เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๖ ก.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาคำโบราณท่านว่าเป็นคตินะ เป็นคติว่า “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” ที่เราเคลื่อนไหวกันอยู่นี่ เราพยายามตื่นตัวอยู่นี่ มันเหมือนกับน้ำร้อนไง น้ำร้อน ปลามันรู้จักไง รู้จักว่ามันมีเหตุมีเภทมีภัยขึ้นมา มันพยายามดิ้นรนเพื่อจะเอาตัวมันรอดนะ “น้ำเย็นปลาตาย” เห็นไหม มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข นอนจมอยู่ไปอย่างนั้น นี่น้ำเย็นปลาตาย “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” แต่ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์มันเป็นไปไม่ได้หรอก น้ำเดือด ปลาอยู่ได้อย่างไร...ไม่ใช่ขนาดนั้น พอน้ำเริ่มร้อน แล้วรู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นเภทเป็นภัย มันมีภัยมา ปลามันจะหาที่หลบ

เราเคยมีเพื่อนเขาทำอาหาร พวกนักเลงสุรานะ เขาเลี้ยงต้มเปรตไง เขาจะเอาผักบุ้งไปไว้ในน้ำ แล้วก็เอาปลาตัวเล็กไว้ในน้ำนะ พอเขาต้มน้ำเดือด ไอ้พวกปลาช่อนเล็กๆ มันจะวิ่งเข้าไปในผักบุ้งนั้นน่ะ นั่นเขาว่าอร่อยของเขานะ เห็นไหม น้ำร้อน มันก็ต้องหาที่หลบซ่อนของมัน มันก็เข้าไปซุกในผักบุ้งนั้น พอมันต้มไปเป็นอย่างนั้น เห็นไหม คนเราสรรหาการทำกรรมไง แต่ทางโลกว่าสรรหาในการกินเพื่อไปกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ว่าเป็นของแปลกนะ

แต่ “น้ำร้อนปลาเป็น” เราเคลื่อนไหวอยู่ พระป่าพระปฏิบัติเวลาเราศึกษาธรรมกัน เราจะศึกษาเรื่องของเหตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีนี้ท่านทำอย่างไรของท่านมา ท่านพยายามทำของท่าน พยายามค้นคว้าของท่าน แต่เวลาทำขึ้นมา บอกว่าสิ่งนั้นท่านทำยังผิดพลาดอยู่ เพราะอะไร เพราะไม่มีครูไม่มีอาจารย์ สิ่งที่ผิดพลาดท่านก็สอนไว้ในพระไตรปิฎกเหมือนกันว่าสิ่งนี้ผิด อัตตกิลมถานุโยค

อัตตกิลมถานุโยคหมายถึงการกระทำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอนอยู่อยู่บนตะปู ยืนอยู่จนปลวกขึ้นมาถึงเอว กำมือไว้จนเล็บทะลุหลังมือไป ยืนอ้าปากกินลม นี่สมัยนั้น สมัยปัจจุบันนี้ในอินเดียก็ยังมีอยู่นะ สมัยนั้นเขาทำกันอย่างนั้นใช่ไหม

มีนะ ในพระไตรปิฎก มีพวกลัทธิต่างๆ เขาถือวัตรไง วัตรเป็นสุนัขนะ เขาดำรงชีวิตแบบสุนัข เดินกินอย่างสุนัขแบบสุนัข แล้วมาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วว่าเขาจะได้บุญอะไร เพราะเขาประพฤติวัตรแบบสุนัขไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “อย่าให้พูดเลยนะ อย่าให้พูด”

“ขอเถอะ”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่พูดถ้าสิ่งใดมันสะเทือนใจใคร แต่ถ้าขอถึง ๓ หน ท่านจะพยากรณ์ไงว่า ประพฤติวัตรแบบสุนัข ตายไปก็เกิดเป็นสุนัขไง เพราะยังไม่ทันตายเลย ใจก็อยากเป็นสุนัขแล้ว แล้วเวลาตายไป มันจะไปไหนล่ะ? มันก็เป็นสุนัขนั่นไง เห็นไหม

การประพฤติวัตรโดยที่เป็นอัตตกิลมถานุโยค เขาทำของเขาอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปศึกษาอย่างนั้นมาแล้วบอกว่าผิด แต่เวลาธุดงควัตร ๑๓ มันไม่ใช่อัตตกิลมถานุโยค ธุดงควัตรนี้เป็นการขัดเกลากิเลส ความขัดเกลา เห็นไหม ทุกคนอยากจะสะดวก ทุกคนอยากจะสบาย ทุกคนอยากจะนอนจม เห็นไหม หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดไว้ในประวัติหลวงปู่เจี๊ยะว่าไม่ให้แช่ไง เวลาทำสมาธินี่แช่อย่างนั้น ไม่พอกิน ทำไม่ได้หรอก ถ้าทำสัมมาสมาธิแล้วจิตเข้าไปสงบแล้วไปแช่อยู่อย่างนั้นนะ ท่านจะติมาก เห็นไหม นี่ครูบาอาจารย์จะยกออกมา จะดึงออกมา

สาวไปหาเหตุที่ว่า ๖ ปีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามประพฤติวัตร พยายามประพฤติปฏิบัติเข้ามาให้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สาวไปหาเหตุไง แล้วพระป่าเราก็สาวไปหาเหตุ แต่ถ้าการศึกษาเล่าเรียน เห็นไหม ไปเรียนผลไง ผลที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเรียนถึงผลงาน ผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม แล้วก็ต้องเป็นแบบนั้น เป็นแบบนั้นนะ

ไปคาดหมายผล ไปยึดมั่นผล ไปกอดผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในหัวใจของตัวนี่กิเลสทั้งนั้น กิเลสในหัวใจของตัวไปเหนี่ยวรั้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แต่ทำไมไม่ประพฤติปฏิบัติ ไม่ขัดเกลาล่ะ

ถ้าการขัดเกลากิเลส “น้ำร้อนปลาเป็น” เพราะเรารู้ว่าเรามีกิเลสอยู่ เราต้องการหาความสุข เราก็ต้องหาที่พึ่งที่อาศัยของเรา ถ้าเราหาที่พึ่งที่อาศัยของเรา การทำอย่างไร ในปัจจุบันนี้ผู้รู้ ผู้มีปัญญาเขาจะบอกว่าให้คิดนอกกรอบ คิดนอกกรอบ ถ้าคิดในกรอบ มันก็คิดทันกันใช่ไหม ให้คิดนอกกรอบไง การคิดนอกกรอบ การคิดแต่สิ่งที่ว่าโลกเขาคิดกัน นี่คิดนอกกรอบ คิดหาทางที่ว่าเราพยายามทำธุรกิจของเรา ทำปฏิบัติงานของเราให้มันสำเร็จขึ้นมาให้ได้ไง

การนอกกรอบ แต่ไม่นอกธรรมวินัยไง นอกกรอบ การคิดนอกกรอบ ความคิด เราประพฤติ เราทำผิดธรรมวินัย จิตเกิดจากการกระทำของกายนี้ ตัวจิตจริงๆ แล้วมันไม่มีอาบัติ สิ่งที่ไม่มีอาบัติไง เวลาเราคิด เราไม่ได้กระทำ มันไม่เป็นอาบัติ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม มโนกรรม ความคิดชั่วนั้นไม่ควรคิดอย่างยิ่งเพราะเรามีศีล นี่ความคิดชั่ว แต่การคิดในฝ่ายของปัญญา เวลาคิดนอกกรอบ ต้องคิดไง ถ้าไม่คิดนอกกรอบ มันจะเกิดมรรคญาณไม่ได้ มรรคญาณมันจะคิดนอกกรอบ เพราะมันเป็นความคิดในปัจจุบันนี้ มันจะคิดออกไปตามธรรมชาติของมัน

แต่ถ้าเราไปคิดตามกรอบ เราจะคิดแบบกิเลสไง มันเกาะไว้ไง ไปเรียนผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้เรียนเหตุไง แต่พระป่าปฏิบัติตามเหตุนั้นก็ว่าอัตตกิลมถานุโยค อัตตกิลมถานุโยค...คนที่ว่าอัตตกิลมถานุโยคเพราะเขาทำไม่ได้ ดูสิ ในการศึกษาเล่าเรียน นักธรรมโท เขาต้องมีการตัดผ้า นักธรรมโทต้องตัดผ้าเป็นนะ ต้องตัดผ้าได้ ต้องทำลูกดุมเป็น ต้องรู้กุสิ อนุวาท รู้หมดนะ เรียนผ่านหมดเลย แต่ทำไม่เป็น ทำไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็นเลย เพียงแต่ว่าเรียนผ่านเฉยๆ ไง

แต่พระปฏิบัติเรา ครูบาอาจารย์จะฝึกจะฝนกันนะ ให้ทำอย่างนี้ให้ได้ เพื่ออะไร? เพื่อจรรโลงธรรมวินัยไง เหมือนกับช่างรถ เราเป็นผู้ที่ซ่อมรถได้ เราขับรถไป รถเราเสียหาย เราจะรู้เลยว่าเครื่องยนต์เป็นอย่างไร สภาพล้อยางรั่วเราก็เปลี่ยนยางได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมา เราจะแก้ไขของเราได้หมดเลย นี่การปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างนั้น ให้เข้าใจเรื่องธรรมวินัย

ธรรมวินัย ความผิดพลาดไง ถ้ามันมีความผิดพลาด เพราะอะไร เพราะเราพลั้งเผลอ เรามีสติ เห็นไหม เป็นอาบัติโดยไม่รู้ก็เป็น รู้แล้วทำผิดก็เป็นอาบัติ ไม่รู้แล้วทำผิดก็เป็นอาบัติ เป็นหมดเลย ถ้าเป็น ถ้าเราไม่รู้ เราไม่เข้าใจ สติเราพลั้งเผลอ เราก็ปลงอาบัติ เห็นไหม ซ่อมรถ รถเรายางรั่ว เราก็เปลี่ยนรถหรือเปลี่ยนยาง รถเราเสียหายตรงไหน เราก็เปลี่ยนๆๆ เราทำของเราไปได้ไง

แต่ถ้าเรียนผลนะ เป็นอาบัติไม่เป็นอาบัติก็ต้องถามกัน ไม่ต้องเป็นอาบัติก็ปลงอาบัติทุกเย็น ทำวัตรก็ปลงอาบัติ ปลงอาบัติ นี่มันเป็นการมุสาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะไม่เป็นอาบัติ แล้วก็ปลงอาบัติ ไม่เป็นปาจิตตีย์ก็ทำให้ตัวเองเป็นปาจิตตีย์ เห็นไหม ไม่ได้เป็นอะไรเลย แล้วก็ไปปลงอาบัติว่าตัวเองเป็นอาบัติ มันโกหกตัวเอง โกหกตัวเองไปทั้งนั้นเลยนะ

แต่พวกเรานี่เป็น ถึงยอมรับว่าเป็น เราอยู่ในป่ากันนะ มีพระเพื่อนกันเดินจงกรมอยู่ เดินจงกรมอยู่แล้วเห็นไม้มันขวางทางอยู่ ไม้มันย้อยมาไง กลางคืนมันมืด ก็เด็ดดึงออก พอดึงออก เช้าขึ้นมาไปเห็นว่า โอ๋ย! นี่ไม้สด รีบมาปลงอาบัติทันทีเลย เพราะอยู่ในป่าใช่ไหม เราอยู่ในป่าในเขานี่นะ เวลาเรากลัวผีกลัวสาง กลัวเหมือนกัน เวลาอยู่ในป่า ถ้าทำความผิดสิ่งใด ถ้าอยู่ในเมืองนี่ไม่มีปัญหา เวลาไปอยู่ในป่าลึกๆ นะ

นี่นักเลงมาก คนขอนแก่นลูกศิษย์หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านเป็นคนที่กล้าหาญมาก เวลาบวชแล้วจะเข้าป่าเลย หลวงปู่เจี๊ยะบอก “อย่าเพิ่งนะ ให้อยู่ก่อน ให้ศึกษาธรรมวินัยก่อน”

“ไม่เป็นไรครับ ผมนี้ชีวิตโชกโชนมาก ผ่านวิกฤติมามหาศาลเลย ผมจะเข้าป่าเลย”

ไปอยู่ในป่าไง เข้าไปในป่านะที่จังหวัดขอนแก่น แล้วหลวงปู่เจี๊ยะเล่าให้ฟังเอง พอไปอยู่ในป่า เดินจงกรม กลางคืนมันอยู่คนเดียว มันก็คิดแล้ว โน่นก็ผี นี่ก็ผี โน่นก็สัตว์ คิดทุกวันนะ วิตกวิจารณ์ทุกวัน จนคนที่ผ่านวิกฤติมามหาศาล จนถึงสุดท้ายแล้วนั่งร้องไห้อยู่ในป่าคนเดียว มันกลัวของมัน เห็นไหม กลัวในความรู้สึกของตัวเอง นี่กลัวมาก

การประพฤติปฏิบัติ ตัวเองนี่แหละสำคัญมาก ผีคือจิตวิญญาณของเราตัวแรก ทำไมเราไม่มองของเรา ทำไมเราไม่เอาธรรมวินัยเข้ามารักษาใจของเรา ถ้ารักษาใจของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นมานะ ดูสิ พระนาคิตะเดินจงกรมอยู่ในป่า เทวดามายับยั้งกลางอากาศเลย นี่ญาติกัน ผู้ที่เป็นญาติกัน เป็นหมู่คณะกัน เวลาเขาเกิดในภพชาติต่างๆ มีหมู่คณะที่มาปฏิบัติกัน เขาจะส่งเสริมกัน เห็นไหม เทวดามาหยุดยั้งกลางอากาศเลย พระนาคิตะเดินจงกรมอยู่ไง อยู่ในป่า แล้วเขามีงานมหรสพ คนก็ไปเที่ยวกัน เหมือนกับที่เราอยู่นี่ ที่เสียงมา เสียงมา ใครอยากไป มีการละเล่นไง

พระนาคิตะก็คิดมาในใจนะ “เราเป็นคนทุกข์คนยาก เราเป็นคนที่เป็นเศษคน เราเป็นคนที่ไม่มีวาสนา ดูสิ ชาวโลกเขามีความสุข เขาไปเพลิดเพลินกัน” นี่ความคิดเกิดไง เทวดารู้ มายับยั้งกลางอากาศเลย “คนที่เขาคิดอย่างนั้น เขาเป็นอย่างนั้น เขาติดอยู่ในโลก เขาต้องวนอยู่ในโลก เขาไม่มีคุณค่าหรอก ท่านต่างหาก ท่านจะพ้นจากโลก ท่านต่างหากเดินจงกรม ท่านต่างหากปฏิบัติความเพียรอยู่ ท่านต่างหาก”

เห็นไหม มาเตือนนะ เทวดามาเตือนอยู่บนกลางอากาศเลย นี้อยู่ในพระไตรปิฎก พระนาคิตะได้สติขึ้นมา ย้อนกลับมาเลย เขาไป เขาเพลิดเพลินกัน เขาไปเสพอารมณ์กัน เขาไปเสพสิ่งต่างๆ กัน เขาใช้พลังงานทั้งหมด เขามีแต่ความทุกข์ แต่เขาเป็นอามิส เขานึกว่าเป็นความสุขของเขา เราอยู่ในป่าของเรา เราควบคุมใจของเราได้ เรารักษาของเราได้ สติมันกลับมาก่อน ถ้าคนมีสติ คนมีสติสัมปชัญญะ กลับมาปฏิบัติจะเป็นการปฏิบัตินะ

ถ้าเราทำสักแต่ว่าทำ เห็นไหม เดี๋ยวนี้หุ่นยนต์มันก็ทำได้ หุ่นยนต์มันเดินจงกรมก็ได้ เราตั้งหุ่นยนต์ให้เดินจงกรมสิ ตั้งหุ่นยนต์ให้นั่ง ๗ วัน ๗ คืนสิ แล้วหุ่นยนต์มันเป็นอะไรล่ะ? ไม่เห็นเป็นอะไรเลย แต่เราสิ หัวใจเราที่มันสุขมันทุกข์ การประพฤติปฏิบัติเป็นกิริยาทั้งนั้น สิ่งต่างๆ สุดท้ายแล้วก็เอามาที่ใจ แต่ก่อนที่จะเอาที่ใจ มันเหมือนเด็กไง เด็กไม่มีการศึกษา เด็กไม่มีการรับรู้เลย มันจะอยู่ในโลกได้อย่างไร มันก็ต้องศึกษาของมันขึ้นมา แต่เวลาศึกษาขึ้นมา มันก็มีกิเลสมีตัณหา มันก็ยึดมั่นถือมั่นของมันไป ก็ต้องมีศีลธรรมเข้าไปขัดเกลาใจมัน ขัดเกลาใจมันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา

วุฒิภาวะของใจก็เหมือนกัน เริ่มต้นก็ต้องทำใจสงบขึ้นมาก่อน เริ่มต้นประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก่อน สาวไปหาเหตุที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำทั้งนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกจากราชวัง เห็นไหม ราหุลเกิดแล้ว ไม่กล้าไปมองหน้า มันทุกข์ยากมากเพราะอะไร เพราะจะออกบวช ราหุลเกิดแล้ว ไม่กล้าไปมอง ถ้าไปมอง มันจะดึงให้ใจนั้นออกไม่ได้ไง ฟังสิ คนพลัดพรากอย่างนั้นมีความทุกข์ไหม เจ้าชายสิทธัตถะออกจากราชวังนี่มีความทุกข์ไหม? มีความทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่เวลาจะออก เห็นไหม ทำไม่ได้ โลกเขาทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะไม่รับผิดชอบ ทิ้งทั้งภรรยา ทิ้งทั้งบุตร ทิ้งทั้งพ่อ ทิ้งทั้งแม่ ทิ้งมาทั้งหมดเลย

ถ้าไม่ทิ้ง มันก็นอนจมกันอยู่นั่น แต่ทิ้งออกมาก่อน เพราะมันไม่มีใครมีบุญญาธิการสามารถเท่ากับเจ้าชายสิทธัตถะที่จะออกไปค้นคว้าเป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยตนเองอย่างนี้ ในเมื่อตัวเองสร้างผลบุญญาธิการมาขนาดนี้ สิ่งที่ว่าสละเล็กน้อยเพื่อจะไปเอาผลประโยชน์ข้างหน้า คนฉลาดต้องรู้จักวางของเล็กน้อยเพื่อจะไปเอาของใหญ่ไง

ถ้าติดของที่เล็กน้อยนี้ ก็ต้องติดกับของเล็กน้อยนี้ นี่ครอบครัวของเรา ลูกของเรา เราก็ต้องเลี้ยงลูกของเราไป แล้วต่างคนต่างก็ทุกข์ในครอบครัว ต่างก็ทุกข์ในหัวใจ ต่างก็ทุกข์ทั้งชีวิต แล้วตายไปก็ยังเกิดตายไปก็ยังทุกข์ไปตลอด แล้วก็ว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ แต่ผู้ที่มีปัญญา สิ่งที่มองไม่เห็น มันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น

เห็นไหม สละก่อน เจ็บปวดขนาดไหนก็สละก่อน สละลูกไว้ที่นี่ก่อน ไม่ไปมองหน้าเลย สละภรรยาไว้ สละไว้ที่นี่ พอกไว้ที่นี่ก่อน ออกไปประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี เห็นไหม นี่เหตุ เหตุในการเกิดเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ค้นคว้าสิ่งนี้มาไง

พระปฏิบัติถึงสาวไปหาเหตุ แล้วพยายามประพฤติปฏิบัติเหตุนี้ ผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นวางไว้ ถ้าผลของเราเป็นจริง มันจะเข้าไปถึงผลอันนั้นเหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติมันถึงเป็นแบบนี้ การประพฤติปฏิบัติไม่ใช่การท่องจำ ไม่ใช่การก็อปปี้ ไม่ใช่การทำกันอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็วนเวียนอยู่ในวัฏฏะ คิดในกรอบ มันก็อยู่ในกรอบนั้นแหละ ถ้าคิดนอกกรอบเมื่อไหร่ มันก็จะเป็นมรรคขึ้นมาเมื่อนั้น เมื่อนั้นนะ เพราะเป็นความคิดของใจ ปัญญามันก้าวเดินออกไป มันจะไปเห็นการก้าวเดินของปัญญาออกไป แล้วมันจะเข้ามาชำระกิเลสอย่างไร

จะเห็นปัญญาภาวนามยปัญญา ไม่เห็นจินตมยปัญญา จินตนาการเอา คิดเอา ตรึกเอา มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลยว่าสิ่งนี้จะเป็นมรรคญาณที่จะชำระกิเลส ชำระกิเลสเพราะฆ่ากิเลสนี้ไม่บาป แล้วฆ่าอย่างไร แล้วทำอย่างไรจะฆ่ากิเลส ให้กิเลสฆ่าต่างหาก ฆ่าตั้งแต่ความคิดของตัว ฆ่าตั้งแต่เจตนาของตัวนะ บวชวันแรกมีความศรัทธามาก บวชขึ้นมามีความสุขมาก บวชเข้ามาเราจะประพฤติปฏิบัติ แล้วบวชเข้าไปก็ไปนอนจมอยู่ เห็นไหม ให้กิเลสมันฆ่าต่างหาก จะฆ่ากิเลส ไม่เคยเห็นกิเลส แล้วไม่เคยฆ่ากิเลส แต่ไปศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปยึดผลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ให้กิเลสมันฆ่า กิเลสมันฆ่า ฆ่าจนนอนจมอยู่อย่างนั้น แล้วก็จะว่า พระป่าเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษา พระป่าไม่เข้าใจ

นี่พระป่า พระป่าคือการประพฤติปฏิบัติ ชีวิตนี้ถ้ามีวาสนาก็จะจรรโลงไป ปฏิบัติไป ถึงที่สุดได้ก็คืออำนาจวาสนา ถึงที่สุดไม่ได้ จะสึกไปจะอยู่ไปก็เรื่องของพระป่าเขา ไม่ต้องวิตกกังวลหรอกว่าเขาจะไม่มีวิชาชีพ เขาจะไม่มีการศึกษา สึกไปแล้วจะไม่มีงานทำ...นั้นเป็นหน้าที่ เป็นสภาวกรรมของโลก สภาวกรรมของสัตว์ สัตว์มันมีกรรมของมัน มันต้องเป็นไปตามกรรมของมัน แต่เรามีเจตนาดี เราก็ฝืนกรรม เราก็ทำของเราไป มันก็มีโอกาสที่ว่าจะสึกจะอยู่มันก็ไม่สำคัญ สำคัญว่าสึกแล้วหรืออยู่ออกไปก็มีชีวิต มีการดำรงชีวิต เห็นไหม มันมีวาสนา มันก็ดำรงชีวิตของมันได้ มันมีวาสนา มันทำอะไร มันก็ประสบความสำเร็จของมัน ถ้ามันศึกษาเล่าเรียนขนาดไหน มันมีกรรมของมัน ทำอย่างไรมันก็ไม่ประสบความสำเร็จของมัน นี้คือสภาวะกรรมที่เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วเราประพฤติปฏิบัติจะเอาตัวรอดให้ได้ไง

ถึงบวชเป็นพระ เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติก็สู้ สึกออกไปเป็นฆราวาสก็สู้ สู้กับชีวิตไง สู้กับชีวิตเพื่อให้ถึงที่สุดไง ทวนกระแสเข้าไป ถึงดับใจดวงนั้นได้ พ้นไปจากกิเลส ถ้าเรามีครูมีอาจารย์คอยชี้นำ เราก็จะมีหลักของเรา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำนะ ก็ต้องค้นคว้า ต้องพยายามศึกษาเอง ก็ต้องค้นคว้าต้องทำไป แต่นี้ครูอาจารย์มีอยู่แล้วทำไมปฏิเสธ

ไม่เชื่อบุคคล บุคคลไม่ให้เชื่อ ฟังแล้วเอามาคติสิ อย่าเชื่อ กาลามสูตรเขาบอกว่าไม่ให้เชื่อ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติไป ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ไง แต่ถ้าการประพฤติปฏิบัติ ความเห็นของเราเกิดขึ้นมาถูกต้องตรง เราจะไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปได้อย่างไร ทำไมเรากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยหัวใจล่ะ

เรากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบธรรมทุกอย่างด้วยหัวใจของเรา นี่เกียรติคุณ เกียรติศักดิ์ของครูบาอาจารย์ของเรา เกียรติศักดิ์ เกียรติคุณของการประพฤติปฏิบัติเข้ามา พุทธชิโนรส ศากยบุตร บุตรจริงๆ บุตรในหัวใจ ไม่ใช่บุตรแต่เปลือก เปลือกนี้เป็นบุตร แต่หัวใจกิเลสล้วนๆ ไง แต่ถ้ามันเป็นบุตรทั้งกายทั้งใจ นี่บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธชิโนรส ศากยบุตรเป็นเนื้อนาบุญของเรา เอวัง