เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
คติธรรมเรา เห็นไหม รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แล้วเราก็บอกว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตีมันเป็นของโบราณ มันเป็นความไม่ทันสมัย รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตีนะ ถ้าลูกเราเจริญเติบโตขึ้นมา ถ้าเราไม่อบรม ไม่สั่งสอน ลูกเราจะเป็นคนดีได้ไหม? ลูกเราจะเป็นคนดีขึ้นมาอยู่ที่พ่อแม่อบรมสั่งสอน แต่ตีด้วยอะไร?
คำว่า ตี เราคิดว่าตีด้วยไม้เรียวอย่างเดียวหรือ? ตีด้วยธรรม ตีด้วยปาก ตีด้วยการชี้นำต่างๆ การตีคือการบำรุงรักษา คำๆ เดียวเราต้องตีความให้กว้างไง ไม่ใช่คำว่าตีก็ต้องใช้ไม้เรียวอย่างเดียว นี่รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี รักวัวให้ผูก ถ้าวัวเราผูกไว้ เราบำรุงไว้ เวลาเขาฝึกวัวที่เขาเทียมเกวียนได้ เขาฝึกไว้แล้ววัวจะมีราคามาก วัวที่เขาซื้อมาเป็นวัวที่ยังไม่ได้ฝึกฝน วัวนั้นไม่ค่อยมีราคา
นี่ก็เหมือนกัน จริตนิสัยของเรา จริตนิสัยของเราถ้าเราไม่ดัดแปลงของเรา เรารักตัวเราเองไหม? ถ้าคนว่าใครๆ ก็รักตัวเองๆ แต่รักตัวเองด้วยกิเลส พอรักตัวเอง สำมะเรเทเมาไปก็รักตัวเองนะ แสวงหาความสุขทางโลก อย่างนั้นว่าเป็นการรักตัวเองไง แต่ในศีลธรรมต้องฝืนมันหมดเลย ที่มันอยากทำไม่ทำ ที่มันอยากเป็นไม่เป็น ไม่อยากเป็น เพราะมันอยากเป็นมันเป็นของหยาบๆ ดูสิอย่างเช่นเราไปเจอเหล็ก เราแบกมาเต็มน้ำหนักเราเลย พอเราไปเจอเงิน เราไปเจอทองคำ เราจะทำอย่างไร?
นี่ความเห็นของเรา ครั้งแรกที่เราเจอสิ่งใดเราว่าสิ่งนั้นเป็นความดีทั้งนั้นแหละ เป็นความดีของเรา แต่ถ้าลองได้ประพฤติปฏิบัติสิ พอเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป มรรคหยาบ มรรคละเอียด มรรคละเอียดสุด มันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ นะ แต่ความละเอียดอย่างนี้ใครจะเป็นคนเข้าไปสันทิฏฐิโกคือเข้าไปสัมผัสมัน เข้าไปรู้มัน เพราะอะไร? เพราะเราแบกของหยาบมา เหมือนครูบาอาจารย์ท่านว่า เหมือนหมาคาบบ้องข้าวหลาม มันขวางไปหมด ความคิดที่มีทิฏฐิมานะมันจะมีขวางไปหมดเลย ว่าเรานี่ถูกต้อง เรานี่ดีงาม เรานี่ใหญ่โตมาก
ใหญ่โตในความรู้สึกนะ แต่ข้างนอกมันจะแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน กิริยามารยาทก็อ่อนน้อมถ่อมตน แต่ในหัวใจมันมีความกีดขวางไปในหัวใจมัน ถ้าไม่มีความกีดขวางในหัวใจมันจะเป็นความคิดขึ้นมาได้อย่างไร? มันจะเป็นความยึดมั่นถือมั่นของใจได้อย่างไร? นี่รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ลูกเรา หลานเรา เราต้องการให้เป็นคนดีเราก็อบรมสั่งสอนเขา ต้องการให้เขาเป็นคนดี
แล้วรักตัวล่ะ? รักตัว เห็นไหม เราจะไปไหน? เราเกิดมาแล้วจะไปไหน? เรามีสิ่งใด โลกนี้เป็นเรื่องของปัจจัยเครื่องอาศัยเท่านั้นแหละ สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยเป็นผลของวัฏฏะ
ดูสิประเทศความเป็นไปของโลก ความเป็นไปของประเทศ แหล่งน้ำมันมันต้องเปลี่ยนแปลงสภาพของมันตลอดไป สิ่งที่แปรสภาพตลอดไปมันเป็นเรื่องของสิ่งที่มาดำรงชีวิต เป็นเรื่องอาศัยกันชั่วคราวเท่านั้นๆ แต่ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้คือความรู้สึก คือหัวใจนี้มีความสุขความทุกข์เกิดจากที่นี่ แล้วมันก็เป็นความหยาบความละเอียด
คนเราถ้าทุกข์จนเข็ญใจนะ ขอให้สมความปรารถนาก็มีความสุขแล้ว แต่คนที่มั่งมีศรีสุข สิ่งที่ตอบสนองเขาต้องประณีต ต้องสุดยอด ในโลกนี้มีเท่าไหร่เราแสวงหากันสภาวะแบบนั้น แล้วก็เป็นความสุขไหม? เพราะอะไร? เพราะมันเป็นอนิจจัง มันเป็นของอาศัยชั่วคราว มันสัมผัสแล้วก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่สิ่งที่สะสมลงไปที่หัวใจ หัวใจนี่รักวัวให้ผูก ผูกอย่างนี้ไง รักลูกให้ตี ตีนี่ไงคือสติปัญญา ตีหัวใจของตัวเองนี่ไง ควบคุมมัน สิ่งที่สัมผัส สิ่งที่อาศัย สิ่งใดก็อาศัยได้ ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน แม้แต่คนทุกข์คนเข็ญใจ ถึงที่สุดต้องมรณภาพ ต้องตายไป
นี่ก็เหมือนกัน คนจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนต้องทิ้งกะลา มะพร้าวที่เขาเอาไว้ดื่มน้ำ ต้องทิ้งจอกทองคำ จอกทองคำทุกอย่างที่เอาไว้ดื่มน้ำ ดื่มน้ำเหมือนกัน แต่เวลาตายไปแล้วต้องทิ้งภาระนี้ไว้กับโลก สิ่งที่จะติดหัวใจไปคือคุณงามความดีและบาปอกุศลที่สะสมมาที่ใจเท่านั้น สิ่งนี้มันจะเวียนไป แต่ถ้าเราปัญญาละเอียดเข้ามาล่ะ? คุณงามความดีอย่างนี้ดีเพื่ออะไร? ดีเพื่อโลก เราชอบดีของเรา ดีเพื่อติดค้างในโลกไง แต่ถ้าเราจะตีหัวใจของเรา สิ่งที่ดี สิ่งที่จำเป็น เราเคยเกิด เคยตายมาตลอดกี่รอบแล้ว?
การเกิดและการตายของเราเกิดขึ้นมา สิ่งที่เสียใจ สิ่งที่เราร้องไห้ เวลาทุกข์จนเข็ญใจเราร้องไห้ น้ำตาที่ไหลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเก็บไว้นี่นะน้ำทะเลสู้ไม่ได้ แต่ละภพ แต่ละชาติที่เราเกิดมา เราเกิดมานั่งบนกองกระดูกของตัวเอง เพราะอะไร? เพราะสิ่งที่เป็นดิน สิ่งนี้กระดูกมันแปรสภาพไปเป็นดิน การเกิดตายซับซ้อนๆ เราบอกว่าใบไม้ตกแล้วมันทับถมกันแล้วจะเป็นแผ่นดินขึ้นมา แล้วไม่ได้คิดเลยว่ามนุษย์ตายขึ้นมาก็ฝังไปในดิน มนุษย์ตายซ้ำตายซาก แล้วมันแปรสภาพกลายเป็นดินๆ ขึ้นมา เราก็นั่งบนกองดินกองกระดูกของเราเองนะ เรามานั่งอยู่บนเลือดเนื้อของเราเอง นั่งอยู่บนกองกระดูกของเราเองในปัจจุบันนี้
ถ้าเราคิดได้สภาวะแบบนี้มันสะเทือนใจไหม? ถ้ามันสะเทือนใจนี่จะตีหัวใจของตัวเองไหม? ถ้าเราจะตีหัวใจของตัวเอง นี่ผูกมัน ตีมัน เพื่อสั่งสอนมัน ถ้าเรารักตัวต้องรักตัวอย่างนี้ เห็นไหม
แต่โลกเขาบอกว่าทุกคนก็รักตัวเอง แล้วก็แสวงหาผลประโยชน์ขึ้นมา นี่ทำลายเขาทั้งหมดเลย ทำลายเพราะอะไร? เพราะเพื่อตัวเองๆ นี่คือรักตัวด้วยกิเลส เหมือนกับลูกเรา ถ้าเราไม่สั่งสอนมัน มันก็เป็นประสาของมัน เด็กต้องให้มันคิดเอง ให้มันทำเอง ให้มันทำเองมันก็มีแต่ความก้าวร้าวสิ ให้มันทำเองมันก็ทำลายเพื่อนมันเอง มันก็ไปตามเพื่อนหมด นี่ให้มันคิดของมันเอง
จะคิดของมันเองได้พ่อแม่ต้องควบคุม เด็กต้องให้มันแสดงออกตามสภาวะของมัน แต่เราก็ต้องมีความควบคุม เราต้องมีปัญญาสั่งสอนมัน สั่งสอนนะ แต่การสั่งสอนนี้สั่งสอนโดยปัจจุบันนี้นะ แต่ถ้ามีกรรม มีสิ่งใดๆ มา สิ่งนี้มันเป็นโดยสภาวะกรรม กรรมมันให้ผลตอบสนองไป เวลาทำความผิด ทำความผิดพลาดเราไม่อยากทำเลย เราไม่อยากให้มันมีผลกับเราเลย แต่เราทำไปแล้วนี่เหมือนกัน
การเกิดและการตายก็เหมือนกันมา ลูกดี ลูกส่งเสริมพ่อแม่ อภิชาตบุตรเลี้ยงดูพ่อแม่ สิ่งนี้ดูสิ ดูเวลาเราเลี้ยงดูพ่อแม่ พ่อแม่เรามีความสุขใจ ความสุขอยู่ที่ไหน? เราแสวงหาเงินหาทองกัน แสวงหาทุกอย่างกัน แต่ความสุขของเราคือลูกมีความสุข ลูกยิ้มแย้มแจ่มใส พ่อแม่มีความสุข พ่อแม่มีความพอใจกับลูก อันนี้ต่างหากคือบุญ บุญคือความสุขของใจ บุญไม่ใช่วัตถุสิ่งของ บุญไม่ใช่สิ่งที่แสวงหามาสภาวะแบบนั้นที่แสวงหาแล้วทุกข์ยากมา แล้วเอาความกดดันมาไว้ในบ้านของเรา ให้พวกเราทุกข์ร้อนกันไปในหัวใจ สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์
มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ประโยชน์ก็ประโยชน์เฉพาะร่างกาย ประโยชน์แต่หัวโขน ประโยชน์แต่โลกธรรม ๘ เห็นไหม นี่โลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทา เขาสรรเสริญว่าบ้านนี้มีความสุขๆ ถามจริงๆ เถอะว่ามีความสุขในหัวใจไหม? ความสุขในหัวใจนี่พอใจไหม? ถ้าพอใจ บุญอันนี้ต่างหากมันละเอียดเข้ามา นี่ที่ว่าปัญญามองไม่เห็น ถ้าอย่างนั้นก็นึกว่าสุขสิ นึกว่าไม่ได้หรอก ไฟมันเผาลนอยู่ ไฟไหม้บ้านอยู่ แล้วก็เอาไม้มาปิดว่าไฟไม่ไหม้เป็นไปได้ไหม? ไฟไหม้อยู่ เอาอะไรไปปิดมันยิ่งไหม้โชติช่วงขึ้นมาอีก เพราะอะไร? เพราะเป็นเชื้อของไฟ
นี่ก็เหมือนกัน นึกว่าสุขสิ อย่าไปนึกว่าทุกข์ ว่ามันเป็นเรื่องของใจๆ ก็นึกเอาสิ มันจะนึกมาจากไหนล่ะถ้าไม่ได้มีการกระทำ มันมีบุญกุศลเอาอะไรมานึก นึกไม่ออกหรอก แต่ถ้ามันเป็นบุญของมันนะ นึกความชั่วมันก็นึกไม่ได้ มันนึกไม่ออกหรอก เพราะอะไร? เพราะมันมีเหตุมีผลของมันไง
นี่ความลับไม่มีในโลกนะ มนุษย์คือใคร? คือเรา เราเป็นคนทำความดีความชั่ว ใครจะมาบอกว่าใครทำดีไม่ดีมันเรื่องของเขา แต่เรื่องของเรา เขาจะบอกว่าเราดีขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าไฟในหัวใจเราเร่าร้อนมันจะไปดีไหม? ถ้าเขาว่าเราชั่วๆ แต่ว่าในหัวใจเรามีแต่ความร่มเย็น มันจะชั่วไปตามความเขาไหม? นี่เรารักตัว แล้วเราพยายามรักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ถ้ารักลูกให้ตี นี่เวลาลูกเราเราก็ดูแลรักษา
นี่ก็เหมือนกัน ประเพณีวัฒนธรรมเราก็รักษา ประเพณีวัฒนธรรมก็เป็นเชือกผูกอันหนึ่ง เชือกผูกให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขนะ มีประเพณี มีวัฒนธรรม ประเพณีวัฒนธรรมถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา กฎหมายสู้ไม่ได้หรอก กฎหมายทำความผิดต้องตำรวจมาจับ ต้องสอบสวน ต้องฟ้องศาล ประเพณีทำผิดเขาบอกเลย ไอ้คนนี้ทำผิด ไอ้คนนี้ทำไม่ถูกต้อง ไอ้คนนี้ฝืนสังคม ประเพณีให้ผลทันที
นี่ประเพณี เห็นไหม ประเพณีเกิดมาจากไหน? เกิดมาจากการสะสม การซับซ้อนจากสังคม สังคมมาจากไหน? มาจากสิ่งที่ว่าในหัวใจที่ว่าคุณงามความดี ครูบาอาจารย์ที่มีหูมีตาจะพาทำสิ่งนี้เป็นความร่มเย็นเป็นสุข เป็นกล เป็นอุบาย เป็นวิธีการให้เด็กอยู่ในร่องในรอย เป็นกล เป็นอุบายวิธีการให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข มันเป็นกลวิธี มันเป็นอุบายเท่านั้นแหละ แล้วความจริงอยู่ไหน? ความจริงอยู่ไหน?
ความจริงอยู่ในใจของเรานี่ไง ความจริงอยู่ที่เราวิปัสสนาขึ้นมาไง ความจริงคือเราเข้าใจของเรา นี่เรารักเราเป็นชั้นๆ ขึ้นมา เห็นไหม เราเห็นคนเขาไปสนุกเฮฮากัน นั่นเป็นเรื่องของคนที่เขามีความคิดแบบสังคม แบบโลก แบบโลกอย่างนี้เราอย่าตื่นเต้นไปกับเขา เราน่าสลด น่าสงสารเขา นี่ประเพณีทำมาให้สังคมเป็นสุขอย่างนี้ เขาก็มีความสุขอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องของโลกมันก็ติดในโลก เหมือน! เหมือนเบ็ดเกี่ยวเหยื่อแล้วล่อปลา แล้วพวกนั้นเป็นปลากินเหยื่อทั้งหมดเลย แล้วเราเป็นพรานเบ็ด เราเป็นพรานเบ็ด เราเข้าใจเรื่องของเบ็ด เราเข้าใจเรื่องของเหยื่อ เราถึงสละเวลามาอยู่วัดอยู่วาเพื่ออะไร? เพื่อมาดัดแปลงตนไง
เขามีความสุขกันเราก็จะน้อยเนื้อต่ำใจ เขามีความสุขเนาะ ทำไมเราต้องมาอยู่วัดอยู่วา ต้องมาถือศีล ถือศีลเหมือนคนแห้งแล้ง คนไม่มีความสุข ไม่มีความสุขหรือ? คนอิ่มเต็มไม่มีความสุขหรือ? เรากินอาหารเต็มกระเพาะ เรามีความร่มเย็นเป็นสุข เรากินเสร็จแล้วเราก็นอนสบาย ไอ้พวกนั้นกระเพาะมันว่างนะ มันร้อนนะ มันต้องวิ่งดิ้นรนไปเพลิดเพลินมัน เพราะอะไร? เพราะใจมันว้าเหว่ ใจมันอยู่เองไม่ได้ มันก็ต้องเข้าไปหาสังคม ไปหาเพื่อน ไปหาอะไรเพื่อไปเติมเต็มในหัวใจ
แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเราเข้ามา อยู่ในวัดใจเราเต็มขึ้นมา เราจะมีความสุขไหม? ใจเราเต็ม ใจเราพอใจขึ้นมา นี่เป็นความสุขของเรา เขาบอกว่าเราแห้งแล้ง นั้นเขาว่า ที่ว่าเราดีแล้วเขาว่าชั่วไง นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่ในผู้มีศีลมีธรรม มีบุญในหัวใจ เขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นคนแห้งแล้ง เราต้องไปตามเขา
นี่ครูบาอาจารย์ท่านสอนไว้นะ คนโง่ล้านคนพันคนมันพูด อย่าไปเชื่อมัน แต่ถ้าคนมีปัญญาคนเดียว แม้แต่พูดนะ คนที่มีปัญญาพูดเราจะฟังไง แต่คนโง่ คนไม่เข้าใจ เห็นไหม สังคมเขามากกว่า ประชาธิปไตยที่ว่าเสียงข้างมาก เสียงข้างมากไปหมดเลย กี่สิบล้านคนเขาไปเล่นสงกรานต์กัน แล้วกี่คนเข้าวัด กี่คนประพฤติปฏิบัติ กี่คนนั่งสมาธิภาวนา
เสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยแต่เป็นเสียงของผู้ที่รักตน รักตนเอาความละเอียด เอาปัญญาอย่างละเอียดในหัวใจของตน เราถึงไม่ตื่นเต้นไปกับเขา เราจะมีจุดยืนของเรา เพราะเราเป็นชาวพุทธ เอวัง