เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๘ ส.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาคนหิว คนทุกข์คนยากมันได้อาหารนะ คนเราไม่มีบ้านอาศัยก็อยากมีบ้านเรือนอาศัย คนเราทุกข์ยากก็ต้องหาอาหารเพื่อบำรุงท้องเพื่อให้มันอิ่ม อิ่มพอมีความสุขอย่างหนึ่ง แต่คนเราเวลาทุกข์ใจ เวลาทุกข์ใจจะเอาอะไรให้มันกินล่ะ เวลาทุกข์ใจจะแก้ไขอย่างไรล่ะ เราแก้ไขไม่ได้ ธรรมะนี่ ธรรมโอสถสามารถชำระใจ ชำระนะ ชำระความทุกข์อันนั้นมันเป็นอาหารของใจ เราถึงต้องมาสละกันอยู่ไง

“ที่เรามาทำทานกันอยู่นี่ เราก็ทุกข์ยากอยู่แล้ว ทำไมต้องไปทุกข์ยากอีก” ถ้าทุกข์ยากอยู่แล้ว ทุกข์ยากของโลกเขามันทุกข์ยากเพื่อทุกข์ยาก แล้วถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราอยู่เฉยๆ เห็นไหม เวลาเขาบอกกันน่ะ เวลาถือศีล ขอศีลแล้ว เห็นไหม แล้วธรรมล่ะ ศีล ๕ ธรรม ๕ ไง ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราก็อยู่เฉยๆ ถ้าเราว่าเราไม่ผิดศีลนะ ต้นไม้มันก็ไม่ผิดศีล วัตถุสิ่งต่างๆ มันก็ไม่ผิดศีล รถมันผิดศีลที่ไหน รถน่ะ แต่ถ้าเราไปชนคน รถมันผิดนะ แต่รถมันก็เป็นวัตถุอันหนึ่งใช่ไหม คนขับต่างหากผิด

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจของเรา ถ้ารถมันจอดเฉยๆ มันก็ไม่ได้ขยับเขยื้อนเลย ร่างกายก็เหมือนกัน ถ้ามันอยู่เฉยๆ ไม่มีหัวใจในร่างกายนั้น มันจะขยับเขยื้อนไปได้ไหม ถ้ามันขยับเขยื้อนไป มันขยับเขยื้อนไป มันไปชนเขา มันไปทำลายเขา นี่ไง มันถึงต้องมีการกระทำไง

“ทุกข์” การทำบุญกุศลมันก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง มันต้องแสวงหา มันต้องขวนขวาย เราต้องขวนขวาย เราต้องดิ้นรนของเรา เราถึงจะได้ทำคุณงามความดีของเรา เห็นไหม ทุกข์อันนี้ทุกข์เพื่อจะให้มีความสุข ทุกข์อันนี้เพื่อจะให้หัวใจมันมีอาหารของมันไง

มีอาหารนะ ถ้าเราเคยสละ เราเคยทาน วุฒิภาวะของใจ ใจของคนที่ประเสริฐ ใจของคนที่มันสูงขึ้นมา มันมองไปที่คนที่เขาคิดของเขาอย่างนั้น เขาทำอย่างนั้นของเขาได้อย่างไร ในเมื่อเขาทำอย่างนั้นเขาทำเพื่ออะไร เพราะหัวใจของเขาต่ำ ถ้าหัวใจของเขาต่ำ เพราะเขาไม่ได้ทำอย่างนี้ไง เขาไม่ได้ทำทาน เขาไม่รักษาศีล แล้วเขาไม่ควบคุมใจของเขา เขาไม่เคยควบคุมใจของเขา เขาถึงไม่เห็นความมหัศจรรย์ของใจดวงนั้น

แม้แต่ทำสัมมาสมาธิได้มันก็มีความมหัศจรรย์ของใจดวงนั้นแล้ว ถ้าใจมีแค่ความสงบ เห็นไหม หลวงตาจะบอกเลยว่า “ถ้าใครทำหัวใจนี้สงบได้นี่พออยู่พอกินนะ” คำว่า “พออยู่พอกิน” มันไม่ทุกข์ยากจนเกินไป นี่มันทุกข์ยากเพราะใจมันไม่อิ่มเต็ม ใจมันพร่อง ใจมันกระหาย สังเกตได้ไหมว่ากระบอกน้ำถ้าน้ำพร่อง เวลาขยับมันจะเสียงดังมาก ถ้าน้ำเต็ม เสียงมันจะไม่ดัง เห็นไหม เพราะน้ำเต็ม ขยับจะไม่มีเสียงเลย ยิ่งน้ำเต็มสนิทจะไม่มีเสียงสิ่งใดๆ เลย นี่ถ้าใจของเราสงบมันจะเป็นแบบนั้น มันไม่พร่อง มันไม่มีอากาศอยู่ในนั้น น้ำไม่กระฉอกอยู่ในหัวใจนั้น มันไม่ทุกข์ร้อนในนั้นไง นี่อาหารของใจ อาหารของใจเกิดขึ้นมาจากสิ่งใดล่ะ? เกิดขึ้นมาจากมีศรัทธา มีความเชื่อ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “มามืดไปสว่าง มาสว่างไปมืด” ถ้าเรามามืด เรามานี่เราไม่รู้สิ่งใดเลย จะมาวัดมาวาไม่อยากจะไปเลยล่ะ คนเขามาดึงไป คนเขามาชวนไป เห็นไหม คนมาดึงไปมาชวนไป แต่ไปแล้วนี่...มีคหบดีมากอยู่ในกรุงเทพฯ เขาบอกว่าพระนี่เชื่อถือไม่ได้หรอก เขาเห็นความประพฤติปฏิบัติของพระ เขาไม่สนใจเรื่องของพระเลย แล้วเขาไปอีสานแล้วเขาไปเที่ยววัดป่าบ้านตาด เขาไปเห็นอาจารย์เทศน์เข้า “พระเทศน์อย่างนี้ก็มีหรือ สภาพความเป็นอยู่ของวัดอย่างนี้ก็มีหรือ พระที่ปฏิบัติเป็นอย่างนี้ก็มีหรือ”

นี่จากความที่ไม่เชื่อ จากความที่ว่าไม่สนใจเลยว่ามันหวังพึ่งไม่ได้แล้วแหละ เพราะอะไร เพราะพระก็ไปจากคน กราบพระก็กราบลูกชาวบ้าน เวลาคิดมันคิดไปนะ

เราอยู่ในป่านะ สหายมันเลยบอกว่า พระนี่ก็สมมุติเหมือนกัน

เราก็เลยบอกว่า สหายมันก็สมมุติเหมือนกัน ความสมมุตินี้สมมุติโดยความเป็นจริง เราไม่ได้สมมุติสมมุติโดยว่าเอากิเลสสมมุติ สมมุติโดยความเป็นจริงเพราะอะไร เพราะถ้าเราไม่จตุตถกรรม ไม่ญัตติในโบสถ์ขึ้นมา เราเป็นพระไม่ได้หรอก เราเป็นพระขึ้นมา พอเป็นพระขึ้นมานี่มันมีกฎหมายรองรับ มีธรรมวินัยรองรับ สิ่งที่รองรับมันก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง สิ่งที่เป็นสมมุติอันหนึ่งนี่เราจะจริงหรือไม่จริงล่ะ ถ้าเราจริง สิ่งนี้จะเป็นความจริงของเราขึ้นมาทั้งหมดเลย เห็นไหม ถ้าเป็นความจริงของเราเข้ามา สิ่งที่เป็นความจริง เราจะเอาความจริงของเราขึ้นมาเพื่อเรา มันถึงต้องจริงจังไง

พระองค์หนึ่งมีความจริงจังรักษาธรรมวินัย เขาจะทุกข์จะยากก็แล้วแต่ ดูภายนอกจะทุกข์จะยาก แต่ดูภายในหัวใจของเขา เขาจะอบอุ่นของเขา พระองค์หนึ่งดูโอ่อ่ามาก ไปไหนตามแต่โลกเขาสรรเสริญเยินยอ แต่ในหัวใจเขาว้าเหว่นะ ในหัวใจของเขาเร่าร้อนนะ ในหัวใจของเขามันคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเขาศรัทธาเรา จะทำอย่างไรไง เพราะมันคิดแต่ว่าจะพึ่งคนอื่น พึ่งข้างนอก พึ่งความโอ่อ่า พึ่งอันนั้น เห็นไหม

ศากยบุตรพุทธชิโนรส ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกษัตริย์ เจ้าชายสิทธัตถะออกประพฤติปฏิบัติ ๖ ปี ศาสนาก็ไม่มี เรื่องการทำบุญกุศลอย่างนี้ไม่มี ทำไมถึงดำรงชีวิตอยู่ได้ล่ะ เรานี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ให้ชาวพุทธตื่นเช้าขึ้นมาให้หุงหาอาหาร ให้ตักข้าวปากหม้อใส่บาตรก่อน ผู้มีศีลผู้มีธรรมได้กินอาหารของเรา ได้ฉันอาหารของเรา มันเป็นบุญกุศลของเรา คนทำไร่ทำนา เวลาผลไม้เขาออกก่อน เขาจะใส่บาตรให้พระก่อน เพื่ออะไร? เพื่อเป็นมงคลของเขา

การเป็นมงคลนะ เห็นสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง เห็นสมณะจากภายนอกนะ ถ้าเราทำสัมมาสมาธิ เราเห็นความสงบของใจเราขึ้นมา เราเห็นสมณะของเราขึ้นมาจากภายใน เห็นสมณะของเราจากหัวใจ หัวใจเป็นสมณะ มันมีความสงบร่มเย็นของใจขึ้นมา นี่เราได้สัมผัส เห็นสมณะภายนอกนี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง เห็นสมณะภายใน เรามีความสุขอย่างยิ่ง เรามีความสุขของเรา เราจะรู้ว่ามีความมหัศจรรย์ของใจขนาดไหน

เพราะเราฟังมามาก ใครที่ทำความสงบได้จะบอกว่ามันแปลกประหลาดๆ มันเป็นความแปลกประหลาด มันเป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาด้วยเงินและทอง เห็นไหม เวลาเขาแสวงหากันด้วยเงินและทองจะปรารถนาหาความสุขกัน ต้องไปเที่ยวเมืองนอกต้องไปต่างๆ นะ เดี๋ยวนี้จะไปเที่ยวดวงจันทร์กัน เพราะอะไร เพราะคนมีเงินเขาอยากจะไปเที่ยวดวงจันทร์กัน ทำสิ่งที่ว่าอยากจะให้ตื่นเต้นกับชีวิต สิ่งที่เป็นความสุขของชีวิตเขาต้องแสวงหาจากภายนอก

เห็นสมณะภายนอกมีความสงบเสงี่ยมขึ้นมา ย้อนกลับมาในหัวใจของเรา เห็นสมณะภายในของเรา เห็นไหม ความสุขหาได้จากหัวใจของเรา เวลามันทุกข์มันร้อน เวลาเราต้องหาอาหารการกิน เวลามันทุกข์มันร้อน ไม่มีบ้านอาศัย เมืองร้อนเราก็ต้องมีแอร์ นี่ให้มีความอบอุ่นของใจ ให้มีความร่มเย็นของใจ แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา มันอยู่ที่ไหนมันก็ร่มเย็นของใจ มันจะเห็นความมหัศจรรย์ของมัน สุขอย่างนี้ซื้อด้วยเงินก็ไม่ได้ ซื้อด้วยทองแสวงหาอย่างไรก็ไม่ได้ ต้องบุคคลคนนั้นเป็นผู้ปฏิบัติเอง

กิเลสมันสำคัญอย่างนี้ไง เวลามันเกิด จิตนี้พาเกิด ความมหัศจรรย์ของจิตเราไม่เคยเห็น ปฏิสนธิจิตเกิดในครรภ์ของมารดา ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดเป็นโอปปาติกะ จิตปฏิสนธิตัวเกิด เกิดมาสภาวะแบบนี้ แล้วเราเข้าไปถึงตรงนี้ เราเข้าไปถึงความสงบของใจ ฐีติจิต จิตนี้เป็นพื้นฐานของใจ ถ้าใจสงบ มันอิ่มเต็มของมัน นี่ความสุขหาได้จากที่นี่ แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันอยู่ในศาสนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันอยู่ในศาสนาพุทธของเรา

“สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ในศาสนาไหนไม่มีมรรค...” เราค้นในคัมภีร์ต่างๆ ในศาสนาไหนก็แล้วแต่ จะไม่มีมรรค ๘ มรรค ๘ นี้เกิดเฉพาะในศาสนาพุทธเราเท่านั้น ในศาสนาพุทธมีมรรค มรรคก็ต้องเป็นมรรคจากประสบการณ์ของใจดวงนั้น มรรค ไม่ใช่มรรคที่เราคาดหมาย เราคิดของเราเอง ถ้าเราคิดเราคาดหมายของเราเอง มรรคนี้มันจะเป็นมรรคจากภายนอกเข้ามา ถ้ามรรคจากภายนอก อารมณ์ส่งออก เห็นไหม เราเห็นไฟฉายไหม ไฟฉายมันส่องแสงออกไป แสงสว่างมันส่งออกจากไฟฉาย มันจะกว้างออกไปๆ ความคิดของเรากว้างออกไปจากภายนอก มันมาจากไหนล่ะ? มันมาจากดวงเทียน มันมาจากหลอดไฟของไฟฉายนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เราต้องกลับไปที่หลอดไฟฉายนั้น แล้วไปพลิกแพลงที่หลอดไฟฉายนั้น ถ้าหลอดไฟฉายนั้นปิดด้วยสีแดง แสงนั้นก็จะเป็นสีแดง หลอดไฟฉายนั้นปิดด้วยสีอะไร มันก็จะออกเป็นสีนั้น ความคิดของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน การทำสัมมาสมาธิ การเข้าไปแก้กิเลสก็ไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ถึงที่สุดแล้วมันจะเข้าไปเป็นสัมมาสมาธิ จิตนี้จะตั้งมั่นเหมือนกัน ความตั้งมั่นเหมือนกันถึงยกขึ้นวิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมเหมือนกัน พอว่าเหมือนกัน เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วจะแยกออกไป มรรคมันจะเกิดอย่างนี้ไง ถ้าศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล ศาสนาของเรามีมรรค ศาสนาพุทธเราถึงเป็นศาสนาที่ประเสริฐมาก แต่ประเสริฐจากภายในไง

นักวิชาการจะบอกทุกทีว่าทำไมไม่ให้มันเป็นรูปธรรม ทำไมไม่เขียนตำราออกมาชี้เข้ามาที่ตรงนั้น...มันเขียนออกมาแล้วมันจะเป็นจุดเดียวไง มันจะไม่เข้าไปกับความเห็นของใจดวงนั้นไง เรามีลูกกี่คน ลูกมีความเห็นไม่เหมือนกัน เราซื้อของมาให้ลูกนะ ขนาดว่าสิ่งนี้ให้ลูกว่า เราพิจารณาแล้วว่าลูกชอบอย่างนี้ เวลาให้ลูกไปแล้ว ลูกยังทะเลาะกันเลย เพราะอะไร เพราะมันต้องการของจากคนอื่น มันไม่ต้องการของของมัน เพราะอะไร เพราะความชอบ ความเห็นของมัน ความชอบ ความเห็นของใจนั้นมันจะพลิกแพลงมาก มันจะต้องการสิ่งที่ว่ามันต้องการแสวงหา ทั้งๆ ที่ว่าเราคิดแล้ว เราพิจารณาแล้วนะว่าลูกของเรา เราต้องการให้ของเล่น เราซื้อมาแจกให้ลูก ทำไมลูกมันแย่งกัน ทำไมลูกมันทะเลาะกัน ทำไมลูกมันไม่พอใจ ไม่เหมือนกัน แม้แต่สีต่างกันมันก็ไม่พอใจแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตั้งสิ่งใดขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม มันจะมีความโต้แย้ง มันจะเป็นการบังคับบีบคั้นให้หัวใจนั้นแคบลง ความเห็นของคนจะแตกต่างออกไป ต้องยอมรับความแตกต่าง ความแตกต่างของจริตนิสัย ให้ตรงกับความเห็นความรู้สึกจากอันนั้น แล้วมันจะเข้าไปชำระกิเลสอันนั้น

ถ้ามันชำระกิเลสอันนั้น เห็นไหม จากน้ำเต็มกระบอกที่มันไม่ขยับเลย น้ำเต็มกระบอกมันแน่นหมด เพราะใจมันอิ่มเต็ม อิ่มเต็มมันก็มีน้ำอยู่ มันก็มีกิเลสอยู่ มันก็มีความยึดมั่นถือมั่นในใจของมันอยู่ ถ้ามีมัคคาอันนี้ งานชอบ ชอบในการทำลายกระบอกนั้น ชอบในการทำลายน้ำนั้นให้ออกไปจากกระบอกนั้น น้ำนั้นก็ไม่มี กระบอกนั้นก็ไม่มี แล้วฝุ่นมันจะเกาะอะไร ถ้าฝุ่นมันเกาะอะไรไม่ได้ มันไม่มีมลทินในหัวใจ

ถ้าไม่มีมลทินในหัวใจ นี่หัวใจร่มเย็นไง อาหารของใจเกิดขึ้นจากเราแสวงหานะ อาหารของปาก ธุดงควัตรขึ้นมาก็เพื่อความมักน้อยสันโดษ ธุดงควัตรนี้เป็นการขัดเกลากิเลส คำว่าทำไมจำเป็นต้องถือธุดงควัตร มันเป็นการขัดเกลากิเลส เห็นไหม ขัดเกลานะ อยู่ในป่ามันไม่มีสิ่งนี้หรอก ข้าวเปล่าๆ เท่านั้นแหละ สิ่งที่ข้าวเปล่าๆ บังคับไว้ไม่ให้กิน แล้วมันรื่นเริงมันอาจหาญ เพราะอะไร เพราะฉันข้าวเปล่าๆ แล้วมันไม่มีพลังงานที่ไปกดถ่วง ธาตุขันธ์ไม่ทับใจ สมาธิก็ทำง่าย การประพฤติปฏิบัติปัญญามันก็คล่องแคล่วว่องไว

แต่ในเมื่อมันเป็นกฎกติกาอย่างนี้ เราก็ทำอย่างนี้ แล้วคนเขาจะใส่มากนี้เป็นบุญของเขา นี่เนื้อนาบุญของโลก เนื้อนาบุญไง เขาจะหว่านพืชหว่านผลขนาดไหนเป็นเรื่องของศรัทธาเขา ในเมื่อเรื่องศรัทธาเขา เขาหว่านของเขาไป ผลประโยชน์ของเขา ผลดอกเก็บจากผลไม้ที่เขาปลูกขึ้นมาเป็นบุญกุศลของเขา

แต่พระ เห็นไหม พระเป็นเนื้อนาบุญของโลก มันก็ได้แต่สิ่งที่ตก ใส่ปุ๋ยก็ใส่ปุ๋ยลงไปที่ดิน ใบไม้ตกก็ตกอยู่ที่ดิน สิ่งที่ตกนี่เนื้อนาของโลก เราถึงจะต้องมักน้อยสันโดษในธุดงควัตร แล้วบิณฑบาตมาฉันแล้วแต่ความมีสติของตัว สติของตัว เห็นไหม มีสติ มีสัมปชัญญะ เราฉันเพื่อดำรงชีวิต ดำรงชีวิตเพื่อจะประพฤติปฏิบัติ มันก็เข้ากันได้ไง

ในเมื่อเป็นเนื้อนาบุญของโลกก็ต้องดำรงชีวิตในการประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อคฤหัสถ์เขาต้องการบุญกุศลของเขา เขาหว่านพืชผลของเขาไปเนื้อนาบุญนั้น เขาก็หว่านของเขาตามแต่ศรัทธาของเขา ผลประโยชน์ของเขาคือผลดอกที่เกิดจากผลไม้นั้น เขาต้องเก็บผลประโยชน์ของเขาไป สิ่งที่ตกอยู่เรี่ยราดกับที่ดินนั้น นั้นคือการดำรงชีวิต แต่ใจสิ! ใจมันประเสริฐมาก ถ้าใจมันประพฤติปฏิบัติใจมันสว่างไสวขึ้นมา

เห็นไหม นี่มีทุคตะเข็ญใจคนหนึ่งเขาอยากบวชมาก แต่ไม่มีใครจะบวชให้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “ทุคตะคนนี้เคยมีคุณกับใคร”

พระสารีบุตรบอกว่า “เคยมีคุณแก่ข้าพเจ้า”

“มีคุณเรื่องอะไร”

“มีคุณเพราะเคยตักบาตรทัพพีหนึ่ง”

เคยตักบาตรให้พระสารีบุตร พระสารีบุตรเห็นคุณของทุคตะเข็ญใจนั้น เอาทุคตะเข็ญใจมาบวช แล้วสั่งสอนจนทุคตะเข็ญใจนั้นเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

เห็นไหม ข้าวทัพพีหนึ่งนะ ยังมีคุณในการประพฤติปฏิบัติในการทำให้ได้ถึงสิ้นเป็นพระอรหันต์ได้ แล้วของเราตักบาตร เราทำบุญของเราเพื่ออะไร ถ้าเพื่อเป็นบุญกุศลของโลกเป็นอามิสก็ส่วนหนึ่ง ถ้าเพื่อบุญกุศลของเรา ได้ฟังธรรมอย่างนี้แล้วมีจิตใจสว่างไสว มีความสว่างไสวคือมันเข้าใจในสภาวธรรมนั้น มันยอมทุกข์ มันยอมอดอาหาร มันยอมประพฤติปฏิบัติ มันยอมทำของมันเพราะมันหวังผล มันหวังผลให้ใจดวงนี้มีความสุขร่มเย็นภายภาคหน้า

การประพฤติปฏิบัติ การกระทำต่างๆ ต้องมีความทุกข์ จะว่าอยู่เฉยๆ ทุกอย่างลอยมาเหมือนกับในหนัง ที่ว่ามันจะเป็นทิพย์ไปทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งนั้นมันเป็นบุญกุศลของแต่ละบุคคล มันมีได้เป็นบางคนเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ของเรา เราเกิดมาสาวกะสาวก มันต้องการประพฤติปฏิบัติของเรา ต้องทำของเรา สิ่งนี้ทำขึ้นมาด้วยความจงใจของเรา ด้วยความตั้งใจของเรา จะทุกข์ก็พอใจ จะทุกข์ก็จะพยายามทำเพื่อให้ใจดวงนี้มันมีที่พึ่งของมัน ให้มันได้กินอาหารของมัน ปากกินข้าว ใจกินธรรม แล้วให้มีความสุขในใจดวงนั้น เอวัง