เทศน์เช้า วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันถึงว่าเกิดมามันยุ่งตลอด ความยุ่งของใจ ใจมันยุ่งเหยิงมาก แล้วเราเห็นสภาวะของใจ เวลาเราคิดถึงว่าจิตสุดท้าย ห่วงมากห่วงจิตสุดท้าย เวลาเราเป็นเด็ก เด็กเล็ก เด็กอะไร เขากลัวเรื่องชีวิต แต่เวลาเราโตขึ้นมานี่เราห่วงอะไร? เราห่วงความแก่ ความเจ็บ ความตาย เห็นไหม เราห่วงและเป็นกังวลอย่างนั้น
แต่เวลาตายขึ้นมา จิตสุดท้ายอยู่ที่ไหน ห่วงว่าจิตสุดท้ายไง นี่เป็นอภิธรรม เห็นไหม จิตกี่ดวงๆ มันเร็วกว่านั้น จิตกี่ดวงๆ เราจะสร้างอย่างไร จิตสุดท้าย เวลาจิต หลวงตาพูดว่าเหมือนกับวัวอยู่ปากคอก ถ้าวัวอยู่ปากคอก วัวตัวไหนมันจะอ่อนแอก็แล้วแต่ มันจะแข็งแรงก็แล้วแต่ ถ้ามันอยู่ปากคอก ประตูเปิด วัวตัวนั้นออกก่อน นี้ก็เหมือนกัน ความคิดของจิต ความคิดของอารมณ์ของเรามันเกาะอยู่ที่ใจไง
เวลาเราบอกประจำ เราออกจากบ้าน เราแต่งชุดอะไรออกไปจากบ้าน ถ้าเราแต่งชุดข้าราชการ เราก็เป็นข้าราชการ แต่งชุดที่เราจะไปลำลองมันก็เป็นลำลอง จิตมันไม่ใช่ขันธ์ เวลามันคิดขึ้นมา ความคิดที่มันควบคุม มันเหมือนกับชุดที่สวมลงไปในจิตไง จิตคิดอย่างไร คิดดีไปดี คิดชั่วไปชั่ว แต่ถ้าเราวิปัสสนาเข้ามา เราจะควบคุมสิ่งนี้ว่า จิตกี่ดวง ดวงอย่างนี้มันดวงที่เท่าไร แล้วเราจะรักษาจิตอยู่ นี่เขาเป็นความคิด บอกว่าพระไตรปิฎกบังธรรม บังธรรมอย่างนี้ไง นี่อภิธรรม เราเรียนตามอภิธรรมไง ว่าอย่างนี้ ควบคุมจิตอย่างนี้
มันจะควบคุมได้อย่างไร ในเมื่อพลังงาน เหมือนกับเราจุดไฟ เราจะควบคุมไฟ ไฟนี้มันเผาผลาญตัวมันเอง มันเกิดดับๆ กี่หนในไฟนั้น สิ่งนี้มันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะควบคุมอย่างไร เหมือนหลวงตาว่านะ จิตของเราเหมือนกับลิง เวลามันโดดไปเกาะตามกิ่งไม้ เกาะกิ่งนั้นโหนเล่นไปสนุกของมัน ถ้าเกาะกิ่งที่มันแห้ง มันก็ร่วงตก ลิงตัวนั้นก็ตกกระแทกพื้น เจ็บ จิตก็เหมือนกัน ในเมื่ออารมณ์สิ่งที่ว่าเกิดขึ้น นี่มันออกเกาะแล้ว เกาะสิ่งนั้นไง
แล้วว่าจิตกี่ดวงๆ สิ่งที่เป็นดวงนี่มันเสวยอารมณ์แล้ว แล้วถ้าจิตมันปล่อยวางหมด มันเป็นสภาวะแบบใด ทำไมมันไม่มีสติควบคุมล่ะ ถ้ามันมีสติควบคุม มันถึงว่าพระไตรปิฎกย้อนกลับมาดูจิตไง พระไตรปิฎก เห็นไหม สมาธิธรรม สมาธิ แต่จิตเป็นสมาธิเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เวลามันปล่อยวาง ติดสมาธิ
ทุกคนเข้าใจแล้วก็คาดหมายว่า เวลากำหนดพุทโธๆๆ สติมันจะควบคุมไปแล้วมันจะอ่อนลงจนสมาธิจนคำว่าพุทโธจะหายไป แล้วก็เงียบหายไป
ความจริงนะ กำหนดพุทโธๆๆ ตลอดไป จิตมันจะตื่นตลอดเวลา พุทโธๆ เราพยายามพุทโธไว้ขนาดไหน แล้วมันสงบขึ้นมา มันมีสติ มันรู้อยู่ตลอดเวลา ทุกอณูการเคลื่อนไหวไปของจิต สติจะพร้อมไปตลอดเลย มันจะว่างขนาดไหนมันก็ว่าง ว่างด้วยความรื่นเริงอาจหาญ ว่างด้วยความรู้ตลอดไป มันจะรู้ รู้เข้าไปนะ มีความสุขมาก จนถึงที่สุด อัปปนาสมาธินะ จิตมันตัดความรู้สึกทั้งหมด ลมหายใจนี้ขาดออกไป รูป รส กลิ่น เสียง เสียงที่กระทบหูก็ไม่ได้ยิน ไม่ได้ยินอะไรเลย ไม่รับรู้สิ่งใดเลย แต่สติพร้อมอยู่นะ สักแต่ว่ารู้ เห็นไหม จิตนี้ดวงอะไร ที่ว่าจิตดวงสุดท้ายนี้ดวงอะไร มันควบคุมได้ขนาดนี้เป็นสมาธินะ แต่สมาธิมันก็เป็นอนิจจัง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันต้องเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา
ถ้าเราไม่ใช้วิปัสสนาเข้ามาใคร่ครวญสิ่งนี้ ทำลายสิ่งนี้ก่อน มันจะกี่ดวงสุดท้ายก็แล้วแต่ เวลามันใกล้จะตายขึ้นมา กิเลสมันเข้าไปผูกมัดใจ ใจมันจะเร่าร้อนมาก ใจมันจะห่วงอาลัยอาวรณ์นั้นมาก มันจะดิ้นรน ดิ้นรนไปมาก แล้วจะควบคุมใจดวงนั้นอย่างไรถ้าเราไม่ได้วิปัสสนามันก่อน ถ้าเราจะวิปัสสนา เราวิปัสสนาอย่างไร
วิปัสสนา มันก็ต้องมีผู้ที่วิปัสสนา มีจิตตัวนี้ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาทำลายตัวมันเอง ทำลายตัวมันเองนะ สิ่งที่ทำลายตัวมันเองแล้วมันหลุดรอดออกมาไง จิตนี้ถึงกลั่นออกมาจากอริยสัจไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันเป็นอริยสัจ แต่จิตที่เข้าไปรอบรู้มันเหมือนกับมันกลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้พ้นออกมาจากอริยสัจ รู้อริยสัจวงรอบหนึ่ง
เวลาเกิด เห็นไหม ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม นี่ต้องพิจารณากายก่อน แล้วก็ไปรู้เวทนา แล้วก็ไปรู้จิต แล้วก็ไปรู้ธรรม...ไม่ใช่ กายก็พิจารณากายไป เวลารู้พร้อมจากอริยสัจ ๔ รู้พร้อมจากอริยสัจทางนี้ เวลาพิจารณาเวทนาก็เหมือนกัน มันจะรู้พร้อม เพราะอะไร เพราะในกายมันก็มีเวทนา เพราะจิตไปวิปัสสนา ในกายนั้นเป็นธรรมส่วนนั้น พิจารณาธรรมก็เหมือนกัน เพราะธรรมนี้เกิดที่ไหน? ธรรมนี้อยู่บนกายของเรานี้ อยู่บนจิตของเรานี้ อันเดียว อันใดอันหนึ่ง มันจะรู้พร้อมไปหมด แล้วมันจะกลั่นออกมาจากตรงนั้น ถ้าจิตอย่างนี้มันกลั่นออกมาเป็นอกุปปะ เห็นไหม
สิ่งที่เป็นอกุปปะ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เห็นไหม สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นโดยธรรมดา อาการที่มันสวมมาที่ว่าเราออกจากบ้านแล้วสวมชุดอะไร นี่สวมออกมา สิ่งนี้มันเกิดดับ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติของมัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพไปเป็นตามธรรมดา จิตดวงนี้มันก็ไม่สนใจกับอาภรณ์ดวงที่ว่ามันครอบคลุมใจดวงนั้น สิ่งที่ว่าอาภรณ์ครอบคลุม เราแต่งชุดข้าราชการออกมา ถ้าเราออกไปทำราชการ ถ้าเราบกพร่องต่อหน้าที่ เขาฟ้องเราได้ว่าเราบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะเราเป็นข้าราชการ เราไม่ทำตามราชการ
จิตก็เหมือนกัน มันเสวยอารมณ์สิ่งใด มันก็เสวยสถานะนั้น ถ้ามันเสวยอารมณ์ที่ดี เสวยบุญกุศล มันก็เกิดบุญกุศล แต่สิ่งนี้มันก็เปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้มันถึงไม่เป็นอกุปปะ มันถึงเป็นอามิสไง สิ่งที่เป็นอามิสทำให้จิตนี้วนไป แต่ถ้าวิปัสสนาสิ่งนี้ออกมา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา สิ่งที่ดับไปคืออาการของมัน แต่ตัวที่ว่ามันมาครอบคลุมจิตตัวนี้ จิตตัวนี้เห็นอาการที่เกิดดับอันนั้น มันถึงไม่เกาะเกี่ยวกับอาภรณ์นั้นไง ชุดราชการก็ไม่เกี่ยว ชุดลำลองต่างๆ ก็ไม่เกี่ยว สิ่งนี้มันเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง สภาวธรรมอย่างนี้ จิตว่าดวงสุดท้ายๆ...ดวงสุดท้ายมันอยู่ตรงไหน อะไรมันเป็นดวงสุดท้าย มันเสวยดวงสุดท้ายอย่างไร แล้วมันปล่อยวางดวงสุดท้ายอย่างไร เราไปเข้าครอบคลุมอย่างนั้น เราก็เท่ากับไปลูบคลำไง
ถ้าว่าวิปัสสนูปกิเลส มันก็ใช่ ถ้ามันจะเป็นอุปกิเลสละเอียดที่มันปล่อยวาง มันก็ใช่ อุปกิเลส เห็นไหม แสงโอภาส ความสว่างไสว ความว่างของใจ มันปล่อยวางหมดเลย สิ่งต่างๆ แต่ทำไมมันไม่เป็นอกุปปะล่ะ สิ่งที่ไม่เป็นอกุปปะเพราะมันเจริญแล้วเสื่อม มันแปรสภาพไปของมัน เราก็พยายามถนอมสิ่งนั้น ถนอมสิ่งนี้ไว้ให้อยู่กับใจ จิตดวงสุดท้ายที่เป็นอารมณ์ที่พอใจจะให้อยู่กับใจ เวลาเราสุขขึ้นมา เราอยากจะมีความสุขตลอดไป เวลาเกิดขึ้นมา เป็นเด็กขึ้นมา เด็กนี้มันไร้เดียงสามาก ให้ของขนมเล็กน้อยมันก็มีความสุขของมันแล้ว เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราจะต้องพอใจของเราตลอดมา ยิ่งเราเคยผ่านโลกมามาก เราชินชากับเรื่องของโลก อะไรก็เฉยๆ แล้วความสุขจะเกิดอย่างไร นี้เป็นอามิสนะ
แต่ถ้าเป็นความสุขโดยที่ไม่เจือด้วยอามิส จิตมันปล่อยวาง มันเวิ้งว้าง มีความสงบมาก สิ่งนั้นเป็นสัมมาสมาธิ สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธินี้สามารถทำให้จิตนี้ติดได้ จิตนี้ติด ติดเพราะอะไร เพราะมันไม่มีปัญญา มันไม่มีปัญญาความเป็นจริงของมัน มันมีปัญญาในการดึงออกมาจากพระไตรปิฎกไง พระไตรปิฎกว่าสภาวะเป็นอย่างนั้น เราก็คาดหมายอย่างนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า นี่ด้นเดาธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมด้นเดาธรรมจะได้ธรรมด้นเดา
อานนท์ ถ้าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม โลกนี้จะไม่ว่างจากมรรคผล
มรรคผลนี้จะไม่ว่างเลย เพราะมันมีหัวใจ หัวใจตัวที่ทุกข์ตัวที่ยากอยู่นี่ ถ้าศาสนาไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ๕,๐๐๐ ปีล่วงไปแล้ว ศาสนานี้ไม่มี ผู้ที่มีบุญกุศุลเกิดมาแล้ว ถ้ามีหัวใจอยู่ หัวใจนี้ก็สามารถจะวิปัสสนาของตัวเองจนเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าได้ ไม่มีศาสนา พระปัจเจกพระพุทธเจ้าก็เกิดได้ ธรรมะมันถึงเป็นอกาลิโกไง มันไม่มีกาลหรอก อย่าไปอ้างอิงว่าหมดกาล หมดยุค หมดสมัย หมดต่างๆ เรานี้ล้มลุกคลุกคลาน เรานี้เกิดมาเป็นผู้ที่เกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า เกิดมาแล้วธรรมะมันเสื่อมสภาพไปแล้ว
ถ้ามันเสื่อมนะ สภาวะเสื่อม นี่สมัย รัชกาลที่ ๔ เพราะเป็นอย่างนั้น มันเห็นการทำต่างจากพระไตรปิฎก มันก็คิดว่าสิ่งนี้มันจะเข้าหลักได้อย่างไร ก็ถึงได้พยายามค้นคว้าสิ่งนี้มา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นออกมา ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ ไม่มีครูไม่มีอาจารย์มันก็เหมือนกัน เพียงแต่มีตำรามีแผนที่ ขนาดมีตำราแผนที่นะ แล้ววิปัสสนาของเราขึ้นมา ย้อนกลับมาจะทำอย่างไร จนย้อนกลับมาแล้วเทียบเคียงไง ความผิดพลาด
๑. ความผิดพลาด
๒. ในประวัติของครูบาอาจารย์บอกว่าหลวงปู่เสาร์ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ถึงได้สร้างสมบารมีมา
หลวงปู่มั่นปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ามา แต่ยังไม่ได้รับการพยากรณ์ ถึงพลิกกลับไงเพราะการพลิกกลับ ขนาดว่าปรารถนาเป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้า บารมีมันขนาดไหนล่ะ สิ่งที่บารมีนี่มันถึงค้นคว้า เพราะท่านสร้างสมของท่านมา ท่านถึงมีปัญญาของท่าน ท่านถึงมีความเฉลียวใจของท่าน ท่านมีความเฉลียวใจ มีความฉงนสนเท่ห์ของใจ ว่าใจมันว่างขนาดไหน มันทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ
เวลามันหลุดกันไปนะ ในประวัติหลวงปู่มั่น เวลาจิตมันสงบ แล้วหลุดตัวเองลอยขึ้นไปบนอากาศ เดินจงกรมอยู่บนอากาศ เอ๊ะ! มันออกไป อันนี้มันมีความเวิ้งว้าง มันมีความสุข แต่อันนี้มันก็ไม่ใช่ เห็นไหม มีความเฉลียวใจ มีความฉงนใจ ต้องดึงกลับมา พอดึงจิตกลับมาที่กายนี้ ด้วยจิตที่มันมีพลังของมัน สร้างเป็นพระพุทธเจ้ามา มีบุญกุศลมาก ด้วยความแรงของจิตนั้นก็พุ่งลงไปในบาดาลเลย
เวลาดึงจิตกลับมาจากที่เห็นตัวเองเดินจงกรมอยู่บนอากาศ ดึงให้จิตกลับมาที่หัวใจเรานี้ มันก็พุ่งลงไปใต้บาดาล ไปเห็นบาดาลทั้งหมดเลย นี่ต้องดึงกลับขึ้นมาให้อยู่กับตัวเรานี้ พออยู่กับตัวเรานี้ ตั้งจิตให้ได้ แล้ววิปัสสนา ย้อนกลับไปวิปัสสนา พอเริ่มวิปัสสนาไปเห็นสภาวะของกาย เห็นกายแปรสภาพไป พอจิตนี้มันปล่อยกายเข้าไปเป็นชั้นเข้าไป อย่างนี้ถูกทาง เราเดินมาถูกทางแล้ว ถ้าเราเดินมาถูกทาง เราต้องเดินทางนี้ไป นี่ประวัติหลวงปู่มั่น เห็นไหม
พิสูจน์ด้วยตัวเอง เพราะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เราสาวกะสาวกเกิดมาเจอครูเจออาจารย์เป็นอำนาจวาสนามาก สิ่งที่เป็นอำนาจวาสนา เหมือนคนไข้เลย ถ้าคนไข้ไม่มีหมอ คนไข้ก็ได้คนไข้กับคนไข้ปลอบใจกันเองนะ เออ! เดี๋ยวหาย เดี๋ยวหาย ปลอบใจกันเองแล้วไม่เคยหายเพราะไม่มีหมอ
นี่ก็เหมือนกัน เราเกิดมาถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ สิ่งที่เป็นประสบการณ์ของใจเราจะไม่รู้หรอก เราจะคาดหมายไป เพราะเราเป็นสาวกะสาวก นี่ไง กึ่งพุทธกาลแล้ว พระอรหันต์ไม่มีแล้ว มรรคผลนิพพานไม่มีแล้ว ใครจะสร้างมรรคผลนิพพานก็ต้องสร้างบารมีมามาก...ทำให้ขาอ่อนหมด ตัดทอนกำลังใจของตัวเองหมด สิ่งใดๆ ก็ทำให้ตัวเองไม่มีกำลังใจ ไม่มีความมุมานะ ไม่มีความก้าวเดินไป เราพบครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ทำมาอย่างไร การทำอย่างนั้นมันก็เหมือนกับคนเข้าไปมีประสบการณ์ การทำธุรกิจทำต่างๆ ถ้าเขาประสบความสำเร็จมา พอเห็นคนที่ประกอบธุรกิจตามมาจะรู้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอะไร
เพราะถ้าเขาจริงจัง เขามีเชาวน์ปัญญา เขามีความใคร่ครวญของเขา เขามีความมุมานะของเขา เขาจะมีโอกาส ถ้าเขาจะทำแล้วเขาตั้งใจทำ แล้วเขาก็ทำสักแต่ว่าทำของเขาไป ไอ้คนที่เคยผ่านมามองไปเห็นสภาวะแบบนั้น คนคนนี้มันจะรอดหรือ คนคนนี้มันจะไปได้หรือ เว้นไว้แต่ถ้าเขาสร้างบุญบารมีมามาก กรรมของเขาดีมาก
เห็นไหม เวลาเราเกิดขึ้นมา ทุกคนอยากเป็นลูกเศรษฐี ทุกคนอยากเกิดเป็นลูกกษัตริย์ ลูกเศรษฐีมหาเศรษฐี ทำไมทายาทไปเกิดน้อยล่ะ ทำไมลูกคนทุกข์คนจน ทำไมคนเกิดได้เกิดดีล่ะ เพราะอะไร เพราะกรรมไง จิตที่เวลาปฏิสนธิ เวลาพ่อแม่มีคู่กัน ถึงเวลาที่ว่า เวลาที่มีความสุขมาก จิตปฏิสนธิมันบาลานซ์กันไหม ถ้าจิตมันมีอำนาจเสมอกัน นี่มันปฏิสนธิในครรภ์ของมารดาได้ ถ้าจิตนี้สร้างกรรม สร้างมนุษย์สมบัติมา แต่ไม่มีอำนาจมาก ก็ต้องเกิดทุกข์ๆ ยากๆ ไง
เกิดทุกข์ๆ ยากๆ แต่การเกิดเป็นมนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นอริยทรัพย์ประเสริฐมาก เพราะถ้าเกิดเป็นสัตว์ สัตว์เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ สัตว์เกิดมาแล้ว แล้วแต่เขาจะใช้สอย แต่มนุษย์เกิดมามีกฎหมายคุ้มครอง เห็นไหม มันก็ต่างกัน แต่สัตว์หรือมนุษย์ก็มีปรารถนาความสุขเหมือนกัน เกลียดความทุกข์เหมือนกัน สร้างบารมีได้เหมือนกัน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นกวางทอง เกิดเป็นนกแขกเต้า เกิดเป็นสิ่งต่างๆ ในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนั้น แล้วมันจะเท็จไปจากตรงไหน แต่เราก็รับไม่ได้ เรารับไม่ได้
อดีตอนาคตไม่มี อดีตชาติไม่มี อนาคตก็ไม่มี ตายแล้วสูญ ตายแล้วสูญ มรรคผลนิพพานก็ไม่มี สิ่งใดก็ไม่มี นี่กิเลส มันถึงว่ามันมีอำนาจเหนือทุกๆ คนในหัวใจ แล้วเราจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมานะ ย้อนกลับมาที่ใจของเรา แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราตามครูตามอาจารย์ คนไข้ต้องเชื่อหมอ คนตาบอดต้องเชื่อคนตาดี แล้วคนตาดีจะชี้นำกับเรา นี่สงวนรักษา สงวนรักษาสิ่งต่างๆ อะไรที่เป็นประโยชน์
อาจารย์มหาบัวบอกว่า อยู่กับหลวงปู่มั่นนะ ท่านเป็นคนที่มัธยัสถ์มาก ประหยัดมาก เก็บเล็กผสมน้อยไง อาบัติเล็กอาบัติน้อยนี่ไม่ให้ผิดพลาดเลย ท่านเป็นคนที่เก็บเล็กผสมน้อยมาตลอด เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ไง นิสัยวาสนาที่จะต้องให้เป็นตัวอย่าง นี่ชีวิตแบบอย่าง กับชีวิตของพวกเรานี่ขอให้เอาทุกข์ออกจากใจนี้ก็พอแล้ว
ชีวิตแบบอย่าง เห็นไหม อยู่ในป่าในเขา พระพุทธเจ้าเกิดในป่า ตรัสรู้ในป่า ตายในป่า หลวงปู่มั่นก็พยายามจะทำอย่างนั้นไง นี่เจ็บไข้ได้ป่วยนะ ชราภาพแล้ว ๘๐ ปี บิณฑบาตไม่ไหว พระขอร้องนะ ไม่ต้องบิณฑบาตได้ไหม ใครไม่รักครูบาอาจารย์ ใครเอามาถวายท่าน ท่านบอกไม่ได้ บิณฑบาตไปไม่ไหวแล้ว ขอครึ่งทาง ไปไม่ไหวแล้ว ขอประตูวัด ไปไม่ไหวแล้ว ขอบิณฑบาตบนศาลา เห็นไหม ชีวิตแบบอย่าง ชีวิตแบบอย่างของเราขึ้นมา แล้วเราชุบมือเปิบ แล้วเราทำได้ไหม ถ้าเราทำได้ เราต้องทำของเรา เราต้องตั้งใจของเรา เอวัง