เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ก.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันอาสาฬหบูชา เห็นไหม พระปัญจวัคคีย์นะ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปีนะ ดูสิ คนเราหิวอาหารอยู่ ไม่ได้กินอาหาร ๖ ปีนี่ตายไหม นี่ก็เหมือนกัน ใจอยากได้ธรรมไง

เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะตอนเป็นพราหมณ์นะ พยากรณ์พระพุทธเจ้าว่าเป็นพระอรหันต์แน่นอน เป็นศาสดาแน่นอน แล้วก็รอนะ เฝ้ารอเจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่เกิด พัฒนาจนเติบโตขึ้นมา จนออกบวชนะ แล้วออกบวช ชวนกันไปอุปัฏฐากไง เหมือนกับเรานี่หิวอาหาร แล้วไม่มีอาหารกิน เหมือนคนป่วยแล้วไม่มียา รอยาอยู่ เห็นไหม ๖ ปีนี่มันทุกข์ยากแค่ไหน

แต่เรานี่เกิดมาท่ามกลางศาสนา กึ่งกลางพุทธศาสนา เห็นไหม อาหารสำรับเต็มไปหมดเลย แต่เราไม่เปิบอาหารนั้นใส่ปากกันเอง เราได้แต่มองอาหารในสำรับ แล้วว่าเราทำบุญกุศลกัน เราทำดีทำไมมันมีทุกข์ยากขนาดนี้?

อาหารของใจคือธรรม คือความถูกต้อง เราถูกต้องจากหัวใจ แต่เรื่องของโลก เรื่องของร่างกาย เรื่องอาหารของคำข้าว เรื่องปัจจัย ๔ ดูสิ ดูอย่างปัจจุบันนี้ ถ้าเรามีเงินซื้อนะ เราจะซื้อข้าว เขาเป็นตันๆ หลายๆ ตัน เขาส่งกันไปได้หมด เห็นไหม มันซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ไง แต่ความสุขความทุกข์ในใจ เราซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ไหม?

เวลามันสุขมันทุกข์ขึ้นมานะ ดูเหตุการณ์ๆ หนึ่ง คนๆ หนึ่งมองด้วยความสะใจ คนๆ หนึ่งมองด้วยความสังเวช คนๆ หนึ่งมองด้วยความทุกข์ เห็นไหม นี่จะบอกว่าอาหารของใจมันอยู่ที่บุญกุศลไง อยู่ที่ว่าเราสามารถจะมองคุณค่าของธรรมอันนั้นได้ไหม? ถ้าเรามองคุณค่าของธรรมอันนั้นได้ หัวใจเรามีวุฒิภาวะไง

ทำไมคนเขาไปทำบุญกัน เห็นไหม แม้แต่เรื่องทำบุญยังต้องเชิญชวนกันตลอดไป แต่คนที่มีหัวใจ มีพื้นเพของใจ อยากทำคุณงามความดี เห็นเขาทำเบียดเบียนกัน เห็นเขารังแกกัน เราคิดนะ มันทำอย่างนั้นได้อย่างไร? จิตใจเขาทำอย่างนั้นได้อย่างไร? เห็นไหม วุฒิภาวะของใจจะเป็นสภาวะแบบนั้น

เรื่องบุญกุศลก็เหมือนกัน มุมมองของเรา เราจะทำเพื่อเราเพื่อสิ่งใด ถ้ามียาของเรา เห็นไหม อาหารเป็นคำข้าว เราก็รักษาของเราไป อยู่ที่บุญกรรมนะ คนเกิดมาดี เห็นไหม เราเกิดมาท่ามกลางพระพุทธศาสนา เหมือนกับเราเกิดมาพบพ่อแม่ เห็นไหม พ่อแม่ต้องหาเลี้ยงดูเรานะ พ่อแม่ต้องหาเลี้ยงดูเรา ต้องทะนุถนอมเรา เราเป็นลูกกว่าเราจะเจริญเติบโตขึ้นมา

นี่เกิดท่ามกลางพระพุทธศาสนา มีศาสนาอยู่เพื่อจะให้เราแสวงหา เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า “ศาสนานี้เปรียบเหมือนห้างสรรพสินค้า” ห้างสรรพสินค้า เราเข้าไปในห้างสรรพสินค้า เราจะหยิบฉวยอะไรนี่ เราจะหยิบฉวยออกมา เราได้สิ่งใดออกติดมือมา นั่นก็คือผลงานของเรา

ในศาสนาเริ่มแต่ทำทาน เห็นไหม เขาบอกว่ากิเลสเวลามันพลิกแพลงกันไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง เราก็ปล่อยวางกันแล้ว เราไม่ทำอะไรเลย..

ปล่อยวางแบบนั้นไม่ใช่ศาสนา! ปล่อยวางแบบนั้นปล่อยวางแบบกิเลสไง ปล่อยวางแบบไม่ทำสิ่งใดเลย

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ “เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ” ส่วนหนึ่งคือแสวงหาความสุขโดยกามสุขัลลิกานุโยค มีแต่แสวงหาความสุข สุขในกามนะ อย่างนั้นมันไม่ควรเสพหรอก เพราะมันเสียเวลาเปล่า ทางหนึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค อัตตกิลมถานุโยคคือทำสิ่งนั้นแล้วไม่ได้ผล ไม่ได้ผลนะ ทรมานตนโดยไม่ได้ผล

แต่ในมัชฌิมาปฏิปทานี่ มันก็ต้องทรมานเหมือนกัน การทรมานกิเลส เช่น เราออกจากบ้านมา ออกมาทำบุญกุศลก็ไม่อยากมา จะทำสิ่งใดก็ไม่อยากทำ เวลานั่งสมาธิก็ไม่อยากทำ เดินจงกรม ฝนตกแดดออกก็อ้างตลอดไป อย่างนี้ต้องฝืน! ถ้าฝืนอย่างนี้เป็นฝืนกิเลส ไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค ถ้าเป็นอัตตกิลมถานุโยคโดยกิเลส จะขยับตัวเราก็เป็นอัตตกิลมถานุโยคไปหมด เห็นไหม นี่มัชฌิมาปฏิปทาอย่างนี้

สิ่งที่ว่าเป็นเครื่องดำเนินนี่ต้องรู้แจ้งไง การจะรู้แจ้ง เหมือนกับเรา ดูสิ ดูเศรษฐีโลกเขา เขาบริจาคกันเป็น ๖ หมื่น ๗ หมื่นล้านเหรียญ เห็นไหม เพราะอะไร เพราะเขาสละของเขาได้ไง สิ่งที่เขาสละไปมันต้องรู้จริงแล้วสละ รู้จริงแล้วปล่อยวาง ไม่ใช่ปล่อยวางโดยที่ปฏิเสธ เราจะปล่อยวางกันโดยปฏิเสธนะ อ้างตำรากัน อ้างธรรมะกัน เอากิเลสอ้างไง กิเลสอ้างธรรม แล้วเอามาเชือดคอตัวเองไง เชือดคอว่าเราปล่อยวางๆ เห็นไหม คนที่ไปวัดไปวานี่ไม่เหมือนเรา เรามีความสุข คนไปวัดนี่ต้องไปทุกข์ไปยาก

ไปทุกข์ไปยากเขาไปแสวงหาเว้ย! เราทำมาหากิน เราทำธุรกิจของเรา เราก็ต้องแสวงหา เราต้องขวนขวายของเราใช่ไหม? เราอยู่เฉยๆ จะได้เงินได้ทองมาเป็นมาได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราต้องแสวงหา แสวงหาโดยธรรม ไม่ได้แสวงหาโดยกิเลส แสวงหาโดยกิเลสมันเบียดเบียนกัน เห็นไหม นี่สภาวธรรม

ตั้งแต่เด็กๆ เห็นไหม เด็กๆ เราก็ทำบุญทำทานกันไป นี่ไปวัดไปวาเพื่ออะไร เข้าวัดเข้าวาไปคบบัณฑิต อเสวนา จ พาลานํ ไม่คบคนพาล ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา คบบัณฑิต เห็นไหม บัณฑิตที่ไหน?

ถ้าเป็นคนพาล คิดเบียดเบียนตนเองนะ คิดเบียดเบียนตนเอง โอกาสของเรามีอยู่ การกระทำเรามีอยู่ แต่เราไม่ทำ นี่มันเบียดเบียน อันนี้พาลแล้ว ใจเป็นพาลแล้ว แต่เรายังว่าเป็นธรรมอยู่ ใจเราว่าเป็นปัญญาอยู่ ใจว่าเป็นผลประโยชน์ของเราอยู่ เพราะอะไร เพราะมันตระหนี่ถี่เหนียว เพราะมันยึดของมันไว้ไง มันสละของมันออกไม่ได้ไง

สิ่งที่สละออก เห็นไหม ดูสิเวลาโรคภัยไข้เจ็บ เราอยากหายทำไม? เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมา มันก็เป็นโรคของกิเลส ทำไมเราไม่สละออกล่ะ? แต่เราเห็นว่าเป็นคุณประโยชน์กับเราไง เพราะมันแสวงหามาเพื่อเราไง

สิ่งที่เป็นเรา เวลากิเลสขึ้นมาเรากลับเห็นว่าเป็นคุณงามความดีกับของเรา แต่เวลาเป็นธรรม เป็นการสละออกเรากลับเห็นว่าเป็นของเสียหาย เป็นของที่ต้องหลุดจากมือเราไป หลุดจากมือเราไปมันเป็นประโยชน์กับโลก หลุดจากมือเราไปมันเป็นการพัฒนาใจ หลุดจากมือเราไปมันเป็นการพัฒนาหัวใจให้มันเข้มแข็งขึ้นมา หัวใจมีความเข้มแข็งขึ้นมา หัวใจมีการพัฒนาขึ้นมา เราเป็นผู้ให้ เราเป็นผู้มีประโยชน์

นี่มันเป็นธรรม กิเลสมันไม่ยอมรับหรอก เวลาที่ว่ากิเลสมันเอาธรรมะมาอ้างอิงสภาวะแบบนั้น เราได้ทุกอย่าง คนที่เขาไปเสียสละกัน คนที่เขาไปวัดไปวากัน ไปแสวงหากัน คนนั้นเป็นคนทุกข์คนยาก ไม่เหมือนเรา เรามีศักยภาพ เรามีความสุขมาก กิเลสมันหลอกขนาดนั้นนะ เหมือนกับใส่แว่น เราใส่แว่นดำไว้ เห็นไหม ไม่เห็นสิ่งใดเลย แล้วก็ยังว่าเป็นคนฉลาดอยู่ คนที่เขาไม่ได้ใส่แว่น เขาถอดแว่นออก เขาตาใสๆ เขาหาผลประโยชน์ของเขา ไปบอกว่าเขาเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ เห็นไหม นี่สภาวะเป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องของกิเลส

เราเกิดท่ามกลางพุทธศาสนา พระปัญจวัคคีย์นะ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี แสวงหา อยากมาก ทุกข์มาก ต้องการธรรมะมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการมา เทศน์ธัมมจักฯ เห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะนี่รอมา หิวโหยขนาดไหน หิวโหยมาก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ธรรมเป็นทาน แสดงธรรมออกมา นี่ได้ดื่มกิน เห็นไหม “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” วันนี้วันอาสาฬหบูชา สิ่งนี้มันมีอยู่

ดูสิ ดูเวลาพระสารีบุตรไปฟังพระอัสสชินะ “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ทุกข์ก็ต้องมีเหตุ ทุกข์ที่เกิดขึ้นมากับเรามันมีเหตุ เหตุมันอยู่ที่ไหนล่ะ เหตุมันอยู่ที่ใจ ถ้าใจมันไม่ยึดมันก็ไม่ทุกข์ เห็นไหม คนเขาติฉินนินทาเรา เราไม่ได้ยินนะ เขาติฉินนินทาที่อื่น เราจะไม่ทุกข์ไม่ยากเลย ถ้าวันไหนเขาเอาข่าวมาบอกเรา หัวใจพองเลย เห็นไหม สิ่งนั้นโลกธรรมมันมีอยู่แล้วไง มีอยู่แล้ว

แล้วเวลาเราทุกข์ ใครไปรับรู้ล่ะ เวลาเราไม่ได้ยิน เราไม่รู้ ทำไมเราไม่ทุกข์ล่ะ? เวลาเราได้ยิน เรารับรู้ เราไม่พอใจ ทำไมมันทุกข์ล่ะ? เห็นไหม ทุกข์เพราะมีเรา ทุกข์เพราะมีจิต ทุกข์เพราะมีเราก็ทำลายเรา.. ไม่ใช่!

เขาบอกโลกนี้มีเพราะมีเรา ถึงจะทำลายตัวเอง.. ไม่ใช่! โลกนี้เพราะมีเรา ต้องทำลายกิเลส

พอกิเลสมันสิ้นไป มันไม่มีสถานะ มันก็ยังมีอยู่ ธรรมธาตุนะ จิตที่บริสุทธิ์ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีทางที่ความคิดจะเกิดจากจิตดวงนี้ได้ จิตดวงนี้เป็นวิมุตติสุข แต่เวลาจะเกิดความคิดมา เสวยขันธ์ เห็นไหม เสวยอารมณ์ เสวยความรู้สึก ความเสวย จิตมันออกมาจากวิมุตติ มันถึงออกมาเสวยสถานะ

“มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ” มโนคือใจ มโนคือตัวสถานะ คือตัวภพ คือภวาสวะ คือตัวภพ เห็นไหม จิตวิมุตติมันพ้นจากสภาวะนั้นไป มันออกไปจากวิมุตติไป แล้วมันเสวยมา มันก็เป็นสถานะ มันเป็นภพ มันเป็นสถานที่เกิดขึ้น เห็นไหม ทุกข์ตรงนี้ไง!

ทุกข์เกิดที่ตรงนี้ ทุกข์เกิดที่สถานะ ทุกข์เกิดที่เรา เห็นไหม ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ทำลายเรา ทำลายกิเลสต่างหาก ทำลายกิเลสแล้วใจมันยังอยู่ วิมุตติยังอยู่ ไม่มีสิ่งใดบุบสลายไปเลย พ้นออกไปจากวัฏฏะ อันนี้เป็นความสุขมหาศาลจากใจของเรา

การแสวงหานี่ เราเกิดมาท่ามกลางพุทธศาสนา ศาสนากึ่งพุทธกาล เห็นไหม ธรรมะชัดเจนอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีคนชี้นำไง ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ไง เราเกิดมาท่ามกลางพุทธศาสนา หลวงปู่มั่นบอกว่า “ศาสนานี้เจริญขึ้นมาตั้งแต่พระจอมเกล้าฯ พระจอมเกล้าฯ เป็นผู้รื้อค้นเรื่องธรรมวินัย ให้มันชัดเจนขึ้นมา” แล้วผู้ที่ปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นผู้รื้อค้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกปัญจวัคคีย์นะ “เธอเคยได้ยินได้ฟังไหมว่าเราเป็นพระอรหันต์ ก่อนที่ไม่ได้เป็นก็บอกว่าไม่ได้เป็น จะสอนใครก็ไม่ได้” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่รู้จริงก็ไม่กล้าสอนใคร เห็นไหม สอนไปมีแต่ความผิดพลาด เพราะเราก็ไม่รู้จริง

เวลาหลวงปู่มั่นก็เหมือนกัน “กำลังไม่พอ! กำลังไม่พอ!” แต่กลับจากเชียงใหม่มาแล้วไม่มีว่ากำลังไม่พอเลย ต้องเป็นพระอรหันต์ เป็นรู้จริงถึงสอนจริงได้ ถ้าเป็นคนตาบอด มันจะสอนกันไปไหน มันก็สอนกันลงอบายหมดล่ะสิ นี่เราเกิดกึ่งกลางพุทธศาสนา มีผู้รู้จริงอยู่ มีผู้ที่ปฏิญาณตนอยู่ว่าเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่สิ้นกิเลส เป็นผู้ชี้นำทางเราได้ ไม่เหมือนปัญจวัคคีย์ รออยู่ ๖ ปี

นี่พร้อมทุกอย่างเลย แต่อาหารวางอยู่ตรงหน้าแล้วเราไม่กินกัน เราไม่เปิบอาหารใส่ปากกัน คือการทำสมาธิ การสร้างปัญญาขึ้นมา อาหารคำข้าวนี่เขาเลี้ยงดูกันได้ เช่น คนป่วยอยู่โรงพยาบาล ขนาดว่ากินไม่ได้เขายังให้อาหารอ่อนทางสางยางได้เลย ทางวัตถุนี่ ไม่กินเขาก็ใส่ให้กินได้ แต่ธรรมะไม่กินไม่มีสิทธิ์ ไม่จับใส่ปากไม่ปฏิบัติ ไม่มีสิทธิ์ ทุกอย่างไม่มีสิทธิ์นะ

การทำบุญกุศลเป็นบุญกุศล ถึงที่สุดแล้วอยู่ที่การภาวนา ถึงที่สุดแล้วอยู่ที่การแก้กิเลส เห็นไหม นี่อาสาฬหบูชา ถ้าบูชาตน บูชาหัวใจดวงนี้ ถ้าว่าปฏิเสธเหมือนทีแรก เห็นไหม ว่าจิตนี้ไม่มี ก็ต้องฆ่าตัวตาย.. ไม่ใช่! จิตนี้มีอยู่ “อะยัง โข เม กาโย” กายของเรานี้แล จิตของเรานี้แล

ทำสัมมาสมาธิขึ้นมาตั้งให้ได้ก่อน แล้วเอาจิตดวงนี้แก้ไขมัน ไม่ใช่ปฏิเสธว่าไม่มี ไม่ใช่ ไม่เป็น...ไม่ใช่! มี! แล้วทำให้สิ้นสุด เอวัง