เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ มี.ค. ๒๕๔๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราเกิดมามีชีวิต เวลาชีวิตเห็นไหม เวลาเราทุกข์เรายาก เราก็อยากต้องการความร่มเย็นเป็นสุข แล้วความร่มเย็นเป็นสุขเราก็คิดว่า ถ้าเราไปประสบสิ่งใดสมความปรารถนา มันก็จะเป็นความสุขของเรา เราคิดของเรานะ เราคิดอย่างนั้น แต่เวลาเราประสบสิ มันเหมือนกับเราคิดถึงย้อนสมบัติของในตัวเรานี่ เราจะพอใจสมบัติเราไหม ของอยู่กับเรา ของอยู่ในตัวเราไม่ค่อยมีคุณค่าหรอก แต่ของที่อยู่กับคนอื่น เราจะมองเห็นว่าของคนอื่นมีคุณค่ามากเลย กิเลสมันเป็นอย่างนี้ไง

นี่เป็นปัจจุบันธรรม ถ้าปัจจุบันอยู่กับเรา มันมองไม่มีคุณค่าหรอก มันไปเหนี่ยวอดีตอนาคตมาให้เป็นความทุกข์ความยาก นี่ห่วงนะ ห่วงแต่อนาคต ห่วงแต่ว่าอดีต อดีตมาอย่างนี้มันจะฝังใจมาก แต่ปัจจุบันนี้แก้ไขไม่ได้เพราะอะไร? เพราะเราไม่อยู่กับปัจจุบัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน ในการประพฤติปฏิบัติต้องแก้ไขที่ปัจจุบันนี้

ถ้าแก้ไขที่ปัจจุบันนี้ อย่างว่าเห็นทุกข์ ๆ นี่ ทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์เวลามันเกิดเกิดที่ไหน? ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมาแล้วบอกว่า “กิเลสมันถ่ายเอาไว้แล้วนะ เพราะมันคิดแล้ว ผลวิบากคือผลความรู้สึก” ดูสิ ดูเราเกิดมาเป็นผลของบุญกุศล กรรมเห็นไหม กรรมดี กรรมชั่ว เกิดมาเป็นคน เกิดมาเป็นสัตว์ นั่นน่ะวิบากของกรรมดีกรรมชั่วทำไว้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาอารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้น มันต้องมีปฏิกิริยาสิ ความรู้สึกอารมณ์เกิดขึ้นมานี่ มันเกิดจากอะไร? เกิดจากจิตกับสังขารมันคิด มันปรุง มันแต่งไปแล้วไง กิเลสมันสนองตอบกับกิเลสไปแล้วรอบหนึ่ง แล้วมันถึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกของเรานี่ มันถ่ายเอาไว้แล้ว มันขี้แล้ว กิเลสมันไปแล้ว เรายังไม่เห็นมันเลย นี่มันเป็นอดีต มันถึงไม่เป็นปัจจุบันไง

ถ้าเป็นปัจจุบันมันจะเห็นจากภายใน จะเห็นปัจจุบันจากภายใน มันปัจจุบันจากภายนอกปัจจุบันจากภายใน ปัจจุบันจากภายนอกก็กรรมดำรงชีวิตเรานี่ ในปัจจุบันนี่เราจะแก้ไขอย่างไร? เราจะตั้งสติของเราอย่างไร? เราจะทำคุณงามความดีของเราอย่างไร? สิ่งที่ว่าเป็นสุข ๆ ของเรา เป็นสุขนะ เราเข้าใจเรื่องชีวิตมนุษย์ ถ้าเราเข้าใจเรื่องชีวิตของเรา ชีวิตนี้คืออะไร? เกิดมาเพื่ออะไร?

ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องชีวิตของเรา เราไปมองแต่เครื่องอาศัย ไปมองแต่เรื่องโลก เอาสิ่งต่าง ๆ เราเป็นขี้ข้ามัน มันต้องบังคับบัญชาเรานะ ดูสิ ตึกรามบ้านช่องต่าง ๆ เราแสวงหาเราสร้าง ดูสร้างวัดสร้างวานี่ ทำไมเราต้องไปสร้างมัน ทำไมเราต้องตื่นเต้นกับมัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูด “ถ้าเป็นธรรมนะ นกมันยังมีรวงมีรัง เราสร้างพออาศัย ที่พักอาศัยพอหลบแดด หลบฝน หลบความเร่าร้อนเท่านั้นเอง” สร้างอันนั้นเป็นสภาวะสิ่งนี้ เพราะอะไร? เพราะการสร้างสิ่งนั้นเป็นสร้างที่อยู่อาศัย เห็นไหม

แต่การสร้างในศาสนาของเราคือสร้างหัวใจ ถ้าหัวใจมันสร้างได้ แต่คนนั้นไปติดข้างนอก มันก็จะไปยึดจากข้างนอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นนะ จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ มันเครื่องอาศัย เพราะอะไร? เพราะว่าวัสดุก่อสร้างในโลกนี้บางทีมันก็ไม่มี ในปัจจุบันเมื่อก่อนเขาใช้ไม้กัน เดี๋ยวนี้เขาใช้เหล็กกันหมดแล้ว พอทรัพยากรมันหมดไปมันก็แปรสภาพอย่างอื่น

ถ้าเราไปติดในความเห็นของเรา มันก็จะติดอยู่สภาวะแบบนั้น เราก็ต้องแสวงหาอย่างนั้น การแสวงหาอย่างนั้น มันไม่เป็นปัจจุบันไง ถ้าเป็นปัจจุบันสภาวะแบบไหนก็ต้องเป็นแบบนั้น ปัจจุบันจากภายนอก ที่อยู่ที่อาศัยเห็นไหม นกยังมีรวงมีรังเพื่อหลบ เพื่อหลีกเรา เพื่ออาศัยเรา

นี่ก็เหมือนกัน ดูสิ ดูปัจจัยเครื่องอาศัยของพระ เห็นไหม นี่ปัจจัย ๔ เครื่องอาศัย อาหารการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตถ้าเราเป็นสัปปายะ เวลาฉันเข้าไปแล้วดูสิ อาหารอย่างหยาบ อาหารอย่างกลาง อาหารอย่างละเอียด อาหารอย่างหยาบ ๆ พวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นี่อาหารอย่างหยาบ อาหารอย่างกลางนี่ ดูอย่างพวกแกงพวกนี้มันมีส่วนผสมของมันนะ อาหารอย่างละเอียด เห็นไหม พวกผักพวกหญ้า มันจะทำให้ร่างกายนี่ไม่กดถ่วง เวลาประพฤติปฏิบัตินี่สัปปายะ ฉันแล้วประพฤติปฏิบัติมันไม่ง่วงเหงาหาวนอน มันจะทำให้ประโยชน์ขึ้นมา

แต่ถ้าเป็นสัปปายะของเรา สัปปายะของกิเลส มันก็ต้องตามความพอใจของมันใช่ไหม เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราต้องต่อต้านกับกิเลสของเรา ฝืนมันตลอดไป ฝืนไปอย่างนี้ แล้วมันจะไปเห็นปัจจุบันจากภายใน เพราะอะไร? เพราะความอยาก ความอยากมาจากไหน? ตัณหาความทะยานอยากมันมาจากไหน? มันมาจากอวิชชา มันมาจากจิตใต้สำนึก ถ้าจิตใต้สำนึกมันอยากสิ่งใด มันก็คิดต้องการสภาวะแบบนั้น พอเป็นสิ่งนั้นนี่วิบาก

วิบากคือความต้องการ ความต้องการเราก็แสวงหา เราก็เป็นอดีตอนาคตอยู่ในความรู้สึกเรานี่ ถ้าเราทำความสงบของใจมันจะย้อนกลับ ปัญญาละเอียดจะเกิดขึ้นมา ดูสิ ดูเวลาเรากินเป็ดกินไก่ เราจะกินทั้งตัวเหรอ? ...ไม่กินหรอก เวลาเขาฆ่าสัตว์แล้วเขาต้องถอนขน เขาต้องอะไรของมัน

นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์ความรู้สึกเรานี่ มันจะเป็นธรรมเหรอ? มันมีทั้งกระดูก มันมีกิเลสอยู่ในนั้น มันมีกระดูกขวางคออยู่ในนี้ ความรู้สึกเรานี่ มันถึงต้องทำความสงบของใจเข้ามาไง ถ้าจิตมันสงบเข้ามา มันจะเริ่มแยกแยะ สิ่งนี้เป็นกระดูก สิ่งนี้เป็นเนื้อ สิ่งนี้กินได้ ไม่ได้ สิ่งที่กินได้ เห็นไหมเป็นธรรม ถ้าเป็นมรรค มรรคนี่มันเป็นธรรม สิ่งนี้กินได้ ถ้ามันเป็นกิเลสมันเป็นกระดูก อย่างนี้กินไม่ได้ ถ้ากินไม่ได้ ถ้ามันกินแล้วมันก็ติดคอใช่ไหม นี่มันเป็นวัตถุ

แต่ถ้าเป็นอารมณ์ความรู้สึกนี่มันได้หมดนะ มันคิดเสร็จแล้วมันพอใจหมด มันยึดของมันไปหมด แล้วมันก็ให้ผลกับความทุกข์ในหัวใจนี้เป็นอย่างนั้นตลอดไป ชีวิตนี้อาหารของใจ อาหารของโลก อาหารของร่างกายนี่เป็นคำข้าว สิ่งนี้เปรียบเทียบเข้ามา ถ้ามีปัญญา มันจะย่อยสลายความคิดละเอียดเข้ามา

ดูสิ เวลาเราไม่ฉันอาหาร ทำไมเราอด เวลาเราอดอาหารมันทุกข์นะ เพราะอะไร? เพราะธรรมดาของร่างกายมันต้องการอาหารของมัน แต่เราไม่ให้มันกินเพราะอะไร? เพราะมันกินแล้วมันขี้เกียจ มันยืดยาด มันอืดอาด เราพยายามดัดแปลง สิ่งนี้เอามาดัดนิสัยของตัว พอดัดนิสัยของตัว เพื่อประโยชน์ไง เพื่อการขัดเกลากิเลสไง

เวลาอดอาหารไป มันก็จะมีความต้องการในร่างกาย พอมันมีความต้องการในร่างกายจิตใจมันก็ต้องดิ้นรน ถ้ามีสติเข้าไปยับยั้งนี่เข้าไปชนกับกิเลส ถ้าเราไปชนกับกิเลสนี่คือการวิปัสสนา นี่คือการต่อสู้นะ แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมามันไล่เข้าไป อะไรมันเป็นสิ่งความรู้สึกที่มันต้องการ ความต้องการคือตัวใจไง ดูสิ เวลาคนทุกข์คนจน มันต้องแสวงหา

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันขาดแคลนขึ้นมา เราตัดกำลังของมันขึ้นมา มันต้องดิ้นรนของมัน กิเลสในหัวใจเราต้องดิ้นรนแน่นอน ทีนี้เราก็เอาสติสัมปชัญญะเข้าไปต่อสู้กับมัน นี่การใคร่ครวญถึงว่าการประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีการประพฤติปฏิบัติก่อน มันต้องแยกก่อนว่าสิ่งใดเป็นกระดูก สิ่งใดเป็นเนื้อ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์กับหัวใจ

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดของเรา เราก็ต้องแยกของมัน ทั้ง ๆ ที่ว่าเป็นเรานี่ ถ้าสรรพสิ่งเป็นเรา เราจะไปทำอะไรไม่ได้เลย อะไรก็เป็นเราไปหมดเลย ถ้าเราทำเรา เราก็เหมือนเราทำลายตัวเราเอง ทำลายตัวเราเอง เราไม่ได้คิดหรอกว่าเราทำลายกิเลส กิเลสมันไม่ใช่เรา แต่กิเลสมันเป็นความต้องการ ความที่ว่ามันสนองตอบมันแล้วนี่มันจะให้ผลกับหัวใจเราไหม ให้ผลกับการหัวใจเราเข้มแข็งขึ้นมาไหม นี่ศีลธรรม จริยธรรม

ดูสิ ดูอย่างจากภายนอก ดูบางประเทศรัฐธรรมนูญเขาไม่เป็นตัวอักษร เขาไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ เขามีศีลธรรม เขามีประเพณีวัฒนธรรมของเขาเป็นรัฐธรรมนูญ เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรม

นี่ก็เหมือนกัน เราดูของเราสิ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสิ่งต่าง ๆ นี่ใครบัญญัติไว้ แต่คนก็เชื่อ แล้วสังคมก็ทำตาม แล้วเราก็ไปยึดติดกันว่าต้องเป็นตามตัวอักษร ต้องตามตัวกฎหมาย กฎหมายมันเปลี่ยนแปลงได้ ประเพณีมันก็เปลี่ยนแปลงของมันไป เปลี่ยนแปลงไปแต่มันก็อยู่ในสายเลือด อยู่ในความคิดของสังคมนั้น สังคมนั้นก็มีความร่มเย็นเป็นสุข สูงสุดสู่สามัญไง

แต่เริ่มต้นอยู่สูงสุดต้องตามกติกาขึ้นมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอก “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ สัตว์ประเสริฐ แต่โง่กว่าสัตว์” เพราะสัตว์มันมีอิสรภาพของมัน ดูนกสิ ดูนกดูต่าง ๆ มันบิน มันย้ายถิ่นของมัน เวลาหน้าหนาวมันย้ายข้ามทวีปเลย มันบินรอบโลกก็ยังได้เลย มันไปของมันตามประสาของมัน ชีวิตของมันอิสระ อิสระเสรีของมัน

มนุษย์เราอยู่ด้วยการเป็นสัตว์สังคม ก็ต้องตั้งต้องมีกฎหมายต่าง ๆ ขึ้นมา ตั้งกฎหมายขึ้นมา แล้วก็รอนสิทธิกัน สิทธิของประชาธิปไตย สิทธิของเราจะไม่ล่วงเกินสิทธิของคนอื่น เพราะมันอยู่ด้วยกัน นี่การล่วงเกินจากสิทธิคนอื่นนะ แต่ดูความคิดสิ ความคิดเวลามันทำลายกัน ดูสิ ดูเวลาเขาเอาความคิด มันให้ผลเดือดร้อนกับหัวใจของเรา แล้วมันจะไปทำลายคนอื่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงวางศีล สมาธิ ปัญญาไง ต้องมีศีลจำกัดมันไว้ก่อน มีศีล

ความคิดมันเป็นสิ่งบวกหรือลบ ถ้ามันเป็นสิ่งที่บวก บวกกับใคร ถ้าบวกการกระทำ ทำโครงการต่าง ๆ การทำธุรกิจต่าง ๆ ถ้ามีปัญญานี่ต้องประชุมกัน เพื่อจะลงมติกัน เพื่อสิ่งนั้นให้เป็นเป้าหมายแล้วทำไปสภาวะแบบนั้น แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่เอาชนะตนเอง เอาชนะความคิดของตัวเองก่อน ถ้าจิตสงบขึ้นมาได้นี่เราเข้าถึงฐาน เข้าถึงเป้าหมายเข้าถึงแหล่งทุน

แหล่งทุนคือความสงบของใจ ถ้าแหล่งทุนคือความสงบของใจ แล้วแหล่งทุนนั้นจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร? เกิดปัญญาขึ้นมามันต้องย่อยสลายที่ว่าต้องแยกออก สิ่งที่ว่าเป็นกระดูก เป็นหนังเป็นอะไรนี่ ความคิดของเรานี่ ดูสิ ดูมรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความเพียร ความอุตสาหะ ความพยายาม นี้ก็เป็นแขนงหนึ่งของความคิด ความวิริยอุตสาหะ สติก็เป็นแขนงหนึ่งของความคิด ปัญญาในการคิดก็เป็นแขนงหนึ่งของความคิด มรรค ๘ มรรคญาณจะเกิดเกิดเฉพาะอย่างนี้

เราต้องไปทำความสะอาดของใจ ทำความสะอาดของความคิดก่อน ความคิดมันเป็นสิ่งสกปรก มันมีสารพิษของมันมา มันต้องมีสติเข้าไปยับยั้งกับมัน นี่อาหารของใจไง อาหารของใจที่ว่าความสงบ เวลาความคิดนี้มันจิตเสวยอารมณ์ ความคิดนี้เป็นอาหารของใจ วิญญาณาหาร ความคิดอาหารของใจ แต่เพราะเรามีร่างกาย มีร่างกายด้วยมีจิตใจด้วย เวลาไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขามีแต่ความคิด เห็นไหม สิ่งนี้วิญญาณาหาร แต่อาหารของเขามันเป็นทิพย์

แต่เราเป็นมนุษย์ขึ้นมา สิ่งที่เป็นอาหารของใจขึ้นมา สิ่งนี้ใคร่ครวญขึ้นมา อาหารของใจนะ อาหารของใจมันเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมเราจะงดอาหาร เราจะผ่อนอาหารขนาดไหน ถ้าหัวใจมันเข้มแข็งขึ้นมา มันจะมีความภูมิใจ กินธรรม ๆ เวลากินธรรม เราตั้งสัจจะ เราตั้งเป้าหมาย เราทำสมความตั้งเป้าหมายนี่ มันจะอิ่มอกอิ่มใจนะ เวลาทำความสงบของใจเข้ามา จิตมันสงบเข้ามา นี่สงบถึงฐานของมัน ออกจากสมาธิมา จิตมันยังร่มเย็นเป็นสุขนะ อยู่กับใครมีความร่มเย็นเป็นสุข

แต่เวลาเราเครียด เราทุกข์ร้อนข้างในหัวใจ เราอยู่ของเรานี่มันเครียดไหม มันทุกข์ร้อนไหม มันมีความสุขมาจากไหนล่ะ จิตเหมือนกัน ความคิดเหมือนกัน อารมณ์หนึ่งเป็นความทุกข์ อารมณ์หนึ่งเป็นความสุข อาหารของใจ อาหารของกาย การกินการอยู่นี่ปัจจัยเครื่องอาศัย อันนี้ มันแค่ดำรงชีวิตไง

เราถึงต้องมอง เราจะเอาความสุขอันไหน เราจะเข้าถึงศาสนาลึกซึ้งขนาดไหน ลึกซึ้งขนาดไหนของเรา สิ่งนี้มันจะเกิดกับใจของเรา แล้วมันจะพัฒนาของมันไปเรื่อย ๆ สิ่งที่พัฒนาขึ้นไปนี่มันสร้างฐานขึ้นมา ถ้าเราทำขึ้นมาให้เป็นปัจจุบันตลอดไป เราจะไม่นอนใจ เราจะไม่ผัดวันประกันพรุ่ง สิ่งนี้สืบต่อตลอดไป เพราะกรรมฐานมันม้วนเสื่อได้

ศรัทธา เวลามีศรัทธา มันเป็นไปได้ มันเสื่อมได้นะ ศรัทธา อจลศรัทธา ถ้าเป็นศรัทธามันยังความเชื่อครั้งหนึ่ง มันก็ถอยของมันครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นอจลศรัทธาขึ้นมา มันจะเชื่อของมันตลอดไป แล้วตัวถึงเข้าไปถึงธรรม สิ่งนี้รัตนตรัย จะไม่ถือมงคลตื่นข่าว มันเป็นธรรมชาติของมันเลย เพราะอะไร? เพราะมันเข้าไปสัมผัสทั้งหมด มันเป็นสันทิฏฐิโก จิตสัมผัสทั้งหมด

จิตนี้มันจะมีความมั่นคงของมัน มันก็สร้างตัวเองได้ มันก็พึ่งตัวมันเองได้ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เป็นอย่างนี้ จิตมีสภาวะแบบนี้ แล้วความคิดมันจะมาจากไหนล่ะ สติมันทันหมด ทันความคิดอย่างนั้น แต่ที่อย่างละเอียดมันก็มีผลของมันขึ้นไป นี่ย้อนกลับเข้าไป ย้อนกลับเข้าไป มันต้องแยกเข้าไปเรื่อย ๆ ต้องมีการกระทำ เราถึงต้องแสวงหาของเรานะ ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ มันจะเป็นไปได้

นี่เราอ้อนวอนเอา สิ่งที่อ้อนวอนนั่นมันถือผีถือสาง การถือผีถือสางนี่สิ่งนั้นมันเป็นไปได้ไหม เวลาถือผีถือสางอยู่นี่ อ้อนวอนอย่างนั้น สภาวะอย่างนั้นเพราะพอใจ ๆ ไป แต่เวลาตายไปมันไม่ชำระกิเลสเลย เราจะไปเข้าแถวต่อแถวกับเขาอีกนะ ว่าจะต้องไปตายไปเกิดสภาวะแบบนั้น เพราะอะไร? เพราะสิ่งนั้นมันเป็นการมืดบอด แล้วพากันไป

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตาสว่างนะ แก้ไขเราได้ แก้ไขตัวเราเองได้ เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเราได้ มันจะมีความสุขตั้งแต่ปัจจุบันนี้ ดูสิ ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานขึ้นมาแล้ว ชำระกิเลสตั้งแต่วันสิ้นกิเลส ๔๕ ปีนี่มีความสุขมาตลอดเลย จิตมันไม่มีอะไรไปทุกข์ไปร้อนไง การเกิดและการตายมันดับตั้งแต่กิเลสขาด ตรงนั้นมันไม่มีสิ่งใดจะไปทำลายมันได้เลย มันคงที่ของมันตลอดไป

สิ่งนี้มันอยู่ในหัวใจนะ แล้วจะเอามาเปิดเผยกับใครล่ะ มันเป็นสันทิฏฐิโกในหัวใจนั้น เพราะอะไร? ถ้ามันเปิดเผยได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดเผยแล้ว เพราะถ้ามันเปิดเผยได้มันก็เป็นวัฏฏะสิ มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ใช่ไหม มันก็เวียนไปในวัฏฏะสิ แต่นี่มันไม่มีอยู่ในโลก มันเปรียบเทียบไม่ได้ มันเอามาให้เห็นกันไม่ได้ มันเปรียบเทียบ เปรียบเทียบคือการคาดหมาย พอการคาดหมายก็คือผู้รู้จริงถึงเปรียบเทียบได้ ถ้ารู้ไม่จริงพอเปรียบเทียบมันก็เคลื่อนออกไป มันยิ่งเป็นโลกไปใหญ่เลย ซ้อนเข้าไปมันยิ่งเป็นตรรกะ มันยิ่งงงกันไปใหญ่เลย

สิ่งที่มันเป็นในหัวใจ ถ้ามันเข้าใจแล้วมันถึงว่าสิ่งที่ละเอียด ละเอียดอย่างนี้เพราะมันเป็นนามธรรม แต่มันจับต้องได้ มันสื่อสารกันได้ ผู้รู้จริงกับผู้รู้จริงจะเข้าใจกันได้ จะตรวจสอบได้นะ ไม่อย่างนั้นถ้าตรวจสอบไม่ได้มงคล ๓๘ ประการ เห็นไหม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ การสนทนาธรรมที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่ถ้าวุฒิภาวะต่างกัน การสื่อความหมายมันก็ต่างกัน ความต่างกันนี่ถ้าผู้ที่วุฒิภาวะสูงกว่า ผู้ที่สูงกว่าจะแก้ผู้ที่ต่ำกว่าได้ ผู้ที่สูงกว่าฟังผู้ที่ต่ำกว่า สิ่งนี้มันก็เก็บไว้ในหัวใจ

แต่ถ้าจะต้องให้เป็นอย่างนั้น ๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันคนละระดับกัน สิ่งนี้คนละระดับกัน ในใจคนละระดับกัน มันก็พัฒนาอย่างนั้น บุคคล ๘ จำพวก...บุคคล ๘ จำพวกนี่หัวใจมันเป็นบุคคล เวลาไปเกิดเป็นสถานะ สถานะเป็นภพเป็นบุคคล ๘ จำพวก สิ้นสุดกระบวนการของมันแล้วนี่พ้นออกไปเลย นี่อาหารของใจ สิ้นสุดเพราะเราทำบุญกุศลของเราอย่างนี้ แล้วเราฟังธรรมของเรา แล้วเราฝึกฝนของเราขึ้นไป

ใจนี้อยู่ที่การฝึกฝน อยู่ที่การกระทำ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์เห็นไหม “ให้ปฏิบัติบูชา” เราทำบุญกุศลนี่ก็เป็นปฏิบัติอย่างหนึ่ง ปฏิบัติคือให้ความตระหนี่ถี่เหนียวเราได้ดัดแปลงมันเข้าไป แล้วผลจะเกิดกับเรานะ ถึงจะเกิดจะตายก็เกิดบุญพาเกิด มันก็ยังมีความร่มเย็นเป็นสุขบ้าง

แต่ถ้าถึงที่สุดแล้ว ความสุขอันละเอียดขึ้นไป สุขที่คือการจะไม่เคลื่อนไปอีกเลย อันนี้เป็นผลจากการประพฤติปฏิบัติของเรา ผลจากการคัดเลือก ผลจากการไม่เชื่อสิ่งต่าง ๆ ต้องพิสูจน์จากการประพฤติปฏิบัติของเรา ครูบาอาจารย์ เห็นไหม กาลามสูตร กาลามสูตรต้องเชื่อไปก่อน มีศรัทธาไปก่อน

แต่ถึงเวลาไปเป็นการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันต้องเป็นสัจจะความจริงอะไร? ความจริงของตัว แม้แต่พระสารีบุตรยังพูดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยว่า “รู้เองเห็นเอง” สาวกทุกองค์ต้องรู้เองเห็นเอง แต่อาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นไป แล้วจะกราบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยหัวใจ เอวัง