ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นั่งตลอดรุ่ง

๒๗ มิ.ย. ๒๕๕๒

 

นั่งตลอดรุ่ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรานั่งตลอดรุ่งเราหวังอะไร ใช่ไหม?

เรานั่งตลอดรุ่งเนี่ย เรานั่งสมาธิเนี่ย เรานั่งสมาธินี่เอาความเข้มแข็ง ถ้าใจคนมันเข้มแข็งนะ ใจคนมันเข้มแข็ง ใจคนมันเด็ดเดี่ยว การกระทำมันก็มีโอกาสมากขึ้น การนั่งสมาธิตลอดรุ่งนี่ก็เพื่อความเข้มแข็งของเรา แล้วโอกาสนะ เพราะการนั่งตลอดรุ่งนี่ มันมี เดี๋ยวนี้มีคนพยายามทำมาก การนั่งตลอดรุ่ง แล้วเวลานั่งตลอดรุ่งมันไม่เป็นสมาธิหรอก คนนั่งหลับเยอะ

เมื่อก่อนเราธุดงค์มา เราไปเจออยู่คนหนึ่ง คนอีสาน นั่งตลอดรุ่งตลอด เราก็ทึ่ง เพราะตอนนั้นเราก็ยัง ความเข้าใจของเรามันยังไม่รอบคอบ เราก็แปลกใจว่าคนนั่งตลอดรุ่งทำไมเขาไม่พิจารณากาย แล้วเราก็แนะนำให้เขาพิจารณากายนะ เขาบอกว่าเขาพิจารณากายแล้วเขาระเบิดหมดเลย ระเบิดมาแล้วเขาก็ตอบอย่างนี้ ระเบิดหมดแล้วก็เฉยๆ

คำว่าระเบิด ถ้าเป็นความจริงนะ อย่างเช่นเรานั่งสมาธิสงบนะ พอจิตเราสงบแล้วนี่เราไปเห็นกาย ถ้าเราพิจารณากาย กายมันเป็นไตรลักษณ์ไง การระเบิดคือมันไตรลักษณ์มันแปรสภาพไง ถ้ามันแปรสภาพเราเห็นไตรลักษณ์นี่ อู้ฮู ยิ่งกว่าเราได้ลาภมหาศาลเลย เพราะอะไรรู้ไหม? การได้ลาภมาเราก็ดีใจใช่ไหม แต่ถ้าเราพิจารณาไปแล้วมันปล่อย พอมันเข้าไปเห็นจริงแล้วมันปล่อย ปุ๊บ อู้ฮู จิตมันจะ เหมือนเราสลัดความทุกข์ออกหมดน่ะ มันจะ โอ้โฮ มันเป็นสิ่งที่ว่าเหนือโลกน่ะ

แต่เวลาเขาพูดกับเราบอกว่า “จิตมันระเบิดหมดเลย กายระเบิดหมดเลย”

“แล้วระเบิดได้อะไร?”

“ก็ไม่เห็นได้อะไร”

พอเขาไม่ได้อะไรนี่ มันเป็นสัญญาอารมณ์ไง คือว่าเราไปเห็นภาพสิ่งต่างๆ แล้วเราเห็นสภาวะแบบนั้น แต่หัวใจมันไม่มีรสชาติเลยเห็นไหม คือมันไม่เป็นไป อย่างเช่นเราได้เงินมานี่ เงินเราจริงๆ นะ แต่เขาบอกว่าเขาจะให้เงินเรานี่ เขาจะให้แต่เรายังไม่ได้มันก็ต่างกัน

นี่ก็นั่งตลอดรุ่งมันจะ เพื่ออะไร?

การนั่งตลอดรุ่งนี่มันมีหลายอย่าง การนั่งตลอดรุ่งนี่มันมีคนใจเด็ด หลวงตาท่านบอกคนใจเด็ด การนั่งตลอดรุ่งนี่นะ เพราะการนั่งตลอดรุ่ง โดยที่มีสติสัมปชัญญะนี่ทำได้ยากมาก ทำได้ยากมากเพราะอะไร? เพราะด้วยความข้อเท็จจริง ถ้าเราพุทโธ เรามีวาสนา อย่างพวกเรามีวาสนานี่ พุทโธๆๆ จนจิตมันสงบบ้าง หรือจิตมันลงไปแล้วนี่ มันอยู่ไม่ได้นานหรอก อย่างมากชั่วโมงสองชั่วโมงมันต้องออกใช่ไหม พอออกมามันจะเจ็บสองเท่าใช่ไหม พอออกมาแล้วอย่างเช่นเรานั่งสมาธิ จิตสงบสักพัก ออกมาเราก็อยากจะลุกหนีแล้ว คือว่าเราพอแล้ว ว่างั้นเถอะ

แต่ทีนี้พอ เหมือนกับคนเราทำงานเสร็จแล้ว ต้องทำงานซ้ำๆ น่าเบื่อไหม? คนมันไม่ยอมทำหรอก เพราะว่าจิตของเรา คำว่าตลอดรุ่งคือว่าให้มันต่อเนื่อง ทีนี้จิตเรากำหนดพุทโธๆๆ จิตเราสงบเข้าไปแล้วพอมันลงเข้าไป ประมาณสักชั่วโมงหนึ่ง แต่ทีนี้ตลอดรุ่งมัน ๑๒ ชั่วโมง มันก็จะคลายตัวออกมา พอคลายตัวออกมามันก็จะเจ็บมาก พอเจ็บมากความรู้สึกมันชัดเจน มันก็ต้องพุทโธๆ เข้าไปอีกเห็นไหม

ก็เหมือนกับเราทำงานเห็นไหม เราไปทำงาน ทำงานอย่างหยาบ ทำงานอย่างกลาง ทำงานอย่างละเอียด ถ้านั่งตลอดรุ่งนี่จิตมันจะสัมผัสอย่างนี้บ่อยครั้งไง พอทำอย่างนี้บ่อยครั้งปั๊บ เหมือนกับเราทำงานชำนาญ พอเราเจอวิกฤตอะไรขึ้นมาเราก็ทำความสงบของเราได้จริงไหม พอทำความสงบเข้าไปสักชั่วโมงสองชั่วโมงออกมา พอสมมุติออกมาแล้วปั๊บ กิเลส เหมือนกับเราใช้หมดแล้ว เราจะทำต่อไปเราต้องใช้ความละเอียดรอบคอบมากกว่า ระเอียดรอบคอบมากกว่าจิตมันถึงจะลงอีก

หลวงตาบอกบางทีท่านนั่งตลอดรุ่งนี่ลงถึง ๓ หน ๒ หน แต่ถ้าวันไหนไม่ลง วันไหนไม่ลงนะ พุทโธๆๆ ไปนี่ ท่านบอกเที่ยงคืนตีหนึ่งยังไม่ลงเลย คิดดูตั้งแต่หัวค่ำน่ะ หัวค่ำนะ ตั้งแต่หกโมงเย็น ทุ่มหนึ่ง สองทุ่ม สามทุ่ม สี่ทุ่ม ห้าทุ่ม หกทุ่มอย่างนี้ ยังไม่ลงเลยล่ะ

ท่านบอกวันนั้นร่างกายบอบช้ำมาก คือท่านบอกเราคนจริง เราไม่ยอมออก พอไม่ยอมออก ท่านบอกเวลานั่งไปจิตมันระบมหมด เพราะกิเลสนี่มันต่อต้าน มันหาทางต่อต้านตลอด ทีนี้เราก็ต่อสู้กับมันด้วยแรงกดทับ ด้วยสติยับยั้งไว้นี่ ท่านบอกว่าวันนั้นน่ะมันระบมหมด เหมือนกับเขาเอาท่อนไฟ เอามาเผาเราน่ะ เหมือนกับเผาเราทั้งเป็นเลย ไฟมันเผามันเจ็บปวดข้างใน

แล้ววันนั้นเวลาจิตมันลง แต่ก็ลงได้ เพราะอะไร? เพราะคำว่าลงได้ เพราะจิตสติมันดี แล้วมันมีสัจจะ มันจะสู้กับมัน พอลงไปแล้วมันก็หายเงียบ สุขมาก แต่ผล เห็นไหม ท่านบอกว่า ถ้าวันอย่างนี้ เวลาถึงสว่างแล้วจะออก ถ้าลุกไปจะล้มเลย เพราะอะไร? เพราะมันบอบช้ำมาก พอบอบช้ำก่อนจะออกต้องดึงขานี่ออกไปก่อน ไปวางไว้ให้ขาให้เลือดลมมันเดินก่อน พอเลือดลมเดินแล้วถึงจะลุกขึ้นมาได้ ถ้าไม่งั้นลุกขึ้นมานี่ จะล้มเลย

แต่ถ้าเป็นโดยปกตินะ นั่งพุทโธๆ ใช้ปัญญาไล่เข้าไป มันลงได้สะดวกได้ง่ายดาย แล้วมีความสุขขึ้นมานี่ มันเป็นบางคืนไง ท่านบอกคืนนั้น เวลาออกมาถึงรุ่งเช้าสว่างแล้วนี่ลุกขึ้นเดินได้สบายปรื๋อไปเลย เพราะมันไม่บอบช้ำ

เนี่ย คำว่านั่งทั้งคืนจนตลอดรุ่งแล้วได้อะไร? มันได้ความเข้มแข็ง ได้ความอดทน แต่! แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงนะ ไม่ใช่ว่านั่งตลอดรุ่งแบบสัปหงกงกงัน มี ลูกศิษย์เรามีมา นั่งตลอดรุ่ง เขาบอกเขานั่งตลอดรุ่ง เราก็แปลกใจ แปลกใจที่เรานั่งตลอดรุ่ง อย่างเช่นโยมทำงานมาแล้ว สิ้นเดือนโยมต้องได้ผลตอบแทนมา โยมบอกโยมทำงานมาตลอดเลย แต่โยมไม่เคยได้เงินเดือนเลยนี่มันน่าแปลกไหม

จิตของคนนี่ ถ้ามันบอกว่ามันนั่งตลอดรุ่งตลอด แต่มันไม่มีกำลังเลย คำว่าไม่มีกำลังนี่ อย่างเช่นเราทำงานขึ้นมานี่ จิตของเราจะดี จิตของเรานี่มันจะชุ่มชื่น จิตของเราจะมีหลักมีเกณฑ์ มันจะมีสติสัมปชัญญะ คนถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ เวลาจิตสงบนี่ หูตานี่ไวมาก เขาเรียกชวนะมันดี หูนี่เสียงอะไรก็ดีจะรับรู้ คือมันพร้อมที่จะทำงานไง

นี่เขาบอกเขานั่งตลอดรุ่ง แต่เขา สติสัมปชัญญะนี่เขาต่ำต้อยกว่าปกติเราอีก คือเขาป้ำๆ เป๋อๆ เขาทำอะไรไม่มีสติ เราก็แปลกใจว่า เอ๊ะ เขาบอกเขานั่งตลอดรุ่งๆ ทำไมเขาเป็นอย่างนั้น เราบอกว่าเนี่ยมันไม่ใช่หรอก เขาก็ยืนยันว่าเขานั่งตลอดรุ่งได้ตลอดเวลา สุดท้ายพวกโยมนี่เขาแบบว่า เขาพิสูจน์กัน เขาให้นั่งตลอดรุ่ง แล้วพวกโยมนั่งดูๆ กันอยู่นั่นล่ะ เขาบอกว่า สี่ทุ่มห้าทุ่มนะ นั่งกรนเลย นั่งกรนคร่อกๆ เลย

แต่เขายังว่าเขานั่งตลอดรุ่งอยู่ เขานั่งได้ในท่านั่ง แต่เขาไม่ล้มลงนอนไง แต่เขาหลับไป อย่างนี้เยอะนะ ฉะนั้นจะบอกว่าการนั่งตลอดรุ่งจะไม่เห็นได้ผลอะไร? เขาก็นั่งตลอดรุ่งอยู่ตลอดเวลาแล้วทำไมเขาภาวนาไม่ได้ผลขึ้นมา นี่ไง คำว่านั่งตลอดรุ่งแล้วได้อะไร? คำว่านั่งตลอดรุ่งแล้วได้อะไรหมายถึงว่า เหมือนกับคนเราทำงานในที่เราเข้มงวด ที่เราทำงาน ทำให้จิตเรามีโอกาสพัฒนาได้มาก แต่ถ้าเราภาวนาตามแต่สบายไง ชั่วโมงสองชั่วโมงทำแล้วทำเล่านี่มันทำให้เราแบบว่า เราจะได้ผลช้า ว่างั้นเลย

แต่การนั่งตลอดรุ่งหรือการอะไรเนี่ย มันทดสอบกำลังของเราเลย ทดสอบคุณภาพของเราเลย ทดสอบความเป็นจริงของเราเลย ไหวไม่ไหว ต้องตั้งสัจจะ

คำว่าได้อะไรนี่ คำว่าได้อะไรหรือไม่ได้อะไร อยู่ที่ผลงานของเราที่ทำแล้ว ไม่ใช่ว่าใครได้นั่งตลอดรุ่งแล้วคนนั้นจะเป็นพระอรหันต์หรือคนนั้นจะเป็นคนดีตลอดไป คนนั่งตลอดรุ่ง คนนั่งคุณงามความดี แต่เขาได้แต่บุญกิริยาวัตถุ บุญกิริยาวัตถุคือ เขาบุญทำดีๆ เขาเป็นบุญของเขา แต่ผลตอบสนองนี่ไม่เท่ากัน เราจะบอกว่าไม่ใช่ว่านั่งตลอดรุ่งแล้วจะสำเร็จ จะเป็นคนดีไปตลอดนะ นั่งตลอดรุ่งแล้วถ้าเราเกิดจิตมันเป็นพรหมลูกฟัก ไปนั่งหลับอยู่อย่างนั้น เหมือนพรหมลูกฟัก เป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าทำแล้วมันเป็นประโยชน์ เป็นคุณงามความดี อันนั้นจะถูกต้องดีงามมาก

มันเหมือนกับเราตั้งสัจจะให้เราต้องบังคับตัวเองให้ทำความดี จะเอาการนั่งตลอดรุ่งเลยนี่มาเป็นบรรทัดฐาน ทีนี้พอนั่งตลอดรุ่งแล้วถ้ามัน หลวงตาบอกนั่งครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๒ ท่านได้อย่างนี้เลย พอมันพิจารณาเข้าไปไง พิจารณากาย กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย แล้วขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นไง ที่ขึ้นไปกราบหลวงปู่มั่นนั่นแหละ หลวงปู่มั่นพูดเลยล่ะ “เอ้อ ได้หลักแล้ว คนเราไม่เกิดตายทุกอัตภาพ มันก็เกิดตายหนเดียว” คือว่านี่มันได้หลักได้เกณฑ์แล้วไง นั่นล่ะได้ขั้นล่ะ

ทีนี้มันอยู่ที่วาสนาของคน มันแนวทางอย่างนี้ ท่านทำของท่าน ทีนี้เขานั่งตลอดรุ่ง ถ้าเราไม่อุกฤษฏ์ขนาดนั้น เราทำของเราไปตามประสาเราก็ได้ แต่ถ้าเป็นครั้งเป็นคราว อย่างเราเนี่ย เรามันแชเชือนเกินไป มันแบบว่าจิตใจมันนอนจมเกินไป เราก็เอาเข้มแข็ง เพราะเราไม่เคยนั่งตลอดรุ่ง แต่เราไม่เคยนอน คือว่าภาวนาตลอดรุ่งนี่ตลอด แต่เราไม่ได้นั่งท่าเดียวไง นั่งซัก ๗ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงเราทำได้ แต่เพราะเราไม่ได้ตั้งสัจจะอย่างนั้น เรานั่งแล้วเราเดินจงกรมนั่งอยู่อย่างนี้ตลอด เราทำอย่างนี้มาเยอะมาก ไอ้เรื่องไม่นอน เราบางทีไม่นอนถึง ๓ เดือน ๔ เดือนเลย เพียงแต่เราคุมตัวเราเองได้ไง

ไอ้เรื่องไม่นอน เนสัชชิกนะ เราทำเป็นเรื่องปกติเลย เมื่อก่อนอยู่อีสานนะ วันพระเนี่ยไม่นอน ถวายพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านทำเป็นตัวอย่าง เวลาอย่างนี้วันนี้ถวาย เราเคารพใครล่ะ? ถวายหลวงปู่ขาว คือว่าเราเอาท่านเป็นตัวปลุกเร้า เพราะการกระทำเนี่ย เวลาเราสอนทั่วๆ ไปนะ การกระทำการนั่งสมาธิภาวนา เขาไม่ได้นั่งเอาเวลา

อย่างเช่นเราเนี่ย โยมนั่ง ๓ ชั่วโมง นี่นั่ง ๒ ชั่วโมง เรานั่งชั่วโมงเดียว ไอ้เกิดนั่งชั่วโมงเดียวเกิดจิตมันสงบมันลงได้ ไอ้ ๓ ชั่วโมงทุกข์เกือบตายแล้วไม่ลง มันไม่ใช่อยู่ที่เวลามากเวลาน้อย เวลาที่ว่าทำแล้วได้ผลไม่ได้ผล อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

ดูอย่างเราไปกราบหลวงปู่วัดถ้ำสหายฯ หลวงปู่จันทร์เรียน ท่านบอกเลยล่ะว่า “หลวงปู่ชอบสู้เราไม่ได้” เพราะหลวงปู่ชอบท่านนั่งไม่ทน หลวงปู่จันทร์เรียนท่านบอกท่านนั่งที ๗-๘ ชั่วโมง ท่านนั่งสบายๆ เลย ไอ้ตลอดรุ่งนี่ท่านนั่งเป็นเรื่องปกติเลย แต่หลวงปู่ชอบท่านบอกว่าท่านนั่งไม่ได้มาก แต่! แต่หลวงปู่ชอบเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนเลย หลวงปู่ชอบนี่ถนัดในท่าเดินจงกรมไง

หลวงปู่ชอบเป็นอาจารย์ของหลวงปู่จันทร์เรียน หลวงปู่จันทร์เรียนท่านถนัดในท่านั่ง ท่านบอกเวลาภาวนาด้วยกัน หลวงปู่ชอบนั่งอย่างมากชั่วโมงสองชั่วโมงก็ลุกเดินแล้ว แต่ท่านนั่งได้ทีค่อนคืนทั้งคืนเลย

ความถนัดเห็นไหม แต่หลวงปู่ชอบกับหลวงปู่จันทร์เรียนน่ะ เอ็งว่าคุณสมบัติของใครแจ๋วกว่า หลวงปู่ชอบต้องแน่กว่าแน่ๆ นี่เราไปกราบหลวงปู่จันทร์เรียนมาท่านพูดให้ฟัง มันอยู่ที่ความถนัด ๑.ความถนัด แล้วทำแล้วได้ผล

ทีนี้คำว่า “นั่งตลอดรุ่งแล้วได้อะไร?”

อันนี้เราตอบเป็นข้อเท็จจริง นี้ถ้าเราไปมองแต่เปลือกไง ว่าคนนั่งตลอดรุ่งเนี่ย พวกเราทางโลกนี่คิดว่า การนั่งตลอดรุ่ง การทำนี้มันเป็นการปฏิบัติ เราก็ไปตั้งกติกาว่าเราต้องนั่งตลอดรุ่งกัน ก็ไปนั่งทนกันเฉยๆ ไปถึงก็จับมัดไว้เลยนะ จะนั่งตลอดรุ่ง อู้ฮู มันปวด

นั่งตลอดรุ่งมันต้องมีปัญญา มีปัญญามีสติมีสัมปชัญญะของเราต่อสู้ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะการนั่งตลอดรุ่งนี่มันต่อสู้กับกิเลสของเราไง เหมือนกับเรากิเลสน่ะจับมัดกับเสาไว้เลย แล้วค้นคว้าหามัน ก็เราตั้งสัจจะไว้แล้วจะนั่งตลอดรุ่ง

สุ่มไก่ ไก่อยู่ในสุ่มนั้น จิตเราอยู่ในร่างกายนี้ เราตั้งใจนั่งตลอดรุ่ง มันก็มีไก่อยู่นี่ตัวหนึ่ง สุ่มไก่ นี่สุ่มมันครอบไก่ไว้ แล้วเราจะจับไก่ตัวนั้น

ในพระไตรปิฎกเห็นไหม บอกจอมปลวก มีตัวเหี้ยตัวหนึ่งอยู่ในจอมปลวกนั้น โปฐิละๆ มีความชำนาญมากเก่งมาก ไปไหนก็พระพุทธเจ้าว่า “โปฐิละไปแล้วหรือ ใบลานเปล่าไปแล้วหรือ” จนน้อยใจ ตั้งใจจะออกปฏิบัติไง ออกปฏิบัติก็ไปหาพระ พระก็บอกว่าผมไม่มีวาสนาสอน ก็ไปให้เด็กให้เณร สามเณรเป็นพระอรหันต์กันทั้งวัดเลยนะ

สามเณรก็บอกว่า “อ้าวถ้าจะปฏิบัติเนี่ย ให้นั่ง แล้วให้เปรียบร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก จอมปลวกนี้มีรูอยู่ ๖ รู ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันมีเหี้ยอยู่ตัวหนึ่ง มันชอบออกตามรูมานี่ ให้ปิดไว้ทุกรู เปิดไว้เฉพาะรูตัวที่ความรู้สึก คือใจไว้ แล้วคอยจับเหี้ยตัวนั้น”

ทีนี้นั่งตลอดรุ่งเห็นไหม ก็เปรียบกายนี้เหมือนจอมปลวก แล้วคอยดูเหี้ย เหี้ยมันออกตรงไหนวะ จะได้สู้กัน ไม่งั้นเราก็อ่อนแอตลอดไป ไอ้จอมปลวกนี่ก็ปล่อยให้มันกลิ้งไป ให้เหี้ยนี่ก็วิ่งเข้าวิ่งออก ไม่เคยจับได้เลย ไอ้เหี้ยคือความคิดเรานี่ไง จิตเรานี่ไง มันก็วิ่งเข้าวิ่งออกในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

นั่งตลอดรุ่ง ปิดมัน ๕ ทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กายก็ปิดเหลือใจไว้ แล้วคอยตะครุบเหี้ยนั้น พุทโธๆๆๆ ซัดซัดกันเลยน่ะ เหี้ยโผล่รึยังๆ เอากันจนมันเกิดปัญญาขึ้นมา มันเป็นอุบาย เป็นเทคนิค แต่ทีนี้เวลาเราพูดกัน เราพูดเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านสอนหลายๆ ประเด็นไง คือว่าหลากหลาย ลูกศิษย์หลากหลาย เทคนิคหลากหลาย แล้วแต่ใครจะได้ประโยชน์ตรงไหน

แต่ถ้าเราจริตเป็นตรงนั้นนะ เราจะดูดดื่มมาก เราจะพอใจมาก ถ้าจริตเราตรงนะ จริตเราตรงนี่โอ้โฮ จริตเรานี่กึ่งๆ ยังไม่ตรง กึ่งๆ คือว่าไม่นอนเหมือนกัน เราพรรษาแรกเราไม่นอนเลย ไม่เคยนอนเลย เพราะตอนนั้นประสาเราแบบว่ามันบวชมาใหม่ๆ แล้วมันจับทิศทางไม่ถูก แต่ใจนี่มันไปผูกพันกับเพื่อนฝูง อยู่กับโลกตลอด มันคิดออกหมด ทุกข์ฉิบหายเลย ปิดเลย! ไม่นอน! ไม่อะไรทั้งสิ้น อัดมันอย่างเดียวเลย ใส่กับมันอย่างเดียวเลยเพราะตั้งใจมา

เราทำของเราเองนะ ไม่เคยนอนเลย แล้วมันถึงเข้าใจถึงคำว่าง่วงนอน ภาษาอีสาน เราไปอีสานทีหลัง เราพูดภาษาอีสานคือ “หิวนอน” เราหิวข้าวนะกับหิวนอน บอกหิวนอนนี่ทรมานฉิบหาย ง่วงนอนโครตทรมานเลย เวลามัน โอ้โฮ โลกนี้ทั้งโลกไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน มันง่วงน่ะ ง่วงจนไม่รู้จะทำอย่างไร ง่วงมากๆ ง่วงนอนเนี่ย หิวข้าวยังไม่ทรมานเท่ากับหิวนอนเลย

พอไปคำว่าหิวนอนนี่แหม ซึ้งใจมากเลย แต่ภาษาภาคกลางเขาเรียก “ง่วงนอน” ภาษาอีสานเขาเรียก “หิวนอน” มันไม่ได้นอน แต่สู้กับมันจนหายหมด สู้กับมันจนหูตานี่ พอจิตสงบทีหนึ่งมันหายหมดไง อย่างเช่นที่เวลาเขาอดอาหาร หมออยู่คนหนึ่งเขามาอยู่กับเรา แล้วเขาก็จะอดอาหารใช่ไหม เป็นหมอ พอจะอดอาหารปั๊บเขากลัวกระเพาะเขาจะไม่ดี เขาก็เอายา ยาเคลือบกระเพาะ ยาอะไร หูย ตั้งไว้เต็มเลยนะ อดอาหาร ๓ วัน เวลามันลงไง พอมันลงปั๊บมันหมดเลย เขายังไม่แน่ใจ อดรอบสอง อีก ๓ วัน ทีนี้รอบ ๒ ก็กลัวไม่ลงเหมือนกัน ก็เอายาไว้ เขาก็คิดว่าถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยเขาจะกินยาเลย แล้วเขาจะเอาเตรียมไว้ เวลาจิตมันลงน่ะ พอเสร็จแล้วเขามาหาเราเลย เราบอกเขาเลยเนี่ย “หิวเป็นสมมุติ”

ถ้าหิวเป็นความจริง ถ้าหิวเป็นความจริงกับเรานะ มันจะหายไปได้ยังไง ในเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ใช่ไหม ความหิวต้องอยู่กับเราตลอดไป แต่พอเวลาจิตมันลง ความหิวไม่มีเลย เราถึงบอกว่า “หิวนี่เป็นสมมุติ” ทั้งๆ ที่ทางวิทยาศาสตร์ กระเพาะไม่มีอาหารต้องหิวเป็นธรรมดาใช่ไหม? แล้วเวลาจิตมันลงเนี่ยมันเป็นสมาธิ ปล่อยหมดเลย เราจะบอกว่า ความรู้สึกของจิต กับกระเพาะอาหารมันไม่รับรู้กันเลย

ถ้ามันรับรู้ มันจะตัดหิวได้ยังไง เพราะในกระเพาะอาหารมันไม่มีอาหาร อดอาหารอยู่เวลาลงแล้วมันก็คือกระเพาะก็ไม่มีอาหารอยู่อย่างเก่า แต่ความรับรู้หิวนั้นมันหายไปไหน นี่ความหิวเป็นสมมุติ ความหิวมันเกิดจากจิต พอจิตมันหดตัวเข้ามาไม่รับรู้นี่หมดเลย ง่วงนอนก็เหมือนกัน ง่วงนอนง่วงเนินนี่จิตมันรับรู้ทั้งนั้น พอจิตมันสงบลงมันดีกว่านอนอีกหลายเท่า

นี่เราว่ากึ่งๆ เราไม่ถึงกับนั่งตลอด แต่ว่าไอ้เรื่องไม่นอนนี่เราทำมาตลอดเลย เพียงแต่ว่า เราอยู่หลายอิริยาบถไง เราทั้งนั่งทั้งเดิน เราเปลี่ยน

โยม : ที่.......เขาสอนกับเด็กๆ ที่เขาไปฝึกกันเขาให้นั่งครึ่งชั่วโมง แล้วก็เดินครึ่งชั่วโมง สลับกันไป จริงๆ ก็โอเคอยู่

หลวงพ่อ : โอเค ไอ้ท่านั่งท่านอนน่ะโอเค แต่ไอ้คำสอนของเขาเนี่ย เราไม่โอเค

คำสอนไม่โอเคเพราะอะไร เพราะเราพูดบ่อย วันนั้นเราก็พูดเห็นไหม พุทโธๆๆๆ เนี่ย พุทโธความคิด ความคิดเป็นน้ำเสีย ความคิดเราเนี่ย ความคิดปกติเราเห็นไหม เราต้องมีตัวเราบวกใช่ไหม เราพอใจไม่พอใจสิ่งใดใดใช่ไหม เราพอใจเราก็คิด ไม่พอใจเราก็คิด ใช่ไหม นี่คือความคิดของเรา

แต่ทีนี้เรามาคิดพุทโธ พุทโธเราอยากคิดไหม ให้เรานึกพุทโธๆ อย่างเดียวเราอยากนึกไหม เพราะอะไร มันจืดชืด ไม่มีอะไรเลย ถ้าให้นึกพุทโธๆ นี่เบื่อมากเลย ถ้าให้นึกบอกว่า โอ้โฮ กลับไปนะ จะต้องไปทำงานไอ้นั่น จะไปทำงานไอ้นี่ โอ้โฮ มันน่าดูเลย เพราะมันให้ผลประโยชน์ ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดของกิเลส แต่ความคิดพุทโธๆ นี่เป็นพุทธานุสติ เห็นไหม เป็นความคิดเหมือนกัน ถ้าเป็นความคิดเหมือนกัน พอเรามานึกพุทโธๆ แต่ทีนี้พอนึกพุทโธปั๊บเป็นพุทธานุสติแล้ว มันเป็นคำบริกรรม พอพุทโธๆๆๆ มันหดเข้ามาก็จะไปถึงตัวจิต มันเป็นสมาธิ

อย่างนี้เราไปกำหนดนามรูปๆ นี่เรากำหนดออกไปใช่ไหม? พุทโธต้องคิดไหม? นามรูปต้องคิดไหม? เพราะนามรูปต้องคิด ตัวจิตกับตัวความคิดมันคนละอันกัน เพราะความคิดอันนี้มันเป็นสัญญาอารมณ์ ถ้าเราคิดอยู่ในเรื่องอย่างนี้ปั๊บเนี่ยมันจะเข้ามาที่ตัวจิตไหม นี่ไง แล้วเราบอกกำหนดอย่างนั้นแล้วเราเห็นด้วยไหม ไอ้ที่ว่ายืนกับนั่งเนี่ย ไอ้เราก็ทำอย่างนั้น แต่ไอ้กำหนดเนี่ยเราไม่ได้กำหนดอย่างนั้น เราถึงบอกมันผิดตั้งแต่ต้น ที่เราพูดบ่อย เห็นไหม ว่าผิดตั้งแต่ต้น

ผิดตั้งแต่ต้นหมายถึงว่า เรากำหนดออกไปที่ผิด เรากำหนดออกไปที่ผิดเพราะอะไร เพราะต้นมันผิด มันกำหนดออกไปที่ผิดเห็นไหม กำหนดออกไป มันไม่ได้หดสั้นเข้ามา พอกำหนดออกไปนี่นามรูป ความรู้สึกเราส่งออกหมด แล้วก็จะบอกนะว่า โอ้โห มันจะรู้สึก มันจะ โอ้โห ชัดเจนนะ ก็ว่ากันไป

กรณีอย่างนี้เราถึง ถ้ากรณีนี้นะเราคิดถึงหลวงตา หลวงตาท่านบอกว่า “การปฏิบัติมีหลากหลาย” มันก็มีหลายหลาย ทีนี้ไอ้การเดินการนั่งเราเห็นด้วย แต่นี้การเดินอย่างนั้นเราก็อย่างว่าล่ะ ไม่ค่อยเห็นด้วย การเดินอย่างนั้น การเดินอย่างที่เขาทำน่ะ เพราะประสาเรานี่นะ การปฏิบัติมันจะอยู่กับชีวิต มันอยู่กับความเป็นเรา อย่างพระนี่ เวลาปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง หลวงปู่มั่นก็สอนนะ ในมุตโตทัย การเหยียด การคู้ การดื่ม การกิน การอะไรนี่ต้องมีสติตลอด

ถ้ามีสติ การดื่มก็คือการดื่ม การเหยียดก็คือการเหยียด การคู้ก็คือการคู้ แต่การกำหนดว่า เวลาทำไปเนี่ย หนอ ต้องรับรู้หมดอย่างนี้ มันเหมือนกับชีวิตประจำวันเราทำไม่ได้ เขาบอกว่าอยู่กับชีวิตประจำวัน แต่ชีวิตประจำวันเขาจะเคลื่อนไหวอย่างนั้นได้ไหม แต่ของเรานี่ หลวงปู่มั่นให้สอนเคลื่อนไหวอย่างนั้น แต่เรามีสติตลอด สติสำคัญมาก

ถ้าสติเป็นสติตลอดแล้วนี่ มันจะทำให้เรารู้ทัน พอเรารู้ทันนี่มันต้องกลับมาที่จิต เราจะบอกว่า มันจะต้องกลับมาที่จิตสงบ ถ้ามันไม่กลับมาที่จิตสงบนี่ จิตเห็นอาการ จิตรับรู้ จิตตภาวนา ถ้าไม่กลับมาที่จิต สัญญารับรู้ สัญญาภาวนา สัญญาเป็นคนออก มันไม่เข้าถึงตัวจิต มันไม่เข้าถึงตัวที่กิเลสอยู่

โยม :อย่างที่หลวงพ่อบอกว่า ปัญญาอบรมสมาธิ

หลวงพ่อ :ใช่

โยม :ให้ใช้ปัญญาไล่เข้าไป

หลวงพ่อ :ใช่

โยม :อาการมันต่างกันยังไงกับที่เขาพิจารณานามรูป อันนั้นเขาก็คิดเหมือนกัน อันนี้ก็คิดเหมือนกัน

หลวงพ่อ :ใช่ๆๆ

โยม :ถ้าตรงนั้นมันไม่สงบ กลายเป็นย้ายมาเป็นนามรูป ก็คล้ายๆ กัน มันก็จะดึงกลับเข้ามา

หลวงพ่อ :มันใกล้เคียงกัน แต่มันกึ่งมันไม่เหมือนกัน

ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะถ้าปัญญาอบรมสมาธินี่อย่างที่พูดเมื่อกี้ ที่เริ่มต้นว่าความคิดอันหนึ่งเป็นความคิดของเรา ความคิดโดยกิเลส ถ้าความคิดโดยกิเลสเรานี่มันคิดเพื่อประโยชน์ของเรา เขาว่าประโยชน์ของเรานะ แต่ไม่เป็นแค่ประโยชน์ของเรา ประโยชน์กิเลส เรายังไม่ได้อะไรเลย ประโยชน์ของกิเลส ความคิดเพื่อประโยชน์ของกิเลส เพราะกิเลสมันเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันมีแรงปรารถนา มีความต้องการแล้วคิดตอบสนองมัน นี่กิเลส

พอไปคิดอย่างนั้นปั๊บมันเป็นกิเลสใช่ไหม เรามีสติตามความคิดไป ตามความคิดไปเลย ตามความคิดไป พอมันคิดขึ้นมานี่สิ่งที่คิดน่ะถูกต้องหรอ มันเห็นความถูกต้องไม่ถูกต้อง ประสาเราว่ามันจะจัดระบบความคิดให้ดีขึ้น ถ้ามันเห็นทันความคิด มันจัดระบบความคิดนี่เอ๊อะ! เอ๊อะ! มันก็อาย อายมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ

แต่ความคิดอย่างที่เขาว่ารู้เท่าทัน ว่าเหมือนกันนี่ มันบอกว่ามันคิดรู้เท่าทัน เท่าทันในอะไร? เท่าทันในการกระทบ มันออกมาข้างนอกหรืออยู่ข้างใน?

โยม : (เสียงไม่ชัดเจน)

หลวงพ่อ :อยู่ข้างนอก อยู่ข้างในคือตัวพลังงาน คือตัวจิต ไอ้ตัวความคิดนั้นอยู่ข้างนอกแล้ว ออกมาจากจิต แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเนี่ย ความคิดมาจากไหน? ความคิดมาจากจิต จริงไหม ความคิดมาจากจิต แต่เราใช้ปัญญาไล่เข้าไป ไล่เข้าไปๆ มันไปเกิดดับที่ไหน? มันไล่เข้าไปที่ตัวจิต ถ้าตัวจิต พอมันปล่อยแล้วมันเหลืออะไร? มันเหลือตัวจิตนะ

แต่ถ้าพิจารณานามรูปนี่ พลังงานน่ะ ตัวจิตน่ะมันออกมาที่ความรับรู้ พอรู้เท่ามันก็ดับ มันดับที่ไหน? ดับที่ความรับรู้ จริงไหมความคิด แล้วตัวจิตอยู่ไหน? ตัวจิตอยู่ไหน? ไม่มี เพราะเขาคิดว่าจิตเป็นนามธรรม ถ้าเข้าใจสิ่งที่รับรู้นามรูปแล้ว เข้าใจที่พลังงานนี้ เข้าใจที่ตัวนามรูปนี้แล้ว ตัวพลังงานไม่มี เพราะเป็นนามธรรม เพราะตรงนี้ไง เขาถึงไม่มีสมาธิไง เพราะเขา “ว่างๆ ว่างๆ”

คำว่า “ว่างๆ” ของเขา มันไม่มีใครเป็นเจ้าของความว่าง มันไม่มีภพ ไม่มีสถานที่ ภวาสวะ ตัวภพนี่ ตัวจิต ตัวพลังงานนี่ แต่ถ้าไปพุทโธๆ นี่ พุทโธเข้าไปมันจะเข้าถึงตัวพลังงานนั้น ปัญญาอบรมสมาธิเข้าถึงตัวพลังงานนั้น ตัวพลังงานนั้นคือฐีติจิต คือสมาธิ คือฐานที่ตั้ง คือตัวภพ กิเลส ๓ ภวาสวะ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ถ้าเข้าถึงภวาสวะ เข้าไปถึงสถานที่

ความคิดมาจากไหน? เราไล่ความคิดไปไม่ทันนะ โดยสามัญสำนึกของปุถุชนนี่เราก็เป็นอย่างนั้น เมื่อก่อนเราเคยคิดว่า ความคิดนี่ นามธรรมนี่มันจับต้องไม่ได้ นามธรรมสิ่งที่เราไม่มีไง ทุกคนจะคิดว่านามธรรมนี้ไม่มีนะ แต่ถ้าพอปัญญามันไล่เข้าไปๆ ไปถึงตัวนามธรรม เอ๊อะ! เฮ้ย ทำไมมันมีล่ะ? เฮ้ย ทำไมมันมี? เฮ้ย ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ?

จนเราขึ้นไปถามอาจารย์เลย “อาจารย์! ไหนบอกว่าจิตไม่มีไง”

ท่านถามเรากลับมา “แล้วใครบอกมึงว่าไม่มีล่ะ”

เราด้วยความเข้าใจของเรากันเองไง เราศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้านี่ อู้ย นามธรรม รูปธรรมมันจับต้องได้ นามธรรมมันเป็นนามธรรม นามธรรมคือนึกว่ามันไม่มีไง แต่พอจิตมันสงบเข้าไป เอ๊อะ! นี่ไงเราถึงว่า ผิดถูกนี่ ถ้าคนไม่เป็นจะไม่เข้าใจตรงนี้ไง เออ ช้าๆ ต้องช้าๆ ใช่ไหม ไม่ทันๆ อ้าวว่าไป

โยม : ตามที่ผมเข้าใจ ที่เข้าใจมันมีอยู่ ๒ อย่าง คือว่าพอความคิดมันเกิด เราจับความคิดให้ได้ก่อน จะดู จี้ไปเรื่อยๆ จี้ความคิดไปเรื่อยๆ ขับรถไล่ตามไป มันทันเมื่อไหร่มันก็ดับเมื่อนั้น กับอีกอันหนึ่งคือว่าเราจะคิดแต่เราก็บงการให้มันคิด แต่เราก็คล้ายๆ กับว่า สมมุติว่าคิดถึงอสุภกรรมฐาน ร่างกายเรามันเน่าเปื่อยอะไรอย่างนี้ เพื่อให้มันปลง ๒ อย่างนี้ใช่ได้ หรือว่ามันอันใดอันหนึ่ง?

หลวงพ่อ : อันใดอันหนึ่ง อันอสุภะนี่ถูก กรรมฐานนี่ถูก โยนงานให้มันคิดนี่ถูก

โยนงานให้มันคิดนี่ เพราะโยนงานให้มันคิดนี่ปัญญาอบรมสมาธิ เพราะโยนให้มันคิด พอมันคิดเสร็จ สิ้นสุดกระบวนการคิด ใครเป็นคนคิด? ตัวจิต เราเห็นมันเลย จับได้เลย

แต่ถ้านามรูปเห็นไหม เราตามรถไป เราขับรถตามรถไป เราเท่าทันรถก็ดับ รถก็จอด แล้วอู่อยู่ไหนล่ะ? จอดอยู่กลางถนนแล้วมึงไม่กลัวรถคันอื่นชนรถมึงเหรอ เนี่ยที่ว่าผิดๆ เราก็พูดอย่างนี้ เราจะอธิบายอย่างโยมคิดนี่แหละ เพราะนามรูปนี่เราตามนามรูปไป เราดูเท่าทันนามรูป เราฟังเขามาเยอะ ทุกคนจะดูตามเท่าทันนามรูปนะ แล้วนามรูปก็ดับ ก็เหมือนเราขับรถไปนะ เอ็งเข้ากรุงเทพฯนี่ ไปถึงเพชรเกษม แล้วมึงก็จอด แล้วมึงไปไหนกัน

โยม : เออนะ แล้วอย่าง อย่างที่ว่าพิจารณาอสุภะ การที่เราพิจารณานี่มันก็ ความคิดมันคือตัวปรุงแต่ง

หลวงพ่อ : ใช่

โยม : เราจะดับตัวปรุงแต่งตัวนี้ก็ต้องใช้ตัวปรุงแต่งไปดับมัน

หลวงพ่อ : ใช่

ดับมันด้วย ๑. เป็นการปรุงแต่ง ปรุงแต่ง นี่ไงที่เราบอกว่า ที่เขาบอกเขาพิมพ์หนังสืออสุภะแจกกันเห็นไหม เราบอกไม่เป็นอสุภะหรอก เห็นไอ้ที่เขาแจก มีคนปรารภนาดี เขาก็พิมพ์หนังสือเป็นอสุภะมาแจกกัน ให้นักปฏิบัติได้ดูอสุภะกัน นี่ไม่ใช่ปรุงแต่ง เพราะมันเป็นรูป กระดาษ มันเป็นวัตถุเห็นไหม หนังสือนี้เป็นวัตถุ ไม่มีใครไปอ่านมันก็ไม่รู้เรื่องของมันใช่ไหม

แต่ในเมื่ออสุภะเกิดจากจิต โยมใช้คำนี้ถูกใจมาก ใช้คำว่า “โยนความคิดให้มันคิด” โยนอสุภะให้มันคิด เพราะอะไร? คำว่าโยนอสุภะให้มันคิดคือสตินะ คือเราบังคับให้ทำงานนะ การภาวนาของเราเนี่ยถ้าเราไม่ตั้งใจเราจะมีภาวนาไหม เราตั้งใจทั้งหมด เราปรารถนาทั้งหมด เราเริ่มทำใช่ไหม เราถึง นี่โยนความคิดให้มัน

คำว่าโยนความคิดให้มันคือเราคุยกับจิตนะ เราจะค้นคว้ากิเลสของเราเอง เราก็จะเอากิเลสของเรานี่ออกมาตรวจสอบ ฉะนั้นเราก็เอาอสุภะโยนเข้าไปให้มัน ทีนี้ถ้ามันออกมาอสุภะปั๊ป อสุภะมันคืออะไร ถ้ามันไม่มีสตินะ อสุภะมันไม่ยอมรับหรอก มันคิดไปอย่างอื่นไป แต่ถ้ามีสติแล้วเราควบคุมมัน มันจะเป็นอสุภะ เห็นไหมนี่ปัญญาอบรมสมาธิ

มันออกมาคิดอสุภะนะ อสุภะความคิด คิดถึงอสุภะคิดถึงเรื่องร่างกายเรา คิดถึงอสุภะก็คิดถึงชีวิตเรานี่แหละ เพราะชีวิตเราก็คือคนนี่แหละ อสุภะคือร่างกายมนุษย์นี่ พอมันคิดเข้าไปมันก็สะท้อนไง สะท้อนถึงชีวิต สะท้อนถึงมุมมองของเราไง พอมันสะท้อนเข้าไปนี่สติสำคัญตรงนี้ สำคัญตรงความคิดมันมีสติควบคุม พอมันสะท้อนใจนี่ คำว่าสะท้อนใจมันสะเทือนใจนะ ถ้าสะเทือนใจนี่ปลงธรรมสังเวช ธรรมะ ธรรมสังเวช ทั้งธรรมะด้วย ทั้งสังเวชด้วย สังเวชในชะตาชีวิตเราไง

เพราะสังเวชในชีวิตเรา ชีวิตเราคืออะไรล่ะ? ชีวิตก็คือปฏิสนธิจิต ชีวิตก็คือภพ ชีวิตก็คือใจ พอย้อนกลับมา อ๋อ นี่เราพูดบ่อยเห็นไหม เราบอกว่า นี่โยมชื่ออะไรกันนี่ อยู่ในทะเบียนบ้าน โยมไปเปลี่ยนชื่อสิ ก็ชื่อใหม่แล้ว แล้วโยมอยู่ที่ไหนล่ะ ลองจับสิ อยู่ที่ไหนลองชี้ทีโยมอยู่ที่ไหน ลองชี้ไปสิ ชี้ตรงไหนก็ผ่าตัดเปลี่ยนออกหมดเลย ผ่าตัดทิ้งเลย เป็นเราได้ยังไง เพราะเป็นอวัยวะ ชี้สิตรงไหนเป็นเรา ชี้สิ ผมเป็นเราเหรอ แม่งโกนทิ้งเลย อ้าวขนเป็นเราโกนทิ้งหมดล่ะ พอโกนเป็นเราไหม? ไม่มีอะไรเป็นเราเลย

แต่พอจิตสงบน่ะ โอ้โฮ เราอยู่นี่เอง ตัวปฏิสนธิจิตน่ะ แต่นี้โยนงานให้มันคิด พอมันสิ้นกระบวนการของมันคิด คือมันแสดงตัวออกมาไง แล้วพอแสดงตัวออกมานะ พอความคิดเราใช้ธรรมะเข้าไปสะสางไง มันขาวสะอาดไง พอขาวสะอาดทั้งสติ ทั้งตัวจิต ทั้งสติทั้งปัญญา ปัญญาอย่างนี้เป็นสมถกรรมฐานนะ ปัญญาอย่างนี้ปัญญาอบรมสมาธินะ เพราะเราใช้คำว่าปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม แล้วคิดดู รถวิ่งไป ความคิดแล่นออกมา แล่นตามความคิดไป จอดแม่งกลางถนนเลย แล้วอู่มึงอยู่ไหน รถนี้ออกมาจากไหน?

มันถึงเวลามาพูดที่นี่ “ว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ” กูละปวดหัวว่างๆ เนี่ย มันไปจอดอยู่กลางถนนนะ แล้วก็เคว้งคว้างอยู่กลางถนนนะ ว่างๆ ว่างๆ

เพราะมันขาดสติ เราถึงบอกว่าเป็นมิจฉาสมาธิไง เราเจออย่างนี้มาเยอะ แล้วพอว่างๆ นะ เขาเถียงนะ ลูกศิษย์ที่เป็นอภิธรรมเยอะมาก เพราะเขาจะเปลี่ยนความคิดไง เขาบอก “หลวงพ่อ มันไม่ใช่ว่างๆ ธรรมดาหรอก จิตมันจะละเอียดเข้าไปอีก มันละเอียดเข้าไปนะ มันจะแบบว่านะ อภิธรรมเขาจะมีเป็นปิติ เป็น..”

เราบอก “สร้างภาพทั้งนั้นล่ะ”

จิตนี้มันมหัศจรรย์มาก อาจารย์เขามาจากพม่า เขาจะบอกเลย จิตจะเป็นอย่างๆ นั้น โอ้โฮ ลึกลับมหัศจรรย์นะ เขาว่าของเขาน่ะ แต่ประสาเรานะ มึงยังไม่รู้จักจิตหรอก ถ้ารู้นะ เกิดมาทุกคนเป็นคนดีหมดล่ะ เพราะอยากเป็นคนดีหมดเลย แล้วควบคุมตัวเองได้ไหม? มันแถไปไหนได้ตลอด ทุกคนจะเป็นอย่างนู้นอย่างนี้หมดล่ะ นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริงเราต้องคุมเราได้ แล้วมันจะควบคุมใจได้ ประสาเราถ้าเป็นความจริงนะ พวกมึงเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว

เพราะเป้าหมายของผู้ที่ปฏิบัติคือสิ้นกิเลส แต่กูไม่เคยเห็นพวกมึงคนไหนภาวนาเป็นสักคน เนี่ยมันสำคัญตรงนี้ไง เราจะบอกว่า สำคัญว่าถ้าคนเป็นนะ คนเป็นคนเข้าใจมันจะสอนไปชี้ไปที่ดีงามหมด ทีนี้คนเราไม่เข้าใจ แต่ธรรมะพระพุทธเจ้ามีไง เวลาเราพูดนะเราบอกว่า เราคัดค้านมากวิทยาศาสตร์นี่ พวกเรานี่ปัญญาชน แล้วพวกเรานี่มีปัญญา เราก็เอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาตั้ง คือเราทำวิจัยไง ทำวิจัยธรรมะไง

เราจะบอกว่าในอภิธรรมนี่เรายอมรับนะ พระไตรปิฎกนี่ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก อภิธรรมปิฎก เรายอมรับหมด เพราะอภิธรรมปิฎกนี่มันเป็นแบบว่าพระพุทธเจ้าปฏิบัติแล้ว มันเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต วิทยาศาสตร์ทางจิตคือผลของจิตที่มันสะอาด มันเป็นอย่างนั้น แต่พวกเราเนี่ยจิตมันสกปรก จิตเรามันโดนอวิชชาครอบงำอยู่ มันต้องมีวิธีการทำเข้าไปสู่ความเป็นจริงอย่างนั้น

แต่นี้เขาเอาความเป็นจริงอย่างนั้น แล้วเราพยายามจะบังคับให้จิตเราให้เป็นอย่างนั้น มันเลยไม่เป็นอย่างนั้น เราไม่ได้คัดค้านพระไตรปิฎกนะ ไม่ได้คัดค้านอภิธรรมในตู้ แต่เราคัดค้านคนที่เอาอภิธรรมมาปฏิบัติ แต่ตัวอภิธรรมเราไม่คัดค้าน

โยม : ปัญญาอบรมสมาธิ ที่ว่าคิดอยู่นี่ มันก็คือหลักการเดียวกับการวิปัสสนา

หลวงพ่อ : ไม่ อ้าว ว่าไป

โยม : ไอ้ตรงนี้คือสัญญา?

หลวงพ่อ : ไม่ อ้าวว่าไปเลย พูดให้จบมา

โยม : ไม่เหมือนกันเหรอครับที่ว่าการไล่ลงมา

หลวงพ่อ : ไม่ มันหลักการเดียวกัน แต่ผลไม่เหมือนกัน เพราะว่า เนี่ยคนภาวนาไม่เป็นมันจะไม่รู้ เราจะอ้างคำว่าเป็นหรือไม่เป็นตลอด เพราะถ้าไม่เป็นเนี่ย คนไม่เป็น ไม่เข้าใจนี่ อธิบายด้วยความคลาดเคลื่อน คนเป็นนะ เพราะเราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ตลอด เพราะเราวิหารธรรม เราอยู่กับธรรมะตลอด ธรรมอย่างนี้ หลวงตาบัว หลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะนี่ท่านพูดท่านเทศน์มานี่เหมือนกันเปี๊ยบเลย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา

เป็นได้ทั้งสมถะ เวลาเราคิดพิจารณาด้วยปัญญาอย่างนี้มันเป็นสมถะ พิจารณาซ้ำเข้าไปเป็นสมถะ สมถะคือพิจารณาไปแล้วเหมือนกับที่ว่าเมื่อกี้ เราโยนอสุภะให้จิตมันคิด พอมันคิดเสร็จแล้วนี่ หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนนะ บอกให้เดินในกาย เดินในข้อ ท่านบอกว่า “เดินในข้อนี่เป็นสมถะนะ” นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ คือให้จิตมันสงบ

แล้วถ้าจิตมันสงบแล้วนี่ เราคิดนะ เราคิดถึงข้อกระดูกเห็นไหม ข้อกระดูกนิ้ว ข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่ จากหัวไหล่ซ้ายแล้วมามือนี้ ย้อนกลับมา ขึ้นไปบนศีรษะลงมากระดูกซี่โครง กระดูกไขสันหลัง กระดูกลงไป วนลงมาถึงนิ้วเท้า แล้วถ้าจิตมันดีมีสมาธินี่จิตมันจะคิดเห็น มันจะเห็นภาพ มันจะคิดได้ แต่ถ้าจิตมันไม่สงบ มันไหลออก พอคิดเรื่องข้อเท้า เรื่องสะบ้า มันคิด “โอ้ สะบ้าเขาโยนน่ะที่เขาเล่นสะบ้ากัน” มันพุ่งออกนู่น ถ้าไม่มีสมถะ

ความคิดอันหนึ่ง หลักการเดียวกัน แต่อันหนึ่งเป็น หลวงตาท่านก็บอก หลวงตากับหลวงปู่เจี๊ยะท่านพูดเหมือนกันว่า ปัญญา เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธินี่ ปัญญาอันหนึ่งเป็นปัญญาสมถะ แต่เพราะจิตมันสงบ พอสมถะคือจิตมันสงบ จิตมันเข้าไปถึงหลักเกณฑ์ของเรา พอจิตของเราสงบแล้ว พอจิตของเราออกใช้ปัญญาอีกที ถึงเป็นวิปัสสนา หลักการเดียวกัน แต่! แต่เพราะทีแรกเราเห็นไหม เราคิดอย่างนี้ เราคิดโดยสามัญสำนึกเรา แต่พอจิตเราสงบนี่มันมีตัวจิต ตัวจิตที่มันเป็นฐีติจิต จิตที่กิเลสมันอยู่นั่น แล้วมันออกใช้ปัญญา วิปัสสนาเกิดตรงนี้

เราถึงแยกให้เห็นไง เราแยกเห็นไหม โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา

โลกียปัญญา โดยสามัญสำนึก แต่ทีนี้พอเราปฏิบัติกันที่ว่าอภิธรรมนี่ จิตต้องใสสะอาด ไม่มีความอยากค่อยปฏิบัติ ต้องจิตกี่ดวงร้อยดวงพันดวงน่ะ เขาไปเอาค่าความสะอาดของมันมาก่อน พอเอาค่าความสะอาดมันมาก่อนแล้ว เทียบถึงชีวิตเราความเป็นจริงของเราสิ ในจิตเราเนี่ยมันสะอาดได้จริงไหม มันไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราเกิด เพราะเราเกิดนี่ปฏิสนธิจิตมันมีอวิชชาโดยธรรมชาติของมัน

อวิชชานี่มันเป็นอนุสัย มันนอนเนื่องกับจิต มันเหมือนกับผ้านี่ เดิม เดิมนี้เป็นผ้าขาว เขาถวายมาเป็นผ้าขาวหมดล่ะ เราตัดเสร็จแล้วเอามาย้อม พอย้อมเสร็จแล้วมาเป็นผ้าสีกรัก ผ้าสีกรักกับผ้าขาวอยู่ที่ไหน? นี่ไง แล้วบอกว่าต้องเป็นผ้าขาว ใช่! เดิมเป็นผ้าขาว แต่เพราะย้อมเป็นสีกรัก ปฏิสนธิจิตมันมีอวิชชา มันมีสีกรัก สีกรักกับผ้านี่มันฟอกได้ สีมันจะออกได้ อวิชชาที่จิตนี่ พอมันวิปัสสนาไป มันชำระกิเลสได้

แต่ขณะที่เรายังไม่ชำระกิเลส ถ้าเอาผ้าผืนนี้มาวางเป็นสิ่งที่ถามปัญหาขึ้นมาว่า “ผ้านี้สีอะไร?” เถียงกันตายเลย เราบอกผ้าขาว โยมบอกนี่ผ้าสีกรักเว้ย

เดิมมันเป็นผ้าขาว แต่พอย้อมสีไปแล้วนี่ จิตก็เหมือนกัน จิตเดิมแท้อะไรต่างๆ นี่ มันต้องยอมรับว่าตอนนี้ผ้าเป็นสีกรัก แล้วเราจะทำอย่างไรให้ผ้าเป็นสีขาว นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะเอามาตั้งแบบ นี่คือผ้าสีขาว แล้วมันคือผ้าสีขาว แล้วเราจะแก้ไขได้ถูกไหมว่ามันเป็นสีขาวแล้ว แต่ถ้ามันเป็นสีกรัก เราจะทำอย่างไรให้มันเป็นสีขาว เราจะแก้ไขอย่างไร?

กลับมาที่อวิชชา กลับมาที่เราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วนี่มันมาจากอวิชชา อนุสัยนอนเนื่องมันเป็นเนื้อเดียวกับจิต แล้วมึงจะบอกว่า มันเป็นอภิธรรมมันต้องสะอาด มันต้องไม่มีความอยาก มันกลับกันตรงนี้ไง แต่ครูบาอาจารย์เรานี่ยอมรับว่าผ้าสีกรัก พอยอมรับปั๊บทำความสงบของใจเข้ามา

เขาบอกยอมรับนี่ไม่ได้ มันมีความอยาก เราถึงบอกคนเป็นกับคนไม่เป็นมันต่างกันตรงนี้ คนเป็นหมายถึงว่าหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเรานี่ มันจะใครเป็น? มันไม่มีใครเป็นหรอก ก็เกิดมาด้วยกันนี่แหละ แต่หลวงปู่มั่นท่านสร้างบุญญาธิการของท่านมา ท่านหัดทดสอบของท่านมา ท่านปฏิบัติของท่านมา ผิดอย่างไร? ถูกอย่างไร? ท่านแก้ไขของท่านมา แล้วท่านไปแก้หลวงปู่เสาร์ แล้วก็มาแก้ครูบาอาจารย์เรา แก้เจ้าคุณอุบาลี แก้มาหมด พอแก้เสร็จแล้วท่านก็วางรากฐานให้พวกเรามา แล้วเราก็ทำกันมา

แต่ทางอภิธรรมนี่มาจากไหน? มาจากพระไตรปิฎก แล้วพระไตรปิฎกใครเป็นคนบอก ก็มึงกับกูเขียนกันขึ้นมาเองไง มึงก็ลอกมา กูก็ลอกมาไง แล้วก็บอก “พุทธพจน์ พุทธพจน์”

เราบอกพุทธพจน์ไม่เถียง พุทธพจน์ไม่เถียงหรอก แต่กูเถียงคนพูดพุทธพจน์น่ะ หึหึ ก็มึงก็ลอกมา กูก็ลอกมา แล้วกูก็ดูมา ดูมาก็วางไว้ โธ่ หลวงปู่มั่นนะ หลวงตาท่านไปหาน่ะ หลวงปู่มั่นท่านบอกเลยว่า “ธรรมของพระพุทธเจ้าเชิดชูบูชาไว้บนศีรษะ” พระไตรปิฎกเทิดทูนไว้บนศีรษะ เราไม่ได้จาบจ้วง ไม่ได้ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ได้กระทำให้มันไม่มีค่า แต่คนไปยึดมันแล้วเอาสิ่งนั้นมาอ้างอิง แล้วไปเสริมกิเลสของตัว ให้กิเลสของตัวมันเข้มแข็งขึ้นมา

แต่ถ้าเรายอมรับความจริง เราปฏิบัติตามความเป็นจริง อันนั้นต่างหาก เราซื่อสัตย์กับธรรมะ นี่ไงถึงบอกว่า ไอ้การก้าวย่างนี่มันเป็นกิริยาไง แล้วประสาเราเลยนะ คนจะชี้ให้เห็นความต่างนี่ยากมาก อย่างที่โยมพูดน่ะ โธ่ เราก็เห็น แล้วก็อ้างอิง เราจะอ้างหลวงปู่มั่นตลอด การเหยียด การคู้ หลวงปู่มั่นจะตั้งสติตลอดนะ สติสำคัญมาก นี้คนเรามันก็ดื่มกินเหยียดคู้ชีวิตประจำวันนี่ล่ะ ก็ตั้งสติไว้แล้วสู้กับมัน

แล้วสู้กับมันนี่สู้อะไร? สู้กับมันคือสู้กับความต้องการ ความเบื่อหน่ายไง ใครทำอะไรก็เบื่อหน่ายไม่อยากทำหรอก เราสู้กับมันตั้งสติไว้ แล้วเวลามันหดสั้นเข้ามาๆ หดสั้นเข้ามานะ พลังงานน่ะ ออกจากพลังงาน ดูไฟสิ เราเปิดสวิตซ์มันไปสว่างเอาที่ดวงเทียนนู่นน่ะ แล้วมันไปยังไง

ความคิดนี่เวลามันออกไป จากพลังงานออกมาที่ความคิดเรานี่ สติเราตามเข้าไปเรื่อยเลยล่ะ มันหดสั้นเข้ามาๆๆ มันไล่กลับไง ทวนกระแสไง หดสั้นเข้ามาๆ พอไปถึงตัวจิต แล้วมึงจะรู้ว่าสมาธิคืออะไร

“สมาธิไม่มีความหมาย สมาธิไม่มีความจำเป็น สมาธิทำให้เนิ่นช้า” แล้วคำนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติโลเลมาก “สมาธิทำให้เกิดนิมิต สมถะนี้ร้ายมากจะเกิดนิมิต จะเสียหาย”

นิมิตมันเป็นเครื่องหมายบอก นิมิตไม่เกี่ยวกับสมาธิ เพราะจิตเป็นสมาธิถึงเห็นนิมิต เพราะพอเห็นนิมิตไปตื่นกับนิมิต ทำไมไม่ตื่นกับตัวจิตล่ะ ถ้าจิตไม่สงบจะเห็นนิมิตได้ยังไง ถ้าเห็นนิมิตแล้วไปตื่นนิมิตทำไม? เวลาเรากินอาหารนี่เราไปโทษอาหารเป็นพิษๆ แล้วใครเป็นคนกินมันล่ะ ถ้าอาหารเป็นพิษ ก็กูไม่กินมันก็ไม่เป็นพิษกับกูไง

ถ้าจิตมันสงบแล้ว สิ่งที่เป็นพิษใช่ไหม นิมิตเป็นพิษ เราก็ไม่ไปติดสิ่งที่เป็นพิษนั้น เราก็รักษาเราสิ มันเป็นข้อเท็จจริงที่มันเป็น แล้วมันเป็นเฉพาะบุคคลนะ เรานั่งกันอยู่ ๔ คนนี่ ๕ ทางนู้นด้วยเดี๋ยวมันจะว่าไม่ได้นั่ง

เราภาวนาด้วยกัน บางคนเห็นนิมิตบางคนไม่เห็น แล้วบอกจะเห็นเหมือนกันนี่ ตรงนี้เราถึงค้านในการปฏิบัติของอภิธรรม อภิธรรมนี่เรานั่งกันอยู่ ๕ คน ต้องนามรูป ต้องสงบเหมือนกัน ต้องปล่อยวางเหมือนกัน คือกรอบที่อันเดียวกัน แต่ในการปฏิบัตินี่ เรานั่งอยู่ ๕ คนนี่ ๕ กรอบนะ กรอบคือโลกทัศน์ พันธุกรรมของจิต เม็ดพันธุ์ของจิตที่มันมาหลายหลาย เม็ดพันธุ์ของใคร กรอบของใคร พันธุกรรมของใคร มันจะแสดงออกตามนั้น

ถ้าไปกำหนดนามรูป หรือกำหนดพุทโธ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น มันก็คืออย่างนั้น เราพูดบ่อยกับพวกโยมทั่วไป เม็ดพันธุ์นี่ของโยมเม็ดทุเรียน นี่เม็ดส้ม นี่เงาะ ไอ้นี่มะขาม ไอ้เราลำไย ปลูกออกมามันก็เป็นอย่างนั้นทั้งนั้นน่ะ เห็นโยมปลูกด้วยกัน ไอ้นี่มันลงทุเรียนออกเป็นทุเรียน อ้าว ของกูทำไมไม่เป็นทุเรียนล่ะ กูจะเอาทุเรียนให้ได้เลย ตีโพยตีพาย มึงก็บ้าน่ะสิ มันจะไม่เหมือนกันหรอก

การปฏิบัติที่จะให้เหมือนกัน ไม่มี! ไม่มี!

ถ้าให้มีนะ เอกนามกึง พระพุทธเจ้ามีได้องค์เดียว การปฏิบัติเนี่ยพระพุทธเจ้ามีได้องค์เดียว พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเห็นไหม จะไม่เสมอพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรก็เป็นพระสารีบุตร ไม่มีพระสารีบุตรที่ ๒ พระสารีบุตรก็มีพระสารีบุตรองค์เดียว พระสารีบุตรที่ ๒ ไม่มี

สามเณรราหุล ลูกศิษย์พระสารีบุตรก็มีอยู่องค์เดียว นี่ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ นี้ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงเขาจะแก้ไขไปตามนั้น แต่นี้พออภิธรรมเห็นไหม สูตรสำเร็จ ต้องกำหนดเหมือนกัน ต้องเป็นเหมือนกัน แล้วดีอย่างหนึ่ง เขาไม่ปฏิญาณ เขาไม่ให้ค่าว่าเป็นอริยบุคคล เป็นพระอรหันต์ เป็นสกิทาคา อนาคา เขาไม่ให้กันอยู่ ถ้าเขาให้นะ เป็นหมดเลย เพราะมันรสเดียวกัน รสชาติเดียวกัน

ดีอย่างหนึ่งที่ว่าไม่ให้บอก เป็นพระอรหันต์เหมือนกันหมดเลย แต่อันอื่นเขามีนะ เขาให้ค่ากัน โอย เศร้าใจ มันจะมีมันจะเป็นมันจะเป็นไปตามข้อเท็จจริงนั้น แน่ะดูสิอย่างอภิธรรมเห็นไหม ต้องสอบอารมณ์ๆ ประสาเราเลย โทษนะ มึงจะเอาอารมณ์อะไรมาส่งวะ อารมณ์จะเกิดทุกวันเหรอ อารมณ์ที่เป็นจริงนะ อารมณ์ทุกข์นี่เกิดทุกวัน อารมณ์ความคิดนี่เกิดทุกวัน แต่อารมณ์จิตที่มันสงบมันจะเกิดบ่อยๆ เหรอ

เราปฏิบัติกันเกือบเป็นเกือบตาย กี่ปี กี่สิบปีจะได้สักหน ส่งอารมณ์เช้า ส่งอารมณ์เย็นเนี่ย มันเป็นการเสียเวลา เพราะในการปฏิบัติเขาต้องการความสงัด ต้องการความต่อเนื่อง แล้วมาส่งอารมณ์กันนะ บางสำนักเขามาเล่าให้ฟัง เวลาส่งอารมณ์กันน่ะ ห้ามคุยกัน ห้ามเจอกัน แล้วก็มานั่งกองกันนะ ต่างคนต่างกระมิดกระเมี้ยนหลบกันไปหลบกันมา เขามาเล่าให้ฟังอยู่

แต่สำหรับเราไม่ต้อง ความรู้สึกของเรามันจะฟ้องเอง ปัจจัตตัง เว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่เวลาเราปฏิบัติแล้วมันมีปัญหา หรือจิตใจนี่มันมีปัญหาแล้วตัดสินใจเองไม่ได้ เอ็งมาหานี่ เอ็งมาหาอาจารย์นี่ เดี๋ยวอาจารย์เคลียร์ให้ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นอย่างนั้น แล้วไม่ต้องให้เอ็งมาเคลียร์หรอก พอภาวนามาเป็นไง อาจารย์รู้ก่อนแล้ว อาจารย์จะบอกไว้เลย เพราะตามข้อเท็จจริง โยมจะมาที่นี่ จากกรุงเทพฯ มานี่มันก็ต้องมาถนนสายนี้ ถึงสี่แยกไหนๆ เขารู้หมดล่ะ

จิตที่มันจะภาวนานะ มันไปในเส้นทางเดียวกัน โสดาบัน สกิทาคา อนาคา พระอรหันต์ เหมือนกันหมดเลย เหมือนกันโดยผลนะ แต่วิธีต่างกันๆ เมื่อกี้เราปฏิเสธใช่ไหมว่าเหมือนกันไม่ได้ แต่ทีนี้บอกว่าเหมือนกันน่ะ เหมือนกันโดยผล อริยสัจมีหนึ่งเดียว

โยม :แล้วอย่างเวลานั่งแล้วเวทนามันเกิด มันหมายความว่าสมาธิเราลด หรือเวทนามันเกิดขึ้น

หลวงตา : ทั้งสองอย่าง เวทนามันแรงขึ้น ส่วนใหญ่เวทนามันแรงขึ้น แต่ แต่มันอยู่ที่บางทีเราจิตใจเราดี ถ้าจิตใจเราดีนี่ จิตใจเราสดชื่น บางวันนี้มันสดชื่นมากเลย เวลานั่งเวทนาไม่มา จิตเราสงบก่อน แต่วันไหนถ้าเราประมาท เวทนามันมาแล้วเราสู้ไปอย่างนี้ เราสู้ไปนี่ คำว่าสู้เนี่ยมันเป็นประสบการณ์ไง อย่างที่โยมพูดเมื่อกี้นี้ว่า “โยนปัญหาให้มันคิด” แต่นี้ถ้าเราสู้นะ เราตั้งใจไว้ก่อน

เรานี้เป็น ใหม่ๆ เราปฏิบัตินี่ เรานี้มันคนจริง ถ้านั่งแล้วคือนั่ง เรานั่งทีนี่หลายชั่วโมง บางทีพอนั่งไปแล้วมันประมาทไง เพราะเรานั่งบ่อยใช่ไหม มันก็ อื้ม สบายมาก โอ๋ย กูคุมได้หมดล่ะ มันก็เผลอ มันก็ปล่อยตามสบายไง ๓-๔ ชั่วโมงพอมันมานี่ โอ้โฮ เอาไม่ทัน ปวดมาก แต่ถ้าเราขึ้นต้นนะ พอเรานั่งเราไม่ประมาทนะ เราตั้งสติก่อน พุทโธก่อน สติให้ดีก่อน มันมาไม่ได้ จิตเราลงก่อน

บางทีประมาท เราเจอบ่อย บางทีแบบว่าชะล่าใจ เหมือนคนชะล่าใจ สบายมาก พอเราไปสักพัก โอ้โฮ มันมานะเจ็บมาก เจ็บมาก แต่เราไม่ เจ็บก็คือเจ็บ ก็มึงเสือกออกมาเอง พอเจ็บก็ใส่กับมันเลย พอใส่กับมันปั๊บเนี่ย เราจะพูดให้โยมฟังตรงนี้ แต่พอเวทนามันเกิด แล้วจิตเราได้พิจารณา แล้วพอมันปล่อยหรือว่ามันไม่มีอำนาจเหนือจิตเรา จิตเราจะเข้มแข็งขึ้นมามาก

แต่ถ้าเราไม่มีตรงนี้ เราไม่มีความเข้มแข็งเนี่ย เราจะยอมแพ้ตลอด เราจะโดนเวทนา โดนกิเลสนี่มันต้มมันยำ มันยำลาบหัวใจเราเล่นตลอด แต่ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ปั๊บนี่ มันจะเข้มแข็ง เขาเรียกจิตฮึกเฮิมอาจหาญ มันจะสู้ได้ แล้วมันไม่ใช่สูตรสำเร็จ บางทีมันก็มามาก บางทีก็มาน้อย บางทีเราก็ชนะมันก่อน เราจิตลงก่อนเวทนายังไม่มาเห็นไหม

มันไม่มีสูตรสำเร็จหรอก ทีนี้เราต้องไปเป็นปัจจุบันตลอด ถ้าจิตเรามีสติของเราแล้วเราสู้กับมันตลอด

โยม :เวลามันปวด แล้วพอเราออกจากสมาธิ มันจะปวดต่อไหมฮะ

หลวงพ่อ :ไม่ปวด เวลาลุกหายแล้ว

โยม : ผมปวด

หลวงพ่อ :เดี๋ยวค่อยๆ พูดนะ ปวดต่อหมายความว่า

โยม :คือตอนแรก เราก็นึกว่า ก็คือว่าเหมือนเล่นเกม

หลวงพ่อ :จบแล้วคือเลิก

โยม :ก็ปวด นั่งปวดพอลุกก็หาย จบกันไปไม่มีอะไร นั่งแล้วมันก็ปวดขึ้นมา

หลวงพ่อ :นั่งที่ไหน? ออกมาแล้วใช่ไหม?

โยม :ไม่ๆ ตอนนั่งสมาธิมันก็ปวด มันอย่างเร็วไง

หลวงพ่อ :ใช่ๆ

โยม :สมมุติ นั่งจนจะระเบิดแล้ว ทนมันไปเลย สู้มัน ก็นั่งไปมันก็ปวดเท่าเดิม แรงขึ้นเท่าเดิม เราก็กระดิกขา ตอนแรกก็กระดิกมันก็เท่าเดิม แล้วก็เอาขาลง มันก็ยังเท่าเดิม มันไม่ปล่อย ผมว่าพับเพียบแล้วไม่ไหวแล้ว พับเพียบมันก็ไม่หาย

หลวงพ่อ :ไม่หายหรอก คำว่าหายกับเรา คำว่าหายกับโยมนี่มันคนละเรื่องกันแล้วเนี่ย คนละเรื่องเดียวกันคุยกันเนี่ย

คำว่าหายของเราหมายถึงว่า เวลาเรานั่งนี่มันปวดใช่ไหม หรือมันแล้วแต่ เราลุกขึ้นมันก็หาย แต่ถ้าเรานั่งไปแล้วนี่ พอเรานั่งคราวนี้ปวดใช่ไหม นั่งคราวหน้าก็ปวด ไม่มีหายหรอก เราไม่ใช่คนตายนิ

โยม :ไม่ใช่คราวหน้าฮะ คือพอลุกออกมาแล้วเนี่ย มันเหมือนเส้นพลิกหลวงพ่อ

หลวงพ่อ :เส้นไหน? ว่าไป ต่อไป

โยม :พอลุกขึ้นมายืนแล้ว มันเหมือนเส้นยึด มันจี๊ดเลย มันเป็นอยู่ ๔ – ๕ วัน เวลาเดินขยับทีก็จี๊ดที ขยับทีก็จี๊ดที

หลวงพ่อ :อันนี้ไม่ใช่เวทนาแล้ว อันนี้มันเป็นเรื่องของร่างกายแล้ว เพราะโยมใช้คำว่าเส้นพลิก ใช่ มันเป็นไปได้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้

โยม :ผมก็นั่งธรรมดา

หลวงพ่อ :ไม่ ไม่ นี่เป็นอุบัติเหตุ เราจะแก้ เพราะถ้าไม่งั้นเดี๋ยวจะบอกว่าภาวนาแล้วเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ใช่ นี่จะอ้างไง เดี๋ยวบอกว่าวันหลังนั่งไม่ได้แล้ว เดี๋ยวเส้นจะพลิกอีก ไม่มีนะ เส้นจะพลิกไม่พลิกนี่ เส้นจะเป็นไปนี่ มันเป็นไปได้ ถ้ามันเป็นไปได้ เราก็รักษาอาการนั้นไป แต่ถ้ามันเป็นโดยปกติ เส้นเป็นปกติเรานั่งอยู่นี่ เจ็บปวด-ไม่เจ็บปวด แล้วเราพิจารณาของเราแล้ว ถ้ามันปล่อยก็คือปล่อย ลุกก็หายไป หรือถ้ามันจะปวดขนาดไหนนะ เห็นไหม โยมขยับนี่ โยมกระดิกเท้ามันยังหายเลย ถ้าขยับนี่หายหมด

แต่ถ้าเส้นมันพลิก มันเป็นเรื่องของร่างกาย อย่างเช่นเรานั่งนี่ โดยวิทยาศาสตร์เห็นไหม พวกเรานั่งกันแล้วนี่ ทางหมอจะบอกเลยนะ มันทับเส้น เลือดลมมันไม่เดินมันจะปวด อันนั้นเราไปคิดเป็นวิทยาศาสตร์นะ เราใจอ่อนแล้วเราสู้ไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราคิดเป็นธรรมะนะ เรารักษาใจของเรา ร่างกายคือเป็นอย่างนี้ ครูบาอาจารย์น่ะ หลวงปู่ตื้อนั่งที ๗ วัน ๗ คืน

๗ วัน ๗ คืนเลยนะ ไม่มีใครทำได้ หลวงปู่ตื้อนี่ทำประวัติไว้ อยู่ในประวัติหลวงปู่มั่น นั่งทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืน คนนั่งอยู่ ๗ วัน ๗ คืนนี่ร่างกายเลือดลมมันจะเดินไหม ไม่พิการไปแล้วหรอ หลวงปู่ตื้อท่านไม่เห็นเป็นไรเลย

แล้วบอกว่า ถ้าจิตมันถอนมาจากร่างกายนี่มันจะเป็นอิสระของมัน ไม่เกี่ยวกับร่างกาย แต่ขณะที่เราลุกขึ้นมาแล้วเส้นมันพลิกอะไรนี่ มันเป็นอุบัติเหตุได้ ถ้าเป็นอุบัติเหตุหรือมันเป็นเรื่องของร่างกายที่เจ็บไข้ได้ป่วย โยมต้องไปรักษาตามนั้น ถ้าเส้นพลิกนี่เดี๋ยวเราจะแนะนำไปหาหมอ

โยม :คราวนี้เราแยกยังไงว่าเวทนาที่เกิด มันเกิดจากเส้นพลิกหรือว่าเกิดจากเรานั่งนานๆ แล้วมันเกิดขึ้นมา เดี๋ยวก็หายไปเอง

หลวงพ่อ :หายไปเองคือเวทนาปกติ

โยม :แล้วทีนี้ ผมก็ทนไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้มันอะไร มันก็ปวดเหมือนกัน เราก็ทนไป

หลวงพ่อ :ทนเฉยๆ นี่ต้องใช้ปัญญาสิ ทนเฉยๆ หลวงตานะ ท่านพูดอย่างนี้ ท่านพิจารณาเวทนา แล้วมันปล่อยหมด ทีนี้บางทีบางคืนท่านพิจารณาเวทนา ทีนี้พอท่านพิจารณาเวทนาแล้ว มันเหนื่อยมาก พอเหนื่อยมากน่ะท่านก็ใช้แบบว่าใช้สติยันไว้ไง เขาเรียกขันติอดทนไว้เฉยๆ ทนไว้ พอทนไว้เฉยๆ สุดท้ายแล้วพอถึงเวลาเย็น ท่านก็ไปทำข้อวัตรให้หลวงปู่มั่น ทีนี้หลวงปู่มั่นท่านรู้ไง

หลวงปู่มั่นท่านถามว่า “มหา มหาพิจารณาอย่างไร?”

ทีนี้หลวงตาท่านเป็นลูกศิษย์ที่เคารพครูบาอาจารย์มาก ท่านจะไม่ค่อยต่อล้อต่อเถียง ท่านจะฟังว่าหลวงปู่มั่นว่าอย่างไร หลวงปู่มั่นก็พูดต่อ “มหา มหาพิจารณาอย่างไร” ท่านก็เฉยใช่ไหม

“พิจารณาแบบหมากัดกัน พิจารณาอย่างนั้นได้ยังไง การพิจารณาก็ต้องต่อสู้สิ ต้องใช้ปัญญาเข้าไปไล่ต้อนมันสิ เราไปยันไว้เฉยๆ อย่างนั้นได้อย่างไร?”

ทีนี้หลวงตาท่านก็เก็บไว้ในหัวใจไง ทีนี้ท่านมาเล่าให้ฟัง มาเล่าให้พวกเราฟัง บอกว่า ความจริงน่ะท่าน ถ้าหลวงปู่มั่นนะท่านส่งจิตมาดูก่อนหน้านั้น ก่อนหน้านั้นคือท่านใช้ปัญญาเข้าไปต่อสู้กับมัน แล้วต่อสู้กับมันจนเต็มที่แล้ว ท่านเหนื่อย คือท่านใช้ปัญญามาก ท่านก็พัก คือว่ายันไว้ก่อนไง ยันไว้คือทนไว้ไง

หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า “พิจารณาอย่างนี้ได้อย่างไร? พิจารณาอย่างกับหมากัดกัน”

การทนของเราเนี่ย เวลาเราปฏิบัติ เราจะบอกว่ามันเป็นเทคนิคอันหนึ่ง เทคนิคเวลาเราผ่อนปรน เหมือนมวย นักมวยเวลามันสู้ไม่ไหวมันจะกอดคู่ต่อสู้ไว้ก่อน พัก หายใจก่อน นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพิจารณาจนเราเต็มที่แล้ว เราเหนื่อยมากแล้วเราก็ทนเอา สู้ยันไว้ก่อน แต่พอมีกำลังแล้วนี่เราต้องใช้ปัญญาเข้าไปไล่เลย

จริงๆ แล้วน่ะ ร่างกายมันเจ็บปวดไม่ได้หรอก เจ็บปวดเพราะหัวใจนี่เราเข้าไปยึดมัน ถ้าร่างกายเราเจ็บปวด ดูสิ ดูพวกเล่นการพนันน่ะ เขานั่งทีหนึ่ง ๗ วัน ๗ คืน เขาเพลินของเขา ถ้าพูดถึงการนั่งนานแล้วเป็นคนพิการนะ ไอ้พวกนักการพนันน่ะ มันต้องพิการก่อนเพื่อนเลย เพราะมันนั่งกันทีทั้งคืนๆ เลย แต่เพราะด้วยความสนใจของเขา เขาไม่เกี่ยวกับคิดถึงร่ายกาย เขาเกี่ยวถึงผลได้เสียในการเล่นการพนันของเขา

ถ้าอย่างนั้นพูดถึงว่าร่างกายนี่ เพราะหัวใจนี่เข้าไปอยู่ที่ผลการเล่นการพนันใช่ไหม? แต่หัวใจของเรานี่มันมาอยู่กับไอ้ความเจ็บความปวด ความเจ็บความปวดมันเลยแสดงตัวชัดเจน แต่ถ้าพูดถึงเราเอาความรู้สึกของเราออกไปจากมัน มันจะเจ็บปวดไม่ได้ ทีนี้เอาออกไปจากมันปั๊บนี่ เพราะคำว่าจิตตภาวนา เราภาวนาเพื่อให้จิตฉลาด เราถึงต้องเอาจิตเข้าไปต่อสู้กับมันเพื่อให้เห็นไง เพราะสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดเรื่องกาย

ถ้าจิตนี้พอบอกมันเห็นผิด มันต้องการตามความปรารถนาของมัน นี้จิตตภาวนา ก็เอาจิตที่มันโง่เนี่ย จิตที่มันคิดว่าเป็นของมันเข้าไปพิจารณาของมัน ว่านี่เป็นของมึงจริงหรอ? เป็นของเอ็งจริงทำไมมันปวด? เป็นของเอ็งจริงทำไมเอ็งควบคุมมันไม่ได้? เป็นของเอ็งจริงทำไมเอ็งสั่งมันไม่ได้? เนี่ยวิปัสสนา

โยม :ยังไงครับ

หลวงพ่อ :ก็ยันไว้ก่อนไง เขาเรียกว่ากำลังไม่พอ เราจะบอกว่า โยมไม่ต้องคิดเสียใจน้อยใจ น้อยเนื้อต่ำใจ พระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้มาก่อน ครูบาอาจารย์ก็เป็นอย่างนี้มาก่อน ไม่มีใครออกรบครั้งแรกแล้วชนะ การออกรบ การต่อสู้กับกิเลส การได้ฟาดฟันกับกิเลสนั้นคือประสบการณ์ของจิต ถ้าจิตมีประสบการณ์ของมัน มีการต่อสู้ของมัน มันจะพัฒนาของมัน แล้วมันเป็นอย่างนี้ นี่การภาวนามันเป็นอย่างนี้

ถ้าไม่มีการภาวนาอย่างนี้ ไม่มีการพัฒนาอย่างนี้ เราจะพัฒนามาได้อย่างไร? ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ โยมไม่ต้องคิดน้อยเนื้อต่ำใจ หลวงปู่มั่นสมบุกสมบันมามากกว่าเรา ครูบาอาจารย์เราสมบุกสมบันมามากกว่าเรา แล้วอาการที่เป็นน่ะเขาเป็นกันมาทั้งนั้นน่ะ มันเป็นอยู่ที่บุญกรรมของแต่ละบุคคล

บางคนนะ บางคนบุญกรรมของเขานี่เขาสร้างมา ร่างกายของเขาดี เขาเข้มแข็งมาก ดูสังเกตได้ไหม นักกีฬาบางคนนะ โอ๊ย ร่างกายเขาจะดีมากเลย นักกีฬาบางคนน่ะ มีแต่เจ็บไข้ได้ป่วยตลอดเวลา

จิตของคนก็เหมือนกัน เราไปบวชพระ นี่ไม่ใช่เอามาแฉนะ เราไปเที่ยวกับพระองค์หนึ่ง กลัวผีมาก กลัวผีจนไม่กล้าขยับเลย ไปไหนต้องมีเพื่อน พระนะ ความกลัวความกล้า จิตใจเข้มแข็งจิตใจอ่อนแอ เข้มแข็งอ่อนแอทั้งร่างกาย เข้มแข็งอ่อนแอทั้งจิตใจ จิตใจบางคนอ่อนแอมาก บางคนเข้มแข็งมาก อยู่ที่บุญกุศลของเขา

นี่ก็บุญกุศลของเรานี่ เราตั้งใจแล้ว พอโยมพูดอย่างนี้ เราจะพูดว่าอย่าน้อยเนื้อต่ำใจ ๕๐% มาจากผลบุญผลกรรม เป็นกรรมเก่า ๕๐% เป็นผลบุญผลกรรมในชาติปัจจุบันนี้ เนี่ยผลบุญผลกรรมของกรรมเก่าเห็นไหม กรรมเก่าที่มันสร้างมาน่ะมันเป็นพันธุกรรมทางจิต มันเป็นมุมมอง เป็นทัศนคติ พอมันมาเกิดเป็นเรานี่ อันนี้มันเป็นพื้นฐาน จริตนิสัย แล้วเรามาฝึกฝนในปัจจุบันนี้อีก ๕๐%

๕๐% ถ้าเราทำคุณงามความดีของมันมา มันก็จะทำให้เราพัฒนาขึ้นไป แล้วพื้นฐาน ๕๐% เก่ามันก็ยิ่งหนุนยิ่งรองรับ แต่นี้ ๕๐% อดีตนี่ ถ้าเราอ่อน เวลาเราทำปัจจุบันเราต้องทำมากกว่าคนอื่นไง แต่ถ้า ๕๐% ของเขานี่เขามีมามาก เขามาทำ ๕๐% ในปัจจุบันนี่เขาทำง่ายกว่าเรา กรรมเก่ากรรมใหม่นะ เราบอก ๕๐% ยังไงก็คนเหมือนคนนี่แหละ คนเหมือนคนในชาติปัจจุบันนี้ ในวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบันไง แต่คนไม่ดูตรงนั้น ถ้าดูตรงนั้นปั๊บก็จะย้อนกลับมาดูทัศนคตินี่แหละ ๕๐% อยู่ที่ทัศนคติ อยู่ที่ปฏิภาณ อยู่ที่จุดยืน

บางคนน่ะพูดถึงศาสนา พูดถึงธรรมนี่โอ๊ย ฟังแล้วชื่นอกชื่นใจ เอ็งไปพูดกับคนที่ไม่ฟังสิ มันจะบอก ไอ้พวกนี้พูดอะไรน้า ติงต๊องน่าดูเลย พูดอะไรน่าเบื่อ ทำไมไม่ชวนกูไปปล้นวะไอ้ห่า กูนี่อยากปล้นนัก แต่ถ้าพวกโจรมันพูดเรื่องปล้นนะ มันสบายเลย

๕๐% อันหลัง เราพูดบ่อยนะ อันนี้พูดเพื่ออะไรรู้ไหม? เพื่อให้เราให้เห็นคุณค่าของการทำบุญกุศลของเรา การทำบุญกุศล การสร้างการอะไรนี่มันมาแต่เก่าไง เราเปรียบบ่อยนะ นาย ก. นาย ก. นี่สร้างบาปไว้มหาศาล ทำลายคนอื่นไว้มหาศาลเลย พอนาย ก. ตาย พอตายปั๊บมาเกิดเป็นนาย ข. นาย ข. ต้องได้รับผลกรรมนั้นมหาศาลเลย นาย ข. มันก็น้อยใจน่ะ ก็กูไม่ได้ทำเล้ย ทำไมกูต้องมาทุกข์ฉิบหายด้วยวะ

เอ็งไม่ได้ทำเลย เอ็งไม่ได้ทำหรอกในชาติปัจจุบันนี่ ๕๐% ปัจจุบันนี่ แต่ ๕๐% อดีตชาติไง เพราะนาย ก. ไปเกิดเป็นนาย ก. นาย ก. นี้ทำลายเขาสร้างบาปมหาศาลเลย นาย ก. ตายไป แล้วจิตนาย ก. ไปไหน? จิตนาย ก. นี้พอนาย ก. ตายไป จิตนี้ไม่มีเว้นวรรคไง จิต ธาตุ ธาตุรู้ ธรรมธาตุนี่ ธาตุรู้นี้มันเป็นสันตติ มันอยู่ตลอดเวลา ตกนรกอเวจีมันก็ไม่เคยทำลาย อยู่บนสวรรค์อะไรมันก็ไม่เคยทำลาย มันอยู่สภาพของมันอย่างนั้น มันหมดวาระของมัน คือหมดอายุขัย คือหมดชีวิตมัน

นาย ก. ทำลายมหาศาลเลย แล้วนาย ก. ตายไป จิตตัวนี้ ปฏิสนธิตัวนี้ไปเกิด ผัลวะ! ไปเข้าครรภ์ของมารดา ไปเกิดเป็นนาย ข. นาย ข. เกิดออกมานี่ สิ่งที่ทำมาเห็นไหม กรรมบุญกุศลมันก็ตามมา พอตามมานาย ข. ก็ อู้หูย ทุกข์จนเข็ญใจ ก็ไปทำเขาไว้มันก็มาสนองตัวเอง แล้วก็น้อยใจว่ากูทำใครมาๆ

อดีตมันเคยทำ แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำ ปัจจุบันคือนาย ข. แต่นาย ก. มันทำมา แล้วนาย ก. มันตายไปแล้ว แต่จิตนาย ก. ไม่ได้ตาย จิตนาย ก. มาเกิดเป็นนาย ข. แล้วใครยืนยันได้

นี้ย้อนกลับมาที่เรา (ไอ้นี่ยังไม่เห็นภาพ) ย้อนกลับมาที่เราเนี่ย ถ้าสิ่งนั้นมันมาดีนะ เพราะเราฟังเรื่องนี้มีมาก มันมีโยมคนหนึ่งมาหาเรา กลางคืนเราเทศน์ เขานั่งอยู่ดูเรา เขาเห็นเราเป็นโครงกระดูกหมดเลย เขาไม่เชื่อสายตานะ เขาขยี้ตาใหญ่เลย ขยี้ตาแล้วเขามองเรา มองก็เห็นเราเป็นโครงกระดูก กลางคืนเราเทศน์กลางคืน ตอนทุ่มนี่ เขาบอกว่าเป็นโครงกระดูก ขากรรไกรงับๆๆ อยู่นั้นน่ะ แล้วเขาไม่เชื่อ เข้าไม่เชื่อเขาขยี้ตาเขาใหญ่เลย ขยี้ตาเขามองไปก็ยังเป็นโครงกระดูกอยู่นั้นน่ะ เขาเป็นผู้หญิงมาพักที่นี่ แล้วกลับไปฝั่งนู้น ก็ยังเป็นโครงกระดูกอยู่ เช้าเขาก็มาถาม

พอเช้ามาถาม ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? นี่ไง นาย ก. นาย ก. ได้สร้างบุญกุศลไว้ บุญกุศลนี่มันตกผลึกอยู่ในหัวใจของนาย ก. นาย ก. ตายไปมาเกิดเป็นนาย ข. นาย ข. นี่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรเลย นาย ข. มาเป็นนาย ข. แล้ว แล้วนาย ข. มาทำบุญกุศล นาย ข. มาปฏิบัติ เราเรียกว่าส้มหล่นไง บุญหล่นทับไง แต่ตัวเองไม่รู้ พอบุญหล่นทับนี่เขาเรียกธรรมมันเกิด ธรรมมันเกิดไม่ใช่อริยสัจ ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่การปฏิบัติใดใดทั้งสิ้น มันเป็นผลบุญกุศล ผลบุญกุศลที่ตัวเองทำมา มันเกิดด้วยบุญ เกิดด้วยบุญญาธิการ เพราะเจ้าของขยี้ตา มันยังไม่เชื่อว่ามันดูมันเห็นนะ มันขยี้ตามันใหญ่เลย ขยี้ตาซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็ยังเห็นอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่เราจะบอกว่า เห็นอย่างนี้ไม่นานหรอก เพราะบุญนี่มันใช้ไปแล้ว มันก็จะจางไปเป็นธรรมดา เราต้อง เพราะคำว่าบุญ เหมือนน้ำมันเนี่ย น้ำมันเติมรถ หมดถังแล้วต้องเติมใหม่ไหม เติมไม่ใช่เติมเต็มถังแล้วมันจะอยู่เต็มถังตลอดไป ไม่เคยพร่องเลย เป็นไปไม่ได้

อามิส บุญกุศลเป็นอามิส การกระทำเป็นวัตถุ เราจะเทียบไอ้ตรงที่เวทนานี่ไง ถ้าทำมาอะไรมาดีนี่ มุมมองของเรา ทัศนคติของเรา ผลการตอบสนองของเรามันจะดี แล้วมันจะดี อย่าเผลอ อย่าประมาท มันไม่อยู่กับเราตลอดไปหรอก มันจะอยู่ที่การรักษา อยู่ที่สติปัญญา อยู่ที่การถนอม

รถเราเนี่ย รถเห็นไหม ออกมาด้วยกันนะ บางคนรักรถ โอ๊ย ดู ๑๐ ปียังใหม่เอี่ยมเลยนะ ไอ้รถเราออกมาปีเดียว เละเลยนะ อูย ขี้โคลนเต็มคันเลย ไม่รักษา ตะบี้ตะบันใช้แต่มัน แต่ของเขานี่เขาดูแลรักษานะ อู้หูย เขาถนอมรักษารถเขาใหม่เอี่ยม

ตั้งสติ ใช้ปัญญาดูแลจิตเรา รักษาให้จิตเราเป็นปัจจุบันตลอด ไอ้อย่างที่เกิดขึ้นมาน่ะไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ มันเป็นวิบาก มันเป็นวิบากรรมของแต่ละบุคคล

อย่างที่ย้อนกลับมาที่นั่งตลอดรุ่งนี่แหละ นั่งตลอดรุ่งน่ะท่านสร้างของท่านมา พอสร้างของท่านนี่หลวงตานี่ท่านแปลกนะ ท่านเล่าให้ฟังเอง ไม่ได้ตั้งใจอดอาหารนะ แต่ตอนนั้นท่านยังเป็นหนุ่ม ปฏิบัติ พอฉันข้าวเสร็จ มันอยากตลอดเวลา เอ๊ ทำไมเป็นอย่างนี้? ไม่กิน ถ้ามึงอยาก ไม่กิน อดอาหารไปเลย

นั่งตลอดรุ่งก็เหมือนกัน ท่านบอกทีแรกไม่ได้ตั้งใจนั่งหรอก เพราะว่าเคยนั่งได้ทีหนึ่งหลายๆ ชั่วโมงไง แล้วพอมานั่ง พอเริ่มนั่งเข้าไปนี่มันก็มีแบบว่า มีความคิดขึ้นมา นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ดี กิเลสมันยุไง ถ้าอย่างนี้ต้องตลอดรุ่ง พอตั้งสัจจะตลอดรุ่ง สู้กับมันเลยไง พอมันมีการโต้แย้งว่า นั่งไม่ได้นะ จะเจ็บจะปวดจะไข้นี่ ท่านตรงข้ามเลย ถ้าอย่างนี้วันนี้ไม่ลุก พระอาทิตย์ไม่ขึ้นไม่ลุก

คือจริงๆ ไม่ได้ตั้งใจหรอก แต่พอไปเกิดวิกฤตเฉพาะหน้าแล้วใส่เลย พอใส่ปั๊บมันได้ผลน่ะ พอได้ผลท่านก็ทำ โอ้โฮ แล้วท่านก็ได้ผลของท่านมา แล้วท่านก็พูดบ่อยเห็นไหม ไม่ได้สั่งไม่ได้สอน เพียงแต่แนะนำมาบอกกล่าว เพราะคนไม่เหมือนกัน พักหลังท่านพูดบ่อย ไม่ได้บังคับ ไม่ได้สั่งไม่ได้สอน เพียงแต่เอาประสบการณ์ของท่านมาพูดให้ลูกศิษย์ฟัง ว่าใครจะใช้ประโยชน์สิ่งใดเพื่อประโยชน์ของใคร?

ท่านเล่าเอง เวลาครูบาอาจารย์ท่านอยู่ด้วยกันท่านจะเล่า ท่านบอกว่าการอดอหารนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะอดอาหาร แต่มันมีมาแล้วตั้งแต่หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็ทำอย่างนี้มาเหมือนกัน แต่เฉพาะตัวท่านเอง ท่านบอกตอนนั้นยังอายุ ๒๐ กว่า พอฉันข้าวเสร็จแล้วมันก็ยังอยากจะฉันอยู่ ล้นจนคอแล้วมันก็ยังอยากจะฉันอยู่ เอ๊ อย่างนี้ต้องไม่ให้กิน

มันก็เหมือนกับที่ว่าท่านเล่าประจำ พระสมัยพุทธกาลไง พอเช้าขึ้นมาก็ห่มผ้าจะออกบิณฑบาตไง

“เอ.. วันนี้เขาจะใส่บาตรอะไรเรา?”

คืออยากจะได้ของดีไง วันนี้ไม่บิณฑบาต ไม่ให้กิน ยังไม่บิณฑบาตเลย กิเลสมันกินก่อนแล้ว มันอยากจะได้อะไรดีๆ เห็นไหม เรายังไม่ได้ก้าวขาออกไปเลยนะ กิเลสมันจองไว้ก่อนเลย แล้วจองได้ยังไงมันอยู่ในขันเขาน่ะ เขายังไม่ได้ใส่ ถ้าอย่างนี้ไม่ต้องกิน ท่านหักเลย

คนจะดีขึ้นมาดีเพราะเหตุนี้ นี่ของท่านน่ะ อดอาหารท่านก็บอกท่านไม่ได้ตั้งใจ ตลอดรุ่งก็ไม่ได้ตั้งใจ พอเริ่มนั่งขึ้นมาเนี่ยมันมีข้อโต้แย้งอะไรเนี่ย เดี๋ยวเส้นจะพลิก เดี๋ยวอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ตลอดรุ่ง พอตลอดรุ่งคืนแรกนะ โอ้โฮ ทำได้ ๒ ๓ ๔ ตามมาเลย แล้วท่านบอกนั่งไม่กี่วันนั้นน่ะ ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นเลย ได้ขั้นเลย

อันนี้เป็นบุญกุศล นาย ก. นาย ข. น่ะท่านสร้างของท่านมาเยอะ ไอ้เราไม่ได้สร้างอย่างนั้นมา เราก็ทำของเราด้วยกำลัง ตรงนั้นสำคัญนะ ถ้าตรงนั้นสำคัญ เราสังเกตมาก เวลาเราพูดกับโยมนี่ เราคุยกับโยม บางคนไปนี่โอ้โฮพัฒนามาก พัฒนาหมายถึงว่า เวลากลับไปแล้วมาหาเรานี่ คำพูดน่ะมันจะดีขึ้น คำถามนี่มันจะฟ้อง แต่บางทีเราเบื่อมาก คือพูดไปอย่างนี้ พูดสอนเขาไปนี่กลับมาน่ะ คำถามมันต่ำลงๆๆ นี่แหมเซ็งฉิบหายเลย จนเบื่อนะ จนไม่อยากพูดด้วย แต่ถ้าพูดไปแล้วกลับมาดีขึ้นๆ นี่โอ้โฮสุดยอดเลยนะ

นี้คำว่านั่งตลอดรุ่ง ดีถามนี่เราเคลียร์ให้ฟัง แล้วประโยชน์มาก เพราะนี้เดี๋ยวจะออกไปข้างนอก ไอ้คนที่มันท้อแท้ มันจะได้ฟัง เวลาทำไปท้อแท้นะ เวลาคนไม่ปฏิบัติไม่เข้าใจหรอก เราอยู่ในป่าอยู่คนเดียวเนี่ย ปฏิบัติไปแล้วก็คงที่ ปฏิบัติไปแล้วก็เสื่อมถอย ปฏิบัติไปแล้ว แล้วเราจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร? เราจะต่อสู้ได้อย่างไร? มันท้อแท้นะ แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์มาคอยกระตุ้นๆ ไม่ใช่ทำดีแล้วเขาจะตบมือให้ เก่งๆ ไม่ใช่ กิเลสมันขวางตลอด แล้วมันจะหลอกลวงตลอด มันจะเอาเราไว้ในอำนาจตลอด มันจะสร้างเหตุการณ์วิกฤต อดอาหารไปนี่ มึงตายๆๆๆ มึงต้องตายแน่ๆ เลย มึงตาย อูย ขานี่อ่อนหมดเลย ปฏิบัติไปนะเนี่ยเดี๋ยวพิการแล้ว พรุ่งนี้เช้าทำงานไม่ไหวนะ แล้วพรุ่งนี้เช้าไปนี่ เวลาเดินไปขาไม่ดีนี่เขาจะเยาะเย้ยด้วย เพราะปฏิบัติมาเป็นอย่างนี้ กลัวไปหมดเลย

ไม่มีตบมือให้หรอก ไม่มีใครส่งเสริมหรอก เราต้องตั้งสติของเรา เราต้องมีครูบาอาจารย์เราเป็นที่ยึดที่เหนี่ยว เวลาเราปฏิบัติ เวลาเราทุกข์เรายาก เราคิดถึงพระพุทธเจ้า เราคิดถึงพระพุทธเจ้ากับหลวงปู่มั่นตลอด เราเห็นหลวงปู่มั่นท่านทุกข์กว่าเราเยอะมาก หลวงปู่มั่นไม่มีใครส่งใครสอน ท่านทำของท่านมา มีแต่ตำรา พระพุทธเจ้าไม่มีตำรา ไม่มีอะไรเลย

หลวงปู่มั่นหลวงปู่เสาร์นี่เราศึกษาประวัติไปแล้ว โอ๊ย สังเวชมาก ห่มผ้าสีนี้ออกไปบิณฑบาต เมื่อก่อนผ้าเขายังไม่ใช้ผ้า เขาใช้ผ้าสีเหลืองกันหมด เวลาใช้ผ้าสีกรักไปนี่ โอ้โฮ คนเห็นวิ่งหนีเลย วิ่งหนีเลย คิดดูสิ คนวิ่งหนีแล้วมันจะไปบิณฑบาตที่ไหน ใครจะให้กิน

ผู้ที่บุกเบิกมาทุกข์ยากมาทั้งนั้น แล้วบุกเบิกมาจนได้ผลตามความเป็นจริงมา ผลตามความเป็นจริงมาเพราะอะไร เพราะการประพฤติปฏิบัติ วิชาการนี่เรียนทันกันได้ตลอด การปฏิบัติ เวลาผู้ปฏิบัติถึงทันกัน ถ้าพูดไม่เป็นความจริง ลูกศิษย์ลูกหานี่ หลวงปู่เสาร์หลวงปู่แหวน ครูบาอาจารย์เยอะแยะไปหมดเลย แล้วท่านสนทนาธรรมกันน่ะ ถ้าไม่จริงมันต้องโต้แย้งกันจริงไหม

แล้วหลวงตานี่ เจ้าคุณธรรมเจดีย์ เอาหลวงตาไปคุยกับหลวงปู่ขาว เอาหลวงตาไปคุยกับครูบาอาจารย์ ก็ต้องการตรงนี้ไง “ธรรมสากัจฉา” ให้ตรวจสอบกัน เพราะท่านทำจริง พอมันเห็นจริงแล้วตรวจสอบกันพิจารณากัน ธรรมสากัจฉาตรวจสอบกันแล้วอริยสัจเป็นอันเดียวกัน ถึงยอมรับกัน เราเกิดมาภพอย่างนี้แล้วนะ เราต้องภูมิใจ

มีอะไรอีกไหม เอวัง