เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ ก.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความนิ่งอยู่ เห็นไหม สิ่งที่นิ่งอยู่ สิ่งที่นิ่งอยู่คือสิ่งที่ไม่มีชีวิต เวลาปลามันตายนะ มันเน่า มันลอยไปตามน้ำ ปลาเป็นมันว่ายทวนน้ำไง สิ่งที่มีชีวิตต้องทวนน้ำ ความเป็นไปของชีวิต นี่ก็เหมือนกัน เราสิ่งที่มีชีวิต เราอยู่ในสังคมโลก เราก็ต้องสู้ สู้ชีวิตไง เป็นไปตามสังคม ย้อนไปตามสังคม สังคมเป็นสภาวะแบบใดก็เป็นไปตามนั้น แล้วก็ว่าตัวเองมีศักยภาพนะ โลกคิดกันอย่างนั้น

ทวนกระแสไง ใช้ชีวิตไปตามกระแสโลก โลกหมุนไปเวียนไป เราเป็นไปวันหนึ่งคืนหนึ่ง เป็นไปตามกระแสโลก แต่เวลานี่ โลกเขาต้องทำนะ หน้าที่การงานเราต้องมีรักษา คนเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม มีปากมีท้องเหมือนกัน มีปากมีท้องเหมือนกันเพราะว่าเป็นญาติกันโดยธรรม เสมอภาคกัน ผู้ดีศรีสุขขนาดไหน มั่งมีศรีสุขขนาดไหน ทุกจนเข็ญใจก็มีปากมีท้องเหมือนกัน อาหารเหมือนกัน อิ่มเหมือนกัน แต่คุณภาพของอาหารต่างกัน คุณภาพของอาหารนะ แต่ความต้องการของร่างกายล่ะ

ดูสิ ดูทางเอเชียเราสิ เห็นไหม ดูนะอย่างเมืองหนาว เขาต้องมีความอบอุ่นกับร่างกาย เขาต้องกินอาหารเพื่อไว้ต่อสู้กับความหนาว เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นความคิด เป็นภูมิอากาศ เป็นความเป็นไปของโลกนะ เกิดในประเทศอันสมควร โลกจะปรับแปรปรวนอย่างนี้ตลอดไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาเกิดที่ชมพูทวีปตลอดไป ชมพูทวีปนะ มันสมควร มันสมดุลของมัน แล้วมันจะเกิดสภาวะแบบนั้น นี่คนสร้างบุญมาอย่างนั้น โลกหมุนเวียนเป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังนะ สิ่งที่เป็นอนิจจังมันแปรปรวนตลอดเวลา

แล้วโลกนอกโลกในล่ะ แล้วโลกของเรา ดูสิ ถ้าเราคุมใจของเราได้ เราจะมีความสุขของเรามาก ความสุขนะ ถ้าเราคุมใจของเราได้ ถ้าเรามีความโกรธ เรามีความหลง แล้วเราคิดทันนะ สิ่งที่คิดทัน เห็นไหม สิ่งที่เวลาอารมณ์ลุกเป็นไฟเลย ถ้ามันดับปั๊บ เราใคร่ครวญคิดตรงนี้ ตรงที่เวลามันเร่าร้อน มันไปประสามันนะ แต่เราคิดได้นะ พอเราคิดได้ความรู้สึกมันปล่อยไง มันโล่งหมดเลย เห็นไหม ถ้าเท่าทันมัน เหมือนกับกินอาหารเลย หิวขนาดไหนนะ เวลาเรากินเข้าไปนะ พออิ่มท้องขึ้นมา ร่างกายแข็งแรงพอไปได้แล้ว นี่ก็เหมือนกัน

แต่ถ้าขณะที่เราเสวยอารมณ์อยู่นี่ มันทุกข์มากเพราะอะไร เพราะมันมีแต่ความทุกข์ความยากของมัน แล้วเวลาสติมันทันขึ้นมา เห็นไหม แล้วปัญญาของเรา นี่ปัญญาโลกียปัญญา ปัญญาที่ว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกับเรากินยา เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วกินยา เห็นไหม พอไข้มันหายไป เราก็เบาลง ร่างกายเรามันก็ดีขึ้นมา

เวลาสติมันทันความคิดนะ ทุกข์นะ ร้อนเป็นไฟเลย เวลามันโมโหโกรธานี่ร้อนเป็นไฟเลย แต่ถ้ามันหยุดได้ เห็นไหม ความหยุดได้นี่ สิ่งนี้ต้องทำไปเพราะอะไร เพราะขณะที่ก้าวเดิน พาหะ รถ ถ้าเรายังต้องใช้อยู่ รถเราต้องใช้อยู่เราต้องดูแลมัน ต้องรักษามัน ต้องบำรุงรักษา ถ้าเราไม่บำรุงรักษารถ มันก็ต้องเสื่อมสภาพไป มันจะใช้งานไม่ได้

ขณะที่เราประพฤติปฏิบัติ ขณะที่เรากำลังเป็นไป เห็นไหม พาหะเครื่องดำเนิน สติต้องพร้อมหมดเลย แต่เวลาถึงที่สุดแล้ว รถขณะที่เราถึงที่แล้ว ถ้าเราไม่ขึ้นมาจากรถ โยมจะนั่งอยู่กันบนรถนี่นะ จะขึ้นมาศาลาไม่ได้หรอก ธรรมนี่ก็เหมือนกัน ถึงที่สุดแล้วมันต้องปล่อยหมด ต้องทิ้งหมดเลย แล้วทิ้งไปหมดแล้วใครจะกล้าทิ้ง? จะทิ้งไปได้อย่างไรในเมื่อเรายังไปไม่ถึงที่ ถ้ายังไม่ถึงที่

นี่จะบอกว่า เวลาเกิดสติเท่าทันความคิด ขณะที่มันเป็นอาการกระทำไป มันต้องหมั่นบำรุงรักษา ขณะที่เราก้าวเดินนะ ไม่ใช่ไปถึงจุดพักรถอย่างไรแล้วเราจะปล่อยมัน สิ่งที่ปล่อยมัน เห็นไหม ถ้าเราขาดสติ เราไม่ควบคุมมันนะ การทำต่อไปมันยากขึ้นเรื่อยๆ นะ

เวลาจิตสงบเข้ามา เวลาเราทำขึ้นเต็มที่ เวลาจิตมันสงบเข้ามา เวลามันคลายตัวออกมา เห็นไหม เวลามันถอนออกมาต้องมีสติ ถ้ามีสตินะ เวลาจะเข้าอีกมันเข้าได้ง่าย ถ้าเราสะเพร่า เราผลุบ ผลับ เห็นไหม เวลาถึงจะออก เราจะออกเลยนะ จะเข้าอีกเข้าได้ยากนะ สิ่งที่เข้าออกได้ยาก เห็นไหม เหมือนกับเราไปไหนเราทำปูนหมายป้ายทางไว้ เวลาเราจำทางของเราได้ นี่เราเดินผลุบผลับเข้าไปเลย ออกมาแล้วเข้าไปอีกรอบหนึ่งเข้าไม่ได้ เข้าไปไม่สนิทนะ เข้าไปจะเข้าทางไหน จะเข้าอย่างไร

แต่ถ้าเราค่อยออกมา เราทำตำหนิให้เราเข้าใจไว้ เวลาจะออกจากสมาธิ เวลาใช้ปัญญา เวลาใคร่ครวญไป ปัญญาคราวนี้ถ้าสติมันทัน มันใช้ปัญญามันหมุนไป คราวหน้าสติมันจำไม่ได้แล้ว เพราะอะไร เพราะมันเผลอ นี่คิดอย่างนี้คิดไม่ได้ เหมือนลิ้นชักเลย มันเปิดคนละลิ้นชักไง เราไปเปิดลิ้นชักบน แต่ปัญญาที่เคยใช้อยู่เป็นลิ้นชักล่าง เห็นไหม หากันไม่เจอ เดี๋ยวพอเราไปเปิดลิ้นชักล่าง มันออกมาอีกแล้ว

ปัญญาก็เหมือนกัน เวลาเราลืมไป เราลืมสิ่งใด นี่สัญญา สัญญาจึงเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งขันธ์ ๕ นี่อนิจจัง ความคิดเป็นอนิจจัง แต่ถ้าเกิดเป็นปัจจุบันมันไม่เป็นอนิจจังหรอก มันเกิดของมันเอง เห็นไหม ลิ้นชักไม่มี สรรพสิ่งนะ โต๊ะไม่มี ลิ้นชักไม่มี ความซ่อนเร้นของมันไม่มี มันจะเป็นปัจจุบันตลอด มันจะเปิดโล่งตลอด

ถ้ามันมีลิ้นชัก มันต้องมีเหลือบ มีเหลือบมีที่อะไร กิเลสมันซ่อนอยู่ตรงนั้นนะ ถ้ากิเลสซ่อนอยู่ตรงนั้น เห็นไหม ความสะอาดเป็นไปได้อย่างไร เหมือนกับเราทำความสะอาด เห็นไหม เราเข้าใจว่าสะอาด แต่ความจริงมันไม่สะอาดหรอก เพราะอะไร เพราะมันมีซ่อนเร้นอยู่นั้น แต่เรามองไม่เห็น เราเข้าใจว่าสะอาด อย่างนี้มันถึงไม่มัชฌิมาปฏิปทาไง มันถึงไม่ขาดไง มันปล่อยวางไม่ได้เพราะตรงนี้ไง

แต่ถ้าเราทำบ่อยครั้งเข้า เวลาใช้ปัญญาเราก็ใช้ของเราเป็นปัญญาออกไป ถ้าปัญญาเวลาคิดออกไป เห็นไหม ในลิ้นชักเปิดไปแล้วโล่ง ไม่มีอะไรเลย ปิดไว้ก่อนแล้วกลับมาพุทโธก่อน เพราะมันจับอะไรไม่ได้ แต่ถ้าในลิ้นชักนี่เปิดมาเต็มไปหมดเลย หนักไปหมดเลย มันปล่อยวางไม่ได้ ก็เหมือนกัน ต้องกลับมาพุทโธอีก

ถ้ามีพุทโธ เห็นไหม ลิ้นชักจะเปิดได้ไม่ได้ ถ้ากำลังเราพอ เราจะเลื่อนลิ้นชักออกมาได้ ถ้ากำลังไม่พอ เห็นไหม ลิ้นชักนี่เคยเปิดได้เบาๆ เลย ขนาดเอานิ้วนี่เกี่ยวออกมายังเกี่ยวได้เลยถ้าสมาธิดี แต่ถ้าสมาธิไม่ดีนะ ๒ มือ ๓ มือนะ เหนี่ยวออกมาขนาดไหนมันก็ไม่ออกนะ อย่างนี้ต้องอย่าไปยุ่งกับเขา กลับมาที่พุทโธก่อน เพราะกำลังของเรามันไม่เสมอกัน เห็นไหม กำลังนะ

ดูสิ ขณะที่สมดุล ทำได้ทุกอย่างจะลงตัวหมดเลย ขณะที่มันติดแง่ของมัน เห็นไหม มีเหลี่ยมมีมุมของมันขึ้นมา หรือมันไปสะดุดสิ่งใด มันออกไม่ได้หรอก เราต้องค่อยๆ เคาะ ค่อยๆ ดูแลไป นี้คือการไม่สะเพร่า การทำของเราไม่สะเพร่า

เหมือนรถ เรารักษารถไป ถึงที่สุดไม่ถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดเราไปปล่อยวางพาหะ เหมือนเราไปถึงที่แล้ว เราจะไม่ปล่อยวางก็ไม่ได้ ถ้ามันไม่ปล่อยวาง ถ้าเราจะปล่อยวางก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นอดีตอนาคต มันไม่เป็นปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบันจะเป็นสัจจะของมัน เห็นไหม นี่เป็นเรื่องอาหารของใจนะ นี่คือการกระทำ นี่คือผู้บริหารใจ

อาหารของโลก อาหารร่างกายมันก็เป็นสภาวะแบบนั้น เห็นไหม โลกนี้เป็นสมมุติ ความเป็นไปสมมุติ ชีวิตนี้มีเท่านี้ ถ้าเราเข้าใจเรื่องของชีวิตแล้วนะ เราจะเข้าใจเรื่องของเรา การประพฤติปฏิบัติมันก็มีกำลังใจขึ้นมา มีกำลังใจนะ ไม่ใช่ปล่อยไปตามกระแส ปล่อยไปตามความเห็นไง ทำไปตามกระแสโลก โลกเขาทำไปก็ทำไป เห็นไหม แล้วสักแต่ว่าทำ ทำสักแต่ว่าทำมันก็เป็นความสักแต่ว่า

มันจะเป็นสักแต่ว่าไม่ได้! มันต้องมีสติ มันต้องมีความยั้งคิด มันต้องมีปัญญาของเรา มันต้องเป็นความรู้สึกของเรา ทุกข์ๆ ของเรา เวลาทุกข์นี่เราทุกข์ ไม่มีใครทุกข์กับเราหรอก แต่เวลามีความสุขล่ะ ความสุขก็ความสุขของเรา ทุกข์ของคนอื่นความสุขของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่นนะ เป็นเรื่องของข้างนอก

แม้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เวลาเคารพธรรมๆ นะ พวกเราเวลากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรากราบพระกัน กราบพระที่ไหน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัย อันนี้มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม

สิ่งที่เป็นประเพณี เห็นไหม ถ้าติดในประเพณีมันก็เข้ามาไม่ได้ สิ่งที่เป็นประเพณีมันไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย สิ่งที่ทำสักแต่ว่าประเพณี เราเห็นเด็กๆ มันไหว้พระขึ้นมา เราจะชื่นใจไหม? เห็นเด็กไหว้พระ เห็นคนไปวัดไปวา พวกเราจะชื่นใจนะ เพราะสังคมจะร่มเย็นเป็นสุข

เพราะเราเป็นปลาอยู่ในน้ำนั้น อยู่ในสังคมนั้น สังคมนั้นเปรียบเหมือนน้ำใช่ไหม เราเหมือนปลา เราอยู่ในสังคมนั้น ถ้าสังคมนั้นดี เห็นไหม เขากราบพระกัน เขาทำทานกัน เขาไปวัดไปวากัน เขามีศีลมีธรรม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราไปติดอย่างนั้น เป็นอย่างนั้นได้ไหม?

วุฒิภาวะของเรา เราก็ทำกับเขาเหมือนกัน ถ้ามีโอกาสทำเราก็ทำกับเขา แต่ขณะที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เราต้องละเอียดกว่านั้น สิ่งที่ละเอียดกว่านั้น ย้อนกลับมาที่เราไง ย้อนกลับมาจากภายใน เราจะไม่ติดสภาวะแบบนั้น โลกก็เป็นโลกไป ธรรมก็เป็นธรรมไป ถ้าเราไม่มีความคิดอย่างนี้นะ เราแปลกแยกกับเขาไง

เวลาเราไปในสังคมเราแปลกแยกกับสังคม เราอยู่กับสังคมเขาได้อย่างไร เราแปลกแยกกว่าเขา เราจะดึงฟ้าลงต่ำเหรอ? จิตเราพัฒนาขึ้นมาแล้ว จะย้อนกลับไปเหรอ? จะย้อนกลับไปสภาวะแบบนั้น เราก็ย้อนกลับไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่เราทิ้งมาแล้ว สิ่งที่เราก้าวมาแล้ว นับหนึ่งมาแล้ว ก้าวหนึ่งไปแล้ว สองไปแล้วจะก้าวไปข้างหน้า ถ้าก้าวไปข้างหน้า แล้วถึงที่สุดตรงไหนล่ะ?

ถึงที่สุดได้ เห็นไหม ถึงที่สุดนะ ฐีติจิต ความรู้สึก ฐีติจิตของเรา โลกไม่มีที่สิ้นสุดนะ งานของใครก็แล้วแต่ทำไปเถอะ ไม่มีวันจบหรอก ดูสิ สิ่งต่างๆ สร้างไว้เสื่อมสภาพ ต้องมีการบำรุงรักษา ไม่มีอะไรคงที่เลย ต้องดูแลรักษาตลอดไป

ร่างกายเราก็เหมือนกัน ต้องหาข้าวป้อนมันตลอดไป แต่ถึงที่สุดในการประพฤติปฏิบัตินะ ดูสิ เวลามันสุขมันทุกข์นะ เกิดดับเกิดดับ เห็นไหม เดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์ตลอดไป แต่ถึงที่สุดมันทุกข์นะ เป็นวิมุตติมันพ้นนะ มันไม่มีสิ่งใดไปเติมมันอีกได้เลย เห็นไหม ไม่มีสิ่งใดจะไปกระเทือนมันอีกได้เลย แล้วไม่มีพลังขับเคลื่อนจะให้พาไปเกิดไปตายอีก

แต่ในปัจจุบันนี้จะปฏิเสธ จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ในเมื่อมันมีอยู่เป็นธรรมชาติของมัน ใครก็ไม่มีอำนาจเหนืออันนี้ อันนี้มันเป็นสัจจะความจริงของเขาเหมือนธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันต้องแปรปรวนไปตลอดเวลา เห็นไหม แต่เวลาถ้าธรรมเหนือธรรมชาติแล้วล่ะ มันจะแปรปรวนไปไม่ได้ มันควบคุมมันได้หมด มันเข้าใจของมันได้หมด สิ่งที่เข้าใจได้หมด มันเข้าใจได้หมด มันไม่มีการตื่นเต้นไปกับมันเลย สิ่งนี้เป็นความสุข

นี่ทวนกระแส ตั้งแต่ทวนกระแสเข้ามาจากเรานะ ถ้าเราไม่ทำสิ่งใดเลย เราก็ไม่มีสิ่งใดเลย ทุกข์ขนาดไหนก็เก็บไว้ในหัวใจ ทุกข์ทุกคนเป็นสภาวะแบบนี้ นี่ในครั้งพุทธกาลนะ มากกว่านี้อีก เขาทุกข์ยากกันมากกว่าเรามหาศาลเลย ความทุกข์อันนี้เป็นความทุกข์ของโลกๆ ความทุกข์ของเปลือกจากข้างนอก ทุกคนเสมอกันนะ มีเหมือนกัน จะมั่งมีศรีสุขทุกข์จนเข็ญใจจะทุกข์เหมือนกัน

ถ้าทุกข์เหมือนกันนะ ถ้าคนฉลาดจะเอาความทุกข์นี่มาเป็นประโยชน์ไง ถ้าคนไม่รู้จักนะ เอาความทุกข์มาทับถมตัวเอง เรานี่ทุกข์ๆ ดูสิ ดูสมบัติของเรา อยู่กับเราแทบไม่มีค่าเลย พอเห็นของคนอื่นทำไมมันมีค่ามาก ทั้งๆ ของเหมือนกันนะ หรือของชิ้นเดียวกัน เราสละให้เขาไปนี่ ทำไมมันยังดีอยู่เลย แต่ขณะอยู่กับเรามันเบื่อไง สิ่งที่มันเบื่อมันจะผลักไส

นี่ความเป็นไป กาลเวลามันกินหมดเลย ทั้งๆ ที่สิ่งที่เคลื่อนไปมันก็กินหัวใจเราด้วย แล้วหัวใจเราก็ยังไปจับจากข้างนอกด้วย ถึงว่ามันเป็นทุกข์ขึ้นมา เราจับสิ่งนี้ ทุกคนเหมือนกัน เพียงแต่ไม่มีใครพูดออกมา เห็นไหม เราจับนี้เป็นตัวตั้ง ถ้าสิ่งนี้เป็นตัวตั้ง เราจะกลับมาประสบพบมันอีกไหม?

ถ้าเราไม่อยากจะกลับมาประสบพบมันอีกเลย เราถึงเอาเหตุผลนี้เอามาวิเคราะห์วิจัยไง การวิเคราะห์วิจัยอย่างนี้มันเกิดจากไหนล่ะ? เพราะมันเป็นที่ตั้งของอารมณ์ความรู้สึกไง ถ้าที่ตั้งอารมณ์ความรู้สึกนะ อยู่ที่ใจ อยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ภพ ถ้าทำลายสถานที่ตั้ง ทำลายสถานที่รองรับ ถ้าสิ่งใดๆ ไม่มีรองรับ ความคิดอยู่บนอะไร? เราอยู่บนอะไร? โลกนี้อยู่บนอะไร? ทุกคนอยู่บนอะไร?

โลกนี้มีเพราะมีเรา มีเพราะเราไปยึดมัน มีเพราะเราไปรับรู้มัน ทุกข์เกิดเพราะเรารับรู้มัน สิ่งต่างๆ รับรู้มันหมดเลย อย่างนี้ถ้าเป็นนามธรรม แล้วบอกใช่ เราไม่รับรู้มัน ดูสิ ดูอย่างที่เขาบอกปล่อยวางๆ ปล่อยวางแบบขอนไม้ ปล่อยวางแบบขี้ลอยน้ำ มันก็ไม่เป็นผลหรอก เพราะปล่อยวางแบบนี้มันปล่อยวางแล้วยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่เลย ขณะที่มันปล่อยวาง กิเลสมันพาปล่อยวางไง แต่ถ้าความเข้าใจไปวิเคราะห์วิจัยมัน ทำลายมัน ทำลายถึงมันไม่ใช่การปล่อยวาง มันเป็นการทำลายฐาน ทำลายที่ไม่มี การปล่อยวาง ฐานมันปล่อยวางมานี่ ฐีติจิตปล่อยวางอย่างอื่นมาก็ตัวมันเอง เห็นไหม

ดูสิ ว่าเราไม่ต้องการสิ่งใดเลย เราอยู่ของเราได้ไง เวลามันหิวขึ้นมาก็วิ่งไปหาเขาอีก หิวขึ้นมาก็วิ่งไปกินอาหารอีก ก็เราบอกว่าเราปล่อยวาง มันปล่อยวางจริงหรือเปล่าล่ะ? แต่ถ้ามันไม่มี เห็นไหม มันไม่มี มันไม่หิว มันไม่เป็นไป มันปล่อยวางได้จริง

ถึงว่าถ้ามันเป็นความจริง ต้องจับมาวิเคราะห์วิจัยแล้วศึกษามัน เห็นไหม ศึกษามันๆ ทำความเข้าใจกับมัน ทุกข์เป็นอริยสัจ เป็นความจริง แต่ทุกข์เปลือกๆ ทุกข์แบบว่าทุกข์เป็นแบบอนิจจัง ไม่ได้ทุกข์โดยความเป็นจริงจากภายใน ทุกข์เห็นจากภายใน มันเห็นเป็นอนัตตา

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา”

ถ้ามันเป็นอนัตตา ความเป็นอนัตตามันก็เลยกลายเป็นอนัตตา เพราะตัวไปยึดมัน พอมันย้อนกลับมามันก็ทำลายตัวไปยึดมัน มันก็ปล่อยวางตัวยึดมัน

นี่ทุกข์ก็ดูตรงนี้ ดูให้เข้าใจ อย่าไปอยู่ดูจากโลกภายนอก โลกภายนอกเป็นสภาวะแบบนั้น มีค่าเท่ากันหมด เพียงแต่สังคมมันไปเห่อกันเองว่าสิ่งนี้ดีสิ่งนี้เลวเท่านั้นเอง แต่มีค่าเท่ากันหมด ถ้าย้อนกลับมาที่เรา อันนี้สำคัญกว่า ย้อนกลับมาที่เรา ผลเกิดที่เรา แล้วจบที่เรา ชีวิตจะมีความสุข เอวัง