เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ เม.ย. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานเด็กๆ มันถามนะ มันถามว่าในศาสนาพราหมณ์ก็มีพระอินทร์ ในมหายานก็มีพระอินทร์ ในเถรวาทเราก็มีพระอินทร์ จะเหมือนกันไหม?

เราบอกเขาว่า เหมือนกัน คำว่าเหมือนกัน เวลาศาสนสำคัญ อะไรก็เหมือนกัน ทุกคนทำให้เป็นคนดี เราบอกว่าไม่เหมือนกันเลย มีพระอินทร์เหมือนกัน แต่ความหมายต่างกันมหาศาลเลย อย่างเช่นทางฝ่ายพราหมณ์เขานับถือพระเจ้าใช่ไหม? เขานับถือนารายณ์อวตาร เขาถือพระอินทร์ เขาถือนี้เป็นใหญ่ คือเขาเคารพบูชาไง แล้วทางฝ่ายมหายานเขาก็มีพระอินทร์ของเขา

แต่ในฝ่ายเถรวาทของเรา ดูสิเวลาพระกัสสปะออกจากนิโรธสมาบัติ เห็นไหม พระอินทร์มาใส่บาตรพระกัสสปะ พวกพระอินทร์ พวกเทวดา พวกอินทร์ พวกพรหม พวกนี้มันเป็นเหมือนมนุษย์เรานี่แหละ เพราะเราเกิดมาแล้ว เราเกิดมาในชาติหนึ่งภพหนึ่งแล้วแต่กรรมพาเกิด พระอินทร์ก็คนทำคุณงามความดีแล้วไปเกิดเป็นพระอินทร์ แต่เกิดเป็นพระอินทร์ก็เหมือนกับเรานี่คนที่มั่งมีศรีสุข คนที่เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีเขามีความทุกข์ไหมล่ะ? มันมีความทุกข์ทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น ว่าในวัฏฏะนี้มันเป็นคนที่มีกิเลสทั้งหมด มันเป็นสมมุติทั้งหมด ฉะนั้น ในศาสนาเราไม่ถึงเคารพบูชาไง พระอินทร์เป็นแค่เด็กล้างบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคนอุ้มบาตรแล้วยังต้องแสวงหาบุญกุศลจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม แล้วเวลาพระอินทร์หมดวาระ เวลาหมดวาระเหมือนกับว่าจิตมันเป็นสมมุติ เวลาเกิดเกิดเป็นพระอินทร์ คือวัฏฏะนี้มันเป็นสมมุติทั้งหมด แต่ถ้าในลัทธิอื่นเขาว่ามันเป็นอัตตา มันเป็นอย่างนั้นตลอดไป แล้วเขาบูชากันไง

นี่มันต่างกันตรงนี้ พูดถึงวุฒิภาวะของผู้ที่นับถือศาสนา ความเข้าใจไง ว่าเขามีพระอินทร์เราก็มีพระอินทร์ ก็เหมือนลัทธิต่างๆ เขามีศีลเหมือนกัน เพราะเขามีศีลเราก็ว่าเขามีศีลเหมือนเรา ไม่ใช่หรอก ดูสิดูอย่างศาสนาคริสต์เขา เห็นไหม ฆ่าสัตว์ที่เป็นอาหารไม่เป็นบาป ของเราศีล ๕ ถ้าทำให้สัตว์ตกล่วงเป็นบาปหมด จะเป็นอาหารก็บาป อะไรก็บาป เพียงแต่เราจะเลือกอย่างไร? เราจะทำอย่างไร? ถ้าเราถือศีล ๕ เราจะไม่ฆ่าสัตว์ เราไม่ตัดชีวิต เราจะละเว้น เพียงแต่ว่าเราจะทำเราพอใจผิดศีลหรือเปล่าล่ะ? ไม่ใช่ว่าเข้าข้างกิเลสไง ถ้าเป็นผลประโยชน์เราไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นกรรม สิ่งนี้เขาเกิดมาเป็นอาหาร ใครจะยอมรับสิ่งนี้ว่าเป็นอาหารเพราะอะไร? เพราะเราทำความดีความชั่ว

เวลาทำความดีความชั่ว ถ้าเกิดทำดี เราเกิดสถานะของสัตว์ล่ะ? แล้วเขามาฆ่าเรา เรายอมไหม? เวลาเราเกิดสถานะของมนุษย์ เพราะว่าเวลาสถานะ ถ้าสถานะคนสถานะหนึ่ง มันก็มีความคิดอย่างหนึ่ง สถานะคนทุกข์คนยากก็มีความคิดอย่างหนึ่ง แล้วสถานะของสัตว์มันก็มีความคิดอย่างหนึ่ง ในสถานะของมนุษย์ก็มีความคิดอย่างหนึ่ง แล้วจิตดวงเดียวนี่มันเป็นได้หมดเลย เวลาเราไปสถานะใด มันถึงว่ามันไม่เสมอภาคไง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้แจ้งโลกนอกโลกใน โลกนอก เห็นไหม โลกนอกคือโลกที่เราเป็นกันอยู่นี่โลกนอก โลกในคือโลกทัศน์ ความเห็นจากภายใน จากจิตดวงนี้มันเกิดโลกทัศน์ของมัน มันเกิดโลกทัศน์ของมัน มันมีความรู้สึกของมัน มันมีความคิดของมัน มันทำมโนกรรมของมัน มันสร้างสภาวะของมัน ถ้าอย่างนี้มันก็เบียดเบียน เท่ากับเราเบียดเบียนตัวเราเองนะ ถ้าเราไปเกิดสถานะเรายอมรับไหม? ขณะที่เราเป็นมนุษย์เราจะเอาเขาไปเป็นอาหาร เราว่าสิ่งนั้นเป็นอาหารไม่เป็นบาป แต่เวลาเราไปเกิดเป็นเขาล่ะ? แล้วไม่เกิดเหรอ?

ดูสิดูพระในสมัยพุทธกาล เห็นไหม ไปเกิดเป็นไรอยู่ในผ้า ทำไมไม่เกิด? นี่พระโพธิสัตว์จะไม่เกิดเล็กกว่านกกระจาบ พระโพธิสัตว์ขณะที่เกิดเป็นชาติของสัตว์ก็เป็นพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นชาติของมนุษย์เกิดมาก็เป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่ชักนำให้คนทำคุณงามความดี สิ่งนี้เป็นการสะสมใจ ใจที่มันตรัสรู้ มันจะมาสิ้นกิเลสได้มันต้องมีพละ มีกำลัง มีความเห็นอย่างนั้น ถึงได้ว่าคนเรามันถึงมีความคิดไง มีความคิดแต่ที่ดีๆ คนเรามีความคิด บางคนคิดแต่เอาเปรียบเขา คิดแต่ทำลายเขา

ความคิดเอาเปรียบเขา ทำลายเขา สิ่งนั้นมันทำลายตัวเองก่อนนะ ทำลายตัวเองคือทำลายโอกาสของเรา เราเกิดมามีโอกาสใช่ไหม? ถ้าเราคิดดีคิดชั่ว เรามีโอกาสทำดีและทำชั่ว ถ้าเรามีโอกาสทำดีทำไมเราไม่ทำ? ถ้ามันทำกิเลสก็บอกว่ามันเสียเปรียบ แต่ถ้ามันเอาเปรียบเขา มันบอกมันได้เปรียบ แต่มันทำลายตัวเอง คือมันทำโอกาสของมันให้เสียหาย เห็นไหม

ดูความคิดสิ นี่โลกภายในไง โลกภายในมันเบียดเบียนตนที่เราไม่รู้ตัวเลย เราว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา เพราะเราเอาเปรียบเขา เราชนะเขา แต่ในทางของธรรมเราเสียเปรียบแล้ว เราเสียเปรียบเพราะอะไร? เพราะเราทำลายโอกาสของเราเอง อย่างเช่นชีวิตเรานี่เรามีโอกาสจะทำคุณงามความดี เช่น เราอยากประพฤติปฏิบัติ ดูอารมณ์เราสิ อารมณ์ความดี อารมณ์ที่เราอยากทำดี เวลาเราไปนั่งสมาธิภาวนากัน เวลามันบีบคั้นมามันพอใจไหม? มันไม่พอใจ แล้วอารมณ์ความคิดอย่างนี้มันเป็นอย่างไร?

นี่เรามีโอกาสอย่างนี้ ความคิดอย่างนี้มันควรจะทำคุณงามความดีของเรา เพื่อจะไม่ทำลายด้วยความคิดนะ ทำลายด้วยมโนกรรมไง เราไปห่วงกันแต่เรื่องวจีกรรม กายกรรม สิ่งที่ทำผิดศีล ๕ เป็นกายกรรม เป็นวจีกรรม แต่มโนกรรมความคิดอันนี้ ถ้ามันมีศีลโดยปกติ เห็นไหม ถ้าโดยปกติมันจะเบียดเบียน มันมีรั้วกั้นไง ถ้าไม่มีศีลเป็นรั้วกั้น เราจะทำอะไรก็ได้มันเป็นความคิดของกิเลส แต่ถ้าคนมีพละ มีกำลัง มีความเห็นที่ดี มันก็คิดสิ่งที่ดี

จะมีศีลหรือไม่มีศีล ไอ้สิ่งนี้มันเป็นเครื่องดำเนิน แต่ถ้าจิตใจตัวนี้มันเป็นความจริงของมัน นี่ที่ว่าพระอินทร์ก็จิตดวงนี้ไปเป็น จิตดวงนี้ไปเป็น เป็นพระอินทร์ แล้วพระอินทร์ก็ต้องหมดวาระ สิ่งนี้หมดวาระ นี่ถ้าเราเชื่อศาสนาสิ่งนี้มันเป็นวัฏฏะ แต่พวกเราถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรม การจะเป็นพระอินทร์หรือไม่ได้เป็นพระอินทร์ก็เกิดจากธรรมะ เกิดจากคุณงามความดี

นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกกับเทวดา เห็นไหม “อย่าถามเลยว่าพระอินทร์มีหรือไม่มี เหตุให้เกิดพระอินทร์เรายังรู้เลย” ใครทำคุณงามความดี สิ่งที่คุณงามความดี นี่ธรรมะ ธรรมะทำให้เกิดพระอินทร์ ทำคุณงามความดี ทำดีทำชั่ว ถ้าทำไม่ดีก็ไปเกิดเป็นเปรต ตกนรกอเวจี นี่จิตมันก็เป็นไป แล้วเกิดเป็นพระอินทร์เขาก็หมดวาระ เขาต้องสิ้นชีวิตของเขาเหมือนกัน สิ้นชีวิตเหมือนกัน

ทุกคนถึงมีสิทธิ์เหมือนกันไง แล้วเราไปเคารพทำไม? มันก็เหมือนตำแหน่งหน้าที่ราชการ ทุกคนก็เวียนมาเป็น แต่ใครจะเป็น ใครจะเป็น หน้าที่ราชการมันยังมีการวิ่งเต้นกัน แต่ธรรมมันเป็นสัจจะความจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันเกิดสภาวะแบบนั้น แต่พระอินทร์มีตำแหน่งเดียว ตำแหน่งเดียวก็แล้วแต่ใครจะมาต่อเวลา นี่สิ่งที่เวลาทำมา นั่นมันก็เป็นทางอื่น เพราะมันมีเป็นไป

ถึงบอกว่าถ้าความคิดของเขา เห็นไหม มีเหมือนกัน แต่ความเชื่อต่างกัน ความเชื่อเป็นการเคารพบูชาหนึ่ง แต่ความเชื่อของเราคือผลของวัฏฏะหนึ่ง ผลของวัฏฏะผู้ทำคุณงามความดีก็ไปตกในสถานะนั้น แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติ เวลาครูบาอาจารย์ของเราไปเกิดเป็นพรหม ยังไม่อยากไปเลย เพราะอะไร? เพราะมันเสียเวลา ถ้าประพฤติปฏิบัติที่นี่มันสิ้นสุดกันที่นี่ สิ้นสุดกันที่นี่ วิมุตติสุข สุขกันที่นี่ สุขเดี๋ยวนี้ แม้แต่พรหมยังไม่ต้องการเลย แล้วต้องการเป็นพระอินทร์ เป็นเทวดาได้อย่างไร?

นี่ถ้าเข้าใจในศาสนาจะประพฤติปฏิบัติ แต่มันเป็นคุณธรรมของคฤหัสถ์ไง ถ้าเราเกิดเป็นเทวดา เราก็อยากเกิดเป็นเทวดานะ ในเมื่อเราก็จะรู้อยู่ว่าเราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มนุษย์เกิดมา เวลาตายต้องเกิดอีก ก็เกิดดีๆ ก็เกิดดี เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมก็ยังดีไป นี้เป็นสภาวธรรมแบบนั้น สภาวธรรมแบบคฤหัสถ์ สภาวธรรมแบบหยาบๆ แต่ถ้าละเอียดขึ้นมาสิ่งนี้มันเป็นวัฏฏะ มันเป็นสถานะ มันถึงไม่เข้ามาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในแก้วสารพัดนึก เห็นไหม แก้วสารพัดนึก เรานึกได้ขนาดไหนล่ะ? เรานึกได้ขนาดนั้น เรานึกได้

คำว่านึกได้ก็บอกว่าเรานึกเราฝันเอาหรือ? ไม่ใช่ ความนึกคือว่าเจตนาทำดีไง เรานึกได้ คือโอกาสที่ชักนำให้ทำคุณงามความดี เหมือนเป้าหมาย เป้าหมายของคนมีขนาดไหน? เป้าหมายของคนมีขนาดนั้นก็ทำได้ขนาดนั้น แต่เป้าหมายของเราชาวพุทธที่เป็นแก่นของศาสนา แก่นของศาสนา เห็นไหม ในป่า ต้นไม้ที่ว่าเป็นแก่น ต้นไม้ที่ว่าเป็นลำต้นที่ตรงที่จะเป็นประโยชน์มันได้มีกี่ต้น?

นี่ก็เหมือนกัน ในสัตว์มนุษย์ มนุษย์ที่ประเสริฐมีกี่คน? แล้วมนุษย์ที่ประเสริฐ หัวใจเขามีคุณธรรม เขาทำความดีเพื่อเรานี่แหละ ไม่ต้องทำความดีเพื่อใครเลย เราไม่เบียดเบียนใคร เราดูแลจิตของเรา เรารักษาเข้ามาจากภายใน แล้วปัญญามันจะเกิดจากภายใน มันจะรู้จากภายใน พลังงานอันหนึ่งเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์ เป็นพลังงานที่ดี อย่างนิวเคลียร์ นิวเคลียร์เพื่อสันติจะให้พลังงานกับประชาชนมหาศาลเลย แต่ถ้ามันเป็นระเบิด มันทำลายเขา มันจะทำลายมหาศาลเลย

ความคิดก็เหมือนกัน ถ้าความคิดเป็นความคิดที่ฝ่ายดี นี่จะอยู่ที่ไหนมันก็เป็นคุณงามความดี เห็นไหม เวลาความคิดดี ดูเทวดาสิ เขาจะรู้ความคิดของมนุษย์เลย มนุษย์ที่คิดดี นี่เขาว่าเวลาพระอยู่ในป่า เทวดาจะไปฟังธรรมจากพระ ฟังมาได้อย่างไร? เราบอกเลยเหมือนกับว่าสถานที่มืดตลอดเลย แล้วมีดวงไฟอยู่ดวงหนึ่ง ความสว่างกระจ่างแจ้งในที่มืดนั้น ใครจะไม่เห็นในที่มืดนั้น

นี่ก็เหมือนกัน หลวงปู่มั่นอยู่ในป่าในเขา เทวดาไปฟังมหาศาลเลย แล้วคนในเมือง คนในจังหวัดในอำเภอมหาศาลเลย เป็นหมื่นเป็นแสนเลย ทำไมเขาไม่ไปสนใจล่ะ? เพราะนี่มันมืด มันปกปิดไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากไง มันถึงรกชัฏไปด้วยป่า ป่าคือกิเลสตัณหาไง แต่หลวงปู่มั่นท่านตัดป่าหมดแล้ว ตัดป่าคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากออกไปจากใจทั้งหมดแล้ว มันเหมือนไฟสว่างอยู่ดวงหนึ่ง ทำไมเขาไม่เห็น?

นี่ความคิดของมนุษย์นี่เทวดารู้ เพราะอะไร? เพราะเทวดาเขามีแต่ความคิด เขามีแต่กายทิพย์ ความคิดนี่ถ้าเปรียบเทียบมันก็เป็นกายทิพย์ มันเป็นรูปร่างของจิต ทีนี้ความคิดออกไป สิ่งนี้มันรู้มันเห็นกัน ความคิดไม่มีที่ลับที่แจ้งหรอก เราคิดเอง เราคิดแล้วเราว่าไม่มีใครรู้ ทำไมเวลาครูบาอาจารย์รู้วาระจิต ทำไมท่านรู้ได้ล่ะ? รู้ได้ก็เพราะอะไร? เพราะความคิดเหมือนความคิด จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ถ้าเราทำคุณงามความดีของเราก็จะเป็นสภาวะแบบนั้น ถึงว่านี่คือธรรมะไง ถ้าจิตมันละเอียดเข้ามามันจะมีปัญญาอย่างนี้เข้ามา มันจะรู้แจ้งเข้ามาจากภายใน มันจะไม่ไปหวังผลจากภายนอกไง

เรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของภาวนา มันเหมือนสามเส้า เส้าที่เราตั้งอาหาร ตั้งภาชนะที่ทำอาหารมันมีสามเส้า ทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม มันก็ทำให้เรามั่นคงขึ้นมา ถ้าเรามีทานขึ้นมามันจะไปฝึกจิตฝึกใจโดยไม่ต้องภาวนาเลย เพราะอะไร? เพราะการสละต้องมีการกระทำ ต้องมีการนึก ต้องมีการคิด นี่เจตนามันออกมาตรงนี้ไง ถ้าออกตรงนี้ นี่จิตที่ควรแก่การงาน ควรแก่การงานที่มันเปิดกว้าง ดูสิในห้อง ในที่พักอาศัย ถ้าเราเปิดให้อากาศถ่ายเท มันจะไม่อับไม่ชื้น ไม่อับไม่ชื้นความเป็นอยู่เราก็สะดวกสบาย ถ้าในห้องของเราเราปิดไว้ มันอับมันชื้นขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เราปิดกั้นใจของเรา ทานก็ไม่ทำ ศีลก็ไม่เคยทำ มันปิดกั้นไว้ จิตมันอับมันชื้น เห็นไหม มันไม่ควรแก่การงาน จะไปนั่งภาวนามันจะปลอดโปร่ง มันจะทำให้จิตสงบได้อย่างไร? แต่ถ้าเรามีทานของเราขึ้นมา เรามีศีลของเราขึ้นมา มันปลอดโปร่ง มันเปิดหมด นี่ในห้องในหับเราเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทอย่างดี เราจะนั่งตรงไหน เราจะนอนตรงไหน มันมีความสุข ความสบายไปหมด

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตควรแก่การงานคือมันเปิดออก เรื่องของทาน เรื่องของศีล แล้วก็เรื่องของภาวนา ทานมันการกระทำได้เกิดขึ้นมาได้เลย เห็นไหม ถ้าไม่มีเราก็ให้อนุโมทนาไปกับเขา เห็นครูบาอาจารย์ทำสิ่งที่ดีเราก็ชื่นชมไปกับเขา นี่มันก็เป็นทานแล้ว สิ่งที่เป็นทานขึ้นมา เวลาจิตมันเปิดขึ้นมาอย่างนี้มันก็ควรแก่การงาน การประพฤติปฏิบัติมันก็มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา

นี่สติตั้งเข้ามา พอสติตั้งเข้ามา ถ้าไม่มีสติ สักแต่ว่าทำอย่างนั้น แล้วก็ว่างๆ กันอยู่อย่างนั้นแหละ มันคาอยู่มันแช่อยู่อย่างนั้นไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก ถ้ามันจะทำให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา มันต้องมีสติเข้ามา คำบริกรรมซ้อนเข้าไป แล้วจิตมันควรแก่การงาน เหมือนกับเราทำงาน เรานั่งดูเขาทำงานนะ คนนั้นก็มั่งมีศรีสุข คนนี้ก็ทำงานแล้วร่ำรวย เราก็นั่งดูเราก็รู้ไปหมดเลย แต่เราไม่ได้แม้แต่สลึงเดียว เพราะเราไม่ได้ทำกับเขา

นี่ก็เหมือนกัน ดูจิตไปเฉยๆ ไม่มีสติ ไม่มีคำพุทโธ ไม่ทำเลย เท่ากับสักแต่ว่า ไปแช่ไว้เฉยๆ แล้วจิตมันจะลงสมาธิ มันจะเข้ามีหลักมีเกณฑ์มาได้อย่างไร? แล้วก็เข้าใจว่าสิ่งนี้ นี่การปฏิบัติถ้าออกไปแล้วมันจะเป็นความหยาบ ความหยาบคนเขาจะทำธุรกิจของเขา เขาลงไปทำงานของเขา เขาต้องทำธุรกิจของเขา เขาต้องอาบเหงื่อต่างน้ำทั้งนั้นแหละ แล้วเขาจะได้เงินของเขามา

นี่ก็เหมือนกัน การภาวนามันก็ต้องลงทุนลงแรง ต้องมีสติขึ้นมา ไม่ทำอะไรเลยแล้วก็นั่งดูกันเฉยๆ คนนู้นก็รวย คนนี้ก็รวย นี่มันเป็นสมบัติของคนอื่นเลย สมบัติของเรามันไม่มีไง แล้วมันเป็นความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดกิเลสมันหลอกตั้งแต่ปฏิบัติ แล้วเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม นี่ธรรมะจะต้องส่งเสริม เราทำแล้วต้องได้คุณงามความดี แต่กิเลสมันแทรกมา ขณะเดินจงกรมก็ไม่รู้ เวลามันแทรกเข้ามาในการนั่งภาวนาก็ไม่รู้ นี่พอเกิดขึ้นมานี้เป็นธรรมๆ

เป็นธรรมอะไร? พญามารมันครอบคลุมใจอยู่ มันข่มขี่อยู่ มันก็สอดแทรกเข้ามา เห็นไหม อ้างอิงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็มามัดคอเราให้เราล้มลงไป เราไม่รู้สึกตัวเลย ทำสักแต่ว่ามันเลยแช่อยู่อย่างนั้น มันเลยไม่ได้ผลขึ้นมา ถ้าตั้งสติขึ้นมา นี่ตั้งสติแล้วเรากำหนดพุทโธเข้าไป จะเป็นอย่างไรให้มันเป็นความจริงขึ้นมาจากในปัจจุบันนั้น เป็นสันทิฏฐิโก จะสงบก็สงบเห็นจากหัวใจเลย ถ้ามันสงบขึ้นมา มีหลักมีเกณฑ์อย่างไรก็ให้มันสงบเข้ามา

นี่หลักธรรม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะไง สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติเราประพฤติธรรม แล้วประพฤติธรรมเราจะสูงกว่าพระอินทร์ เราจะสูงกว่าเทวดา จะอินทร์ จะพรหม แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาใจดวงนี้ทำไมเทวดา อินทร์ พรหม ต้องมาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์เราล่ะ? ทำไมฟังเทศน์มนุษย์ล่ะ? เพราะมนุษย์มีคุณธรรมในหัวใจไง แล้วคุณธรรมในหัวใจ เราจะไปตื่นเต้นอะไรกับพระอินทร์

ในลัทธิศาสนาอื่นเขาไปกราบไปไหว้ไปเคารพบูชากัน แต่ในลัทธิของเรา ในความเห็นของศาสนาพุทธเรา สิ่งนี้มันเป็นที่ค้างไง ใจต้องไปเกิด ต้องไปค้าง เป็นที่เสียเวลา เราต้องการหลุดพ้น พระอินทร์ถึงเป็นวัฏฏะ เราจะออกจากวัฏฏะ เราไม่ต้องการสถานะใดเลย เราต้องการธรรมะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น เอวัง