เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ มิ.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โรคหิวเป็นโรคประจำตัวนะ คนเกิดมา เห็นไหม เราต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย เวลามีปัจจัยเครื่องอาศัย เราต้องหา พอเราแสวงหานี่ว่าเป็นความทุกข์ เวลาเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย อาหารการกินนี้เป็นทุกข์มาก ต้องแสวงหามานะ เวลาพระเราบวชแล้วน่ะ หลวงปู่มั่นเวลาออกประพฤติปฏิบัติทำไมไปผ่อนอาหารล่ะ ไปอดอาหารล่ะ เราแสวงหามาเพื่อบรรเทาทุกข์นะ พอกินอาหารไปบรรเทาทุกข์ ทำไมพระปฏิบัติไปอดอาหาร

แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกนะ นี่เพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดมาก่อน ๔๙ วัน อดจนรากของขนนี้หลุดไปเลย แล้วเวลาอดอาหารทำไมถึงว่าอดอาหาร เพระอะไร? เพราะแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังว่า เพราะอะไร? เพราะกินอิ่มนอนอุ่นมันเป็นเรื่องของกิเลส พยายามจะยับยั้งมัน แต่มันไม่ใช่ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอย่างนั้นแล้วนี่ ถึงออกมาฉันอาหารแล้วย้อนกลับมาวิปัสสนา กลับมาใช้มรรคญาณทำลายกิเลสได้ แต่ย้อนกลับนะ เวลาย้อนกลับไปแล้วนี่ ขณะที่อดอาหารมันมีกำลังขึ้นมา

เวลาเราง่วงนอน เห็นไหม ดูสิ เราง่วงนอนเราอยากนอน เรานอนไปทุกๆ วัน มันจะอิ่มพอไหม? มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราฝืนนะ เนสัชชิกไม่นอนเลยนี่ ใหม่ๆ มันจะง่วงนอนมาก แต่พอต่อไปแล้วตามันสว่างๆ มากเลย นี่ก็เหมือนกัน อดนอนผ่อนอาหาร มันเป็นการบรรเทา มันเป็นการยับยั้ง ธุดงควัตรเป็นการขัดเกลากิเลส มันไม่ได้ฆ่ากิเลส มันเป็นการขัดเกลากิเลส แต่ความเห็นของเรา ความเห็นของมนุษย์

ดูสิเราว่าโรคหิวเป็นโรคที่ทุกคนกลัวมาก ต้องหาอาหารมา ต้องกักตุนกัน ต้องพยายามแสวงหามา จนปัจจุบันนี้เด็กเป็นโรคอ้วน แม้แต่กินมากเพราะอะไร? เพราะผู้ใหญ่พยายามแสวงหา ให้โลกนี้มีความเจริญรุ่งเรือง มีความร่มเย็นเป็นสุข แล้วเด็กก็มีปัญหา เพราะอะไร? เพราะการกินมันไม่มัชฌิมา มันไม่พอดีไง มันก็ไปสะสมในร่างกายจนเป็นโรคเป็นภัยขึ้นมา โรคอ้วนก็เป็นโรคอันหนึ่ง คนที่อดอยากที่ว่าเป็นโรคขาดอาหาร โรคขาดอาหารก็เป็นโรคอันหนึ่ง โรคกินมากเกินไปก็เป็นโรคอ้วนก็เป็นโรคอันหนึ่ง แล้วความพอดีมันอยู่ที่ไหน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาปฏิบัติไปแล้ว ถึงบอกว่าห้ามอดอาหาร เพราะอะไร? เพราะว่าพวกเรา เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติว่าการอดอาหารมันจะเป็นมรรค แต่เวลาอดอาหารไปแล้วมันไม่เป็น มันไม่เป็นเพราะอะไร? เพราะปัญญาเราไม่ถึง แต่เวลาย้อนกลับไปแล้วมันเป็นประโยชน์ ถึงในพระไตรปิฎกก็บอกไว้ “ถ้าอดอาหารนะ ถ้าพระอดอาหารเพื่อเป็นการขัดเกลา เป็นอุบายวิธีการจะดัดกิเลส เราอนุญาต แต่ถ้าอดอาหารมาเพื่ออวด...” เพราะอะไร? เพราะโลกมองกันได้แค่นั้นไง

อาหารมันเป็นความจำเป็นกับชีวิต เพราะเรามีความทุกข์ต้องหาอาหารมาดำรงชีวิตของเราอยู่ เพื่อความบรรเทาทุกข์ด้วย เพื่อดำรงชีวิตด้วย เห็นไหม แล้วเราไปอดอาหารมันก็เป็นการแบกโลก มันไปทำเป็นจุดเด่นขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่ให้ทำ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นการหลอกลวง หลอกลวงเขาเพื่อจะให้มาศรัทธาเรา แต่ถ้าเป็นการอดอาหารเพื่อชำระกิเลส เพื่อเป็นอุบายวิธีการ เราอนุญาต ไม่ใช่มาอวดกัน เรื่องของกิเลสมันมองสุดโต่ง

แต่มัชฌิมานี่ความพอดีนี่อยู่ที่ไหน ความพอดีของการประพฤติปฏิบัติ ความพอดีของกิเลสมันละเอียด ดูสิธรรมะมันละเอียดๆ อย่างนี้ ละเอียดเวลามันเป็นความคิดจากภายใน เวลาความทุกข์ เวลาว่าอดอาหารเป็นเรื่องของความทุกข์ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่เราต้องไปผ่อนอาหาร ผ่อนอาหารเพื่ออะไร? เพื่อไม่ให้กำลังมันกล้า ธาตุขันธ์แรงนะ

ดูสิถ้าเวลาเราทุกข์เรายาก เราพยายามแสวงหาสิ่งที่ว่าปัจจัยเครื่องอาศัย แต่พอมีความสุขขึ้นมา มีความสุขมีความพอใจขึ้นมา มันจะออกไปทางอื่นแล้ว เห็นไหม นี่จิตใจที่มันไม่พอไง มันถมไม่เต็มไง มันถึงต้องมีศีลธรรมจริยธรรมเข้าไปบังคับจิตใจนี้ จิตใจนี้กินอาหารของมันคือศีลธรรม จริยธรรม อาหารของร่างกายคือคำข้าว อาหารของหัวใจคือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันมีมิจฉากับมีสัมมา มิจฉาเป็นอะไร? มิจฉาคือความเห็นผิด อย่างเช่นว่าอดอาหาร แม้แต่การอดอาหารพระพุทธเจ้ายังบัญญัติว่าห้ามไว้ก่อนเลย ห้ามไว้ เห็นไหม แล้วเวลาไปอนุญาต อนุญาตถ้าอดเพื่อเป็นการชำระกิเลส เป็นอุบายวิธีการ เราอนุญาต แต่ถ้าอดเป็นการอวด เป็นการโม้ เป็นการโอ้อวด เป็นการสะสมกิเลส เราไม่อนุญาต ปรับเป็นอาบัติ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาออกมาแล้ว เวลาธรรมวินัย เวลาเราธรรมวินัยให้มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาแล้วย้อนกลับมา แล้วมัชฌิมาปฏิปทาของใคร มัชฌิมาปฏิปทาของเด็กก็อีกอย่างหนึ่ง มัชฌิมาปฏิปทาของผู้ใหญ่ก็อย่างหนึ่ง มัชฌิมาปฏิปทาของผู้ที่ผ่านโลกก็อย่างหนึ่ง มัชฌิมาของอริยประเพณีอย่างหนึ่ง

อริยประเพณีนะ ประเพณีของสังคม ประเพณีของโลก อริยประเพณีเพราะอะไร? เพราะสังฆะ เห็นไหม ดูสิดูเวลาสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์เป็นพระอรหันต์ เวลาไปจาตุรงคสันนิบาตไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สโมสรสันนิบาตของผู้ที่สิ้นกิเลสนั่งสมาธิไง นั่งเงียบ! มีความสุขมาก สโมสรสันนิบาตของเราต้องมีรื่นเริง ต้องมีความสุข ต้องมีมโหรสพ นี่สโมสรสันนิบาตของโลกของกิเลสอย่างหนึ่ง สโมสรสันนิบาตของผู้ที่สิ้นกิเลสอย่างหนึ่ง สิ้นกิเลสนะ เพียงแต่มานั่งสมาธินี่มีความสุขรื่นเริงในหัวใจ ในธรรมในหัวใจของเรา เห็นไหม มันละเอียดเข้ามาอย่างนั้นไง

นี่อาหารคำข้าว เราก็มีความสุข ดูสิ เวลาเขาแสวงหากัน อาหารที่ไหนอร่อย เขาจะวิ่งไปหากัน ไปปรนเปรอกัน แต่เวลาพระเราน่ะปัดออกๆ ครูบาอาจารย์เราอะไรที่อยากปัดออก เพราะอะไร? เพราะเวลากินกิเลสมันกินด้วย อาหารเข้าถึงปาก แต่กิเลสในหัวใจมันพอใจ มันอยากมันต้องการของมัน มันก็แสวงหาของมัน มัชฌิมาปฏิปทาตรงนี้ไง ตรงที่คุณค่าของอาหาร เรากินเพื่อร่างกายของเรา ไม่ได้กินเพื่อไปเสริมกามราคะ เพื่อไปเสริมสิ่งต่างๆ มันถึงต้องยับยั้งกันอย่างนี้ไง

วิธีการ อุบายวิธีการประพฤติปฏิบัติ มีมหาศาลเลย เพราะอะไร? เพราะว่าขั้นของปัญญา ขั้นของสมาธิ เราทำความสงบของใจ คำบริกรรมพุทโธๆๆ เข้าไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่มันจะเข้าไปถึงความสงบได้ ความสงบนะนี่เวลาอจินไตย เห็นไหม อจินไตย ๔ ฌาน อจินไตย ความสงบเป็นอจินไตย อจินไตยคือมันกว้างขวางมาก ไม่มีขอบเขตที่ว่าแค่ไหนไง แต่มันมีขอบเขตระหว่างโลกียปัญญา กับโลกุตตรปัญญา ขอบเขตของมันอยู่ตรงไหน?

ขอบเขตของมัน ถ้ามันเป็นความคิดของเรา มันเป็นความเห็นของเรา มันเป็นกิเลสพาใช้เห็นไหม แต่ถ้าเป็นโลกุตตรปัญญาล่ะ แล้วขอบเขตของมัน อกุปปธรรม มันขอบเขตของมัน อกุปปธรรม โสดาบัน สกิทา อนาคา เป็นอกุปปธรรม คือว่ามันไม่เสื่อมไง สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะธรรมทั้งหลายมันเป็นธรรมชาติ มันแปรปรวนตลอดเวลา สภาวะธรรมนี่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา เราว่าเป็นอนัตตาๆ อนัตตามันแปรปรวนตลอดเวลาเห็นไหม แต่อกุปปธรรมมันแปรปรวนได้อย่างไร?

อกุปปะ อะคือไม่แปรปรวน สิ่งนี้ไม่แปรปรวนมี ธรรมที่ไม่แปรปรวนมี ธรรมที่ไม่แปรปรวนคือธรรมที่มันไปถึงที่สุดแล้วมันไม่แปรปรวน ใจนี้มันไม่แปรปรวนเลย มันมีขอบเขตของมัน จุดนี้มันเป็นสูตรของมัน สิ่งนี้มันจะย้อนกลับมาที่ใจของเรา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่มันเกิดมาจากอะไรล่ะ? เกิดมาจากความละเอียดของมัน ถ้าเราไปติดในสิ่งที่หยาบๆ สิ่งที่เป็นหยาบๆ สิ่งที่ความเห็นของหยาบๆ มันก็เรื่องของเปลือก แต่เข้าไปถึงข้างใน

นี่เหมือนกับประเพณีวัฒนธรรม อริยประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ศีลในศีล ศีล ๒๒๗ พระปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติเป็นอาบัติ แต่ธุดงควัตร ๑๓ พระไม่ปฏิบัติ ไม่ทำ ไม่เป็นอาบัติ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นความสมัครใจ ความสมัครใจของผู้ที่จะชำระกิเลสของเรา ความสมัครใจของเราที่เราแสวงหาความสุขใจของเรา ถ้าเราต้องการความสุขของเรา เราจะแลกมาด้วยสิ่งใด เราจะชุบมือเปิบอย่างง่ายๆ มันเป็นไปไม่ได้

ในปัจจุบันนี้เราชุบมือเปิบ เพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะรื้อค้นขึ้นมา นี่ที่ว่าเกิดได้หนึ่งเดียว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดได้ยากมาก เพราะอะไร? เพราะกว่าจะสะสมมาอย่างนี้ ย้อนกลับมาอย่างนี้ ดูสิดูแม้แต่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กึ่งพุทธกาล หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านกว่าจะหามาได้ ค้นคว้าแล้วค้นคว้าอีกนะ เพราะในพระไตรปิฎกก็มีอยู่ แต่ทำเข้าไปแล้วมันไม่ได้อย่างที่คาดหมายอย่างที่คาดหวัง เพราะอะไร? เพราะมันเทียบเคียงได้ไง ถ้าคนที่มีธรรม คนที่มีศักยภาพในหัวใจ มันจะไม่เคลม ไม่อ้างอิงว่าสิ่งนี้เป็นธรรม มันต้องพิสูจน์ตรวจสอบ ถ้าตรวจสอบ เวลาจิตสงบขนาดไหน ปัญญาเกิดขนาดไหน ออกมาแล้วกิเลสมันก็ยังท่วมหัวอยู่ มันเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้ามันตรวจสอบได้ เห็นไหม ดูสิเวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้ามันหมด เห็นไหม มันหมด ค้นเท่าไรมันก็ไม่มีไง แต่มันไม่ต้องค้นหรอก มันแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เราปฏิเสธมันว่ามันไม่มีๆ อย่างนี้มันเป็นไปได้อย่างไร เวลาพลิกปฏิบัติไปมันจะมีสภาวะแบบนั้น แล้วใจดวงหนึ่งที่มีการปฏิบัติมาแล้วมีประสบการณ์ของมัน ประสบการณ์มันจะล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน ล้มลุกคลุกคลานนะ

ดูสิ เช่น เราเป็นพ่อแม่ของเด็ก ดูสิเด็กมันก็มีความคิดตามประสาของเด็ก แต่พ่อแม่ผ่านโลกมาแล้วจะรู้เลยว่าเด็กมันเจริญวัยขึ้นมาอย่างไร? มันจะมีประสบการณ์ของเขาอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน ใจดวงหนึ่งผ่านมาแล้ว มันจะเข้าใจอย่างนั้นล่ะ ถ้าเราไม่มีธรรมในหัวใจนะ ใจเราเหมือนเด็กๆ เลย เดินไปไหนล้มลุกคลุกคลานไปประสามัน คือใจไม่มีหลักเกณฑ์ ใจไม่มีหลักเกณฑ์มันจะไม่มีหลักของมัน มันจะเป็นธรรมชาติของมัน

เด็ก เห็นไหม มันเรียกร้องตลอดเวลา มันเรียกร้องจากพ่อแม่มันได้ตลอดเวลา มันไม่เข้าใจหรอกว่าอะไรก็ได้ที่มันจะเรียกร้องจากพ่อแม่ เพราะมันคิดว่าพ่อแม่ให้มันได้ทุกอย่างเลย นี่คือความเข้าใจของเด็กไง จิตที่ไม่มีหลักก็มีสภาวะแบบนั้น มันจะไม่เข้าใจสัจจะความจริงสิ่งใดๆ เลย

แต่ถ้ามันตั้งมั่นขึ้นมา เห็นไหม ทำสมาธิได้ มันก็พูดได้ขั้นของสมาธิได้ เพราะอะไร? เพราะสมาธิจิตมันจะสงบอย่างไร? สิ่งนี้สงบมันต้องมีเหตุมีผลสิ ดูสิไฟได้เชื้อเห็นไหม ใส่เชื้อเข้าไปในไฟๆ จะดับได้ไหม? นี่ก็เหมือนกัน การกินการอยู่เราตอบสนองขนาดไหน มันมีวันพอไหม? มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเพียงแต่ว่าเราต้องหักห้ามใจของเรา มันเกินกว่าเหตุแล้ว กินเข้าไปสะสมในร่างกายมันเป็นโทษกับร่างกายเรา แม้แต่อาหารที่ว่ามันมีรสชาติอร่อยขนาดไหน มันก็สะสมในร่างกายของเรา มันให้โทษกับร่างกายของเรา นี่แม้แต่กินเข้าไปเราต้องไปหักห้ามใจของเรา ถ้าไปหักห้ามใจของเรา นี่มันจะเริ่มไสเชื้อออกจากไฟ ถ้าเริ่มไสเชื้อออกจากไฟ มันก็จะเห็นคุณค่าของศีลธรรมไง

เพราะศีลบังคับตนนี้ไง ศีลให้ความปกติของใจ พอดำรงชีวิตของเราไปได้ เห็นไหม นี่บังคับเข้ามามันจะเห็นผล เห็นคุณค่าที่เราประพฤติปฏิบัติกัน แล้วเห็นผลของมัน เห็นคุณค่าของมัน เราถึงพยายามดัดแปลงตนไง แล้วทำไมพอใจอดอาหารล่ะ นี่เขาหาอยู่หากินกัน เขากินเพื่อความสุขของเขา ทำไมพระต้องมาปฏิเสธ ไม่ได้ปฏิเสธนะ สิ่งนี้ไม่ได้ปฏิเสธ แต่เห็นโทษของมัน สิ่งใดที่จุนเจือชีวิตได้ก็จุนเจือชีวิตไป สิ่งใดเป็นประโยชน์ได้ก็เอาแค่เป็นประโยชน์ของเขา

ประโยชน์ของเขา เพราะอะไร? เพราะว่าเกิดชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด สุดท้ายแล้วเราก็ต้องตายหมด มรดกตกทอดขนาดไหน ในโลกนี้ก็เป็นของลูกของหลานไป ถ้าเขาเป็นคนดีเขาก็สืบทอดของเราไป เขาไม่สืบทอดก็เป็นของไป แต่ถ้ามรดกธรรมของเราล่ะ มรดกธรรมของเรามันอยู่กับหัวใจของเรา เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน บอกพระอานนท์ “อานนท์เราไม่ได้เอาธรรมของใครไปด้วย ไม่มีใครเอาธรรมของใครไปเลย เอาแต่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป”

แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นกถาคต ใจอันเดียวกัน ความรู้เหมือนกัน แม้แต่พระสารีบุตร เวลาบอกไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เชื่อ ไม่เชื่อเพราะอะไร? ไม่เชื่อเพราะใจมันเหมือนกัน แต่ศรัทธาความเชื่อของเรานี่มันเริ่มต้น

เพราะเราเกิดมา เราพบพระพุทธศาสนา เราเกิดมาเราพบมีโอกาสของเรา เราพยายามประพฤติปฏิบัติตามของเราขึ้นไป เพราะเป็นมรดกในหัวใจของเรา มรดกของโลก การแสวงหานี้มันมีบุญมีกรรมนะ คนมีบุญมีกรรมนี่ กรรมดีขึ้นมามันจะประสบความสำเร็จของชีวิตของโลกไป แต่ถ้าคนเรามันมีกรรมขึ้นมามันก็เกิดมา เกิดมาเราก็มีศักยภาพของมนุษย์แล้ว มนุษย์มันเป็นอริยทรัพย์ ในเมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีศักยภาพแล้ว มันจะทุกข์จนเข็ญใจ มันพอมีใช้จ่ายไหมล่ะ มันก็มีใช้จ่าย มันก็พอดำรงชีวิตได้ เราจะไปทุกข์ยากอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นเครื่องตอบสนองของชีวิต แล้วชีวิตมีคุณค่าที่สุด ชีวิตนี่มีลมหายใจเข้าและมีลมหายใจออก มันมีคุณค่ามากที่สุด เพราะมันมีหัวใจ แต่เวลามันทุกข์ขึ้นมา มันเจ็บ มันบีบคั้นขึ้นมา เราก็จนตรอกขึ้นมา เราก็เหยียบย่ำตนเอง มีแต่ความทุกข์ๆ เอาแต่ความทุกข์ทับถมมันไป

แล้วถ้าความทุกข์มันเป็นอริยสัจล่ะ ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ดูสิเกิดแต่ชนบทประเทศ ประเทศอันสมควร มีโอกาสได้ออกประพฤติปฏิบัติ มีโอกาสได้บวชก่อน ถ้าเราเกิดขึ้นมาในสถานะที่ว่ามั่งมีศรีสุขน่ะ กว่าจะออกนี่แสนทุกข์แสนยากนะ การเกิด เกิดในสถานะไหน การเกิดขึ้นมาจากไหน แล้วการเกิดของเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว มีโอกาสแล้ว แล้วเราจะไปทุกข์ยากอะไรกับเรื่องแค่ปัจจัยอาศัยเท่านั้น

เหมือนกับเรามีรถอยู่คันหนึ่ง เราไปทุกข์ร้อนแต่เรื่องน้ำมันๆ น้ำมันนะมันใช่ มันเติมรถมา แต่ถ้าไม่มีรถน้ำมันไปเติมอะไร? นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีชีวิตเรา ไอ้อาหารก็เป็นแค่อาหารนั่นล่ะ แล้วเราไปทุกข์ยากกับมันทำไม ชีวิตมีคุณค่ากว่า รถมีคุณค่ากว่าน้ำมัน ถ้าไม่มีรถน้ำมันก็ไม่มีความหมาย ไม่มีชีวิตอาหารก็ไม่มีความหมาย ไม่มีชีวิตของเรา

แต่เราดำรงชีวิตนี้ดำรงไป แต่ถ้าชีวิตมีความหมายมากกว่า ชีวิตนี้มีคุณค่ามากกว่า มากกว่าถ้าเราเห็นคุณค่าของมัน เห็นคุณค่าของทุกข์ อย่างน้อยมันก็มีบารมีธรรมนะ ถ้าเราเห็นคุณค่าของทุกข์ เห็นคุณค่าของอริยสัจนี่ มันจะฝังไปในหัวใจ บารมีเกิดจากตรงนี้ เวลาทุกข์เวลายากย้อนกลับมาดูต้นเหตุ ต้นเหตุคือตัวใจมันขัดขวาง คือตัวใจมันดิ้นรนในหัวใจ ถ้าใจมันดิ้นรนอันนี้เป็นมรดกธรรม ถ้าไม่ปฏิบัติถึงที่สุดอันนี้ก็เป็นบารมีธรรม เหมือนจูฬปันถก ที่ว่าลูบผ้าขาวๆ น่ะเพราะอะไร? เพราะเขามีวาสนามา เขาสะสมบุญของเขามา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไม่ถึงที่สุดมันก็สะสมไป นี่เกิดมาเพื่อได้มรดก เพื่อเอาธรรมมาในหัวใจ มรดกโลกเกิดมาชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ต้องตายแน่นนอน ตายไปแล้วตายทุกข์ตายยาก ตายแล้วมันได้ประโยชน์ไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าตายโดยมีประโยชน์ไป สมบัติของเราอยู่ตรงนี้ เราจะเอาของเราไป ถ้าเอาของเราไปสิ่งนี้อาหารของใจ อาหารของกายคือคำข้าว ปัจจัยเครื่องอาศัย ก็แสวงหา ไม่ใช่ปฏิเสธ ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องอาหารเลย แต่อาหารมันมีโทษและมีคุณของมัน

ในการประพฤติปฏิบัติอาหารของใจ ใจถ้าเป็นสัมมา มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นมิจฉา เห็นไหม ดูสิที่เขาถือลัทธิต่างๆ เขาว่าของเขาถูกต้องๆ เขาก็ว่าของเขาไปนี่ถ้าอาหารที่ผิดอย่างไรมันก็เวียนในวัฏฏะ คือมันออกจากวัฏฏะไม่ได้ ถ้ามันถูกต้อง มันจะออกจากวัฏฏะได้ ถ้าความถูกต้องออกจากวัฏฏะ ถ้าอาหารของใจที่ถูกต้อง อาหารใจ มันก็เหมือนกับโลก โลกอาหารที่เป็นประโยชน์หรืออาหารที่เป็นโทษ ดูยาพิษกินเข้าไปแล้วก็ตายเลย

แต่อาหารของใจก็เหมือนกัน ถ้าผิดพลาดออกไปมันก็เวียนไปในโลกนี้ เวียนไปในโลกนี้ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันยิ่งทำให้เกิดตาย ในสถานะที่มันเป็นในสถานะของมันอีก อันนี้มันอยู่ที่อำนาจวาสนา อยู่ที่เราเกิดในสังคมใด เกิดมาพบครูบาอาจารย์ใด ครูบาอาจารย์พาเราไปทางไหน มีจุดยืนของเรา อาหารกาย อาหารใจ อย่าไปทุกข์ยากกับเรื่องความทุกข์ในโลกเกินไปนัก ทุกข์ยอมรับว่าทุกข์ เพราะทุกข์นี้เป็นอริยสัจ เพราะยอมรับหมายถึงว่า เกิดมาต้องผจญกับสภาพแบบนี้ แต่ก็ต้องอย่าไปกอด

เหมือนไฟ ถ้าเราไปหยิบทั้งมือนี่มันจะพอง มันจะพุพอง ถ้ามันเป็นไฟเราจะใช้ประโยชน์มัน เราใช้วิธีการไปจับมันโดยที่ไม่ให้เราเจ็บปวดเกินไปนัก ปัจจัยเครื่องอาศัยอย่างนี้ ทุกข์อย่างนี้ เราอย่าไปกอดมันจนมันเป็นความทุกข์ในหัวใจ เราต้องเห็นว่าเรามีมืออยู่ มือนี้จะจับไฟก็ได้ จะจับสิ่งที่มีคุณประโยชน์ก็ได้ ถ้าเราจับคุณประโยชน์

ดูสิเราก็ประพฤติปฏิบัติมา เราก็ดูใจของเรามา ทุกข์อย่างนี้เป็นการเสมอหน้ากัน ทุกคนมีปากมีท้องเหมือนกัน ต้องกินอาหารเหมือนกันหมดเลย อาหารหยาบ อาหารละเอียดต่างกันเท่านั้นเอง แต่สิ่งนี้มีทุกๆ คนจะมั่งมีศรีสุขก็ต้องเหมือนเรา จะทุกข์จนเข็ญใจก็ต้องเหมือนเรา แต่อาหารใครอาหารมัน อันนี้อย่าไปกอดจนเป็นความทุกข์จนเกินไปนัก แล้วมีคุณค่าของใจ สวดมนต์สวดพรแล้วภาวนาของมันขึ้นมาเห็นได้

นี่วันพระ วันเจ้าให้อุปัฏฐากใจของตัว อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทโธ ผู้รู้ ความรู้สึกเรานี่คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ถ้าเรากำหนดพุทโธขึ้นไปก็ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เราจะได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจเลยว่าเกิดไม่ทัน พุทโธอยู่ที่ใจ ความรู้สึกอยู่ที่ใจ เราจะเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราไป แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา ชีวิตมีคุณค่าอย่างนี้ ชีวิตมีคุณค่ามาก เอวัง