เทศน์เช้า วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาเราไปวัด เวลาเข้าบ้านตาด เห็นไหม เขียนไว้เลย ที่นี่เป็นที่ปฏิบัติ อย่ามาเพ่นพ่าน อย่ามาเดินเล่น ที่ประพฤติปฏิบัติ ในวัดในวาเหมือนกัน เราไปวัดไปวาก็เพื่อประพฤติปฏิบัตินะ ถ้าประพฤติปฏิบัติ เราไปวัดเราต้องการวัดที่ดี ต้องการผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ในร่องในรอย
ผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในร่องในรอยนี่เป็นผู้ที่มีปัญญา ผู้มีปัญญามันจะเก็บเล็กผสมน้อย คำว่า มีปัญญา หลวงตาท่านชมหลวงปู่มั่นมากว่า เก็บเล็กผสมน้อย เล็ก ๆ น้อย ๆ นี่เรามองเห็นกันว่าเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ครูบาอาจารย์ว่า ของเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่มันทำให้คนเสียนิสัย ทำให้คนเป็นไปสภาวะแบบนั้น ถึงเวลาข้อวัตรปฏิบัติมันต้องมีสภาวะ มันต้องทำจริงไง ต้องมีความจริงก่อน
สิ่งที่เป็นจริงก่อน แต่พวกเราไปปฏิเสธตั้งแต่เริ่มต้นเลย เริ่มต้นว่าสิ่งใดก็ไม่ใช่เรา สิ่งใดก็ไม่ใช่เรา สิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่มันเป็นเรื่องของกิเลสทั้งหมด มันไปเรื่องเอาแต่ความสะดวกแต่เริ่มต้นไง แต่ถ้าเป็นเราไปก่อน เห็นไหม ต้องเป็นเราไปก่อน เหมือนกับเราไปตลาด เราซื้อสิ่งใดมาต้องมีภาชนะบรรจุภัณฑ์มาทั้งนั้นเลย ไม่มีว่าไปตลาดแล้วซื้อของมาเขาจะให้ใส่มือเรามาหรอก มันต้องมีภาชนะบรรจุภัณฑ์ของมันมา ไปซื้อผลไม้มันก็มีเปลือกผลไม้มา เราไม่ต้องการเปลือกผลไม้เลย เราต้องการเนื้อผลไม้ แต่เราซื้อสิ่งใดมันก็ต้องมีเปลือกผลไม้มาด้วย
นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำสิ่งใดเราต้องมีปัญญาของเราก่อน แต่ปัญญาอะไร? มันไม่ใช่ปัญญาอ่อนนะ เป็นสถานที่ปฏิบัติปัญญาอ่อน ปัญญาอ่อนคือไม่ต้องทำสิ่งใดเลย เราจะเอาแต่ความเป็นปัญญาอ่อนของเรา ว่าสิ่งนั้นก็ไม่เป็นไร มันเลยกลายเป็นปัญญาอ่อน ปัญญาอ่อนนะ แล้วยังให้กิเลสมันข่มขี่ตัวเองด้วย
กิเลสมันข่มขี่ตรงไหน? ตรงที่ว่าสิ่งใดเรามีปัญญาเราสามารถแก้ไขได้ บริหารจัดการได้ จัดการโดยกิเลสนะ กิเลสมันจัดการ จัดการเราจะสะดวกสบาย เราจะเอาแต่ความสะดวกของเรา เราจะเอาแต่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น กิเลสมันขี่หัวไปยังไม่รู้ตัวเลย
แล้วถ้าเป็นปัญญาก็เป็นปัญญาอ่อนไง มันไม่ใช่ปัญญาโดยภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เอาชนะตนเอง ฟังสิ! ปัญญาของโลกนะ มีแต่การเบียดเบียนกัน มีแต่การเอารัดเอาเปรียบกัน มีแต่การชิงดีชิงเด่นกัน เรื่องของโลกนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของโลก เรื่องของธุรกิจ เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกกับธรรมไม่เหมือนกัน
แต่ขณะที่เราจะประพฤติปฏิบัติ มันเป็นเรื่องของเราใช่ไหม? ถ้าเป็นเรื่องของเรา เราต้องเอาชนะตัวเอง เห็นไหม ต้องขยันหมั่นเพียร ของเล็กของน้อย ดูสิ ดูนะ หลวงปู่มั่นอายุ ๘๐ นะ แล้วท่านเป็นโรคด้วย ชราภาพแล้ว ฉันอาหารไม่ได้หรอก คนอายุ ๘๐ แล้วป่วยด้วย เห็นไหม แล้วเวลาหลวงตาท่านเห็นว่าฉันอาหารไม่ค่อยได้ ก็เลยนี่ในเพล เห็นไหม เอาน้ำมะพร้าวอ่อนเพื่อจะให้ท่านได้ดื่ม ดื่มแล้วมันจะทำให้ร่างกายมันพอมีกำลังขึ้นมาบ้างนะ
ฉันไม่ได้หรอก
ถามว่า ทำไมถึงไม่ได้?
ไม่ได้เพราะไอ้ตาดำ ๆ มันมองอยู่เต็มเลย
ที่ว่าท่านฉันไม่ได้ ไม่ใช่ฉันไม่ได้หรอก แต่ท่านฉันเข้าไปนี่ร่างกายท่านมันจะมีกำลังขึ้นมาบ้าง เพราะมันมีอะไรเข้าไปหล่อเลี้ยง แต่คนที่ต้องการคุณงามความดีน่ะ มันกิเลสไง นี่ปัญญาอ่อนมันอ่อนอย่างนี้ อ่อนมันจะจับผิดเขาไปหมดเลย แม้แต่ครูบาอาจารย์ท่านอายุ ๘๐ ป่วยขนาดนี้นะ ท่านยังใช้ชีวิตดำรงชีวิตเป็นแบบอย่าง เพื่อความสะดวกของท่านแม้แต่นิดเดียวท่านยังไม่ยอมเลย
เวลาท่านจะบิณฑบาตนะ อายุ ๘๐ ท่านไปบิณฑบาตไม่ไหว ทีแรกก็ไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม ดูสิสังคมโลกเขา เขาต้องทำมาหากินกัน เขาต้องมีอาชีพของเขา เขาถึงหล่อเลี้ยงชีวิตของเขาได้ พระเราก็เหมือนกัน เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง บิณฑบาตเป็นวัตร ธุดงควัตร เห็นไหม ต้องออกบิณฑบาตมา บิณฑบาตเพื่ออะไร? เพื่อตรวจสอบกันนะ ถ้าพระที่ปฏิบัติไม่ดี สังคมเขาจะนินทากัน ไปออกบิณฑบาตมีแต่คนเขาวิ่งหนี เขาไม่ใส่บาตรหรอก แต่ถ้าพระที่ไหนองค์ไหนประพฤติปฏิบัติเป็นที่ถูกใจเขา เป็นที่ถูกอยู่ในศีลในธรรม เขาจะเคารพศรัทธาของเขา เขาจะทะนุถนอมมากนะ
หลวงปู่ฝั้นท่านอยู่ที่พรรณานิคม เวลาหน้าหนาวท่านจะออกบิณฑบาตนะ บ้านบาตรทองอยู่หลังวัด เราก็ไปบิณฑบาตที่นั่น เขาจะเอาฟางนี่เรียงเป็นแถบไปเลย แต่เช้าขึ้นมาจะมีคนเอาฟางมาวางเป็นทางไปก่อน เพราะมันหน้าหนาว เวลาท่านเดินไป เขาจะจุดไฟไล่ไป นี่เขาเอาบุญขนาดนั้นนะ แม้แต่อากาศหนาวเขายังให้ความอบอุ่นกับพระที่ออกไปบิณฑบาตเลย แล้วถ้าปฏิบัติไม่ดีจะเป็นอย่างนั้นไหม?
นี่บิณฑบาตเป็นวัตร เพื่ออะไร? เพื่อให้สังคม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สังคมนี้มันจะเคลื่อนไปด้วยกัน หลวงปู่มั่นท่านออกบิณฑบาตเป็นวัตร เวลาไม่ไหวเข้าก็ขอครึ่งทาง ขอปากประตู สุดท้ายขอบิณฑบาตบนศาลา บิณฑบาตบนศาลาคือเอาบาตรวางบนศาลาก็ยังฉัน ฉันจนวันตายกับหมู่คณะไป นี่ความเล็กน้อย
แต่พวกเรานะเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมานี่ ภิกษุอะไรก็ได้ ภิกษุป่วยจะทำอย่างไรก็ได้ จะตีลังกา จะตีแปลงอย่างไรก็ได้ มันอ้างเห็นไหม นี่ปัญญาอ่อน อ่อนตรงไหน? อ่อนตรงที่ไม่เข้าใจธรรมวินัย แล้วถ้าเป็นปัญญาของกิเลส ปัญญาของกิเลสมันก็พาใช้อย่างนั้น เอารัดเอาเปรียบ เอารัดเอาเปรียบใคร? เอารัดเอาเปรียบตัวเราเองนี่
เราจะเป็นประโยชน์กับเรานะ เราต้องดัดแปลงตน การฝืนความรู้สึกของตัวเองคือการฝืนกิเลส เวลาเราทุกข์เรายากขึ้นมานี่เราว่าทุกข์ยาก ทำบุญมามหาศาลเลยทำไมไม่ได้บุญ คนอื่นเขาไม่ได้ทำบุญกุศลทำไมเขาร่ำรวย เขามีความสุขของเขา สิ่งที่เป็นเครื่องอาศัยนะ เราไปยืนกลางแดดจะมีความร่มเย็นเป็นไปไม่ได้หรอก เรื่องของโลกนะ มันเป็นไฟทั้งนั้นล่ะ อำนาจนี่เป็นไฟ เข้าไปอยู่ที่อำนาจแล้วต้องแข่งขันกัน ต้องแก่งแย่งกันตลอดไป
แต่การเลือกเอาชนะ...ชนะตัวเอง เห็นไหม หน้าที่การงาน เราก็ทำหน้าที่การงานของเราไป ถ้ามันมาโดยธรรม ตำแหน่งหน้าที่การงานมาโดยธรรมเยอะแยะไป เวลามาโดยธรรมนี่เราไม่ได้ทำสิ่งใดเลย แล้วเราก็องอาจกล้าหาญ ในสถานที่ไหนเราก็ยืนได้โดยไม่หวั่นเกรงสิ่งใดเลย เพราะเราไม่มีทุจริต
มือเราไม่มีแผล มือเราจะชุบไปในน้ำเป็นยาพิษสารพิษขนาดไหน มันจะเข้าไปในแผลเราไม่ได้หรอก แต่ถ้ามือเราแผลเต็มไปหมดเลย คือว่าเราแก่งแย่ง เราทำอะไรเขามานี่ มันก็ได้ตำแหน่งนั้นมาเหมือนกัน แต่มือมีแผลทั้งมือเลย นี่จะไม่กล้าทำสิ่งใด ไม่องอาจกล้าหาญเข้าสังคมเลย จะไม่องอาจกล้าหาญ เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมาโดยธรรม สิ่งที่มาโดยธรรมอันนั้นเป็นอำนาจวาสนา การทำบุญกุศลเห็นไหม การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันมีเด็ดขาด แต่มันจะมาตอนไหน? มาอย่างไร? นั้นมันมีปัจจัย มันมีตัวแปรมหาศาลเลย คนเราเกิดมามีตัวแปรนะ เช่น เรามีบุญกุศลมากเลย เรามีบุญกุศลถ้าเราอยู่คนเดียวเราจะมีกำลังของเรามาก เช่น เงินในกระเป๋าเรานี่มีมหาศาลเลย แต่ถ้าเราจะเลี้ยงสังคม เงินนี่พอไหม? เงินในกระเป๋าเรา พอจะเลี้ยงสังคมหมู่บ้านนี้ไหม? ไม่พอหรอก
นี่ก็เหมือนกัน ตัวเราเองมีอำนาจวาสนา มีบุญมากเลย แต่เราไปรับผิดชอบสังคม สภาวะกรรมนี่ คนนั้นเขามีทุกข์มียาก เราก็เจือจานไป เราก็เผื่อแผ่ไป เราเจือจานเผื่อแผ่ออกไป บุญนี้มันออกไป นี่ผู้นำ ผู้นำเป็นสภาวะแบบนั้น ปัญญามันจะเกิดมาอย่างนี้ไง ถ้าปัญญามันเกิดมาอย่างนี้ มันรู้จักเสียสละ ผู้ใดเสียสละ งานประพฤติปฏิบัติผู้ที่สละออกไปนั้นคือผู้ได้ ผู้ที่พยายามสะสม ไม่เคยได้เลย! ผู้ยิ่งสะสมยิ่งทุกข์ ยิ่งสะสมยิ่งไปเป็นภาระปัญหา
แต่อำนาจวาสนาบารมีมันอยู่ที่การสละออกไป ยิ่งสละออกไปคนเขายิ่งนับถือ ยิ่งพอใจ ดูครูบาอาจารย์ของเราสิ หามาเพื่อสังคม ตัวเองมีอะไร? ทุกข์ยากขนาดไหน ถ้าพูดทางโลกนะ ทุกข์ยากหมายถึง ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา เช่น แม้แต่เราหิวอาหารเราก็ทุกข์แล้ว เห็นไหม เราร้อนเราเหงื่อออก เราก็อยากอาบน้ำ อันนี้ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา คือเรื่องของขันธ์
คำว่า ทุกข์ คือว่ามันต้องขับเคลื่อนไปไง คนอายุ ๘๐ ๙๐ ยังต้องขับเคลื่อนไป ไอ้เรื่องนี้มันเหมือนกับว่ามองว่าเป็นทุกข์ แต่มันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของความเป็นจริงไง เหมือนรถน่ะ รถถ้ามันใหม่ เราใช้งานสะดวกสบายมากเลย ถ้ารถมันเก่า รถมันชำรุดทรุดโทรม เราจะขับไปนี่มันเป็นความทุกข์ร้อนของเราไหม ร่างกายก็เหมือนกัน ร่างกายคนอายุ ๗๐ ๘๐ นี่ร่างกายมันเริ่มทรุดโทรมแล้ว แต่ก็ยังขับเคลื่อนไปเพื่อสังคม เพื่อหมู่คณะ เพื่อใคร ๆ แต่หัวใจไม่มีสิ่งใดเลย เพราะอะไร? หัวใจมันอิ่ม มันพอ มันเต็ม นี่เสียสละไหม?
คำว่า เสียสละ เสียสละจากภายนอก เสียสละจากภายใน ถ้าภายในมันเสียสละไม่ได้ มันจะเสียสละจากภายนอกไม่ได้หรอก ถ้าภายในมันเสียสละได้ โลกนอกโลกใน ถ้ารู้แจ้งโลกในแล้วโลกนอกไม่สำคัญเลย แต่เพราะโลกในมันมืดบอด เวลามันเป็นปัญญามันก็เป็นปัญญายาพิษ กิเลสพาใช้ ปัญญาของเรา เราว่าเราบริหารจัดการได้หมดเลย แต่ข้างในมันกลวง มันว้าเหว่ มันทุกข์นะ มันทุกข์มาก เวลาออกมาสังคมโลก สบายดีไหม สบายไหม สบายดี ๆ ๆ ถามจริง ๆ สบายดีเหรอ? สบายไหม? หัวใจมันสบายไหม?
แต่ถ้ามันเป็นความอิ่มพอนะ ไม่ต้องพูดสิ่งใดเลย มันเป็นความพอใจจากภายในไง ถ้ามันเป็นปัญญาของการประพฤติปฏิบัติ ทำบุญได้บุญตรงนี้ไง ทำบุญที่ว่าเราไม่ต้องอาศัยใครเลย ในศาสนาพุทธของเรานี่ พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าคืออุปัฏฐากหัวใจของเรา เรามีสติสัมปชัญญะ เรามีศีลของเรา เราไม่เบียดเบียนใจของเรา เวลามันคิดสิ่งที่เป็นอกุศลในหัวใจนี่ผิดแล้วเห็นไหม มันคิดไม่ได้ มันเป็นอธิศีล อธิศีลคือว่ามันเป็นความปกติของใจ แล้วมันเกิดมีปัญญาด้วย มันเสวยอารมณ์
ดูสิ เราจะกินข้าวแต่ละคำ ถ้ามันเป็นพริก อาหารที่มันเป็นรสจัด เวลาเข้าปากรสชาติมันจะรุนแรงมาก อาหารที่มีคุณประโยชน์ มันจะเข้ามาในปากของเรา มันจะรสชาติเห็นไหม เวลาจิตเสวยอารมณ์ ความคิดเหมือนกินอาหารนะ ถ้าสติสัมปชัญญะมันพอมันไม่คิดหรอก มันคิดไม่ได้เลย เพราะเราไม่ให้อาหารมัน เราต้องตักอาหารเข้าปาก
นี่ก็เหมือนกัน ความคิดจะเกิดมันเกิดอยู่ เขาเรียกเสวยอารมณ์ จิตมันเสวยอารมณ์ จิตเสวยความคิด ความคิดไม่ใช่จิต ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ความคิด ความคิดอาศัยจิตเกิดขึ้น แล้วสิ่งที่อาศัยนี้เป็นธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งนั้นมันมีอยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แล้วเราเอาปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับไปชำระสิ่งนี้ในหัวใจของเรา
ปัญญาอย่างนี้ ตั้งแต่ดัดแปลงตน ตั้งแต่การเสียสละ ตั้งแต่การสะสม ตั้งแต่การพัฒนาของใจ ตั้งแต่การเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาข่มขี่ใจเรา ให้ใจเราอยู่ในอำนาจของใจเราก่อน ช้างสารตกมันเอามันอยู่ในอำนาจของเราก่อน แล้วใช้ปัญญาฝึกมัน ช้างเขายังมาฝึกมาใช้ประโยชน์ได้ หัวใจนี่ฝึกให้มันเป็นคุณงามความดีขึ้นมา แล้วเราจะไม่พูดเลยว่าเกิดมาแล้วทุกข์ยาก เกิดมาแล้วทำดีแล้วไม่ได้ดี
ไอ้ดีในนี่ ไอ้โลกในนี่ ไอ้โลกที่ความเห็นเป็นของเรานี่มันจะเข้าใจไปหมดเลย จะอยู่ในบ้าน อยู่โคนไม้ อยู่ที่ไหนนี่เป็นมหาเศรษฐีนะ คนที่เขาอยู่กองเงินกองทองเงินเท่าภูเขา เขานั่งอยู่บนกองเงินกองทองของเขา เขาร้อนมากนะ เพราะว่าถ้ามีเงินขนาดนี้ ปีนี้ถ้าไม่งอกเงยขึ้นมาอย่างนี้เป็นการขาดทุน เขาทุกข์มาก เขาเดือดร้อนมาก
แต่ของเรานี่นอนอยู่ไหน ๆ เพราะอะไร? เพราะชีวิตนี้คือการพลัดพรากเป็นที่สุด การเกิดมาแล้วสังคมในครอบครัวเรามีความสุขอันนี้ก็บุญกุศลแล้ว เพราะว่ากรรมพาเกิด จิตนี้ยังมีอยู่ ต้องเกิดเป็นสภาวะแบบนี้ เราก็เกิดมาแล้ว แล้วเราเกิดมาพบ เห็นไหม ดูคนป่วยเข้าโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่ดีรักษาคนป่วยหนักด้วยใช่ไหม?
นี่ก็เหมือนกัน การเกิดขึ้นมากิเลสพาเกิด กิเลสในหัวใจของเรานี่ แล้วถ้าใช้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่คือธรรมโอสถ ถ้ารักษาใจของเรา ชำระใจของเรา ถ้าเราหายป่วยขึ้นมาคือจิตมันไม่เกิดอีก จะมีความสุขขนาดไหน อันนี้เข้าโรงพยาบาลไปแล้วก็ออกจากโรงพยาบาล ก็จะเข้าโรงพยาบาลไม่เคยแก้ไขความป่วยนี้ให้หายจากเราเลย เราจะป่วยตลอดชีวิต จะป่วยตลอดไป ป่วยตลอดในวัฏฏะนี้ ป่วยจนไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจิตมันป่วย
แต่ถ้ามันรักษาหายแล้ว พอหายจากป่วย จิตใจมันหายจากป่วยแล้วมันจะไปไหนล่ะ มันไม่ป่วยอีกแล้ว มันไม่มีการเกิดไม่มีการตายอีกแล้ว แล้วคนนี้คนเกิดมาอย่างนี้ แล้วมีโอกาสอย่างนี้ แล้วได้การพัฒนาใจอย่างนี้ มีบุญไหม? มีบุญมหาศาลเลย ไอ้คนที่เขาเห่อเหิมกันไปนี่ ในหัวใจของเขาป่วยตลอดเวลานะ เขาไม่เข้าใจของเขาเลย แต่เราไปมองว่าเขามีความสุข ๆ ทำไมเขาไม่ได้ทำบุญ ทำไมเขาถึงมีบุญ เราทำบุญมหาศาลทำไมเราไม่ได้บุญ
บุญเกิดจากตรงนี้ บุญเกิดจากศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อที่จะเอาชนะตนเอง เห็นไหม ดัดแปลงมัน มันดิ้นรนขนาดไหนเอามันให้อยู่ในอำนาจของเรา ถ้ามันอยู่ในอำนาจของเรา แล้วเราพัฒนาของเรา ปัญญาจะเกิดอย่างนี้ แล้วปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมาจะมหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์ศาสนาพุทธนี้มาก เรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคมันเกิดได้อย่างไร? ไม่ใช่มรรคนี่ สัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพชอบ ความเป็นอยู่ชอบ ชอบอย่างเราชอบโดยกิเลสไง กิเลสมันพอใจก็ชอบ กิเลสมันไม่ต้องการมันก็ว่าไม่ชอบ มันไม่พอใจของมันแล้วมันก็ว่าไม่ชอบ
แต่ถ้ามันเป็นมรรค มันชอบไม่ชอบมันเป็นสัจจะความจริงของมัน ถ้าไม่เป็นสัจจะความจริงของมัน มันมรรคสามัคคีไม่ได้ มันรวมตัวไม่ได้ อย่างเช่นของที่ใหญ่จะใส่ภาชนะเล็กไม่ได้ใช่ไหม? ความคิดก็เหมือนกัน ในเมื่อความคิดมันดิ้นรนมันจะเข้าไปในใจได้ไหม? ไม่ได้หรอก แต่ถ้ามันเป็นสมาธิขึ้นมา มันเป็นความว่างทั้งหมด มันไม่มีสิ่งใดเลย มันจะเข้าไปในภาชนะนั้นได้ไหม? มันเข้าได้หมด นี่เป็นแค่สมาธินะ
สมาธิคือความว่าง คือความปล่อยวาง สถานพื้นที่ว่างหมด เราจะบรรจุสิ่งใดก็ได้ บรรจุอะไร? บรรจุในปัญญาของเรา ปัญญาของเรามันก็เข้าไปชำระในหัวใจของเรา นี่ไม่ใช่ปัญญาอ่อน ว่าเป็นปัญญา ๆ ตอนนี้ศึกษากันมาว่ารู้ธรรมะไปหมดเลยนี่ มันเป็นปัญญาอ่อน อ่อนตรงไหน? อ่อนตรงปฏิเสธ อ่อนตรงที่เอากิเลสข่มขี่ ภวาสวะคือภาวะของใจ มันไม่เข้าใจเรื่องใจของมันเลย
ถ้ามันเข้าใจเรื่องใจของมัน นี่จากสภาวะภายใน จากความเห็นโลกภายใน ถ้าโลกในมันว่าง โลกในมันเป็นความจริงนะ จากข้างนอกมันจะเคลื่อนไหวไปตามธรรมวินัยทั้งหมด สิ่งนี้ธรรมวินัยทั้งหมด การแสดงออกมันจะเป็นธรรมทั้งหมด อย่างเช่นครูบาอาจารย์แสดงออกมา ถ้าในหัวใจมันไม่มีเหลือบ ไม่มีสิ่งใดในหัวใจ ออกมามันจะเป็นความถูกต้อง แต่ถ้ามันเป็นเหลือบในหัวใจ ข้างนอกมันเป็นมารยาสาไถย! มันเป็นเรื่องของมายา เป็นเรื่องของปัญญาอ่อน เป็นเรื่องของกิเลสข่มขี่หัวใจ
เวลาเราศึกษาธรรมะ เอาธรรมะมาเป็นประโยชน์อะไร ครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ เหมือนหมาบ้า มันกัดไปทุกอย่างเลย กัดแม้แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กัดแม้แต่ธรรมวินัยนะ ไอ้นั่นก็ผิด ไอ้นั่นก็ไม่ถูก ๆ
เดินตามธรรมวินัยไปเถิด เราเดินไปตามถนนมันต้องถึงเป้าหมายแน่นอน แต่เดินไปบนถนนนี่ ถนนมันร้อนเพราะมันไม่มีที่ร่ม อยากจะแวะ อยากจะพักข้างทาง แล้วก็บอกฉันเดินมาถึงที่ ๆ ถึงที่ตรงไหน? ถึงที่ในความพอใจของตัวไง ปัญญาอ่อนไม่ใช่ปัญญาภาวนามยปัญญา
ถ้าปัญญาภาวนามยปัญญาเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ มันจะเป็นความชอบเข้ามา ความชอบคือเอาเราของเราไว้ในอำนาจของเรา ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเราเป็นที่พึ่งแห่งตนได้แล้วนะ จะเป็นที่พึ่งของหมู่คณะ เอวัง