เทศน์เช้า

เทศน์ก่อนเวียนเทียน (วันมาฆบูชา)

๑๓ ก.พ. ๒๕๔๙

 

เทศน์ก่อนเวียนเทียน (วันมาฆบูชา)
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เดี๋ยวเราจะเวียนเทียนกัน เหตุผลที่จะเวียนเทียน เราเวียนเทียนเพื่อเป็นการเคารพ เราจะเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าก่อน ด้วยตรัสรู้ธรรมไง แล้วสั่งสอน สั่งสอนเรื่องของหัวใจ เรามองกันเรื่องการสั่งสอน เรื่องของสมองคือการจำ เป็นวิชาการ เราต้องมีสมอง เราต้องคิดเป็น เราต้องทำเป็น คิดเป็นทำเป็นนี่เป็นเรื่องโลก ๆ นะ

แต่ถ้าเรื่ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนี่มันเรื่องของหัวใจ หัวใจดูสิ เราไม่ได้ใช้ความคิดเลย เราอยู่เฉย ๆ เราก็มีความสุขความทุกข์ เวลาเรานั่งอยู่บ้าน เวลาเราทุกข์ใจ มันจะให้คิดอะไรล่ะ? มันเป็นความคิดนะ ความคิดมันย่อยสลายลงแล้วมันเป็นความรับรู้ของใจ ความคิดนี่ถ้าคิดดีมันก็เป็นคุณประโยชน์กับเรา ถ้าคิดเบียดเบียนตัวเอง คิดจะทำสิ่งต่าง ๆ ที่มันไม่เป็นประโยชน์กับเราให้โทษกับเรา คนที่ทำดีทำชั่วนี่เขาต้องคิดก่อน ความคิดนี่คิดเสร็จแล้วผลรองรับไปอยู่ที่ใจ

ครูบาอาจารย์ถึงสอนว่า “กิเลสไม่ใช่เรา” กิเลสคือความต้องการ คือความอยากได้ของมัน มันคิดต้องการอยากได้ มันก็ให้เราทำ พอทำเสร็จแล้วกิเลสมันก็หายไป ไอ้หัวใจเรานี่รองรับ รับสิ่งที่ทำดีทำชั่ว สิ่งที่ทำไม่ดีกับเรามันก็ตกอยู่ที่ใจ ใจก็เลยมีกรรม พอใจมีกรรมเวลาเกิดตาย ๆ มันก็เกิดตายตามสภาวะของกรรม เห็นไหม เกิดดี เวลาเกิดดี ทำไมเราอยากเกิดเป็นคนที่มีสถานะ เกิดเป็นคนดี เกิดสิ่งที่ว่ามีบุญกุศลมาก ๆ

แต่ทำไมมันเกิดไม่ได้ล่ะ? มันเกิดไม่ได้เพราะใจเราไม่ได้ทำไว้ไง ใจของเรามันไม่มีสถานะนี้รองรับ เวลาไปเกิดก็เกิดในอำนาจของกรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ไง มันถึงว่าวิชาการทางโลกเป็นอันหนึ่ง วิชาการทางธรรมเป็นอันหนึ่ง วิชาการทางธรรมนะ ใครบ้างอยากจะทุกข์อยากจะยาก ใคร ๆ ก็อยากสะดวกสบาย ทำไมเวลาครูบาอาจารย์เราบวชแล้วต้องออกป่าออกเขาล่ะ? ออกไปเพื่ออะไร? อยากสะดวกอยากสบาย การสะดวกสบาย เห็นไหม

การกินอิ่มคือร่างกายสมบูรณ์มันก็อยากจะเที่ยวเตร่ไปประสามัน เวลานอน การกินและการนอนนี่มันทำให้เราต้องการ ตัณหาความทะยานอยากเกิดจากการกินและการนอน เราเวลาบวชแล้วถือธุดงควัตร เข้าป่าเข้าเขาแล้วยังอดอาหารอีก เพื่อจะบั่นทอน บั่นทอนไอ้ความอยากในหัวใจนี่ อดนอน เห็นไหม เวลาอดนอนขึ้นมานี่ง่วงมาก เวลาง่วงมากทุกข์มาก พอมันง่วงมากมันก็มาอยู่ตรงนี้หมดไง พออยู่ตรงนี้เรามีโอกาสจะต่อสู้กับมัน ทุกคนอยากสะดวกสบาย ถ้าสะดวกสบายมันก็จมอยู่ในโลกนี้ เราจมกันอยู่ในโลกนี้แล้วเราก็สร้างบุญกุศล เพราะสร้างบุญกุศลตามประสาโลกก็เป็นอามิส

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน บอกกับพระอานนท์ไว้ให้บอกบริษัท ๔ อุบาสก อุบาสิกา บอกให้ “ปฏิบัติบูชา” การปฏิบัติบูชามันจะไปแก้ไขหัวใจเราให้มันผ่องแผ้ว ดูสิ ดูธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ แม้แต่การเดินบนถนนนี่เราให้ทางเขาก็เป็นบุญนะ บุญเกิดได้ตลอดเวลาเลย

ดูสิ ในปัจจุบันนี้ เอารัดเอาเปรียบกัน แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน การชิงดีชิงเด่นกันแก่งแย่งกันเป็นเรื่องของกิเลส แต่ถ้าเป็นสุภาพบุรุษสิ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วนะ สุภาพบุรุษจะลุกให้สุภาพสตรีนั่ง ประเพณีวัฒนธรรมสิ่งที่ดี ๆ ในศาสนานี่มันจะน้อยไป ๆ เพราะอะไร? เพราะมันต้องแข่งขัน มันต้องเอารัดเอาเปรียบกัน สิ่งที่เอารัดเอาเปรียบกันเป็นเรื่องของโลก แต่เป็นเรื่องของธรรมนะ เราจะให้อภัยกัน นี่สุภาพบุรุษจะให้สุภาพสตรีได้ที่สะดวกสบายก่อน แล้วการไปในสังคม เราเป็นคนที่แข็งแรงเราจะให้คนอ่อนแอ เราจะให้คนที่เป็นคนพิการหรือคนต่าง ๆ จะได้รับประโยชน์จากเราก่อน ศีลธรรมอย่างนี้ จริยธรรมอย่างนี้ มันเกิดจากไหนล่ะ? มันเกิดจากศาสนาไง

ศาสนาสอนให้มีการฝึกฝน สอนว่าอย่างนี้แล้วทำสภาวะแบบนี้มันจะได้อะไร? ได้บุญขึ้นมาก็ได้ความภูมิใจหนึ่ง เราเป็นคนดี เราเป็นคนเสียสละ เราให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข เราจะไม่แข่งขันกับเขา การแข่งขันนั้นถ้าเป็นหน้าที่การงานเป็นธุรกิจ แต่นี่การแข่งขันนั้นเป็นธรรม แต่การเบียดเบียนเขา การแก่งแย่งการชิงดีชิงเด่นเขา สิ่งนี้เป็นกิเลส

การกระทำต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นกิเลสไปทั้งหมดนะ การทำคุณงามความดีนี่เป็นธรรม ความอยาก...อยากทำบุญ อยากเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ อยากอุปัฏฐากพ่อแม่ อยากช่วยเหลือคนทุกข์คนยาก ความอยากอย่างนี้ไม่ใช่กิเลสหรอก ความอยากอย่างนี้เป็นคุณประโยชน์ ความเป็นคุณประโยชน์ความอยากมันก็แบ่งออก ความอยากที่เป็นโทษกับความอยากที่เป็นคุณงามความดี ถ้าเรามีความอยากทำคุณงามความดี ความอยากฝืนกับใจของเรา มันอยากจะสะดวกอยากสบาย อยากจะทำตามอำนาจของใจ เราก็ยับยั้งด้วยสติ

แล้วถ้ายับยั้งด้วยสติใครเป็นคนสอนล่ะ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนภาคปฏิบัติขึ้นมาจนถึงที่สุด วันนี้เป็นวันพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์จะมีลูกศิษย์ลูกหาบอกบารมีว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์มีบารมีมากขนาดไหน จะเป็นเอหิภิกขุ คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะสั่งสอนด้วย นี่วันมาฆบูชาวันนี้

เอหิภิกขุคือพระที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบวชให้ด้วย แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการสั่งสอนเรื่องของการประพฤติปฏิบัติในหัวใจด้วย จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไง นี่ใครเป็นคนสอนล่ะ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นคว้าธรรมอันนี้ขึ้นมา ไปประพฤติปฏิบัติอยู่กับเจ้าลัทธิต่าง ๆ อยู่ตั้ง ๖ ปี ที่ไหนเขามีคุณงามความดี เหาะเหินเดินฟ้าขนาดไหนก็ไปศึกษากับเขา มันไม่ได้ชำระกิเลสเลย ย้อนกลับมาค้นคว้าอยู่อย่างนี้จากภายใน จากภายในนะ

ความคิดเรานี่ สิ่งที่เราว่าความคิด เวลาเราบอกความคิดนี่ไม่มีใครรู้หรอก เราคิดอะไรใครจะรู้ทันเรา ความคิดเป็นความลับของเรา ความคิดนี่มันเกิดจากใจ มันหยาบมาก ไม่ใช่สิ่งที่ละเอียดเลย สิ่งที่ละเอียดกว่านั้นอีกนะ ละเอียดกว่าความคิดนี้อีกเพราะอะไร? เพราะมันเป็นพลังงานในหัวใจ พลังงานหัวใจมันเสวยอารมณ์ มันเสวยออกมามันถึงเป็นความคิด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ สอนให้เราตั้งสติให้ทำความสงบของใจเข้ามา ความสงบของใจเข้ามาแล้วก็ไปค้นคว้าไง ค้นคว้าว่าสิ่งที่เราชอบใจเราก็อยากอยู่กับเรา เราไม่ชอบใจเราก็พยายามผลักไส

ตัณหาไง ตัณหาวิภวตัณหาเป็นสมุทัย สมุทัยนี่เป็นยางเหนียว เป็นสิ่งที่เคยใจ เราเคยกินข้าวกินปลากินอาหารที่อร่อย เราอยากกินอีกไหม? เราอยากกิน นี่ความอยากอันนั้นเป็นสมุทัย เพราะอะไร? เพราะมันประสบไง มันจะมีสมุทัยขึ้นมาได้มันต้องมีสัญญา สัญญาคือความจำ ความจำได้หมายรู้ ความสิ่งต่าง ๆ มันเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มันถึงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ ในธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ สิ่งนี้มีอยู่ แต่เพราะสิ่งที่ไปเสวยอารมณ์อย่างนั้น

เราบอกความคิดนี่เป็นความลับ ความคิดของเราไม่มีใครรู้...เทวดารู้ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นเรื่องของนามธรรม เพราะเทวดาไม่มีร่างกายเหมือนเรา แต่มีความรู้สึกมีจิตเหมือนกัน นี่มันเข้าใจได้หมด สิ่งที่เข้าใจได้หมดเทวดาเขาเห็นสิ่งนี้ เขาเห็นสิ่งนี้เขาจะรู้ว่าคนนี้คิดดีคิดชั่ว คนคิดดีคิดชั่ว ดูสิ ดูในเวลาที่ว่าคนทำคุณงามความดีมันมีสิ่งที่ปกป้องสิ่งที่คุ้มครอง เทวดาคุ้มครอง ๆ

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “คนที่เกิดมานี่ไม่เคยเป็นญาติไม่เคยเป็นพี่น้องกันมานี่ไม่มี” เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์วิชชา ๓ นี่ วิชชา ๓ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไปไม่มีวันที่สิ้นสุดเลย เวลาจุตูปปาตญาณ ย้อนไปอนาคต สัตว์นี่ถ้ายังมีพลังงานตัวนี้อยู่มันจะเกิดตาย ๆ ตลอดไป

แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด มันจะจบสิ้นกันตรงปัจจุบันนี้ ถ้าจบสิ้น จบสิ้นแล้วไม่มีความรู้สึกหรือ? จบสิ้นแล้วมีความรู้สึกนะ จิตนี่มันจะรับความสุขอันละเอียดมากกว่าที่ว่าสุขเวทนา เราอยากได้ของที่เรารักมาก อยากได้ของที่ปรารถนามาก เราได้มาเราจะมีความสุขชั่วคราว พอมันเก่าชราคร่ำคร่าเราก็อยากได้ใหม่ ความสุขอย่างนี้เกิดจากอามิส มันเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา ความสุขความทุกข์อันนี้มันเกิดจากสังขารปรุงแต่ง เพราะมันอยากได้อะไรแล้วสมความปรารถนามันก็เป็นความสุขของมัน

แต่ถ้าสิ้นกิเลสนะมันไม่ใช่สุขเวทนา มันเป็นความสุขที่หนึ่งเดียวที่ไม่กระทบ เราพอใจสิ่งใดแล้วตอบสนองมัน พอได้รับความตอบสนองแล้วมันจะมีความสุข แต่ถ้าจิตมันดับสิ้นซึ่งของมันนะ สิ้นด้วยจะไม่ต้องไปเกิดไปตายอีก มันเป็นธรรมชาติอันนี้ มันมีความสุขของมัน เพราะมันอิ่มพอมันเต็มในตัวของมัน ตัวจิตนี้เต็มในตัวของมัน เห็นไหม บอกว่าถ้านิพพานแล้วไปไหนล่ะ? จุตูปปาตญาณ จิตนี่ตายเกิด ๆ ไปตลอด มันต้องเกิดไปถ้ามันมีพลังขับเคลื่อนตัวนี้ แล้วถ้าสิ่งนี้มันทำลายจนหมดสิ้นไปนี่มันเสวยวิมุตติสุข มันจะไม่เกิดอีกเลย

แต่มันมีอยู่ไง เวลาสิ้นสุดกระบวนการแล้วเราจะไม่มีสิ่งใดเป็นสมบัติของเราเลย เราจะไปอยู่กันที่ไหน นี้เป็นความคิดของเรา เป็นความคิดของโลก เป็นความคิดของสิ่งที่ว่ามันตอบสนองกันอย่างไร แต่ถ้าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์อยู่นี่ ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ต่างฝ่ายต่างได้สัมผัสถึงความสุขอันนี้เหมือนกัน นี่ในศาสนาเราสอนเรื่องคุณสมบัติอย่างนี้

ความละเอียดอ่อนอย่างนี้ มันยิ่งกว่าศีลธรรมประเพณีวัฒนธรรมที่ว่าสุภาพบุรุษสุภาพสตรีที่เราให้เกียรติกัน ให้บุญกุศลต่อกัน เราให้ทางกัน เราให้อภัยต่อกัน สิ่งนี้มันเป็นเรื่องโลก ๆ นะ ความโลก ๆ อย่างนี้ยังทำให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขเลย ในศาสนาพุทธของเรา ดูสิ ที่ว่าสยามเมืองยิ้ม ๆ นี่ มันยิ้มออกมาจากใจไง ในหัวใจเรานี่มันมีความรู้สึก มันมีความอิ่มเอมของมัน มันยิ้มออกมาจากหัวใจ แต่โลกทางตะวันตกเขานี่เขายิ้มของเขาเป็นมารยาท สิ่งที่มารยาทออกมานี่มันแกน ๆ มันถึงไม่ซึ้งใจไง

ดูสิ ขนาดแค่การแสดงออกของจิตที่มันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัย แก้วสารพัดนึก แก้วสารพัดนึกนะ เราจะศึกษาเราจะซึมซับศาสนาได้มากน้อยขนาดไหน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ซึมซับไปจากเรา เราทำบุญกุศลขนาดไหน เวลาเราตายไป เราเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ถ้ามันมีบุญกุศลขับเคลื่อน เกิดแน่นอน! ตายแล้วเกิดแน่นอน! เพราะอะไร? เพราะตัวความรู้สึกนี้ทำลายไม่ได้

เวลาเขาโกรธแค้นกัน เขาทำลายกัน เขาฆ่ากัน ฆ่าได้แต่ร่างกาย แต่ไม่มีใครสามารถฆ่าหัวใจดวงนี้ได้ ความรู้สึกอันนี้ฆ่าไม่ได้ ถ้ามันมีพลังงานของมัน มันจะไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม แต่เพราะมันมีรัตนตรัย มีแก้วสารพัดนึก มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันเข้าใจธรรมะไง

ธรรมะคือความแปรปรวนไปของธรรมชาติ ธรรมะนี่เป็นธรรมะ คือธรรมชาติที่มันแปรปรวน แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าธรรมเหนือธรรมชาติที่ไม่แปรปรวน ธรรมะที่แปรปรวน ธรรมอันนี้เทวดาในศาสนาพุทธเราถึงมีธรรม ธรรมคือความรู้สึกอย่างนั้น เพียงแต่ว่าโดนกิเลสปิดตา เวลาไปเกิดเป็นเทวดาก็มีความสุขก็ไปเพลินอยู่ตรงนั้นไง ไปเพลินนะ

คนเราเวลาสุขไม่ค่อยคิดอะไรหรอก เวลาทุกข์นี่คิดถึงชีวิตเรามากเลย ถ้าเวลาสุขเพลินกับความสุขของเรา ลืมคิดถึงคนรอบข้าง ลืมคิดถึงคนต่าง ๆ นี่คนรอบข้างนะ คนรอบข้างคือคนผูกพัน คนที่เรารักมากเรายังลืมเลย แล้วธรรมะมันละเอียดกว่านั้นอีกเพราะมันซ่อนอยู่ในหัวใจไง

แก้วสารพัดนึกนี่สามารถเลื่อนขั้นของเทวดาได้ เพราะเทวดาไปทำคุณงามความดีในเทวดาได้ เขาจะเกิดเป็นพรหมเขาจะเลื่อนชั้นของเขาขึ้นมาได้ นี่ถ้าเป็นเทวดาของในศาสนาพุทธเรามันจะเลื่อนชั้น คือว่าอยู่ในวัฏฏะนี่หมุนเวียนได้ แต่ถ้าเป็นคนทำคุณงามความดีโดยธรรมชาติโดยที่ไม่มีแก้วสารพัดนึกนะ ถ้าเขาทำความดีก็คือความดี แต่เขาไปอยู่สถานะไหนเขาก็อยู่สถานะนั้น เพราะเขาไม่มีธรรมะ

ธรรมะคือความเข้าใจในสัจธรรม สัจจะคือวัฏฏะ สัจจะคือความจริง สัจจะคือสิ่งที่หัวใจกระทบอันนี้ มันจะเวียนไปตามธรรมชาติอันนั้น นี่แก้วสารพัดนึก ขณะนี้เราเป็นมนุษย์ เราพบพุทธศาสนา วันนี้วันสำคัญของทางศาสนา “วันมาฆบูชา” เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก็ตรัสรู้ธรรม แล้วเทศนาว่าการธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นี่ให้กับพระสาวก พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติเข้าไป

มนุษย์ผู้ที่มีหัวใจมีสิทธิเสมอภาค ถ้าเราทำประพฤติปฏิบัติขึ้นมา หัวใจเราสามารถบรรลุธรรมได้ทุก ๆ คน ทุก ๆ คนเราเสมอภาคกันโดยเป็นญาติธรรมด้วยการเกิด เป็นมนุษย์มีกายและใจ ประพฤติปฏิบัติไปถ้าซึ่งถึงธรรมทุกคนก็เสมอภาคด้วยกันทั้งหมด ความเสมอภาคอันนี้เกิดมาจากเรา เกิดจากเราเกิดจากไหนล่ะ? เกิดจากเราที่มีสติ เราพบพุทธศาสนา เราจะตักตวงผลประโยชน์ในศาสนา

วันนี้นี่ศาสนา ในสังคมของชาวพุทธ รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญทางศาสนาเรามาเวียนเทียน เรามาเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อหัวใจของเรา ในเมื่อมีหัวใจ มีศรัทธา มีความเชื่อ ก็พาให้ร่างกายนี้มา คนตายมาไม่ได้ คนเป็นมาได้เพราะมันมีจิตใจมีความรู้สึก มีจิตในร่างกายมันพาเรามา แล้วเราจะเวียนเทียนของเราเพื่อเอาบุญกุศลใส่ใจได้มากได้น้อย เดี๋ยวเวียนเทียนใครมีสติคนนั้นก็ได้มาก ใครทำเพื่อเรา เห็นไหม

บุญกุศลเป็นนามธรรมที่ละเอียดอ่อนมาก อาหารการกินนี่ใครเจือจานใครก็ได้ แต่เรื่องบุญกุศลครูบาอาจารย์เป็นคนชี้นำ พระพุทธเจ้าเป็นคนชี้นำ แล้วพวกเราเป็นคนตักตวงเอาเอง ใส่หัวใจของเราได้มากได้น้อยอยู่ที่สติของเรา เดี๋ยวเราจะพาเวียนเทียนนะ เวียนเทียนเพื่อเรา เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สุดท้ายแล้วผลประโยชน์ที่ได้รับคือหัวใจของเรา เอวัง