เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๒ เม.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เปรียบเหมือนชีวิตไง ชีวิตเราเหมือนนักกีฬา นักกีฬา เห็นไหม เวลาถ้านักกีฬาที่มีวินัย ถ้ามีพรสวรรค์ด้วย คนนั้นเขาจะมีโอกาสมาก แต่นักกีฬามีพรสวรรค์นะ แต่ไม่มีวินัย การฝึกซ้อมมันต้องมีวินัย แต่การฝึกซ้อมนี่คนเบื่อมาก ดูสิแม้แต่เขาเป็นนักกีฬาจนเขาได้ตำแหน่ง ได้แชมป์แล้วนะ ถ้าเขาไม่มีการฝึกซ้อม เขาเพลินในชีวิตของเขาเอง ตำแหน่งของเขาก็มีอยู่ของเขา

นี้เป็นเรื่องของสมมุตินะ สมมุติโลกเป็นแบบนั้น แต่ชีวิตของเรา ชีวิตความจริงก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นความจริง จริงตรงไหน? จริงที่มันเป็นกุปปธรรมกับอกุปปธรรม กุปปธรรมคือธรรมที่มันมี แบบลมพัดลมเพทางธรรมชาติ ธรรมชาตินี่เป็นกุปปะ คือว่ามันแปรสภาพ มันแปรปรวน แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอกุปปะ อกุปปะคือมันเป็นแล้วมันไม่มีการแปรปรวน มันเป็นสิ่งที่คงที่ไง

สิ่งคงที่อย่างนี้มันถึงว่าการกระทำของเรามันถึงต้องเสมอต้นเสมอปลายมากกว่านั้นนะ ดูนะนักกีฬาของเราต้องมีพรสวรรค์ ถ้ามีพรสวรรค์เป็นช้างเผือก ช้างเผือกไม่มีโอกาสได้ฝึกซ้อม ช้างเผือกไม่มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัตินะ ช้างเผือกไม่มีโอกาสของเขา ช้างเผือกนั้นก็อยู่ในป่าอย่างนั้น ช้างเผือกนั้นก็จมอยู่ในป่านั้นไง

นี่ก็เหมือนกัน ทัศนคติของเรา เราฉุกคิดไหม? เวลาเราเจอธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราฉุกคิดไหม? ดูสิอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ยินคำว่า “พุทธะ” นี่ขนพองสยองเกล้านะ ทนไม่ได้เลย พรสวรรค์ของนักกีฬาก็อย่างหนึ่ง อำนาจวาสนาของจิตก็อย่างหนึ่ง อำนาจวาสนาของจิตมันได้สะสมมานะ สิ่งที่สะสมมามันมีทัศนคติที่ดีๆ ถ้าทัศนคติที่ดีๆ แล้วมีคนต่อยอด มีคนต่อยอด เห็นไหม เหมือนกับได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ธรรมนี่มีโอกาสหนหนึ่ง ถ้าช้างเผือกอยู่ในป่า เขาไม่มีโอกาส เขาก็ใช้ชีวิตของเขาอยู่ในป่าอย่างนั้นตลอดไป

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีทัศนคติของเรา ทัศนคติอย่างนี้มันเป็นกุปปธรรม คือเดี๋ยวมันก็มาดี เดี๋ยวมันก็มาร้าย สิ่งที่มาดีมาร้ายเพราะมันเป็นอะไร? เพราะมันเป็นสิ่งที่มีกิเลสเจืออยู่ตลอดเวลา ความเห็นของเรามีกิเลสเจืออยู่ตลอดเวลา แต่เราจะทำให้มันคงที่ได้อย่างไร? ฉะนั้น คงที่ได้ เห็นไหม

นี่เวลาพระเราบวชขึ้นมาถึงขอนิสสัยครูบาอาจารย์ ถ้าไม่ได้นิสสัย เช่น ภิกษุไม่ได้นิสสัย เหมือนกับมนุษย์เรา เหมือนเด็กไม่บรรลุนิติภาวะ เด็กไม่บรรลุนิติภาวะทำนิติกรรมไม่ได้ ต้องบรรลุนิติภาวะ ถ้าพระภิกษุยังไม่ได้นิสสัยออกไปอยู่องค์เดียว ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์อยู่นะ ถ้า ๗ วันไปแล้ว พระอาทิตย์ขึ้นไม่ขอนิสสัยเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถึงต้องอยู่ขอนิสสัย เห็นไหม ไปขอนิสสัย

แต่เว้นไว้นะ นี่เว้นไว้เพราะอะไร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดอ่อนมาก ฉลาดมาก ภิกษุถ้าบวชแล้ว ถ้าธุดงค์ไป ออกธุดงค์ไปไปภาวนาอยู่ ถ้าจิตสงบดี สิ่งนี้เป็นคุณงามความดี เห็นไหม เราอยู่ได้โดยที่ไม่เป็นอาบัติ แต่ต้องตั้งไว้ในหัวใจว่า ถ้ามีภิกษุที่มีอายุพรรษามากมาเราจะขอนิสสัย เพราะอะไร?

เพราะในปัจจุบันนี้เราประพฤติปฏิบัติ เราทำสมาธิได้ดีมาก นี่บริเวณสถานที่นี้เป็นสถานที่เราภาวนาดีมาก แล้วถ้าเราเคลื่อนจากสถานที่นี้ไป เห็นไหม เอาผลงานไง เอาผลงานนั้นมากกว่า กฎหมาย กฎหมายนี่ธรรม กฎหมายคือวินัย ธรรมเหนือกว่ากฎหมาย ธรรมเหนือว่ากฎหมายแต่ต้องเป็นธรรมนะ ถ้าเป็นธรรมมันเป็นคุณประโยชน์กับเรา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะต่อยอดไง ต่อยอดทัศนคติ ต่อยอดความคิดเห็น ต่อยอดในหัวใจของเรา สิ่งนี้สำคัญมาก เหมือนกับคนตาบอดนะ เวลาครูบาอาจารย์เราแนะนำ บอกว่าคนตาบอดจะจูงคนตาบอดไปไม่รอดหรอก มันจะสะเปะสะปะไปตลอด แต่ถ้าคนตาดีล่ะ? แต่เมื่อไหร่ตาจะดีล่ะ?

นี่ย้อนกลับไปนะ เวลาศึกษาเรื่องของครูบาอาจารย์มา สมัยหลวงปู่มั่น สมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ พระจอมเกล้าฯ เป็นคนรื้อฟื้นก่อน พระจอมเกล้าฯ มาบวชแล้วทำไมพระทำต่างกับธรรมวินัย ต่างกับพระไตรปิฎก ความเป็นอยู่ของพระอย่างหนึ่ง กฎหมายกำหนดไว้อย่างหนึ่ง พระจอมเกล้าฯ ถึงพยายามฟื้นฟูตรงนี้ขึ้นมา ทำให้เหมือนที่สุด แต่! แต่ในเมื่อคนยังตาบอด ตาใจยังบอดอยู่ ยังมีความลังเลสงสัยอยู่

นี่บวชซ้ำบวชซากไง เพราะอ่านพระไตรปิฎก ความเข้าใจอย่างนี้ก็พยายามจะฟื้นฟูให้ได้ขนาดนี้ ครั้งต่อไปพออ่านเข้าไปอีก ศึกษาเข้าไปอีก มันละเอียดเข้าไปกว่านั้นอีกก็ทำอีก นี่เวลาคนที่ศึกษาขนาดที่ว่าศึกษาได้ภาษาบาลี ได้ภาษา ได้ทุกอย่าง ค้นคว้าในพระไตรปิฎกก็ยังลังเลสงสัยอยู่ตลอดไป เห็นไหม แต่ก็ได้เข้าไปใกล้ เหมือนช้างเผือกได้โอกาส ได้การฝึกซ้อม ช้างเผือกมีโอกาสได้ฝึกซ้อม ถ้าโอกาสฝึกซ้อม พรสวรรค์เรามีอยู่ ถ้าเราฝึกซ้อม นี่ความเสมอต้น เสมอปลายจะทำให้เรามั่นคงตลอดไป

แต่หลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นออกประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ธรรมและวินัยนี่มีอยู่แล้ว ธรรมยุตนิกาย พระจอมเกล้าฯ ได้วางไว้แล้ว ใกล้กับธรรมและวินัยมาก พยายามทำให้เหมือนที่สุด แต่ในเมื่อใจยังบอดอยู่จะทำอย่างไร? รื้อค้นในพระไตรปิฎก รื้อค้นไปศึกษาไปขนาดไหนก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ ไม่มีใครสามารถบอกได้ แม้แต่หลวงปู่มั่นไปปรึกษากับหลวงปู่เสาร์ เพราะหลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์ หลวงปู่เสาร์ยังบอกเลย “เราไม่เคยเป็นแบบนี้”

สันทิฏฐิโก ความเป็นไปของใจ ใจเข้าไปสัมผัส เข้าไปเป็นไป มันจะมีความลังเลสงสัยไปหมด เพราะอะไร? เพราะมันไม่รู้จัก นี่คนตาบอด แต่ในเมื่อถ้ามีคนตาดีขึ้นมา เพราะอะไร? เพราะหลวงปู่มั่นเวลาท่านฝึกสอนของท่านนะ “ใครมีปัญหาอะไรถามมา ถามมา” แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการ เห็นไหม “ต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนั้น” ไม่มีหรือว่า...ไม่มี น่าจะเป็นอย่างนั้น...ไม่มี

แต่การค้นคว้าของสมมุติ น่าจะเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร? เพราะตามันบอด ตาใจมันบอด มันมีความลังเลสงสัย ในเมื่อมีความลังเลสงสัยไม่กล้าฟันธงไปหรอกว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด

แต่ถ้าเราเคยทำของเราขึ้นมาแล้วต้องเป็นแบบนั้น ถ้าไม่เป็นแบบนั้น เพราะหนึ่งเราทำไม่ได้เป็นสภาวะแบบนั้น มันเป็นสมมุติ มันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของโลกียปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาสภาวะแบบนี้ แล้วเราคาดหมาย เราพยายามยกให้เป็นอกุปปธรรม มันเป็นกุปปธรรม คือมันเป็นแปรปรวนของธรรมชาติ มันเป็นความแปรปรวนของสมมุติ ในเมื่อสมมุติมันมีอยู่ มันเป็นกุปปธรรมอยู่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป สภาวธรรมเป็นอย่างนี้ตลอดไป สภาวธรรมมันไม่ใช่สภาวะความเป็นจริง ถ้าสภาวะความเป็นจริงมันเหนือธรรมชาติ เป็นอกุปปธรรม ถ้าเป็นอกุปปธรรมต้องเป็นแบบนี้ ต้องเป็นแบบนี้ มันเป็นความสมดุล

เวลาเราเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาเป็นโลกียปัญญา เราใคร่ครวญของเราไป มันจะปล่อยวาง มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น นี่จิตมันสมดุล เพราะจิตมันสมดุลมันจะปล่อยของมัน ถ้าปล่อยของมัน อะไรเป็นคนปล่อย? สิ่งที่ปล่อยใครเป็นคนปล่อย? สิ่งที่ปล่อยแล้วเหลืออะไร?

ถ้าเป็นอกุปปธรรมมันจะรู้ ถ้าเป็นกุปปธรรมไม่รู้ ปล่อยก็เราปล่อยไง ปล่อยก็ปล่อยด้วยความลังเลสงสัยไง มันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยชั่วคราว มันปล่อยเหมือนฝนตกแดดออกนี่แหละ ฝนตกแดดออกมันคงที่ไหม? มันแปรสภาพตลอดไป เพราะมันคงที่ไม่ได้ สภาพอากาศจะแปรปรวนตลอดไป เป็นฤดูกาลของมันจะแปรปรวนตลอดไป

อารมณ์ความรู้สึกในหัวใจเราก็เหมือนกัน มันจะแปรปรวนตลอดไป แต่เราใช้สติปัญญาเราควบคุมมันไป เห็นไหม แต่ถึงจุดหนึ่งแล้ว ความรู้อันหนึ่ง เวลากายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์แยกออกจากกัน จิตนี้มันหลุดออกมาจากสภาวะแบบนั้น มันมีเหตุมีผลของมัน มันเป็นอกุปปธรรม ถ้าเป็นอกุปปธรรม นี่สิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นมาได้

ในเรื่องของนักกีฬานะมันเป็นสมมุติ แม้แต่ได้แชมป์ได้ต่างๆ ขึ้นมา ถ้ามีวินัยกับตัวเอง เราได้ตำแหน่งแล้วนะเราต้องฝึกฝนตลอดไป ถ้าเราได้ตำแหน่งแล้วเราไม่ฝึกฝนไปจะมีผู้ท้าชิงนะ ถึงเวลาท้าชิงแล้วเรากำลังไม่พอ หรือหมดยุคหมดกาล มันต้องแปรสภาพไป นี่เรื่องของโลก เรื่องของสมมุตินะ

แต่เรื่องของวิมุตติ เรื่องของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใครจะท้าแชมป์ใคร เพราะแชมป์ของใครแชมป์ของเขา แชมป์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ แชมป์ของพระสารีบุตร มันเป็นสมบัติส่วนบุคคลไง มันเป็นสมบัติส่วนตัว แชมป์อันนี้เป็นแชมป์อยู่ที่เหนือวัฏจักร มันเหนือกับจิตตัวนี้ มันไม่มีใครสามารถท้าชิงได้ มันเป็นความเห็นของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะเป็นสภาวะแบบนี้ตลอดไป

นี่มันเกิดเหมือนกันนะ ทัศนคติ ความเห็นที่ดีๆ ในหัวใจมันต้องรักษาไว้ แล้วต้องมีวินัยกับมัน ต้องมีวินัยนะ ต้องรักษา ต้องพยายามรักษาแล้วต่อยอดขึ้นไปให้มันเข้มข้นขึ้นมา ถ้าเข้มข้นขึ้นมาแล้วเราจะทึ่งเอง ทึ่งว่าภาวนามยปัญญามันเป็นสภาวะแบบใด ปัญญาที่เกิดขึ้นมาอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ไม่ใช่ว่าปัญญาที่เรารู้อยู่แล้วนะ เรารู้สิ่งต่างๆ แล้วเราว่าเรารู้แล้ว นี่โง่สองชั้น

ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าพวกนี้โง่มาก ใครอวดฉลาดคนนั้นโง่มาก เพราะอะไร? เพราะมันโง่ในตัวมันเองแล้วมันว่ามันฉลาดไง แต่ถ้าคนที่เขาฉลาดเขาจะไม่บอกว่าเขาฉลาดเลย เขาจะศึกษาของเขาตลอดไป ความดีที่ดีกว่านี้มันยังมีอยู่ โง่เพราะอะไร? เพราะในเมื่อมันอวดว่ามันฉลาด พอมันฉลาดมันรู้ตัวมันเองไหม? เพราะมันตาบอดมันก็ว่าฉลาด เหมือนเด็กดื้อ เด็กดื้อมันไม่เข้าใจสิ่งใด แล้วมันก็ดื้อของมัน นี่อวิชชา อวิชชามันมีพลังงานของมัน มันรู้ของมัน แต่มันไม่รู้จักตัวมันเองไง มันรู้แบบเอารัดเอาเปรียบไง รู้แบบเอารัดเอาเปรียบ เอารัดเอาเปรียบใคร? เอารัดเอาเปรียบตัวมันเอง มันเอารัดเอาเปรียบตัวมันเอง เพราะมันทำลายโอกาสของมัน ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่รู้สิ่งต่างๆ รู้แต่ว่าฉลาด เพราะด้วยความคาดหมาย ด้วยความด้นเดาของเขาเอง แต่ถ้าเป็นความรู้ความจริงนะ มันรู้รอบตัวมันเอง ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร

ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือรอบรู้ความคิดของตัว ความคิดของตัวก็เข้าใจ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาจากความคิดมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรก็เข้าใจ เกิดขึ้นมาแล้วมันรู้รอบไป มันจะปล่อยวางอย่างไรก็เข้าใจ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเย้ยพญามาร เห็นไหม “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

ความดำริ ความคิดก่อนที่มันจะเป็นความคิดมันเกิดมาจากไหน? นี่สิ่งนี้มันเกิดขึ้นมา แล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าใจสิ่งนี้แล้ว “มารเอย เธอเกิดไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราเข้าใจทั้งหมด เราเห็นทั้งหมด” มารจะเกิดจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเป็นวิมุตติธรรมแล้วจะเกิดไม่ได้อีกเลย แชมป์นี้จะอยู่ตลอดไป แชมป์นี้จะไม่มีใครท้าชิง แชมป์นี้จะไม่มีใครเข้ามาจับต้องสิ่งนี้ได้ แชมป์ทางโลกมันยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลง มีการช่วงชิงกัน แต่ถ้าเราได้ประพฤติปฏิบัติของเราแล้วมันจะเป็นสมบัติของเราตลอดไป เอวัง