เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๒ มิ.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ.วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาว่าคนหยาบ คนละเอียด ความคิดน่ะ ความคิดความอ่านของคนต่างๆ กัน เวลาบุญกุศล เวลาทำบุญกุศลนี่ฟังธรรม ฟังธรรม สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังนะ ฟัง เราฟังกันเป็นประเพณี เวลาเทศน์นี่เทศน์ใบลาน มันแปลกมากพอไปเจอพระป่าเทศน์ เทศน์ออกมาจากไหน? ออกมาจากความรู้สึก ออกมาจากประสบการณ์ ว่าเทศน์อย่างนี้ก็มีเหรอ นี่ของที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังได้ยินได้ฟัง ของที่อย่างนี้มันเป็นเรื่องการสะเทือนใจ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็ตอกย้ำไง สุดท้ายแล้วจิตใจผ่องแผ้ว

ถ้าจิตใจผ่องแผ้วนะ เราไม่มีใครสะกิด ความคิดของเรามันจะไม่เปิดหรอก แต่ถ้าเรามีการสะกิด ครูบาอาจารย์ถึงได้บอกไงว่าจากใจดวงหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติ ใจผ่องแผ้วมากนะ รู้ตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก...ถูกนะ ถูกเริ่มต้นขึ้นมามันจะมีความขัดข้องมันตลอดไป ขัดข้องนะ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง เริ่มต้นจากหยาบก่อน ทำไมเวลาเราสอนเด็ก ถึงจะผิดพลาดไปเราก็ว่าขอให้มันเข้าใจ จะผิดพลาดก็ไม่เป็นไร เด็กไม่เป็นไร พอโตขึ้นมาเขาจะมีการแยกแยะของเขาเอง ถ้าเขาแยกแยะของเขาเองขึ้นมา เขาจะถูกต้องขึ้นมาตลอดไป

สิ่งนี้เกิดขึ้นมาเป็นประเพณีวัฒนธรรม ดูสิ เวลาเขาบวชกัน เขาศึกษากัน เขาบวชพระบวชเณร เขาบวชกันเพื่ออะไร? บวชทางโลกคนหยาบๆ เขาก็ว่าบวชอันนี้ได้พึ่งศาสนา พ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูก จะได้เกาะชายผ้าเหลืองของลูกแน่นอนตามประเพณีวัฒนธรรม ตามหลักความจริงมันจริงอย่างนั้น จริงเพราะว่าอะไร เพราะลูกของเรา เลือดเนื้อเชื้อไขของเราเข้าไปค้ำศาสนา บุญกุศลเกิดแน่นอน

เพราะเรื่องของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมาต้องสร้างสมบารมีมหาศาลเลย แล้วกว่าจะออกมาประพฤติปฏิบัติอีก ๖ ปี ทุกข์ยากมาก ทั้งๆ ที่ว่าสร้างบุญกุศลมหาศาลนะ มันเป็นเรื่องความละเอียดอ่อนมาก เรื่องความลึกลับมาก ใจถ้าไม่เข้าไปสัมผัส ถ้าไม่ละเอียดอ่อน เวลาพระเราบวชขึ้นมาแล้วศึกษาปริยัติ ศึกษาพระไตรปิฎกทั้งตู้เลย จำได้หมดเลย แต่ชำระกิเลสไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว เพราะอะไร

เพราะสิ่งนี้เป็นความจำมา พระเราที่ว่าเป็นลูกเป็นหลานมาบวชก็อย่างนี้ บวชขึ้นมาเพื่อจะจรรโลงศาสนา ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานมาจนปัจจุบันนี้ไม่ขาดพระสงฆ์เลย ถ้าขาดพระสงฆ์นี่จะยก ยกจากคฤหัสถ์มาเป็นพระสงฆ์ไม่ได้ คือบวชไง ต้องสงฆ์บวชยกขึ้นมาให้เป็นพระ สิ่งที่เข้ามาเป็นพระแล้วมาศึกษาธรรม รักษาสิ่งนี้ไว้ รักษาศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสืบต่อกันมา ๒,๐๐๐ กว่าปีไม่ขาดพระเลย

นี่พ่อแม่ได้บุญได้บุญอย่างนี้ ถ้าบวชตามประเพณีจะได้บุญแบบนี้ ประเพณีนี่ได้แน่นอน แต่บุญกุศล ใจเรามีพลังงาน มีสิ่งที่ว่าสืบต่อ มีบุญกุศลก็เกิดตามบุญกุศลนั้น ทำบุญกุศลก็เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ทำบาปอกุศลก็ตกนรกตกอเวจี เป็นสภาวะแบบนี้ตลอดไป สิ่งนี้รักษาไว้ มันถึงว่ากบเฝ้ากอบัว ถ้ากบเฝ้ากอบัว ดอกบัวเขาเดินมาชม สวยงามมาก เขาเด็ดดอกบัวไป แต่กบมันไม่รู้ว่าดอกบัวสวยขนาดไหนนะ มันก็เฝ้ากอบัวของมันไปขนาดนั้น

ชาวพุทธเราก็เหมือนกัน ถ้าเราเป็นประเพณี เราก็รักษาศาสนานี้ไป แต่เวลาใครเขามาประพฤติปฏิบัติ ได้ดื่มกินรสของธรรมไง รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ถ้าเราได้ประพฤติปฏิบัติ ความเข้าใจนี่ต้องดัดแปลงตน ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัตินะ ให้กิเลสมันอยู่ในหัวใจของเรา “ทำไมต้องทรมานขนาดนั้น เราต้องพลัดพรากจากบ้านออกมา เราต้องจาก...” จากที่ว่าเขามีความต้องพึ่งพาอาศัยกัน ออกมาเหมือนนอแรด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกประพฤติปฏิบัติให้เหมือนนอแรด เวลาไปเหมือนนอแรด มันออกไปที่สงัดที่วิเวกขนาดไหน กิเลสมันกลัวตรงนั้น ถ้าอยู่ในที่คลุกเคล้า อยู่ในที่ชุมชน มันไม่กลัวหรอก มันพึ่งพาอาศัยกัน สิ่งนี้มันพึ่งอาศัยกัน มันจะเกาะเกี่ยวกันไปอยู่อย่างนั้น แล้วมันก็มีความบาดหมาง มันกระทบกระเทือนกัน

ธรรมและวินัย วินัยนี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมา เหมือนกฎหมาย กฎหมายแล้วแต่คนตีความนะ ประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธเราภาคหนึ่งก็ไปอย่างหนึ่ง ภาคเหนือก็ไปอย่างหนึ่ง ตะวันออกก็ไปอย่างหนึ่ง ภาคอีสานก็ไปอย่างหนึ่ง ภาคใต้ก็ไปอย่างหนึ่ง ภาคกลางก็ไปอย่างหนึ่ง ดูประเพณีวัฒนธรรมสิ เวลาพระเราออกมาจากภาคอีสานมาอยู่ภาคกลางนะ ถึงเวลาวันพระวันเจ้าไม่สวดพาหุงฯ ให้เขา ไม่มีการสวดมนต์ ไม่ทำประเพณี เขาก็เข้าใจว่าของเขาไม่ได้บุญ

แต่เวลาอยู่ภาคอีสาน สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์วางหลักเกณฑ์ไว้ วางหลักเกณฑ์ไว้อันนี้มันจะถึงสิ่งที่หยาบหรือสิ่งที่ละเอียด ก่อนที่เราจะถวายทาน เอาอาหารมาตั้งไว้แล้วก็ปัดแมลงวันกันอยู่อย่างนั้น แล้วก็กล่าวคำถวายทาน จะกล่าวคำถวายทานถึงจะได้บุญกุศล ถ้าเราไม่กล่าวคำถวายทาน มันเป็นบุญเด็กๆ เป็นประเพณีต่างๆ ถ้าเรามีความมั่นใจ เราศรัทธาของเรา เราออกจากบ้านมา เราก็ศรัทธาแล้ว เริ่มต้นศรัทธานะ

สมัยโบราณเรื่องการค้ายังไม่เจริญ เราจะทำอาหารใส่บาตร เราต้องเริ่มตั้งแต่เย็น เย็นนี้เราจะเตรียมอะไรไว้เพื่อจะหุงหาอาหารไว้ใส่บาตรพรุ่งนี้เช้า เราคิดขนาดไหนมันเป็นบุญกุศลตลอดนะ คิดถึงนี่ คิดถึงอาหาร คิดถึงคุณงามความดีไง ความคิดถึง ใจมันเกาะเกี่ยวกับอะไรล่ะ? เกี่ยวกับบุญกุศลตลอด

ในสมัยพุทธกาลนะ กษัตริย์องค์หนึ่งศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ตั้งใจอุปัฏฐากตลอดพรรษา ให้ลูกชายออกไปรบนะ รบชนะศึกกลับมานี่ขอ ให้ขออะไร? ขอแค่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ วันเท่านั้น อังคาสภิกษุด้วยมือของเรา เห็นไหม ความศรัทธา ความจงใจของเรา ใจละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนอย่างนี้ แต่ถ้าเราเป็นคนกระด้างนะ เราจะบอกว่าสิ่งนี้ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย ใครทำก็แทนกันได้ ใครทำก็แทนกันได้ เพราะมันเป็นเรื่องความละเอียดของใจไง ถ้าใจเราศรัทธา ใจเรามีความเชื่อ ปัญญามันจะเกิดขึ้นมานะ

สิ่งอะไรที่เกิดขึ้นมา ธรรมและวินัย นี่ตัวอย่างอันเดียวกัน เหมือนกับมุมมองไง วัตถุสิ่งของอันเดียวกันแต่คนละมุมมองนะ ตีความต่างกัน ความเห็นก็ต่างกัน แต่ความเห็นต่างกัน คนที่หยาบก็คิดไปประสาหยาบๆ คิดหยาบๆ คิดแบบวิทยาศาสตร์ ต้องพิสูจน์ได้ ต้องทำได้ ต้องทำได้ ต้องพิสูจน์ได้ ต้องให้รู้ได้ นี่ความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งนี้เป็นสมมุติไง สมมุติที่เกิดขึ้นนะ

วิทยาศาสตร์เมื่อก่อนทฤษฎียังไม่เกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าสิ่งนี้ไม่เจอ มันมีไหม? มันมีอยู่ของมันอยู่อย่างนั้น แต่เราคิดขึ้นมาได้ เราค้นคว้าขึ้นมาได้ ค้นคว้าขึ้นมาได้ แล้วพิสูจน์สิ่งนั้น ถ้ามันคลาดเคลื่อนไปมันก็คลาดเคลื่อนไป แต่ทำซ้ำ ทำซ้ำได้อย่างนั้น นั่นเป็นวิทยาศาสตร์ แต่มันจริงตามสมมุติ มันอยู่ชั่วคราวไง

สรรพสิ่งนี้ชั่วคราวทั้งหมดเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบัญญัติไง บัญญัติเป็นความคิดของเราไง ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ รูป ความคิด เวทนาคือความสุขความทุกข์ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง สิ่งนี้วิญญาณรับรู้ ขันธ์ ๕ เป็นความคิดของเราไปในหัวใจ บัญญัติมาให้เหมือนกัน บัญญัติมา เวลาสื่อออกมา ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ แล้วเราพิจารณาเข้าไป ทำความสงบของใจเข้ามา นี่บัญญัติครอบคลุมไว้ทั้งหมด สมมุตินี้มันกว้างขวางมาก แล้วบัญญัติขึ้นมาให้เป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่บัญญัติขึ้นมา เราบัญญัติขึ้นมาในตู้พระไตรปิฎก แล้วเราก็ศึกษาธรรม ธรรมอันนี้ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้ย้อนกลับขึ้นมา เพราะว่ามันกว้างขวาง มันละเอียดอ่อนมาก

ใจ เวลาคิดไปทั่วโลกนะ เราเคยไปเที่ยวมาทั่วโลก คิดถึงได้หมดนะ คิดถึงดวงจันทร์ คิดถึงอวกาศ มันไปได้หมดเลย นี่มันไปได้หมด สิ่งที่มันไปได้หมด มันกว้างขวางหมด มันยึดทั้งหมด แล้วมันให้ผลเป็นอะไร? คือความลังเลสงสัย คือความจริงหรือไม่จริงหนอ ความไม่เป็นไป

แต่ถ้าย้อนกลับมาที่พุทโธ พุทโธ สิ่งที่คิดออกไป กระแสคลื่นอันนี้เกิดมาจากไหน? เกิดมาจากฐานของใจ ถ้าจิตนี้สงบขึ้นมามันเริ่มไม่ลังเลสงสัยสิ่งต่างๆ เพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมา เวลาทำความสงบของใจ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วทำศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าทำสมาธิขึ้นมา จิตคนมีอำนาจวาสนามันจะเกิดเป็นนิมิตไง

สิ่งที่นิมิตเกิดขึ้น ใครไปรู้ใครไปเห็น จิตนี้ออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ ทั้งหมด แล้วรับรู้เห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะอันนั้นเป็นเงาของใจ ใจออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมารับรู้ เป็นคุณประโยชน์ก็มี เป็นโทษให้เราติดข้องก็มี ทำให้เราตกใจก็มี ทำให้สิ่งต่างๆ ก็มี นี่ใจออกรู้ทั้งหมดเลย สิ่งนี้ละเอียดเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง ชั้นที่ว่าความคิดเวลาที่ออกไปข้างนอกมันไปยึดต่างๆ ถ้าคิดแล้วสมประโยชน์ของเรา มันพอใจสิ่งต่างๆ มันก็มีความสุขพอใจของมัน ถ้ามันคิดแล้วไม่สมประโยชน์ มันขัดใจของมัน มันก็เป็นความทุกข์

นิมิตก็เหมือนกัน ความเห็นของใจไปเห็นสิ่งต่างๆ ย้อนกลับมาที่ผู้รู้ ย้อนกลับมาที่ผู้ไปเห็นเขา ผู้ไปเห็นเขาสงบขึ้นมา สร้างพลังงานอันนี้ขึ้นมา แล้วมันจะเป็นประโยชน์ไง

สิ่งที่เป็นเรื่องของโลกมันเป็นวัฏฏะ วัฏฏะหมายถึงว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราสื่อความหมายได้ เวลาเขาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มองตากันรู้นะ มันหิว มันต้องการอาหาร มันก็มาขอเรากินนะ แต่มันพูดไม่ได้ มันพูดไม่ได้เพราะมันมีขีดความสามารถของมันมีเท่านั้นไง วัฏฏะ อบายภูมิ ๔ สัตว์เดรัจฉาน มันก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน จิตมันเกิดสภาวะแบบนั้น

เราเกิดเป็นมนุษย์ นี่ภาษาหนึ่ง ตอนนี้ภาษาที่ว่าเป็นภาษากลางคือภาษาอังกฤษ เราต้องสื่อภาษาอังกฤษได้ เราสื่อความหมายได้มากเลย แล้วภาษาใจล่ะ สิ่งที่เป็นภาษาใจ ใจมันออกไปรับรู้ต่างๆ ย้อนกลับเข้ามา ให้ภาษานี้ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาสิ่งนี้ ถ้าจิตมันออกไปรับรู้

ภาษากลางคือภาษาของใจ ถ้าใจมันปล่อยอารมณ์ต่างๆ ปล่อยความเห็นต่างๆ ปล่อยนิมิตเข้ามา ให้มันสงบเข้ามา แล้วสิ่งที่มันจะออกรู้ เห็นไหม เราติดในอะไร เราติดในกายกับจิต ความรู้สึกอันนี้ทำให้เราติด ตัวเราเองนี่ติดอวิชชานะ มันรู้เหมือนไม่รู้ ไม่รู้เหมือนรู้ในตัวมันเอง ที่เราทุกข์เรายากกันอยู่นี่ไง ศาสนาพุทธเราสอนตรงนี้

วุฒิภาวะของใจถ้าใจหยาบใจละเอียด มันละเอียดเข้ามาอย่างนี้ๆ ถ้าใจมันหยาบนะ มันจะมองไม่เห็นอย่างนี้เลย มันจะเกี่ยวทางวิทยาศาสตร์ไง อันนี้วิทยาศาสตร์ทางจิต องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิสูจน์อันนี้ไง สิ่งนี้สำคัญมาก มันถึงว่ามันเป็นสมมุติบัญญัติ สมมุติเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ว่าเรื่องของโลก ธรรมคือธรรมชาติ สภาวธรรม ธรรมชาติ สิ่งที่เป็นไป เป็นธรรมทั้งหมด ถ้าเราศึกษาธรรมเป็นอนัตตา สิ่งที่อนัตตามันเกิดดับ แล้วสิ่งที่รู้อันนี้คือใครล่ะ? สิ่งที่รู้อันนี้แล้วปล่อยวางอันนี้เข้ามา คือตัววิชชากับอวิชชา

เป็นวิชชามาตลอด จากหยาบๆ นะ โสดาบันก็หยาบ สกิทาคามีก็หยาบ อนาคามีก็หยาบ สิ่งนี้ยังหยาบๆ อยู่ พระสารีบุตรไปสอนคฤหัสถ์ให้เป็นพระอนาคามี ไปรายงานองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ทำไมสอนต่ำทรามขนาดนั้น” พระอนาคามียังต่ำทรามขนาดนั้น นี่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ เพราะอะไร เพราะมันยังต้องไปเกิดในพรหมอีกไง สิ่งนี้มันต้องไปเกิดบนพรหม มันยังมีภพชาติอยู่ของมันตลอดไป

แต่ถ้าย้อนกลับมา ปล่อยวางเขาเข้ามา เพราะอะไร เพราะสิ่งที่ไปติดในนิมิต ความเห็นต่างๆ นั้นเป็นนิมิตเท่านั้น เป็นสิ่งที่เกาะเกี่ยวเท่านั้น ต้องให้มันสงบเข้ามา ให้มันสร้างเป็นพลังงานของมันขึ้นมา พอมีพลังงานขึ้นมา ถ้าเรามีอำนาจวาสนา เราย้อนออกวิปัสสนา ตรงที่ว่าไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำ ไม่มีครูบาอาจารย์ชี้นำตรงนี้ไง เพราะธรรมชาติของมัน ไฟเวลามันติดขึ้นมา ถ้ามันหมดเชื้อมันก็ดับไปธรรมชาติของมัน คนเราฟุ้งซ่านขนาดไหน มันก็สงบตัวของมันได้ ใจก็เหมือนกัน คิดมากขนาดไหน ทุกข์ขนาดไหน มันปล่อยวางมันก็ว่างได้ขนาดนั้น นี่เขาเข้าใจว่าตรงนี้เป็นธรรม ตรงนี้เป็นธรรมกันไง

“สิ่งที่สงบเป็นความว่าง ว่างมาก เป็นสภาวธรรม อันนี้เป็นสภาวธรรม”...ว่างขนาดนี้ฤๅษีชีไพรก็ทำได้ ก่อนสมัยพุทธกาลก็ทำได้ ถ้าความคิดหยาบ จิตหยาบๆ มันก็จะไปติดตรงนั้น แต่ถ้าจิตเราละเอียด เราเจอครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะชี้ตรงนี้ไง สิ่งที่ปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามาโดยสัจจะความจริงของมัน มีธรรมหรือไม่มีธรรมมันก็เป็นอย่างนี้ จิตดวงนี้เกิดตายในวัฏฏะ เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหมมาตลอด เกิดในนรก ในสัตว์เดรัจฉานมันก็เกิดมาตลอด มันเวียนไปเวียนมาตามธรรมชาติของมัน

แต่ถ้าเราตั้งตัวของเราขึ้นมาได้ พอจิตสงบขึ้นมานี่ยกขึ้นวิปัสสนา ยกอย่างไร นิมิตต่างๆ มันทำให้เกาะเกี่ยวออกไปข้างนอก ถ้าเราย้อนรำพึงไปที่กาย มันก็เกิดมาเหมือนภาพนิมิต แต่ถ้าจิตนี้มีสมาธิมั่นคง ภาพนั้นมันจะสะเทือนใจมาก มันจะตื่นเต้นมาก เพราะมันสะเทือนใจ เพราะมันเป็นกายจากตาใจ ใจมันติดในกายของมันโดยอุปาทาน โดยความสามัญสำนึก เพราะเราเป็นเรา ทุกคนเป็นเรา ตัวตนนี้เป็นเราทั้งหมด แล้วมันคลี่คลายตรงนี้ไง ปัญญานี้คือภาวนามยปัญญา ปัญญาอย่างนี้จะเกิดขึ้นมา สิ่งนี้ถ้ามันพิจารณาจนใคร่ครวญจนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงที่สุดมันจะขาดออกไป

ปล่อยวางขนาดไหน มันก็ปล่อยวางชั่วคราว ชั่วคราว ชั่วคราวตลอดไปเพราะมันเป็นกุปปธรรมตลอด ถึงอกุปปธรรม มันปล่อยวางนี้ขาดออกไป นี่โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันละเอียดเข้ามานะ จะพิจารณากายนอก กายใน กายในกาย แล้วก็ขึ้นมาตัวจิต พิจารณาต่างๆ เข้ามา ปล่อยมา นี่หยาบหรือละเอียดเข้ามา ลึกลับมหัศจรรย์มาก ทั้งๆ ที่อยู่ในพระไตรปิฎกนะ แต่ใครไปศึกษาก็ไม่เข้าใจ เพราะอะไร เพราะเอาวุฒิภาวะของตัวตนของเราเข้าไปจับไง

“ถึงว่าปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เข้าใจธรรมอย่างนี้ แล้วปฏิบัติธรรมอย่างนี้แล้ว พระป่านี้ทำรุนแรงมาก พระป่านี้ต้องปฏิบัติ ต้องแบบว่าต้องเข้มข้นเกินไป เราพอเข้าใจ”...เข้าใจอย่างนั้น เข้าใจตามประเพณี เข้าใจแบบว่าไปก็อปปี้มาไง เข้าใจแบบศึกษามา แล้วก็ว่าอันนี้เป็นสภาวธรรมไง มันถึงว่าไม่เป็นความจริงทั้งหมด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เกาะเกี่ยวทั้งหมด แต่เป็นความจริงขึ้นมามันต้องรู้จริงจากใจดวงนั้น แล้วชำระกิเลสขาดออกไปเป็นชั้นๆ

คำว่า “ขาด” มันพิจารณาปล่อยวางจนขาดออกไป จิตมันปล่อยวางเข้ามา นี่ไม่มีครูบาอาจารย์จี้เข้าไปตรงนี้ ชี้นำตรงนี้ มันถึงติดกันตรงนี้ มันถึงว่าทั้งๆ ที่ธรรมมีอยู่นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้แล้วนะ แล้วเราก็ศึกษามา จะกี่ประโยคก็แล้วแต่ จะศึกษาขนาดไหนก็แล้วแต่ จะหมุนเวียนกับตัวตนของเรา จะเข้าใจตามความเป็นตัวตนของเรา จะเห็นความว่าง ความมหัศจรรย์ของใจของเรา แล้วติดอยู่ตรงนี้ตลอดไป เพราะมันไม่สมุจเฉทปหาน มันไม่มีกิเลสขาดออกไปจากใจ มันถึงไม่เป็นธรรมตามความเป็นจริงไง เอวัง