เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ ต.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความปรารถนาของคน ความปรารถนานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดโลกไง คนเห็นนะ ประชาชนเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโปรดพระมารดาลงจากดาวดึงส์ ประชาชนเห็นพระพุทธเจ้าเปิดโลกไง ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ากันหมดนะ ทุกคนปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเลย

“ทำไมพระพุทธเจ้ามีบุญญาธิการขนาดนี้”

นี่โลก วัฏฏะ สวรรค์ มนุษย์ นรก เห็นกันหมด เพราะมีแต่พระพุทธเจ้าแต่ละองค์มีอยู่คราวหนึ่ง คราวหนึ่งได้สร้างสมบุญญาธิการมาก แล้วขึ้นไปโปรดพุทธมารดา ลงมาจะเปิดโลก เวลาถึงกาลมาฆบูชา มาฆบูชา สงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์ เป็นเอหิภิกขุด้วย คือบวชจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาเจ้าสั่งสอนกันจนเป็นพระอรหันต์นะ ถึงคราวหนึ่งจะเป็นบุญญาธิการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์ มีอยู่คราวหนึ่งๆ นี่เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาเปิดโลก ประชาชนเห็นอย่างนั้น ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนานะ เพราะสมบัติอย่างนี้มันเป็นสมบัติที่มหัศจรรย์มาก ความเป็นทางโลกเขาไม่มีกัน แล้วจะเกิดขึ้นมาได้จากว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ก่อนนะ ตรัสรู้แล้วแสดงปาฏิหาริย์ สิ่งที่ปาฏิหาริย์นี้เป็นเรื่องของบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ความเป็นจริง ความเป็นเรื่องของจิตนั้น คือจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพ้นจากกิเลส

ในเมื่อพ้นจากกิเลส แล้วเราทำไง เราเป็นสาวกสาวกะสาวกผู้ได้ยินได้ฟัง แล้วเราเกิดท่ามกลางพระพุทธศาสนา แล้วพระพุทธศาสนา นี่มันเป็นโอกาสนะ ถ้าเราเกิดท่ามกลางพระพุทธศาสนา ขณะที่พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมนะ พระพุทธศาสนาถึงคราวหนึ่งมีเจริญขึ้นและมีเสื่อมโทรมลง ขณะเสื่อมโทรมลงไม่มีใครสนใจ เขาจะสนใจเรื่องทางโลก สนใจเรื่องต่างๆ หรือเกิดทุกข์ เกิดภัย เกิดเภทภัยต่างๆ ต้องอพยพย้ายครอบครัว สมัยก่อนเป็นอย่างนั้นนะ แล้วเราว่าสมัยนี้โลกนี้มันมีความเจริญจะไม่เป็นอย่างนั้น

ไม่เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่เป็นไป ดูสิ ดูแหล่งแรงงานย้ายถิ่น เวลาแรงงานย้ายถิ่นนะ เขาพยายามไปอยู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่า เขาอุตส่าห์ซ่อนตัวไป อุตสาห์ทำไป ย้ายถิ่น สิ่งที่ย้ายถิ่นมันมีซับซึมไป คือมันค่อยย้ายไป ย้ายไป ถึงเวลามันหมดได้ไง เห็นไหม โลกเป็นแบบนั้น สิ่งที่สภาวะเป็นแบบนั้น โลก สภาวะของโลกก็เป็นแบบนั้น

แต่สภาวะของเราเกิดมาพบพุทธศาสนา ศาสนาเจริญหรือเสื่อมลง แล้วหลวงปู่มั่นท่านว่าไว้ ว่าศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง ในพระไตรปิฎกว่าศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง แต่หลวงปู่มั่นบอกว่า เจริญตั้งแต่สมัยพระจอมเกล้าฯ พระจอมเกล้าฯ มารื้อค้น พระจอมเกล้าฯ นี้เป็นกษัตริย์นะ สิ่งที่เป็นกษัตริย์เวลาบวชแล้ว นี่เป็นเพราะบุญกรรม ถ้าเรามองไปแล้วน่ะ ทำไมมันอย่างนั้น ทำไมเป็นกษัตริย์ พอบวชแล้วทำไมบิดาถึงต้องเสียไป

นี่สิ่งที่เสียไป ทำให้อยู่ในศาสนา พออยู่ในศาสนา เพราะบารมีสร้างสมมาเป็นถึงสมเด็จเจ้าฟ้า แล้วจะได้เป็นกษัตริย์อยู่ แต่เพราะว่าออกมาบวช ทีนี้มันมีอำนาจวาสนาเพราะได้ฝึกฝนมา พอมาค้นคว้าศาสนา เพราะมีบุญญาธิการ เพราะบารมีอันนี้มาค้นคว้าศาสนา ค้นคว้าว่าอยากประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อต้องบวชก็ต้องประพฤติปฏิบัติไปในศาสนา

พอปฏิบัติไป ไปถามครูบาอาจารย์ในฝ่ายปฏิบัติก็ตอบไม่ได้ ไปถามฝ่ายปริยัติ ปริยัติก็บอกว่าในตำราบอกไว้อย่างนี้ ไปถามบุคคลแล้วมันถามแล้วไม่เข้าใจ ถึงต้องมาเรียนบาลีเอง พอเรียนบาลีเองไปนี่ เรียนไปในธรรมวินัย ธรรมวินัยไปอย่างหนึ่ง พระปฏิบัติไปอีกอย่างหนึ่ง ถึงต้องพยายามค้นคว้า ค้นคว้าหาทางของตัวเอง ถึงต้องพยายามสร้างสม สร้างสมสิ่งที่ว่าบัญญัติของเราขึ้นมา เป็นคณะธรรมยุตเราขึ้นมาไง เจริญขึ้นมาอย่างนี้มันใกล้ธรรมใกล้วินัย

แล้วหลวงปู่มั่นมาประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่มั่นนะมาประพฤติปฏิบัติในธรรมวินัย เพราะใกล้ธรรมวินัยแล้ว เวลาปฏิบัติไป ฟังสิ เวลาปฏิบัติไป เวลาลังเลสงสัย พระสมัยพุทธการเขาห่มผ้ากันอย่างไร

แต่ก่อนไม่ห่มผ้าอย่างนี้นะ แต่ก่อนห่มผ้าอย่างที่ว่าห่มอยู่นี่ สมัยนั้นเขาไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับว่าห่มแบบรามัญ ห่มแบบมอญจะเป็นการเสียเมืองขึ้นโดยวัฒนธรรม ห่มโดยการรัดอกนั้นคือพระฝ่ายสยามเรา แต่ฝ่ายรามัญเขาห่มเฉวียงบ่าอย่างนี้ นี่รังเกียจกันว่าจะเป็นรามัญ

จะรังเกียจว่าเป็นรามัญ แล้วทำไมเราไม่รังเกียจสิ่งที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นชาวชมพูทวีปล่ะ แล้วเอาวัฒนธรรมเขามาทำไมไม่รังเกียจล่ะ นี่เวลามันรังเกียจเราต้องรังเกียจความผิดสิ แต่สิ่งใดที่เป็นความถูกต้องตามธรรมวินัย เราต้องเคารพสิ่งนั้นสิ สิ่งนี้เคารพสิ่งนั้น นี่เราห่มมากันอย่างนี้ ถึงเวลาเราห่มผ้า

หลวงปู่มั่นเวลาท่านลังเลสงสัย ท่านทำจิตของท่านสงบนะ จิตของเราไม่สงบ เราจะเข้าถึงอย่างนั้นไม่ได้ พอจิตสงบขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงให้ว่า ผ้าจะเป็นอย่างนั้น สีผ้าจะเป็นอย่างนั้น

นี่เวลาความเห็นภายใน ผู้ที่สร้างบุญญาธิการมามันจะเห็นความเห็นภายใน สิ่งที่เป็นความเห็นภายในนี้ยังไม่ใช่อริยสัจ สิ่งที่เป็นความเห็นภายในคือวัตรปฏิบัติ คือปฏิปทาเครื่องดำเนิน เราจะต้องมีปฏิปทาเครื่องดำเนินก่อน เราต้องมีความศรัทธา เรามีความเชื่อของเรา ถ้าเรามีศรัทธา เรามีความเชื่อของเรา เราก็มีความตั้งใจของเรา มันจะเป็นความเพียรชอบ

แต่ถ้าเราไม่มีศรัทธา เราเห็นเขาทำเราก็ทำตามเขาไป ทำตามเขาไป เห็นเขาไปก็ทำตามเขาไป มันไม่เข้าหลัก ถึงหลักของกิเลสไง จะชำระกิเลสมันต้องเข้าไปถึงใจนั้น มันต้องมีศรัทธามีความเชื่อ พอมีศรัทธามีความเชื่อ มีสติ

จากการประพฤติปฏิบัติโดยที่ว่าเราลังเลสงสัย มันก็จะมีความเข้มแข็งขึ้นมา ความอดทนของเราขึ้นมา สิ่งที่อดทนขึ้นมานี่มันจะย้อนกลับที่ใจของเรา นี่หลวงปู่มั่นค้นคว้าอย่างนี้มา หลวงปู่มั่นค้นคว้าออกมา พยายามค้นคว้าขึ้นมาจนใจหลวงปู่มั่นเห็นตามความเป็นจริงนะ เห็นอริยสัจเกิดขึ้นมาจากใจ ใจนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เวลาเราคิดว่าเราอ่านหนังสือกันว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราก็บ่นกันว่าทุกข์ ว่าทุกข์ ทุกข์คนบ่นกันว่าทุกข์นะ แต่ไม่เข้าใจเลย ที่เราบ่นนี่เป็นอาการของทุกข์ อาการของมันนะ อาการของมันเพราะว่าใจนี้มันเสวยทุกข์ แล้วมันก็คลายตัว คลายตัวออกมาเป็นอารมณ์เป็นความรู้สึก สิ่งที่อารมณ์ความรู้สึกเรานี่เป็นอาการของใจ แล้วเราก็เสวยอารมณ์ของใจว่าเป็นความทุกข์ ความทุกข์ เราถึงไม่เคยเห็นทุกข์จริงไง เราบ่นกันว่าทุกข์ แต่เราแก้ทุกข์ไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าทุกข์เกิดจากที่ไหน ทำไมถึงไม่รู้ว่าทุกข์เกิดที่ไหน

ทุกข์เกิดเพราะเราไม่มีปัจจัย ๔ ที่อาศัยพอกับใจ เราต้องการอย่างไรเราก็แสวงหา นี่มันคิดอย่างนั้นไง แต่ความคิดอย่างนี้เราก็คิดแต่เรื่องของเปลือกๆ เรื่องปัจจัยเราก็แสวงหาอย่างนั้น มันถึงแก้ทุกข์ไม่ได้ มันถึงไม่เห็นทุกข์ ใจถึงไม่ได้กลั่นในอริยสัจไง เหมือนเครื่องยนต์ เครื่องยนต์เราจะซ่อม เราต้องดับเครื่องก่อน แล้วเราถึงจะเปิด เราจะคลายน็อตออก เราจะเปิดเครื่องยนต์ว่ามันจะชำรุดที่ไหน มันจะเสียที่ไหน

นี่ก็เหมือนกัน จิตมันกำลังเคลื่อนอยู่ จิตมันทุกข์อยู่ เหมือนเครื่องยนต์มันหมุนอยู่ เครื่องยนต์มันกำลังทำงานอยู่ เราจะซ่อมเครื่องยนต์ในขณะที่ทำงานได้ไหม มันจะซ่อมได้แต่สิ่งที่เป็นส่วนประกอบภายนอกของมัน แต่ไม่สามารถซ่อมสิ่งที่เป็นภายใน เช่น ข้อเหวี่ยง เช่น สิ่งที่เป็นเพลา สิ่งที่เป็นแกนกลางของเครื่องยนต์นั้น

นี่ก็เหมือนกัน กิเลสมันเกิดขึ้นมาจากใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากอาการของใจ เวลาเราอยากต้องการสิ่งใด เราแสวงหาสิ่งนั้น ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาเราก็ว่ามีความสุข นี่เราซ่อมได้แต่เรื่องเครื่องยนต์จากภายนอก อย่างสีสันภายนอก เราจะซ่อมขณะที่เครื่องยนต์มันติดก็ได้ แต่ขณะที่เราจะซ่อมตามความเป็นจริง หลวงปู่มั่นเห็นอย่างนี้ไง เห็นอริยสัจ เห็นอริยสัจตามความเป็นจริงนะ

เห็นอริยสัจตามความเป็นจริงคือเห็นเรื่องของอาการของใจมันดับลง อาการของใจดับลงคือการเราดับเครื่อง แม้แต่เราทำความสงบ ทำสมาธินี่คือการดับเครื่อง ถ้าเราทำความสงบของใจได้ เราดับเครื่องยนต์ได้ ถ้าเราดับเครื่องยนต์ได้มันจะมีความสุขพอสมควรเลย จิตเป็นสมาธิจะมีความสุขมาก เพราะเราดับเครื่องได้

ตั้งแต่เราเกิดมา เหมือนกับเราก็ติดเครื่องตั้งแต่เราปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาเลย เพราะเรามีความรู้สึกอยู่ในครรภ์ของมารดานะ ถ้ามารดากินอาหารที่มันเผ็ดร้อนเข้าไป เราอยู่ในครรภ์ของมารดา เราก็ได้รับรสนั้น เราก็ดิ้นในครรภ์ของมารดานั้น เห็นไหม ความรู้สึกมีตั้งแต่ตอนนั้น เครื่องมันติดตั้งแต่ตอนนั้นนะ ติดมาตลอด เราติดจนเราตายนะ เวลานอนก็ฝัน เว้นไว้แต่ฝันอย่างสนิทนะ เครื่องมันก็อุ่นของมันอยู่อย่างนั้น เพราะมันมีกระแสของใจอยู่ตลอดเวลา

แต่ถ้าทำสัมมาสมาธินี่จิตมันจะสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามาจะมีสติพร้อม ถ้าเราไม่มีสติ จิตสงบไม่ได้ จิตสงบไม่ได้เพราะมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ พลังงานตัวนี้มันขับเคลื่อนตลอด พอขับเคลื่อนนี่มันเป็นความฟุ้งซ่าน เราต้องมีสติ เราจะกำหนดพุทโธ พุทโธ ตามที่หลวงปู่มั่นท่านสอน เพราะหลวงปู่มั่นท่านไม่ได้คิดค้นขึ้นมาของท่านเอง ท่านสอนตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่ากรรมฐาน ๔๐ ห้อง สมถกรรมฐาน พุทโธ พุทโธ กำหนดพุทโธเพื่อให้จิตสงบนะ

เขาบอกว่า “พุทโธจิตสงบแล้วไม่มีความหมาย เพราะความสงบนี้มันไม่ใช้ปัญญา”

ถ้าเป็นปัญญานะ ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรารถนาให้ชาวพุทธเรารู้กันคือปัญญาภาวนามยปัญญา ไม่ใช่สุตมยปัญญาคือการศึกษาเล่าเรียน การจดจำมา การจดจำมาใครมันก็จดจำได้ สิ่งจดจำนะ สมัยก่อนเราจดจำมากันด้วยบอกกันด้วยปาก เพราะสมัยนั้นไม่มีหนังสือ ไม่มีสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันนี้มีเครื่องคอมพิวเตอร์นะ เขาจดจำได้ดีกว่าเรา แต่ขณะที่ว่าการจดจำมานี้เป็นเพื่อแสวง เพื่อเป็นแผนที่ดำเนิน การจดจำนี้เป็นสุตมยปัญญา แล้วจินตมยปัญญาคือการใคร่ครวญ ฉะนั้น ถึงต้องมีพุทโธไง

พุทโธ ศีล สมาธิ ปัญญา หลวงปู่มั่นรู้ตามความเป็นจริงนะ ถึงต้องการมีศีล คือให้รักษาศีลให้สงบก่อน มีศรัทธาความเชื่อ เราถึงยอมรักษาศีล รักษาศีลด้วยปัญญา เห็นไหม รักษาศีลด้วยปัญญา ไม่ใช่รักษาศีลด้วยถือตื่นข่าวไปกับเขา ถือตื่นข่าวไปกับเขานี่ทำด้วยความเกร็ง มันจะไม่มีความสุข มันเกร็งไปหมดแล้วทำอะไรไม่ได้ ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ เราถือศีล ๕ เราไม่มีเจตนาทำผิดเลย เราใช้ดำรงชีวิตของเราไปตามปกตินี่แหละ แล้วเราไม่ทำความผิดพลาด แต่ความพลั้งเผลอ การกระทำผิดอันนั้นที่เป็นความพลั้งเผลอนั้นไม่มีเจตนา ดังนั้นศีลไม่ขาด ศีลมันมีด่างพร้อย มีขาด มีทะลุ ถ้ามันด่างพร้อยเราก็ตั้งใจของเราใหม่ เพราะเราใช้ชีวิตในประจำวันของเรา

เห็นไหม เรามีศีลอย่างนี้ถ้ามันสงบเข้ามา เพราะเรารักษาใจของเราเข้ามา แล้วพยายามทำสมาธิ กำหนดพุทโธก็ได้ อานาปานสติก็ได้ สำคัญตรงไหนสมาธินี่? สมาธินี่สำคัญมาก สำคัญคือการดับเครื่อง ถ้าเราดับเครื่องได้จะมีความสุขมาก เพราะอะไร เพราะเรานั่งอยู่นี่นะ คนนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาจะมีความสดชื่น เขานอนหลับเขาไม่มีสติ มันพักไปโดยที่ว่าธรรมชาติสร้างมา คนเราต้องนอน ต้องกินแล้วต้องนอนเป็นธรรมชาติ แต่ขณะที่เราทำความสงบ เรานั่งอยู่ เรามีสติอยู่ เครื่องมันจะติดอยู่ แล้วเราดับเครื่อง ขณะที่เครื่องมันติดอยู่ เครื่องมันหมุนอยู่แล้วมันติดมันดับ มันดับแต่มันหมุนอยู่ เห็นไหม คือสมาธินี้มันมีความรู้สึกในตัวของมันเอง คือเครื่องที่มันหมุนอยู่ของมัน แต่มันไม่แสดงตัวของมัน

เห็นไหม สมาธิคือความสงบ แต่มันมีพลังงานของมัน มันหมุนในตัวของมัน สิ่งนี้มันจะเกิดได้ต่อเมื่อกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันยุบตัวลง ความฟุ้งซ่าน สังเกตไหมเวลาเราโกรธอารมณ์จะรุนแรงมาก เวลาเราดีใจอารมณ์ก็รุนแรงมาก เวลาเราขุ่นข้องหมองใจเราก็มีอารมณ์ตลอดเวลา แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ เวลาสงบเข้ามาอารมณ์มันไม่มี สิ่งที่เป็นอารมณ์นั้นคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

กิเลสมันออกแสดงตัวอย่างนั้น แล้วสิ่งนี้มันสงบตัวลงเข้ามา พอสงบตัวเข้ามา ถ้าเป็นความสงบขึ้นมามันไม่มีตัวตน มันไม่มีสัญญา เวลามันยกขึ้นวิปัสสนามันถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมา อันนี้ต่างหากที่มันจะไปรื้อค้น รื้อค้นความเป็นไปของกิเลส ที่ว่ากลั่นออกมาจากอริยสัจกลั่นมาอย่างนี้ เพราะมันเป็นอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ทุกข์เพราะไรล่ะ? ทุกข์เพราะมันมีตรงนี้ไง มีความรู้สึก มีฐานะที่ตั้ง ทุกข์มันตั้งอยู่บนอะไร สิ่งต่างๆ มันมีที่มาที่ไป มันไม่ลอยฟ้ามาหรอก ความทุกข์ที่ว่าเราบ่นกันว่าทุกข์ๆ เรารำคาญมาก เราเกิดมาเราเบื่อหน่ายชีวิตมาก เราไม่อยากจะเกิดอีก แต่ถ้าคิดไปทางโลกนะ ไม่อยากเกิดอีก แต่ว่าชีวิตนี้อยากอยู่นานๆ เวลาเกิดแล้วอยากเกิดมีความสุข ยังไม่อยากไปนิพพาน เพราะมันไม่มีรสชาติ นี่เวลาคิดคิดอย่างนั้นนะ

เวลาเราเข้าไปหาทุกข์ก็เหมือนกัน เห็นไหม “ทุกข์” สิ่งที่อารมณ์มันเกิดมันตั้งอยู่บนนี้ไง ทุกข์คืออาการของใจ คือภวาสวะ คือฐานที่ตั้งของความคิด สิ่งที่ตั้งของความคิด สิ่งที่ตั้งของชีวิต สิ่งที่ตั้งของทุกอย่าง สิ่งที่ตั้งของเจ้าของสิทธิกรรมสิทธิ์ต่างๆ ในสมบัติโลก ในสมบัติโลกเพราะเรามีเรา เราเป็นเจ้าของ เราแสวงหามา เป็นของเราทั้งหมดเลย เจ้าของสิทธิ เจ้าของกรรมสิทธิ์ เจ้าของชีวิต เจ้าของความรู้สึก นี้คือตัวภวาสวะ คือตัวภพ คือตัวใจ สิ่งที่ตัวใจ ทุกข์มันตั้งอยู่ตรงนี้ไง ถ้าใครเห็นตรงนี้ จิตสัมมาสมาธิตั้งอยู่ตรงนี้ นี่เห็นทุกข์

เห็นทุกข์ ทุกข์นี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะตัณหาความทะยานอยาก สมุทัย เห็นไหม สมุทัยตัณหาความทะยานอยาก ความว่าไม่เข้าใจของมัน

ถ้าจิตมันมีเรา เป็นโลกียปัญญา คือความคิด ที่ว่าใช้ปัญญาๆ กันนี่ ปัญญาของโลกนะคิดขนาดไหนมันมีสัญญา มันมีตัวตน มันมีตัณหาความทะยานอยาก คิดจนตาย คิดไปเถอะ คิดจนตายเลย ไม่มีทางแก้กิเลสได้ เพราะมันเป็นความคิดจากเรา มันเป็นความคิดจากกิเลส มันปั้นมาให้ใช้

กิเลสมันใช้ความคิด มันยื่นมือให้เรา เหมือนโจรมันยื่นอาวุธให้เรา แล้วบอกให้จับตัวมัน นี่มันจะไปจับตัวมันได้อย่างไร เพราะมันยึดอาวุธที่มันยื่นให้เรา มันเป็นของปลอม มันเป็นอาวุธปลอม มันเป็นปืนปลอม มันเป็นมีดปลอม มีดปลอมจะไปฟันใคร ฟันใครไม่เข้าหรอก

ถ้าความคิดโลกียปัญญาเกิดจากตัวตน เกิดจากกิเลสตัณหา เกิดจากความคิดของเรา เราเป็นปัญญาชน เราเป็นคนมีความนึกคิดมาก พระไตรปิฎกเราก็อ่านมาหมดตู้แล้ว ครูบาอาจารย์นี้ไปหามาทุกองค์ ท่านสอนอย่างนี้เราก็ใจกันหมด แต่ไม่สามารถควบคุมสติของตัวเองได้ ไม่สามารถควบคุมให้จิตนี้สงบเข้ามาได้ ไม่สามารถกระทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดมาเป็นสมบัติของเราได้ นั่นน่ะกิเลสมันเอาสิ่งนี้เป็นพาใช้ ถึงบอกเป็นโลกียปัญญา

ปัญญาที่เราใคร่ครวญอยู่ทั้งหมดนี้เป็นโลกียปัญญา ถ้าเป็นทางโลกเรียกว่าวิชาชีพ มันเป็นวิชาชีพนะ นักกฎหมายเขาจะเข้าใจเรื่องคำพูดเรื่องโวหาร เห็นไหม คำพูดคำหนึ่งตีความไปได้หลายแง่หลายมุม มุมไหนก็ได้ถ้าเป็นประโยชน์จะจับแง่มุมนั้น ยืนแง่มุมนั้นให้เป็นประเด็นขึ้นมาเพื่อจะลบล้างปัญหาของฝ่ายตรงข้าม นั่นคือนักกฎหมายใช่ไหม

หลักการปกครอง นักรัฐศาสตร์ เขาทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้มันเป็นประโยชน์กับสังคม กับหมู่ชน เห็นไหม เขาก็ใช้สิ่งนั้น นี่สิ่งนี้มันเป็นวิชาชีพ ถ้าเราใช้สิ่งนี้มาใคร่ครวญความคิดของเรา แล้วสิ่งนี้มันเกิดมาจากกิเลส เพราะกิเลสเป็นเจ้าใหญ่นายโตในหัวใจของเรา เราจะศึกษาเป็นนักปราชญ์ปรัชญาขนาดไหนที่ความรู้ขนาดไหนก็แล้วแต่ กิเลสมันมอบอาวุธให้เราใช้สิ่งนั้นเป็นโลกียปัญญา สิ่งที่เป็นโลกียปัญญา เราถึงต้องใช้สติให้มีหลักยึดหลักมั่นคงของมัน แล้วย้อนกลับสิ่งนี้เข้ามามันจะเป็นสัมมาสมาธิ

จะใช้ปัญญาโลกียะขนาดไหน จุดจบของมันคือสัมมาสมาธิ จุดจบของมันคือสมถะ จุดจบของมันคือการปล่อยวาง เพราะมันเป็นหลักความจริงของตัวมันเองอยู่ หลักความจริงของตัวของจิตนี้คือการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป หลักของความคิดมันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไปโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเรามีสติ เราควบคุมสิ่งนี้เข้ามา มันจะปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา นี่ปัญญาโลกียะไง

จะมีปัญญาขนาดไหน จะมีความรู้ขนาดไหน จะสร้างจักรวาลได้กี่จักรวาลก็แล้วแต่ เอ็งไม่สามารถสร้างกิเลสได้ เพราะสิ่งที่เอ็งสร้างนั้นมันออกมาจากกิเลส ออกมาจากภวาสวะ ออกมาจากภพอันนั้น ถึงไม่เห็นทุกข์ คนที่เห็นทุกข์มันไม่เห็นจักรวาลอย่างนั้น มันจะเห็นเป็นสิ่งที่เป็นจุดกลางของจักรวาลต่างหาก สิ่งที่เป็นจุดกลางของจักรวาล สิ่งที่เป็นจุดกลางของภวาสวะ จิตนี้เป็นจุดกลางของภพนั้นมันอยู่ที่ในหัวใจของเรา สิ่งที่อยู่ในหัวใจของเราถ้าเราย้อนกลับเข้ามา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บอกไว้ว่า “ผู้ใดเอาตนไว้ในอำนาจของตนได้ ผู้นั้นประเสริฐที่สุด”

สิ่งที่เขาสร้างสมมาขึ้นมาสิ่งต่างๆ สิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ว่ามันมีการแพ้มีการชนะกัน สิ่งที่การแพ้การชนะกันนั้นก่อเวรก่อกรรม สิ่งที่การก่อเวรก่อกรรมมันไม่สามารถชำระเวรชำระกรรมได้ สิ่งที่ชำระเวรชำระกรรมมันต้องเข้าไปที่จุดของทุกข์ จุดของอริยสัจคือทุกข์ สิ่งที่ทุกข์คือตัวภวาสวะ คือตัวภพนั้น นี่ถ้าย้อนกลับมาตรงนี้ได้มันถึงจะเป็นหลักการของศาสนาพุทธที่หลวงปู่มั่นท่านค้นคว้ามาในอริยสัจนะ สิ่งนี้เป็นอริยสัจ รู้ขึ้นมาจากใจของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไปแก้หลวงปู่เสาร์ ไปแก้ครูบาอาจารย์ต่างๆ มา เห็นไหม นี่ศาสนาถึงคราวเจริญรุ่งเรื่อง เจริญรุ่งเรืองในหัวใจครูบาอาจารย์เราก่อน เพราะในหัวใจของครูบาอาจารย์เรามีธรรมมาอันนี้ นี่เป็นในหัวใจ

สิ่งที่ธรรมอันนี้ในหัวใจ หัวใจดวงนั้นกับหัวใจของสัตว์โลกเหมือนกัน เหมือนกันโดยดวงใจทุกดวงใจเกิดจากครรภ์ของมารดาเหมือนกัน ดวงใจทุกดวงใจต้องสร้างสมบุญญาธิการมาเหมือนกัน แต่ขณะที่ว่าการแก้ไขกิเลสนี้ จากดวงใจดวงหนึ่งก็ยื่นให้กับดวงใจดวงหนึ่ง ดวงใจดวงนั้นเข้าใจสภาวะตามความเป็นจริงของใจดวงนั้น นี่ถึงเข้าใจจิต สภาวะจิตของลูกศิษย์ทุกองค์ที่ว่าจะมีแง่มุมอย่างไร จะแก้ไขสิ่งนั้น นี่ศาสนาเจริญ เจริญตรงนี้นะ

ศาสนาไม่ใช่เจริญในการก่อสร้างต่างๆ ศาสนาไม่ได้เจริญไปตามกระแสโลกต่างๆ สิ่งนั้นเจริญขนาดไหน เดี๋ยวนี้โลกเขาสร้างสมกันได้มหาศาลยิ่งกว่าวัดวาอารามอีก จะสร้างขนาดไหนได้ ทุนนิยม ทุนมหาศาลเลย จะสร้างอะไรก็ได้ถ้าเขามีทุนของเขานะ แต่ใครจะสร้างขนาดไหนก็ไม่สามารถสร้างที่หัวใจของตัวเองได้ ฉะนั้น ศาสนาพุทธถึงเน้นลงที่ใจ

ถ้าเน้นลงที่ใจนะ ครูบาอาจารย์เราเน้นลงที่ใจ แต่ผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติ เขาจะบอกว่าเรื่องของหัวใจนี้เป็นเรื่องของนามธรรมที่ไม่มีความหมายเลย มีความหมายของเขาคือยศตำแหน่งฐานะต่างๆ ในทางสังคม นั้นเขาว่าเป็นความหมาย นี่จิตมันส่งออก ส่งออกไปอย่างนั้น ส่งออกปฏิเสธสิ่งเป็นความจริง สิ่งที่เป็นนามธรรมนี่เป็นความจริง สิ่งที่เป็นรูปธรรมนี่เป็นสมมุติ ไม่เป็นความจริงแม้แต่อย่างเดียว โลกที่ว่าเป็นวัตถุ เป็นสมมุติ เป็นสิ่งที่อริยสัจที่จับต้องได้ เป็นสมมุติทั้งหมด สิ่งนี้เป็นเรื่องของอจินไตย เรื่องของโลก โลกเป็นอจินไตย มันจะหมุนไปตามอจินไตยของมัน ไม่มีสิ่งใดเลยเป็นแก่นสาร

สิ่งที่เกิดในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลยเป็นแก่นสาร เว้นไว้แต่หัวใจของสัตว์โลก สิ่งที่เป็นนามธรรมนี่เป็นแก่นสาร แก่นสารเพราะมันเป็นตัวจิต มันเป็นปฏิสนธิจิต มันตัวพาเกิดพาตาย มันเกิดเป็นสัตว์ เห็นไหม สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ต่างๆ เกิดมาเป็นอาหารของโลกของเขา มันก็เกิดมาจากจิตเหมือนกัน เพราะเป็นสภาวกรรม

เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดเป็นเทวดา นี่ก็เรื่องของจิตเหมือนกัน จิตนี้พาตายพาเกิด เห็นไหม สิ่งที่เป็นนามธรรม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นความจริง ความจริงต่อเมื่อมีศาสนา มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“โอปนยิโก” เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม สัตว์ตัวนี้ สัตว์ตัวที่เป็นทุกข์เป็นยากอยู่นี่ เอ็งเกิดเอ็งตายมากี่ภพกี่ชาติ ร้องเรียกกลับมาดูสถานะที่เอ็งไปเกิดไปตายอยู่นี่ นี่ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลาย คือจิตดวงนี้มันเกิดตายมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ กี่ภพกี่ชาติแล้วให้ดูใจของตัวเอง

แล้วครูบาอาจารย์เรียกร้องสัตว์ทั้งหลาย คือสาวกสาวกะ ให้มาดูใจของครูบาอาจารย์ จากใจดวงนั้นก็ยื่นให้กับใจของลูกศิษย์ลูกหา เห็นไหม ยื่นให้ใจนะ ต้องตั้งสติให้ดี ทำให้สมาธิให้ดี แล้วย้อนกลับขึ้นมา ย้อนกลับขึ้นมาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เห็นไหม ภาวนามยปัญญามันเกิดอย่างนี้

วิปัสสนามันเกิดต่อเมื่อจิตสงบก่อนนะ จิตไม่สงบ จิตเป็นปุถุชนอย่างนี้ แล้วบอกวิปัสสนาอย่างนั้น นั้นเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะมีสัญญาอารมณ์ มีความรู้สึกเป็นโลกทั้งหมด มันเป็นวิปัสสนาไปได้อย่างไร แต่ในเมื่อสมมุติสัจจะเขาว่าเป็นวิปัสสนานะ

แต่ขณะที่วิปัสสนาของหลวงปู่มั่นเรานี่ต้องจิตสงบก่อน ไม่มีตัวตน ไม่มีเรื่องแรงดึงดูดของกิเลส ไม่มีแรงดึงดูดของโลก ไม่มีแรงดึงดูดสิ่งต่างๆ ที่ให้เป็นบวกลบ ให้เป็นคุณค่าขึ้นมา สิ่งนั้นเป็นตัณหาความทะยานอยาก

เวลาว่าจิตนี้มีกิเลส จิตนี้มีกิเลส ปฏิบัติไม่ได้เพราะมีตัณหาความทะยานอยาก ต้องปฏิบัติแบบไม่มีตัณหา...ไม่มีตัณหานั้นก็ไม่มีสติ ต้องมีสติ มีตัณหานี่แหละ มีความทะยานอยากนี่แหละในจิตใต้สำนึกนี่ แต่เรามีสติแล้วควบคุมมัน ควบคุมมันให้เป็นมรรค ถ้ากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันพุ่งไป คนเราเวลาเที่ยวไป คนเล่นการพนัน คนเสเพล ตัณหาความทะยานอยากพอออกไปนี่เป็นสิ่งที่เรื่องของแง่ลบทั้งหมดเลย

แต่ในเมื่อเรามีตัณหาความทะยานอยาก อยากสร้างความดี อยากมาวัดมาวา อยากทำบุญกุศล อยากสละทาน อยากจะให้คนมีความสุข อยากให้ลูกหลานเรามีความเจริญรุ่งเรือง อยากให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายมีความสุข อยากให้โลกนี้มีความร่มเย็น อันนี้เป็นมรรคนะ อันนี้ไม่ใช่ตัณหาความทะยานอยาก เพียงแต่ว่ามันเป็นกรรมของสัตว์ สัตว์ทุกตัวจะมีโอกาสอย่างนี้ไหม ถ้าสัตว์ทุกตัวเขามีโอกาสของเขา นั้นคือสร้างบุญของเขามา แต่ถ้าเขาไม่มีบุญของเขา มันเป็นอำนาจวาสนาของสัตว์ตัวนั้น มันต้องผจญกรรมอย่างนั้น เราไม่สามารถจะไปชำระกรรมของใครได้หรอก เรามีแต่ให้ธรรมเป็นทาน ได้แต่บอกชี้นำทาง

แม้แต่องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น เราเป็นสัตว์โลก เป็นสาวกะ เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเชื่อไหม ถ้าเราเชื่อ เราเชื่อธรรมขององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าหนึ่ง เราเชื่อพระปฏิบัติ เชื่อหลวงปู่มั่น เชื่อครูบาอาจารย์ที่ว่าต้องมีสมาธิก่อน

ถ้ามีสมาธินะ พุทโธ พุทโธ ว่าไม่มีความหมาย ไม่มีความหมาย ลองทำพุทโธดูสิ มีสติกับมีพุทโธอยู่ตลอดเวลา จิตมันจะพัฒนาขึ้นมา จากที่ว่าเราเห็นกันด้วยตาเนื้อ รู้สึกกันด้วยความสามัญสำนึก เวลาจิตมันสงบเข้าไป มันจะไปรู้สิ่งที่ละเอียดเข้าไป สิ่งนี้ก็เป็นความมหัศจรรย์แล้ว

ถ้าจิตคนเราเคยหยาบๆ นะ เคยรับรู้อารมณ์โดยปุถุชน มันมีความรับรู้ มันเป็นเรื่องธรรมดา มันยังมีความสุข มีความพอใจ ถ้ามันสมอยากมัน แต่เวลาจิตที่เราพุทโธ พุทโธ โดยที่ไม่ต้องปรารถนาสิ่งใดเลย อยู่กับพุทโธนี่

คำว่า “อยู่กับพุทโธ” จิตมันคือพลังงานที่ส่งออก แล้วพอมันมีคำบริกรรม มันเกาะกับคำบริกรรมไว้ มันจะพัฒนาตัวมันเอง เหมือนเครื่องยนต์ที่มันหมุน สมาธินี้มันมีความรู้สึกตลอดเวลา แต่เราเข้าใจว่าสมาธินี้มันเหมือนน้ำนิ่ง สมาธินี้เขาบอกว่าสมาธินี้เหมือนกับน้ำนิ่งมีตะกอน ตะกอนมันนอนตัวลงก็เป็นสมาธิ

แต่ความเป็นจริงสมาธิมันสงบขนาดไหน มันจะมีสติตลอดนะ สตินี้เข้าใจตน พลังงานมันจะมีตลอด แล้วมันอยู่กับพุทโธ พุทโธ ตลอดไป พลังงานมันจะเพิ่มขึ้นๆ ถ้ามีอำนาจวาสนามันจะออกเห็นนะ เห็นสภาวะต่างๆ เห็นรับรู้สิ่งต่างๆ เห็นธรรม สภาวธรรมเกิด สงสัยในสิ่งใดสิ่งนั้นจะตอบมา อยากรู้อยากเห็นสิ่งใดมันจะตอบมา สิ่งนั้นเป็นสภาวธรรม ไม่ใช่อริยมรรค ถ้าเห็นสิ่งสภาวะแบบนั้นมันก็เป็นความแปลกประหลาด เป็นความมหัศจรรย์ของจิตแล้ว

แต่ถ้าจิตนี้สร้างสมมาโดยสุกขวิปัสสโก โดยปัญญาวิมุตติ มันจะสงบเฉยๆ ความสงบนี้เราก็รู้ตัวของเรา เรามีความสงบ เรามีความแน่นหนามั่นคง เพราะจิตมันปล่อยวางอารมณ์เข้ามา เรารู้สึกมีอารมณ์อย่างนี้ นี่มันเป็นสมาธิเข้ามาอย่างนี้ มันรู้ตัวตลอด

ถ้าคำว่า “พุทโธ” จิตมันพัฒนา จิตมันมีพลังงาน มันเหมือนกับการทำงาน คนที่เป็นนักการภารโรง หน้าที่ของเขาก็คือทำความสะอาดในสถานที่ราชการนั้นใช่ไหม ผู้ที่บริหารก็ต้องมีห้องทำงานของตัว หน้าที่การงานมันคนละหน้าที่ หน้าที่ของนักการภารโรงเขาทำความสะอาดสถานที่ราชการเฉยๆ เขาไม่ใช่บริหารราชการนั้นหรอก

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเป็นการทำความสะอาดก่อน เราทำความสะอาดก่อน ในสถานที่ทำงานนั้น มันน่าจะทำงาน มันมีความร่มรื่น มีความชุ่มชื่น มีความพอใจ มันก็น่าทำงาน แล้วพอจิตมันยกขึ้นวิปัสสนา มันเปลี่ยนสถานะไปเป็นผู้บริหาร ถ้าไม่มีนักการทำสถานที่ให้เป็นที่สะอาด เราจะไปบริหารที่ไหน? เราไม่มีที่บริหารนะ แต่เราว่าเราวิปัสสนา เราวิปัสสนามาตลอด ที่ไหนเขาวิปัสสนา มันก็วิปัสสนากันไปในกระดาษ ในสิ่งที่เป็นกระดาษ ในสิ่งที่เป็นสมมุติสัจจะที่สมมุติกันขึ้นมา มันจะไม่เป็นความจริงขึ้นมาจากในหัวใจเลย

แต่ถ้าศาสนาเจริญ ใจของหลวงปู่มั่นเจริญขึ้นมาก่อน สิ่งที่ความเป็นจริงต้องทำสัมมาสมาธิขึ้นมาก่อน ถ้าทำสัมมาสมาธิขึ้นมาก่อน ความสุขเข้ามาตลอด มีความความสุขเข้ามาตลอด แล้วยกขึ้นวิปัสสนาได้ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม วิปัสสนาสิ่งนี้ไป วิปัสสนานะ ถ้าวิปัสสนาตามความเป็นจริง มันเห็นการความเป็นงานของมัน มันจะไม่เป็นแบบว่าเราวิปัสสนาโดยสามัญสำนึกที่ว่าเราเห็นแล้วเราก็ปล่อย เห็นแล้วก็ปล่อย เห็นก็ปล่อยนี่มันเหมือนกับว่ามันเป็นกำปั้นทุบดิน เห็นแล้วก็ปล่อยไม่มีความหมายอะไรเลย

แต่ขณะวิปัสสนาไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ถ้าวิปัสสนามันเห็นกาย มันตื่นเต้น มันขนพองสยองเกล้า แล้วมันขนพองสยองเกล้า จิตมันเริ่มสงบเข้ามามันสะเทือนหัวใจ มันมีความสะเทือนหัวใจ เหมือนกับทำความสะอาด เหมือนกับเราซักผ้า เราต้องมีการขยี้ มันต้องมีการทำให้ผ้ามันสะอาดขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน วิปัสสนาไปมันใช้ปัญญาใคร่ครวญ ปัญญามันจะฟาดฟันกับกาย เวทนา จิต ธรรม ขณะที่มันฟาดฟันด้วยปัญญานะ มันจะขยายออก มันวิภาคะ มันเห็นการฟาดฟันกัน เห็นการกระทำกัน มันเห็นแล้วมันมีความสุข มันมีความมหัศจรรย์ของมัน เวลามันปล่อยวางเข้ามา เห็นกายวิภาคะให้มันขยายส่วน พอขยายส่วน โอ๊ะ! มันเป็นอย่างนี้หรือ ร่างกายเราเป็นอย่างนี้หรือ นี่มันสอนใจให้ใจมันพัฒนาขึ้นมา พอใจมันพัฒนาขึ้นมามันก็เริ่มปล่อยวางบ่อยครั้งเข้า

คนขนาดเดินวิปัสสนาแล้วนะ มันยังมีการผิดพลาดได้ ถ้าเข้าใจว่า พอมันปล่อยวาง มีความสุข แล้วประมาท ประมาทคือพอใจกับสิ่งนั้น พอใจกับสิ่งนั้นมันก็ไม่ก้าวเดินต่อไป มันก็หยุดอยู่แค่นั้น แล้วก็รอวันเสื่อม แต่ถ้าผู้มีครูบาอาจารย์ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง บอกต้องให้ซ้ำ ซ้ำตรงนั้น วิปัสสนาขึ้นอีก นี่กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่วิปัสสนา

พุทโธเพื่อสร้างกำลังขึ้นมา ถ้ากำลังมันใช้ไปแล้วมันจะอ่อนตัวลง อ่อนตัวลงแล้ววิปัสสนากำลังมันก็ไม่พอ สิ่งนี้มันมีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตมันเกิดดับ การวิปัสสนาก็เหมือนกัน เราสร้างขึ้นมาอาการหนึ่งมันก็เกิดดับ พลังงานมันเกิดดับ วิปัสสนาไปมันเข้าใจ ถ้ามีพลังงานขึ้นมาปัญญามันจะก้าวเดิน มันก็สมกับมรรคไง ดำริชอบ ความเพียรชอบ งานชอบ สติชอบ สมาธิชอบ สิ่งใดชอบมันจะหมุนเวียนไป

นี่ถ้าเป็นความเพียรชอบ งานมันก้าวเดินไป วิปัสสนาไปมันจะเห็นปล่อย มันก็ปล่อยซ้ำ ปล่อยซ้ำ เราก็ทำสมาธิขึ้นมาอีก วิปัสสนาไป ถึงขั้นปัญญามันก็ทำให้ลึกเข้าไป ปล่อยวางเข้าไป จนถึงที่สุดนะ วิปัสสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันเห็นตามความเป็นจริง สิ่งที่เห็นตามความเป็นจริง นี่กิเลสมันขาด มันเห็นต่อหน้า วิปัสสนานี้มันเห็นต่อหน้านะ ไม่ใช่มีความลังเลสงสัย

วิปัสสนากันน่ะ ใคร่ครวญกันอยู่อย่างนั้นน่ะ วิปัสสนาแล้ววิปัสสนาเล่า แต่ผลก็ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นมาเลยนะ เห็นแต่ว่างๆ ว่างๆ...ว่างๆ อย่างนั้นมันก็เหมือนกับวัตถุสิ่งหนึ่ง ต้นไม้ภูเขาเขาก็ว่างๆ เขาไม่เขาทุกข์ไม่ร้อนหรอก ภูเขาเขาทุกข์ร้อนกับใคร? เขาไม่เห็นทุกข์ร้อนกับใครเลย เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นน่ะ กี่วัน คนเราเกิดตาย เกิดตาย ภูเขามันก็ยังอยู่ที่เก่าของมัน มันยังไม่ทุกข์ร้อนไปกับเราเลย แต่ใจของเรามีความรู้สึก มันว่างๆ ว่างๆ แล้วมันทำอะไรออกไปจากใจล่ะ? นี่วิปัสสนามันถึงต่างกันตรงนี้ไง

ถ้าวิปัสสนาของหลวงปู่มั่น วิปัสสนาของพระป่าเรา ต้องทำความสงบก่อน ต้องมีพุทโธ พุทโธ ที่ว่าพุทโธนี้ไม่ใช่วิปัสสนา พุทโธนี้ไม่มีปัญญา คนที่ไม่มีปัญญาต้องการพลังงานก่อน นักกีฬาเก่งมากเลย แต่ไม่ได้ซ้อมนะ ขึ้นไปแข่งกีฬาแพ้ทุกที นักกีฬาถ้ามีกำลังมาก ซ้อมนี้มาก แต่ไม่มีเทคนิค มันก็ขึ้นไปแข่งก็แพ้เหมือนกัน เห็นไหม นักกีฬาต้องซ้อมเพื่อให้มีกำลังด้วย ต้องมีทักษะ มีปัญญาด้วย เวลาเราวิปัสสนามันเรื่องของปัญญา เรื่องของเทคนิคในการเล่นกีฬา เวลาเราออกวิปัสสนา ปัญญามันจะก้าวออกไป มันต้องอาศัยพุทโธเป็นกำลัง ถ้ามีพุทโธ มีกำลัง มันจะเข้าไปต่อสู้กับกิเลสได้

ถ้าไม่มีพุทโธกิเลสมันพาใช้นะ มันพาใช้ทั้งหมดเลย มันพาใช้การกระทำของเราว่านี้เป็นวิปัสสนา แต่วิปัสสนาโดยกิเลส แล้วก็ได้กิเลส แล้วก็ไม่เคยทำลายกิเลส แต่ถ้าเราเชื่อหลวงปู่มั่นนะ เราพุทโธไปก่อน พุทโธไปก่อนเพื่อสร้างฐานขึ้นมา แล้วพอจิตมันสงบขึ้นมา เวลาพุทโธมันไม่ลง มันไม่สงบ อันนั้นเป็นอำนาจวาสนา

เพราะการทำพุทโธมันทำได้ถึง ๔๐ วิธีการ การเพ่งกสิณก็ได้ กำหนดอานาปานสติก็ได้ ถึงที่สุดแล้วถ้าไม่ได้ ใช้ปัญญาอบรม คือใช้ความคิดแล้วเราใช้สติเราควบคุมความคิดเข้ามา เพราะโดยสัจจะความจริง ความคิดนี้เกิดดับ เวลาฟุ้งซ่านก็เกิดดับ สิ่งใดเกิดดับทั้งหมดเลย แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติ กิเลสมันซ้อนตัณหาขึ้นมา มันพยายามทำให้ฟุ้งซ่าน มันพยายามยืดเยื้อเพื่อจะไม่ให้เราสงบได้ ขณะที่ประพฤติปฏิบัติเราต้องโทษกิเลสของเรานะ เราจะโทษธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ กิเลสของเรามันต่อต้าน กิเลสของเราทำลายตัวเราเอง ทำลายวิถีทางที่เราจะเข้าถึงวิปัสสนา กิเลสทั้งนั้นเลย

ถ้ากิเลสมันทำลายอย่างนี้ เราถึงต้องพยายามใช้สติให้มากขึ้น เราต้องใช้ความเพียรของเราให้มากขึ้น ใช้ความมุมานะของเราให้มากขึ้น แล้วเราใช้ปัญญาของเราแก้ไขปลดเปลื้องสิ่งที่มันเป็นความวิตกกังวล

เวลานั่งสมาธิใหม่ๆ เดี๋ยวเราจะพิการ เดี๋ยวเราจะมีความเจ็บไข้ได้ป่วย นี่เราต้องมีสติปัญญาของเราขึ้นมา คนเขานั่งมากกว่าเรา ครูบาอาจารย์เขาทำมามากกว่าเรา เขายังไม่เป็นเลย ถ้าสิ่งนี้มันเป็นความผิด เป็นสิ่งที่ทำแล้วมันจะเกิดพิการขึ้นมา หลวงปู่มั่นไม่สอนหรอก หลวงปู่มั่นไม่รักลูกศิษย์หรือ ครูบาอาจารย์เราไม่รักลูกศิษย์หรือ

มันไม่เป็นหรอก แต่กิเลสของเราตัณหาความทะยานอยากมันสร้างเรื่อง สร้างเงื่อนไข สร้างเงื่อนไขให้การประพฤติปฏิบัติของเราล้มลุกคลุกคลาน นี่กิเลสมันฉลาดอย่างนี้ ฉลาดที่ว่าแง่มุมของมันหลอกเราใกล้เคียงกับความคิดเรานิดเดียวๆ แล้วเราก็เชื่อมัน แล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลานไป

ถึงต้องว่า พุทโธจะไม่ใช่ปัญญา มันก็ถูกต้อง เป็นสมถะ แต่สมถะนี้เพื่อจะสร้างพลังงานขึ้นมาเพื่อให้เกิดวิปัสสนาโดยความเป็นจริง ไม่ใช่วิปัสสนาโดยสมมุติบัญญัติ โดยสมมุตินะ ถ้าวิปัสสนาตามความเป็นจริงเราก็ต้องว่าสมมุติบัญญัติหรอก มันเป็นความจริงจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง จากความเป็นจริงที่ว่าเวลาเรารายงานครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะรู้เลยว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง สิ่งนี้ไม่เป็นความจริง สิ่งนี้เป็นอุปกิเลส สิ่งนี้เป็นกิเลสหลอก สิ่งนี้เป็นความชี้นำของกิเลส สิ่งนี้เป็นกิเลสมันขุดหลุมขุดบ่อไว้ดักการประพฤติปฏิบัติของเรา

กิเลสนี้ร้ายกาจนัก กิเลสนี้ไม่ใช่ของครูบาอาจารย์ กิเลสนี้ไม่ใช่ของคนอื่น กิเลสนี้คือเรื่องของเรา คือจิตใต้สำนึกของเรา กิเลสของเรานี้มันหลอกเราเอง นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะชำระกิเลสสิ่งนี้ แล้วทำลายกิเลสสิ่งนี้จากใจของเรา

กิเลสกลัวธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่กลัวสิ่งใดเลย แต่เราไปเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปให้กิเลสมันใช้ กิเลสมันถึงเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาฟาดฟันกับโอกาสของเราไง ถ้าเราเชื่อกิเลส โดยเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่อาวุธกลับมาเชือดคอเรานะ เราจะปฏิบัติโดยสักแต่ว่าอยู่ในโลกนี้เท่านั้น

แต่ถ้าเราเชื่อครูบาอาจารย์ผู้ที่เห็นธรรมในหัวใจแล้วนะ แล้วเราก้าวเดินตามท่านไปนะ เราจะได้ดื่มรสของธรรม “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นจะเห็นธรรมตามความเป็นจริง” ถ้าเราเชื่อสิ่งนี้ เราได้ประโยชน์สิ่งนี้ เราจะเป็นประโยชน์กับเรา

เห็นไหม เกิดเป็นมนุษย์ กาลเวลาผ่านไปเป็นวันหนึ่งๆ แล้วศาสนาเจริญรุ่งเรืองหรือถดถอย มันเป็นไปตามอย่างนั้นจริงๆ กาลเวลาไง เพราะผู้สร้างบุญญาธิการแล้วจะมารู้ธรรมนี่ต้องมีเบื้องหลัง มีบารมีมาพอสมควร แล้วจะมาเกิดสิ่งนี้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดได้องค์เดียวเท่านั้นในคราวหนึ่งๆ มีได้องค์เดียว สาวกะจะผุดขึ้นมาจากศาสนา ผุดขึ้นมาจากธรรม ต้องสร้างบุญญาธิการมาพอสมควร

แล้วคราวนี้ หลวงปู่มั่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่พรหม หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ นี่เป็นทั้งนั้นเลย แล้วทำไมเราไม่เงี่ยหูฟังธรรมล่ะ ทำไมเราไม่มีกำลังใจประพฤติปฏิบัติล่ะ ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ของเรา ออกรบชนะข้าศึกมา แล้วให้เรากราบไหว้บูชามามีอยู่มหาศาลเลย แล้วก็มียังมีชีวิตอยู่นี่ สั่งสอนเราได้ แล้วทำไมเราไม่เชื่อ แล้วเราจะไปเชื่อสิ่งที่ว่าคนที่เขาลังเลสงสัยแล้วเขาสอนกันไปว่าพุทโธก็ไม่มีความหมาย อะไรก็ไม่มีความหมาย มาเชื่อกิเลสของเราเถอะ ไม่ใช่เชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกต้องดีงาม แต่ถูกต้องดีงามเพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ศีล สมาธิ ปัญญา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่มีอะไรเลยก็วิปัสสนาไปอย่างนั้น องค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้พูด แต่กิเลสของเขาพูดต่างหาก เพราะในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ศีล สมาธิ ปัญญา ใช่ไหม ไม่ใช่บอกว่าวิปัสสนาโดยที่ว่าตัวเราสกปรกขนาดไหนก็จะทำของเราได้หรอก นั่นเป็นกิเลสพูดไง

ถ้าเราเชื่อครูบาอาจารย์ของเรา เราเชื่อธรรมในใจของครูบาอาจารย์ เราจะมีผู้ชี้นำทางนะ แต่ถ้าเราไม่เชื่อธรรมของครูบาอาจารย์เรา เราไปเชื่อกิเลสที่เขาอ้างธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็จะได้กิเลสมาเป็นสมบัติของเรา เพราะเราก็จะไปคลุกคลีอยู่กับเขา เห็นไหม คลุกคลีกับกิเลสอยู่อย่างนั้น แล้วกิเลสมันก็เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นฉาก เป็นสิ่งบังหน้า แต่มันอาศัยอยู่ในหลังฉากนั้น ทำลายโอกาสของเราทั้งชีวิต ทำลายโอกาส ทำลายสิ่งต่างๆ ให้เราหมดโอกาสไป

เราเกิดมานะ สิ่งที่พลัดพรากครั้งสุดท้ายคือชีวิตมันต้องพลัดพรากออกไปจากร่างกายนี้ ชีวิตนี้คือการพลัดพรากเป็นที่สุด แล้วขณะที่พลัดพรากแล้วก็หมดโอกาส ขณะที่มีโอกาสนี้ถึงแบบว่าให้เราตั้งสติ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในกาลามาสูตร เห็นไหม ไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อแม้แต่สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ให้ประสบการณ์ ให้เราเข้าไปพิสูจน์ ถ้าเราพิสูจน์แล้วสิ่งนั้นจะเป็นสมบัติของเรา นี้เป็นกาลามาสูตรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไว้นะ

แต่ถ้าเรามีศรัทธามีความเชื่อ อันนี้เป็นหัวรถจักรที่ทำให้เราเข้าไปพิสูจน์ ถ้าเราไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ กาลามาสูตรว่าไว้อย่างนั้น เราก็ไม่ทำอะไรเลย...จบ ไม่เอาแล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าไม่ให้เชื่อใครเลยก็ไม่เชื่อใครเลย

ไม่เชื่อเพราะไม่มีศรัทธา ไม่มีวาสนาบารมี ถ้าไม่เชื่อ แต่มีศรัทธา มีวาสนา มีบารมี พิสูจน์ พิสูจน์ด้วยการประพฤติปฏิบัติของเรา อันไหนจริง อันไหนปลอม อันไหนเป็นคุณค่าของใจ อันไหนเป็นประโยชน์ของเรา สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ของเรา เอวัง