เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๔ เม.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ดูนะดูสัตว์สังคม สัตว์มันเกิดขึ้นมา เห็นไหม มันแย่งกันเป็นหัวหน้าฝูง สัตว์เวลาอยู่ด้วยกันมันก็กัดกัน มันก็ทำลายกัน มันก็ต้องอยู่ด้วยกัน สัตว์มันเป็นสัตว์สังคม มนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคม อยู่คนเดียวก็ว้าเหว่ ต้องมีเพื่อนมีสังคมเพื่ออยู่รอดกัน แต่เวลาอยู่ด้วยกันมันก็ทำลายกัน มันทำลายกันด้วยอะไร? เพราะทุกคนมีกิเลสไง สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งนี้มันอยู่ในหัวใจ แล้วมันอยู่กับใจของเรา เวลาทำคุณงามความดีเราอยากให้คนรับรู้ว่าเราเป็นคนดีๆ ไง แล้วถ้าเราทำความดีเพื่อเราล่ะ?

ถ้าเราทำความดีเพื่อเรา เห็นไหม เราเป็นคนทำของเราเอง ดีหรือไม่ดีเรารู้ของเราเองนะ ความดีเราก็รู้ ความชั่วก็รู้ เพราะเราเป็นคนทำเอง สิ่งที่ทำเองนี่เราทำเพื่อเรา

ถ้าทำเพื่อสังคมนะเราตายเลย เพราะอะไร? เพราะสังคมเขาไม่ยอมรับเราหรอก ดูสิดูรัฐบุรุษ ผู้ที่เป็นที่สังคมยอมรับ ตายไปแล้วถึงยอมรับนะ อย่างศิลปิน เวลาเขามีชีวิตอยู่ของเขา เวลาเขาทำผลงานของเขาไม่มีใครดูแลเขานะ แม้แต่เวลาเขาทำแล้ว ผลงานของเขา เขาเลี้ยงชีพของเขาไม่ได้เลย เวลาเขาตายไปแล้ว ผลงานของเขาภาพเป็นพันๆ ล้าน แต่ตอนที่เขามีชีวิตอยู่เขาทุกข์ยากขนาดไหน?

นี่ก็เหมือนกัน ความยอมรับของสังคมมันเป็นไปได้ยาก เราถึงไม่ต้องให้ใครมายอมรับเราเลย ไม่ต้องไปหวัง ทำความดีเพื่อเรา ความดีของมนุษย์ ความดีของอริยภูมิมันเป็นความดีภายใน ไม่มีใครเห็นเราหรอก เว้นไว้แต่เทวดา อินทร์ พรหม เทวดาเขาก็เห็นของเขานะ ดูสิเวลาหลวงปู่มั่นไปอยู่ในป่า ในป่าในเขา เทวดาที่เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ นี่เวลาหลวงปู่มั่นเดินจงกรม เดินปกตินี่แหละ เขาก็ติเตียนไง “พระภิกษุอะไรไม่มีความสำรวมระวังเลย เดินอย่างกับม้าแข่ง”

นี่ท่านรู้วาระจิตนะ รู้วาระจิตว่าเขาคิดติเตียนไง เขาหาว่าเราเดินจงกรม เดินเสียงดัง เดินแบบม้าแข่ง ก็ทำเดินสำรวมระวัง

“ภิกษุอะไรเดินอย่างกับคนเป็นไข้”

นี่เดินโดยปกติก็ว่าเดินแบบม้าแข่ง เวลาเดินโดยสำรวมระวัง เพื่อจะไม่ให้เขาติเตียน ไม่ให้เป็นบาปเป็นกรรมของเขานะ เวลาเขาติเขาเตียนเป็นบาปเป็นกรรมของเขา ด้วยเห็นใจของเขา เพื่อถนอมน้ำใจของเขา ก็ทำให้เดินสำรวมระวัง เห็นไหม

“ภิกษุอะไรเดินเหมือนกับคนเป็นไข้ เหมือนกับคนไม่มีกำลัง”

นี่เวลามันพาล มันพาลเป็นอย่างนั้นนะ ทั้งๆ ที่รู้อยู่มันก็พาล แต่ถ้ามันเป็นคุณงามความดีของเขาล่ะ? เป็นสัมมาทิฏฐิเขาจะช่วยเหลือปกป้องนะ คนดีผีคุ้ม ความดีในเราดีเถิด เราดีความในของเรา ถ้าภายในของเราดีจะเป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเราตรงไหน? ตรงที่ว่าเรารู้ของเราเองไง

นี่เวลาผลงานจากข้างนอกต้องมีการยอมรับกัน ต้องมีการการันตีกัน ต้องมีสังคมยอมรับมันถึงจะเป็นผลงานขึ้นมา ผลงานอย่างนั้นมันช่วยชีวิตเราได้ไหม? เวลาเราตายไป ผลงานของโลก ดูสิดูปัจจัยเครื่องอาศัย ใครจะสร้างสิ่งที่เป็นคุณค่าของโลก สิ่งมหัศจรรย์ของโลกขนาดไหน มันก็ตกอยู่ในโลกนี้ ตกอยู่ในโลกนี้

เราไปวัดไปวา โบสถ์ อาราม วัดต่างๆ อันไหนมันไปสวรรค์ มันมีผลของมันล่ะ? สิ่งที่เราไปสร้างไว้ในวัดในวาต่างๆ ใครเป็นคนสร้าง? มนุษย์เป็นคนสร้าง แล้วมนุษย์ใครเป็นคนริเริ่ม ความคิดเจตนาเป็นคนริเริ่มใช่ไหม? ไอ้ความคิดเจตนาริเริ่มอยู่ในหัวใจ สิ่งนี้มันเป็นเจตนา มันซับมาที่ใจ แต่คนที่ริเริ่มแล้วเอาสิ่งนี้ไปหาผลประโยชน์ข้างนอก อย่างนั้นเขาก็ริเริ่มเหมือนกัน แต่เรารู้ได้อย่างไรล่ะ?

เราก็รู้ไม่ได้ เรารู้ไม่ได้ แต่เขารู้ไง เพราะเขาเป็นคนคิด เขาเป็นคนทำ แต่เขามีความรู้สึกของเขาไหม? เขามีความละอายต่อบาปไหม? เขามีความเกรงกลัวต่อบาปในหัวใจของเขาไหม? ถ้าเขาไม่มีความเกรงกลัวในหัวใจ อย่างนี้มันเป็นความดีในไหม? มันไม่เป็นความดีหรอก ถ้าความดี ความดีนอกมันเป็นความดีของใคร? ความดีของเราเราทำเพื่อเรา เราทำของเรา เราไม่ต้องไปตื่นเต้นกับใคร ใครจะเห็นดีเห็นงามกับเรานี้เป็นเรื่องข้างนอกนะ เขาจะติฉินนินทาขนาดไหนมันเป็นเรื่องของลม

ดูสิลมพัดไป ลมเพ ลมพัด นี่โลกธรรม ๘ เสียงติฉินนินทา เวลาพัดมา ถ้าคนรับไม่ได้นะเจ็บปวดมาก แต่เวลาคำชื่นชมของเขา นี่ชื่นชมมันได้ไม่กี่อึดใจมันก็หายไป แต่ความติฉินนินทา จะเจ็บปวดในหัวใจ ซับซ้อนไปนะ จนเป็นการผูกโกรธผูกอาฆาตกันไป นี้เป็นเรื่องของโลกนะ วัฏฏะเป็นอย่างนี้ แล้วมันหมุนเวียนมา มันถึงมีการบาดหมางกัน มีสัมพันธ์ มีความเห็นใจ มีความดูดดื่มต่อกัน สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของความผูกพันกันมา

สิ่งที่ผูกพัน นี่ผลของวัฏฏะมันเกิดมันเกิดอย่างนี้ ถ้าเป็นผลของวัฏฏะนะ แล้วถ้าผลของวัฏฏะเราจะต้องบังคับให้เป็นอย่างนั้นตลอดไปหรือ? ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ไม่ตรัสรู้สิ่งนี้มีอยู่แล้วไง นรก สวรรค์ ภพชาติต่างๆ มันมีโดยธรรมชาติของมัน สัตว์มันเกิดมันตายโดยธรรมชาติของมัน มันเกิดมันตายขึ้นมา มันสร้างสมคุณงามความดีขนาดไหน มันก็สะสมของมันไป

สิ่งนี้มันเป็นผลไง ผลของกรรม กรรมดี กรรมชั่ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ตกผลึกในหัวใจ ต้องไปเกิดในสภาวะแบบนั้น ดูสิดูพระโพธิสัตว์ก็ต้องเกิดสภาวะแบบนั้น สภาวะของสัตว์ มนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ แล้วเราจะมั่นใจได้ขนาดไหนว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ ชาติหน้าเราต้องเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดาตลอดไป

มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นขณะที่ว่าเราออก นี่เวลาจิตออกจากร่างมันเสวยอารมณ์ไปก่อน เหมือนเช่นเราออกจากบ้านมา เราแต่งชุดอะไรออกมา ถ้าวันนี้เราแต่งชุดทำงานไป เราก็ไปที่ทำงานของเรา วันนี้เราแต่งชุดลำลองมา วันนี้เราแต่งชุดอยู่ประจำ นี่ชุดอะไรก็เป็นสภาวะแบบนั้น แต่เรามนุษย์เป็นคนเป็นคนใช่ไหม? แต่สถานะที่เราออกไปเราไปเพื่องานอะไร? สังคมอะไร? เราแต่งชุดลักษณะใด

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตจะออกจากร่างมันเสวยอารมณ์ใด มันเสวยอารมณ์ที่ผูกโกรธ อารมณ์ที่เครียดแค้น มันก็เป็นสภาวะของมันที่ต่ำต้อย ถ้ามันออกไปอารมณ์ที่นึกถึงพระ นึกถึงพุทโธ เวลาคนจะสิ้นใจ นี่จิตออกจากร่างอันนี้ไปมันก็ไปเสวยสิ่งที่เป็นกรรมดีก่อน แล้วสิ่งที่มันสะสมไว้ในหัวใจไม่มีหรือ? มันก็มีอยู่ มีอยู่เพราะอะไร? เพราะเกิดในสถานะมนุษย์แล้ว มนุษย์ไม่เหมือนกันไง

เกิดเป็นมนุษย์ด้วยกัน แต่ความคิดของมนุษย์ก็ต่างกัน เกิดเป็นมนุษย์ด้วยกัน แต่ความชอบของมนุษย์ก็ต่างกัน ต่างกันตรงนี้ ตรงที่ว่าเกิดเป็นมนุษย์โดยผลของกรรม แต่เรื่องจริตนิสัยมันสะสมมา สิ่งที่สะสมในใจมันมีสภาวะแบบนั้น แล้วธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนเข้ามาชำระตรงนี้ไง ถ้าชำระตรงนี้ ชำระสะสางตรงนี้ ทำตรงนี้ไป วัฏฏะมันก็เป็นวิวัฏฏะ วิวัฏฏะคือมันไม่ไปกับวัฏฏะอีกแล้ว

นี่ผลของวัฏฏะคือการเกิดและการตาย สิ่งที่สะสมขึ้นมามาพบหน้ากัน มาพบกัน มาสร้างคุณงามความดีกัน มาทำสิ่งกระทบกระเทือนกัน สิ่งนี้มันผูกพันกันไป แล้วเรามาเพื่ออะไร? เหมือนกับเราลงเล่นกีฬาเลย ในกีฬาการแข่งขันนัดหนึ่ง เราจะเอาผลอะไรของมันขึ้นมา เราจะมาถากถาง ในทีมหนึ่งถ้ามีคนดีในทีมนั้น สิ่งนั้นมันก็สะสมกันไป ถ้าในทีมนั้นมีคนที่เขาไม่เห็นด้วย เขามีงานในหัวใจของเขา นี่ทีมกีฬานั้นมันไปไม่รอดหรอก ไปไม่รอดมันก็ไม่เป็นผลงานของมันหรอก สิ่งนี้มันไม่เป็นผลงานของมัน

นี่ความเห็นอย่างนี้มันต้องรู้จักสิ เป็นกาลเป็นเวลา เราต้องมีกาลมีเวลา เวลาแข่งขันคือเวลาแข่งขัน เวลาที่ว่าเวลาฝึกซ้อม เวลาพักผ่อนมันก็เป็นเวลาพักผ่อน อันนี้ไม่มีกาลไม่มีเวลา ไม่รู้จักอะไรเป็นอะไรเลย เป็นเด็ก เด็กๆ มันยังเตือนได้มันยังสอนได้นะ นี่เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ใหญ่แล้วทำไมมันดื้อด้านกันขนาดนั้น ดื้อด้านในหัวใจไง แล้วว่าความดี ดีตรงไหน? เราเป็นคนรู้เอง เราเป็นคนทำของเราเอง สิ่งนี้เวลาเรา ๒๔ ชั่วโมงที่ไหนก็ได้ สิ่งความเป็นไป ความจำเป็น ความจำเป็นขนาดไหน? ดูสิดูเวลานอนเราก็นอน เวลาทำงานเราก็ทำงาน เวลาพักผ่อนเราก็พักผ่อน เรายังแบ่งเวลาได้เลย แล้วทำไมเวลาอย่างนี้แบ่งกันไม่เป็น แบ่งกันไม่ได้

ผลของวัฏฏะ สิ่งที่เป็นผลของวัฏฏะนะ เพราะว่าถ้ารุนแรงไปมันก็เป็นความรุนแรงไป ถ้ามันเป็นคุณงามความดีขึ้นมา ดูในการประพฤติปฏิบัตินะ นี่เวลาเราตั้งสัจจะนั่งตลอดรุ่ง อดอาหาร ๗ วัน อดอาหาร ๑๒ วัน อดอาหารกี่วัน เราตั้งสัจจะเราต้องทำให้ถึงเป้า ถ้าทำถึงเป้า นี่เขาบอกว่าเวลาธรรม ธรรมคืออะไร? คือความภูมิใจไง เราไม่เคยทำสิ่งใดประสบความสำเร็จเลย แล้วเวลาเราทำสิ่งใดประสบความสำเร็จมันจะมีความภูมิใจ จิตมันจะอาจหาญ มันจะกล้าหาญ มันจะรื่นเริงของมัน

นี่กินธรรม นี่ว่าธรรมคืออะไร เห็นไหม นี่อดอาหารแล้วได้ธรรม อดอาหารแล้วได้ธรรม อดอาหารแล้วได้ธรรมตรงไหน? ได้ธรรมตรงที่เราทำได้ ได้ธรรมตรงที่เรามีความภูมิใจของเรา แล้วสิ่งนี้มันเป็นอุบายวิธีการนะ อุบายวิธีการที่เราจะเข้ามาดัดแปลงจิต ถ้าดัดแปลงจิต ไอ้สิ่งที่ว่าธรรมๆ อย่างนี้ ธรรมเกิด สภาวธรรมเกิดผุดขึ้นมา เช่น เรามีความลังเลสงสัยสิ่งใด แล้วเรานั่งสมาธิไป จิตสงบขึ้นมามันจะเกิดสิ่งตอบสนองออกมาในหัวใจ นั่นคือธรรมมันเกิด ธรรมอย่างนี้เป็นธรรมเกิด

เหมือนเราศึกษาวิชาการ ถ้าเราไปค้นคว้าวิชาการสิ่งใด เรารู้ขึ้นมาสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นธรรมเกิด แต่มันแก้กิเลสเราได้ไหม? ไม่ได้หรอก การจะแก้กิเลสมันต้องย้อนกลับเข้ามาลึกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะอะไร? มันเป็นอริยสัจ มันเป็นมรรคญาณ สิ่งที่เป็นมรรคญาณ ถ้าสิ่งที่ธรรมเกิดเป็นสภาวะอันหนึ่ง เวลาเราอดอาหารเราได้กินธรรม คือเราได้ความภูมิใจ ได้ความภูมิใจ ได้ความองอาจกล้าหาญ แต่ความกล้าหาญอันนั้นถ้ามันย้อนกลับเข้ามาชำระกิเลส

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าพระห้ามอดอาหาร เพราะอะไร? เพราะคนวุฒิภาวะมันต่ำมาก การอดอาหาร เราคิดว่าการอดอาหารเป็นคุณประโยชน์ คำว่าธรรม ธรรมคือมันมีความภูมิใจ แต่ความภูมิใจถ้ามันเป็นกิเลสนะมันจะถือทิฏฐิมานะ ข้านี่ยอด ข้านี่แน่ ข้านี่ทำได้ มันเป็นกิเลสหรือเป็นธรรม มันเป็นกิเลสล้วนๆ เลย แต่ถ้าเราอดอาหารขึ้นมา แล้วสิ่งนี้มันเป็นอุบายวิธีการทำให้ร่างกายนี้มีจิตใจขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องกิเลสดีมาก ถึงบอกว่า ห้ามพระอดอาหาร ถ้าการอดอาหารเอามาอวดอ้างกัน ปรับอาบัติทุกกฏ ทุกกิริยาการเคลื่อนไหว แล้วคำพูดทุกคำพูดที่เอามาอวดอ้างว่าฉันแน่ ฉันยอด นี่ปรับอาบัติทั้งหมดเลย แต่! แต่ถ้าเป็นคนที่ฉลาดขึ้นมา ใช้การอดอาหารขึ้นมาเพื่อจะสร้างเสริมกำลังใจขึ้นมา เพื่อสร้างเสริมกำลังใจ เพื่อสร้างเสริมจิตที่สงบเข้าสมาธิได้ง่าย ตถาคตอนุญาต ถ้าอดอาหารในป่าในเขา การอดอาหารเราไม่ได้อวดอ้างใคร การอดอาหารเราไม่ต้องการให้ใครมานับถือบูชา สิ่งนี้ต่างหากมันเป็นอุบายวิธีการจะเข้าไปชำระกิเลส

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉลาดกว่ากิเลสไง ไม่ให้กิเลสเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแอบอ้าง มาค้าขาย มาทำธุรกิจ มาทำสิ่งให้เขายอมรับไง แต่ถ้าเราจะชำระกิเลสของเรา เราดัดแปลงเรา เห็นไหม ดีในเป็นอย่างนี้ไง ดีในคือพยายามข่มขี่ความต้องการทะยานอยากของใจให้อยู่ในอำนาจของเรา ความทะยานอยากของใจเราข่มขี่สิ่งนี้ให้มันอยู่ในใจของเรา แล้วชำระมันย้อนกลับไปในกิเลสไง ไม่ใช่เอาสิ่งนี้มาบาดหมางคนอื่น มาเป็นลูกตุ้มถ่วงคนอื่น เป็นภาระกับคนอื่น เป็นความเสียเวลามาก เอวัง