ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจเป็นกลาง ๒

๑๘ ก.ค. ๒๕๕๒


ใจเป็นกลาง ๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ กรกฏาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


มันมีคนเอาซีดีไปให้ที่บ้านฟังกัน แล้วลูกๆ หลานๆ เขาก็ฟัง เขาก็ได้ยินเสียงขากเสลด เนี่ย... เขาบอกเลยนะ นี่พ่อแม่เขาเอามาเล่าให้เราฟัง บอกหลวงพ่อนี่ไม่มีมารยาทเลย อะไร…ขากเสลดอยู่ได้ หลวงพ่อนี่ไม่มีมารยาทเลย…(หัวเราะ) แล้วลูกเขาบอกกับพ่อไง พ่อเขาเอามาเล่าให้เราฟัง เราก็คิดในใจ จริงๆ เด็กมันเหมือนเราน่ะ เวลาเด็กเห็นไหม เวลาครูบอกอย่าสูบบุหรี่ มันยังสูบบุหรี่อยู่ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน หลวงพ่อนี่ไม่มีมารยาทเลย ขากเสลดอยู่เรื่อย

แต่เราพูดกับพ่อเขานะ เอ็งบอกเอ็งดูหลวงตาสิ เวลาหลวงตาท่านจะเทศน์น่ะ ท่านบอกคอนี่เหนียวมาก แล้วท่านพยายามจะตะเบ็ง จะขากเสลดให้ออก เพราะถ้าเราไม่ขากเสลดออกมันคันคอ คอมันคันมาก แล้วเวลาเราจะเทศน์ ความรู้สึกมันอยู่ที่ตรงคัน แล้วธรรมะมันจะออกได้อย่างไร เพราะฉะนั้นปั๊บ เราต้องพยายามปรับตัวเองให้ได้เพื่อจะให้ธรรมะนี้มันออกมา แต่เขาไม่เข้าใจ เขาเข้าใจว่าเสียมารยาท มารยาทสังคมอย่างนั้นกับธรรมะ อะไรมันจะมีค่ามากกว่ากันล่ะ

เพราะอะไร เพราะว่าคนเรานะ เหมือนครูเลย อาชีพที่ต้องใช้เสียงตลอดชีวิต พระก็ต้องเทศน์ตลอดชีวิต มันใช้เสียงมาตั้งแต่ ๓๐-๔๐ ปีแล้ว มันเป็นเหตุสุดวิสัย รู้ว่าถ้าเป็นมารยาทไม่สวยงาม...ถูกต้อง แต่เพราะหลอดคอมันต้องตะเบ็งมาอย่างนี้ ๓๒ ปีแล้ว แล้วจะให้มันดีอยู่เหมือนกับวัยรุ่นน่ะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก แล้วอนาคตมันจะแรงไปกว่านี้ แต่มันบอกเลย หลวงพ่อไม่มีมารยาทเลย โอ้โฮ...เจ็บ เราไม่มีมารยาทก็ช่างหัวมัน มึงไม่ได้เป็นกู มึงไม่รู้หรอก มึงเป็นกู มึงจะรู้เลยว่าทุกข์ขนาดไหน เอาอันนี้ก่อนเนาะ อันนี้ดีเดี๋ยวเอาไว้ตอนหลัง

เราจะอธิบายตรงนี้ก่อนเลย

ถาม : ๑.ผมได้อ่านหนังสือการพิจารณาจิตแล้ว ที่พระอาจารย์พูดว่า หลังจากที่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้ว จนมันสงบ มีจิตที่ตั้งมั่น แล้วต่อไปให้พิจารณาความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นกับใจ ตามที่ผมปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ภายหลังจากที่ได้ใช้สติตามความคิดไปเรื่อยๆ แล้ว...จนสงบ ผมจะใช้สติตามดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้น สิ่งที่มากระทบจากภายนอก แล้วก็มีความคิดเกิดขึ้นมาอีก ก็ตามรู้ด้วยสติไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันความคิดนี้มันจะสั้นลงๆ เรื่อยๆ

แต่ขณะที่ตามความคิดนั้นไป เราตั้งสติไว้เฉยๆ ไม่ได้แยกแยะว่าอะไรเป็นสัญญา สังขาร แต่มาตามรู้พิจารณาทีหลัง มันเหมือนกับมันจะเข้าใจเองว่า พอมีอารมณ์เข้ามากระทบและมีความคิดเข้ามา เมื่อเปรียบเทียบกับสภาวะที่สงบ มีแต่สติเฉยๆ จะเห็นอารมณ์ มีความคิดเข้ามากระทบนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่แปลกปลอมเข้ามาจากภาวะปกติ แล้วสิ่งนั้นก็ไม่เข้าไปปรุงแต่ง เช่นเป็นความคิด ความคิดก็จะดับไป สติก็ตามรู้อยู่ อยากถามว่า ให้หลวงพ่อแนะนำว่าจะปฏิบัติอย่างไรต่อไปครับ ถูกต้องหรือไม่

หลวงพ่อ : คนที่ภาวนาเป็นนะ ปัญหามันฟ้องตัวมันเอง มันฟ้องตัวมันเองว่าคนปฏิบัติไม่เข้าใจ มันไม่เข้าใจอยู่ตรงนี้ “๑. ผมได้อ่านหนังสือการพิจารณาจิต แล้วที่พระอาจารย์พูดว่า หลังจากที่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิแล้ว จนมันสงบ มีจิตที่ตั้งมั่น แล้วต่อไปให้พิจารณาความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นกับจิตกับใจตามที่ผมปฏิบัติอยู่นั้น” นี่ไงตรงนี้ ตรงนี้ผิดแล้ว ตรงนี้ผิดเพราะอะไร.. เห็นไหม “ผมได้อ่านหนังสือพิจารณาจิต ที่หลวงพ่อพูดว่า หลังจากที่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนมันสงบ มีจิตที่ตั้งมั่น แล้วต่อไปให้พิจารณาความรู้สึกนึกคิด”

เพราะมันตั้งมั่นหรือยังล่ะ เราไปเข้าใจว่ามันตั้งมั่นไง ความจริงมันไม่ตั้งมั่น ถ้ามันตั้งมั่นนะ มันจะไม่ต่อเนื่องมาที่ถามมาข้างหลัง สิ่งที่ถามมาต่อมาเห็นไหม เมื่อปฏิบัติไปปัจจุบัน ภายหลังจากที่ใช้สติตามความคิดไปเรื่อยแล้ว...จนสงบ จะใช้สติตามดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากข้างนอกเห็นไหม นี่มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกจากข้างนอกเห็นไหม ถ้าจิตมันสงบนะ มันไม่กระทบเลย มันจะกระทบมันรู้เท่าหมด อันนี้คือจิตยังไม่สงบ จิตสงบมันต้องตามไป ตามความคิดไป

เราบอกเรื่องจิตสงบนะ เพราะถ้าจิตมันสงบนะเห็นไหม เราพูดประจำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” เนี่ย ตัวจิต ตัวจิตกับความคิดเห็นไหม ที่หลวงปู่ดูลย์พูดน่ะ หลวงปู่ดูลย์บอกเลย ความรู้สึกเป็นรูป ความคิดเป็นนาม รูปมันเป็นตัวจิต พอนามเนี่ย นามความคิดมันก็บกพร่องมันก็ว่าง พอว่างมันก็เคลื่อนไปก็เกิดวัฏฏะ ฉะนั้นถ้าจะให้สิ้นสุดกระบวนการของมัน คือต้องล้างทั้งนาม ต้องล้างทั้งรูป รูปก็ไม่มี นามก็ไม่มี ทุกอย่างเป็นธรรมธาตุ

แต่จุดเริ่มต้นของวัฏฏะ เกิดจากความรู้สึกเป็นรูป ความคิดเป็นนาม เพราะมีรูป มีนาม มีช่องว่าง ความคิดเป็นช่องว่าง มีรูป รูปเต็มอยู่ พอมันมีช่องว่าง มันก็กลิ้งไป มันก็หมุนไป วัฏฏะก็เกิด อันนี้ก็เหมือนกัน มันต้องย้อนกลับข้างใน ไม่ใช่มาดูอารมณ์กระทบข้างนอก ถ้าจิตมันตั้งมั่นจริงนะ เนี่ย...ไอ้เราพูด เห็นไหม อ่านหนังสือพิจารณาจิต หนังสือเขียนเหมือนกันน่ะ แต่เข็มทิศมันชี้ไปทางเหนือ อีกอันบอกอ่านเข็มทิศชี้ไปทางใต้ แล้วมึงก็มาเถียงกัน เข็มทิศชี้ขึ้นไปทางเหนือ

ถ้าเข็มทิศไม่เสียนะ เข็มทิศใครเสียน่ะ มันแกว่ง มันชี้ผิดชี้ถูก ความเข้าใจเราไง ความเข้าใจเราแกว่ง ถ้าความเข้าใจเราไม่แกว่ง ใช้สติตามความคิดไปนะ ใช้สติตามความคิดไป ไม่ต้องใช้อะไรเลย ใช้สติตามความคิดไป สิ้นสุดของความคิดมันคืออะไร สิ้นสุดของความคิด ความคิดดับคืออะไร นี่ไงที่เราแจกเห็นไหม ความคิดเกิดดับ สิ้นสุดของความคิดคืออะไร

มันไม่เห็นมันไม่รู้ไง พอมันไม่เห็นมันไม่รู้ เราบอกที่พิจารณานามรูป นามรูป…ผิด ผิดตรงนี้ไง พิจารณานามรูป ความรู้สึกเป็นรูป ความคิดเป็นนาม ความคิดนามรูป ความรู้สึกเป็นรูป เป็นรูป เป็นจิต ความคิดเป็นนาม แล้วไปดูที่นาม นามมันเกิดดับอีก แต่ไม่เห็นตัวรูป ตัวจิต

ฉะนั้นปัญญาอบรมสมาธิ ใช้สติตามความคิดไป ถ้าความคิดมันดับเห็นไหม นามดับ นามดับ นามดับ รูปอยู่ไหน ถ้ายังไม่เห็นรูปนี่ไง เพราะมันไม่เห็นรูป มันถึงมาบอกว่า อารมณ์กระทบข้างนอก ผมก็พิจารณาต่อไป เนี่ย.. มันฟ้อง แต่ถ้ามันนามดับ นามไม่มี มีแต่รูป ตัวสติมันตั้งขึ้นมา พอมันตั้ง ประสาเรานะ มันไม่คิด คิดไม่ได้ ไม่ออก พอมันไม่ออกปั๊บ เนี่ยตัวรูป รูปคือฐีติจิต “เนี่ยตัวสมาธิ”

ถ้าใครยังไม่เข้าถึงสมาธิ ใครยังไม่เข้าถึงตัวหลัก อย่ามาคุยเรื่องปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็นี่ที่ถามมานี่ไง ที่ถามมานี่เพราะอะไรรู้ไหม ที่ถามมา เพราะมันจับประเด็นไม่ได้ พอมันจับประเด็นไม่ได้ มันก็หมุนไป อย่างนี้พูดเหมือนคนไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจจึงถามเราเนาะ ก็ไม่เข้าใจว่ามันเพราะอะไร คำตอบของเราคือบอกว่า ไม่ใช่ตามความคิดไป ต้องทวนความคิดกลับต่างหาก ไม่ใช่ตามความคิดไป ทวนความคิดกลับ “ปัญญาอบรมสมาธิคือทวนกระแสกลับ” ใช้สติทวนความคิดขึ้นไป ความคิดมันเกิดมาจากไหน

ต้นน้ำน่ะ ตาน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ไหน ใครค้นหาตาน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาให้หน่อย ต้นเหตุของความคิดอยู่ที่จิต รูป แล้วเกิดนาม นี่เราไปดูที่นามใช่ไหม.. ไปดูที่ความคิดใช่ไหม.. ความคิดเกิดดับ แล้วมันก็ดับแล้ว ดูจนจิตสงบแล้ว ไอ้คำว่าสงบเนี่ยนะมันอยู่ที่เราพูด แต่สงบจริงหรือเปล่า…เราไม่เชื่อว่ามันสงบไง ถ้ามันสงบมันจะไม่ออกมาอย่างนี้ไง ถ้ามันสงบมานะ เหมือนตอนนี้โยมกินข้าวอิ่มแล้ว ต้องถามใครไหมว่ากินข้าวอิ่มบ้าง อิ่มท้องทุกคนน่ะ ถ้าจิตมันสงบนะ มันตั้งมั่น มันไม่ล่อกแล่ก มันไม่ออกไป

เราเข้าใจว่าโยมรีบ โยมรีบปฏิบัติปั๊บ พอจิตมันมีอาการที่เข้าใจว่าสงบปั๊บ แล้วเริ่มพิจารณา เพราะมันจะฟ้องต่อมาว่า ผมก็เห็นแต่ความคิดกระทบจากภายนอกเห็นไหม ก็มันกระทบจากข้างนอก มันฟ้องทุกขั้นตอนเลยนะ... คำถาม มันฟ้องตัวเองทุกขั้นตอนเลย แต่ตอนนี้ถ้าคำตอบของเราคือไม่ต้องไปห่วงอะไรทั้งสิ้น อย่าไปห่วงว่าเราเสียเวลามามากแล้ว เราอยากจะรีบปฏิบัติให้ได้ผล ไม่ใช่... ความจะได้ผลหรือไม่ได้ผล มันต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเราคิดว่าเข้าใจแล้ว ถ้าเราคิดว่าเราเข้าใจแล้ว นั่นเราโดนกิเลสหลอกไว้ชั้นหนึ่ง

เวลาปฏิบัติในภาคปฏิบัตินะ เรียนมาขนาดไหนต้องวางไว้ แล้วปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ให้มันสงบจริงๆ ให้มันรู้จริงๆ ถ้ามันรู้จริงๆ ขึ้นมานะ ทุกอย่างที่เป็นปัจจัตตัง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจากเรา เราไม่ถามใคร ไม่ถามใคร แต่นี่น่ะสงสัยมาก ความคิดเกิดดับ ได้ฟังความคิดเกิดดับเปล่า นั่นน่ะเวลาฟังคนอื่นแล้วไม่เข้าใจ เราก็เป็นยังงั้นน่ะ แต่เราไม่รู้ความคิดเกิดดับ

นี่ไงเราถึงบอกว่าความคิดนะ มันมีที่มาที่ไป เพราะเราไม่เคยตั้งสติดูมัน เวลามันเกิดมันดับก็เหมือนกับไฟฟ้า หรือพลังงานที่ใช้โดยปกติ มันก็แล้วแล้วกันไป แต่พอเรามีสติตามความคิดไป ความคิดมันมาจากไหน ความคิดมันมาจากแหล่งเกิดพลังงาน…คือตัวจิต เราจะตามมันเข้าไปถึงตัวนั้นเลย ถ้าเราตามเข้าไปถึงตัวนั้นเลย นั่นล่ะคือตัวจิต นั่นคือสมาธิ หลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้

แล้วคนที่ไปฟังหลวงปู่ดูลย์แล้วนะ พอไปปฏิบัติแล้วไปรายงานท่าน ท่านจะบอกเลย “ไม่ใช่ ไม่ใช่ ไม่ใช่” สมัยหลวงปู่ดูลย์อยู่นะ “ยังไม่เห็นจิต ยังไม่เห็นจิต ไม่ใช่จิต ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ ไม่ใช่” เพราะท่านรู้จริง ไอ้นี่ก็ถือป้ายไปก็ใช่หมด ถือป้ายไป...มันไม่ใช่จิต มันถือป้ายไป ไม่ใช่ ถ้าใช่นะ ธรรมะเนี่ยสุดยอดมาก

ธรรมะนะ แม้แต่พระสารีบุตรยังไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเลย ถ้าเรารู้จักสมาธิ เรารู้จักปัญญาเนี่ย เราจะกลัวใคร แต่นี้เรายังไม่เข้าใจเราเองเห็นไหม เกิดความลังเลสงสัย เกิดทุกอย่างเลย แต่ถ้าเป็นความจริงนะ โอ้โฮ...มันองอาจมาก ไม่ใช่องอาจแบบ โหย...พระเขาบอกกล้าหาญมากเลย อูย กล้าหาญกว่ามึงอีกอยู่ในคุกเยอะแยะ องอาจกล้าหาญน่ะองอาจกล้าหาญในความถูกต้องดีงามนะ

ไม่ใช่องอาจกล้าหาญจะไปทำร้ายใคร ไม่ใช่องอาจกล้าหาญที่จะไปเหยียบย่ำใคร แต่องอาจกล้าหาญ องอาจกล้าหาญในความเป็นจริงน่ะ มันจริงของมันน่ะ มันจริง มันจริง แล้วอยากพิสูจน์ว่าอันไหนมันจะจริงกว่า ให้มันเป็นความจริงนะ สมาธิก็เป็นสมาธิน่ะ คนเป็นสมาธิน่ะ อื้อหืม.. อื้อหืม...ทั้งนั้นน่ะ ไอ้นี่ว่างๆ ว่างๆ โอ้...เทปกูดีกว่ามึงอีก เทปกูพูดได้ดีกว่าเอ็งเยอะ

ฉะนั้น ในตัวปัญหามันตอบแล้ว บอกว่ามันยังไม่ถึงข้อมูลแท้ ต้องเข้าไปถึงข้อมูลเสิม พยายามไล่จิตเข้าไปอีก ไล่จิตเข้าไป ทีนี้พอไปอ่านหนังสือ เราให้หนังสือไปเพราะในหนังสือ เราปฏิบัติมาอย่างนั้น แล้วเราก็บอกมาเป็นแบบว่า เป็นเทคนิคของมันอย่างนั้น ทีนี้พอคนไปอ่านปั๊บ คนไปอ่านไปดู มันก็เลยบอกว่าเราก็เป็นอย่างนั้น แต่มันเป็นจริงหรือไม่จริงนี่มันอีกเรื่องหนึ่ง นี่ไงขนาดที่เราแจกไปเราถึงว่าอ่านเข้าใจหรือไม่เข้าใจนี่อีกเรื่องนึงนะ เพราะธรรมะพระพุทธเจ้านี่อ่านไม่เข้าใจหรอก เพราะมันธรรมเหนือโลก

แต่ถ้าโยมอ่านเข้าใจนะ นั่นคือนิยาย นิยายธรรมะ ไอ้พวกนิยายธรรมะนี่เขียนนะ โยมนี่ซึ้งมาก ซึ้งมาก นิยายทั้งนั้นน่ะ ผู้ชนะสิบทิศไง มันแต่งขึ้นมา แล้วอ่านแล้วมันส์มาก แต่ถ้าความจริงนะไม่เป็นอย่างนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้นแล้วค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง

ถาม : ๒. การใช้สติที่เกิดอาการเคลื่อนไหว ใจรู้สึกด้วยเสมอ เป็นเครื่องอยู่แทนคำบริกรรมพุทโธ หรือการดูลมหายใจโดยไม่มีคำบริกรรมเป็นวิชาธรรม มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร

หลวงพ่อ : การมีสติกับการเคลื่อนไหว ไอ้เนี่ยนะ ความจริงไอ้ที่ว่าการเคลื่อนไหวเนี่ย หลวงปู่มั่นก็สอน การเคลื่อนไหว การเหยียด การคู้ ท่านสอนอันหนึ่ง แต่ท่านสอนตามความเป็นจริง แล้วก็ดูลมหายใจนี่อานาปานสติ แล้วคำบริกรรมเป็นวิชาธรรม มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร อันนี้นะ อันนี้เราพูดไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ก็มีคนเขาบอกว่าเอาซีดีเรามาถามเราว่า ในการปฏิบัติ ไอ้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี มันจะเป็นไปได้ไหม เราอธิบายถึง... วาสนาคน วาสนาของคน

เราพูดถึงเณรของพระสารีบุตร เณร ๗ ขวบ จะไปบิณฑบาตกับพระสารีบุตร เห็นเขาชักน้ำเข้านา เห็นเขาดัดคันศร เด็ก ๗ ขวบ ก็ถามอาจารย์ของตัวว่าน้ำมีชีวิตไหม คันศรมีชีวิตไหม บอกไม่มี เด็กคิดได้นะ ไม่มีชีวิตน่ะเขายังใช้ประโยชน์ได้ พวกเรามีชีวิตแท้ๆ เลย ทำไมปล่อยชีวิตเราสำมะเลเทเมา คืนบาตรให้พระสารีบุตรบิณฑบาต ตัวเองขอกลับไปภาวนาเลย เพราะว่ามันจุดติดแล้ว ที่ว่าหลวงตาบอก พอความคิดมันหมุนแล้วก็กลับเลย

พระสารีบุตรไปบิณฑบาต พอกลับมา พระพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ ไปยืนขวางไว้เลย ขวางแล้วถามปัญหา ถามปัญหาธรรมะ พระสารีบุตรจะเคารพมาก ด้วยความเกรงใจ ทั้งๆที่จะเอาข้าวไปให้สามเณร แต่เพราะสามเณรเนี่ย มรรคญาณมันกำลังหมุน พระพุทธเจ้าบอกยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ ยังไม่ให้เข้า เพราะคุณธรรมของพระอรหันต์มันสำคัญกว่า สำคัญกว่าการกิน สำคัญมาก ก็เลยขวางไว้ ขวางไว้ด้วยการถามปัญหา

พระสารีบุตรก็ไม่กล้าเข้าไปนะ ก็ตอบพระพุทธเจ้าไปตลอด พระพุทธเจ้าถามปัญหาพระสารีบุตร แต่จิตเพ่งดูสามเณรอยู่ จนสามเณรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นะ พอเป็นพระอรหันต์ปั๊บ เออ...สารีบุตรเธอไปได้ พระสารีบุตรก็เอาข้าวไปให้สามเณร สามเณรพอฉันข้าวเสร็จ พระอาทิตย์น่ะ มันฉันในเพลไง พอฉันเสร็จ พระอาทิตย์บ่ายสามโมงเลย ฤทธิ์ของพระพุทธเจ้า ดึงไว้หมดเลย นี่พูดถึงสามเณรไง

ถาม : เขาจะถามว่าการใช้พุทโธ การใช้ความรู้สึกการเคลื่อนไหว อะไรดีกว่ากัน

หลวงพ่อ : “มันไม่มีอะไรดีกว่าอะไรหรอก มันดีที่คนใช้แล้วเป็นประโยชน์ไหม” คนที่เขาทำนาน่ะ เขาต้องการรถไถ คนที่เขาทำกุ้งน่ะ เขาไม่ต้องการรถไถ เขาต้องการอ๊อกซิเจนในน้ำ มันอยู่ที่จริตนิสัยของคนที่มันใช้แล้วสมประโยชน์มันน่ะ อ้าว...คนชาวนานะ บอกว่ากูให้เครื่องปั๊มอากาศมึง เขาทำนาเขาไม่ได้เลี้ยงกุ้ง ไอ้คนเลี้ยงกุ้ง บอกให้รถไถเขา เขาก็ไม่เอา เอารถไถไปทำไม มันไถไม่ได้ เพราะไม่ใช่อาชีพเขา

การปฏิบัติมันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่เราทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ บางคนนะพุทโธเกือบตายแล้วไม่ได้ก็มี บางคนใช้ลมหายใจแล้วก็ไม่ได้เรื่อง เราถึงบอกว่าพุทโธเป็นพุทธานุสสติ หลวงปู่มั่นเป็นคนสอนพุทโธเอง แล้วหลวงปู่มั่น เวลาสอนหลวงปู่อ่อนน่ะ ให้หลวงปู่อ่อนท่องทีนี่ยาวเป็นวาเลย มันอยู่ที่จริตของคนไง หลวงปู่อ่อนนี่ หลวงปู่มั่นไม่ให้ใช้พุทโธนะ ให้ใช้ท่องคำบริกรรมยาวๆ เลย เพราะอะไร เพราะถ้าพุทโธ พุทโธ เดี๋ยวนั่งหลับหมด หลวงปู่มั่นเนี่ยรู้ เพราะหลวงปู่มั่นท่านปรารถนาพระโพธิสัตว์มา

ฉะนั้นเราจะบอกว่าอะไรดีกว่าอะไร...ไม่ถูก ต้องถามว่าเรามีอาชีพอะไร แล้วเราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือทำมาหากินของเรา อันนี้ถึงจะถูก ศรัทธาจริตน่ะ พุทโธ ศรัทธาจริต พุทธจริต พวกปัญญาชนน่ะ พุทโธไม่อยู่ โอ้โอ.. เมื่อวานเราพูดตลกหัวเราะกันใหญ่เลย อะไร อะไรก็พุทโธ อะไร อะไรก็พุทโธ พุทโธมันจะมีอะไรวะ อะไร อะไรก็พุทโธ.. บอกว่า เออ...พุทโธกูเนี่ยพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย มันคิดในใจนะ บอกพุทโธสิ พุทโธอีกแล้ว ไปไหนก็มีแต่พุทโธ พุทโธเนี่ย ก็มึงไม่รู้จักพุทโธนี่หว่า มึงลองรู้จักสิ เพราะมันมีความเชื่อ

มันเข้าสมัยพุทธกาล นางภิกษุณีไปจำพรรษาที่ไหน ถึงทุกวันพระต้องมีพระเข้าไปเทศน์ นี่พระอรหันต์นะ ไปก็พิจารณากาย พิจารณากาย จนภิกษุณีเบื่อหมดนะ พระองค์นี้มาอีกแล้ว อะไรอะไรก็พิจารณากาย พิจารณากาย เบื่อไง ทีนี้พระอรหันต์น่ะ รู้วาระจิตน่ะ ก่อนเทศน์นั่งเลยนะ เหาะขึ้นไป แล้วลงมา โห.. ภิกษุณีนี่ตาหูพองหมดเลย วันนั้นแหมพิจารณากายดีมากๆ เลย วันก่อนๆ นะพิจารณากาย พิจารณากาย โอ้ย...เซ็ง พระองค์นี้มาพิจารณากายอีกแล้ว น่าเบื่อมาก นั่นพระอรหันต์ท่านรู้น่ะ

วินัยของภิกษุณีนะ ทุกวัน ๑๕ ค่ำ ต้องมีพระเข้าไปอบรม ภิกษุณีจะอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ จะต้องมีพระอบรมทุกวัน ๑๕ ค่ำ งั้นรู้วาระจิตก็เหาะขึ้นไป เหาะลงมา ก็พูดพิจารณากายเหมือนกันนั่นล่ะ แต่เพราะใจมันไม่ค้าน แต่เสิมใจนี่มันค้านมาก อะไรก็พิจารณากาย พิจารณากาย ก็เหมือนกันเลยเด็กๆ พ่อแม่สอนนะ เบื่อมาก แต่ไม่รู้ว่าพ่อแม่รักขนาดไหน แต่พ่อแม่พูดทุกวันเลย จนเบื่อเลย เบื่อมากๆเลยพ่อแม่พูดเนี่ย แต่พ่อแม่เคยให้สิ่งที่ไม่ดีกับลูกไหม นี่เหมือนกันเลย พุทโธ เบื่อมาก อะไรก็พุทโธ พุทโธ ก็มึงทำไม่เป็นน่ะ มึงลองทำเป็นสิ พุทโธจะดีขนาดไหน เอานะ อันนี้จบแล้ว

ถาม : บางคนเชื่อว่านิพพานมีอยู่ในตัวทุกคนแล้ว รอวันที่จะรู้นิพพานนี้เองจริงหรือไม่

หลวงพ่อ : ยังนี้ ประสาาเรามันก้ำกึ่ง นิพพานมีอยู่ในตัวตนทุกคนหรือเปล่า เราบอกได้เลยว่าไม่มี ไม่มี ไม่มีหรอก นิพพานไม่ได้มีอยู่ในตัวใครเลย แต่สิ่งที่จะเข้าไปรู้นิพพานน่ะ คือจิต เวลาพระพุทธเจ้าเทศน์ เห็นไหม มนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติน่ะ มีสิทธิเสรีภาพเท่ากันหมด มนุษย์สมบัติเห็นไหม เพราะมีตัวมีหัวใจ ตัวหัวใจมันจะเข้าไปถึงบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เป็นถึงนิพพานได้ ตัวหัวใจ เข้าถึงนิพพานได้หมด ตัวหัวใจเนี่ย

แล้วบอกนิพพานมีอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว ถ้านิพพานอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลย ต้องนิพพานแน่นอน แล้วมันเป็นไปได้ไหม มันเพียงแต่มันเป็นสิทธิ เรามีสิทธิที่จะเข้าได้สู่ถึงนิพพานได้ทุกคน แต่ไม่มีนิพพานอยู่ในหัวใจ เรามีสิทธิ แต่เราไม่ใช้สิทธิ์นั้น เราจะไม่ได้อะไรเลย ฉะนั้นมันมีสิทธิเพราะอะไร

เพราะตัวจิตใช่ไหม หลวงตาจะพูดประจำเลยว่า หัวใจเท่านั้นที่สัมผัสธรรมได้ อย่างอื่นไปสัมผัสไม่ได้ หัวใจเท่านั้น หัวใจเท่านั้น ความรู้สึกนี้เท่านั้น นี่ความรู้สึกนี้เรามี แล้วจะบอกว่าคนเกิดมามีนิพพานอยู่ในตัวทุกคนแล้ว...ไม่ใช่

ถ้ามีนิพพานอยู่ในตัวแล้วนะ พวกเราน่ะมันมีในสมัยพุทธกาลไง ๕๐๐ ชาติเสพสุข ๕๐๐ ชาติ จะเป็นพระอรหันต์ ถ้านิพพานมันมีอยู่แล้วนะ เราต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน แต่นี่ไม่ใช่ ถ้าเอ็งไม่ทำดีฝืนมันมา เอ็งจะเข้าสู่กระแสไม่ได้ เพราะกรรมชั่ว กรรมชั่วจะให้ผลเป็นกรรมดีได้อย่างไร ในเมื่อมีกรรมชั่วน่ะ จิตมึงจะเข้าถึงนิพพานได้อย่างไร มันจะไสมึงลงนรกอเวจี ไสมึงไปทางชั่วทางเดียว ชั่วกับชั่ว แต่นิพพานจะเกิดขึ้นมาได้เพราะเราเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา แล้วเราทำคุณงามความดีเข้ามา ความดีอันนั้นต่างหากมันจะเบิกนิพพานเราออกมา สิทธิที่มีอยู่

สิทธิที่มีอยู่ฉะนั้นจะบอกว่า นิพพานนั้นมีอยู่...ถูกต้อง ในมหายานก็พูดอย่างนั้น ในมหายานอะไรในต่างๆ ที่เขาบอกกันนะ นิพพานอยู่ในขี้ นิพพานอยู่ในนั้นน่ะ...ถูกต้อง คำพูดอย่างนั้นมันเป็นคำพูดที่แบบว่า... ให้เรา ไม่เห็นว่ามันสุดเอื้อม มันอยู่เหนือความคาดหมาย แต่เขาพูดเสร็จแล้ว เราอยากจะให้คนคิดอย่างนี้ หรือคนทำอย่างนี้ ไปดูฝ่ายมหายานที่เขาสอนกันน่ะ ว่าเขาทำปฏิบัติกันจริงจังแค่ไหน เขาปฏิบัติกันจริงจังแค่ไหน

มหายานน่ะ ดูหนังไหม ดูหนังกำลังภายในไหม ดูสิ เวลาเขาฝึกกำลังภายในน่ะ เขาไปนั่งอยู่ในป่ากันนะ นี่ขนาดกำลังภายใน ไม่ใช่สิ้นกิเลสนะ แต่เวลาเราไปเอาของเขามา ก็เหมือนกับนักเรียนนอก ไปเอาแต่ความคิดขยะมา ความคิดดีๆ ไม่เคยเอามาใช้ในประเทศไทยเลยนะ ไอ้ความคิดที่เขาไม่เอา เขาทิ้งแล้วน่ะ อู้ฮู... นักเรียนนอกน่ะเอามาใช้ในประเทศไทยทั้งนั้น อันนี้ก็เหมือนกัน มหายานเขาสอนน่ะ เขาสอนแบบว่ามันเรียบง่าย มันลัดสั้น แต่ความลัดสั้นของเขาน่ะ เขามีโอกาสไง ไอ้คำพูดยังนี้ คำพูดมันเปิดโอกาสให้คนทำเท่านั้น แต่เวลาทำจริงๆ ขึ้นมา มันก็อยู่ที่จริตนิสัย ขิปปาภิญญาน่ะเป็นไปได้ แต่ไอ้ที่เราไม่ได้สร้างมา...ไม่มีสิทธิ์

ในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันนะในธนาคารของแต่ละคนน่ะ ใครมีเงินเท่าไหร่ นั่นน่ะสมบัติเรา เราสร้างมาไว้ ทุกคนมิสิทธิเบิกได้แค่นั้นน่ะ...แล้วถ้าเราไม่สร้างไว้เราจะเบิกได้ไหม บางคนเชื่อว่านิพพานมีอยู่ในตัวตน จะบอกว่ามันไม่มี ทุกคนก็มีหัวใจนะ แต่ถ้านิพพานอยู่ในตัวเขา แล้วทำไมเขามันคิดได้ชั่วร้ายอย่างนั้นน่ะ ทำไมเขาคิดชั่วร้าย เขาคิดทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่… เราจะบอกตอนเช้า เห็นไหม ว่าถ้าสิ่งแวดล้อมจะเอาไปสู่นิพพานน่ะ เรายังไม่แสวงหากันเลย เรายังไม่รักษากันเลย แล้วเราจะไปสู่นิพพานได้อย่างไร

สิ่งแวดล้อมที่จะเข้าไปสู่นิพพานน่ะ เห็นไหม อย่างเช่นมาวัด ต้องการความสงบสงัด ต้องมีทางจงกรม ต้องมีการนั่งสมาธิภาวนา มาถึงไม่ต้องทำ ไม่ต้องทำ แล้วกูจะดูสิว่าไม่ต้องทำเนี่ยมันจะไปได้กันอย่างไรวะ ถ้าไม่ต้องทำ หลวงตาไปไหนนะถ้าไม่มีทางจงกรมนะ ท่านด่าเช็ดเลย ถ้าพระป่าไม่มีทางจงกรมนะ อย่ามาพูดว่าพระป่า อย่ามาเรียกตัวว่าพระป่านะ มันเกิดขึ้นจากการกระทำ ฉะนั้นถ้ามันมีอยู่ก็ยอมรับ ถ้ามีใจอยู่นะ ทีนี้พอมันมีอยู่ ถ้าพูดอย่างนี้นะ บอกเรามีอยู่แล้ว จะทำให้เรานอนใจ เรานอนใจว่าเราจะไม่ทำกัน หรือว่าเราทำกัน แต่เพียงสะดวกสบาย…ไม่เป็นอย่างนี้หรอก

ถ้าเป็นอย่างนี้นะ ทำไมพระพุทธเจ้าตั้ง ๖ ปี พระพุทธเจ้าทุกข์ยากขนาดไหน สลบถึง ๓ หนนะ ในศาสนาพุทธ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือพระพุทธเจ้าหรอก พระพุทธเจ้าสลบถึง ๓ หน กลั้นลมหายใจก็นึกว่าถ้ากลั้นลมหายใจคือจะต่อสู้กับกิเลส กลั้นลมหายใจจนไม่หายใจ จนช็อกเลย แล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ เพราะคนมีบุญอย่างไรก็ไม่ตาย ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ไม่ตายหรอก เพราะบุญสร้างมาไว้เยอะแล้ว แต่เพื่อทดสอบนะ กลั้นลมหายใจ กลั้นจนหลับไปเลย ช็อกรอบหนึ่งฟื้นมา ช็อกรอบที่สอง ช็อกรอบที่สาม แล้วในพุทธศาสนา ใครจะมีบุญเท่าพระพุทธเจ้า แล้วเอ็งมาทำกันอย่างนั้นน่ะ เอ็งว่าเอ็งจะได้อะไร เป็นไปไม่ได้หรอก เราไม่เชื่อเลย

ฉะนั้นบอกว่า บางคนเชื่อว่านิพพานมีอยู่ในตัว ตัวทุกคน ถ้าอย่างนี้เราก็เห็นด้วย แล้วรอวันที่จะรู้นิพพานนี้เอง จริงหรือไม่ ถ้ารออยู่ก็อีกร้อยชาติ ชาตินี้มึงตายฟรีนะ แล้วรอไปเรื่อยๆ ไม่มีทาง เพราะรอเฉยๆ นะ การกระทำของเรา ดูสิ เราไม่ทำความดี เราไม่ฝืนมันเนี่ย ใจเราจะคิดเรื่องอะไร ถ้าเราไม่ฝืนใจเรา ใจเราคิดเรื่องอะไร แล้วรอเฉยๆ มันก็ขี่คอมึงน่ะ แล้วมึงจะไปไหนล่ะ เราคิดแต่ว่าใจเรามีนิพพานอยู่ในหัวใจนะ แต่เราไม่เคยคิดเลยว่าในใจเราน่ะมันมีมารครอบงำอยู่ พญามารที่ขี่หัวมึงอยู่ แล้วมันไปโดนสิ่งที่พญามารมันจี้เข้ามาทีเดียวเนี่ย...เต้นเลย

วันใดวันหนึ่งน่ะเวลามารมันให้ผลน่ะ แล้วมึงจะรู้ว่ามันจะทุกข์แค่ไหน มึงคิดเอามึงมีแต่นิพพานในใจเหรอ มึงไม่คิดว่ามารที่ขี่ใจมึงอยู่นี่ใครบ้าง เราเกิดขึ้นมานี่เกิดมาจากอะไร เกิดจากไม่รู้ตัวเอง อวิชชา แล้วความไม่รู้ตัวเองนี่มันทำให้เราทุกข์ยากอยู่เนี่ย นี่มันคืออะไร แล้วจะนิพพานตลอดไปสิ มึงก็จะได้เกิดอีกเรื่อยๆ มึงจะได้รู้ว่าอันไหนมันจะพามึงไปนิพพาน มันจะถึงนิพพานเราต้องเชื่อธรรมพระพุทธเจ้า แล้วเราต่อสู้กับมัน นี่มันความเชื่อของเขา

แล้วพูดอย่างนี้มันไปเข้าทางมาร เข้าทางกิเลสไง เพราะมารมันต้องการให้พวกเราไม่สนใจในธรรมะ ต้องการให้พวกเราเป็นคนจับจด มารน่ะต้องการแค่นี้ มารมันอยู่หลังความคิดเราแล้วมันคอยไสนะ ให้พวกเราอ่อนแอ ให้ดูทีวีทั้งวันน่ะ เปิดช่องนั้น เปลี่ยนช่องนี้ เพลินไปวันๆน่ะ นั่นล่ะมารทั้งนั้นน่ะ เพราะมารนะ อ้างเลข อ้างว่าหนาวนัก ร้อนนัก ยังหนุ่ม ยังสาว ยังมีเวลา เห็นไหม มารน่ะมันทำแค่นี้ พวกมึงนะตายหมดเลย อยู่ในอาณัติหมดเลย อ้างว่ายังมีเวลา อ้างว่าเมื่อไหร่ก็ได้ แค่นี้นิพพานมึงก็หายแล้ว ถ้าความเชื่อของเขานะ เขาไม่คิดเลยว่าเรามีมารในหัวใจ แล้วมารมันจะขี่เราไปเรื่อยๆ

ถาม : บางคนเชื่อว่าโสดาบัน และสกิทาคา คือคนที่เคยเห็นนิพพาน แต่จำไม่ได้ ไม่มาเป็นสัญญาใช่ไหม

หลวงพ่อ : โห...เวรกรรมเลยน่ะ โอ้.. มันคิดยังนี้ได้ไงวะ บางคนเชื่อว่าโสดาบัน และสกิทาคา คือคนที่เคยเห็นนิพพาน...นิพพานไม่มีใครเคยเห็นนะ ถ้าคนเคยเห็นนิพพาน แล้วจำโสดาบันไม่ได้ เราพูดเล่นบ่อย พูดประชดน่ะ ว่าเขาไปเที่ยวนิพพานกันน่ะ บอกกูจะไปด้วย ไปแล้วกูไม่กลับ กูจะอยู่เลย มันเป็นไปไม่ได้หรอก

เราจะเทียบข้อนี้ ทำไมทุกคนกลัวผี ทุกคนในสัญชาตญาณกลัวผี กลัวผีเพราะทุกดวงจิต มันเคยเกิด เคยตายในวัฏฏะ มันเคยเป็นผีเป็นสาง มันเคยเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ไปดูตามวัดสิ เขาเขียนจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพรหม เรื่องวิหาร เรื่องดุสิต โอ้โฮ.. เขาเขียนได้สวยงามมากเลย เพราะจิตเขาจินตนาการได้ เพราะจิตมันเคยเป็น แต่นิพพานไม่มีใครเคยเห็น ถ้าใครเคยเห็นนิพพานนะ เอ็งจินตนาการนิพพาน เอ็งพูดนิพพานให้กูฟังทีสิ

ถ้าใครพูดนิพพานนะ คนนั้นโกหก เพราะคำพูดนี้เป็นสมมติ นิพพานพูดเป็นสมมติไม่ได้ มีแต่เขาเปรียบเทียบ คนที่รู้นิพพานจริง เช่นหลวงตา หรือครูบาอาจารย์น่ะ หลวงตาจะพูดบ่อยมาก นิพพานเปรียบเหมือนธรรมธาตุ นิพพานเปรียบเหมือนทะเล แม่น้ำทุกสายไหลลงสู่ทะเล นี่คือการเปรียบเทียบ การยกบุคคลาธิษฐานขึ้นมาเปรียบเทียบ เพราะท่านรู้จริงของท่าน คนรู้จริงสามารถเทียบเคียงให้เห็นความจริงอันนั้นได้ แต่คนไม่เคยเห็นจริงนะ มันจะเอานิพพานเป็นความจริงไง ลักษณะนิพพานเป็นอย่างนั้นนะ ว่างกี่วา กี่ศอก กี่คืบ เวรกรรม... จักรวาลนี้วัดด้วยอะไรวะ บางคนเชื่อว่าโสดาบัน และสกิทาคา คือคนที่เคยเห็น...ไม่เคยเห็น ไม่มีคนเคยเห็นนิพพาน แต่พวกเราเวียนตายเวียนเกิดน่ะ ในพระพุทธศาสนาน่ะมันมีมา แล้วเราได้ฟังเทศน์มา สิ่งใดฝังใจมา ทุกคนอยากจะพ้นจากทุกข์ คือผลของมัน ผลของการไม่เกิดคือ ต้องสิ้นทุกข์ สิ้นกิเลส คือนิพพาน ฉะนั้นเนี่ยดูอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเยี่ยมญาติของตัว เห็นไหม ไปเยี่ยมญาตินะ แล้วญาติบอก เขาจัดงานนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉันไง เขา อู้ฮู..จัดเตรียมอาหารเต็มไปหมดเลย ถามว่านี่มีงานอะไรกันเนี่ย...ไม่มี

พรุ่งนี้จะนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉัน พระพุทธเจ้า พุทธะ พระอนาถบิณฑิกได้ฟังทีเดียวนะ ช็อกเลย อันนี้ถ้าคนไม่ปฏิบัติก็อีกเรื่องนึงนะ ถ้าคนปฏิบัติมันจะรู้ถึงว่า จิตใต้สำนึกของคน มันมีอุดมการณ์อะไร แล้วอุดมการณ์อันนั้นมากระตุ้นอันนั้นปั๊บ มันจะโพลงทันทีเลย พอญาติบอกว่าจะนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉัน อนาถะนอนไม่หลับเลย ออกไปเดินฟุ้งซ่านเลย จะไปกราบพุทธะ จะไปกราบพุทธะ ญาติก็บอกว่า พรุ่งนี้เช้า พรุ่งนี้เช้า อนาถะนอนไม่หลับ นอนไม่ได้เลย

ถ้าเราไม่ภาวนาเรื่องจิต จะไม่เข้าใจเรื่องจิต เรื่องจิตมันมีอุดมการณ์ คือเราสร้างบุญมา อนาถบิณฑิกเศรษฐีกับนางวิสาขา สร้างปรารถนามาเป็น มหาอุบาสิกา มหาอุบาสก เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า สร้างบุญญาธิการมามาก ปรารถนามาจะมาเป็นผู้อุปฐากพระพุทธเจ้า พอได้ยินชื่อพระพุทธเจ้าน่ะ นอนไม่หลับเลยนะ อยู่ไม่ได้เลย ต้องไปกราบพระพุทธเจ้าเดี๋ยวนั้นให้ได้ แล้วพอรุ่งเช้ามา พอนิมนต์มาฉันเสร็จแล้ว นิมนต์ไปบ้านเลย แล้วซื้อที่เลย เชตวันน่ะ อนาถะเห็นไหม

ถ้าพูดถึงอย่างนี้ บางคนเชื่อว่าโสดาบัน สกิทาคา คือคนที่เคยเห็น อย่างนี้มันก็เหมือนว่าฝ่ายมหายานก็พูดอย่างเนี้ย มหายานนะส่วนนั้นมันเป็นอาจริยวาท คือให้เชื่ออาจารย์ แต่เถรวาทเรา ใครจะพูดอย่างไรก็แล้วแต่ ต้องจับมาเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎก เพราะเราเชื่อพระไตรปิฎกกัน เถรวาทหมายถึงพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ทำสังคายนา แล้วลงมติกันว่า สิ่งใดที่พระพุทธเจ้าบัญญัติแล้วให้ถือนี้เป็นธรรมวินัยเป็นศาสดา ไม่ยอมบัญญัติเพิ่ม แล้วก็ไม่ตัดทอน นี่คือเถรวาท

แต่มหายาน เขาบอกว่า เอาแต่ความเห็นของเขา คือมหายานมันแตกไปอีกเป็นสิบๆนิกายนะ ดูอย่างเฉพาะทิเบต ลามะหมวกขาว หมวกเหลือง หมวกแดงเนี่ย ก็คนละนิกายแล้ว พอเป็นมหายานไปบางคนก็คิดว่ามหายานเนี่ยดีมาก ดีมากที่แบบว่าเปิดกว้าง ใครทำอะไรก็ได้ พอเปิดกว้างปั๊บ ก็เลยเป็นอาจริยวาท คืออาจารย์องค์ไหนดี ก็สอนเข้าหลักเข้าเกณฑ์ อาจารย์องค์ไหนถ้าเกิดเข้าไม่ถึงที่หลักที่เกณฑ์ เขาก็สอนแต่ความเห็นของเขาไป นี่คือมหายาน อาจริยวาท

แต่เถรวาทของเรา หินยานเนี่ย ไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้ ฉะนั้นใครเคยเห็นนิพพาน โอ ถ้าเป็นเถรวาท...ไม่เชื่อ เถรวาทไม่เป็นอย่างนั้น ใครจะไปเห็นนิพพาน สิ่งที่เขาว่าเขาเห็น เขาเห็นกันน่ะ เพราะเวลาปฏิบัติไปนะ พวกพรหม ไปอยู่ที่พรหมนาน พออยู่ที่พรหมนาน พอเวลามาประพฤติปฏิบัติ จิตมันจะไม่ต่อเนื่อง เพราะมันจะไปเว้นวรรคไว้นาน พอเว้นวรรคไว้นานปั๊บ มันไม่ต่อปั๊บ มันจะสาวอดีตชาติได้ไม่ต่อเนื่อง พอไม่ต่อเนื่องก็บอกว่าอดีตชาติไม่มี คือเกิดชาติเดียว 

          พระพุทธเจ้ารู้หมด จิตเรานะ ถ้าเราไปเกิดเป็นพรหม แล้วอยู่พรหม พรหมเวลามาปฏิบัตินะ มันจะต่อกัน มันยาวไง เว้นวรรคไว้นาน แต่ถ้าพอเราเกิด ชาตินี้ ชาตินี้ ชาตินี้ พอจิตมันลงข้อมูลปั๊บ มันจะต่อเนื่องเลย อย่างพระพุทธเจ้า เห็นไหม พระเวสสันดรเห็นไหม พระเวสสันดรไปสิบชาตินะ สิบชาติออกไป ไปแล้วไปไม่มีวันจบเลย แต่ถ้าไปพักที่ไหนล่ะ จิตไม่มีเว้นวรรค แต่จิตไปเกิดตรงที่เป็นพรหมนาน ทีนี้บอกไปเห็นนิพพาน เราจะบอกเนี่ย เวลาเราไปเห็นความว่าง เห็นนิพพาน นิพพาน ไม่ใช่ ไม่มีหรอก แหม...นิพพานใครจะเข้าไปได้

ถ้าเข้าอย่างนี้ไม่ได้ปั๊บไปค้านกับที่ว่า หลวงปู่มั่นเนาะว่าพระอรหันต์มาอนุโมทนาอย่างเนี้ย หลวงปู่มั่นไปเที่ยวนิพพานอย่างเนี้ย ไปเห็นพระนั่งอยู่น่ะ อันนี้คนละกรณีนะ กรณีอย่างนี้ มันเป็นกรณีของผู้ที่มีบุญญาธิการ หลวงปู่มั่นมีบุญญาธิการมาก มีบุญญาธิการปั๊บ เวลาจิตมันสงบ จิตมันสืบต่อกันได้ แล้วเป็นได้ เป็นได้แต่คนที่เป็นได้เป็นอย่างนี้จริง มันเป็นเหมือนนักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องที่ลึกลับมาก แล้วมันเป็นความลับในทางวิชาการ เขายังไม่พูดให้ใครฟังหรอก แต่เขาสามารถสอนนักวิชาการที่จะศึกษาเข้ามาถึงหลักเกณฑ์อันนี้ แต่ถ้าเอาไปพูดกับข้างนอก คนที่เขาทำหลักวิชาการ เขาจะบอกว่าเขาทำเข้ามาถึงไม่ได้ไง เราเชื่อมากเรื่องหลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นมีอะไรลึกลับอีกเยอะแยะเลย ที่ทางโลกรู้ไม่ได้

ถาม : ที่ว่าให้เจริญอริยสัจ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค คือต้องทำ ต้องเป็นในทุกขั้นตอนใช่ไหม มีบางคนตีความว่า ให้รู้ทุกข์ด้วยการเจริญมรรค เหตุแห่งทุกข์คือสมุทัยจะละไปเอง จึงแจ้งนิโรธ เป็นแบบนี้หรือไม่

หลวงพ่อ : มันเป็นวิปัสสนึกนะ เพราะมียังนี้ถึงเป็นวิปัสสนึก มันก็นึกของมันไปเรื่อย มันจะรู้เห็นไหมมีบางคนชี้ว่าให้รู้ทุกข์ด้วยการเจริญมรรค เหตุแห่งทุกข์คือสมุทัย ทุกคนจะบอกว่า เนี่ยเราถึงบอกว่าสังโยชน์ สังโยชน์คืออะไร ทุกคนน่ะ หาสังโยชน์...ไม่มีทาง สังโยชน์น่ะมันเป็นนามธรรม มันร้อยรัดไปเพราะว่าเราทุกข์ แล้วเวลาเราไปละสังโยชน์ ไปละที่ไหน มรรคญาณไล่เข้าไป รู้ทุกข์ สมุทัย แจ้งนิโรธ เจริญมรรค แต่ต้องทำ ต้องเป็น...ไม่หรอก

อริยสัจนะ พระพุทธเจ้าเนี่ย ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ทุกข์ควรกำหนด เวลาเราทุกข์ เรากำหนดไม่เป็น สิ่งที่เรากำหนดไม่เป็นน่ะ ทุกคนนะ เวลาที่เราทุกข์กันอยู่ เขาเรียกวิบาก มันเป็นผลของทุกข์ เอ้าจริงๆ ที่เราร้องไห้กันอยู่ เราร้องไห้เพราะอะไร ร้องไห้เรื่องที่มันเกิดนานไปแล้วนะ เราร้องไห้เรื่องที่มันจบไปแล้ว อ้าว...แล้วมันแก้ตรงไหนล่ะ แล้วเราเสียใจ เราทุกข์ใจอยู่นี่เรื่องมันจบไปแล้วทั้งนั้นน่ะ อ้าว...แล้วมันร้องไห้ทำไมล่ะ ก็ผลของมันน่ะ ผลของวิบาก

แล้วทุกข์มันอยู่ไหนล่ะ ก็มึงไม่เห็นมันน่ะ มึงกำหนดมันไม่เป็นน่ะ ทุกข์ควรกำหนด ทุกข์อยู่ที่ใจ เพราะใจเป็นผู้รับรู้ ใจเป็นผู้รับรู้ ใจไปเปิดรับมันเข้ามา แล้วทำไมมันถึงเปิดรับมันเข้ามาล่ะ ก็มึงโง่ไง อ้าว...ทำไมถึงโง่ล่ะ ก็โง่เพราะกูไม่รู้ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ คือมันต้องไปละที่ตัณหาความทะยานอยาก มันไม่ใช่ละที่ทุกข์ เนี่ยพวกเราจะละทุกข์ ละทุกข์กัน อยากละทุกข์ มันจะเอาทุกข์มาเป็นเขียง นี่ไง ทุกข์ไง ท ทหาร ก ไก่นี่ไง ทุกข์นี้ไง ทุกข์พวกเรานี่เป็นความรู้สึกนะ เป็นความรู้สึก ไอ้นี่ภาษาเขียน

ภาษาเราคือภาษาความรู้สึก ภาษาความทุกข์ ผลมันเป็นวิบาก วิบากเกิดขึ้นกับเรา ทุกข์ควรกำหนด แต่เพราะเรากำหนดไม่ได้ ถ้าเรากำหนดทุกข์ไม่ได้ เราไม่รู้ที่มาของทุกข์ ถ้าเราไม่รู้ที่มาของทุกข์ เราแก้ทุกข์ไม่ถูก เห็นไหม เวลาทางญี่ปุ่นที่เขาฆ่าตัวตายเห็นไหม ปิดรถเลย แล้วจุดถ่านเนี่ย นี่ไง เพราะเขาไม่รู้จะไปไหนไง เวลาเราดูข่าวนะ เดี๋ยวนี้มันมีพวกวัยรุ่นที่เขาเป็นชมรมของเขา นัดกันเข้ารถเก๋ง ปิดหมดเลย แล้วจุดถ่านให้คาร์บอนไดออกมา ตายหมดเลย คือเขาไม่มีทางออก เขาไม่มีทางออกชีวิตนะ คือชีวิตนี้ไม่รู้จะไปไหนกันน่ะ ไม่รู้จะเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร แล้วเกิดมาแล้วจะไปไหน นี่ไง แล้วมันทุกข์อยู่ที่ไหนล่ะ ทุกข์อยู่ที่ไหน

ไอ้ที่พูดกันมันวิปัสสนึก ฉะนั้น ทำอะไรก็แล้วแต่ พอมันผิดขั้นตอนมา มันก็จะยุ่งมาอย่างนี้ แต่ถ้ามันถูกขั้นตอนมานะ ถูกขั้นตอนนะ ทำความสงบของใจให้ได้ก่อน เริ่มต้นเลยนะ ทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ทำสมาธิก่อน พอทำสมาธิขึ้นมาน่ะ พอคนจะเริ่มทำสมาธิ มันก็จะเริ่มหาที่สงัด เริ่มหาสิ่งแวดล้อมที่ดี เริ่มทำแต่สิ่งที่ดีๆ มันเริ่มคัดเลือกเราเข้ามาในสิ่งแวดล้อมที่ดีหมดล่ะ โธ่...ใครลองปฏิบัติสิ ใครลองพูดหนวกหู ทุกคนโกรธหมดล่ะ เวลาตัวเองพูดไม่เป็นไรนะ

เวลาตัวเองนั่ง ใครพูดหนวกหูหน่อย มันฉุนขาดเลยนะ แต่เวลาตัวเองพูดน่ะ พูดปากเปียกปากแฉะเลย ไม่เคยคิดเลย แต่เวลาคนอื่นพูดน่ะ จะเอาเขาตายห่า เพราะอะไร เพราะนี่ไงเราจะเข้ามาหาความสงบ พอหาสงบปั๊บ มันก็มีความตรงข้ามกับสิ่งที่ไม่สงบ พอมันตรงข้ามขึ้นมา มันเริ่มแยกแยะเข้ามา พอจิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบนะเพราะมันสงบได้ยาก แล้วรักษาไว้ได้ยาก ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่าชำนาญในวสี

แต่เพราะเราไปคิดกันเองโดยวิทยาศาสตร์ เพราะโดยข้อเท็จจริง สมาธิแก้กิเลสไม่ได้...ถูก สมาธิแก้กิเลสไม่ได้หรอก แต่ถ้าไม่มีสมาธินะ ปัญญามึงเกิดไม่ได้เด็ดขาด ปัญญาที่มึงเกิดขึ้นมานั้นเป็นโลกียปัญญาทั้งหมด เป็นปัญญาของกิเลสทั้งหมด ตัวสมาธินั้นคือตัวกดกิเลสไว้ หินทับหญ้า หินทับหญ้าเนี่ย เขาบอกหินทับหญ้า มึงรู้จักหินหรือเปล่า มึงรู้จักหญ้าไหม หญ้าคือกิเลสมึงน่ะ หินคือสิ่งที่กดกิเลสมึงไว้ มึงรู้จักไหม…

ติฉินนินทากันว่าหินทับหญ้า แต่หินก็ไม่รู้จัก หญ้าก็ไม่รู้จัก มันไม่รู้จักว่า หินเนี่ยนะเขาเอามาก่อสร้างบ้านเรือนกันได้นะ หญ้าเนี่ย เขาเลี้ยงสัตว์ได้ หินทับหญ้ามันเป็นอุปมาอุปไมย แล้วมึงก็คลำเอาอุปมาอุปไมย ทำลายโอกาสพวกมึงกันเอง หินทับหญ้า หินทับหญ้านั่นแหละมันทำให้มึงเป็นคนดีขึ้นมา มันจะเลี้ยงสัตว์ขึ้นมาให้มึงได้มีอาหาร มันจะเอาหินไปก่อสร้างบ้านเรือนให้ได้อาศัย ไปดูถูกหิน ดูถูกหญ้า แต่หินกับหญ้าน่ะมันจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิตของพวกปฏิบัตินี้

ถ้าไม่มีสมาธิกดไว้ กดอะไร กดมารไง นี่ไง เห็นไหม ให้รู้ทุกข์ ให้เจริญมรรค กดไอ้พวกนี้ไว้ ไอ้นี่ก็ชิงสุกก่อนห่าม ตัวเองไม่มีวุฒิภาวะ ตัวเองไม่มีความสามารถทำให้เป็นข้อเท็จจริงขึ้นมาได้ แต่พูดกันด้วยความรู้สึกว่านั้นเป็นมรรค นั้นเป็นอริยสัจ นั้นเป็นพูดเองเออเอง พูดเองเออเองโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไม่ใช่พูดโดยข้อเท็จจริง มันเป็นโดยข้อเท็จจริง ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริง จะไม่พูดอย่างนี้ พูดกันไปนะ อย่างไรก็พูดพาไปเที่ยวนิพพาน พากันไป ก็เชื่อกันไปนะ จริงๆ ถ้าพาไปเที่ยวนิพพาน กูขอไปด้วย... แล้วกูไม่กลับ กูอยู่เลย กูไม่กลับ กูจะอยู่ที่นั่นน่ะ... ก็พูดกันไป ก็เชื่อกันไป ก็เชื่อได้

ไม่เชื่อ คือเราต้องพิสูจน์สิ พระพุทธเจ้าสอนแล้วนะ ในศาสนาพุทธให้พิสูจน์นะ เราอย่าเชื่ออะไรโดยที่เรายังไม่มีเหตุมีผล ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราพูดอย่างนี้ไป โดยที่คนไม่มีหลักนะ ฟังแล้วมันก็น่าทึ่งเนาะ บางคนมีความเห็นว่า รู้ทุกข์ด้วยการเจริญมรรค ก็รู้ทุกข์รู้อะไรไป มันก็เหมือนเด็กเล่านิทานกันน่ะ เรามาวัดกันน่ะ มาทำบุญกันน่ะ เด็กมันก็มาวิ่งเล่นกันน่ะ นี่ก็เหมือนกันน่ะ เขาปฏิบัติกันเกือบเป็นเกือบตาย พระป่าปฏิบัติกันเกือบเป็นเกือบตาย นี่ก็มาบอกเลย เราก็มารู้ทุกข์กันก็เจริญมรรค เราก็เจริญแล้ว เห็นพระป่าเขาปฏิบัติ กูก็นั่งนึกว่ากูปฏิบัติแล้ว พอรู้ทุกข์เห็นสมุทัย มันก็รู้แจ้งไปเอง แจ้งอะไรล่ะ มันก็นิโรธไปเองเวรกรรม เวรกรรมฉิบหาย...

เพราะมันมีของจริง มีครูบาอาจารย์เรานะ เขาถึงเชื่อถือ ศรัทธา เพราะคำพูดมันเป็นคำพูดเดียวกัน หลวงตาก็พูดนิโรธเห็นไหม ดูสิ ที่ประวัติอาจารย์จวนน่ะ หลวงปู่บัวน่ะ ที่ว่าไปจำพรรษาอาจารย์จวนก็ว่าเข้านิโรธน่ะ อาจารย์จวนบอกไม่ใช่ นิโรธของหลวงปู่มั่น นิโรธคือดับทุกข์ นิโรธ คือทุกข์หลุดออกไปจากใจ แต่นิโรธที่มันเข้าสมาบัติอย่างนี้ นิโรธอย่างนี้ ไม่ใช่นิโรธ แล้วหลวงปู่บัวก็เข้าสมาธิไง แล้วกำหนดว่าจะตายเห็นไหม ให้ทำโลงศพ แล้วอาจารย์จวนก็ทำให้ แล้วอาจารย์จวนพยายามจะแก้หลวงปู่บัว ตอนนั้นหลวงปู่บัวออกจากถ้ำจันทร์ ก็มาเจอหลวงตาที่วัดป่าแก้วชุมพลน่ะ แล้วหลวงตามาแก้ตรงนั้นน่ะ ก็เลยผ่านอันนี้ไป

ตอนนั้นหลวงตายังไม่ได้แก้หลวงปู่บัวไง มีความเข้าใจว่า นิโรธคือเป็นอย่างนั้น แต่อาจารย์จวนบอกว่า นิโรธของหลวงปู่มั่น ไม่เป็นอย่างนี้ นิโรธคือดับทุกข์ ดับหมด แต่นิโรธมีเหลือไง นิโรธเรารู้ไง รู้นิโรธ รู้อาการต่างๆไง มันไม่ดับ คนภาวนาเป็นไม่เป็นเนี่ย ทั้งๆ ที่หลวงปู่จวนเนี่ย พรรษาน้อยกว่านะ แต่หลวงปู่จวนก็พยายามแก้ไข พยายามคุยธรรมะกันน่ะ แต่มันแบบว่า ธรรมดาเนาะ ธรรมดาหมายความว่า ผู้ที่อ่อนกว่าไปแก้ผู้ที่แก่กว่า มันยากน่ะ แต่ถ้าคนที่มีบารมีอย่างหลวงตา ท่านอ่อนกว่าเกือบทุกองค์เลย อ่อนกว่าหลวงปู่คำดี อ่อนกว่าหลวงปู่ฝั้น อ่อนกว่าหลวงปู่บัว ท่านแก้ได้หมดเลยเห็นไหม นี่วาสนาของคนนะ เพราะความเชื่อถือ

ทีนี้คำพูดน่ะมันคำเดียวกัน แต่การปฏิบัติมันไม่เหมือนกัน เราตีความกันเองไง อันนี้เราถึงบอกว่ามันอยู่ที่จริตนิสัย อยู่ที่อำนาจวาสนา เวลาครูบาอาจารย์ท่านคอยแก้เรา ท่านจะพูดแทงหัวใจ แทงความคิด ให้เราพลิกเลย เราพลิกเลยนะ พอแทงมา มันจะพลิกเลย แต่ถ้าไม่พลิก เราก็จะย้ำคิดย้ำทำอันเสิมนั่นน่ะ ถ้าย้ำคิดย้ำทำนะ แล้วก็จะมาพูดน่ะ ทุกคนก็จะมาพูดเลย อู้หู...มันละเอียดมาก มันละเอียดมาก

คนที่ปฏิบัตินะ เราจะบอกทุกทีเลยน่ะ มันคนละมิตินะ มิติความคิดของโลกๆ มันเป็นมิติหนึ่ง คือความคิดจากสมอง แต่เวลามรรคญาณมันเกิดน่ะ มันความคิดจากจิต ความคิดจากจิตแล้วเราจะอธิบายประจำเลยว่า เวลาพลังงานคือจิต มันต้องส่งความรู้สึกมาน่ะ คลื่นมาถึงสมอง เพราะมันสั่งให้สมองทำงาน คิดดูสิ สมองนะ มันเก็บข้อมูล เพราะเราเรียนหนังสือ ศึกษามา เราจะมีความจำไว้ แต่ความจำจริง คือสัญญานะ แต่มันอาศัยสมอง พอมันออกมา มันออกมาที่สมองให้สั่งงาน มันเร็วมาก แต่มันก็ยังเคลื่อนมา

แต่ถ้าคิดดูเทียบกับตัวจิต แล้วปัญญามันเกิดจากตัวมันเอง มันไม่ต้องส่งพลังงานออกมาเลย มันเป็น “ปัจจุบันธรรม” ไง ที่ว่ากิเลสแก้เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันตรงนี้ไง ปัจจุบันที่ว่ามันเป็นพลังงานเลย ตัวพลังงานน่ะ รูป-นาม หลวงปู่ดูลย์ไง ความรู้สึกเป็นรูป ความคิดเป็นนาม ความคิดมันพร่อง พอนามมันเกิด นามก็พร่อง พร่องก็หมุน นี่ไงเวลาจิตมันพร่อง ไม่มีสมาธิ มันก็หมุน แต่ถ้ารูปตั้งมั่น สมาธิตั้งมั่น พอสมาธิตั้งมั่น ความรู้สึกในสมาธิ มันก็ล้างกันอยู่ในรูปอยู่ในจิตนั้น คนคิดไม่ทันหรอก แล้วคิดไม่ได้ คิดไม่ได้ แล้วอธิบาย เวลาพูด ก็พูดคำเดียวกันนั่นแหละ

แต่ถ้าคนไม่เคยเห็น คนที่ไม่เป็นความจริง จะอธิบายไม่ถูก จะอธิบายด้วยความรู้สึก ความคิด สัญชาตญาณ ที่เราคิดกันใช้ปัญญากัน สัญชาตญาณ แล้วบอก.. ความคิดเกิดดับ ความคิดเกิดดับน่ะ ความคิดนั้นมันเกิดดับ พอมันเกิดดับมัน เอ๊อะ.. เอ๊อะ.. พอเกิด เอ๊อะ ไล่เข้าไป ไล่เข้าไป เมื่อวานก็อธิบายตรงนี้ เมื่อวานก็มาถามตรงนี้ ใครๆ ก็มาถามตรงนี้น่ะ เดี๋ยวนี้ มาถึงก็ให้ตอบมา อูย...กูโดนสอบสวนอีกแล้วเว้ย พนักงานสอบสวนเยอะฉิบหายเลย ใครๆ ก็มาสอบกู ใครๆ ก็มาสอบกู มึงจะเอากูติดคุกเหรอ อธิบาย อธิบาย พออธิบายก็เนี่ยพนักงานสอบสวนเยอะมากเลย กูเป็นผู้ต้องหา เดี๋ยวๆ ก็มาละ ถือสำนวนมาละจะสอบ สอบปากคำ เอ้าว่ามา มันต้องอธิบาย ต้องอธิบายล่ะ

นี่พออธิบายให้เขาเข้าใจ แต่เพราะมันก็ตอนนี้นะ ตอนนี้มันยังมีกำลังอยู่ แล้วโอกาสมันยังมีอยู่ไง ต่อไปเวลามันจะน้อยลงเรื่อยๆ แล้วเราคิดด้วยว่า ตอนนี้พูดไว้เยอะมาก พูดไว้เยอะมากแล้ว ทีนี้เวลาเขาฟังเทปอันนี้แหละ เมื่อวานมาก็มานี่แหละ ในซีดี หลวงพ่อว่าอย่างนั้นอย่างนั้น คิดในใจนะ กูให้มึงถามจากความรู้สึกมึงน่ะ มึงเอาซีดีกูมาถามกู ก็คำพูดกูเองนี่แหละ แล้วมาถามกูทำไมวะ ก็เอาในซีดีนั่นแหละ แล้วก็เอามาถาม หลวงพ่อพูดว่าอย่างนั้น หลวงพ่อพูดว่าอย่างนี้ พูดไว้อย่างนั้นเพราะเหตุนั้นๆ เหตุเพราะว่าเขาทำมาแล้วมันเป็นเหตุนั้น แล้วอย่างที่ว่า คำถามมันไม่เหมือนกัน เพียงแต่ตอนนี้ ไอ้กระแสนี้มันแรงน่ะ

ถ้าพูดถึงนะ เมื่อก่อนเราอยู่ทางอีสาน นี่หลวงปู่เจี๊ยะนี่ไม่ได้เลยนะ หลวงปู่เจี๊ยะนะ ถ้าไม่พุทโธนะ ไม่ต้องคุยกันเลย หลวงปู่เจี๊ยะนี่ไม่เชื่ออะไรเลย พุทโธอย่างเดียว แม้แต่อานาปานสติท่านยังบอกไม่ให้ทำเลย เราไปอยู่กับท่าน ท่านพูดเองนะ “ไอ้หงบ...อานาปานสติเนี่ย ทุกคนทำไม่ได้ เว้นไว้แต่พระพุทธเจ้า” เราสะอึกเลยเอ้อ...พระพุทธเจ้าก็พระพุทธเจ้า ท่านบอกเลยนะ “อานาปานสติทุกคนทำไม่ได้ เว้นไว้แต่พระพุทธเจ้าองค์เดียว ทุกคนห้ามทำ” แต่หลวงตาท่านสอนให้อานาปานสติน่ะ เห็นไหมมันเป็นจริตของหลวงปู่เจี๊ยะน่ะ ถ้าใครไม่พุทโธนี่ ไม่ต้องมาคุยกันแล้วกันล่ะ หลวงปู่เจี๊ยะไม่ฟังใครเลย พุทโธอย่างเดียว

ทีนี้มาหลวงตา ท่านก็เปิดกว้าง ครูบาอาจารย์ท่านก็เปิดกว้าง เปิดกว้างก็เพราะว่า มันการกระทำน่ะ คนเราน่ะ มุมมอง ปัญญา มันกว้างกว่ากัน ฉะนั้นพอมาในปัจจุบัน ปัจจุบันปัญญาอบรมสมาธิ เพราะเราบังเอิญเราทำมาไง เพราะเราทำมาไง เราก็ไปคุยกับหลวงปู่เจี๊ยะนี่แหละ หลวงปู่เจี๊ยะบอก “ไอ้หงบ...มึงอย่ามาคุยให้กูฟังเลย มึงน่ะ จำของท่านอาจารย์ใหญ่มา” ท่านชี้หน้าเลยนะ หาว่าเราจำของหลวงตามา อ้าว...ถ้าจำมาอาจารย์ก็ต้องไล่ผมจนสิ ไล่ผมไม่จนสักวันหนึ่งเลย

จนสุดท้ายท่านบอกว่า “กูไม่เชื่อมึงล่ะ มึงต้องพุทโธ” เราก็เลยไปพุทโธกับหลวงปู่เจี๊ยะนี่แหละ เราถึงได้พุทโธมาไง ไม่งั้นพุทโธเมื่อก่อนเราก็อธิบายไม่ถูกนะ เราถนัดปัญญาอบรมสมาธิมาก แต่พุทโธกับหลวงปู่เจี๊ยะเนี่ย “มึงกำหนดพุทโธมา มึงกำหนดมาให้ได้ แล้วค่อยมาคุยกับกู” แหม...เราก็ต้องไปพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่นั่นน่ะ หลายเดือนเลยน่ะ พอจิตมันลงก็ว่าพุทโธเป็นอย่างนี้ครับ แล้วมันเหลืออะไร ต้องพุทโธอีก เอ้า...พุทโธ พุทโธ พุทโธ

แต่มาคิดถึงตอนนี้นะ เราภูมิใจที่ว่า เราได้มาทางนี้ ฉะนั้นเราพุทโธมา อย่างที่อธิบายเรื่องพุทโธ เห็นไหม อุคคหนิมิต วิภาคะ เมื่อวานที่มาลูกศิษย์หลวงปู่เจี๊ยะทั้งนั้นเหมือนกัน เขาบอกหลวงปู่เจี๊ยะให้เดินตามข้อ บอกหลวงปู่เจี๊ยะเดินตามข้อเนี่ย หลวงปู่เจี๊ยะพูดไว้ในที่ท่านเทศน์ไว้เนี่ย เปิดในเสียงธรรมประชาชนเห็นไหม บอกว่า ถ้าเดินตามข้อ ยังเป็นสมถะอยู่ แต่เดินตามข้อ ถ้ามันอยู่ได้เป็นชั่วโมง ชั่วโมง ที่มันไม่แลบออก ถ้าเราบังคับให้เดินตามข้อ ความคิดมันยังพุ่งออกอยู่ แสดงว่าจิตเรายังไม่สงบ จิตเรายังไม่นิ่ง

ถ้าจิตเรานิ่ง บังคับให้จิตนึกถึงข้อนิ้วมือสิ ข้อมือ ข้อศอก ข้อหัวไหล่ นึกให้มันเวียนไป ถ้าเราไล่จิต นึกถึงโครงกระดูกอยู่ตลอดเวลาได้เป็นชั่วโมง ชั่วโมง นี่จิตมันเป็นสมถะ คือจิตมันเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิ มันถึงอยู่ในโครงสร้างของร่างกายนี้ได้ แต่ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ คิดถึงข้อมือมันก็แว่บไปที่เรื่องอื่นก่อน แล้วเราก็ดึงกลับมา คิดถึงข้อศอกมันก็แว่บไปอีกเรื่องหนึ่งแล้ว พอเป็นชั่วโมงๆ จิตมันนิ่งได้ พอจิตมันนิ่งได้ ดูข้อเหมือนกันนี่แหละ เป็นวิปัสสนา

วิปัสสนาเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบแล้ว พอจิตมันสงบแล้ว ข้อเนี่ย มันจะเห็นข้อ ข้อเนี่ย ถ้าเราโดยสมถะ เราคิดเรื่องข้อ ข้อคือข้อใช่ไหม แต่พอจิตมันสงบแล้ว เพราะจิตมันมีกำลัง จิตเป็นสมาธิ มันจับข้อ ให้ข้อขยายออกได้ พิจารณาข้อได้ ให้ข้อนี้แตกสลายได้ ให้ข้อนี้เปลี่ยนแปลงได้ มันเป็นไตรลักษณ์ไง เพราะมันมีกำลังของสมาธิไง กำลังสมาธินี่มันพิจารณาข้อ ให้ข้อดูสิดูในโพรงกระดูก จะใหญ่จะโต จะเล็ก จะแคบ มันไล่เข้าไปเลยล่ะ นี่วิปัสสนาเกิดอย่างนี้น่ะ

ดูกระดูก ดูอันหนึ่งเป็นสมถะ ดูอันหนึ่งเป็นวิปัสสนา คำพูดในธรรมะนี่ก็เหมือนกัน พูดธรรมะเหมือนกัน แต่คนไม่รู้พูดก็พูดอย่างหนึ่ง คนรู้พูดก็พูดอีกอย่างหนึ่ง คนรู้พูดตีความหมายไปอีกเรื่องหนึ่ง คนไม่รู้พูดธรรมะ ก็นึกว่าธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์ไง นี่ไง ทุกข์ก็คือทุกข์ไง ทุกข์ก็ร้องไห้นี่ไง ไอ้บ้า.. มันทุกข์ใจนะมึง คนมีเงินเป็นแสนๆ ล้านก็ทุกข์ฉิบหายเลย ทุกข์หัวใจ ไม่รู้จะเอาเงินไปไว้ที่ไหน เขามีเงินแล้วเขาไม่ทุกข์เหรอ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ แล้วทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ แล้วทุกข์ ทุกข์ ทุกข์น่ะ ทุกข์ตรงไหนน่ะ ทุกข์คืออะไร คำพูดเหมือนกันนะ มันยังคนละเรื่องเดียวกันไง

ฉะนั้นที่เราบอกว่า ผิด ผิด ผิดอยู่ เรายืนยันว่าผิดมาตลอด เพราะอะไร เพราะคำพูดของเขา มันเป็นคำพูดวิทยาศาสตร์ คือคำพูดในสิ่งที่โลกเขาพูดกัน แต่ถ้าเป็นธรรมะนะ มันจะลึกกว่านี้ ลึกลงไปในใจ แล้วพูดนี่รู้เลย คนเป็นธรรมะพูดออกมานี่ รู้ ฟังออก ฟังได้ ถ้าคนไม่เป็นพูดไม่ได้ แล้วพูดไม่ถูก ถ้าคนจำขี้ปากมาพูดก็พูดคำเดียวกันเหมือนกัน แต่ซักสิ เขาจำขี้ปากมา เขาไม่รู้วิธีการที่มาอย่างไรไปอย่างไร ถ้าพูดเหมือนกัน ก็เหมือนกันไม่เป็นไร ทำไมจึงเกิดอย่างนี้ มันเกิดเพราะเหตุใด ตอบไม่ได้

แต่ถ้าเป็นคนจริงนะ ถามมา ถามมาเลย เอ้า.. มันเกิดเพราะอะไร เพราะใจสงบเว้ย... ใจสงบแล้วใจมันก็ไปรู้เห็นน่ะ ทำไม แล้วรู้เห็นอย่างไร อ้าว...ก็รู้เห็นด้วยกำลังของสมาธิ กำลังของปัญญาสิ แล้วปัญญาเข้าไปทำลาย แล้วมันคลายตัวออก เห็นไหม... สัมปยุตเข้าไปแล้ววิปปยุตออกมา แล้วมันเหลืออะไร กิเลสมันหลุดไปอย่างไร สังโยชน์ขาดไปอย่างไร สังโยชน์ขาดแล้วจิตมันเป็นอย่างไร มันถามได้ทีละเปาะ ละเปาะ ละเปาะ ถ้าจะถามนะ ถามได้ทีละเปาะเลย เข้าไปรู้อย่างไร รู้แล้วเวลาคนมาถามปัญหา เขาบอกว่า นิพพง นิพพานเนี่ย แล้วผลมันเป็นอย่างไร อ้าว...ผลมันเป็นอย่างไร แล้วเวลาเห็นแล้วจิตเป็นอย่างไร จิตน่ะ ความรู้สึกเป็นอย่างไร แล้วพอถึงที่สุด เวลามันปล่อยแล้ว มันปล่อยแล้วมันเหลืออะไร แล้วสิ่งที่เหลือน่ะ มันได้ผลอย่างไร

ยถาภูตัง รับรู้เข้าไป เกิดญาณทัสสนะ เกิดความรู้ความเห็น ไม่เป็นไม่รู้หรอก ที่เราค้านมาตลอดว่า ผิด ผิด ผิด เพราะเขาไม่เคย ไม่มีสิ่งที่เราพูด หลุดออกมาจากคำพูดของพวกเขาเลย คำพูดของเขาที่เขาพูดออกมา มันเหมือนคำพูดที่พูดออกมาจากวิทยาศาสตร์ จากสิ่งที่พิสูจน์ เห็นไหม จากสิ่งที่พิสูจน์ออกมาเป็นเรื่องโลกๆ เขาไม่เคยพูดถึงเรื่องของธรรมออกมาให้เราได้ยินแม้แต่คำเดียวเลย ที่เขาคุยๆ กันอยู่ เราถึงยืนยันได้ว่าผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ กูว่าผิด อย่างไรก็ผิด

ถ้าใครบอกวิทยาศาสตร์ ก็พวกวิทยาศาสตร์เขาคุยกันเรื่องวิทยาศาสตร์ไง พวกโลกเขาก็คุยกันเรื่องโลกๆไง เขาเข้าใจเรื่องโลกๆไง แล้วถ้าเป็นธรรมนะ ไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นอย่างที่พูด ก็พูดที่ว่า หนึ่ง ทุกคนมีนิพพานอยู่ในตัวเอง ได้แล้วใช่ไหม ธรรมะไม่พูดอย่างนั้น ธรรมะบอกว่า ทุกคนเกิดมาเสมอภาค ทุกคนเกิดมาดี เป็นธรรมทายาท ทุกคนเกิดมาโดยสิทธิเสมอภาคเท่ากัน คือมีปากมีท้อง มีสิทธิเหมือนกันหมด ฉะนั้นนี่เกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม แต่ธรรมก็ยังมี กุศลธรรม กับ อกุศลธรรม ถ้าธรรมนี้ทำในที่เป็นกุศลธรรม มันก็ได้เป็นสิ่งที่ดี ก็เข้าสู่นิพพาน ถ้าทำอกุศลธรรมเห็นไหม เป็นธรรมโดยทายาท ถ้าทำอกุศล มันก็ลงนรกอเวจีไปสิ แล้วมึงจะไปนิพพานที่ไหนล่ะ ไหนว่ามีนิพพานอยู่ไง นิพพานมันก็พามึงลงนรกอยู่เนี่ย เพราะเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่กุศลธรรม มันแบ่งแยกได้

เวลาคนเขามาหาเรา เวลาเขามาบอก เนี่ย อู้ฮู.. เขากล้าหาญมาก กล้าหาญมาก กล้าหาญเนี่ยมันมีไปทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ กล้าหาญมันก็เหมือนคนองอาจกล้าหาญ คนที่มีร่างกายแข็งแรง คนที่มีจิตใจแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง จิตใจแข็งแรงแล้วไปทำอะไรต่อไป แล้วทำประโยชน์ที่ดีก็เป็นดีไป ถ้าทำสิ่งที่ไม่ดี เขากล้าหาญเขาทำไม่ดี มันก็ยิ่งไปใหญ่น่ะสิ ถ้ากล้าหาญแล้วทำสิ่งที่ดีมันก็ยิ่งดีใหญ่เลยสิ กล้าหาญนี่มันก็มีดีหรือชั่ว ทุกอย่างมันมีดีหรือชั่ว ไม่ใช่ว่ากล้าหาญแล้วมันจะถูกต้องไปหมด...ไม่ใช่

สมาธิก็เหมือนกัน สมาธิมีมิจฉากับสัมมา มิจฉาก็ทำในสิ่งที่ผิดๆ ดูสิ เขาดูหมอดู มีคุณไสยกัน ก็เพ่งอะไรกันน่ะ นั่นก็สมาธิทั้งนั้นน่ะ แต่เขาเอาสมาธิไปทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ในชีวิตนี้ เอาสมาธิไปหาผลประโยชน์เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่เอาสมาธิมาชำระกิเลสในหัวใจ มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ มีสมาธิแล้วก็เอามาชำระกิเลส เอามาเพื่อเลี้ยง ทำใจให้สะอาด

แล้วบอกสมาธิไม่สำคัญนะ มันก็ว่ากันไปนะ แต่คนทำเป็นแล้วมันจำเป็นทั้งนั้น สมาธิคือทุน คนทำอะไรทุกกิจการก็ต้องมีทุนหมดล่ะ ทุน ทุน งั้นถึงบอกว่า สิ่งที่จริงมันก็คือจริง สิ่งที่มันคือปลอมก็ปลอมวันยังค่ำ แล้วกลับไปทำ เห็นไหม เวลาทำเนี่ยสันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโกรู้เฉพาะตน ปัจจัตตังรู้เฉพาะตน สันทิฏฐิโก รู้ขึ้นมาจากภายใน ธรรมะเนี่ย คือ การเอาชนะตนเอง เอาชนะเรา ที่เราประพฤติปฏิบัติกันก็เพื่อละกิเลสกันของพวกเรากันเอง

เราไม่ต้องปฏิบัติมาเพื่อจะให้ใครเชิดชู พรหมจรรย์ไม่ใช่ให้ไปแก้ทิฏฐิมานะใคร พรหมจรรย์ไม่ต้องการให้ใครนับถือ พรหมจรรย์ก็เพื่อพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ก็เพื่อทำความสะอาดของใจเราก็เท่านั้นน่ะ เพียงแต่ที่เราก็แหกปากไปกับเขาอยู่เนี่ย ก็เพราะว่าเห็นแล้วแบบว่าอะไรนะ มันจูงกันไป ทีนี้มันไม่มีใครทักเลยนะ มันไม่มีใครทัก ไม่มีใครติ ไม่มีใครชี้โพรงบอกเลยว่าอะไรผิด อะไรถูก

เราก็บังเอิญเพิ่งมาพูดหนักๆ ก็ช่วงเร็วๆ นี้นะ เรื่องนี้มันเกิดมานานแล้วแต่เราไม่พูด ไม่พูดเท่าไหร่ ไม่พูด แต่ตอนนี้จะพูด พูดเพราะอะไรรู้ไหม พูดเพราะเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นชาวพุทธคนหนึ่ง เราเป็นสุภาพบุรุษ สิ่งใดผิดก็ว่าผิด สิ่งใดถูกก็ว่าถูก เพราะเราเห็นว่าผิด เราถึงพูดว่าผิด เราพูดเพราะความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมรับผิดชอบอะไรเลย เราจะเอาตัวรอดคนเดียว แล้วก็นั่งเจ๊าะเมาะ ใครจะผิดใครจะถูก ก็ทำหลับหูหลับตา…เราไม่คิดอย่างนั้น ที่เราพูดนี้เพราะเราพูดว่า เราเห็นว่าผิดจริงๆ เราก็พูดว่ามันผิด แล้วมีอะไรที่มันมีปัญหา เราแก้ไขได้ เราพูดได้ ผิดเพราะอะไร ถูกเพราะอะไร ผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เอวัง