เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ ส.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาทางราชการ วันเข้าพรรษา วันสำคัญทางศาสนานี่เขาหยุดให้ หยุดให้เพื่ออะไรล่ะ? หยุดให้เพื่อเรามีโอกาสได้ทำบุญกุศล นี่จะว่าทำคุณงามความดีก็ได้ ถ้าว่าทำคุณงามความดี ความดีเป็นบุญไง บาปอกุศลเป็นความไม่ดี การกระทำ ความดีก็ต้องมีการกระทำ ทำความผิดพลาด ทำการเบียดเบียน ทำความชั่วร้ายก็ต้องการกระทำ ถึงว่าเปิดโอกาสให้ได้ทำคุณงามความดี ศาสนานี้ ราชการเปิดโอกาสให้เลย แต่เราจะได้ทำคุณงามความดีของเราหรือเปล่าล่ะ

ถ้าเราจะทำคุณงามความดี ทุกคนว่ามีความจำเป็น ทุกคนมีความจำเป็นหมด ดูพระก็มีความจำเป็น พระนี่ต้องการเวลาของพระเอง พระต้องอดอาหาร เวลาเราออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าอดอาหารคือว่าไม่ออกมาฉัน ไม่ต้องทำข้อวัตร หมายถึงว่า ข้อวัตรกติกา การกวาดลานวัด การทำต่างๆ ถ้าพระออกมาฉันแล้ว พระต้องทำข้อปฏิบัติ เวลาสิ่งนี้มันจะเบียดบังเวลาของตัวเองไป

ถ้าเราไม่ฉันอาหาร เราไม่ต้องทำข้อวัตร เราจะมีเวลา ๒๔ ชั่วโมงนะ เวลาการประพฤติปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง อยู่กับการประพฤติปฏิบัติตลอด เพราะอะไร เพราะไม่ได้กิน ไม่ได้นอน ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้ทำอะไรเลย ใน ๒๔ ชั่วโมงนี้มีแต่ความเพียรกับความเพียร ผู้ที่มีความจำเป็น นี่ขนาดนั้นนะ พระก็อยากได้เวลา พระนี่เวลามาคลุกคลีกันในหมู่คณะ คลุกคลีกับญาติโยมนี้ มันเป็นกิจกรรม มันเป็นเรื่องการกระทำ ระหว่างอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา บริษัท ๔ นี้มันต้องมีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันไป ศาสนานี้มันจะเจริญรุ่งเรื่องอย่างนั้น

แต่ความจำเป็นของแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน ถ้าความจำเป็นของการเร่งความเพียรนั้นอย่างหนึ่ง แต่เวลาสิ้นสุดของเรื่องของการประพฤติปฏิบัติแล้ว ถ้ากิเลสสิ้นออกไปจากใจแล้ว ใจดวงนั้นมันไม่มีกาล มันไม่มีเวลา มันไม่มีมิติ มันไม่มีสิ่งต่างๆ เข้าไปกวนกับใจดวงนั้นเลย ใจดวงนั้นเป็นวิมุตติ

วิมุตติอันนั้นมันจะเข้ามาในวัฏฏะในสมมุตินี่มันเข้ามาไม่ได้ มันถึงอาศัยธาตุขันธ์ไง อาศัยขันธ์คือความคิด ความปรุง ความแต่ง อาศัยขันธ์ แต่ขันธ์นี้เป็นขันธ์ที่สะอาดนะ ขันธ์ที่สกปรกคือขันธมาร ขันธมารมันมีกิเลสเรา มีความต้องการของเรา มีจริตนิสัย มีความเห็นแก่ตัว มีความต่างๆ

ถ้าความจำเป็นอย่างนั้นมันเบียดเบียนกันไง เรามีความจำเป็น ทางความจำเป็น ถึงบอก ทำคุณงามความดี ดูสิ ดูอย่างหลวงตามหาบัวนะ ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านเล่าประจำนะ เห็นหลวงปู่มั่นนุ่งผ้าอาบ มันปะ มันขาดไง ท่านก็พายายามจะหาอุบายวิธีการจะเอาผ้าอันนี้ไปเปลี่ยนให้กับหลวงปู่มั่นให้ได้ เพราะหลวงปู่มั่นนุ่งผ้าอาบ ผ้าอาบนี่มันปะหลายแผลแล้ว จะเปลี่ยนเข้าไปไง เวลาเอาผ้าอาบพยายามจะไปเปลี่ยนท่านนะ ลักเปลี่ยน เปลี่ยนให้ของท่านออกไป เวลาท่านมาเจอเข้านะ ท่านบอกว่า ถ้าให้ท่านเป็นลิง คือว่าเป็นคนจับจด ท่านจะใช้ให้ แต่ถ้าเห็นท่านเป็นครูบาอาจารย์จะต้องไปเอาผ้าผืนเก่ามาให้ท่านใช้

ท่านจะไม่ใช้ยอมเลย เพราะอะไร แล้วเวลาหลวงตาท่านไปเปลี่ยนผ้าให้ เป็นคุณงามความดีไหม? เป็นคุณงามความดีนะ ในเมื่อเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของเรา เราอุปัฏฐากท่าน เราก็อยากให้ท่านใช้ของที่ว่าสมแก่ฐานะของท่าน แต่เวลาท่านเป็นแบบอย่าง เป็นคติ เป็นแบบอย่าง ท่านบอกว่า ให้เป็นลิง ลิงมันจับจด ลิงมันวอกแวกวอแว นี่ถ้าครูบาอาจารย์เราไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ แล้วลูกศิษย์เอาอะไรเป็นที่พึ่งล่ะ สิ่งที่มีหลักมีเกณฑ์ คุณงามความดี แต่ความดีของเด็กๆ กับความดีของผู้ใหญ่ ความดีของผู้ที่เป็นคติตัวอย่าง

อย่างเรื่องของหัวใจ เราก็ว่าสิ่งใดละเอียด ละเอียดขึ้นมา เวลาปัญญามันทำความสงบของใจเข้ามานะ มันเข้าไปเห็นกิเลสในหัวใจแต่ละชั้น แต่ละชั้นนะ มันละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ มันถึงเห็นเป็นละเอียดไง เมื่อวานเขาก็ถามอยู่ว่าทำไมไม่บอกอย่างนั้น

เราถามว่า เอ็งเป็นหมอใช่ไหม ถ้าเอ็งเป็นหมอ เอ็งสามารถพูดให้เด็กๆ เข้าใจตาม เอ็งได้ไหม

เขาบอก ได้

เราบอก ไม่ได้หรอก ในปัจจุบันนี้ เว้นไว้แต่เด็กคนนี้มันโตขึ้นมา แล้วมันเรียนหมอขึ้นมา มันถึงเวลาคนที่มันเรียนขึ้นไป แล้วมันได้เรียนหมอด้วย แล้วมันมีวิชาการ มันจะมีความเท่าทัน แต่ที่กว่ามันจะเรียนหมอได้ จากเด็กอายุห้าหกขวบขึ้นไป กว่าจะเรียนหมอ มันต้องเรียนตั้งแต่มัธยม เรียนตั้งแต่อุดมศึกษาต้องเรียนขึ้นไป มันอาศัยเวลากี่ปีล่ะ

สิ่งนี้ ที่ว่ามันเป็นพัฒนาการของใจไง ใจที่มันไม่ทันกัน ไม่ทันกันตรงนี้ไง มันเสมอภาคกันตรงนี้ไม่ได้ ถึงเวลาผู้ใหญ่พูดให้เด็กฟัง เด็กจะไม่เข้าใจหรอก แต่เด็กนี้มันก็จะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นไป แล้วถ้ามันได้ศึกษาวิชาการแบบนั้น มันก็จะมีความเห็นแบบผู้ใหญ่คนนั้นนะ แบบผู้ใหญ่คนนั้น เว้นไว้แต่ถ้ากิเลสมันพลิกแพลง เห็นไหม ถ้าเป็นหมอ หมอที่ดีก็มีมาก หมอที่ทำเป็นธุรกิจก็มีมาก มันเรื่องของวงการของเขา เพราะว่าสิ่งที่วิชาการนี้เป็นกลางๆ ไง แต่ถ้ามันมีจริตนิสัยเป็นคนดี สิ่งนั้นก็เป็นของดี แต่ถ้าเขาเป็นคนที่เห็นแก่ตัว เรื่องกิเลสเขาหนา เขาก็ต้องเห็นแก่ตัวของเขาตลอดไป สิ่งนี้มันเป็นไปธรรมชาติของเขา นี่กาลเวลาของมิติที่มันบังไว้

จิตที่พ้นออกไปก็เหมือนกัน มันวิมุติติสุขนะ มันไม่เข้ามาในนี้หรอก สิ่งที่มันไม่เข้ามา แต่มันมีอยู่ไง มันถึงเป็นความมหัศจรรย์ พระอรหันต์มีหลายประเภทมาก ตั้งแต่มีจตุปฏิสัมภิทาญาณ มีอภิญญาต่างๆ แต่พระอรหันต์ในพระไตรปิฎกที่เป็นหลักเกณฑ์เลยนะ สอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ที่ยังมีเศษส่วน คือมีชีวิตนี้ ชีวิตนี้เป็นเศษส่วน เป็นสิ่งที่ไร้สาระ เป็นเศษ เป็นเดนนะ

แต่เศษเดนอันนี้ ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์สมบัติ อันนี้เป็นสมบัติอันประเสริฐมาก เพราะมนุษย์นี้ได้เกิดมาแล้วมีปัญญา มนุษย์นี้เกิดมาแล้วมีโอกาส มนุษย์เกิดมาได้ประพฤติปฏิบัติ แต่ถึงที่สุดแล้วมันก็เหมือนกับดอกบัวเกิดจากโคลนตม เกิดจากโคลนตมเสร็จแล้วถ้าดอกบัวนี้บานขึ้นไปแล้ว ดอกบัวนี้พ้นจากโคลนตม ใจนี้ก็เหมือนกัน เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ แล้วก็พยายามประพฤติปฏิบัติในภพของมนุษย์นี้ แต่ถ้ามันพ้นออกไป สิ่งที่เป็นนี้มันเป็นเศษส่วน มันเป็นเศษทิ้ง เศษเหลือเดนเลย แต่ก็ต้องอาศัยกันไปเพื่อเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์ด้วยกันไง

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ ครูบาอาจารย์ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะนี้ก็เป็นมนุษย์ นี่เราก็เป็นมนุษย์ สิ่งที่มนุษย์เขาสื่อกันด้วยมนุษย์ไง ภาษามคธสมัยพุทธกาลก็อย่างหนึ่ง ภาษานี้ภาษาไทยก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ภาษาบาลี ภาษามคธ มันมีอยู่แล้วใช่ไหม เราอยากเปรียบเทียบออกมา นี่ธรรมเป็นปัจจุบันกับธรรมเป็นอดีต มันต่างกันด้วยการสื่อความหมาย แต่ความหมายอันเดียวกัน ทุกข์เกิดขึ้นมาจากใจเหมือนกัน ทำลาย ทำลายกิเลสออกไปจากใจเหมือนกัน ด้วยอริยมรรคเหมือนกัน สิ่งนี้มันเป็นความละเอียดอ่อนมา

กาลเวลา สิ่งที่เป็นความจำเป็น เป็นความจำเป็นมาก ในมหายานเขาบอกนะ เวลาเขาจะพูดกัน เขาบอกว่าการเกิดและการตายนี้เป็นภัยอย่างมหาศาล สิ่งที่ว่าเรื่องการเกิดและการตายเท่านั้น จะคุยกันแต่เรื่องการเกิดและการตายเท่านั้น แต่การเกิดและการตายของเขา เขาทำของเขาด้วยความจริงจังของเขาไง แต่เราก็เอาตำราของเขามาเรียน แล้วการเกิดและการตาย เห็นไหม สุญญตาเป็นความว่าง ความว่าง เราก็คาดหมายกันว่าเป็นความว่าง ความว่างของเรา เราฆ่าอารมณ์ของเราให้ไปอยู่ในความว่าง เราไม่ได้ฆ่ากิเลส

สัญญาอารมณ์ความหมายนี้มันเกิดขึ้นมาจากใจ เราฟุ้งซ่านอยู่นี้ก็สัญญาอารมณ์ความคิดของเรานี้มันปรุงมันแต่ง บอกเขาว่าเวลาเราทุกข์เพราะความคิด เขายอมรับหมดเลย นักบริหารบอกทุกข์เพราะความคิด เพราะเขาคิดมาก เขาบอกว่า ความรู้สึกการบริหารนี้เกิดขึ้นมายังไม่เท่าไรหรอก แต่เวลาผิดพลาดต่างๆ ไป มันจะไปคิดแต่เรื่องนั้นน่ะ เห็นไหม เพราะเราไปย้ำคิดย้ำทำ นี่ความทุกข์เกิดจากความคิด สัญญาอารมณ์นี้ก็เป็นความคิดอันหนึ่ง เราสร้างสัญญาอารมณ์นี้เป็นความพอใจอันหนึ่ง มันไปเกาะเกี่ยวกับธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มันถึงเป็นสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญาเข้ามาไง นี่ความละเอียดอ่อนของใจมันจะเข้ามาในอย่างนี้

นี่ความจำเป็นต่างๆ ของคนไม่เหมือนกัน ความจำเป็นของเรา เราเป็นบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราก็ทำทานของเรา ทำทานของเราเพื่อจะพัฒนาใจของเราขึ้นมา ถ้าใจเราพัฒนาของเราขึ้นมา เห็นไหม นั่งอยู่ไหน นั่งอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เราสามารถกำหนดลมหายใจเข้าและออกได้ นั่งอยู่ไหน เราสามารถค้นคว้าหาใจของเราได้ ใจของเราอยู่ในร่างกายของเรานี้ เราค้นคว้าหาของเราไม่เจอ เราต้องไปสิ่งข้างนอก ดูอย่างอามิส เราอยากมีความสุข เราต้องมีสิ่งที่เสพ สิ่งที่อายตนะกระทบ สิ่งที่เสพพอใจทั้งหมด รูป รส กลิ่น เสียง ต้องเอาสิ่งนี้ไปกระทบ มันพอใจ มันก็มีความสุข มันไม่พอใจ มันก็มีความทุกข์ มันก็คัดค้านตลอดไป

นี่เราเห็นกันแต่เรื่องนามธรรมที่มันกระทบได้ แต่นามธรรมที่มันทรงตัวของมันได้คือจิตที่มันตั้งมั่นขึ้นมาได้ มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถึงว่าใครก็ว่าความสุขๆ เขียนเสือให้วัวกลัว นรกสวรรค์นี้เขียนเสือให้วัวกลัว ไม่มีจริงหรอก บังคับให้เราเชื่อ ไอ้สิ่งนี้มันพิสูจน์กันไม่ได้ กิเลสมันถึงได้มีอำนาจบาตรใหญ่กับสัตว์โลก เพราะสิ่งนี้มันไม่มีใครเข้าไปชำระสิ่งนี้ได้ เพราะไม่มีใครเห็นสิ่งนี้ได้ มันหลอก เวลาสถานะที่มันสร้างบุญกุศลหรือสร้างบาปอกุศล มันไปเจอสิ่งนั้น มันยังไม่เจอไง กิเลสมันถึงหลอกว่าไม่มี ให้เราทำไป เขียนเสือให้วัวกลัว นรกสวรรค์ไม่มี มรรคผลก็ไม่มี แล้วเวลามันทุกข์ ทำไมมันมี เวลาหัวใจทำไมมันมี ทำไมเอ็งต้องกินข้าวล่ะ ทำไมเอ็งต้องหลับต้องนอนล่ะ ทำไมเอ็งต้องบริหารร่างกายของเอ็งไปล่ะ ทำไมมันมีล่ะ

สิ่งที่มี มันก็สิ่งที่มีสิ สิ่งที่มี ถ้าเราไม่เชื่อ เห็นไหม มืดคู่กับสว่าง ไม่มีคู่กับมี สิ่งที่ไม่มี มันอาจจะมีก็ได้ สิ่งที่มี อาจจะไม่มีก็ได้ แต่ถ้าเราพิสูจน์กับตัวเราเอง มันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะเป็น “อาจจะ” ได้อย่างไร ถ้า “อาจจะ” ถ้า “หรือ” นี้คือการเราศึกษาจากตำรามา เราก็สงสัย เพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นความจริง ความเชื่อฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่ความเชื่อเป็นศรัทธา ศรัทธาความเชื่อนี่จะชักให้เราประพฤติปฏิบัติ แต่ความเชื่อฆ่ากิเลสได้ไหม? ไม่ได้หรอก เพราะเราเชื่อ มันไม่มีเหตุมีผล

แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเข้าไป เราเจอของเราเข้าไป นี่ปัจจัตตัง สิ่งที่ประสบ “หรือ , จะ” นี้คือความเชื่อ “หรือ , จะ” นี้คือการศึกษามา การค้นคว้ามา แต่ถ้าเป็นปัจจุบัน มันเข้าไปประสบเป็นปัจจัตตังกับใจดวงนั้น มันจะเป็นหรือ “หรือ” เป็นความเชื่อได้อย่างไร มันเห็นความจริง เป็นความรู้แจ้งเกิดขึ้นจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเข้าไปทำลายเห็นสภาวะแบบนั้น มันจะเป็นความเชื่อได้อย่างไร ความเชื่อ กับความเห็น กับความรู้แจ้ง มันต่างกันอย่างไร

พระสารีบุตรถึงบอก ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง นี่ไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะว่าเมื่อก่อนเชื่อมาก เชื่อเพราะยังไม่เห็น ก็ต้องเชื่อไปก่อน นี่เรายังมีศรัทธาความเชื่อ เราต้องเชื่อไปก่อน ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อ เราก็เริ่มต้นจากเป็นอุบาสก อุบาสิกา แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราจริง นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน เห็นไหม เขาไม่ได้บวช ทำไมเขาเป็นพระโสดาบันล่ะ อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าความเห็นของเราว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีนี้เป็นอนาคามี อนาคามีตอนตายไง เพราะอะไร เพราะว่าเวลาพระสารีบุตรไปเทศน์ ไปเทศน์สอนเรื่องขันธ์ ๕ อนาถบิณฑิกเศรษฐีนี้ร้องไห้เลยว่า

“ทำไมคฤหัสถ์เรานี้ถึงไม่ได้ฟังธรมละเอียดอ่อนอย่างนี้”

พระสารีบุตรบอกว่า “ทางมันสูงส่งนัก ไม่อยากอธิบายให้ฟัง”

จนอนาถบิณฑิกเศรษฐีนี้ร้องไห้ แล้วขอพระสารีบุตรว่า “ขอให้โยมได้ฟังธรรมอย่างนี้บ้าง ขอให้โยมได้ฟังธรรมอย่างนี้บ้าง เพราะโยมก็มีปัญญาเหมือนกัน เพราะจะเอาตัวรอดได้เหมือนกัน” พออย่างนี้แล้ว พระสารีบุตรก็ไปรายงานองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในพระไตรปิฎกนะ ไปรายงานองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก

“วันนี้ได้ไปสอนคฤหัสถ์คนหนึ่ง ได้เป็นพระอนาคามี”

สิ่งที่พระอนาคามีนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ทำไมเธอสอนเขาต่ำทรามขนาดนั้น เป็นพระอนาคามีนี้ยังต่ำทรามมาก ทำไมไม่สอนให้ถึงวิมุตติสุข” เห็นไหม นี่อยู่ในพระไตรปิฎก

เราถึงว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีนี้ ถ้าพูดถึงตามความเห็นของเรา น่าจะเป็นพระอนาคามี แต่ว่าในตำราบอกอนาถบิณฑิกเศรษฐีนี้เป็นพระโสดาบันๆ ก็เป็นพระโสดาบันเพราะนี้ในตำราก็ว่ากันไปตามตำราก่อน แต่ถ้าเป็นความรู้สึกของใจ เห็นขันธ์ ๕ วางขันธ์ ๕ ทั้งหมด แล้วพระสารีบุตรบอกว่าวันนี้ไปสอนคฤหัสถ์คนหนึ่งได้เป็นพระอนาคามี

สิ่งที่สอนนี้มันเป็นเรื่องปัจจัตตัง เป็นความเห็นจากภายใน นี่ความเห็นจากภายใน เพราะถ้าเป็นความเห็นจากภายใน ถึงจะเป็นสภาวะรู้แจ้งเห็นจริงอย่างนั้น มันถึงจะไม่มีความลังเลสงสัยไง ถ้าไม่มีความสงสัย เริ่มจากความจำเป็นนะ คนมีความจำเป็นทั้งหมด แต่ความจำเป็นขนาดไหน ถ้าความจำเป็นมันเป็นมรรค อันนี้เราสมควรจะเชื่อ ถ้าความจำเป็นของเราเป็นเรื่องของกิเลส อะไรก็จำเป็นนะ เราจะไม่มีเวลาเลย เราจะต้องทำมาหากิน เราจะต้องมีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบ แม้แต่ร่างกายนั่งนานก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันพิการ เดี๋ยวมันเจ็บไข้ได้ป่วย นี่ความจำเป็นของกิเลสคือทำให้ท้อถอยอ่อนแอ ความจำเป็นของกิเลสคือจะทำให้เราเกิดตายๆ อยู่ในโลกนี้ตลอดไป ความจำเป็นของกิเลสจะสะสมกองทุกข์ของเราในหัวใจของเรา

แต่ถ้าเป็นความจำเป็นของมรรค ความจำเป็นของการประพฤติปฏิบัติ ความจำเป็นอย่างนี้เราต้องเร่ง รถมีเบรกและคันเร่ง คันเร่งนี้สำคัญมาก ใครก็บอกมีคันเร่ง รถมันจะไปได้เร็ว แต่ไม่มีใครคิดเลยว่าเบรกนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีเบรก รถนี้มันต้องมีอุบัติเหตุแน่นอน มันจะไปไม่ได้หรอก มันจะเข้าโค้ง มันจะเบรกมันไม่ได้ ถ้ามีคันเร่ง คือเวลาเป็นมรรค เป็นความเห็นถูกต้อง เราต้องเหยียบคันเร่ง เวลามันเป็นบาปอกุศล เป็นความคิดผิด เป็นความจำเป็นที่กิเลสมันพาทำ อันนี้เราต้องเหยียบเบรก

ถ้าเรามีสติ เรามีปัญญา เรามีการศึกษาใคร่ครวญ เราจะมีทั้งเบรกแล้วจะมีทั้งคันเร่ง แล้วการประพฤติปฏิบัติของเราจะไปถึงที่หมายนะ แล้วจะมีครูบาอาจารย์ เห็นไหม เหมือนคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เครื่องนำทาง รถเดี๋ยวนี้เขาจะมีคอมพิวเตอร์นำทางนะ มันจะเป็นไปตามทางอันนั้นเลย ครูบาอาจารย์เหมือนคอมพิวเตอร์ชี้ให้เรา แต่เราเป็นเจ้าของรถ เราจะขับรถอย่างไร จะให้ใจของเราเข้าถึงความสุขของเราให้ได้

ความจำเป็นจากการเข้าพรรษานี้นะ เข้าพรรษานี้เดี๋ยวก็ออกพรรษาแล้ว ปีหนึ่ง ปีหนึ่ง ไวมาก ชีวิตนี้เดี๋ยวก็จะต้องตายอีกแล้ว แล้วทำไมเราจะนอนใจกันอยู่ ทำไมเราไม่รีบขวนขวายหาคุณประโยชน์ให้กับใจของเรา เพื่อให้สมประโยชน์กับมัน ให้ใจดวงนี้มีที่พึ่งที่อาศัย ถ้าไม่ถึงที่สุด ก็ให้มันเกิดดี เกิดมีความสุขความสมควรของมัน ถึงที่สุดแล้วต้องให้มันพ้นจากทุกข์ได้ เอวัง