เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๓ พ.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตอนเวลาออกปฏิบัติ เห็นไหม เวลาออกแสวงหานี่ แม้แต่วันพระเล็กพระใหญ่ มันเป็นเหตุจูงใจให้ปฏิบัติมากนะ ขนาดอยู่ในป่านะถ้าวันพระนี่จะไม่นอนเลย เนสัชชิกตลอด แล้วนี่มันเหตุการณ์ เห็นไหม ดูเหตุการณ์สิ เหตุการณ์นี่วันสำคัญมันจะเป็นแรงจูงใจมากนะ แรงจูงใจให้เราได้มุมานะไง

ถ้าเรามุมานะ เราทำความเพียรของเรา เห็นไหม เราชวนไง ชวนทะเลาะกับกิเลสของเรา กิเลสของเรานี่มันจะนอนจมนะ มันทำอะไรมันก็ผัดวันประกันพรุ่งไปปกติของมัน เวลาหลวงปู่มั่น เวลาพระท่านออกป่า เห็นไหม เวลาออกไป มาฆะฯ ให้ทำของมาฆะฯ เองนะ เพราะมันเป็นแรงจูงใจไง แรงจูงใจของครูบาอาจารย์ แรงจูงใจของผู้ที่ประสบความสำเร็จ มันจะจูงใจให้เราประพฤติปฏิบัติ

นี้เราประพฤติปฏิบัติ เราต้องชวน ชวนให้มีความแบบว่ากำลังใจ เห็นไหม เวลาเราเดินจงกรม ใครถ้าเคยทำความเพียรมามันจะรู้ เวลาอดนอนผ่อนอาหาร การอดอาหารนี่มันไม่หิวไม่กระหาย มันเป็นไปไม่ได้หรอก แล้วเราทำเพื่ออะไรล่ะ เราทำเราเห็นคุณประโยชน์ที่มากกว่านะ ถ้าเราไม่เห็นคุณประโยชน์ที่มากกว่า เราจะลงทุนลงแรงอย่างนี้ได้อย่างไร?

ถ้าเราลงทุนลงแรงไปเพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะเอาผลสำเร็จ ถ้าผลสำเร็จ เห็นไหม ความหงุดหงิดในใจมันก็ไม่มีนะ ความหงุดหงิดในใจ เอากิเลสอย่างหยาบๆ เลย กิเลสอย่างละเอียดนะ ความอาลัยอาวรณ์นะ ความพลัดพราก ความคิดในหัวใจ สิ่งนี้มันซ่อนอยู่ในใจ แต่คนไม่พูดถึงมัน เห็นไหม ว่าสิ่งนี้มันไม่มี

นี่มันมีอยู่ในใจ ถ้ามันมีอยู่ในใจนี่ เราจะต้องขุดคุ้ยมัน มันต้องค้นคว้าเข้าไป ถ้าค้นคว้าเข้าไปนะ เราพยายามปฏิบัติของเราเข้าไป มันมีแรงจูงใจอย่างนี้ไง อดอาหารทำไมมันจะไม่หิว? แล้วเวลาทางโลกเขา เขาต้องให้เด็กขาดอาหารก็ไม่ได้ การเป็นอยู่ต้องให้มีความอุดมสมบูรณ์ นั่นเป็นเรื่องของโลก เพราะเรื่องของโลกถ้าอุดมสมบูรณ์ คนเรานะสุขสบายแล้วมันจะลืมตัวเอง

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเราอดอาหาร เราไม่ใช่อดอาหารเพราะเราไม่มีจะกิน เราบิณฑบาตออกไป คนใส่บาตรมหาศาลเลย แต่เวลากินเข้าไปแล้ว เวลาฉันอาหารเข้าไปแล้ว เวลาปฏิบัติมันได้ผลไหม? ถ้ามันไม่ได้ผล เราจะใช้ชีวิตอย่างนี้ตลอดไปหรือ? ถ้าใช้ชีวิตอย่างนี้ตลอดไป เราจะเอาอะไรเป็นคติเตือนใจเรา?

เราถึงต้องอดนอนผ่อนอาหาร เวลามันหิว ดูสังเกตว่าอะไรมันหิวก่อน กระเพาะอาหารมันหิวได้ไหม? ลำไส้หิวได้ไหม? ร่างกายหิวได้ไหม? มันเป็นไปไม่ได้หรอก ความต้องการ เห็นไหม แล้วเวลารุ่งขึ้นเราไปบิณฑบาตมาฉัน พอฉันอิ่มเข้าไปกำลังมันก็เกิดมาเต็มที่ สิ่งนี้มันเป็นไปโดยธรรมบีบคั้น

โรคหิวเป็นโรคประจำตัวของเรา ถ้ามีโรคหิวโรคต่างๆ นี่ มันบีบคั้นอยู่แล้ว เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราถึงมีกายกับใจไง ร่างกายนี่มันต้องการอาหารตลอดไป เห็นไหม ยิ่งเด็กๆ ต้องการอาหารมากเพราะมันกำลังเจริญเติบโตของมัน ถ้ามันกำลังเจริญเติบโตของมัน เราก็ต้องดูแลเขาไป

แต่ขณะที่เราโตขึ้นมาแล้ว ร่างกายนี่เรากินอาหารเข้าไปเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้นนะ เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้เป็นไป แต่ถ้าเราปรนเปรอกิเลส สิ่งนี้สิ่งที่มีเป็นธรรมชาติของมัน อาหารเลี้ยงชีวิต มันก็ต้องอาหารไปเลี้ยงกิเลสไง จะต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น

ถ้าต้องเป็นอย่างนั้น มันก็ไปบำรุงปอบ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านว่า “ไปบำรุงปอบ” คือความปรารถนาของกิเลส ตัณหาความทะยานอยากมันต้องการแสวงหาของมัน เรากินอาหารนะ แต่กิเลสมันกินสิ่งที่กินตัณหา กินความที่ให้เราทะยานอยาก เห็นไหม เรากินอาหารไปเลี้ยงร่างกาย แต่กิเลสมันหลอกเรา มันกินอารมณ์ความรู้สึกของเรา มันกินอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้น เราถึงอดอาหารเพื่อผ่อนอาหารไป มันอยาก.. ไม่กิน! มันจะต้องการ.. ไม่กิน! ง่วงนอน.. พยายามลุกเดิน

ถ้าการฝืนตนเองคือการฝืนกิเลส จำคำนี้ไว้ให้ดี การฝืนเรานี่เป็นการฝืนกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา เราอยากจะภาวนาให้ได้ผล เราอยากประพฤติปฏิบัติให้ได้กำลังของเรา แต่เราไม่ยอมฝืนสิ่งใดเลย แล้วไม่ฝืนสิ่งใดนะ นี่โรคจิต โรคจิตคือเรื่องของความคิดนะ มันเครียด พอมันเครียดมันแสดงอาการของร่างกาย ดูสิ ทางโลก เห็นไหม เวลาหมอเขาบอกเรื่องเครียด ความเครียดทำให้เกิดโรคอีกมหาศาลเลย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อกิเลสมันอยู่กับหัวใจของเรา มันเป็นโรคความรู้สึก ถ้าเป็นโรคความรู้สึก เวลาอาหารหรือกินไป มันเป็นวัตถุ มันเป็นคำข้าวเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย แต่ตัวของมันนะ มันได้ประโยชน์ของมันแล้วเพราะมันหลอกเรา มันหลอกเรานะ หลอกว่าสิ่งนี้เป็นความจำเป็น สิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ คนเราก็ต้องมีอาหารไปเลี้ยงร่างกาย

เลี้ยง...เลี้ยงพอความเป็นไป เห็นไหม ดูสิ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกนะเขากินเพื่อกาม กินเพื่อเกียรติ กินเพื่อศักดิ์ศรี กินทุกอย่างเลย กิเลสมันกินอีกชั้นหนึ่ง เรากินอาหารแต่กิเลสมันกินตัณหาความทะยานอยาก สมุทัยมันซ้อนมาในหัวใจของเรา

แต่นักบวช เราเป็นผู้เห็นภัย เห็นไหม ขณะที่เราออกประพฤติปฏิบัติ เวลาเราจะกินอาหารของเรา เรากินเพื่อดำรงชีวิต เรากินของมัน แล้วถ้ามันอยาก...ไม่กิน ครูบาอาจารย์อยู่ในป่านะ คนที่อยู่ในป่า เวลามันทุกข์ เวลามันขาดแคลน มันต้องมีการแสวงหา เราอยู่ในที่อุดมสมบูรณ์ เราจะอุ่นใจมาก เช่น เงินทองเราอุดมสมบูรณ์ เราไม่ขาดแคลนสิ่งใดเลย ถ้าวันไหนนะเงินเราน้อยลงแล้วขาดแคลน มันมีความจำเป็นไปหมดเลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นความวิตกกังวลของความคิดไง

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าคนไม่อยู่ในป่าในเขา สิ่งนี้มันไม่มี สิ่งไม่มีมันก็ตามธรรมชาติของเขานะ คนป่าคนเขาคนดอยเขาจะมีอะไร เขาก็มีความดำรงชีวิตของเขา แล้วเราไปอยู่กับเขา สิ่งนี้มันก็ขาดแคลนอยู่แล้ว เห็นไหม ยังไปอดอาหารอีก ยังไปผ่อนอาหารอีก นี่บีบคั้นมันเข้าไปเพื่อจะทำลายกิเลส

เวลาวันพระวันโกน เราก็เอาสิ่งนี้เป็นแรงจูงใจ ยิ่งถ้าวันสำคัญทางศาสนา มันจะมีแรงจูงใจมาก เพราะเราจะไม่นอนกันเลย เรื่องประพฤติปฏิบัตินะ ไม่นอนหมายถึงว่าภาวนาตลอดรุ่งไง ถ้าภาวนาตลอดรุ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา การประพฤติปฏิบัติเวลาในวงกรรมฐานกัน เรื่องความเพียรนะเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องเด็กๆ เลยนะ แต่เรานี่เวลาจะภาวนากัน ทำไมมันทำกันไม่ได้เลย สิ่งที่ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไปวิตกวิจาร มันคิดไปก่อนไง

เวลาองค์ของฌาน องค์ของสมาธิไง วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตกวิจารนะ มันวิตกวิจารโดยธรรมชาติของมัน มันวิตกวิจารด้วยความกลัว เห็นไหม แต่เราไปพุทโธ ยกขึ้นนี่วิตกขึ้นมาให้นึกพุทโธให้ได้ วิจาร พุทโธ พุทโธนี่วิตกวิจาร

วิตกวิจารตรงนี้ไงที่ว่าอาหารใหม่ เราไม่ยอมให้มันกินอาหารของมันเดิมๆ ไม่ยอมให้กิเลสมันปรุงแต่งของมันตลอดไป เห็นไหม เราถึงต้องวิตกวิจารให้เป็นธรรมของเราก่อน กำหนดพุทโธเข้าไปก่อน ความคิดมันจะแตกต่างขนาดไหน เราก็เอาคำ “พุทโธ” เข้าให้มันกิน เพราะในธรรมอันนี้เป็นคำบริกรรม เราให้มันกินสภาวะแบบนี้ แล้วฝืนมันไปๆ ฝืนจนกว่าเราจะฝืนได้นะ

ดูเขาฝึกสัตว์ ดูสิ โคควายที่เขาฝึกแล้วที่เขาไว้ไถนา ถ้าเขาฝึกแล้วราคาจะต่างกับโคที่ไม่เคยฝึก เห็นไหม หัวใจคนที่ฝึกแล้ว ในโลกนี้ใจที่ฝึกแล้วประเสริฐที่สุด มนุษย์ที่ฝึกได้นี่ประเสริฐที่สุด มันจะประเสริฐขนาดนั้น ฉะนั้น การฝึกโคฝึกควาย เขาฝึกของเขา เขาทำของเขาได้ เขามีความชำนาญของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราฝึกใจกันมาก่อน แล้วเราจะมาฝึกใจของเรา เราต้องฝึกได้ แม้แต่สัตว์ แม้แต่ช้าง แม้แต่ม้า เขายังฝึกมาใช้งานได้ หัวใจของเราไม่ได้ฝึกมันก็เป็นเรื่องโลกๆ เรื่องโลกก็คือเป็นธรรมชาติของมัน ไม่ต้องฝึกมันก็เป็นอย่างนี้ โลกเขาเป็นอย่างนี้อยู่แล้วนะ เกิดมาต้องมีการศึกษา ต้องมีนี่ มันเป็นอย่างนี้ตลอดไป

แต่ธรรมนี้ต้องฝึกกันเอาเองนะ ถ้าไม่มีศรัทธาความเชื่อ ดูสิ ทางโลกเขาจะบอกเลยว่าคนที่ไปวัดนี่คนที่มีปัญหา มันตรงกันข้าม คนที่ไปวัดนี่เป็นคนที่รู้จักตัวเอง คนที่ไปวัดไปวา เห็นไหม เพราะอะไร เพราะการสละอย่างนี้มันเป็นการเพิ่มสะสมไปในหัวใจ

เวลาวิญญาณาหาร เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม มีวิญญาณาหาร เวลาพรหมเป็นผัสสาหาร เทวดา...วิญญาณาหาร วิญญาณก็เกิดจากการกระทำนี่ แล้วถ้าเกิดไม่มีอาหารอย่างนี้ ไม่มีวิญญาณาหารคือไม่มีเจตนา ไม่มีการสะสมทรัพย์สมบัติเอาไว้ในจิต มันจะไปเกิดวิญญาณาหารได้อย่างไร มันเกิดไม่ได้มันก็เกิดไปอบายไง เกิดในนรกอเวจีนั่นไง เพราะอะไร เพราะมันมีแต่ความแห้งแล้งไง มันไม่ได้ทำมา

เวลาคิดทางโลกคิดไปอย่างนั้นนะ คิดว่าผู้ที่ไปทำคุณงามความดีกลับเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่ตัวเองไม่ทำสิ่งใดเลย เห็นไหม เวลากิเลสมันเป็นอย่างนั้นนะ เวลาเห็นเขาทำความดีกัน มันก็ขัดอกขัดใจนะ

ครูบาอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่า ขนาดที่ว่ามีเพื่อนกันชวนเพื่อนไปวัด ขนาดชวนไปวัด ไอ้คนที่โดนชวนไปนะโกรธเขามาก โกรธเขาหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย เพราะอะไร เพราะกิเลสมันขัดใจไง ความขัดใจเขา เขาปรารถนาดีนะ เขาชวนเราไปทำคุณงามความดี ทำไมเราไปโกรธเขาขนาดนั้นไง เวลากิเลสมันคิด มันคิดได้ขนาดนั้นนะ เวลามันเป็นไป มันหลอกเราได้ขนาดนั้น แต่เราไม่รู้ตัวเลย เราคิดว่าเรายังเป็นผู้ที่ว่ามีคุณสมบัติ เป็นผู้วิเศษอยู่ เพราะอะไร เพราะเราไม่เสียหายไง สมบัติมันไม่ได้ไปสละทาน มันไม่ได้สละออกไป เห็นไหม แม้แต่เขาชวนมันยังตระหนี่ มันยังขัดใจขนาดนั้น แล้วเวลาไป ถ้าเวลาไปจะเป็นอย่างไร

แต่เขาก็กลับใจได้ ที่กลับใจเพราะอะไร เพราะเขาเป็นคนพูดให้ฟังเองว่า “เมื่อก่อนนะแค่คนชวนไปวัดยังโกรธเขาหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย” เพราะอะไร เพราะชวนไปเสียสละไง แต่เวลาจิตมันพลิกขึ้นไปแล้ว ตัวเองมาเอง แล้วตัวเองประพฤติปฏิบัติเอง แล้วย้อนกลับไปดูกิเลสว่ามันน่ารังเกียจ มันร้ายกาจขนาดไหน

ในใจของเราเอง ถ้ามันควบคุมอยู่มันเป็นความคิดแบบนั้น แต่ถ้าเวลาเราต่อต้านมัน เห็นไหม เราต้องใช้กำลังต่อต้านมัน ยับยั้งมัน แล้วพยายามเอาชนะมันให้ได้ แม้แต่ทำความสงบของใจมันก็เริ่มเป็นกำลังของใจขึ้นมา แล้วใช้ปัญญาเข้าไป นี่มันเป็นความคิดเฉยๆ มันเป็นกิเลสเฉยๆ อยู่ในใจเป็นนามธรรม แต่อำนาจมันมหาศาลเลย เหมือนคนอยู่ใกล้ศูนย์อำนาจ เห็นไหม เขาปกครองคนอื่นได้สบายเลย

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดนะ จิตนี่ ความรู้สึกของคน ความรู้สึกของผู้มีอำนาจมาจากไหน ก็มาจากความคิด มาจากจิตนี่ มาจากความรู้สึกอันนี้ แล้วกิเลสมันอยู่กับศูนย์อำนาจ มันอยู่กับฐีติจิต มันอยู่กับก้นบึ้งนะ อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา มันอยู่กับใจเลย ถ้ามันอยู่กับใจ มันอยู่ศูนย์กลางอำนาจเลย มันอยู่กับเราตลอดไป แล้วมันออกมา มันเป็นกิเลสตลอดไป แล้วการเข้าไปชำระมันจะง่ายตรงไหน

นี่ธรรมที่ประเสริฐๆ อย่างนี้ มันประเสริฐมาก มันเข้าไปชำระหัวใจของเราได้ มันเข้าไปชำระนะ เข้าไปชำระเพราะมันเป็นการจิตแก้จิตไง เพราะเวลาธรรมมันเกิดๆ จากจิต มันเกิดจากความรู้สึก มันเกิดจากหัวใจ มันไม่ใช่เกิดจากการท่องจำ แม้แต่การท่องจำ ความคิดนี่มันยังเป็นอาการของใจเลย ไม่ใช่ตัวใจ

แล้วเวลาปัญญามันเกิด ปัญญามันก็เกิดจากใจ แต่มันมีสมาธิมารองรับ มันก็เลยเป็นปัญญา เห็นไหม ถ้าสมาธิมันใช้งานมาก มันก็เป็นสัญญา สัญญาต้องกลับไปสมาธิก่อน กลับไปสมาธิคือทำให้ความสงบของใจขึ้นมาก่อน คือไม่ให้ศูนย์ที่อำนาจโดนกิเลสมันหลอก กิเลสมันเป่าหูไง

ถ้ามันเป็นความสงบได้ กิเลสมันเป่าหูไม่ได้ เพราะเป็นคนหูหนัก เป็นคนมีจุดยืน เห็นไหม จิตมันมีที่ยืนของมัน มันไม่เชื่อตามกิเลสไป ถ้ามีสมาธิ ถ้าขาดสมาธิมันฟุ้งซ่าน เห็นไหม มันฟุ้งซ่านรำคาญ ดูสิ เวลาเราฟุ้งซ่านรำคาญ เราวิตกวิจารไปหมดเลย ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น นั่นล่ะกิเลสมันเป่าหูแล้ว แล้วจิตมันก็ฟุ้งซ่านออกไปมันถึงไม่มีกำลัง เห็นไหม มันถึงเป็นสัญญา แต่ถ้ามันมีกำลังของมันขึ้นมา มันจะเป็นปัญญา ปัญญาอย่างนี้เกิดจากใจ

เวลาปัญญาอย่างหยาบ เห็นไหม ปัญญาอย่างละเอียดที่มันซึมซับไป เห็นไหม นี่ปัจจยาการนะ เวลาจิตกระทบขันธ์ ปัญญาอย่างหยาบๆ อย่างที่ออกมายึดกายยิ่งหยาบใหญ่เลย ขันธ์อย่างหยาบ ขันธ์อย่างกลาง ขันธ์อย่างละเอียด ขันธ์กับจิตมันเป็นความสัมผัสกันระหว่างขั้วบวกขั้วลบ มันเป็นปัญญาออกไป

แต่เวลามันเป็นพลังงานเฉยๆ ที่ไม่มีขั้วบวกขั้วลบเลย มันเป็นพลังงานของอวิชชา มันละเอียดเข้าไป แล้วปัญญาอันละเอียดอย่างนั้นนะ ที่ว่าปัญญาอย่างหยาบ ปัญญาอย่างกลาง ปัญญาอย่างละเอียด ปัญญาอย่างละเอียดสุด มันคิดไม่ได้ มันใช้ความคิดไม่ได้เลย ถ้าเป็นความคิดออกมา มันเป็นเครื่องมืออันอย่างหยาบ มันจะเข้าไปละเอียดในหัวใจนั้นไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลาเข้าชำระอย่างนั้น เวลาฝึกฝนนะ ฝึกฝนตั้งแต่เราโต้แย้ง เราขัดขวาง เราพยายามทำของเราเข้าไป ถึงที่สุดมันละเอียดเข้าไป ขนาดที่ว่าในขั้นของความหยาบก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ในขั้นของความละเอียดก็มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันยังมีละเอียดเป็นชั้นๆ เข้าไปอีกมหาศาลเลย

เวลาไปขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขตไง ขั้นของสมาธิ ขั้นของความสงบ มันยังมีขอบเขตของมัน คือจับต้องได้ คือคุยกันได้ว่าอัปปนาสมาธิเป็นอย่างนี้ สักแต่ว่ารู้เป็นอย่างนี้ๆๆ ตลอดไป นี่มันขั้นของมัน ทั้งๆ ที่เป็นอจินไตยนะ ความว่างเป็นอจินไตย ฌานนี่เป็นอจินไตย อจินไตยมันละเอียดขนาดนั้นนะ ยิ่งขั้นของปัญญานี่ไม่มีขอบเขตเลย ไม่มีขอบเขตเพราะว่าเพราะเป็นปัญญาของใคร จริตนิสัยของใคร กิเลสหยาบกลางอย่างใคร มันเป็นวิตกจริต กามจริต จริตของใคร ปัญญามันจะเข้าไป มันต้องเปิดกว้างเข้าไปให้ปัญญามันไล่เข้าไปจนถึงที่สุด ไปทำความสะอาดในหัวใจของเราขึ้นมา

นี่มันจะทำอย่างนี้ เกิดจากใครล่ะ เกิดจากวันสำคัญไง วันสำคัญ วันพระวันโกน วันพระเล็กพระใหญ่ เราก็ตั้งใจกันประพฤติปฏิบัติ โดยสัญชาตญาณปกติก็ปฏิบัติอยู่แล้วเพราะอยู่ในป่า วันหนึ่งออกไปบิณฑบาตกลับมาแล้ว เรากับต้นไม้เท่านั้นนะ อยู่กันนะ ๒๔ ชั่วโมง แล้วถ้าเราไม่เร่งความเพียรของเรา มันจะไปอยู่ในป่าอย่างนั้นได้อย่างไร?

อยู่ในป่า เห็นไหม มันตกกลางคืนขึ้นมาก็ค่ำมืด อยู่กับเราคนเดียว แล้วเวลายิ่งวันพระขึ้นมา ถวายครูบาอาจารย์ ถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยิ่งวันนักขัตฤกษ์วันต่างๆ อย่างนี้ยิ่งปฏิบัติเพราะอะไร เพราะมันเป็นการปลุกเร้าใจให้ใจมีกำลังไง วันปกติก็ปฏิบัติโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ยิ่งมีสิ่งนี้มาปลุกเร้าใจยิ่งทำเข้าไป

ถึงต้องเราต้องชวนทะเลาะกับกิเลสของเรา เราต้องชวนต่อต้านกับกิเลสของเรา เรื่องของผู้ที่ปฏิบัติคนอื่นอยู่ที่นิสัยของเขา บางคนชอบนั่ง บางคนชอบยืน บางคนชอบนอน บางคนชอบอย่างไร นั้นมันเรื่องของเขา ถ้าเราทำของเรา เราจะบอกว่าคนนั้นเดินจงกรมทั้งวันเลย เราจะเดินแบบเขา ถ้าร่างกายเราไม่ให้ มันก็เป็นอย่างนั้นไม่ได้ใช่ไหม?

อาหารของใคร ความชอบจริตนิสัยของใคร ปล่อยเขาไป หน้าที่ของเราคือดูกิเลสของเรา หน้าที่ของเราพยายามทำความเพียร ความเพียรนะ ตบะธรรมมันจะแผดเผากิเลสนะ ตบะธรรมมันจะเกิดขึ้นมาจากเรานะ หน้าที่ของเรา กิเลสของเรา เราจะต้องเป็นผู้รักษา เราจะต้องเป็นผู้ต่อต้าน เราจะต้องเป็นผู้กำจัดให้สะอาดออกไป

หน้าที่ของเรา ความเพียรของเรา ใช้ปัญญาของเรา หน้าที่ของเราคือตัวของเรา ความคิดของเรา กิเลสของเรา อย่าไปยุ่งกับคนอื่น เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของเขา เขาจะปฏิบัติอย่างไรเป็นเรื่องของเขา เราต้องย้อนกลับมาที่เราแล้วทำให้ได้ ทำให้มีกำลังใจขึ้นมา วันสำคัญทางศาสนา เราก็ต้องทำของเราขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของเรา เอวัง