ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สรุปสติปัฏฐาน ๔

๒๘ มิ.ย. ๒๕๕๒

 

สรุปสติปัฏฐาน ๔
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราพูดไว้เรื่องสติปัฏฐาน ๔ เมื่อวานเขามาถามเรื่องสติปัฏฐาน ๔ เพราะโยมเป็นห่วงมาก เวลาไปไหนกัน บอกว่าเวลาปฏิบัติแล้วไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ คือว่าไม่เป็นวิปัสสนา ทุกคนอยากเป็นวิปัสสนาใช่ไหม เราก็พูดเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ไว้ว่าสติปัฏฐาน ๔ ที่ทำปฏิบัติกันอยู่นี้ สติปัฏฐาน ๔ นี้โกหกหมด หลอกหมด เราพูดเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ไว้โกหกหมดเลย

โกหกเพราะอะไร โกหกไว้เพราะว่า เพราะเราทำไป เราบอกว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่ข้อเท็จจริง มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงไหม มันเป็นไม่จริงเพราะอะไร เพราะเรามีกิเลส เพราะค่ามันไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง แล้วพอเขาฟังอย่างนั้นปั๊บ เขามาโต้แย้ง มีลูกศิษย์โต้แย้งเหมือนกันว่า เขาไปสติปัฏฐาน ๔ โดยที่หลวงปู่จันทาครูบาอาจารย์นี่สอน

เมื่อวานเรื่องหลวงปู่ดูลย์ ว่าไปดูหนังสือหลวงปู่ดูลย์แล้ว ดูหนังสือหลวงปู่ดูลย์ด้วย แล้วไปดูในสติปัฏฐาน ๔ พระป่า บอกไม่เหมือนกัน เพราะไม่เหมือนกันก็ทำให้หนูงงมากเลย หนูก็เลยสับสนหมดเลยนะ เวลาหลวงพ่อบอกสติปัฏฐาน ๔ นั้นปลอมหมดเลย แล้วพอมาบอกสติปัฏฐาน ๔ ของพระป่า มันก็เป็นเหมือนกันหมดเลย แล้วหนูจะทำอย่างไง

เราบอกเห็นไหม ถ้าคนเป็นพูดมันถูกหมดล่ะ ถ้าคนไม่เป็นพูด มันก็ผิดหมด คำว่าผิดเห็นไหมเราบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ นี่ปลอมหมดเลย ปลอมเพราะอะไร ปลอมเพราะเราปฏิบัติไปนี่ คำว่าปลอมนี่นะ เราจะบอกว่า เพราะเขาใช้ คนที่เขาบอกของเขาเป็นสติปัฏฐาน ๔ หรือใช้วิปัสสนาสายตรงนี้คือ สติปัฏฐาน ๔

พุทโธๆ นี่เป็นสมถะ มันเป็นความสงบ มันเป็นนิมิต มันผิดหมด ถ้ากลับมา ใช้ปัญญานี่จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ถูกหมดเลย แต่ถ้าพุทโธนี่ผิดหมดเลย เราบอกนี่ผิดหมดเลย สติปัฏฐานก็ผิด ทุกอย่างก็ผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะเรามีกิเลสใช่ไหม เรามีความสงสัย เรามีนิวรณ์ธรรม มันมีความลังเล มีความไม่แน่ใจทั้งนั้นล่ะ ปฏิบัติไปนี่มันก็ผิดหมดล่ะ

แต่เขาบอกว่าอย่างนี้ถูก แต่พอมาปฏิบัติกับพระป่านี่เห็นไหม อย่างนี้ถูก พูดอย่างนี้เพราะอะไร เราพูดว่ามันผิดหมด ผิดหมดเพราะมันไม่จริงหรอก เราอย่าไปเอาคำพูด หรือเอาธรรมของพระพุทธเจ้านี่ไปเหยียบย่ำคนอื่น ว่าของฉันนี่วิปัสสนาสายตรงใช้ปัญญาสายตรง อย่างนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วกำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือทำสมาธินี่ผิดหมดเลย ผิดหมดเลย ต้องกลับมาที่ปัญญานี่ถึงจะถูก

เราบอกว่าผิดเหมือนกัน ผิดเหมือนกัน พอผิดเหมือนกันนี่เราปฏิเสธว่าผิดหมด สิ่งต่างๆ นั้นผิดหมด ผิดหมดเพราะอะไร ผิดหมดเพราะว่าเราเอาแต่ชื่อ เอาแต่ยี่ห้อกัน เอาแต่ธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วมาอวดอ้างกัน มาเหยียบย่ำกัน มายกตนข่มท่าน มาว่าเราถูก คนนั้นผิด แล้วพอบอกว่าถ้าอย่างนี้ผิด คำว่าผิดหมายความถึงว่า มันผิดโดยพื้นฐาน ผิดเพราะคนปฏิบัติมันมีกิเลสโดยธรรมชาติ คนมีกิเลสปฏิบัติอะไรก็ผิดทั้งนั้นล่ะ เพราะมันบวกด้วยกิเลสเราหมดล่ะ

แต่พอปฏิบัติไปเห็นไหม แล้วเวลาบอกว่าทำไมพระป่า สติปัฏฐาน ๔ ของพระป่าทำไมสอนอย่างนี้ เหมือนกัน เราบอกอย่างนี้นะถูก ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะมันก็อันเดียวกับสติปัฏฐาน ๔ ที่ว่าผิดหมดนั่นแหละ แต่ในเมื่อคนเป็นใช่ไหม เหมือนเรา ลูกเราเกิดมานี่ เราจะให้ลูกเราเดินได้ไหม เราต้องให้ลูกเราเดินใช่ไหม เหมือนกับจิตที่มันปฏิบัติ เหมือนกับครูบาอาจารย์ พวกเราเป็นปุถุชน พวกเราอยากปฏิบัติธรรม พวกเรานี่มีแต่กิเลส พวกเรานี่มีแต่ความลังเลสงสัย

พวกเรานี่กิเลสเต็มหัวใจเลย แต่ทุกข์มาก ทุกข์มาก ลำบากมาก อยากจะพ้นทุกข์มาก แล้วจะให้ทำอย่างไร ก็เริ่มต้นจากทุกข์เรานี่ไง เริ่มต้นจากเด็กๆ นี่ไง ถ้าเริ่มต้นจากเด็กๆ ก็ต้องกำหนดพุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ แต่! ในเมื่อเราเข้าใจว่า เราใช้ปัญญานี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ท่านก็บอกว่านี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะสังคมกระแสกระแสบอกว่า ต้องปฏิบัติเป็นสติปัฏฐาน ๔ ต้องการพิจารณามันถึงจะเป็นการปฏิบัติ ถ้าการกำหนดสมถะ มันจะไม่เป็นการปฏิบัติ นี้คำว่าการปฏิบัตินี่มันเป็นการให้ค่า มันเป็นสัญญาอารมณ์ มันเป็นคำพูดมันไม่เป็นเนื้อหาสาระ

แต่ถ้าเนื้อหาสาระปั๊บนี่ ครูบาอาจารย์เราบอก ก็ทำอย่างนี้ไป มันจะเข้าสู่สติปัฏฐาน ๔ การจะเข้าสู่สติปัฏฐาน ๔ นี่ เราต้องฝึกหัดตัวเรา เราต้องพัฒนาตัวเรา ด้วยกำหนดพุทโธๆๆ หรือว่ากำหนดพิจารณากายพิจารณาต่างๆ นี่ เขาบอกก็ครูบาอาจารย์พระป่าก็สอนอย่างนี้เหมือนกัน สอนอย่างนี้เหมือนกันแต่พระป่าครูบาอาจารย์เรา เหมือนกับเราฝึกงาน มันต้องหัดฝึกงานขึ้นมา มันถึงจะเป็นงานขึ้นมา ถ้าเราไม่ฝึกงาน ดูสิดูทหารเห็นไหม เวลาทหารออกฝึก เขาให้แบกไม้นะเขาว่าปืน แบกไม้ไปคนละท่อนแล้วบอกปืน แล้วก็ว่าสมมุติว่าปืน แล้วปืนจริงๆ มันเป็นปืนไหม กับท่อนไม้นั้น มันเป็นปืนไหม

นี่ก็เหมือนกันเราปฏิบัติใหม่ๆ เห็นไหม เราปฏิบัติใหม่ๆ นี่ครูบาอาจารย์จะสอน เพราะว่าถ้ามันจะให้เป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยข้อเท็จจริง นี่มันต้องมีจิตสงบ มันก็มีคุณค่าของมัน มันมีสมาธิของมัน ถ้าสมาธินี่ออกรู้กาย เวทนา กาย จิต ธรรม โดยข้อเท็จจริง มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ โดยสมบูรณ์ แต่เราบอกถ้าสติปัฏฐาน ๔ ที่ปลอมหมด ปลอมหมดเพราะอะไร เพราะจิตเราไม่เป็น จิตเราไม่เป็นสมาธิ จิตเราไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย แต่เราไปตรึกในธรรม ว่านี่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ตรึกทั้งปีทั้งชาติ มันก็ปลอมทั้งปีทั้งชาตินั่นล่ะ เพราะมันไม่เป็นจริงขึ้นมา

แต่พอครูบาอาจารย์เราสอนเห็นไหม บอกว่าให้กำหนดพุทโธๆๆ ไปก่อน ทำจิตให้สงบไปก่อน พอจิตสงบ มันพิจารณากายเหมือนกันไหม เหมือนกัน เพราะอะไรเพราะหลวงปู่เจี๊ยะ กับหลวงตา ท่านสอนเหมือนกัน ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา เป็นได้ทั้งสมถะ เห็นไหม ดูเขากำหนดในขันธ์ ๕ นี่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เขาท่องนะ เขาใช้เป็นคำบริกรรมนะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ บางคนก็ เกสาๆๆ โลมาๆๆๆ เขาท่องอย่างนี้มีนะ เขาบริกรรมอย่างนี้มี มีพระจำนวนมากที่สอนบริกรรมให้กำหนด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่มี แล้วกำหนดผม ขน ฟัน หนัง นี่มันเป็นวิปัสสนาไหม มันก็เป็นสมถะ เพราะมันใช้เป็นคำบริกรรมไง ผมๆๆๆๆ เล็บๆๆๆๆ เพราะกำหนดไป มันก็เหมือนกับกำหนดพุทโธนี่แหละ แต่กำหนดอย่างนั้นเห็นไหม แล้วมันเป็นวิปัสสนาหรือยัง แล้วมันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไหม แต่เขาบอกว่าถ้าทำอย่างนั้นเป็นสติปัฏฐาน ๔

เราถึงบอกว่า คำว่า ที่ว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ อย่างนั้นมันโกหกทั้งหมด โกหกเพราะอะไร โกหกเพราะว่าเรายกตนข่มท่าน คือเรานี่ไปยกกิเลสเราขึ้นมาเอง ยกสถานะพวกเราขึ้นมาว่า พวกเราปฏิบัติถูก คนอื่นปฏิบัติผิด ทั้งๆ ที่คนปฏิบัติเริ่มต้นนะผิดหมดเลยๆ เพียงแต่มันมีครูบาอาจารย์ที่ดี ครูบาอาจารย์ที่ว่าประคองไป ฝึกหัดไปให้เราหัดผิดหัดถูก ผิดถูกเนี่ย คนปฏิบัติ มันจะมีผิดมีถูก ทั้งนั้น

แล้วมีครูบาอาจารย์ประคองไป บอกไป สอนไป ชี้แนะไป ชี้แนะไปผิดก็ไม่เป็นไร ผิดก็แก้ไข ถ้าถูก ถูกเราก็ได้ความสดชื่น ถูกเรามีสติ เรามีปัญญาของเรา เรามีความสดชื่นของเรา เราปฏิบัติถูก ถูกก็หมั่นเอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง เอากิริยาอย่างนั้น เอาความประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วพยายามทำอย่างนั้นได้อีก แล้วมันก็มีผิด มีถูกไป เพราะอะไร เพราะกิเลสมันหยาบ มันละเอียด มันจะหลอกเราตลอดไป

ถ้าสรุปเห็นไหม สรุปสติปัฏฐาน ๔ บอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ผิดหมดเลย เขาก็ เอ้อผิด พอเขามาโต้แย้งว่า ผิดทำไมครูบาอาจารย์สอน ครูบาอาจารย์สอนก็เหมือนมันต้องสอนอย่างนี้แหละ มันต้องสอนขึ้นมาจากความทุกข์เรานี่แหละ สอนขึ้นมาจากความไม่รู้ของเรานี่แหละ เราเกิดมาโดยอวิชชาทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครรู้หรอก ไม่มีใครรู้จริง ศึกษามาขนาดไหน ก็ไม่มีใครรู้จริง ไม่มีหรอก ไม่มีใครรู้เลย แต่ท่องได้ นกแก้วนกขุนทองไง นกแก้วนกขุนทองมันท่องได้ แต่มันทำไม่ได้หรอก นี่พอจะมาทำนี่ ก็เอาสิ่งที่ท่องได้ ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันไม่เป็นไง

เหมือนเราไม่มีเงิน แต่เราเห็นเงินของเขา แล้วจะให้เป็นเงินแบบเขา ไม่ได้หรอก แล้ววิธีหาเงินก็จะไปพิมพ์แบงค์มาเลย มึงพิมพ์แบงค์ปลอมนะมึง แต่ถ้ามึงไปทำงานเห็นไหม เราไปทำงาน ทำธุรกิจ ทำหน้าที่การงานต่างๆ แล้วผลตอบแทนเป็นเงินเห็นไหม เราหาเงิน เราไม่ใช่ไปปั๊มเงินนะมึง เราไปทำงาน เราไปทำงาน เราไปทำงานแล้ว สิ้นเดือนแล้วนี่เขาจ่ายเงินมาให้ เราได้เงินมา ไอ้นี่ไม่ใช่อย่างนั้น มันจะไปปั๊มเอาแบงค์มาเลย การทำงานคือปั๊มแบงค์ ออกมาจากเครื่องเลย สติปัฏฐาน ๔ ไง สติปัฏฐาน ๔ ไง นี่ที่มันผิด ผิดตรงนี้ไง ผิดที่ถ้ามึงปั๊มเงินออกมาก็เงินปลอม

ธรรมะพระพุทธเจ้าก็แบงค์จริงๆ แบงค์จริงๆ แต่การได้แบงค์มานี่ มันต้องมาทำหน้าที่การงานเห็นไหม ที่พระป่าสอน ที่ว่าเพราะพระป่านี่ แล้วทำไมครูบาอาจารย์ท่านสอนสติปัฏฐาน ๔ ก็ให้พิจารณากายอย่างนี้ ดูกายอย่างนี้ ดูกาย ดูจิตอย่างนี้ แล้วท่านบอกจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ คำว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเรานี่อยากได้สติปัฏฐาน ๔ เรากลัวผิด ท่านก็ เออ อย่างนั้นล่ะ เหมือนเด็ก ท่านก็เออ ทำอย่างนี่ไป มันจะได้ความดี พอไปเจอปั๊บ เด็กมันจะรู้เองว่า ดี ไม่ดีเลย

นี่เหมือนกัน จิตถ้าเราปฏิบัติไปนี่ มันจะเข้าไปรู้จริง ถ้าเข้าไปรู้จริง อันนั้นล่ะอันที่รู้จริง อันที่รู้จริงไม่ต้องให้มีใครบอกว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ หรือไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ พระพุทธเจ้าบอกไว้เลย นี่เป็นสันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน รู้ขึ้นมาจำเพาะตน รู้ขึ้นมาเลย พอรู้ขึ้นมาแล้วนี่ ใครบอก ตอนนี้มันยังไม่รู้ ถ้ารู้นะ มันมีสิ่งที่ถูกรู้ กับเรา ไม่รู้หรอก ตอนนี้นะเรามีจิต เรามีความรู้สึกของเรา แล้วเราไปท่องธรรมะพระพุทธเจ้ารู้ไหม มันมีเราไง กับสิ่งที่ถูกรู้ คือตาเห็นภาพ

แต่ถ้าเป็นจริงนะ มันรู้จากข้างในเลย มันรู้จากเราเลย ไม่ใช่ตาเห็นภาพ ถ้าตาเห็นภาพนี่ เห็นไหม จอตามันเห็นภาพ ภาพอยู่ข้างนอก ตามันอยู่กับเรา จิตของเรารู้ธรรมะ แต่ถ้ามันเป็นจริงนะ ตัวจิตมันเป็นธรรม ถ้าจิตเป็นธรรมนี่สติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม จะสรุปสติปัฏฐาน ๔ ไง แล้วบอกว่าครูบาอาจารย์ก็สอนอย่างนี้ หลวงปู่ดูลย์ก็สอนอย่างนี้ ใช่ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนถูก เพราะตอนที่หลวงปู่ดูลย์มีชีวิตอยู่นี่ เราได้ฟังจากครูบาอาจารย์เยอะมาก หลวงปู่ดูลย์ให้ดูจิต พอดูเสร็จแล้ว ก็จะไปรายงานหลวงปู่ดูลย์ว่าเห็นแล้ว หลวงปู่ดูลย์บอกไม่ใช่ ไม่เห็น ไม่เห็น ไม่เห็น คำว่าเห็นของหลวงปู่ดูลย์เพราะอะไร เพราะมันเห็นอาการไง ก็เหมือนจิต ตาเห็นภาพ จิตรับรู้ความคิด พอจิตรับรู้ความคิด จิตรู้สัญญา จิตเห็นความคิด แต่ไม่เห็นจิต พอไม่เห็นจิต มันก็เข้ายังไม่ถึงตัวจิต ถ้าเข้าไม่ไปถึงตัวจิตเห็นไหม มันเข้ายังไม่ถึงตัวจิต มันก็ยังไม่ได้พลิกแพลง

เหมือนกับดับเครื่องนี่ ถ้าเครื่องเรานี่ไม่ได้ดับเครื่อง เราซ่อมเครื่องไม่ได้ เราต้องดับเครื่องก่อน ถ้าดับเครื่องแล้ว เราค่อยเปิดฝาเครื่อง เปิดลูกสูบขึ้นมา แล้วเอามาซ่อมแซม แล้วประกอบเข้าไป รักษาสมบูรณ์เสร็จ แล้วติดเครื่องใหม่ การปฏิบัติของเรานี่ที่จิตยังไม่สงบเข้ามานี่ เหมือนกับเครื่องยนต์ที่มันติดอยู่

เครื่องยนต์ที่ยังติดอยู่นี่ เราจะทำความสะอาดได้เป็นบางที่ใช่ไหม ที่ไม่อันตราย ที่ไม่มีสายพานที่ต่างๆ เราก็ทำความสะอาดเครื่องได้ ถ้าเครื่องติดอยู่ นี่ก็เหมือนกัน ดูไปดูมาก็เหมือนกับ ดูเครื่องนั่น แต่มันดับเครื่องไม่ได้ แต่ถ้าเราจะดับเครื่อง ต้องดับเครื่องเลย ถ้าเราจะเปลี่ยนแหวน เราจะถ่ายน้ำมันเครื่อง เราต้องหยุดเครื่องดับเครื่องให้ได้ ถ้าไม่ดับเครื่องนะ ติดเครื่องอย่างนั้น เครื่องพังหมดเลย

นี่ก็เหมือนกันเวลาหลวงปู่ดูลย์ยังอยู่ มีลูกศิษย์ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังเยอะมาก เวลาปฏิบัติไปจะไปหาหลวงปู่ดูลย์ เห็นจิตแล้วครับ ไม่เห็น ไม่เห็น ไม่เห็น ท่านจะปฏิเสธว่าไม่เห็น ยังไม่รู้จักจิต ถ้ารู้จักจิต จิตมันสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา คนเป็นสอนถูกหมด คนไม่เป็นสอนผิดหมด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะถ้ามันไม่เข้าไปถึงจิต คำว่าจิตของเรานี่ เราพูดบ่อยมากว่า คำว่าจิตของเรานี่ เหมือนเราจดทะเบียนบริษัท หรือเราเปิดบัญชี

ถ้าเราเปิดบัญชีขึ้นมาได้นะ บัญชีเราเปิดแล้วนี่ เราทำธุรกิจเห็นไหม เราจะโอนเงินเข้าเงินออกได้เพราะมีบัญชี ถ้าไม่มีบัญชีนะ เราจะโอนเงินอะไรไม่ได้เลย ถ้าไม่เข้าถึงจิต บัญชีเปิดไม่ได้ ไม่รู้จักจิตเราเปิดบัญชีไม่เป็น พอเปิดบัญชีไม่เป็น เราจะไม่สามารถโอนเงินเข้าไปในระบบได้ จิตก็เหมือนกัน เราเห็นนะ เราไม่มีบัญชีนะ แต่จะอาศัยบัญชีคนอื่น เห็นคนอื่นมีบัญชี แล้วนึกว่าบัญชีคนอื่นเราใช้ได้ไง จะไปขอใช้ของเขา มันยังไม่เห็นตัวเองไง หลวงปู่ดูลย์บอก ไม่เห็น ไม่เห็น

เมื่อวานเขามาพูดอยู่ เขาบอกว่าเอาไปฟังดูแล้ว ฟังว่าสติปัฏฐาน ๔ เออ บอกปฏิเสธว่าผิดหมดเลย แล้วพอไปสติปัฏฐาน ๔ ของพระป่า อ้าวก็บอกว่าถูกอีก เขาก็เลยงง งงว่า หลวงพ่อจะเอาไงนี่ จะเอาอันไหนถูกอันไหนผิด บอกให้แน่ๆ สักอันหนึ่งสิ แล้วเราบอกเขาไปแล้ว แต่ยังไม่ได้อธิบายให้ฟัง เพราะพูดอย่างนี้ปั๊บนี่เดี๋ยวจะลงซีดี แล้วมันจะตามหลังไป แล้วจะเป็นอะไร สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ ของพระป่า แล้วจะสรุปสติปัฏฐาน ๔ คือข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้

ที่ว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าเวลาบรรลุธรรมแล้วนี่ จะสอนใครนี่ พระพุทธเจ้าทอดอาลัยเลย ทอดอาลัยเพราะอะไร เพราะว่าเราพูดอย่างหนึ่งนะ แต่คนฟังเข้าใจแล้ว เข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง เราพูดอย่างนี้ คำพูดเหมือนกันแต่ความเป็นจริงในข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน แล้วไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันธรรมดานะ ถ้าคนที่ปฏิบัติเป็นนี่จะรู้เลยนี่

แม้แต่เห็นไหมโสดาปัตติมรรคก็มี ปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ มีมรรค ๘ เหมือนกัน สทิคาทามรรค ก็ มรรค ๘ เหมือนกัน อนาคามรรค ก็ มรรค ๘ เหมือนกัน อรหัตตมรรคก็ มรรค ๘ เหมือนกัน แต่มันคนละมรรคกัน น้ำหนัก ความรู้ ความลึกตื้นหนาบาง แตกต่างกันมาก

ถ้าคนรู้ขั้นโสดาบันนะจะพูดเรื่องขั้นโสดาบันถูก แต่จะบอกเรื่องสกิทานี่ไม่เป็นไม่รู้พูดไม่ถูกหรอก ถ้าพูดไม่ถูกนะ เขาก็พูดมรรคอีก แต่มรรคนั้นเป็นมรรคของขั้นโสดาบัน ถ้าเป็นโสดาบันนะ แต่ที่เราฟังมา เราฟังส่วนใหญ่แล้ว มันไม่มีโสดาบันเลย ถ้ามีโสดาบันนะ จะไม่พูดอย่างที่เขาพูดกันว่า อันนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ อันนี้ไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ถ้าเราบอกเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันก็เหมือน เหมือนกับเราเอาเช็ค หรือเอาแบงค์ใบหนึ่งมาวางไว้ ต้องเป็นอย่างนี้ทั้งหมดล่ะ แล้วในท้องตลาด มันจะมีเช็คใบเดียว มันจะมีแบงค์ใบเดียวเหรอ เขาจะมีการ์ดรูดก็ได้ เขาเซ็นเช็คก็ได้ เขาโอนเงินก็ได้ เงินนี่เขาผ่านบัญชีกัน เขาทำได้ทั้งนั้นล่ะทั้งนั้น ถ้าคนเป็นนะ คนเป็นจะไม่พูดอย่างนั้นว่าจะเป็นสูตรตายตัว เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้

ถ้าคนเป็นนะ มันมีวิธีการถ้าเป็น ยิ่งถ้าเราเป็นพนักงานด้วยนะ พนักงานแบงค์นี่นะ โอ้โฮ รู้ไส้สนกลในหมดเลย นี่เหมือนกันถ้าเราเป็น ก็เหมือนยิ่งกว่าเป็นพนักงานแบงค์ เป็นเจ้าของแบงค์เลย ถ้าเราเป็นนะ เราเป็นเจ้าของแบงค์เลย เป็นเจ้าของแบงค์นี่ เราจะบริหารอย่างไรก็ได้ นโยบายอย่างไรก็ได้ พอเราเป็นเจ้าของแบงค์ปั๊บ เจ้าของแบงค์บริการใคร แบงค์บริการใคร บริการประชาชนใช่ไหม

ผู้ที่บรรลุธรรม ในหัวใจเป็นธรรมนี่บริการใคร บริการสาธารณะใช่ไหม แล้วจะพูดอยู่อย่างนั้นได้ไหม จะพูดโดยประเด็นใด ประเด็นหนึ่งไม่ได้ สังเกตได้อย่างครูบาอาจารย์เรานี่ ยิ่งหลวงปู่มั่นนี่ หลากหลายมากเลย วิธีการปฏิบัตินี่หลากหลายมากเลย แต่อริยสัจมีอันเดียว แต่หลวงตานี่อะไรก็ได้ หลวงตาพูดบ่อยไปหานี่ จะสอนอย่างไรอะไรก็ได้ ขอให้ปฏิบัติมา ให้จิตมันสงบ แล้วมีพื้นฐานขึ้นมา

เพราะถ้าคำว่าอะไรก็ได้นี่ มันก็ย้อนกลับมา ถ้าเราจะโอนเงินโดยช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แล้วสถานที่นั้น มันไม่มีการบริการประเภทนี้ มันจะทำมาได้ไหม ดูสิสมัยโบราณนี่เขาไม่มีธนาคารนะ อย่างคนจีนโบราณ เขาโอนเงินกันอย่างไร เขาฝากเงินกลับเมืองจีนกันอย่างไร เขาทำได้ทั้งนั้นล่ะ นี่ก็เหมือนกันถ้าคนเป็นนะ มันจะบอกหลักการ พอหลักการนี่ คนที่ปฏิบัตินี่มันหลากหลาย มันจะลงไปหลากหลายตามจริตของเขา

แล้วถ้ามันได้ตามจริตของเขา อันนั้นเป็นประโยชน์มาก ถ้าเป็นมันจะเป็นอย่างนี้ เราบอกถ้าคนเป็นสอน ถูกหมด คนเป็นสอนนะจะสอนให้เราไปถูกทาง ถ้าคนไม่เป็นสอนนะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะข้อมูลของเรา ข้อมูลของคนสอนมันตายตัว มันไม่เป็น มันไม่เป็นก็เหมือนเราถ่ายรูปมา มีรูปอยู่ใบนะ มีภาพอยู่ภาพหนึ่ง ภาพของฉันสวยที่สุดในโลก ใครจะไม่มีภาพไหนสวยเท่าภาพของฉัน

อ้าว มึงจะบ้าเหรอ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะดูภาพ หรือการเข้าประกวดภาพนี่ เขาประกวดในหัวข้ออะไร ในเรื่องอะไร ภาพนั้นมันจะเข้าหลักเกณฑ์ไหม จิตของคนมันเหมือนกันอย่างนั้นนะ เราถึงอธิบายคำว่า ถ้าคนเป็นสอนมันถูกหมด เพราะคำสอนพระพุทธเจ้า มันเป็นหลักอยู่แล้ว แต่เพราะเรานี่ไปยึดหลักของพระพุทธเจ้ามา แล้วเคลมว่าหลักของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะสอนให้มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันผิดตรงนี้ไง

มันผิดตรงนี้เพราะอะไร เห็นไหมเวลาปฏิบัติ ถ้าไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ต้องใช้ปัญญาถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่เขาบอกว่าไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ เราถึงบอกว่าผิดหมด ผิดล้านเปอร์เซ็นต์ ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะเราไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่มีเครดิตอะไรเลย แต่บอกฉันนี่มีสิทธิ โอนเงินเป็นพันๆ ล้าน ฉันสามารถจ่ายเงินได้ ก็คนบ้าไง เพราะอะไร นี่มันธรรมของพระพุทธเจ้า บอกว่าต้องเป็นปัญญาหมด ปัญญาหมด

ที่นี้ถ้าคนเป็นนะ คนที่หาเงินเป็นนะ เรานี่มีเครดิตมหาศาลเลย ไอ้เงินเล็กน้อยนี้เราสั่งจ่ายได้หมดล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันธรรมได้รู้จริง มันไม่เป็น พอไม่เป็นปั๊บ คำว่าผิด มันผิดเพราะต้องเป็นอย่างนั้นเห็นไหม บอกว่าต้องใช้ปัญญาไปเลย ปัญญาจะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่รู้หรอกว่าปัญญานี้ มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่เราใช้คิดตรึกกันอยู่นี้ ปัญญาอย่างนี้ แก้กิเลสไม่ได้ แก้กิเลสไม่ได้เพราะมันเป็นแนวคิด มันเป็นปัญญาของกิเลส

เพราะเรามีความอยาก มีความต้องการ โดยสัญชาตญาณของกิเลส มันเป็นอย่างนั้น พอสัญชาตญาณเป็นอย่างนั้น แล้วมันใช้ปัญญาออกมา มันก็คาดหมายมันรำพึง มันต้องการให้เป็นธรรม ใครบ้างไม่อยากบรรลุธรรม ใครบ้างไม่อยากพ้นจากทุกข์ ทุกคนอยากพ้นจากทุกข์หมดเลย แล้วก็จะคิดตรึกในธรรมพระพุทธเจ้า แต่ผลตอบสนองของมันนะ เวลาเราทุกข์เรายาก เรามีความทุกข์กัน ถ้าเราไปตรึกในธรรม คำว่าไปตรึกในธรรม เหมือนเราทุกข์เรายากนี่ เรากับความทุกข์เป็นอันเดียวกัน ทุกข์มาก อะไรๆนี่ มันทับหัวใจเรามหาศาลเลย

แล้วมีบุคคลคนหนึ่งคอยมาบอกว่า ความทุกข์อันนี้ มันเกิดจากอารมณ์ความยึดมั่นถือมั่น แล้วอารมณ์ความยึดมั่นถือมั่น มันเกิดจากจิตของเรา แล้วจิตของเรานี่มันสร้างอารมณ์ความยึดมั่นถือมั่น ไปยึดมั่นอารมณ์ความทุกข์อันนั้น แล้วมันก็ส่งผลให้กับความทุกข์อันนั้นเห็นไหม มีคนๆ หนึ่งมาบอกเรา พระพุทธเจ้าพูดไว้ในธรรมนะ ว่ามนุษย์เราในโลกนี้ ถือท่อนฟืนคนละท่อน ติดไฟอยู่ แล้วก็บ่นกันว่า ร้อน ร้อน ร้อน บ่นรำพึงกัน บัดนั้นมีบุรุษอยู่คนหนึ่งฉลาดมาก ได้สลัดทิ้งดุ้นฟืนอันนี้ไปแล้ว แล้วก็มาเตือนพวกเราให้ทิ้งดุ้นฟืนกัน ถ้าใครได้ทิ้งดุ้นฟืนนั้น คือไฟที่เราถืออยู่ มันจะทิ้งออกไปจากใจของเรา มันจะหายจากความร้อนเห็นไหม

นี่ไงพอเราไปตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้าไง เราไปตรึกในธรรมของพระพุทธเจ้าบอกว่าทุกข์มาก ทุกข์มาก แล้วธรรมะก็สอนใช่ไหม ทุกข์อะไร ทุกข์เพราะยึด ยึดอะไร ยึดจากอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคิดไปยึดสิ่งต่างๆ เราก็ทุกข์กันไป พอเราศึกษาเราก็ปล่อย มันก็ปล่อยนะ คำว่าพระพุทธเจ้าบอกถือดุ้นฟืนแล้วมันเป็นไฟ แล้วทิ้งไฟไปนั้นล่ะ นั้นมันเป็นการทิ้งโดยบุคคลาธิษฐาน ตามความเป็นจริงว่าท่านทิ้งกิเลส แต่ในการปฏิบัติเรา เราก็บอกว่า เราก็บอกว่าเราทิ้งดุ้นฟืน เราก็ทิ้งความคิด แล้วมันทิ้งจริงหรือเปล่าล่ะ ถ้ามันทิ้งแล้วนะอย่าเผลอนะ เผลอก็คิดอีกล่ะ

ถ้าทิ้งเสร็จปั๊บนะเดี๋ยวคิด ๒ เท่าเลย เมื่อกี้หยุดพักคิดไปชั่วขณะหนึ่ง ต้องคิดให้มากกว่านั้น ทุกข์กลับมาอีก ๒-๓ เท่า นี่ไงก็บอกว่าปัญญาที่คิดอย่างนี้ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เราบอกว่าผิดหมดล่ะ ผิดหมด ผิดหมด แต่พอมันคิดอย่างนั้น มันปล่อยเข้ามาเห็นไหม พอทิ้งดุ้นฟืนแล้วตั้งสติไว้ แล้วพยายามคิดพยายามรักษา ดูไปนะ เดี๋ยวคิดอีกก็รักษาอีก คิดอีกก็รักษาอีก จนจิตมันเป็นอิสรภาพของมัน

เราเป็นบุคคลคนหนึ่งถือดุ้นฟืนไว้ พอเรามาถึงตัวเรานี้ เราคลายดุ้นฟืน มันก็หลุดจากมือไป แล้วเดี๋ยวมันก็มีดุ้นฟืนขึ้นมาอันใหม่อีก เดี๋ยวเราก็คลายอีก เดี๋ยวก็มีดุ้นฟืนอันใหม่อีกเดี๋ยวก็คลายอีก ความคิดมันเกิดจากจิตมันก็เกิดแล้วเกิดเล่า เกิดแล้วเกิดเล่า มันไม่ใช่คลายทิ้งคลายมือแล้ว ดุ้นฟืนมันจะหายไปเลยที่ไหนล่ะ ที่นี้ความคิดแบบนี้ที่ว่า แก้กิเลสไม่ได้ เห็นไหม ดุ้นฟืนที่เราจับอยู่ คลายแล้วคลายเล่า คลายแล้วคลายเล่า พอคลายทีหนึ่งก็นึกว่าเป็นธรรม เป็นธรรม มันไม่เป็นหรอก

นี่ไงที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่าไม่เห็นหรอก ไม่รู้จักจิตหรอก ไม่เห็น ถ้าหลวงปู่ดูลย์ยังมีชีวิตอยู่นะ ใครไปถามหลวงปู่ดูลย์นะ หลวงปู่ดูลย์ไล่กลับให้ไปทำใหม่หมดล่ะ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นไปได้นะ คำว่าเป็นไปได้ อย่างที่ว่านะ ถ้าคนรู้จริงสอนถูกหมด คือคนรู้จริงจะพูดอันเดียวกัน ธรรมะมีอันเดียวไม่มีสองหรอก ถ้าเป็นสองนะ นาย ก กับ นาย ข ต้องผิดคนหนึ่ง ถ้าสองคนนี้รู้ธรรมะมาไม่เหมือนกันนะ มาเถียงกันนะ ต้องมีคนผิดคนหนึ่ง

แต่วิธีการคนเป็นกับคนเป็น วิธีการนะฟังออกหมดล่ะ พอมันคลายดุ้นฟืน คลายดุ้นฟืนบ่อยๆ เห็นไหม พอคลายดุ้นฟืนบ่อยๆ มันมีสติ เมื่อวานเขาก็มาถาม เขาถามปัญหานี้เหมือนกัน เขาบอกว่า ทำไมอภิธรรมนี่ผิดตรงไหน ปัญญาอบรมสมาธิของหลวงพ่อสอนนี่ เหมือนกับหลวงพ่อสอนบอกว่า โยนงานให้ความคิดทำ เราบอกว่า เอ้อ เอ็งพูดอย่างนี้นะถูกมากเลย แล้วการตามนามรูปไป การดูจิตนี่ มันก็เหมือนเราตามรถมันวิ่งไป แล้วเราตามรถคันนั้นไป แล้วรถนั้นจอดมันก็หยุดเหมือนกัน

นี่เขาถามเองนะ เราบอกคำถามอันนี่นะ แหม มันถูกเข้าหัวใจกูเลย ถ้าเราโยนงานให้ความคิดทำ ปัญญาอบรมสมาธิไง เวลาความคิดมันเกิดเห็นไหม เราใช้สติตามความคิดเรา โยนงานให้ความคิดทำ โยนงานให้จิตทำงานคือให้คิด ให้จิตคิดแล้วดูแลจิตไป พอเราคิดเราโยนงานให้จิตทำ คำว่าโยนงานมันคือสตินะ เราโยนงาน โยนความคิดนี่ให้จิตทำ พอจิตมันทันความคิด พอจิตมันทำงานใช่ไหม พอมันทำงานมันก็เห็นถูกเห็นผิดใช่ไหม พอเห็นถูกเห็นผิดนี่ มันปล่อยวางใช่ไหม มันหยุด พอมันหยุดนี่มันเห็นจิตไง

กับเวลาเกิดนามรูป เกิดความคิด เหมือนรถวิ่งออกไป แล้วเราก็ตามทันรถนั้น รถนั้นก็จอด รถนั้นจอดอยู่ที่ไหน จอดอยู่บนถนน จอดอยู่ที่เป้าหมายของเขา รถนั้นมันไม่กลับอู่ รถนี่มาจากไหน รถนี่ออกไปจากไหน มันไม่มีที่ออกรถไง คือมันไม่มีจิตไง มันไม่เห็นจิตไง เพราะรถมันวิ่งออกไปใช่ไหม รถมันวิ่งออกไปแล้ว ความคิดมันพุ่งออกไป แล้วเราก็ตามความคิดไป แล้วความคิดดับแล้วเราไปไหน

แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เราโยนความคิดโยนงานให้จิตทำ โยนให้จิตทำก็เหมือนคนทำงาน พอมันทำงานๆ มันจบ งานมันจบ ใครเป็นคนทำงานจบ นี่ตัวจิต ตัวจิต ถ้าตัวจิตมันจะกลับไปที่ตัวจิต โยนงานให้จิตทำ คือเราเอาความคิดเข้าไปสู่ฐานความรู้สึกของเรา แล้วพอมันคิดจบ ใครเป็นคนคิด มันเห็นจิตจริงๆนะ มันจะเห็นจิต เห็นจิต เพราะคำว่าเห็นจิตนะ แล้วเรากำหนดพุทโธๆ เรากำหนด พุทโธๆๆๆๆ

พุทโธนี้ ใครเป็นคนกำหนด เราเป็นคนกำหนดพุทโธใช่ไหม พอพุทโธๆๆ บางทีจิตมันลงเห็นไหม จิตมันลง ขณะพุทโธๆๆ จิตมันลง จิตมันลง หมายถึงว่ามันวูบลงเลย เรารู้สึกตัวเลย เรากำหนดลมหายใน กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เวลาจิตมันละเอียดเข้าไป เราจะบอกว่าคนที่ทำสมาธิเป็นนะ จะรู้เรื่องนี้ คนถ้าไม่เคยทำสมาธิเป็นนะ จะพูดตรงนี้ไม่ถูก

หลวงตาบอกเลยนะ บอกว่าใครทำความสงบได้นะ ใครทำสมาธิได้ก็พออยู่พอกิน คือจิตเขามีหลักมีสมาธิ มีความสงบของใจ มีที่อยู่อาศัย แต่ถ้าคนทำสมาธิไม่เป็น ไอ้พูดอย่างนี้ ยังพูดผิดพูดถูก เราถึงว่าสติปัฏฐาน ๔ ที่ผิดๆ ตรงนี้ ผิดที่ไม่มีเจ้าของบัญชี ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีใครเป็นเจ้าของเงิน ที่จะโอนไปโอนมาไง นี่เงินของใครกองอยู่นี่ ๑๐๐ ล้าน หาเจ้าของไม่เจอ ต้องสืบหาเจ้าของ เงินนี้ของใคร ความสงบของใครไม่มีเจ้าของ แต่ถ้าเป็นเงินของเรานะ โอนบัญชีอยู่ที่เรา ตัวเลขอยู่ที่นี่ อยู่ที่ลายเซ็นนี่ ลายเซ็นนี่ จะโอนไปไหน

จิตเป็นสมาธิ จิตออกคิด จิตออกรู้ จิตออกรู้กาย จิตออกรู้เวทนา จิตออกรู้จิต จิตออกรู้ธรรม สติปัฏฐาน ๔ เกิดตรงนี้ นี่สติปัฏฐาน ๔ แต่ที่พระป่าสอนว่าที่ทำอย่างนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นสติปัฏฐาน ๔ เพราะเราอยากเป็น ชื่อของมัน แล้วเอ็งปฏิบัติไป เดี๋ยวเอ็งจะได้ทั้งตัวมันด้วย ได้ชื่อมันด้วย ที่เขาบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เขาพูดแต่ชื่อของมัน แต่ตัวของมันจะเป็นตะกวด จะเป็น.... เป็นอะไรไม่รู้ ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรนะ แต่บอกสติปัฏฐาน ๔ มันจะเป็นอะไรยังไม่รู้ เป็นสติปัฏฐาน ๔ ยังไม่ได้ตัวของมัน ผิดๆ ตรงนี้ไง

แต่ถ้าเราปฏิบัติพุทโธๆๆ ไป นี่ล่ะตัวของมัน จะเป็นตะกวด จะเป็นอะไร ก็แล้วแต่ นี่ตัวของมัน แต่ถ้ามันประพฤติปฏิบัติไป สัตว์อะไรก็แล้วแต่ ถ้ามันเป็นสัตว์ที่ดี นิสัยที่ดี สัตว์นะการเกิดของสัตว์ การเกิดของเวรของกรรม เราอย่าดูถูกกันโดยชาติการเกิด พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกเลยว่าคนดีเพราะการเกิด คนเกิดมาแล้วดีเพราะการกระทำ ดีเพราะการประพฤติปฏิบัติ ดีเพราะการดัดแปลงตน ดีเพราะการแก้ไข คนดีดีที่พฤติกรรมของเรา ดีที่การกระทำของเรา ไม่ใช่ดีที่ชื่อ ไม่ใช่ดีที่ชาติตระกูล ไม่ใช่ดีที่การเกิด ไม่ใช่ดีใดๆ ทั้งสิ้น นี้คนเกิด เกิดมาโดยกรรม

นี่เราจะบอกเกิดในธรรม ถ้าเกิดในธรรมแล้วจิตมันสงบขึ้นมาแล้ว มันมีปฏิสนธิจิต มันมีสมาธิ มันมีฐานของมัน มันมีที่ตั้งของมัน มันมีการกระทำของมัน ถ้าทำของมันขึ้นไป มันทำถูกมันก็จะดีของมัน จะถูกต้องของมันจะเป็นไปตามความเป็นจริงของมัน ถ้าทำจริงเห็นไหม ใช่ พระป่าสอนอย่างนี้ไหม เพราะเราได้ยินมาเยอะ ก็สอนอย่างนี้แหละ แต่สอนอย่างนี้แหละ

เหมือนกับหมอนี่ หมอจะรักษาคนไข้ เวลาคนไข้เป็นไข้มานี่ มาหาหมอ หมอไม่ตื่นเต้นตกใจเลยนะ หมอรักษาตามอาการ รักษาตามหน้าที่เลย ไม่สนใจเลย รักษาตามวิชาชีพของเราเลย คนไข้นั้นหายไปตามธรรมชาติของมัน ถ้ามันไม่หายสุดวิสัยก็เป็นเรื่องของกรรม กรรมของสัตว์ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่เป็นท่านสอน ท่านก็สอนตามข้อเท็จจริง แต่คนไข้คนนั้นจะทำตามอย่างนั้นไหม คนไข้คนนั้นจะดูแลตัวเองอย่างนั้นไหม ถ้าคนไข้คนนั้นหมอให้ทำอย่างหนึ่ง กลับทำไปอีกอย่างหนึ่งเห็นไหม มันกรรมของสัตว์นะ ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเราธุดงค์ไปพักวัดไหนเห็นไหม จะไปพักกับครูบาอาจารย์องค์ไหน ท่านให้ดูกัน ๗ วันนะ ถ้า ๗ วันนี้นิสัยเราเข้ากันไม่ได้ ให้พระองค์นั้นเก็บบริขารแล้วออกจากวัดนั้นไป

เพราะถ้าล่วงวันที่ ๗ ไม่ขอนิสสัย แล้วไม่ได้ขอนิสสัยแล้วอยู่ด้วยกัน ถ้าอายุพรรษายังไม่ถึง ๕ จะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ตรงที่แบบว่า อย่างเรานี่ๆ มีจริตนิสัยเป็นอย่างนี้ แล้วมีคนๆ หนึ่งหรือผู้ปฏิบัตินี่ โอ๋ นิ่มนวลมาก ต้องการความนุ่มนวลมาก พอมาเจอเรานี่รับไม่ไหว เขาก็ต้องเก็บของออกไป มันเรื่องธรรมดา เพราะเก็บของออกไปแล้วนี่ จริตนิสัยไม่ตรงกัน ถ้าจริตนิสัยตรงกันนะ คำว่าจริตนิสัยอันหนึ่ง

แล้วถ้าพูดถึง ถ้าเรามีวาสนานะ คำว่ามีวาสนานะ เราพูดตรงนี้บ่อยหลวงตาหรือครูบาอาจารย์ท่านจะพูดมาก ถ้าครูบาอาจารย์เทศนาว่าการมา แล้วเราฟังแล้วนะ มันทิ่มกลางหัวใจ ขนพองสยองเกล้า ขนลุกเลยนี่ นั่นคนนั้นมีวาสนา นั่นตรงจริต เพราะธรรมะนี่มันทิ่มเข้าไปที่ใจดำ เพราะกิเลสมันอยู่ที่หัวใจ กิเลสมันอยู่ในหัวใจดำของเรา ถ้ามันอยู่ใจดำนะ ทิ่มเข้าไปนะ ทิ่มถึงหัวใจของเรา มันจะขนพองขนลุกเลย นั่นล่ะมันสะเทือนกิเลส

แต่ถ้าเป็นพวกเรานี่ไม่ได้นะ โอ๋ พูดแทงใจดำเลย มันทำได้ยังไง แต่ถ้าเป็นที่ ผู้ปฏิบัติกันนะ เขาหาตรงนี้กันนะ เขาหาคนที่พูดให้กิเลสเรารู้สึกตัว ถ้ากิเลสมันรู้สึกตัว กิเลสมันสะเทือนใจนะ การกระทำของเรามันจะเกิดความจริงจัง นี่มันทำไม่จริงจัง เวลาปฏิบัตินะ ปฏิบัติสักแต่ว่า เดินจงกรมก็สักแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่าเห็นไหม สักแต่ว่านี่ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติ ท่านบอกไม่ได้ เราต้องจริงจัง ความเพียรชอบ ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เป็นมรรค ๘ มรรคไง งานชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ปัญญาชอบ ทุกอย่างชอบธรรมหมดเลย แต่เรานะเอาปัญญาชอบ แต่ขี้เกียจปฏิบัติ เอาปัญญาชอบนะ แต่จะนอนให้มันเกิดเองไง จะเหมือนปลูกต้นไม้ให้มันงอกขึ้นมาเอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก มรรคไม่สมดุล

ถ้ามันเป็นความจริง มันต้องเพียรชอบ งานชอบ ระลึกรู้ชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ สมาธิชอบ ความชอบธรรมหมดเลย แล้วมันตรัสรู้ ก็ตรัสรู้บรรลุธรรม ด้วยความชอบธรรม ไอ้นี่มันไม่ชอบธรรม ธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วก็พยายามโหลดเลย โหลดให้เข้าหัวกูให้ได้เลย จะโหลดนิพพานมาเข้าหัวใจเราไง ไม่มีทางนะ ไม่มีทาง ถ้าทำได้นะพระพุทธเจ้าทำหมดแล้ว มันจะต้องเกิดจากความจริงของเรานะ เวลาทุกข์ ทุกคนเราทุกข์นะ เวลาทำนี่

เราจะสรุปสติปัฏฐาน ๔ เราพูดเองว่า ถ้าเขาบอกอันนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ อันนั้นมันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ มันผิดทั้งอันนั้นและไม่ว่าอันไหน ผิดหมดเพราะไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ สักอันหนึ่ง แล้วถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ แล้วสอนทำไม ก็สอนให้ทำให้เป็น สติปัฏฐาน ๔ ไง สอนคนที่ยังทำไม่เป็นนี่ ยังทำไม่ได้นี่ ให้ทำพื้นฐาน ให้สร้างพื้นฐานให้ขึ้นมาเป็นสติปัฏฐาน ๔

ขณะที่ทำอยู่นี้มันยังไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ก็ต้องฝึกหัดดัดแปลง สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นไป ให้มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ แต่พอปฏิบัติแล้ว บอกว่ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ อยู่แล้ว สติปัฏฐาน ๔ ไอ้นู้นไม่เป็น ไอ้นี่ไม่เป็น ไม่มีอะไรเป็นเลย ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริง อย่างครูบาอาจารย์นี่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ คือจิต เห็นไหมจิตที่มันวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยความสมดุล ด้วยปัญญา ด้วยมรรคญาณ ด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยทางสายกลาง ด้วยความสมดุลของมัน มันจะรวมตัว คำในการปฏิบัติเขาเรียกว่า มรรคสามัคคี

แล้วพอมรรคสามัคคี ผลมันจะเกิดต่อเนื่องนะ นี่สติระลึกขึ้นมา ปัญญาก็คิดขึ้นมา สติก็ตั้งขึ้นมา งานในการทำสมถะก็นึกขึ้นมา งานในการวิปัสสนา งานชอบ เพียรชอบ แล้วมันฝึกฝน จนมันสมดุลรวมตัว มรรคสามัคคี มรรคสามัคคี เกิดการสมุจเฉทปหาน การสมุจเฉทปหาน เกิดขณะจิต ขณะจิตเกิดญาณทัสสนะเกิด โอ๊ว นี่มันจะหมุนไป นี่ไง สติปัฏฐาน ๔ ไง จากที่ว่ามันไม่เป็น ทำไป พิจารณาไป ฝึกไป มันจะเกิด เหมือนฟ้าผ่า ฟ้าผ่าลงไป ฟ้าผ่าเกิดจากอะไร เกิดจากพลังงาน ที่มันสันดาปกัน เกิดฟ้าผ่าลงไป พอผ่าลงไป ลงบนอะไร ไปโดนต้นไป โดนดิน ไปโดนคน ใครตายใครอยู่

นี่เหมือนกันจิตมันรวมตัวแล้ว มันมรรคสามัคคีไป มันสมุจเฉทไป เกิดอะไร เกิดความรู้อะไร นี่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันจะเข้ามาตรงนี้ไง ฉะนั้นมันไม่เข้ามาถึงตรงนี้ เราถึงบอกว่าสติปัฏฐาน ๔ ที่พูดกันน่ะ ขี้โม้ ขี้โม้ สติปัฏฐาน ๔ มีแต่ชื่อ แต่พวกเรากรรมฐานนี่ ไม่มีใครมีสติปัฏฐาน ๔ เลย ไม่มีใครมีคุณธรรมเลย แต่ทุกคนมีศรัทธา ทุกคนมีความเชื่อ ทุกคนมีความวิริยะ มีความอุตสาหะ

มีความเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเคารพในคุณธรรมของครูบาอาจารย์ของเรา แล้วครูบาอาจารย์ของเรานี่ ท่านพยายามดึงเรา ชักนำเรา ดึงเราให้เราเข้าสู่ธรรม เราก็พยายามประพฤติปฏิบัติกันเห็นไหม เก็บหอมรอมริบไง ทุกอย่างที่ควรทำไม่ควรทำ เราก็พยายามดัดแปลงใจของเรา สิ่งใดที่มันอยากกิน อยากอยู่ อยากให้เป็น ใจของเราๆ ก็ไม่เอา ดัดแปลงทนมัน ต่อสู้กับมัน ต่อสู้เพื่อให้จิต ให้มันมีกำลังของมันขึ้นมาตามที่ครูบาอาจารย์เรา ท่านได้ชักนำขึ้นมา

ฉะนั้นเราดัดแปลงตนเรา ทำตนของเราขึ้นไป ให้มันมีพื้นฐานขึ้นไป พอจิตมันมีพื้นฐานขึ้นมามันออกรู้ไง ความออกรู้ของเด็ก ความออกรู้ของผู้ใหญ่ ความรู้ออกของเด็กเห็นไหม เด็กมันก็เล่นประสาเด็ก เด็กเล่นกันนะ ถ้าเด็กไม่เล่นกัน มันมากวนพ่อกวนแม่ไม่ได้ทำงาน แม่ก็เบื่ออีก ไล่ให้เด็กไปเล่นกันเห็นไหม ความสมดุลของเด็ก ความสมดุลของที่มันยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันก็เป็นอย่างนั้น

ความสมดุลของผู้ใหญ่เห็นไหม มรรคก็มารวมตัวเข้ามา พอรวมตัวเข้ามา รวมตัวเข้ามาแล้ว เหมือนเงิน ได้เงินมาแล้วใช้จ่ายไม่เป็น ใช้สุรุ่ยสุร่ายก็หมดไป เงินได้มาใช้จ่ายเป็นไป ไปทำธุรกิจขึ้นมา มันก็ได้เงินต่อเงิน มันก็ได้เงินทองขึ้นมา เก็บเงินขึ้นมา ได้เงินก็ไปลงทุนต่อไป เงินก็งอกงามขึ้นมา

จิตมันพัฒนาไปเห็นไหม ดูสิพอมันเป็นสมาธิขึ้นมา ออกไปวิปัสสนาไหม ออกไปวิปัสสนา มันก็ทำงานของมันเห็นไหม ผลเกิดขึ้นมาจิตมันก็ปล่อยวาง จิตมันก็มีความสมดุลของมัน มันก็เป็นตทังคปหาน มันก็ปล่อยวางชั่วคราว ทำซ้ำทำซาก มันหมุนไปขึ้นมา นี่ไง ขบวนการของมันมีทั้งนั้นล่ะ จิตน่ะ

การปฏิบัติมันต้องมีเหตุมีผล ขบวนการของมันมาอย่างนี้ มันถึงเป็นความจริงขึ้นมา แล้วจริงๆๆ ไม่ต้องมีใครยืนยัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาก็เป็นธรรมพระพุทธเจ้า ธรรมของแต่ละบุคคล มันก็เป็นธรรมของคนนั้น แต่เวลาพูดแล้ว ดูสิ อาชีพของพวกเรานี้หลากหลายมากเลย ควักตังค์ออกมาสิ เอาแบงค์มาวางกองกันสิ เหมือนกันเลยนะ แบงค์ ๑๐๐๐ ก็เหมือนแบงค์ ๑๐๐๐ นะ แบงค์ ๑๐๐ ก็เหมือนแบงค์ ๑๐๐ แบงค์ ๕๐๐ ก็เหมือนนะ

อาชีพเราหลากหลายมาหมดเลย เอาตังค์มาสิ อ้าว ถ้าตังค์เราไม่มีในหลวงตังค์ปลอมนะ ควักแบงค์ออกมาสิ ควักแบงค์ออกมานะ ถ้าแบงค์ ๑๐๐๐ ก็แบงค์ ๑๐๐๐ เหมือนกันเลย ถ้าแบงค์ ๑๐๐ ก็แบงค์ ๑๐๐ เหมือนกันหมดเลย อ้าวก็ทำงานมาหลากหลายมาไง ถ้ามันเป็นขบวนการที่ถูกต้องแล้ว ธรรมมีอันเดียว สัจธรรมมีอันเดียวไม่มีสองหรอก ไม่มีสัจธรรมของครูบาอาจารย์ สัจธรรมนี้ของพระพุทธเจ้า สัจธรรมนี้ของเราเป็นของเรา ก็มึงแบงค์ปลอม

นี่สรุปสติปัฏฐาน ๔ ที่พูดนะมันกระแสสังคม มันก็ชักนำกันไปใช่ไหม เราพูดนี่ ส่วนใหญ่ที่เราพูดนี่ มันอยู่ที่ประเด็น ที่คำถาม ถามเรื่องอะไร ถามประเด็นไหนเราก็ตอบประเด็นนั้น เวลาคำถามแรกก็บอกเขาจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไหม เขากังวลว่าจะไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่เราพูดเรื่องสติปัฏฐาน ๔ เพราะความกังวลของโยม เราเลยบอกว่า ที่เขาบอกว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ นะ โกหกหมดล่ะ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ หรือทำแล้วได้ผลจริง ต้องแบบครูบาอาจารย์ของเรา คือสิ้นกิเลสไป

แล้วนี่พอคนเขาฟังไปแล้ว อย่างนั้นเขาก็ไม่มีโอกาสเลยสิ เวลาครูบาอาจารย์เขาสอนเขาอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ของพระป่า เขาก็เลยงงเลยนะ แล้วสติปัฏฐาน ๔ ของใครจริงวะ วันนี้ก็ต้องมาสรุปอีกทีหนึ่งเห็นไหมว่า สติปัฏฐาน ๔ ของพระป่านี่ มันก็แบบมาจากพื้นฐานที่พวกเรายังมีอวิชชาอยู่ พวกเรายังไม่มีความจริงในหัวใจกันนี่แหละ แต่พวกเรา มันเชื่อครูเชื่ออาจารย์ คือมีคนชักมีคนนำ มีคนพาเข้าไปสู่ทางที่ถูก

แล้วพอมันถูกขึ้นมาเห็นไหม สรุปสติปัฏฐาน ๔ ผลของมันก็ต้องเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา งั้นที่ว่าของใครผิดใครถูกล่ะ ถูกผิดนี่ ส่วนใหญ่แล้ว เราจะไม่บอกว่าใครถูกใครผิด โดยหลักโดยทั้งหมด แต่เราจะบอกเฉพาะคนสอนนั้น อย่างเช่นว่าพุทธพจน์ พุทธพจน์นี่ เอาพระไตรปิฎก เมื่อวานมีมา เอาพระไตรปิฎก ธรรมะจากพระโอษฐ์ ของเขาของ......... เอามาให้เต็มเลย เราบอกว่าโยมพระไตรปิฎก ดูสิ วัดเรามีตั้งกี่ตู้ เราเคารพนะ ธรรมพระพุทธเจ้านี่เราเคารพมากเลย แต่เราขอดูพระไตรปิฎกจากพระไตรปิฎก เราไม่ต้องการดูพระไตรปิฎกจากใคร เพราะพระไตรปิฎกที่คัดลอกออกมา ก็คือเขาเอาความเห็นเขาใส่ทุกคน เขาจะเอาความเห็นของทุกๆ คนใส่เข้าไปด้วย ฉะนั้นจะว่าใครถูกใครผิดนี่ มันก็เป็นมุมมองของคนนั้นทั้งนั้นล่ะ

เราบอกว่าให้เอาไปวัดที่เขาเชื่อถือศรัทธา เอาไว้ที่เราไม่มีประโยชน์ไง เขาเห็นด้วยเพราะที่เขาเอามาถวายวัดนี่ เขาก็ต้องการอยากให้ใช้ประโยชน์ เขาเลยเอาไปวัดที่ใช้ประโยชน์ดีกว่า เพราะเอามาถวายที่เราเยอะมาก เราจะส่งไปที่วัดที่เขาเชื่อถือศรัทธากัน แต่สำหรับเรา เราเชื่อถือพระไตรปิฎกเห็นไหม เราจะบอกว่าพุทธพจน์ พุทธพจน์นี่หรือพระไตรปิฎกนี่ไม่เคยค้าน แต่ค้านคนพูด ค้านคนที่เอาพุทธพจน์มาอ้างอิง ค้าน ค้านตรงนี้ แต่ไม่เคยค้านพระพุทธเจ้า แต่ค้านคนที่เอาพระพุทธเจ้ามาขายกิน เอาพระพุทธเจ้ามาอ้างว่า กูนี่พูดพุทธพจน์ พวกมึงต้องฟังกู แล้วมึงพูดจริงหรือเปล่า เพราะพุทธพจน์ พระไตรปิฎก มันก็เป็นสาธารณะ มีอยู่ทั่วไป ใครก็เปิดได้ ใครก็รู้ได้ มันไม่เป็นของลึกลับ ปิดลับกับใครเลย ทำไมจะต้องให้ใครมาตีความ ให้เชื่อตามเขา ฉะนั้นถึงบอกว่าพุทธพจน์ ไม่เคยลบหลู่พุทธพจน์

อย่างที่หลวงปู่มั่นพูดนะ เราเห็นด้วย ธรรมะพระพุทธเจ้านี่เชิดชูไว้บนศีรษะ ธรรมของพระพุทธเจ้านี่ เรากราบไหว้กันเลยนะ แต่ขณะที่เราไปศึกษามา กิเลสของเรายังมีอยู่ ถ้าประพฤติปฏิบัติตามนี้มันจะเตะ มันจะถีบกัน ความเห็นของเรากับความจริง มันจะขัดแย้งกัน ฉะนั้นต้องวางสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วปฏิบัติตามความเป็นจริง แล้วเราจะรู้จริงตามนั้นเห็นไหม เราถึงบอกว่าเราไม่ได้ค้านพุทธพจน์ แต่ค้านคนพูดพุทธพจน์ นี่วันนี้สรุปสติปัฏฐาน ๔ จบแล้ว เอวัง