เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๗ มิ.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

สังคมมีชนชั้นหลากหลาย เราก็อยากให้สังคมเป็นสังคมที่ดี เราจะได้มีความสุข นี่เป็นความสุขนะ เป็นความสุขหมายถึงว่า สังคมของชาวพุทธ ชาวพุทธเห็นไหม มีการให้อภัย มีการสละทาน สังคมมันร่มเย็นเป็นสุขไง สังคมเป็นสุขนั้นเป็นเรื่องของศาสนา แต่เรื่องของสังคม เรื่องของมนุษย์ มนุษย์มีกิเลส แล้วบอกว่าอยากให้สังคมเป็นสังคมที่ดี อยากให้เราร่มเย็นเป็นสุข เราอยากให้คนอื่นร่มเย็นเป็นสุข ต้องดูที่ตัวเรานะ เพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเข้ามาที่ตัวเราก่อน ถ้าตัวเรานะ เราอยู่ในสังคมมันเป็นเรื่องของกรรม มีกรรมมีเวรนะ

ส่วนสังคมที่ดี บางช่วงนะเรา ตั้งแต่สมัยเด็กๆ สังคมจะมีความร่มเย็นเป็นสุข เราก็จะมีความสุขมาก แล้วเดี๋ยวนี้สังคมพัฒนาขึ้นมาน่ะ เราโตขึ้นมา เราเรียกร้องหาตอนเราเป็นเด็กๆ ที่มีความร่มเย็นสุข เพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นมันเป็นอดีตไปแล้วไง

ทุนนิยมมีการแข่งขันกัน การแข่งขันกัน ไปดูในชาติที่เจริญแล้ว เขาต้องเร่งรีบทุกอย่าง เขาบอกเวลามันเป็นต้นทุนอันหนึ่ง ถ้าเราบริหารเวลาดี การธุรกิจเรามันจะไปได้รอดไง เป็นการแข่งขันไปทั้งหมดเลย แต่ถ้าเราไปทำธุรกิจมันก็ต้องเป็นแบบนั้น หน้าที่การงานนะ หน้าที่การงานเราต้องทันโลก... (เทปขัดข้อง)

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เราแบกหินไว้คนละก้อน” เวลานอนเราก็ทับไว้บนหน้าอก เวลาไปไหนเราก็แบกไปด้วย ก้อนหินมันหนักเราเห็น แต่เวลาเป็นความคิดเป็นความทุกข์ เราไม่เห็น เราแบกความคิดความทุกข์อันนี้ไว้น่ะ แล้วเราก็ไม่เคยวางเลย ศาสนาสอนลงตรงนี้ไง สอนที่ตัวเราว่าสุขทุกข์มันอยู่ที่ใจของเรา ถ้าสุขทุกข์อยู่ที่ใจของนี่ เราต้องแก้ไขที่ใจของเรา ทาน ศีล ภาวนา ทานก็เพื่อตัวเรา

นี่ทางโลก สละทานเพื่อเราได้อย่างไร? เราเป็นคนสละออกไปจากมือ เราเป็นคนเสียสละของเรา เพราะวัตถุมันออกจากมือเราไป เราเป็นฝ่ายเสียนะ เราไม่ได้เป็นผู้ได้ แต่ในทางของธรรมมันเป็นผู้ได้ เพราะอะไร? เพราะการเสียสละ การเสียสละมันเป็นที่ว่าก้อนหินในหัวใจของเรา เราพยายามจะผลักมันออกไปได้อย่างไร? ถ้าความทิฏฐิมานะ ความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียว ความอาลัยอาวรณ์ ...มันกำเอาไว้ นี่แล้วเราจะผลักก้อนหินที่เราแบกเอาไว้บนบ่า เราทิ้งมันก็พ้นไปจากบ่าเห็นไหม แต่ความคิดความตระหนี่มันไม่เคยหลุดออกไปจากใจเราเลย

แต่ความสละทาน การสละทานเราได้บุญกุศลอยู่แล้ว สละของเราออกไป ผู้ที่ได้ของเราขึ้นไปนี่ เขาได้ประโยชน์จากเรา บุญกุศลเกิดตรงนั้น บุญกุศลที่ได้น่ะ จริงอยู่เขาจะไม่มีความจำเป็นขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่มีการเสียสละออกไป เราให้อภัย ผู้ให้มันได้ประโยชน์มากกว่าผู้รับ แต่มันเป็นนามธรรม นามธรรมเพราะอะไร? เพราะเราจะฝึกการสละก้อนหินที่ทับบนอก เวลาเรานอนอยู่แล้วก้อนหินมันทับหัวอกเรานี่ มันมีความทุกข์ร้อนมาก แล้วเราว่าเราจะพยายามผลักก้อนหินออกไปอย่างไร มันทุกข์มากๆ...(เทปขัดข้อง)

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางอุบายไว้ไง ให้เรารู้จักเสียสละตอนข้างนอก ทำไมสิ่งนี้เราเสียสละได้ ถ้าเราเสียสละข้าวของเงินทอง ถ้าเราพอใจ เราศรัทธาที่ไหน เราสละของเรา เราจะมีความชุ่มชื่นแจ่มใส แต่ถ้าของเราแม้แต่ตกหายเรายังต้องหาเลย เราต้องเก็บรักษาของเรา เราเก็บรักษาเพราะอะไร? เพราะเราไม่ได้เสียสละ การเสียสละเป็นการฝึกฝน ถ้าการฝึกฝน เริ่มจากสละทานอย่างนั้น ถ้าเป็นการปกติของใจล่ะ

บ่า! ถ้าเรามีบ่าเห็นไหม มันจะแบกของหนักได้ ใจถ้ามันมีเหลือบมีมุมของมัน ถ้ามันผิดปกติ มันก็มีบ่า มีสิ่งที่รอง ถ้าเป็นปกติของใจมีศีล ปาณาติปาตา เราไม่ทำลายตัวเอง ทำลายตัวเองนะทำร้ายตัวเองก่อน เราจะฆ่าสัตว์ เราจะทำร้ายคนอื่น เราต้องทำลายตัวเราเองก่อน เพราะอะไร? เพราะเรามีความคิด เราต้องมีความคิด เราต้องมีการกระทำ มโนกรรมเกิด

มโนกรรมมันเป็นทุกข์อย่างไร มโนกรรมนี้เป็นทุกข์มาก เพราะมโนกรรมมันเผาเราก่อนนะ มโนกรรมเผาเราก่อนไง แต่เวลาเราโกรธใคร เราโกรธ เราไม่พอใจใคร เราคิดถึงเขานี่ เราคิดแล้วเราว่าเราพอใจไง แต่ไม่รู้เลยนั้นน่ะมันเผาตัวเราก่อน มโนกรรม วจีกรรมๆ มีรู้จากการกระทำอยู่ แล้วมโนกรรมมันเป็นกรรมได้อย่างไง เราไม่ได้ทำมันจะเป็นกรรมได้อย่างไร? กรรมเพราะมันเผาตัวเราเองก่อนไง พอเราเผาตัวเราเองแล้วเราก็เบียดเบียนคนอื่น นี่เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนคนอื่นก่อน

ถึงบอกว่าสังคมเขาจะสุขเขาจะทุกข์ มันเป็นเรื่องของวิบาก สิ่งที่เกิดขึ้นมา ดูสิเวลาน้ำป่ามา เวลาน้ำท่วม เวลาภัยแล้ง เราบังคับสิ่งนั้นได้ไหม? มันเป็นธรรมชาติใช่ไหม? มันเป็นวิกฤติของธรรมชาติของเขา เขาเกิดเป็นวงจรของเขา แต่เราก็หาวิธีการป้องกัน สังคมก็เป็นอย่างนั้นน่ะ สังคมถ้าเราเกิดในสังคมที่ดีเห็นไหม ดูสิเวลาเราไปทำงาน เราไปในสังคมที่ดีจะมีความร่มเย็นเป็นสุข เวลาเราไปในสังคมที่มีความสุข เราจะมีความสุขไปกับเขา แต่ถ้าสังคมนั้นปั่นป่วนขึ้นมาล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นวิบากกรรม มันเป็นคราวกรรม นี่เกิดในประเทศอันสมควร เกิดจากพ่อแม่สมควรก่อน เกิดจากครรภ์ของพ่อของแม่ พ่อแม่เป็นพ่อแม่ที่ดี จะพาลูกไปทางที่ดี พ่อแม่ไม่ดีไปหมดเลยเหรอ พ่อแม่ที่มีความจำเป็น เพราะมีความจำเป็น เวลาร่มเย็นเป็นสุขเราก็มีความสุขด้วย พ่อแม่ทุกข์เราก็ทุกข์ไปด้วย มันเป็นสายบุญสายกรรม นี่พ่อแม่เป็นแดนเกิด เกิดอันนี้เป็นประเทศอันสมควรอันหนึ่ง

แล้วเกิดในประเทศอันสมควร ดูสิ แล้วเราย้ายถิ่น เราย้ายถิ่นไปเพื่ออะไรล่ะ ก็แสวงหาโอกาสของเขา เพื่อจะดำรงชีวิตของเขา เขาคิดของเขามันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเราขยันขันแข็งที่ไหนเราก็ทำของเราได้ ถ้าเราพอใจในประเทศของเรา เราพอใจในแดนเกิดของเรา แล้วทำพัฒนาของเราขึ้นไปน่ะ คนขยันขันแข็งอยู่ที่ไหนมันก็มีโอกาสทั้งนั้นล่ะ ขยันขันแข็งนะ เก็บเล็กผสมน้อย อย่าให้ใจรั่ว

ถ้าใจรั่วนะ นี่รายได้กับรายจ่ายมันต่างกัน รายได้ขนาดไหนรายจ่ายมันก็ไม่พอหรอก ถ้าใจมันไม่รั่วนะ นี่เก็บเล็กผสมน้อยมันพออยู่พอกินของมันไป มันไปของมันได้ คนเราทุกคนปากกัดตีนถีบ ทุกคนก็ต้องการแสวงหา ต้องการสถานที่อยู่ทั้งหมด นี่มันเป็นเรื่องของสังคม แต่สังคมนี่มันเป็นหน้าที่เป็นการงาน

แต่ถ้าเรื่องของใจนี่เราต้องมีศีลมีธรรมของเรา ถ้ามีศีลมีธรรมของเราน่ะ มีศีลแล้วทำอะไรไม่ได้เหรอ เขาบอกว่ามีศีลทำธุรกิจไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันผิดศีล...มันไม่ผิดศีลหรอก ถ้าเรารู้จักว่ามีราคาเท่าไหร่? มีมูลค่าเท่าไร? มันก็เป็นสภาวะแบบนั้น

แต่ถ้าสิ่งที่มันเป็นไป เพราะอะไร เพราะคนมีกิเลส มีแรงขับดันนี้มันสร้างก้อนหิน แรงขับดันอันนี้มันขับดันขนาดไหน เราก็คิดสิ่งใด เช่น โกรธ หลง เราไม่เข้าใจเลย หลง เห็นไหม ถ้าคนมีการศึกษามีปัญญาแล้วเราจะเข้าใจโลกต่างๆ เข้าใจเป็นอันหนึ่งนะ แต่เราเข้าใจไม่หมดหรอก โลกนี่ เห็นไหม ดูสิแม้แต่การศึกษาทางวิชาการต่างๆ มันก็มีแขนงของมันแตกออกไป แล้วหน้าที่การงานก็แตกออกไป แล้วคนที่เขาศึกษามา ตำแหน่งหน้าที่การงานก็จบมาแล้ว

ดูสิคนทำงานต่างกัน คนรับผิดชอบก็ต่างกันนะ คนมีจิตเมตตาก็ต่างกัน นี่มันเป็นวุฒิภาวะของใจ ถ้าใจมันมีคุณสมบัติของมัน มันจะเป็นประโยขน์ของมัน ถ้ามีบุญกุศลอย่างนี้มันมีความร่มเย็นเป็นสุขของใจก่อนไง นี่ก้อนหินมันจะเบาลง ก้อนหินมันจะเป็นปุยนุ่นก็ได้ ถ้าเป็นปุยนุ่น ดูสิดูอย่างเวลาฝนตก เวลาฝนตกมันจะชุ่มชื่นไปหมด พืชพันธุ์ธัญญาหารมันจะมีไปได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นปุยนุ่นคือเป็นคนที่ดีไง เป็นคนที่ดี เป็นหัวหน้า ดูพระโพธิสัตว์สิ พระโพธิสัตว์เป็นที่พึ่งพาของโลกเป็นผู้ชักนำเขาเห็นไหม เพื่ออะไร เพื่อความสุขของเขา ความสุขอันนี้เราเป็นผู้สละออกไป พระโพธิสัตว์ต้องเกิดอย่างนี้นะ นี่พระพุทธเจ้าแต่ละองค์ถึงเกิดได้แสนยาก เกิดได้แสนยากเพราะกว่าจะสร้างเป็นพระโพธิสัตว์ กว่าจะสร้างถึงชาติสุดท้าย กว่าจะมาตรัสรู้ธรรมไง มาตรัสรู้ธรรมเพราะอะไร? เพราะมันเป็นปัญญาอันละเอียด ทุกคนพลังงานมันส่งออกทั้งหมด แต่มรรคญาณมันจะย้อนกลับไปทำลายตัวอวิชชา ทำลายฐานของใจของเรา เห็นไหม คือว่าสังคมเป็นเรื่องของสังคม รักษาใจของเรา

นี่ชีวิตแบบอย่างนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นชีวิตแบบอย่าง “สังฆะ” ตั้งแต่พระสารีบุตรลงมาชำระกิเลสได้ แต่ชีวิต เห็นไหม ดูสิเวลาว่านิมนต์ไปสวดมนต์ไปอะไร แล้วไปโดดข้ามคลอง ทั้งๆ ที่ลูกศิษย์ก็เคารพ ลูกศิษย์ก็รัก แต่ความเคยใจไง ความเคยใจคือนิสัย ความเคยใจคือความเคยชิน ความเคยชินอันนี้มันไม่ใช่กิเลส แต่ตัณหาความทะยานอยากแรงขับนั้นเป็นกิเลส ที่นี้ชำระกิเลสแล้วความเคยชินมันก็เป็นธรรมชาติของมัน เห็นไหม พระอรหันต์ยังต่างกัน ต่างกันด้วยการแสดงออกต่างกัน

แต่สิ่งที่มันเป็นความบาดหมาง สิ่งที่ในหัวใจมันเป็นก้อนหินนี่เราทำลายได้ เราสามารถทำลายก้อนหินในหัวใจของเราออกไปจากหัวใจของเรานะ จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขนะ ถ้าอยู่ที่ไหนไม่มีสิ่งที่ทับในหัวใจของเรา เรานอนที่ไหนก็เป็นสุข ขับเคลื่อนก็เป็นสุข เป็นสุขเพราะอะไร? เพราะเราเริ่มจากทาน เริ่มจากคนที่เขาบอกว่าเราเป็นผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย? “ได้” ได้เพราะเราเข้าใจตัวเราเอง

ตำแหน่งหน้าที่การงาน ทรัพย์สมบัตินี้ใครเป็นเจ้าของมัน นาย ก. นาย ข. เป็นเจ้าของมัน นาย ก. นาย ข. ก็เป็นสมมุตินะ หัวใจของนาย ก. นาย ข. นั้นน่ะมันตัวจิต มันตัวสุขตัวทุกข์อยู่ตรงนั้น สมบัติอันนี้มีคุณค่าที่สุด ไม่ใช่แก้วแหวนเงินทองหรอก มรดกตกทอด เวลาเราจะสิ้นชีวิตไป เราต้องทำมรดกตกทอดไปให้คนอื่น

เวรกรรมมันทำมรดกตกทอดไปได้ เวรกรรมมันเป็นสายบุญสายกรรม มันยังไปถึงกันนะ แต่มรรคน่ะ มรรคญาณ เรื่องธรรม เรื่องของหัวใจ เรื่องความสุขความทุกข์ เรื่องสิ่งที่จะพ้นจากกิเลส สิ่งนี้มันจะมอบให้ใครได้ ถ้ามอบให้ได้นะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระล้างให้หมด มันชำระล้างให้ไม่ได้

ดูสิพ่อแม่รักลูกไหม พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นคนดีไหม พ่อแม่นี่ดูสิป้อนอาหารก็ได้ พ่อแม่ให้มีการศึกษาก็ได้ พ่อแม่ให้สมบัติลูกได้ทั้งหมดเลย แต่พ่อแม่ไม่สามารถให้มรรคผลกับลูกได้ มรรคผลนี้ต้องประพฤติปฏิบัติเองขึ้นมา แล้วนี่มันปฏิบัติมาจากไหนล่ะ ถ้ามันไม่มีใจนะ ไม่มีสัมมาสมาธิ ไม่มีสถานที่การงาน

ดูสิบอลโลกเขาแข่งกัน เขายังต้องหาสนามแข่งขันกัน แล้วเวลาธรรมกับกิเลสมันแข่งขันกัน ระหว่างกิเลสมันเกิดขึ้นมา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ธรรมมันเกิดขึ้นมาน่ะ มันแข่งกันที่ไหน? มันต้องแข่งขันที่ใจ มันชำระที่ใจ นี่ที่ใจ คุณค่าสมบัติที่ใจอันนี้มีคุณค่ามาก มีคุณค่า เวลาทุกข์ เวลาก้อนหินทับก็ไม่รู้จักมัน เวลาจะผลักก้อนหินออกจากใจก็ไม่รู้จักมัน แล้วใจมันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้จักมัน ไม่รู้ไปหมดเลย นี่อวิชชา ทั้งๆ ที่มีอยู่ ทั้งๆ ที่สมบัติอันนี้ก็มีอยู่ แต่เราไพล่ไปเอาสมบัติข้างนอก

จะบอกว่า ใช่ คนเราเกิดมาต้องมีหน้าที่การงาน คนเราเกิดมาต้องอยู่ในสังคมอันนั้นอันหนึ่ง มันเป็นสมบัติโลกกับสมบัติธรรม สมบัติโลกมันรักษากันไป สมบัติธรรมนี่เราเกิดมามีโอกาส ตายไปแล้วไปเกิดในสถานะใหม่ ไปเกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้ แล้วเกิดมาแล้วจะเชื่อศาสนาไม่เชื่อศาสนาก็ยังไม่รู้ แล้วในปัจจุบันนี้ทำไมไม่มีศรัทธา

เหมือนนักกีฬาที่โอกาสในการแข่งขัน เวลายังไม่จบน่ะ ยังมีเวลาดัดแปลงตนเองอยู่ทำไมไม่ทำ เวลาเขาเป่านกหวีดหมดเวลาแล้วน่ะ อยากจะแข่งขัน อยากจะเล่นกับเขา คือมันตายแล้วไง ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ต้องออกจากร่างนี้ไปแน่นนอน ออกไปแล้วก็ไปตามอำนาจกรรมเวรของเขา แต่ในปัจจุบันนี้ที่ยังมีเวลาแข่งขันอยู่ ถ้าเราดัดแปลงตนอยู่นี่ เพราะว่าเราแข่งขันจนเป็นผู้ชนะ เราเป็นผู้ที่ว่าไม่มีต้องเสียหาย ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เพราะเราชนะ ชนะกิเลสแล้ว ผลักก้อนหินออกจากใจแล้ว จะไม่มีการเกิดและการตาย

ไม่มีการเกิดและการตายแล้วจิตอยู่ได้อย่างไร จิตมันก็อยู่ในธรรมชาติของเขา มันถึงว่าชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุดต่อเมื่อกิเลสมันตาย พอกิเลสมันตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีการดับเป็นธรรมดา พระตถาคตก็ต้องตายในคืนนี้” ตายมันเป็นเรื่องของสรีระนะ เห็นไหม เวลาตรัสรู้โคนต้นโพธิ์ สิ้นกิเลสนิพพาน ถึงกับดับสิ้นกิเลส เวลาจะตายในคืนสุดท้ายถึงขันธนิพพาน เห็นไหม ขันธนิพพาน ขันธ์คือเครื่องดำรงขันธ์ สิ่งที่มันมีอยู่นี้จะสละมันไป

แล้วจิตล่ะ มันมีอยู่มันไม่ได้ตายไง ตั้งแต่ที่โคนต้นโพธิ์แล้ว การเกิดและการตายถึงว่าเป็นสมมุติไง เป็นสมมุติ มันเป็นจริงตามสมมุติ มันหลอกกัน ผู้ที่เห็นจริงแล้วมันผลักก้อนหินออกจากใจแล้ว มันจะไม่มีการเกิดและการตาย แล้วสมบัติอันนี้มันหาได้จากดวงใจของเรา เวลาชีวิตนี้ยังมีตั้งแต่เกิดมาจนตาย เวลาของเราที่จะประพฤติปฏิบัติ ถ้าตายแล้วเหมือนหมด เหมือนกีฬาเขาจบแล้วหมดโอกาส หมดโอกาสแล้วจะแข่งเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะมีสิทธิ์แข่งอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ คือจะเกิดอะไร? จะเกิดชั้นไหน? ภพใด? อันนั้นอยู่ที่เวรที่กรรมของเรานะ

นี่ถึงได้บอกว่าย้อนกลับมาที่เรา สมบัติคือใจของเรา ศาสนาสอนอย่างนี้ สังคมก็เป็นเรื่องของสังคม เรื่องของเราก็เป็นเรื่องของเรา ใจของเราก็เป็นใจของเรา ทุกข์เป็นของเรา สุขเป็นของเรา แล้วแต่ใครจะแสวงหาอย่างใด เอวัง