็นสภาวะอย่างหนึ่ง เราไปเห็นสังคมของวัดป่า เราก็เห็นสภาวะอย่างหนึ่ง แล้วสังคมของพระป่ามันมาจากไหนล่ะ? มันมาจากป่าจากเขา มันมาจากรากเหง้า สังคมนี่มีรากเหง้านะ สังคมวัฒนธรรม ถ้าเรามีรากเหง้าเราจะพัฒนาสังคมไปได้ สังคมตอนนี้ เห็นไหม ประวัติศาสตร์ รากเหง้าของเรามันสั่นคลอน เพราะเราไม่รู้ว่ารากเหง้าเรามาจากไหนไง

แล้วเราไปตื่นเต้นกัน เพราะว่าอะไร? เพราะว่านักบริหารจัดการเขาฉลาดมาก เขาต้องทำประชาสัมพันธ์ไปก่อน เขาต้องทำให้เขาแบบว่ายึดพื้นที่ในหัวใจเลย ให้เราเชื่อตาม ให้เราคล้อยตามไป ถ้าเราคล้อยตามไปนี่ประเพณีวัฒนธรรม เราลืมประเพณีวัฒนธรรมของเรา นี่รากเหง้าของสังคมนะ แล้วรากเหง้าของหัวใจล่ะ?

ถ้ารากเหง้าของหัวใจ ดูสิ เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไป ครูบาอาจารย์เราไป เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ รากเหง้าของจิตมันมีนะ ถ้ารากเหง้าของจิตมันมี นี่ย้อนไปถึงอดีตชาติ ย้อนไปถึงว่าเราทุกข์เรายากมา ครูบาอาจารย์เวลาท่านไปเห็นของท่านนะ น้ำตาร่วงน้ำตาไหลของท่านเพราะอะไร? เพราะชีวิตมันเป็นอย่างนี้หรือ? ทำไมคนเรามันเพลิดเพลินกับชีวิต เพลิดเพลินกับในปัจจุบันนี้

นี้มันเป็นอดีตอนาคต อดีตอนาคตแก้กิเลสไม่ได้นะ สิ่งที่เป็นอดีตอนาคต นี่อดีตชาติอนาคตนี่แก้กิเลสไม่ได้หรอก ต้องเป็นปัจจุบันไง แต่กว่าจะมาเป็นปัจจุบันได้ มันเป็นอดีตอนาคตตลอดเวลา พอความคิดเดี๋ยวนี้ขยับขึ้นไป วินาทีขยับไป เวลาขยับไป ความคิดขยับไป มันเป็นอดีตอนาคตโดยละเอียดที่เราไม่รู้ตัวหรอก

สิ่งที่เราไม่รู้ตัว เราถึงย้อนกลับมาที่นี่ไง ย้อนกลับมาถ้าเป็นปัจจุบันได้ มันจะแก้กิเลสได้ แต่เป็นปัจจุบันจะเป็นปัจจุบันที่ไหนล่ะ? ทำไมครูบาอาจารย์ท่านพูด? ทำไมพระเวลาธุดงค์เข้าป่าเข้าเขาไป? ...แสวงหาหัวใจไง ธรรมอยู่ที่ไหน? ธรรมอยู่ที่ไหนนะ? ก็ไปหาหัวใจของตัวเองนี่ แต่เวลาหาหัวใจของตัวเอง เห็นไหม เราอยู่ในสังคม เรามีความอบอุ่นใจ อบอุ่นใจโดยกิเลสไง แต่มันก็เบียดเบียนกันไป มันกระทบกระเทือนกันไปในสังคม มันนอนใจไง

ถ้ามันนอนใจ แต่เวลาเราแยกออกไป ดูสิ เวลาเราจะพลัดพรากจากกันน่ะ ไม่ต้องอะไรมากเลย แม้แต่เวลาเราส่งลูกไปเรียน ส่งต่าง ๆ เวลาจะส่งไปเรียนน้ำตาไหลเลยนะ เวลาจะพลัดพรากแค่นี้มันก็เสียใจอยู่แล้ว แล้วนี่เราออกไปนะ ดูสิเวลาบวชแล้ว เห็นไหม ศากยบุตรพุทธชิโนรส เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่ไหน เห็นไหม รุกฺขมูล สอนออกไป แล้วมันออกไป

เวลาจะออกมา เราบอกเลยนะ พระนี่บวชแล้วสะดวกสบาย จะสะดวกสบาย ถ้าจะบวชมาเพื่อดำรงชีวิตแบบสภาพของเพศพระมันสะดวกสบาย แต่กิเลสมันไม่สบายหรอก มันเหยียบย่ำหัวใจ แต่ถ้าจะดำรงชีวิตแบบศากยบุตร ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีในป่าสิ ออกมาจากกษัตริย์นะ แล้วออกไปค้นคว้าอยู่ในป่านี่ ในป่าไม่มีอะไรเลย เพราะอะไร? เพราะสมัยนั้นศาสนายังไม่มี ต้องดำรงชีวิตของตัวเองให้ได้ไง จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ตรงโคนต้นโพธิ์ นี่เสวยวิมุตติสุข

วิมุตติสุขเพราะอะไร? เพราะจิตมันมีคุณค่ามากกว่า ความสุขของใจมีคุณค่ามากกว่า ถ้าความสุขของใจมีคุณค่ามากกว่า ดูเวลาเข้าสมาบัติ เวลาเข้าไปถึงที่สุดแล้ว ร่างกายนี้หยุดหมดเลย เขาว่า ๗ วัน ๘ วันเข้าไปนี่ทำไม แล้วร่างกายอยู่ได้อย่างไร? เพราะการเคลื่อนไหวของร่างกาย เรื่องเซลล์ต่าง ๆ มันจะหยุดตามธรรมชาติของมัน แม้แต่ดูเราเข้าเวลารวมใหญ่ ขนาดว่าจิตนี่สักแต่ว่ารู้ มันดับอายตนะหมดเลย สักแต่ว่ารู้นะ

เวลาลมหายใจเริ่มขาด เห็นไหม ฟังสิ! เวลาเราตกจากที่สูง เวลาสมาธิเราจะลง เราตกจากที่สูง เวลาลมหายใจจะเริ่มขาด เรากลัวตายไง พอเรากลัวตายแล้วออกมา โดยสามัญสำนึกของเรากลัวตายไป แต่จิตมันสงบลงไป มันจะกลัวอะไรตาย เพราะความกลัวตายก็เกิดจากกิเลสในจิตนั้น แล้วเวลาสติจะเข้าควบคุมกิเลสในจิตนั้น พอกิเลสในจิตนั้นมันสงบตัวลง จิตนั้นเป็นอิสรภาพ เวลาจิตสงบจริง ๆ ขึ้นมา จิตนี้แยกออกจากกายได้โดยกำลังของสมาธิ แยกได้ชั่วคราว แยกได้เพราะเหมือนกับปฏิเสธ เหมือนกับมันไม่รับรู้ไง จิตมันหดตัวเข้ามาทั้งหมดเลย

พอจิตหดตัวเข้ามา จิตเป็นเอกเทศของตัวมันเอง ร่างกายสักแต่ว่าร่างกาย พอร่างกายไม่มีพลังงานส่งเสริมมัน มันก็หยุดทำงานของมัน หยุดชั่วคราว เห็นไหม ขณะที่รวมใหญ่ จิตมันสักแต่ว่ารู้นี่ มันยังสงบได้ขนาดนั้นนะ ขนาดว่าลมหายใจขาด ต่าง ๆ ขาด แล้วเวลาเข้าสมาบัติ กำหนด ๗ วัน เข้าสมาบัติโดยปุถุชนอย่างหนึ่งนะ

ดูสิ ดูอย่างอาฬารดาบส อุทกดาบส เห็นไหม ได้สมาบัติ ๘ เข้าสมาบัติโดยปุถุชน มันก็หยุดได้สภาวะของมัน แล้วเข้านิโรธสมาบัติล่ะ ถ้าเข้านิโรธสมาบัติของพระอรหันต์ไปอีกเรื่องหนึ่งเลย เพราะอะไร? เพราะพระอรหันต์ไม่มีกิเลสไง สิ่งนี้ สมาบัติมันมีเจ้าของ มันมีตัวจิตรับรู้สมาบัติ เห็นไหม เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วอะไรรับรู้ล่ะ?

แต่นิโรธสมาบัติดับนะ ดับตัวจิต มันเป็นวิมุตติ วิมุตติมันเป็นสภาวะอยู่แล้ว ถ้าเข้านิโรธสมาบัติ พระอรหันต์เท่านั้นที่เข้านิโรธสมาบัติได้ไง หรือพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้านิโรธสมาบัติ เห็นไหม อยู่ในกองฟางนั้น แล้วที่ว่าไปเผาฟางด้วยความอบอุ่น นั่นเข้านิโรธสมาบัติ นิโรธสมาบัติพระอรหันต์เข้าได้เท่านั้น พระอรหันต์เห็นไหม แต่ถ้าเป็นสมาบัติธรรมดา เป็นสมาบัตินี่ปุถุชนเข้าได้ สภาวะเข้าได้นี่รากเหง้าของจิต รากเหง้าของจิตอย่างนี้ ถ้าเป็นพระอรหันต์ นิโรธสมาบัติคือดับกิเลสหมด

แต่ถ้าเป็นสมาบัติธรรมดา มันครอบงำกิเลสไว้เฉย ๆ เพราะเวลามันคลายออกมา มันก็กิเลสทั้งตัว แล้วถ้ามันมีอำนาจวาสนา มันจะไปเห็นรากเหง้าของมัน รากเหง้าของจิตนะ เห็นอดีตชาติ เห็นต่าง ๆ ถ้าเข้าไปสงบอย่างนั้น ถ้าไม่เห็นอดีตชาติอันนั้นคือว่าอยู่ที่วาสนาของเขา นี่รากเหง้าของแต่ละบุคคล เราแสวงหากันตรงนี้ไง แล้วตรงนี้จะเกิดขึ้นมาจากไหนล่ะ?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เห็นไหม ให้กรรมฐาน แล้วเวลาครูบาอาจารย์เราออกแสวงหา มันต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนไง สัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็นสัปปายะนะ “ตาบอดคลำช้าง” ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เป็นสัปปายะเพราะไม่รู้จริง ถ้าไม่รู้จริงสอนไม่ได้ นี่ต้องติดครูบาอาจารย์ แต่! แต่ต้องรู้จริงด้วย

ถ้าครูบาอาจารย์ไม่รู้จริงนะ มันวนในอ่าง เราลงไปในมหาสมุทรนี่เราหาทางขึ้นไม่ได้หรอก เพราะมันกว้างขวางมาก นี่หมุนไปอย่างนั้น ในวัฏฏะก็เป็นอย่างนี้ ไม่มีขอบเขต ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเป้าหมายบอกเลย แล้วก็ไปเวียนกันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าครูบาอาจารย์ที่รู้จริง มันมีเข็มทิศเครื่องดำเนิน ถ้าเข็มทิศเครื่องดำเนินเข้าไปหาฝั่ง มันจะเข้าหาฝั่งได้ นี่สัปปายะ เราถึงแสวงหากัน แสวงหากันเพื่ออะไร?

ดูสิ นักกีฬาหรือสิ่งที่เขาแข่งขันกัน เขาต้องมีการฝึกซ้อม เขาต้องหาช้างเผือก หาผู้ที่มีพรสวรรค์ นี่ก็เหมือนกัน เราเองเราก็อยากจะมีพรสวรรค์ เราเองเราก็อยากจะพ้นจากทุกข์ เราก็อยากประพฤติปฏิบัติ การกระทำอย่างนี้มันเป็นการเกื้อหนุนในสังคม ที่ว่าสังคมนี่ รากเหง้าของสังคม

ถ้ารากเหง้าสังคม รากเหง้าของสังคมชาวพุทธไง เราจะมีวัดมีวา มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้ชี้นำเข้ามาถึงกับเห็นตัวตนของเราเลยนะ เห็นใจของเรา เห็นความทุกข์ความสุขของเรา ไม่ใช่เห็นแต่ข้างนอก แต่ต้องอาศัยข้างนอกเข้ามา เราไม่ใช่ว่าปฏิเสธไม่เอาอะไรกันเลย เวลากิเลสมันอ้างอิง เห็นไหม พระทำไมต้องไปอยู่ป่าอยู่เขา ทำไมอยู่บ้านก็ปฏิบัติไม่ได้ ทำไมคลุกคลีทำไมปฏิบัติไม่ได้ นี่มันเป็นความคิดของกิเลสไง แล้วเราก็ไปเชื่อกัน

แต่ถ้าเป็นความคิดของครูบาอาจารย์นะ เพราะอะไร? เพราะเหมือนเรานี่ เวลาเรากว่าจะได้สิ่งใดมามันแสนทุกข์แสนยาก พ่อแม่นะ กว่าจะแสวงหาสมบัติมาให้ลูกนี่แสนทุกข์แสนยาก แล้วลูกก็พยายามจะให้ได้สภาวะแบบนั้น แล้วดูสิ ตอนนี้เรามองไปสังคม พ่อแม่ทุกคนเลยบอก “ลูกเราอยู่ต่อไปข้างหน้า สังคมอย่างนี้ลูกเราจะอยู่กันอย่างไร? ลูกเราจะอยู่กันอย่างไร?” เราก็คิดกันไปอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันมีสภาวะสิ่งที่เราหาสิ่งนี้ไว้ได้กับเพื่อลูกเพื่อหลานของเรา แม้แต่เรานี่ไม่จำเป็นต้องใช้ก็จริงอยู่ แต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้นะ เราไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะไม่เห็นคุณค่าของยาของสิ่งรักษาพยาบาลเลย แต่ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไหร่ เราจะเห็นคุณค่าอย่างนั้นตลอดไป นี่เพราะเราคิดกันเองนะ แต่ไม่รู้เลยว่าเจ็บไข้ได้ป่วยตลอดเวลา เพราะป่วยใจ

ใจนี่มีกิเลสมันป่วยใจตลอดเวลา จะอยู่ที่ไหนมันมีความทุกข์เบียดเบียนตลอดเวลา มันจะเบียดเบียนเราตลอดเวลา เพียงแต่เราเกิดมา เรายอมจำนนกับมัน ยอมจำนนกับมันเพราะอะไร? เพราะเหมือนกับเราเข้าใจว่ายาไม่มี สิ่งที่รักษาไม่มีไง แต่ไม่เข้าใจเลยว่าสิ่งนี้มีอยู่ ธรรมโอสถมีอยู่ แต่เราไม่แสวงหากันเอง เจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอนะ หมอรักษานี่ ถ้าอย่างไรเราก็รักษากันได้ไง

แต่ถ้าเป็นธรรมโอสถ มันต้องมีศรัทธาก่อน เหมือนกับเรายอมเข้าไปหาหมอ ถ้าเรายอมเปิดใจเรารักษา เราก็จะมีโอกาสรักษาโรคของเรา ถ้าเราไม่ยอมเปิดใจรักษา มันปิดไว้ มันเป็นนามธรรม มันปิดไว้ มันบอกว่าไม่เป็นไร เราเกิดมาแล้วเราอำนาจวาสนาแค่นี้ เรื่องของประพฤติปฏิบัติให้แต่คนที่เขาสมัครใจ เราไม่สมัครใจ เห็นไหม มันปิดใจของมันไว้ ถ้ามันปิดใจของมันไว้ มันรักษาไม่ได้ ถึงว่าศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาคือการเปิดใจออกมา ถ้าเปิดใจออกมา เปิดใจออกมาแล้วทำด้วยความถูกต้อง พอจะทำขึ้นมา

ดูนักกีฬาสิ ถ้าเขาจะแข่งขัน เขาต้องมีสิทธิแข่งขันของเขาหนึ่ง เขาต้องมีสนามแข่งขันของเขาหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน เวลาเปิดใจขึ้นมานี่ สนามกีฬาเราก็ไม่ดี นักกีฬา เห็นไหม ดูสนามฟุตบอลสิ เขาบอกขนาดที่ว่าหญ้าเขาไม่เรียบ เขายังร้องเรียนกันเลย ว่าสิ่งนี้มันไม่เป็นประโยชน์กับเขา ต้องเรียบ ต้องดี การแข่งขันเขาจะเป็นธรรมกับทั้ง ๒ ฝ่าย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเป็นสัปปายะ เวลาเราภาวนาโดยกิเลส เห็นไหม อยู่ที่เมืองก็ปฏิบัติได้ ถ้าคนจริงอยู่ในสังคมก็ปฏิบัติได้ มันไฟสุมขอนตลอด แล้วมันก็เติมเชื้อไฟ เติมของแสลงตลอด มันก็ปฏิบัติของมันไป แล้วมันจะได้ผลไหม? แต่ถ้าเราแยกออกไป นี่สัปปายะ สนามที่ดี สิ่งที่ดี กิเลสมันจะดิ้นทันทีเลยนะ เวลาออกไปไม่อยากออกไป ไม่อยากออก นี่กิเลสมันจะดิ้นรนเพราะอะไร? เพราะเราจะพามันเข้าไปหาสถานที่ให้มันแสดงตัวออกมาไง

เวลาเราเข้าไปในป่าช้า คนเดียวนี่เข้าไปจะกลัวผีมาก เราเข้าไปที่ไหนก็แล้วแต่ วิเวกนี่ ความคิดจะวิตกกังวลมาก เราจะอยู่อย่างไร? เราจะเป็นอย่างไร? นี่กิเลสมันเริ่มแสดงตัวแล้ว ถ้ากิเลสมันเริ่มแสดงตัว ครูบาอาจารย์ปฏิบัติมาเห็นโทษของกิเลส เห็นความเป็นไปของกิเลสอย่างนั้น เราถึงแสวงหาที่อย่างนั้นเพื่อจะชำระ เพื่อให้คนเข้าไปได้ฝึกหัด

แต่ถ้าเราเข้าไปโดยกรอบ เราตั้งใจเราจะไปเอาเกียรติคุณ ถ้าเอาเกียรติคุณ เอาสิ่งนั้นมาอ้างอิงว่าเราออกมาจากป่า เราออกมาจากป่านะ นี่กิเลสมันตีกลับได้ ถ้าตีกลับได้ เราดูสิ เราดูสัตว์สิ สัตว์ป่านี่มันเกิดในป่า มันตายในป่า มันเป็นพระอรหันต์ไหม? มันไม่เป็นหรอก เราเป็นมนุษย์ต่างหาก เราแสวงหาอย่างนั้น เวลาเราไปแสวงหาที่ทุกข์ที่ยากก็เพื่ออะไร? เพื่อทรมานเราเองใช่ไหม

เราแสวงหา เราต้องการใช่ไหม เพราะอะไร? เพราะเราต้องการดัดกิเลสของเรา เราไม่ใช่จะไปปรนเปรอมันนะ ถ้าเราปฏิบัติโดยการปรนเปรอกิเลส กิเลสมันจะอ้วน มันจะใหญ่ แล้วมันจะเหยียบย่ำหัวใจ แต่ถ้าเราพยายามตัดทอนกิเลส เห็นไหม นี่ธรรมะจะใหญ่ ธรรมะจะมีอำนาจขึ้นมาในหัวใจของเรา เราจะมีความรื่นเริงอาจหาญ เวลามีความสุขในนั่งสมาธิ มีความสุขในภาวนานะ นี่สุขหาได้ที่นี่ มันไปสมกับคำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ “ความสุขเท่ากับจิตสงบนี้ไม่มี”

โลกแสวงหาความสุขกันที่ว่าไปพักผ่อน เขาไปทัศนาจรกันน่ะ สิ่งที่เขาแสวงหานั่นไม่ใช่! ไม่ใช่เลย ไม่ใช่เพราะอะไร? เพราะสิ่งนั้นมันเป็นเรื่องของโลก ๆ เขาไป เป็นประสบการณ์ชีวิตของเขาเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นความสงบของจิต อยู่ที่ไหนก็ทุกข์อยู่ที่ไหนก็ร้อน ที่เราไปหาความสุขกันอยู่ เราไปรื่นเริงอยู่น่ะ คนทุกข์ยากเยอะแยะเลย เราไปที่ไหนก็แล้วแต่ มีคนเกิดคนตายทั้งนั้นเลย มีทั้งนั้นหมด

แต่ถ้าจิตเราสงบขึ้นมา แล้วเราชำระกิเลสของเราขึ้นมานี่ มันจะไม่ตายที่นี่ไง จิตจะไม่ตายอีกเลย จิตที่การเกิดการตายเพราะมันมีเชื้อ ถ้าเชื้ออันนี้มันออกไปแล้วมันจะตายได้อย่างไร เวลาตายก็ตายโดยสมมุติ คือว่ามันได้สถานะใหม่ จิตไม่เคยตาย ความไม่เคยตายอย่างนี้ เราแสวงหาที่ไหน? แสวงหาที่ไหน?

ถ้าย้อนกลับมา เห็นไหม นี่รากเหง้าของสังคม สังคมชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธเราเข้าใจเรื่องของรากเหง้าสังคม แล้วเราเป็นชาวพุทธด้วย รากเหง้าของสังคม สังคมมันก็เป็นหมู่สัตว์ นี่สัตว์โลก โลกหนึ่ง บุคคลคนหนึ่งก็โลกหนึ่ง เพราะโลกทัศน์หนึ่งมันมีความเห็นอันหนึ่ง นี่โลกคือหมู่สัตว์ แล้วหมู่สัตว์ในจักรวาล คิดดูสิ ๖๐ กว่าล้านจักรวาล ๖๐ กว่าล้านโลกที่มันหมุนกัน มันกระทบกระเทือนกันอยู่ในนี้ด้วยความคิด ด้วยการกระทบกระเทือนกันนี้

แล้วถ้า ๖๐ ล้านดวงใจดวงนี้ ถ้ามันปฏิบัติของมันขึ้นมาแล้วจิตมันสงบขึ้นมานี่ มันเป็นความว่างไง เหมือนสิ่งที่ว่าเป็นอวกาศที่มันไม่มีวัตถุสิ่งใดที่จะกระทบกระเทือนเลย มันจะมีความสุขขนาดไหน ถ้าจิตมันเป็นสภาวะแบบนั้น มันถึงว่าอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติไง ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราได้ เราหาชัยภูมิของเราได้ เราทำของเราได้ เราจะเป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเราก่อน

ถ้าประโยชน์กับเราก่อน เห็นไหม สัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ถ้ามีครูบาอาจารย์สัปปายะที่เป็นประโยชน์กับเราก่อน เราจะสามารถชักนำหมู่คนได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้นะ “ดวงตาของโลกดับแล้ว” ดวงตาของโลกจะดับแล้ว เห็นไหม ครูบาอาจารย์ของเราล่วงไปแต่ละองค์ ๆ ที่เป็นของจริงนะ นี่ดวงตาของโลกเพราะอะไร? เพราะในหัวใจเรามืดบอด

ดวงตาของโลก โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือโลกทัศน์ในหัวใจของเรา ถ้าโลกทัศน์ในหัวใจเรา เรามองไม่เห็นเลย มันมืดสนิทเลย แล้วดวงตาของโลกคือความสว่างที่จะส่องเข้าไปในโลกทัศน์ของเรา ถ้าเราวิปัสสนาเข้าไปในหัวใจของเรา เราจะเห็นโลกทัศน์ของเรา เราจะเห็นกิเลสของเรา มันจะย้อนกลับเข้ามาในหัวใจของเรา ดวงตาของเราจะสว่างขึ้นมา มีดวงตาเห็นธรรม ดวงตาของเราเบิกบานขึ้นมา

เวลาครูบาอาจารย์ท่านล่วงไป ๆ ความทุกข์ของเราจะเกิดขึ้นเลย แสงแห่งสว่างของปัญญามันจะดับไป ๆ แล้วความมืดบอดอันนี้ก็ไม่มีใครจุดประกายให้เราเลย ความมืดบอดอันนี้มีแต่ความทุกข์ตลอดไปเลย แล้วเราพยายามจะทำความสว่างอันนี้ แล้วเราพยายามจะแสวงหาสิ่งที่เป็นปัจจัย เป็นการเกื้อหนุน เกื้อหนุนกับการเป็นสัปปายะ เป็นกับการที่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่จะแสวงหาความสว่างของหัวใจ

ถ้าความสว่างของหัวใจเกิดขึ้นมาอย่างนี้ เห็นไหม เราเป็นคนส่งเสริม เราเป็นคนสนับสนุน เราเป็นบุญกุศลไหม? บุญกุศลนี้จะทำให้การภาวนาของเราก็ง่ายขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา การประกอบสัมมาอาชีวะขึ้นมา เห็นไหม เราทำบุญปิดหลังพระกันก้นพระกันเพื่อไม่ต้องการสิ่งใดเลย แต่บารมีธรรมอันนี้จะมีมหาศาลเลย

โลกเขาต้องมีการประชาสัมพันธ์ เห็นไหม ทำคุณงามความดีต้องประกาศกัน ต้องเชิญชวนกัน แต่เราทำกันโดยเงียบ ๆ เงียบ ๆ นี่แล้วธรรมะมันก็เงียบ ๆ ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ จนปัจจุบันนี้ความกังวานของธรรม เห็นไหม สิ่งนี้บันลือสีหนาทมาจนเป็นปัจจุบันนี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อริยสัจยังกังวานอยู่ตลอดเวลา

ความเงียบ ๆ แต่ถ้าเป็นของจริง ดูสิครูบาอาจารย์ของเรานี่ ทำแบบเงียบ ๆ ทำแบบใต้ดิน แต่เวลาโลกรู้ขึ้นมา มันกังวานขนาดไหน สิ่งที่กังวานออกไป มันเป็นความสว่างของใจดวงนั้นก่อน เราถึงย้อนกลับมานะ ย้อนกลับมาทำกันเงียบ ๆ ทำกันโดยความเป็นไปของพวกเรา โดยไม่ให้กิเลสมันชักออกนำหน้าไป ถ้ากิเลสนำหน้าไป มันเป็นเรื่องของโลกหมดเลย โลกนำเป็นความตกออกไปแล้วจะเจออุปสรรค

แต่ถ้าธรรมนำนะ ธรรมนำของเรานี่ เราทำเงียบ ๆ แล้วสิ่งที่ว่ามันเป็นสว่างจากภายใน มันจะเป็นความสุขจากภายใน เห็นไหม ความสุขของเรา ความสุขสังคมจากภายนอก ความสุขของสังคมจากภายใน แล้วความสุขจากหัวใจของเราจะเกิดขึ้นมาจากเรา ถ้าเรากระทำของเรา เอวัง