เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o มิ.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขารู้ภาษาสัตว์ สัตว์มันก็มีนิสัยดี นิสัยเกเร แม้แต่สัตว์มันก็มีนิสัย เห็นไหม เวลาเกิดเห็นไหม ดูสิพระโพธิ์สัตว์เกิดเป็นนก เกิดเป็นกวาง เกิดเป็นอะไร เกิดได้ เกิดเพื่ออะไร เพื่อสร้างสมบารมี เพราะเป็นหัวหน้าสัตว์ พระโพธิ์สัตว์เกิดเป็นหัวหน้าสัตว์นะ

ดูสิ ดูอย่างที่ว่าหลวงตาท่านเล่า พระองค์หนึ่งเป็นพระโพธิ์สัตว์ เวลานั่งสมาธินะ มันมีปลา ปลาช่อนก็เป็นหัวหน้าปลา อยู่ในกระชังของเขา มาเข้าในนิมิตไง บอกว่า “พรุ่งนี้นะ ให้ไปช่วยปล่อยที” เพราะปลาช่อนพระโพธิ์สัตว์ตัวนั้นจะต้องการสร้างบารมี เพราะถ้านำปลาช่อนพระโพธิ์สัตว์ตัวนี้ไปปล่อย ในหมู่ปลากระชังนั้นปลาทั้งหมดมันจะรอดชีวิตไง พระโพธิ์สัตว์นี่เวลาจะสร้างสมบารมีความเป็นนิมิตมันจะชัดเจน

ก็ลองดู เช้าบิณฑบาตไป เดินไป พอเดินไปนี่เพราะคุ้นเคยกัน เพราะบิณฑบาตทุกวันก็เดินเข้าไปหลังบ้านเขา ไปเห็นกระชังปลา เห็นไหม “ขอเถอะ ขอเถอะ” ขอปล่อยเลย เห็นไหม ปล่อยปลาทั้งหมดลงลำคลองไปเลย นั้นเป็นพระโพธิ์สัตว์ก็สร้างสมบุญญาธิการอย่างนั้น สัตว์เกิดๆ อย่างนั้น เวลาพระโพธิ์สัตว์สร้างสมบุญญาธิการ

แต่ดูสิ ดูชีวิตของสัตว์สิ เขาก็จะมีนิสัยดี นิสัยเกเร ตามประสาของสัตว์เขา แต่ถ้าสัตว์ที่ดี ใจที่ดี เกิดในสถานอะไรมันก็ดีหมด เห็นไหม นี่กรรมพาเกิด แล้วเกิดในปัจจุบันนี้เกิดเป็นเรา เรานี้กรรมพาเกิดนะ การกระทำกรรมพาเราเกิด กรรมคือการกระทำ เวลาเราเชื่อกรรม เห็นไหม เพราะกรรมดีกรรมชั่ว เราก็ทุกข์ร้อนในหัวใจ เวลาเรามีความบีบคั้นในใจ เราก็ว่านี่มันกรรมอะไร เราสร้างสมอะไรมา เห็นไหม ก็คือการกระทำของเรานี่ล่ะ

ถ้าการกระทำ เห็นไหม สรรพสิ่งทั้งหลาย นี่ดูธุดงควัตรสิ ทำไมพระนั้นอดนอนผ่อนอาหาร ทำไมต้องออกธุดงค์ ธุดงค์เพื่ออะไร ก็หาใจของเรานี่ สุดท้ายก็หาความรู้สึกของเรา หาในหัวใจเรา แต่ถ้าอยู่โดยปกติแล้วจะหามันมันหาไม่ได้ มันเหมือนไม่มีวิธีการไง วิธีการเห็นไหม วิธีการเพื่อประพฤติปฏิบัติ เพื่อเอาเป้าหมาย เป้าหมายก็ย้อนกลับมาที่เรา มันละเอียดอย่างนี้ไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาถึงทอดธุระไง จะไปสอนเขาได้อย่างไร

ดูสิเวลาเราชี้ เห็นไหม เวลาเราทางวิชาการกันน่ะ เราจะชี้กันเลยว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น เราอธิบายได้หมดเลย แต่นี้ย้อนกลับมา อธิบายขึ้นมาแล้วย้อนกลับมาที่ใจ มันเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ ดูสิ ดูว่าเด็กลูกเรา ทุกคนไม่รักลูกหรือ? รักทั้งนั้นน่ะ เวลาเราจะให้วิชาการ ให้ลูกมีวิชาการศึกษาเพื่อมีอาชีพไว้นี่ เราพูดไปเถอะ เวลาเขาไปโรงเรียนเขาไปศึกษา เขาได้อะไรมา? ได้ความรู้มา ความรู้มันอยู่ที่ไหนล่ะ ความรู้มันอยู่ในสมอง ความรู้มันอยู่ในตัวไง ความรู้มันไม่เป็นวัตถุไง

ถ้าเป็นวัตถุนี่เป็นความรู้นะ ความรู้คือสิ่งที่เป็นสุตมยปัญญา คือการศึกษาเล่าเรียน คือการวิเคราะห์วิจัยตามนักวิทยาศาสตร์ เห็นไหม จินตมยปัญญา แล้วกว่าจะเข้ามาถึงตัวเรานี่ การกระทำมันละเอียดขึ้นมาอย่างนั้น พระพุทธเจ้าถึงได้วางทาน วางศีล วางภาวนาไว้ เห็นไหม วางทานขึ้นมาให้คนเสียสละ ให้คนเจือจานกัน เพื่ออะไร? เพื่อให้สร้างสมบารมี

เพราะอะไร? เพราะเรื่องของเด็ก เด็กมันต้องมีการเสียสละกัน เพื่อให้จุนเจือกัน แต่เด็กมันก็แสดงไปตามประสามันนะ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นสิ่งที่ไร้เดียงสา ไร้เดียงสาเพราะเด็กมันยังไม่มีมายา มายามันน้อยไง คำว่าไม่มีมายาเลย ไร้เดียงสาไม่ใช่ความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสากับความบริสุทธิ์ต่างกัน ความบริสุทธิ์ไม่ใช่ไร้เดียงสา ความบริสุทธ์นี้คือบริสุทธิ์ที่สติสมบูรณ์มาก สติเป็นอัตโนมัติมันจะไร้เดียงสาได้อย่างไร

สติอัตโนมัติ ขณะที่มันเสวยอารมณ์จิตมันเสวยอารมณ์ พลังงานที่เริ่มขยับปั๊บมันจะเข้าไปในเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งใดมันก็ไปใช้พลังอย่างนั้น นี่จิตมันเสวยอารมณ์ เห็นไหม ออกมาขันธ์นี่ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ เราจะคิดเรื่องอะไร หน้าที่การงานเขา เราเรื่องอะไร เห็นไหม

วิชาชีพเราเรื่องอะไร ถ้าตรงกับสายวิชาชีพของเขา เขาจะถนัดมากเลย แต่ถ้าตรงกับอย่างอื่น ดูสิ ให้นักวิชาการไปทำนาได้ไหม ชาวนาเขาจะมีประสบการณ์การทำนาของเขามาก เขาจะชำนาญของเขามาก แต่ให้ทางวิชาการเขา เขาก็ไม่ได้ศึกษามาเขาก็ไม่รู้เรื่องของเขา เห็นไหม ความชำนาญการของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน ทางวิชาชีพเราต่างคนต่างก็ไม่เหมือนกัน

แล้วเวลามันเสวยอารมณ์มันร้อยแปดพันเก้า แล้วย้อนกลับไปล่ะ กลับไปตัวพลังงาน ตัวพลังงานคือตัวอยู่ที่ไหน ตัวอวิชชา สรรพสิ่งในโลกนี้คนจะมีปัญญามากน้อยแค่ไหน เกิดจากอวิชชา ฐีติจิต ตัวมันมีพลังงานมันอยู่ตรงนี้ มันขับเคลื่อนออกไปสภาวะแบบนั้น แล้วย้อนทวนกระแสกลับมาไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตรงนี้ไง สอนที่ว่า ทาน ศีล ภาวนา ถ้าเกิดภาวนา เราทำทานร้อยหนพันหน เราอยากได้บุญมาก ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดสมาธิหนหนึ่ง สมาธิที่เกิดดีแล้ว เห็นไหม เกิดปัญญา ถ้าปัญญาฆ่ากิเลสแล้วนี่ ดูสิร้อยหนพันหนกับถือศีล แล้วศีลมันอยู่ที่ไหนล่ะ ศีลก็อยู่ที่เรานี่

เวลาชาวพุทธเราบอก เราเป็นคนทุกข์จนเข็ญใจ เราจะไม่มีปัจจัยไปทำบุญกุศลเห็นไหม ทำทานร้อยหนพันหน ถือศีลบริสุทธิ์ เรามีศีลเราถือศีลขึ้นมา เห็นไหม เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน เราเอาร่างกายเรานี่ เวลาเราทำทานกัน เราหาอาหารมา หาวัตถุสิ่งของเพื่อที่จะทำทาน เพื่อให้ใจนี้มันได้เสียสละ มีเจตนาออกไป ใจนี้มันก็จะเข้มแข็งขึ้นมา

เวลาเราภาวนาขึ้นมานี่ เราเอาร่างกายของเราถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เวลาเรานั่งสมาธิ เห็นไหม เราเคารพ กิริยาของเราจะนอนก็ได้ เราจะนั่งจะสะดวกสบายขนาดไหน นี่กิริยาวัตถุ กิริยาของเรานี้สงบเสงี่ยมเจียมตนขึ้นมาเพื่ออะไร เพื่อถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรากำหนดพุทโธๆๆ นี่เราเป่งอุทานถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ พุทโธๆ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า

ดูสิ เวลาคนเราเห็นไหม จะนักเลง จะคนเข้มแข็งขนาดไหน เวลาตกทุกข์ได้ยากจะคิดถึงแม่ทุกคนเลย คิดถึงพ่อคิดถึงแม่นะ เวลาคนมีความสุขไม่ค่อยคิดถึงเท่าไรหรอก แต่มีความทุกข์จะคิดพ่อถึงแม่ นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะภาวนาเราพุทโธๆๆ เราคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เป็นครูเอกของโลก เป็นผู้ค้นคว้าสิ่งที่ว่าเรื่องของการกระทำในหัวใจนี่ การกระทำอย่างหยาบๆ การกระทำโดยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

กายกรรมนี่เวลาเราทำ เราเคลื่อนไหวไปเราไปทำอะไร เราไปเอากายนี้ไปทำ เห็นไหม วจีกรรมเวลาเราพูดออกไป มโนกรรมเวลาคิด เวลาความคิดนี่มันเป็นสภาวะของกรรมทั้งหมดเลย แล้วควบคุมมันเข้ามาจนเป็นสัมมาสมาธิ จิตมันตั้งมั่น เห็นไหม งานอันละเอียดอย่างนี้ ทำทานร้อยหนพันหนเพื่อฝึกฝนไง

ดูสินักกีฬา เห็นไหม นักกีฬาจะเป็นนักกีฬาขนาดไหน เช้าขึ้นมาเขาต้องออกกำลังกายของเขา เขาต้องวิ่งกี่กิโลเมตรๆ ก็เพื่ออะไรล่ะ เพื่อความเข้มแข็งของเขา เพื่อร่างกายของเขาจะแข็งแรง

นี่การทำทานก็เหมือนกัน ทำทานฝึกจิตใจขึ้นมาเพื่อให้มันมีการเสียสละ เวลาเสียสละวัตถุก็เสียสละได้ การเสียสละวัตถุนี่มันเป็นวัตถุจากภายนอก แต่หัวใจเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เป็นคนยึดติดมัน แล้วเวลาเสียสละออกไปนี่มันก็ฝึกใจในตัว เพราะใจมันไม่อยากทำ ใจมันหวงของมัน เราสละออกไปไง มันก็ฝึกใจ เหมือนกับนักกีฬาที่เขาออกวิ่ง ออกซ้อม ออกหากำลังกายแค่นั้นเอง เวลารักษาศีลเห็นไหม เวลารักษาศีล เวลาตกเย็นขึ้นมาเขาต้องซ้อมตามที่ว่าเล่นกีฬาอะไร เขาต้องซ้อมตามสภาวะแบบนั้น แล้วซ้อมเสร็จแล้วเขาต้องมีครู มีโค้ชคอยแนะเทคนิค

นี่ก็เหมือนกัน พระกรรมฐานติดครูติดอาจารย์ตรงนี้ เวลาจิตมันสงบขึ้นมา เวลามันไปเจอแง่มุมของมัน มันจะแก้ไขอย่างไรล่ะ นี่เวลาเราลงไปเล่นกีฬาแข่งขันกับคู่แข่งของเรา เราเล่นไปเราไม่รู้หรอกว่าความบกพร่องของเราเป็นอย่างไร เราจะวางเทคนิควางแก้เกมของเขาอย่างไร แต่ครูบาอาจารย์เขาเคยผ่านมาแล้ว เห็นไหม เหมือนกับคนที่ผ่านประสบการณ์ เขาเป็นแชมป์ของเขาขึ้นมานี่ เขาจะไปตั้งโรงยิมของเขาเพื่อจะฝึกลูกศิษย์ของเขา เป็นอาชีพเองของเขายังได้เลย

นี้ครูบาอาจารย์ของเราไม่มี...ไม่มีกำมือในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ ดูวิชาการต่างๆ เขาจะมีแม่ไม้ของเขา เขาจะไม่ปล่อยทั้งหมด เพราะอะไร? เพราะเขาต้องเก็บเอาไว้เป็นวิชาการของเขา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไม่มีกำมือในเรา เพียงแต่พวกเราประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ถึงต่างหาก พวกเราทำไม่ได้แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหาก บอกทั้งหมด บอกวิธีการทั้งหมด แล้วพยายามต้องรอเวลาการด้วยนะ

ดูสิ ดูเวลาพวกพราหมณ์ในสมัยพุทธกาลไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบางคนเหนื่อยมาให้พักก่อน ให้หัวใจมันควรแก่การงานก่อนถึงเทศนาว่าการ เวลาเทศน์ก็เทศน์เรื่องทานก่อน เรื่องศีลก่อน พอเสร็จแล้วจิตควรแก่การงานถึงเทศน์อริยสัจ เห็นไหม ทั้งที่ไม่มีกำมือด้วย แล้วยังมองว่าโอกาสของเรา ราพร้อมจะรับหรือไม่พร้อมจะรับ ถ้าเราพร้อมจะรับ คนนี้จะรับได้ขนาดไหน รับได้มากได้น้อย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดูวาระจิต

แล้วดูสิ ดูนิสัย เห็นไหม ชาวยุโรปเขากินอาหารอย่างหนึ่ง ชาวเอเชียเขากินอาหารอย่างหนึ่ง นี่เขาจะเอาสิ่งใดมาแลกกับน้ำพริกของเรา เราไม่เอาหรอก แต่เวลาเราคิดกันนะน้ำพริกเราไม่มีคุณค่า น้ำพริก...เราเคยชินกับอาหารอย่างนี้ เราจะพอใจอย่างนี้

จิตก็เหมือนกัน การกระทำมาของจิต ถ้ามันมีจริตนิสัยของจิตมันมาอย่างนั้น มันจะชำนาญของมันในสภาวะของมัน ดูสิเวลาเราไปเมืองนอกกัน สมัยก่อนการสื่อสารมันยังไม่สะดวกอย่างนี้ เราต้องเอาน้ำพริกไปด้วยนะ เราต้องเอาสิ่งที่เราคุ้นเคยติดตัวเราไปด้วย เราไปเมืองนอกเราต้องเอาไปด้วยเพราะอะไร? เพราะเราเคยชิน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าความเคยชินพอไปอยู่ในที่ไหนก็แล้วแต่ เรากินอาหารอย่างนั้นเราก็มีความสุขของเรา

จิตเหมือนกัน ถ้าเราวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ถ้ามันตรงกับจริตของเรา เหมือนกับเรากินอาหารของเรา มันก็อร่อย มันก็จูงใจ มันควรการแก่ธรรม ถ้าไปเจออาหารที่จืดชืด อาหารที่กินแล้วไม่ชอบเลย มันก็กินเป็นการประทังชีวิต ถ้าทางโลกนะ

แต่ถ้าเป็นทางธรรม มันไม่เข้ากับกิเลส กิเลสมันชอบอย่างนี้ แต่เอายาอย่างหนึ่ง เหมือนกับเราเป็นโรคๆ อย่างหนึ่ง แต่เวลาที่รักษาไปเอายาอีกแขนงหนึ่งมารักษา มันจะหายไหม? มันหายไปไม่ได้ มันแค่ประทังๆ ไว้ ประทังไว้เฉยๆ เพราะเป็นยาเหมือนกัน เราปฏิบัติก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น นี่ครูบาอาจารย์มีความสำคัญตตรงนี้

นี่ที่ว่าครูบาอาจารย์ที่ติดที่ติดครูบาติดอาจารย์ เห็นไหม เราก็ทำเหมือนกัน ทำไมครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติ เราก็นั่งสมาธิเราก็นั่งสมาธิ ใช้ปัญญาเราก็ใช้ปัญญา ทำไมเราไม่ได้ผล ทำไมไม่เป็นผลของเรา ก็โรคๆ หนึ่งใช้ยาอีกแขนงหนึ่ง แต่สภาวะแบบนี้เราหาครูบาอาจารย์กันเพื่อที่จะให้ชี้นำตรงนี้

เวลาหลวงตาท่านเทศน์ สิ่งใดที่เรากำหนดแล้วว่างๆ มีความสะดวกสบาย นั้นคือทางของเรา ทางของเราคือมันมีความสะดวกมีความสบาย มันเป็นไปได้ เวลาเราประพฤติปฏิบัติ นี่พิจารณากาย..พิจารณากาย.. ตั้งกายขึ้นมาแล้วก็เบื่อหน่าย แล้วมันเบื่อหน่ายแล้วมันไม่อยากกระทำ เหมือนอาหารมันจืดแล้วไม่มีรสชาติ ฝืนกินไปประทังชีวิต นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติไปเพื่อเป็นการปฏิบัติ ถ้าเราปฏิบัติไปมันต้องมีอุบายวิธีการ

การวิปัสสนามันต้องมีปัญญา มันต้องมีสติ มันต้องมีอุบายวิธีการ ไม่ใช่ว่ากำปั้นทุบดิน เขาทำก็ทำกันถูลู่ถูกังทำไปอย่างนั้นนะ กิเลสมันหัวเราะเยาะตรงนี้ เวลาไปปฏิบัติเห็นไหม ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณประเสริฐมาก เวลายา เห็นไหม ดูยาสิ ขนาดที่ว่าเขาฉีดยา เขาแพ้ยา เขายังตายได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำถูลู่ถูกังไปอย่างนั้น ธรรมมันก็ได้ประโยชน์ มันก็เหมือนรักษาโดยยา รักษาเหมือนกันแต่มันแพ้ยา นี้แพ้ยามันให้โทษถึงกับชีวิตนะ นี่การประพฤติปฏิบัติก็ประพฤติปฏิบัติไป แต่มันผิดทาง มันไม่เข้าทาง มัชฌิมาปฏิปทาได้อย่างไร มันจะเข้าทางได้อย่างไร มันจะมรรคญาณได้อย่างไร มันก็เป็นมิจฉา เป็นสมาธิก็มีสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ ทำไมสมาธิทำไมมิจฉาล่ะ? สมาธิทำไมเป็นความผิดพลาดล่ะ? ปัญญาเห็นไหม เป็นสัมมาทิฏฐิกับมิจฉาทิฏฐิ ความทิฏฐิ ความเห็นคือปัญญา ความเห็นผิด.. ความเห็นผิดมันไปไหนล่ะ

ดูสิเราขับรถไปบนถนนนะ เราจะไปเชียงใหม่แล้วเราหันหัวลงใต้ มันจะถึงเชียงใหม่ไหม มันจะถึงเชียงใหม่ถ้ามันรอบโลก หมุนไปรอบโลกเลยกลับมาชนเชียงใหม่ไง นี่มันยังเป็นไปได้นะถ้าเป็นโลก แต่ถ้าเป็นธรรมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นกิริยาไง กิริยาการกระทำอย่างนั้นมันส่งออก ส่งออกมันจะกลับมาหาตัวกิเลสไม่ได้เลย เวลาเราไปเรื่องของโลกมันยังรอบโลก มันยังกลับมาชนที่เดิมได้ เพราะมันรอบโลก แต่รอบกิเลสรอบได้อย่างไร เพราะกิเลสมันผลักไส กิเลสมันมีวิธีการของมัน กิเลสมันขับไสตลอดไป

การกระทำเราว่าเราทำดีๆ กิเลสตัวนี้มันอยู่หลังการกระทำของเรา สิ้นสุดกระบวนการของธรรมคือการกลับมาที่ตัวของเรา เวลาอ้อนวอน เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราอ้อนวอนเพื่อใคร? ก็เพื่อเรา พุทโธๆๆ ก็เพื่อเรา อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อุปัฏฐากใจเรา เวลาปัญญาเราเกิดก็เป็นปัญญาของเรา

เวลาพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์นะ วิหารธรรม อยากฟังธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก เวลาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “พระองค์นี้ใครทรมานมา ใครทรมานมา” การทรมานคือการแนะวิธีการ ดูสิเขาฝึกสัตว์กันเขายังทรมาน เขารักสัตว์นะ เขาฝึกสัตว์ของเขาเพราะเขาต้องการให้สัตว์ของเขาทำงานเป็น ให้สัตว์ของเขาอยู่ในโอวาทของเขา เขาฝึกสัตว์ด้วยความเกลียดเหรอ เขาฝึกสัตว์ด้วยความโกรธแค้นเหรอ เขารักของเขา เห็นไหม แต่การฝึกของเขา เขาก็ต้องฝึกเพื่อให้สัตว์นั้นทำตามความถนัดของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราเวลาแนะวิธีการนี่ แนะด้วยความโกรธเกลียดเหรอ เพราะอะไร? เพราะท่านเห็นโทษไง เหมือนเราเป็นนักวิชาการ แล้วสิ่งใดมันเป็นโทษ แล้วลูกศิษย์หรือว่าผู้ที่การกระทำมันทำออกนอกลู่ทางไป เพราะว่าจะเป็นทางลัด ไปหาสิ่งที่ว่ามันเป็นเป้าหมาย มันจะเป็นเป้าหมายได้อย่างไร มันจะออกไปนอกลู่นอกทาง แต่ก็อ้างกัน เห็นไหม กิเลสมันร้ายมันร้ายๆ อย่างนี้นะ กิเลสมันหลอกเรา เราไม่รู้ตัวเลย แล้วพอออกไปสังคมเราก็ว่าสังคมนั้นผิดพลาดๆ

หลวงปู่ฝั่นท่านบอกเลย “ย้อนกลับมาที่บุคคล ถ้าทุกคนมีศีล ๕ ทุกคนเป็นคนดีหมด สังคมดีมาก” แต่นี่เราโทษสังคมๆ ตลอดเลย ดูสิ ดูสังคมในปัจจุบันนี้ การศึกษาต้องแก้ที่เด็ก สังคมต้องแก้ที่เด็ก ทุกอย่างแก้ที่เด็ก ผู้ใหญ่จะเลวชั่งหัวมัน แต่ขอให้ไปแก้ที่เด็กไง ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนดี ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างขึ้นมา ผู้ใหญ่นี้เป็นตัวอย่าง ผู้ใหญ่เป็นคนดีขึ้นมาสังคมจะดีหรือไม่ดีล่ะ

ธรรมะสอนตรงนี้ไง ธรรมะสอนกลับมาที่เรา ธรรมะสอนกลับมาที่ใจ เพราะใจนี้มันพาเกิดพาตายนะ ทุกข์ก็ทุกข์ที่ใจ สังคมเป็นทุกข์กับเราไหม? สังคมคือสังคม กระแสสังคมเวลาเขาปลุกม็อบขึ้นมา มันถึงจะเป็นความทุกข์ของสังคม แต่ต่างคนต่างแยกออกไปเป็นสังคมไหม? มันก็เป็นบุคคลใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ย้อนกลับมาที่เรา แก้ที่เรา ธรรมอยู่ที่นี่ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา กรรมอยู่ที่การกระทำ มโนกรรม เห็นไหม มโนกรรมคือความคิดจากภายใน แล้วถ้ามันเป็นปัญญา เป็นมรรคญาณ มันก็ชำระกิเลสได้ ถ้าชำระกิเลสได้นะ จบสิ้นกระบวนการตรงนี้นะ

ดูสิน้ำบนใบบัว มันอยู่กับสังคมมันก็ไม่ทุกข์กับสังคม เห็นไหม เวลาพูดกันนี่พูดแต่ปากนะ แต่การกระทำมันไปเบียดเบียนสังคม มันไปทำลายสังคม แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันไม่เบียดเบียนสังคม มันจะเป็นความสุข นี่คือใจ นี่คือการกระทำ นี่คือว่ากรรมไง

เราถึงกลับมาว่าอะไรพาเกิด ที่เกิดมานี้คือใคร? แล้วมานั่งอยู่นี่เกิดมาแล้วมันจะทุกข์อย่างไร? แล้วตายแล้วจะไปไหน? วิปัสสนาไปแล้วจบสิ้นกระบวนการ วิมุตติสุขมีความสุขอย่างนี้ มีความรู้สึกอย่างนี้ตลอดไป ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เอวัง