เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ ก.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาต้นไม้ เห็นไหม ต้นไม้มันมีรากแก้ว ต้นไม้ต้องมีการเพาะปลูก มันมีอาหารของมัน มันมีอาหารทั้งอาหารทางราก ทั้งอาหารทางใบนะ ต้องมีอากาศ ต้องมีแสงแดด เห็นไหม นั่นคือต้นไม้

ชีวิตก็เหมือนกันนะ ชีวิตของเรา อาหารของเราล่ะ อาหารคือคำข้าว นี่คืออาหารของร่างกายนะ แล้วถ้าหัวใจล่ะ ถ้าหัวใจมันก็ต้องมีรากแก้วของมัน ถ้าต้นไม้มีรากแก้วของมัน รากแก้วมันจะดูดอาหาร เวลาดูดอาหาร ดูสิถ้าอาหารนะ รากแก้วมันไปโดนเกลือ ต้นไม้มันก็ตาย คนเหมือนกัน ถ้ากินสารพิษ กินสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย ร่างกายก็ต้องวิการไป อันนี้เป็นเรื่องของร่างกายนะ

แต่ถ้าเรื่องของจิตใจล่ะ เรื่องของจิตใจนะ แรงขับของกิเลส แรงขับของธรรม ถ้าแรงขับของกิเลส เห็นไหม นี่รากแก้วคือตัวจิตมันไปสัมผัสกับสิ่งใด ถ้าสัมผัสสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ ดูสิเวลาร่างกายของเรา เวลาเราร่มเย็นเป็นสุข เราจะมีความสุขมาก เวลาเราทุกข์ร้อนของเรา เวลาเราหิวกระหาย ถ้าเราเติมอาหารเข้าไป เรากินอาหารเข้าไป มันก็มีความสุขขึ้นมาได้ของร่างกาย

จิตใจก็เหมือนกัน แต่จิตใจเหมือนกันนะ มันเป็นความละเอียดที่เราจะเข้าใจได้ เราจะเข้าใจได้หรือเข้าใจไม่ได้ ดูสิ อย่างการสละทาน ถ้ามองกันโดยหยาบๆ มองกันทางโลก เห็นไหม พระพูดแต่เรื่องของทานๆ เพราะพระเป็นผู้ที่ได้รับไง

ใช่.. ถ้าพระนะ ผู้ที่เขาทุกข์เขายาก เขาก็ต้องการปัจจัยเครื่องอาศัยเหมือนกัน แต่ถ้าผู้ที่ทำคุณงามความดีไง ครูบาอาจารย์ท่านบอกมา ท่านว่า “เราอยู่ในศีลในธรรมนะ ถ้ามันจะอดอยากขาดแคลน เราอยากเห็น” แล้วครูบาอาจารย์ของเรา เวลาท่านเข้าป่าเข้าเขาไป ท่านแสวงหา “เราไม่โทษโลก” ท่านบอก “ท่านไม่โทษโลกว่าไม่ดูแล ไม่อุปัฏฐากนะ” เพียงแต่เราแสวงหา เช่น เข้าป่าเข้าเขาไป หาเรือนหลัง ๒ หลัง ๓ หลัง มันไม่มีคนมาวุ่นวายไง มันไม่มีคนมา นี่ป่าของคน

ดูสิป่าต้นไม้ ปัจจุบันนี้เวลาโลกเจริญขึ้นมาเราจะหาแต่ธรรมชาติ เห็นไหม เวลาเราพักผ่อนกัน เราไปหาแต่ภูเขา ทะเล เพื่อหาธรรมชาติ เพื่อให้มันเข้ากับจิตใจ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อถ้าเราไปแสวงหาสิ่งนั้น เราไปแสวงหาที่บ้านเรือน ๒ เรือนเพื่ออาศัยเขาดำรงชีวิตเท่านั้นเองเพราะอะไร เพราะเราเกิดมามีร่างกาย ร่างกายมันต้องอาศัยปัจจัย แต่ปัจจัยอาศัยของมันอย่างนี้ เราอาศัยมันชั่วครั้งชั่วคราว

โลกเขาต้องกินกันวันละ ๓ มื้อ ๔ มื้อ เห็นไหม พระเราฉันมื้อเดียวนะ เวลาถือธุดงควัตรด้วย ฉันมื้อเดียว ฉันอาสนะเดียว ฉันภาชนะเดียว เห็นไหม แล้วยังผ่อนอีกนะ เพราะอะไร เพราะฉันมากเข้าไป…

ดูสิ เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันนะ อาหารของใจ อาหารหยาบๆ เห็นไหม อาหารหยาบๆ คือว่าเราไปดูมหรสพสมโภชเราก็ว่ามีความสุข มีความรื่นเริง มีการพักผ่อนกัน นี่โลกเขาว่าโลกนะ แต่เวลามาเป็นธรรมนะ ดูมหรสพ เห็นไหม ถือศีล ๘ ไม่ให้ไปดูเพราะอะไร เพราะมันเคลิบเคลิ้มไปกับเขาไง อารมณ์เราความรู้สึกเรามันก็หนักหนาสาหัสสากรรจ์อยู่ในหัวใจอยู่แล้ว เรายังไปเอาอารมณ์สิ่งข้างนอกมาทับถมใจเข้ามาอีกหรือ?

แล้วเวลาจะทำให้ใจมันสงบเข้ามาล่ะ จิตที่มันละเอียดเข้ามาจากการพักผ่อนของจิต เห็นไหม ถ้าการพักผ่อนของจิต เหมือนเครื่องยนต์เลย คนเราเกิดมานะ ติดเครื่องตั้งแต่เวลาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดานะ เราเข้าใจกันว่าเราจะมีความรู้สึกต่อเมื่อเราคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา เวลาเราอยู่ในครรภ์ของมารดา เห็นไหม ตั้งแต่ปฏิสนธิขึ้นมา มันก็ดำรงชีวิตของเขา เพราะอะไร เพราะถึงที่สุดเด็กมันมีกรรมขึ้นมา มันแท้งในครรภ์นั้นก็ได้ อยู่ในครรภ์นั้น แม่กินอาหารเข้าไป ถ้าเป็นความร้อน เด็กมันก็ดิ้น เห็นไหม นี่เพราะอะไร เพราะเขามีชีวิตแล้ว เครื่องติดแล้วไง

ถ้าเครื่องติดแล้วตั้งแต่ปฏิสนธิจนกว่าจะตาย จิตไม่เคยได้พักเลย แม้แต่นอนหลับก็ฝัน เห็นไหม มันมีความเร่าร้อน มีแบกความรู้สึก แบกภาระหนักมาก ทุกข์ของร่างกาย ร้อน...อาบน้ำ เข้าที่ร่มมันก็เย็นนะ หัวใจร้อนขนาดไหน เข้าไปนั่งอยู่ในห้องแอร์มันก็ร้อนอยู่ในห้องแอร์นั่นนะ มันเย็นไปไม่ได้หรอก แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามานี่ มันเย็นได้ เย็นตรงมันผ่อน มันดับเครื่องได้ ถ้าดับได้ เครื่องได้พักได้ เครื่องนี่จะติดเครื่องใหม่ เราซ่อมเครื่องใหม่ เครื่องจะดีขึ้นมา

จิตถ้าได้สงบขึ้นมา ดูนักเรียนสิ เวลาดูหนังสือนี่จะเครียดไปหมดเลย แล้วก็ห่วงว่าจะดูไม่ได้ จะไม่เข้าใจ พยายามจะดูหนังสือขึ้นมา แต่ถ้าเราพักก่อน แล้วทำสงบของมัน เครื่องพักร้อนก่อน แล้วเราแค่แก้ไขให้มันแน่นหนามั่นคงขึ้นมา แล้วเราค่อยติดเครื่องใหม่ เครื่องมันจะดีมาก เห็นไหม เราได้พักผ่อน พอตื่นขึ้นมามาอ่านใหม่ มาศึกษามาดูตำราใหม่ สัญญามันจะจำได้ดี สังขารมันจะปรุงแต่ง ความคิดมันจะปิ๊งดีขึ้นมามหาศาลเลย เพราะอะไร เพราะมันได้พักเครื่อง

นี่ความสงบของใจไง จากอารมณ์ของโลก เห็นไหม อาหารของใจ ความสงบของใจเข้ามา แล้วความสงบของใจจะเกิดมาได้อย่างไรในเมื่อโลกเห็นแก่ตัว แม้แต่สละวัตถุยังสละออกไม่ได้ แล้วความคิดที่ฟุ้งซ่านนี่มันสละอย่างไร? ความคิดที่ฟุ้งซ่าน จิตมันฟุ้งซ่าน เราจะสละออกอย่างไร?

อุบายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้สละทาน สละทานได้ผล ๒ ชั้น ๓ ชั้น ชั้นหนึ่งสังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข สังคมได้การเจือจานกัน สังคมมีการดูแลกัน สังคมไม่เอารัดเอาเปรียบกัน คนทุกข์คนจนเขาก็ไม่เดือดร้อนนัก เพราะอะไร เขาคิดว่าถึงที่สุดแล้วคนจะช่วยจะเจือจานกัน เห็นไหม มันก็ไม่ทำร้ายสังคม

๑. การให้ทานสังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข

๒. คนที่ให้เป็นผู้รับ คนที่ให้นี่ เพราะคนที่ให้ เห็นไหม เราให้ออกไป หัวใจเรามันสละออกไป อย่างน้อยเราก็มีความพอใจ อย่างน้อยเราก็เห็นคนเขารับของจากมือเราไป แล้วเขาได้ดำรงชีวิตจากสิ่งที่เราสละออกไป มันเป็นความสุขไหม มันเป็นความสุข ความสุขของใจ

ความสละอารมณ์ เวลาเราเครียด เวลาเราวิตกกังวล อย่างนี้มันสละได้ยาก การฝึกฝึกการสละทาน เห็นไหม วัตถุเราก็สละ วัตถุสละออกไปได้มันต้องมีเจตนา มันต้องมีที่คนพาไป คนที่สละสิ่งของนั้นออกไป มันเกิดจากเจตนาเกิดจากใจไง สรรพสิ่งโลกนี้ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจเป็นทั้งหมดเลย ถ้าคนตระหนี่ถี่เหนียว จากหัวใจตระหนี่ถี่เหนียว มีวัตถุไว้มันก็เก็บซ่อนไว้ไม่ให้ใครเห็น เก็บซ่อนไว้นะ เก็บซ่อนไว้ให้มันเสีย ให้มันเป็นน้ำเน่าเพราะอะไร เพราะมันไม่มีการไหลเวียน

แต่ถ้ามันมีการสละออกไปน้ำมันจะไหลเวียน ดูน้ำไหลเวียนสิ น้ำจะสะอาด น้ำจะมีออกซิเจน พวกพืชพรรณธัญญาหารจะมีอุดมสมบูรณ์ไปหมดเลย การเสียสละออกไปนี่เพราะอะไร เพราะโลกนี้มันเป็นอนิจจังไง อาหารหรือสิ่งต่างๆ เก็บไว้มันแปรสภาพมันตลอดเวลา เราสละออกไป สละออกไป แล้วถ้าเรามีบุญกุศล เราแสวงหาเข้ามาอย่างนี้ เราสละออกไป เห็นไหม สิ่งที่สละออกไปมันฝึกใจไง

การฝึกใจแบบหยาบๆ การสละทาน คนได้ทำบุญบ่อยๆ แล้วเกิดถ้าไม่ได้ทำบุญ มันเหมือนขาดสิ่งใดไป เห็นไหม ถ้าขาดสิ่งใดไป มันคิดอย่างไรสภาวะแบบนี้ ใจมันก็พัฒนาขึ้นมา เหมือนดิน ดินเราจะมาปั้นหม้อปั้นไห เขาต้องนวดดิน เขาต้องเตรียมดินเพื่อจะปั้นขึ้นรูปขึ้นมา

หัวใจก็เหมือนกัน ที่ว่าเราจะดับเครื่องๆ นี่ เราจะไม่รู้เลย จะสอดกุญแจเข้าไปตรงไหน เครื่องจะดับอย่างไร จะไปชักดึงจากสายไฟออกให้เครื่องดับเป็นอย่างนั้นเหรอ นั้นเครื่องมันทำได้ แต่เวลาหัวใจมันทำไม่ได้ล่ะ

เพียงแต่ว่าถ้าเรากำหนดพุทโธ บางทีนะมันส้มหล่นไง ส้มหล่นอาจจะสงบได้โดยที่ว่าอำนาจวาสนา อย่างนี้เหมือนกับดึงสายไฟออก แต่เราไม่รู้ดับเครื่องอย่างไร แต่ถ้าเราเสียบกุญแจเข้าไป เราดับเครื่อง เครื่องดับ เราบิดกุญแจ เราสตาร์ทเครื่อง เครื่องก็ติด นี่ก็เหมือนกัน เราชำนาญในวสี เรากำหนดพุทโธ พุทโธ เหมือนกับเราถือกุญแจไว้ มีสติควบคุมพร้อม เห็นไหม จะดับเครื่อง จะติดเครื่อง จะทำได้หมด เราควบคุมได้หมด ชำนาญในวสี สมาธิจะไม่เสื่อมเลย

สมาธิคือจิตตั้งมั่น ความสงบของใจ เห็นไหม อาหารทุกอย่างเรากินเข้าไปแล้วมันหมดใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลาถ้ามันมีเหตุขึ้นมา เหตุ เหตุคือการรักษา การบำรุงรักษาวสี การควบคุมจิต ถ้าจิตมันสงบเข้ามา เพราะเราควบคุมมันได้ขึ้นมา มันจะมีความสงบบ่อยครั้งเข้า สงบนี่จะมั่นคงขึ้น ความสงบอย่างนี้เหมือนกับเรานี่มีฐานะ เราจะช่วยเหลือใครเราก็จะช่วยเหลือได้สะดวกสบาย ฐานะเราก็ไม่ค่อยดี เราจะช่วยเหลือคนอื่น เราก็ช่วยเหลือได้แต่กำลังของเรา

จิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่ตั้งมั่น จิตมันอ่อนแอ เห็นไหม มันจะยกวิปัสสนาไป มันก็ทำได้ลูบๆ คลำๆ ไง ถ้าจิตมันตั้งมั่น มันจะย้อนกลับไปขณะมันจะวิปัสสนาอย่างไร มันจะยกขึ้นไปเป็นประโยชน์กับเราขนาดไหน มันทำของมันได้ไง ถ้าทำของมันได้ เห็นไหม นี่ได้พักเครื่อง นี่ต้นไม้ต้องการอาหารนะ อาหารของเขานะ ทั้งแดด ทั้งสารอาหาร

นี่ก็เหมือนกัน อาหารของใจ เห็นไหม อาหารของคน อาหารของมนุษย์ อาหารของปาก อาหารของใจ อาหารของใจมันยังมีสัมมามีมิจฉาอีก ถ้ามีมิจฉา เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติ การแสวงหาของเรา ถ้าเป็นมิจฉามันก็วิ่งออกไปข้างนอก ส่งออกหมดนะ ส่งออกมีฤทธิ์มีเดช เหาะเหินเดินฟ้าได้ คำว่าเก่งมากๆ อันนั้นมันฌานโลกีย์ สิ่งที่ฌานโลกีย์มันประโยชน์อะไรกับเราขึ้นมา มันไม่มีประโยชน์อะไรกับเราเลย มันไม่เป็นประโยชน์กับเรา เพราะอะไร เพราะมันเป็นพลังงานที่.. เหมือนเครื่องยนต์นี่มันใช้ตลอดไป มันร้อนอยู่อย่างนั้นนะ แล้วมันจะประโยชน์ขึ้นมาได้อย่างไร?

แต่ถ้ามันเย็นขึ้นมา มันเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิที่ดี สติที่ดีนี่ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามา เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นความละเอียด แม้แต่จิตสงบ เราพยายามจะดับเครื่องยังดับไม่เป็น สอดกุญแจก็ไม่เป็น ทำอะไรก็ไม่เป็น แล้ววิปัสสนาจะทำอย่างไร

วิปัสสนา เห็นไหม สัมมาสมาธินี่เหมือนเครื่องยนต์ เราจะใช้เครื่องยนต์นี้ พลังงานของมันนะ เราจะต่อสายพานไป เราจะเข้าเครื่องอะไร เห็นไหม เครื่องยนต์นี่เป็นพลังงานปฐม แล้วมันจะเข้ากับเครื่องอะไรล่ะ พลังงานนี้จะไปใช้กับเครื่องยนต์กลไกสิ่งใด

นี่ก็เหมือนกัน สัมมาสมาธิจะใช้ในเรื่องอะไร จะใช้ในมิจฉา จะใช้ทำไสยศาสตร์ ใช้ในทางคุณประโยชน์ ถ้าคุณประโยชน์มันก็เป็นพลังงานที่ถูกต้อง พลังงานที่ดี เห็นไหม นี่ย้อนกลับมา ถ้าย้อนกลับมานะ ปัญญาอย่างนี้มันจะเกิด ปัญญาจะเกิดเพราะอะไร ปัญญามันเกิดเพราะปัญญาความหลงผิดของเรา ความหลงผิดนะ จิตนี่มันหลงผิด

ดูสิ ดูรากของต้นไม้มันลงไปในดิน เห็นไหม ถ้าสารอาหารที่ดี ต้นไม้จะเจริญมากเลย แต่ถ้าสารอาหารหรือว่ามันเป็นสารพิษ ต้นไม้จะเริ่มเฉา แล้วต้นไม้จะเริ่มตาย นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันย้อนไปวิปัสสนาได้ สารอาหารนี่ทำให้ต้นไม้เจริญขึ้นมาไง เข้มแข็งขึ้นมา เจริญขึ้นมา มรรคญาณจะเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาจากใคร?

เกิดขึ้นมาจากใช้สัมมาสมาธิที่เป็นฐานอันนี้ แล้วค่อยใช้ปัญญาเข้าไปจิตใต้สำนึก เพราะการหลงผิดมันเป็นอุปาทาน สิ่งที่เป็นอุปาทานคือเหนือการควบคุมของจิตไง เรามีปัญญา เราควบคุมได้ เห็นไหม เราใช้ปัญญา ถึงว่าโลกว่าใช้ปัญญากันๆ เราเข้าใจสังคม เราเข้าใจเรื่องต่างๆ ทั้งหมดนะ เราจะไม่วิตกกังวลกับสิ่งนั้นเลยเพราะเรารู้แจ้ง

เรารู้แจ้งในทฤษฎี รู้แจ้งว่าสิ่งนี้ ฝนตกเดี๋ยวมันก็หยุด เห็นไหม เวลาเกิดอุทกภัยขึ้นมา เรามีการบริหารจัดการ ระบายน้ำออกไปต่างๆ แต่ความเสียหายมันก็เกิดขึ้นมาแล้ว ความเสียหายมันเกิดขึ้นมาแล้วคือเรื่องของกรรม

เรื่องของวิปัสสนาก็เหมือนกัน เรื่องของอุปาทานนี่ เรื่องอุปาทาน เห็นไหม เราว่าเราเข้าใจอยู่ เราเข้าใจอยู่แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ มันจะเข้าใจต่อเมื่อเกิดพายุลมแรงพัดจนบ้านพังไปหมดแล้ว คนเสียชีวิตไปหมดแล้ว เราถึงว่าสิ่งนี้จะควบคุมไง นี่เป็นธรรมชาติ เห็นไหม กรรมๆๆ มันเป็นอย่างนี้ นี่เรื่องของกรรม เรื่องของใจมันเป็นสภาวะแบบนี้

แล้วถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมาล่ะ เกิดขึ้นมาอุปาทานนี่มันควบคุมไม่ได้ แต่เวลาถึงที่สุด เห็นไหม สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่การกระทำ เห็นไหม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรม สภาวธรรมมันแปรสภาพ เราต้องสร้างขึ้นมา เราต้องจงใจทำขึ้นมา ถ้าสภาวธรรมเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แล้วเราย้อนกลับมาให้มันเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม ถ้ามันเป็นไตรลักษณ์ ใครเป็นคนเห็น? จิตนี้เป็นคนเห็น

เวลาวิปัสสนาทำไมจิตไม่ต้องสงบก็วิปัสสนาไปได้ อันนั้นเป็นปัญญาวิมุตตินะ มันก็เป็นไปส่วนหนึ่ง แต่ต้องมีสติแล้วต้องมีปัญญาขึ้นมา มันจะเป็นปัญญาวิมุตติ แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เห็นไหม จิตเป็นผู้เห็น จิตเป็นผู้ทำ จิตเป็นผู้ค้นคว้า แล้วจิตเป็นผู้ที่ปล่อยวางอาการของใจ ปล่อยวางสิ่งที่เข้าไปเป็นอุปาทาน จิตนี้มันเป็นอุปาทาน มันยึด ปากว่าไม่ยึด เราว่าไม่ยึดทุกอย่าง แต่ควบคุมใจได้ไหม? ควบคุมความเป็นไปได้ไหม? ควบคุมทุกข์ได้ไหม? ทุกข์ขาดจากใจได้ไหม? สักกายทิฎฐิความเห็นผิด เห็นผิดไหม?

เห็นถูก…เห็นถูกโดยทางวิชาการ แต่จิตใต้สำนึก อุปาทานปล่อยไม่ได้ แต่ถ้าวิปัสสนาเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาข้างใน มันจะปล่อยวางของมันเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เห็นไหม ย้อนกลับมา ทำลายกิเลสเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป ทำลายกิเลส

ร่างกายมันก็คือร่างกาย อาศัยกันนะ ดูต้นไม้นะ มันมีชีวิตแต่ไม่มีวิญญาณครอง แต่เวลาดูโดยตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นโดยตาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเทพารักษ์ มีสิ่งต่างๆ อาศัยอยู่วิมานในต้นไม้ เทวดาในชั้นของเทพารักษ์เขายังมีอยู่ในต้นไม้ แต่เราไม่เห็นนะ เราไม่เห็นของเรา

แต่ถ้าพูดถึงเวลามนุษย์เรา ร่างกายเราแต่มีวิญญาณครอง วิญญาณ วิญญาณคือตัวจิต ตัวจิตนี้ตัวครอง แล้วมันก็ตัวทุกข์ตัวยากคือตัวจิตมันพัฒนาไป แล้วปัญญาขึ้นมาอย่างนี้ มันชำระสิ่งนี้ นี่รากแก้ว ถ้าถอนรากแก้วขึ้นมานะ อวิชชา ถอนรากแก้วขึ้นมา เราจะมีความสุขมาก

ในศาสนาเรา เห็นไหม เราแสวงหากัน แสวงหาที่อากาศดี เป็นสัปปายะ แสวงหาสิ่งเป็นชัยภูมิที่เราจะถอนกิเลส ถึงที่สุดแล้วนะ ก็มนุษย์นี่ พระนี่เป็นจะถอนเอง เห็นไหม ต้องอยู่ในทางจงกรม ต้องนั่งสมาธิภาวนา จิตแก้จิต ต้องเอาจิตดวงนั้น ไม่มีใครสามารถทำแทนกันได้

โลกเขาทำแทนกันได้นะ เราจ้างเขาบริหารจัดการทุกอย่าง เขาทำได้หมด เราว่าอยู่ที่การบริหารจัดการ บริหารจัดการ บริหารจัดการกิเลสให้ได้สิ บริหารจัดการนะ ให้มรรคญาณมันเข้ามาทำลายกิเลสเราให้ได้ ถ้าบริหารจัดการขึ้นมาได้ เราทำของเราได้ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป บอกพระอานนท์นะ “เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปเลย”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นพระอรหันต์นี่นิพพานไป พระสารีบุตรนิพพานไป ครูบาอาจารย์เรานิพพานไป แต่ละองค์นะเป็นสมบัติส่วนตน แล้วความทุกข์เราก็อยู่ของเรา ถ้าเราเข้าไปถึงธรรม ใจเราเป็นธรรมทั้งแท่งมันก็เป็นสมบัติส่วนตนของเรา

แต่ทฤษฎีหรือธรรมที่เป็นสาธารณะ มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ เพราะสร้างสมบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ เราสาวกสาวกะแค่ได้ยินได้ฟัง แค่มีตำรา แค่มีวิชาการ วิชาการมันก็เป็นทฤษฎีอยู่อย่างนั้นนะ ถ้าเราไม่สามารถทดสอบใจเราขึ้นมาให้เป็นสภาวธรรมอย่างนั้น แล้วชำระกิเลสเข้าไปอย่างนั้น

เริ่มจากสละทานไง เห็นว่าการเสียสละนี่เราเป็นฝ่ายเสียหาย เราเป็นฝ่ายที่ไม่ได้รับ เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบ การสละนี้เป็นสุดยอดๆ เลยเพราะอะไร เพราะการสละนี้ พระเวสสันดรก็สละหมดทุกอย่าง ถึงจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาได้ไง เพราะอะไร เพราะมันสะเทือนขั้วหัวใจไง สละลูก สละเมียนี่สะเทือนขั้วหัวใจมากนะ แต่เขาก็ทำ ทำเพื่ออะไร

เพื่อถึงที่สุดแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มาเทศนาว่าการเอาพระเจ้าสุทโธทนะ เอาครอบครัวทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เห็นไหม เอาถึงสิ้นกิเลส ขนไป รื้อสัตว์ขนสัตว์ไปทั้งหมด นี้คือการขนไปแบบผู้ที่เสียสละออกไป มีการแยกมีการเสียสละออกไปแล้วจะกลับมาช่วยเหลือกัน ถ้าอยู่ด้วยกัน กอดคอกันอยู่นี้ ทุกข์นะ เหมือนคนจมน้ำเลย ว่ายน้ำไม่เป็นแล้วกอดคอกัน จะช่วยเหลือกัน มันก็พากันจมน้ำตายหมด เห็นไหม เราต้องฝึกว่ายน้ำเป็น แล้วว่ายน้ำแล้ว เราจะช่วยคนจมน้ำ เราจะอยู่ระยะห่าง เราจะไม่ให้คนจมน้ำกอดเรา เราจะพยายามจูงคนจมน้ำเข้าฝั่งให้ได้

นี่มีการสละ มีการทำไป แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเราทั้งหมด ธรรมะสอนอย่างนี้! ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว! กิเลสมันเห็นแก่ตัว! ธรรมะต่างหากเห็นแก่คุณงามความดี ความดีของเราที่คนมองไม่เห็น แต่พระพุทธเจ้ามองเห็น เอวัง