เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ ม.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

“อย่าเห็นแก่ตัว” คนเห็นแก่ตัวเป็นคนที่ไม่น่าคบ คนเห็นแก่ตัวเป็นคนที่เบียดเบียนคนอื่น แต่คนเห็นแก่ความสุขความทุกข์ในหัวใจไม่ใช่คนเห็นแก่ตัวไง เพราะความสุขความทุกข์มันอยู่ที่เรา เพราะเรารักเราใช่ไหม? ทุกคนรักตัวเอง แต่ทุกคนเอายาพิษ เอาสิ่งต่าง ๆ มาให้ตัวเองได้กินได้ดื่ม แล้วยาพิษเข้าไปในร่างกาย มันจะเป็นผลดีกับร่างกายเราได้อย่างไร?

แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ ศีลธรรมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่กิเลสมันมองตรงข้ามไง เป็นการเสียสละ เป็นการที่ไม่ทันโลก เรามีศีลมีธรรม นี่เขาแข่งขันกัน เขาต้องมีการแข่งขัน เวลาเราออกไปแข่งขันกับเขานะ ถ้าเรามีสติ กระแสแรงขนาดไหนเราก็ยืนต้านกระแสได้เพราะอะไร? เพราะเรามีสติสัมปชัญญะ เราฝึกสติ เรามีสติเรามีปัญญาของเรา กระแสจะหมุนไปขนาดไหน เราตักตวงผลประโยชน์จากกระแสได้ทั้งหมดเลย

แต่คนมองไม่เห็นตรงนี้ไง ว่าคนมีศีลมีธรรม เขาว่า “ไม่ทันโลก ๆ” มันเหนือโลก มันดีกว่าโลกอีก ไม่ทันโลกได้อย่างไร เพราะคนดี เห็นไหม กลิ่นของศีลหอมทวนลม คนนี้เป็นคนดีตกทุกข์ได้ยากก็มีผู้ใหญ่เขาคอยเมตตา เขาจะไปบอกกล่าวว่า “คนนี้เป็นคนดี ๆ” สิ่งที่เป็นคนดีสังคมเขายอมรับ เขาจะเชื่อใคร เขาไม่เชื่อเด็ก ๆ หรอกเขาเชื่อผู้ใหญ่ นี่กลิ่นของศีลธรรมหอมทวนลม แม้จะตกระกำลำบากก็มีคนเกื้อกูล มีคนช่วยเหลือ

แต่ถ้าเป็นคนพาลตกระกำลำบาก ไม่มีใครช่วยเหลือหรอก นี่เขาบอกเขาจะแข่งขันเพราะอะไร? เพราะเป็นเรื่องของกิเลสไง เราต้องรักตนนะ รักตนคือหาความสุขใส่ตน ต้องดูแลตนของเราก่อน สิ่งที่มันจะทำความบาดหมาง สิ่งที่มันจะกระทบกระเทือนคนอื่น เราต้องรักษาของเราไว้ เพราะอะไร? เพราะมันเบียดเบียนตนก่อนใช่ไหม? เราคิดก่อนแล้วค่อยเบียดเบียนคนอื่นใช่ไหม? เราต้องรักตนก่อนแล้วเราก็รักคนอื่นต่อไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ที่ไหนมีความรัก ที่นั่นมีความทุกข์” เพราะอะไร? เพราะเรารักเขาแล้วเขาไม่ทำความปรารถนาอย่างที่เราปรารถนา เราจะมีความทุกข์ไหม? เรารักใครก็แล้วแต่ เราต้องการให้คนคนนี้มีที่ยืนในสังคม คนนี้เป็นคนดี แล้วคนนี้ไม่ทำตัวอย่างที่เราปรารถนา เราจะมีความทุกข์ไหม? ความรักนี่เป็นสิ่งที่ “ที่ไหนมีรักที่นั่นมีทุกข์”

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมามีเมตตามหาคุณมาก เวลาธรรมแสดงออกไปเหมือนฝนตก เหมือนแดดออก เวลาเราหายใจเอาออกซิเจน เราหายใจเข้าไปเพื่ออะไรล่ะ? ก็เพื่อตัวของเราเองใช่ไหม? แล้วเราหายใจเป็นประโยชน์กับใครล่ะ? ก็เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง แล้วเราจะเรียกร้องจากใครล่ะ? สิ่งนี้เป็นสภาวธรรมไง

แต่สิ่งที่เป็นกิเลส เป็นความทุกข์ของเรา สิ่งนี้มันเป็นกรรมนะ ถ้ากรรมมันตกผลึกในหัวใจของเรา สิ่งนี้มันจะให้มุมมองของเราเบี่ยงเบนจากความเป็นจริง อันนี้มันเป็นอวิชชา อวิชชาคืออะไร? อวิชชาคือความพลังงานที่มันไม่รู้จักตัวมันเอง วิชชาคืออะไร? วิชชามันมีเหตุมีผลไง มีเหตุมีผลมันจะเห็นน้ำใจเขา เมตตาเกิดจากตรงนี้ เมตตาเกิดจากว่าสิ่งนี้เป็นสัจจะความจริง

สิ่งต่าง ๆ มันเกิดจากความจริง มันต้องแปรสภาพไปใช่ไหม? เราไปเหนี่ยวรั้งสิ่งนี้ให้สมความปรารถนาเรา มันได้ชั่วคราว ๆ ถ้าเราบำรุงรักษาเพราะมันเป็นสมมุติ สมมุติมันแปรปรวนตลอดเวลา เช่น ผลไม้เราจะเก็บให้มันคงที่ตลอดไปได้ไหม? ตั้งแต่มันเป็นเมล็ดพันธุ์ขึ้นมา มันปลูกเป็นต้นขึ้นมา แล้วมันออกมาเป็นผล มันต้องอ่อนต้องแก่ แล้วก็ต้องสุกไปข้างหน้าใช่ไหม? แล้วเราจะให้อยู่กับเราตลอดไปได้ไหม? ไม่ได้...โลกนี้เป็นอย่างนี้ไง

ถึงว่าเราจะดึงสิ่งนี้ให้เป็นอย่างที่เราปรารถนา เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ความทุกข์อย่างนี้ เห็นไหม ชาติ ความเกิด ความแก่ ความชราคร่ำคร่าเป็นธรรมดาของมัน แต่ของมันนี่สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่เป็นโอกาสนะ ถ้าเราปรารถนาความสุขเป็นคนดี เราต้องตักตวงผลประโยชน์ ถ้าผลประโยชน์ของเราคือผลประโยชน์ในสังคม เรามีชื่อเสียงมีเกียรติในสังคม นี่โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีทุกข์มีสุขมันต้องปนเปไปอย่างนี้

แล้วเราไปตื่นกับโลกธรรม ๘ “โลกธรรม” สิ่งที่เบียดเบียนหัวใจของสัตว์โลกมีอยู่โดยดั้งเดิม แล้วสิ่งที่มีอยู่โดยดั้งเดิมเราไปตื่นกับมัน เราไปตื่นเงา เราไปเอาสิ่งที่เป็นเรื่องของโลกธรรม เราไม่เอาตัวจริง ตัวจริงคือความรู้สึกไง ทุกข์เราก็เป็นคนทุกข์ สุขก็เราเป็นคนสุข ถ้าสุขในหัวใจของเรา ทุกข์ในหัวใจของเรา เราควรจะแก้ไขอย่างไร?

สิ่งที่มันปรารถนา เราปรารถนา มันหลอกเรา เราก็ดิ้นรนไปตามประสามัน แล้วถึงที่สุดมันให้ผลกับเราถึงความเป็นจริงไหม? ถ้าไม่เป็นความเป็นจริง นี่อวิชชาอย่างนี้มันหลอกเรา มารอยู่ในหัวใจของเราหลอกเรา แล้วเราก็ตามไปกับมัน แล้วถ้าความจริงล่ะ? ความจริงสิ่งที่อาศัยนี้เราก็ต้องหากิน ทำไมพระต้องบิณฑบาตล่ะ ทำไมพระต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัยล่ะ เพราะดำรงชีวิตนี้ไว้เพื่ออะไร? เพื่อเป็นนักรบ รบกับอะไร? รบกับกิเลสเพื่อเอาชนะตนเองไง

รักตนต้องเอาตนของตนไว้ในอำนาจของตนได้ อย่าให้มันมีอำนาจเหนือเรา ถ้ามีอำนาจเหนือเรา เวลาเงินในกระเป๋าของเรา เราใช้จ่ายของเรา เราเป็นเจ้าของเงิน แต่เวลาพอเราใช้จ่ายหมดไปแล้ว เราต้องไปหาเงินมาเราเหนื่อยไหม? เราหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายเพื่อบำรุงอาศัย นี่สิ่งที่เรามีอำนาจมัน แต่ถ้าเราไม่มีอำนาจมันนะ เราไม่มีเราก็อยากมี เราต้องการเราก็ไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายก่อน สิ่งนี้มันสิ่งที่มันไม่มีในหัวใจไง แต่ถ้ามันเป็นในหัวใจล่ะ ในหัวใจที่มันเป็นวิชชา ไม่เป็นอวิชชาที่มันไม่รู้ล่ะ วิชชานี่มันก็ต้องเข้าใจตามความจริงนะ

ทุกคนเกิดมาจากกรรม มีการกระทำนะ โอกาสและจังหวะนะ ของอะไรอยู่กับเรานี่ไม่ค่อยสวยงามหรอก ของคนอื่นสวยไปหมดเลย เราไปมองคนอื่นไม่มองตัวเราเองไง สิ่งที่เกิดขึ้นมานี่ศักยภาพของมนุษย์ เราเกิดเป็นคนนี่สำคัญที่สุด เพราะจิตมันเกิดมาแล้วมันมีสถานะ มันมีโอกาสได้ทำความดีความชั่วของมัน ความดีความชั่วตามแต่กิเลสกับธรรมนะ

แต่โอกาสของเราเกิดมาพบพุทธศาสนา ถ้าไม่มีศาสนาไม่มีการชี้นำไปเราจะไปทำดีอย่างไร? ทำดีก็ทำดีประสาเรา ทำดีแบบ “อวิชชา” ไง มันมืดบอด! คนตาบอดเดินไปมันต้องไปชนกิ่งไม้ ต้องไปเหยียบหนามตำหนามไป มันต้องไปชนสิ่งของต่าง ๆ เพราะมันตาบอด ตาเราบอด ใจเราบอด แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหูตาสว่าง คือวางธรรมไว้ เราจะทำกับเรานี่

สิ่งที่เรามองเห็น เห็นข้างนอก คนตาบอดมันไม่เห็นมันก็มืดบอดของมัน แต่หัวใจบอด เห็นไหม ตาใส ๆ นี่ตาบอดตาใส แล้วอวดเก่งด้วย สิบสั่งไม่มี เรานี่สำคัญที่สุด เรานี้รู้ไปหมด รู้ไปหมดทำไมมันทุกข์ล่ะ! รู้ไปหมดทำไมแก้ไขตัวเองไม่ได้ล่ะ? มันแก้ไขตัวเองไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันเป็น “อวิชชา”ไง

แต่ถ้าเป็น “วิชชา” นะ สว่างกระจ่างแจ้งจากตาหัวใจมันเปิด นี่ดวงตาของใจ ดวงตาของใจต้องมีดวงตาเห็นธรรม ดวงตาดวงนั้นมันจะเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัจจะความจริงของมัน แต่เห็นด้วยตาของเนื้อนี่ยิ่งเห็นยิ่งเกิดกิเลส ยิ่งเห็นยิ่งเกิดความมานะ ยิ่งเห็นยิ่งเกิดความอยากใหญ่ ตาของใจกับตาของเนื้อ ตาเนื้อตาใจต่างกันมาก

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรงนี้ ถ้าเป็นการศึกษามาจากสุตมยปัญญา สิ่งนี้จะยึดจากภายนอกเป็นเรื่องปัจจัยเครื่องอาศัย แต่ถ้าออกมาจากหัวใจ สิ่งนี้เป็นโลกุตตรธรรมออกมาจากใจ นี้คือตาของใจที่มันเปิดขึ้นมา มันไม่มืดบอดไง ถ้าคนที่รักตนต้องรักอย่างนี้ รักของตนต้องอย่าให้หัวใจเหมือนเข็มทิศ ถ้ามันชี้ผิดทางชีวิตนี้เราจะเดินผิดทางหมดเลย เข็มทิศไง

นี่ก็เหมือนกัน เป้าหมายปรารถนาไง ถ้าเรามีเป้าหมายนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่บารมี ๑๐ ทัศ อธิษฐานบารมี ทานบารมี สิ่งนี้สร้างสมบุญญาธิการขึ้นมา ทำไมต้องทำอย่างนั้น? ทำไมสละออกไปเราไม่ได้อะไร? เราจะได้อะไรขึ้นมา การสละออกไปนี่... โยมมาทำทานทำบุญกุศลทุกวัน แล้วพระรับของโยมทุกวัน รับนี่ใครเป็นคนได้ล่ะ? โยมเป็นคนได้ เพราะโยมมีความสุขมีความพอใจ เพราะอันนี้เป็นบุญกุศล สิ่งที่สละออกไปมันเป็นแค่สื่อ สื่อให้หัวใจมันได้กระทำของมัน แล้วสิ่งนี้เป็นอริยทรัพย์ อริยทรัพย์คือความบุญจากภายใน

แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ เป็นธุรกิจนะ เขาเอาสิ่งนี้ออกไปล่อเหยื่อ สังคมทุกสังคมมีคนดีและคนไม่ดีในสังคมนั้น ถ้าคนไม่ดีในสังคมนั้นเราก็ต้องเลือกเอา ว่าถือศาสนาพุทธต้องมีปัญญา ปัญญาอย่างนี้ไง ปัญญาใคร่ครวญ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้กาลามสูตร “ไม่ให้เชื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ให้เชื่อ ให้พิสูจน์เอา” แต่ศรัทธาอันหนึ่ง ศรัทธาคือความมุ่งหมาย ไม่ให้เชื่อหมายถึงว่า เวลามาประพฤติปฏิบัติในหัวใจขึ้นมา ไม่ให้เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นครูบาอาจารย์สอน มันต้องเป็นสันทิฎฐิโก

ความไม่ให้เชื่อนี้มันไปเชื่อจากข้างใน แต่เริ่มต้นต้องเชื่อไปก่อน เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อตรงไหน? เชื่อแล้วกระทำ กระทำแล้วพิสูจน์ไง พอพิสูจน์นะ ถ้ามันไม่จริง เราก็ต้องสิ่งนี้มันไม่จริง มันไม่เป็นไป มันขัดกับเรา ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาเป็นสมาธิขึ้นมา แล้วหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์อธิบายเรื่องสมาธิไม่ถูก มันต้องเป็นเราหรืออาจารย์คนใดคนหนึ่งผิดใช่ไหม ถ้าผิดเราก็หาสิ่งต่าง ๆ มันเลือกแยกแยะจากภายนอก

แต่ความเป็นจริงจากภายในนะ ถ้าเป็นความจริงต้องสงบร่มเย็น มันสงบร่มเย็นขึ้นมา แล้วมันเห็นสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา มันจะปล่อยสิ่งนั้นเข้ามา เหมือนกับไฟจากโลกไง ไฟจากโลกไปจับมัน นี่ไฟจากโลกมันเผามือนะ แต่ไฟจากใจมันสร้างกรรม สร้างกรรมมันให้ผลไปกับจิตดวงนี้ จิตดวงนี้มันเกิดไปในภพชาติต่าง ๆ เพราะจิตนี้ไม่เคยตาย ไปเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม

แม้แต่พระอินทร์ยังต้องมาใส่บาตรพระกัสสปะ เพราะอะไร? เพราะว่าผู้ที่เขาสร้างบุญกุศลจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนมาไปเกิดเป็นเทวดา พระอินทร์นี่ก็ไปเกิดเป็นพระอินทร์ แต่ศักยภาพไม่ถึง... เวลาพระกัสสปะออกจากสมาบัติมาใส่บาตรพระกัสสปะ เพราะอะไร? เพราะต้องการผลอันนี้ขึ้นไป นี่มันข้ามภพข้ามชาติ

เวลาเรื่องกรรมการกระทำนี่ เรื่องโทสะเรื่องโมหะที่อยู่ในหัวใจ สิ่งนี้มันร้ายแรงกว่าไฟจากข้างนอกหลายร้อยเท่านัก ไฟจากข้างนอกมันเผามือ รักษาใส่ยามันก็หาย เพราะความเห็นผิดของเรา เราไม่รู้เราไปจับต้องเข้า แต่จิตนี้มันทำแล้วมันสะสมเพราะกรรมมันให้ผลตลอดไป กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมนี้มันอยู่กับใจตลอดไป แล้วกรรมอันนี้มันอยู่กับใจเรา เราเอาออกมา กรรมอยู่ในจิตใจของเรา เราเกิดมา แล้วพบอย่างนี้เราจะแก้ไขอย่างไร?

สิ่งที่แก้ไข เวลาเราสร้างสมบุญญาธิการมามันเป็นอำนาจวาสนาบารมี สายบุญสายกรรมนะ เราไปเจอครูบาอาจารย์ที่ถูกใจของเรา พูดแล้วถูกใจของเรานี่เราจะแก้ไขได้ เราไปเจอครูบาอาจารย์ที่พาเราออกนอกลู่นอกทางไป เราก็เสียเวลาตลอดไป สิ่งนี้มันถึงว่าสัปปายะ ๔ อาจารย์สำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง ผู้ชี้นำอันดับหนึ่งเลย หมู่คณะ อาหาร ที่อยู่อาศัย เป็นสัปปายะให้กลมกล่อมเข้ามาหาหัวใจ ให้หัวใจมันสงบเข้ามาเพื่อควรทำงานแก่มัน รักตนรักอย่างนี้ไง

ความสุขเกิดจากจิตนี้สงบ ความสุขในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดมีความสุขเท่ากับจิตนี้มันปล่อยวางแล้วมีความสงบของมัน การแสวงหาอย่างนั้นก็ต้องแสวงหา มันอยู่ที่ผลบุญผลกรรม คนที่มีบุญญาธิการทำอย่างไรมันก็ประสบความสำเร็จ คนที่มีบุญญาธิการก็เป็นแบบนี้ แล้วก็ขนโคเขาโคอีกล่ะ ถ้าเวลาขนโค ขนโคคือว่าคนที่ไม่เคยทำอะไรแล้วจะทำอะไรก็บอกว่า “ไปทำทำไม ๆ” อย่างนั้นน่ะไปเกิดเป็นขนโค มันมีส่วนมากไง เขาโคมีส่วนน้อย ผู้ที่ประสบความสำเร็จทางโลกมันถึงมีส่วนน้อย

แต่เราจะทำอะไรเราก็เหนื่อยล้า เราก็มีความทุกข์ สิ่งที่ความทุกข์เราต้องอดทนไง ทำคุณงามความดีทวนกระแส คนเรานะลอยคอเฉย ๆ ตามกระแสน้ำ น้ำก็ไหลลงทะเลไป คนว่ายทวนกระแสน้ำคนนั้นเหนื่อยนะ แต่ปลาตายมันลอยไปตามน้ำ ปลาเป็นมันต้องว่ายทวนกระแสน้ำ มันขึ้นไปวางไข่บนเหนือน้ำนั้นขึ้นไป มันวางไข่ มันรักษาเผ่าพันธุ์ของมัน

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจอย่างนี้ ถ้าเราจะมีคุณงามความดีของเรา เราต้องทวนกระแส เราต้องว่ายตามกับสิ่งที่เป็นความทุกข์ในหัวใจ ความทุกข์ในหัวใจมันเป็นสิ่งที่เป็นกระแสที่มันจะให้จิตนี่ไหลลงต่ำไป เห็นไหม เราต้องทวนกระแสขึ้นไปด้วยจิตใจของเรา คนรักตนรักอย่างนี้ไง รักจากหัวใจรักแก้ภายใน ในหัวใจใครจะรู้หัวใจคนไหนจะผ่องแผ้วขนาดไหน ร่างกายก็เห็นเหมือนกัน เตี้ยค่อม เตี้ยสูงต่ำเหมือนกัน

แต่หัวใจมันต่างกัน มนุษย์เหมือนกัน คนเหมือนกัน แต่หัวใจต่างกัน เห็นไหม มนุสสเปโต เปรต มนุสสติรัจฉาโน มนุสสเทโว มนุษย์แต่หัวใจมันสูงส่งได้ หัวใจมันต่ำต้อยได้ ต่ำต้อยได้เพราะความคิด ต่ำต้อยได้เพราะปัญญา ต่ำต้อยได้เพราะการกระทำของเรา

สิ่งนี้เป็นเรื่องหัวใจของเรา เราเกิดมาในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ พ่อแม่มีความรัก สายบุญสายกรรม พ่อแม่คนไหนไม่รักลูก เป็นไปไม่ได้! เป็นไปไม่ได้หรอก... แต่สิ่งที่ว่าความเห็นของเราเราไปโต้แย้งเอง แต่ขณะที่เรามีสถานะเป็นอย่างนั้นแล้วเราจะรู้จักเลย มันเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ สัตว์มันมีลูกของมัน มันจะรักลูกมันมาก

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นมนุษย์เป็นคนมีลูกทำไมพ่อแม่ไม่รักลูก รักสุดยอดเลยล่ะ แต่การกระทำในหัวใจของเรามันไม่สมปรารถนา เราปรารถนาสิ่งหนึ่ง พ่อแม่เห็นว่าคุณประโยชน์เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ให้อีกสิ่งหนึ่ง เราก็ขัดใจ ขัดใจเรา สิ่งนี้มันขัดใจเราเป็นกรรมทั้งนั้นแหละ เราถึงต้องใช้เวลาพิสูจน์กัน

แล้วเราจะเป็นผลประโยชน์กับเรา เกิดมาแล้วให้รักตน รักตนคือรักใจเรา ไม่ต้องรักใครหรอก แต่ถ้าเราทำคุณงามความดีแล้วนี่ ดูสิ ดูอย่างวงการศาสนา แม้แต่ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่นท่านทำเพื่อใครล่ะ? ท่านทำเพื่อศากยบุตร ท่านทำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง

นี่ก็เหมือนกัน พ่อแม่ทำเพื่อใครล่ะ? เราทำเพื่อใครล่ะ? รักเรานี่เราเป็นคนดี เราจะเป็นประโยชน์กับสังคมมหาศาลเลย เราเป็นคนดีคนหนึ่งสังคมจะมีความร่มเย็นเป็นสุขมาก เราไม่เป็นคนดีคนหนึ่งเราคิดแต่ความทุกข์ของเรา แล้วความทุกข์ของเรา เราไม่ได้ทำเขานะ แต่ในเมื่อเป็นความทุกข์เราก็ต้องแสดงออก สิ่งที่แสดงออก ดูสิ กฎหมายเขาบัญญัติมาเพื่ออะไร? บังคับใช้สังคมเพื่ออะไร? ก็เพราะตรงนี้ไง! เพราะเราคิดว่ามันไม่เป็นไรไม่เป็นไร แล้วทำความผิดพลาดไปมันก็ไปทำลายสังคมไง

แต่ถ้าเรามีความสุขมีความร่มเย็นเป็นสุข เราเห็นเขาเราจะเมตตาเขา เราจะช่วยเหลือเขา นี่ช่วยเหลือเขานะ! ช่วยเหลือตนให้ได้ก่อน แล้วจะช่วยเหลือทุก ๆ คนได้ ถ้าหัวใจมีความสุขก่อน หัวใจมีความร่มเย็นก่อน มันเห็นภาพหมดเลย มันไม่ไปตามกระแส มันเป็นปลาเป็น มันจะว่ายทวนน้ำขึ้นไป แล้วเราจะมีความร่มเย็นเป็นสุขเพราะเราเป็น “ปลาเป็น” ไม่ใช่ “ปลาตาย” เอวัง