เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ มี.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เกิดมาได้พบได้เห็น สิ่งที่ได้พบได้เห็นแล้วมีสติสัมปชัญญะ นี่ถ้าสังคม สังคมต้องซับซ้อนอย่างนี้ สังคมได้รับการซับซ้อนได้รับบทเรียนขึ้นมา สังคมจะเข้มแข็งขึ้นมา ถ้าสังคมเข้มแข็งขึ้นมากฎหมายแทบไม่มีความหมายเลย

ธรรมและวินัย ธรรมคืออะไร ความถูกต้อง ธรรม เห็นไหม แล้วธรรมก็มีหยาบมีละเอียดอีก ธรรมก็มีหยาบๆ ขึ้นไป ขนาดธรรมหยาบๆ นะ เราว่าหยาบๆ หยาบๆ คือว่าแค่ทำความสงบของใจยังทำได้แสนยากเลย ทำได้แสนยากนะ แล้วดูสิ ดูเวลาเราจะให้สังคมมันสงบ สังคมมาจากไหนล่ะ

เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ท่านบอกว่าใจคึกคะนอง ใจคึกคะนองคือเราแสดงออก นี่เวลาเราแสดงออก เวลามีความรู้สึกมันจะไปทั้งหมดเลย แล้วเวลาโกรธ เห็นไหม เวลาโกรธเวลาต่างๆ กิริยามันแสดงไปโดยเราไม่รู้ตัวเลย นี่ใจคึกคะนองทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายมันแสดงออกมาจากใจ

สังคมก็เหมือนกัน สังคมมาจากไหน สังคมมาจากมนุษย์รวมตัวขึ้นมาเป็นสังคม เห็นไหม สังคม ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดในพระไตรปิฎกนะ “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่โง่กว่าสัตว์” เพราะสัตว์มันไปตามธรรมชาติของมัน มันจะบินไปก็ได้ มันทำอะไรก็ได้ มันมีอิสระภาพของมัน แต่มนุษย์ต้องมีกติกาสังคมไง สร้างกติกาขึ้นมาแล้วก็ติดกติกาของเราเอง อันนี้คือวินัยไง คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม

แต่ธรรมล่ะ ธรรมละเอียดกว่า เราอยู่ในสังคม อยู่ในกติกานั้นแต่เราไม่ติดกติกานั้นเลยอย่าง อย่างเช่นเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม เรือนว่างๆ นี่ใจมันปล่อยหมด เรือนว่างแต่มีคนอยู่ คือมีความรู้สึกอันนั้นอยู่ที่เราปล่อยไว้ขนาดนั้น

ก็เหมือนกัน ถ้าสังคม กติกาสังคมก็คือกติกาสังคม คือสมมุติขึ้นมา ถ้าหัวใจของเรานี่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา สิ่งนี้มันก็เป็นสิ่งที่เราไม่ไปทำความผิดพลาดของมัน มันไม่มาบีบคั้นเราหรอก แต่ถ้าเราจะทำความสะดวกสบาย มันจะมีความบีบคั้น การแสดงออกเห็นไหม กติกามันเริ่มมีกฎระเบียบขึ้นมา จะบังคับสังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข แต่สังคมขนาดไหน ที่ว่าเห็นไหม เราจะพัฒนาแล้ว ออกกฎหมายมาดีขนาดไหน แต่คนถ้าไม่ได้พัฒนามามันไม่ยอมรับหรอก หรือกฎหมายขนาดไหนมันก็จะหลบเลี่ยงของมันไป แต่ถ้าหัวใจมันดีขึ้นมานะ กฎหมายไม่มีความจำเป็น เพราะมันทำความผิดไม่ได้ สิ่งนี้ทำความผิดไม่ได้เพราะอะไร? เพราะจิตใจมันพัฒนา สังคมก็ต้องพัฒนาอย่างนั้นเหมือนกัน

แล้วย้อนกลับมาที่ใจของเราสิ ใจของเราจะมีความคิดแตกต่างกันไป ความคิดแตกต่างกันไป เพราะว่าสังคมมันพัฒนาขึ้นมา แต่หัวใจมันมีการกระทำของใจ การเกิดตาย การสะสมของใจขึ้นมาเป็นจริตนิสัย

นี่สังคมๆ หนึ่ง จิตดวงหนึ่ง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎก เห็นไหม คนเรานี่เกิดตายเกิดตาย ถ้านับชาติของเราขึ้นมา ตั้งแต่เกิดมาเราร้องไห้เราเสียใจขึ้นมานี่ น้ำตาของเรารวมกันแล้วตั้งแต่อดีตชาติมานี่น้ำทะเลสู้ไม่ได้นะ แต่มันระเหยไป มันหมุนเวียนไปตามธรรมชาติของมัน ถ้าเก็บสะสมไว้ไง

สิ่งนี้ดูความซับซ้อนของจิต ถ้าจิตมันเกิดการตายขึ้นมานี่ มันสะสมมาขนาดนั้น นี่การพัฒนาจากภายนอก สิ่งที่สังคมภายนอกพัฒนาขึ้นมา มันก็เจริญขึ้นมา แต่การพัฒนาภายใน ถ้าพัฒนาภายใน เห็นไหม จิตมันสะสมมาจนมันเป็นจริตเป็นนิสัย จริตนิสัยอันนั้นมันทำให้เป็นอามิส สิ่งที่เป็นอามิส เห็นไหม เกิดขึ้น การกระทำมันต้องขับเคลื่อนไปตลอดเวลา แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันชำระล้างอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้ถึงละเอียดไง

ดูสังคมข้างนอกแล้วดูสังคมข้างใน สังคมข้างนอกมันเป็นสภาวะแบบนั้น เรายังปรารถนา เราต้องการให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข เราออกไปเคลื่อนไหวกันก็เพื่อสร้างสมบุญญาธิการ สร้างสมบารมี เห็นไหม ดูพระโพธิสัตว์ก็ต้องสร้างสมบุญญาธิการอย่างนี้เหมือนกัน

แต่ถ้าย้อนกลับมาในหัวใจของเรา นี่สร้างสมมาอย่างนี้มันก็มีความฉลาด มันมีความฉุกคิดนะ ความฉลาดคือความฉุกคิด ตั้งประเด็นถามตนเองว่าชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาเพื่ออะไร เวลาเราเกิดมาเป็นสังคมขึ้นมา พ่อแม่เราต้องกตัญญู พ่อแม่คือพระอรหันต์ในบ้านของเรา เรากตัญญูกับพ่อแม่ของเรา เราเกิดมาเรามีพ่อแม่ ต่อไปเราก็จะเป็นพ่อแม่ไป มันก็จะซับซ้อนอย่างนี้ตลอดไป มันเป็นอนิจจัง มันเวียนไปอย่างนี้ สภาวะแบบนั้น นี่ก็เป็นเรื่องของโลกกันไป แต่ถ้าหัวใจขึ้นมา เราเกิดขึ้นมาแล้วเราเกิดมาจากไหน? เราเกิดมาจากพ่อแม่ พ่อแม่เป็นแดนเกิด นี่เรามีแดนเกิด เกิดในประเทศอันสมควร

ถ้าแดนเกิด ดูสินางวิสาขา นางวิสาขานะ เกิดมา ๗ ขวบเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม เวลาแต่งไป แต่งไปในตระกูลของมิจฉาทิฏฐิ กว่าจะได้ออกมาทำบุญ พระโสดาบันไม่ถือมงคลตื่นข่าว ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นพระสงฆ์เห็นอะไรอยากทำมากเพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เราได้ประโยชน์มาจากพระรัตนตรัย ถ้าได้ประโยชน์จากรัตนตรัย เพราะเราทำขึ้นมาใจเราเป็นอริยสัจจากภายใน นี่เวลาเห็นสิ่งสภาวะแบบนั้นใจมันอยากจะกระทำ แต่ทำไม่ได้ เพราะสังคม เพราะมิจฉาทิฏฐิ เขาไม่ทำบุญกุศล เห็นไหม กว่าจะใช้อุบายวิธีการจนดึงเขามาได้ทั้งหมดนะ ดึงครอบครัวมาเป็นศากยบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เกิดในประเทศอันสมควร แล้วนี่เวลากรรมมันซัดไป ซัดไปในสภาวะแบบนั้น ไปอยู่ในครอบครัวที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ครอบครัวที่นับถือลัทธิต่างๆ เขาไม่นับถือศาสนาพุทธ เขาต้องขวนขวาย ต้องกระทำ

จิตก็เหมือนกัน การเกิดและการตาย ในประเทศอันสมควร ถ้าสมควรเกิดขึ้นมาแล้วนี่ เราจะเอาไหมหรือไม่เอา เอา เห็นไหม ดูสิเราเกิดมาในพุทธศาสนา ศาสนาคืออะไร? เราก็มองกันไปนะนี่ สังคมเจริญ สังคมเสื่อม แต่หัวใจเจริญหัวใจเสื่อมไม่ได้มอง ถ้าหัวใจเจริญหัวใจเสื่อม เห็นไหม นี่ศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองขนาดไหน

โคนต้นไม้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้โคนต้นโพธิ์ ในการประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมาถ้าเราย้อนกลับมานี่ มันเจริญมันเสื่อมในหัวใจ ถ้าจิตเราสงบร่มเย็น ถ้าเราพัฒนาของเราขึ้นมาร่มเย็น เห็นไหม

นี่ดูสิ ดูพระโมคคัลลานะสิ เป็นพระอัครเบื้องซ้าย ทำไมให้โจรทุบจนแหลกไปทั้งหมดเลย นี่ทุบแหลกก็ทุบแต่ร่างกาย สังคมนั้นไง แต่หัวใจไม่สะเทือนเลย ถ้าไม่สะเทือน เห็นไหม เวลามันสุข มันสุขทุกข์อยู่ในใจ ศาสนานี่ ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำคัญที่สุด แล้วคำสั่งสอนมันเป็นทฤษฎี เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน แล้วเราทำของเราขึ้นมาได้ไหม ถ้าทำของเราขึ้นมาได้ สิ่งนี้มันเป็นความรู้สึกเกิดขึ้นจากภายใน เป็นสันทิฏฐิโก เป็นความรู้สึก เป็นความสัมผัส ถ้าความสัมผัสมันก็อยู่กับโลกเขาโดยสภาวะแบบนี้

โลกธรรม ๘ เวลาเกิดสิ่งที่ว่าติฉินนินทา มันทิ่มแทงหัวใจมหาศาลเลย แต่เวลาเราสุข สุขชั่วคราว เห็นไหม สุขชั่วคราวนะ เพราะสิ่งนี้มันเป็นเวทนา สิ่งนี้เป็นเวทนา มันเป็นอนิจจัง มันเกิดดับๆ สภาวะแบบนั้น แต่ถ้าเราพัฒนาขึ้นไปเป็นสมาธิขึ้นมา นี่มันฝังใจมากกว่า ฝังใจมากกว่าเพราะอะไร? เพราะมันเกิดจากใจ ความสุขเกิดจากใจขึ้นมา โดยธรรมชาติของมันในหัวใจของเรา

สิ่งนี้เป็นธรรมๆ ที่ว่าเขาไม่เป็นธรรม ที่ว่าปฏิบัติขึ้นมานี่สัมผัสธรรม เวลาจะสัมผัสธรรม นี่หัวใจสัมผัส สิ่งนี้ศึกษาจากภายนอก แล้วเรามองจากภายนอก เราจะตื่นกับภายนอกไปไม่ได้ สิ่งที่ภายนอกคือสังคมนี่เป็นอนิจจังทั้งหมดเลย สิ่งใดใครสร้างใครสมขึ้นมา งานของโลกไม่มีวันจบสิ้นหรอก นี่ดูสิดูวัดวาอารามจะสวยงามขนาดไหน มันก็ต้องมีการซ่อมแซมบำรุงรักษาตลอดไป แต่หัวใจนะ มันเวลาเกิดตายเหมือนกับอารมณ์ความรู้สึกเรา เราจะจรรโลงให้มันอยู่ตลอดไปได้ไหม มันก็ต้องอนิจจังเหมือนกัน

แต่เราประพฤติปฏิบัติไป อกุปปะ นี่สิ่งที่มันคงที่ๆ มันมีอยู่นะ สิ่งคงที่มันมีอยู่ในหัวใจเรา เราแบ่งแยกให้ได้ สิ่งที่เป็นกุศลอกุศล สิ่งนี้เป็นกุศลคุณงามความดี อกุศล เห็นไหม นี่ข้ามทั้งดีและชั่ว แม้แต่ความดีเป็นพาหะเครื่องดำเนิน ต้องอาศัยความดีเดินไปก่อน ที่ว่าไม่ให้ติดอะไรเลย จะไม่ทำอะไรเลย สิ่งนี้มันเป็นสวะลอยน้ำนะ ชีวิตเราไม่ใช่สวะลอยน้ำ ชีวิตเรามันมีคุณค่า ต้องใช้สิ่งที่ว่าเป็นอาการของใจ คือสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เข้าไปแก้ไขมัน ถ้าเราบอกว่าปล่อยวางๆ เราคิดของเราเองโดยกิเลสมันหลอกนะ นี่สิ่งนี้ปล่อยวางแล้ว เราเข้าใจแล้ว เรารู้แล้วนี่ มันเป็นสวะลอยน้ำทั้งนั้นน่ะ

อามิสก็เหมือนกัน ถ้าการกระทำของกรรม กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างกัน กรรมก็จำแนกอารมณ์ความรู้สึกให้เป็นอารมณ์ความรู้สึกของเรา แต่ละอารมณ์ความรู้สึกก็ต่างกัน เห็นไหม ทำความสงบของใจ วันนี้ลึกซึ้งมาก มีความสงบร่มเย็นมาก ทำความสงบอีกทำไมมันสงบ มันชั่วคราว ทำไมมันไม่มีความสุขเท่าอันเดิมล่ะ เพราะอันเดิมมันเป็นครั้งแรก มันมีความเห็นครั้งแรก ความประสบครั้งแรกมันจะดูดดื่มมาก ถ้าต่อไปความสุขมันก็เริ่มจางลงๆ แต่มันก็เป็นความสุขอันเดียวกันนั่นแหละ แล้วถ้าเราพยายามชำนาญในวสี ตั้งสติไว้ มันจะละเอียดเข้าไปจนมันคงที่ สิ่งนี้คงที่สิ

นี่เรามีทุนนะ ทุนของเราน่ะขาดเขิน ทุนของเราไม่พอ เราจะทำธุรกิจได้อย่างไร ทุนของเราต้องมีจำนวนพอหรือต้องมีจำนวนมากกว่า ดูสิทุนมหาศาลเลย เรากำหนดธุรกิจไม่ต้องใช้ทุนขนาดนี้ เราทำได้สบายมากเลย จิตก็เหมือนกัน อัปปนาสมาธินี่มันเข้าไปลึกมาก ทุนหนาแน่นมาก แต่เวลาจะใช้สอยออกมาอุปจาระ สิ่งนี้มันออกมาวิปัสสนาได้ มันใช้ปัญญาได้

สิ่งที่ว่ามันสงบขึ้นมานี่ ถ้ามันสงบจนชำนาญ เห็นไหม วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ วิตก วิจาร พุทโธๆๆ หรือใช้ความคิดพิจารณาเป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่วิตก วิจาร ปีติ มันเกิดปีติ เกิดสุข เห็นไหม ปีติแล้วผ่านเข้าไปที่สุขก่อน ปีติคือสิ่งที่จิตเกิดสัมผัสนั้น แล้วเราจะไปติด จะต้องให้เป็นอย่างนั้น ต้องมีความสุขอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ มันละเอียดเข้าไป สิ่งที่มีความละเอียดเข้าไปเราก็ไม่เข้าใจ เราต้องการสิ่งที่หยาบๆ เห็นไหม

นี่ถึงว่าอารมณ์หยาบๆ สังคมหยาบๆ ต้องการความสัมผัสหยาบๆ นั้น ไม่ต้องการทำจิตให้ละเอียดเข้าไป จากปีติมันก็เป็นความสุข จากความสุขนั้นมันเป็นจิตตั้งมั่น เอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น เห็นไหม มันละเอียดอ่อน สุขอันละเอียดอย่างนี้ไม่ใช่เวทนา สุขอันจากภายในนี่มันไม่ใช่เวทนา แล้วมีฐานอย่างนี้แล้วออกมาวิปัสสนา เห็นไหม ความละเอียดเข้าไป ใช้ปัญญาเข้าไป ปัญญาอย่างละเอียด ปัญญาอย่างละเอียดนะ ไม่ใช่ปัญญาวิชาชีพปัญญาของเราอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้เราใคร่ครวญเข้าไป มันส่งต่อเนื่องกันไปจนเป็นภาวนามยปัญญาเข้าไป จะไปชำระสิ่งที่ว่าสิ่งที่เป็นสสาร สิ่งที่เป็นเชื้อไขของจิตที่พาตายพาเกิดไง

การกระทำของกรรม กรรมทำให้จิตนี้เกิดสะสมมาเป็นจริตนิสัย แต่ถ้าเป็นอริยสัจเข้าไปนี่มันจะไปชำระสิ่งที่เป็นเชื้อไขที่ให้กรรมอาศัย อนุสัยสิ่งนี้นอนเนื่องอวิชชาสิ่งนี้นอนเนื่องกับจิต มันมีอยู่กับเราตลอดไป เหมือนกับอย่างน้ำนี่ ถ้าเราเติมสีสิ่งใดไปมันจะเห็นสีนั้น ถ้าน้ำอยู่ในแก้วใสๆ เราคิดว่าน้ำนั้นไม่มีเลย

จิตก็เหมือนกัน กรรมคือสีที่ให้แสดงตัวออกมา จิตมันแสดงตัวออกมา อารมณ์มันแสดงตัวออกมา แล้วเข้าไปชำระอย่างนั้นๆ จนออกไป เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้เหมือนกับน้ำที่เข้าไปอยู่ในสภาวะที่น้ำสะอาดที่ไม่เห็นสิ่งใดเลย แต่มันก็มีอยู่ น้ำในแก้วนั้นเต็มแก้วเลย นี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลสเพราะจิตเดิมแท้ น้ำนี่พอเราเติมสีลงไป มันก็จะเจือจางเป็นสีต่างๆ ขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีตัวภวาสวะตัวภพอยู่นี่ จิตที่เดิมแท้ๆ อยู่นี่ ถ้ามันมีอารมณ์กระทบเข้าไปมันก็เสวยอารมณ์ มันก็แสดงออกไปๆ ในเมื่อมันยังมีอยู่ ถึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนของใจเข้าไปจับตัวนี้ได้ ทำลายทั้งหมด น้ำก็ไม่มี แก้วก็ไม่มี สิ่งใดก็ไม่มีทั้งหมดเลย แต่มันเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน คือเศษส่วนที่ยังดำรงอยู่ คือเศษส่วน เหมือนกับว่าเราใช้หนี้หมดแล้ว เราจะไม่เป็นหนี้ใครอีกเลย แต่ชีวิตเรายังมีอยู่ไง

แต่ถ้าการเกิดและการตาย การใช้หนี้คือการเกิดตายๆ หนหนึ่งๆ แต่ถ้ากิเลสมันตายไปแล้ว เหมือนกับชำระหนี้แล้วแต่ยังมีชีวิตอยู่ไง ชีวิตนี้เราชำระหนี้หมดแล้ว แต่ชีวิตเราอยู่อีกสิบปี ยี่สิบปี แล้วแต่ว่า นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านดำรงชีวิตมา ชีวิตจะยืนยาวขนาดไหน จะเป็นประโยชน์ขนาดไหนไง ถ้าใช้หนี้หมดแล้วไม่มีหนี้เลย แต่มีร่างกายอยู่ มีเศษส่วนอันนี้อยู่ มันยังกระทบกระเทือนกัน มันยังรับรู้กัน สิ่งที่รับรู้กัน สิ่งนี้สัมผัสกับจิตตลอดไป สัมผัสไง สัมผัสโดยที่ไม่กระทบกับอารมณ์อันนั้น

แต่ของเรานี่มันเป็นขันธมาร ขันธมารคือความรู้สึก ความยึดว่าเป็นเราเป็นต่างๆ...ไม่เป็นเรา เราเข้าใจขนาดไหนมันจิตใต้สำนึกก็เป็น ความรู้สึกอวิชชาก็เป็น มันเป็น แต่ขณะเราปฏิเสธไปเราปฏิเสธจากเบื้องนอก เหมือนกับเราปฏิเสธว่าเราไม่เป็นหนี้ แต่จริงๆ คือเราเป็นหนี้ไง ถ้าเราเป็นหนี้เรายังไม่ได้ใช้หนี้เขา เรายังไม่ได้ใช้หนี้เขาจนจบสิ้น จนเขาไปลบบัญชีของหนี้ออกมาแล้ว อันนั้นมันถึงจบสิ้นกันไป บัญชี เห็นไหม ตัวเลขที่บัญชีอันหนึ่ง แล้วเงินที่เราจะไปชำระก็เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน มรรค ๘ ไง ความเพียรชอบ งานชอบ ความดำริชอบ ความระลึกชอบ ถ้าเป็นความชอบ ถ้าเราบอกเราใช้หนี้แล้ว เขาโกงเรานะ เขาไม่ไปลบบัญชีออกไป บัญชีก็ยังเป็นหนี้อยู่ตลอดไป เหมือนกับเครื่องคอมเพิวเตอร์ โปรแกรมยังมีอยู่ เราไม่ไปลบต้นขั้วว่าเราชนะแล้ว เราใช้กันโดยส่วนตัว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปัญญามันเกิด มันคิดของมัน โลกียปัญญาเราก็ว่ากันไป แต่มันไม่ไปชำระตรงต้นขั้ว ตรงสิ่งที่ว่าเป็นบัญชี เป็นโปรแกรมอันนั้น โปรแกรมอันนั้นคืออะไร? ที่จิต เห็นไหม ชำระจิตๆ มันว่าถึงย้อนกลับเข้ามา การกระทำที่ถูกต้องมันถึงเป็นมรรคญาณ มันถึงเป็นอริยสัจไง นี่เราทำกันแต่ข้างนอก เราทำกันแต่ความรู้สึกของเราจากภายนอก ความรู้สึกภายนอก ความรู้สึกกับอริยสัจ อริยสัจมันละเอียดเข้าไปถึงที่จิต มันมีที่มาที่ไปไง กิเลสมันมีที่มา อริยสัจมันก็ต้องมีที่ไป เข้าไปเห็นไหม ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ อริยสัจต้องมีสภาวะแบบนั้น มันจะหมุนเข้าไปทำลายของมัน

นี่สิ่งที่สังคม สังคมภายนอกก็เป็นเหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติจะเห็นสภาวะแบบนี้เลย เวลาสังคมเขามีปัญหากัน มันมีการต่อต้านกันระหว่างกิเลสกับธรรม ในหัวใจก็เหมือนกัน ธรรมคือสิ่งที่เราสร้างสมขึ้นมา สิ่งที่จะมาเป็นสัมมาสมาธิ สิ่งนี้เป็นปัญญา กิเลสมันมีอยู่แล้วมันจะต่อต้านกัน ทำลายกัน เวลาวิปัสสนาไป คนวิปัสสนาเป็นมันจะมีงานของมันทำนะ

นี่เห็นไหม อยู่กับหมู่คณะไม่ได้ต้องแยกไปๆ เพราะงานมันเกิดตลอดเวลา ความคิดมันเกิดตลอดเวลา ความรู้สึกมันเกิดตลอดเวลา แล้วความรู้สึกนี้มันแสดงออกมาจากใจ แล้วธรรมก็ทำลายกันต่อต้านกันในหัวใจ มันถึงสภาวะจากภายในนะ แล้วชำระกันตรงนี้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “การชนะสงคราม การชนะต่างๆ เกิดก่อเวรก่อกรรมทั้งหมดเลย แต่ถ้าเกิดเราชนะตนเอง เราชนะกิเลสของเรานี่เป็นบุญมหาศาลเลย เพราะชนะตนเองแล้ว”

แล้วพระอรหันต์ทั้งหมด ๑,๒๕๐ องค์ในวันมาฆบูชา สโมสรของพระอรหันต์เห็นไหม นั่งกันเฉยๆ เพราะทำความสงบ จะไม่กล่าวร้ายผู้ใด จะไม่ทำความผิดพลาดสิ่งใด ทำจิตให้ผ่องแผ้ว ทำจิตให้สงบ ความสุขอย่างยิ่งอันนี้ เกิดจากสังคมของพระอรหันต์ ไม่มีการกระทบกระเทือนกัน ไม่มีการบาดหมาง

แต่มันจะหาได้ที่ไหนล่ะ หาได้จากใจของเรานะ ถ้าเราชำระใจของเราแล้ว ใครจะเป็นหรือไม่เป็น ไม่ใช่เรื่องของเรา ใจของเราเราต้องรักษาของเรา สังคมส่วนหนึ่ง เวลาเราออกมาเป็นสังคม ความรับผิดชอบอย่างนี้มันเป็นเรื่องของโลก แต่ขณะที่ว่าถ้าเราประพฤติปฏิบัติต้องเป็นเรื่องของเรา มันต้องแยกกัน ธรรมกับโลกไม่เหมือนกัน

ถ้าเป็นธรรม ทุกหน่วยของสังคมนั้นดีหมด สังคมมันจะผิดพลาดไปได้อย่างไร แต่นี่สังคมหน้าไหว้หลังหลอกกันทั้งหมด แล้วว่าปฏิบัติธรรมๆ ปฏิบัติธรรมด้วยความหน้าไหว้หลังหลอก พอหน้าไหว้หลังหลอกมันก็หลอกลวงกันไป มันก็เป็นสังคมอย่างนั้น นี่มันถึงว่าเป็นกรรมของสัตว์ไง เกิดในสังคมใด เกิดในการประพฤติปฏิบัติใด เราเกิดมาภพชาติใด เห็นไหม นี่กรรมของสัตว์ เกิดในประเทศอันสมควรด้วย แล้วเกิดในขณะที่ศาสนาเจริญรุ่งเรืองอีกอย่างด้วย นี่โอกาสของเรามหาศาลเลย

โอกาสมหาศาลคือการกระทำ คือโอกาส แต่เราไปมองกันแต่เรื่องข้างนอก เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องสถานะอย่างนั้น อันนี้เป็นส่วนหนึ่งนะ เราต้องย้อนกลับมา ย้อนกลับมาถึงว่าชีวิตนี้คืออะไร หน้าที่การงาน อาหารการกินต่างๆ ปัจจัยเครื่องอาศัย ฟังสิว่าเครื่องอาศัยไม่ใช่ความจริง ต้องอาศัยกันไป มีมากขนาดไหน เก็บตุนกักตุนไว้ ต้องบำรุงรักษาเป็นภาระอย่างยิ่ง นี่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย

แต่ความจริงคือใจ ใจเราต้องรักษาของเราขึ้นมา สิ่งนี้เป็นความจริง ความจริงเกิดจากอริยมรรค มรรคเกิดจากการที่เราสร้างสมขึ้นมา สมาธิเราก็ต้องทำของเราเอง สติก็ต้องทำของเราเอง ปัญญาก็ทำของเราเอง แล้วจะไปแก้กิเลสของเราเอง เอวัง